“ถ้าไม่มีสื่อเป็นตัวคานมันจะไปกันใหญ่ ลึก ๆ มันน่าเศร้านะ”

ทิ้งวงการข่าวมานานนับสิบปี ปัจจุบัน สุวิตร โสรจชนะ อดีตรองหัวหน้าช่างภาพหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่เคยย่ำหาข่าวในกรมตำรวจยังคงสุขภาพร่างกายแข็งแรงออกตระเวนถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ เก็บไว้เป็นโปรไฟล์ของตัวเอง

เขาเกิดที่กรุงเทพฯ หลังเรียนจบไพศาลศิลป์ได้ไปต่อโรงเรียนเทเวศร์ธนบุรี ก่อนได้งานทำอยู่กรมประชาสัมพันธ์ ประจำกองวิทยาการ แผนกช่างภาพ ตรงกับสิ่งที่เขารักมาตั้งแต่เด็ก มีส่วนทำให้ได้ไปสัมผัสวงการน้ำหมึกเข้าไปเป็นช่างภาพนักข่าวให้หนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง บางกอกเวิลด์ และหลักเมือง แถมโชว์ฝีมือการถ่ายภาพลงปกนิตยสารสกุลไทยอยู่เสมอ

สุวิตรเล่าว่า สมัยก่อนจะชักชวนกันไปทำที่นั่นที่นี่ เวลาเราถ่ายภาพก็ต้องทำข่าวไปในตัว ประหยัดคนไป 1 คน แม้ไม่ได้เรียนมาโดยตรงก็อาศัยฝึกเอา ได้ทำข่าวกีฬา และอาชญากรรม เหตุเพราะชอบตระเวนข่าวกับคนอื่น ตอนนั้นเกือบทุกเย็นนักข่าวจะมานั่งกินข้าวกัน สังสรรค์กัน ส่วนเช้าจะไปรวมพลกันที่กรมประชาสัมพันธ์ ใต้ถุนมีร้านขายข้าวต้ม นักข่าวทุกสายจะไปรวมตัวอยู่ที่นั่นกันหมด ทั้งการเมือง สังคม ก่อนแยกกันไปทำงาน

ผ่านไปอยู่หลายปี หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ขายกิจการให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ สุวิตรตัดสินใจทิ้งงานที่กรมประชาสัมพันธ์ ขยับไปนั่งรองหัวหน้าช่างภาพหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เต็มตัว พร้อมออกไปเกาะข่าวถ่ายรูปเหตุการณ์ตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะข่าวสงครามตามแนวชายแดนอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี เหตุความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง ก็ต้องตามไป

“เมื่อไม่มีคนส่งข่าว ผมเป็นช่างภาพก็เลยต้องทำข่าวไปในตัว”อดีตคนข่าวอาวุโสขุดตำนาน

สุวิตรย้อนประสบการณ์ทำงานว่า ตั้งแต่สมัยสงครามเขมรกำลังระอุ มีกระแสข่าวว่า รัสเซียช่วยรบให้ เราก็ไปเจาะข้อมูล เช่าเรือประมง ไปกับนักข่าวไทยรัฐลอยอยู่ทะเล 2 วัน 2 คืนแอบถ่ายรูปเรือรบรัสเซียได้สำเร็จ ระหว่างนั้นก็เตรียมพร้อมตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเชือก ถุงพลาสติกไว้สำหรับใส่ฟิล์ม ถ้ามีอะไรเราสามารถทิ้งลงทะเลได้ทันที กับนักข่าวไทยรัฐตอนหลังก็ต้องเล่นเทคนิค เราเป็นคนชวนเขา พอเสร็จแล้วเราขอยึดฟิล์มก่อน บอกจะเอาไปล้างให้ แต่ไม่คืนมัน เพราะเราต้องลงตีพิมพ์ก่อน ถึงจะให้เขาไปลง เป็นหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความจริงให้โลกรู้ว่า รัสเซียอยู่เบื้องหลังช่วยเขมรรบ

แต่ไม่เสี่ยงตายเท่ากับตอนเขมรแตก สุวิตรบอกว่า ถ่ายรูปทำข่าวไปถึงพระตะบองแล้วโดนจับ รวมกับนักข่าวต่างประเทศทั้งหมด 6 คน มันก็รู้ว่าเป็นนักข่าวช่างภาพ แต่มันไม่สนบอกจะกุดหัวให้หมด เรากลัวเหมือนกัน แต่บอกกับทุกคนว่า ยังไงก็ตัวใครตัวมัน เราจะหนี ถ้าคุณจะอยู่ก็เรื่องของคุณ สัก 6 โมงเย็น เราก็หนี วิ่งออกมาตามทุ่งเลาะออกมาตามป่า กลัวมาก แต่มันต้องหนี อยู่ก็ตาย โชคดีที่มันขังไว้ในห้อง ไม่ได้เอาอะไรมัด ไม่ได้คุมเข้ม วิ่งอยู่ 5-6 ชั่วโมงถึงชายแดน

“กว่าจะออกมาได้นึกว่าตายแล้ว โชคดีมีครอบครัวคนจีนที่อยู่ชายแดนช่วยไว้ พอตอนหลังคนจีนคนนี้ถูกจับ ผมก็ไปตามตำรวจคนหนึ่งไปรับมันที่พระตะบอง มันเล่าชีวิตให้ฟังว่า ระหว่างโดนจับมันให้ข้าวเปลือกวันละกระป๋อง มีลูก 3 คนต้องนั่งกะเทาะข้าวเปลือกกิน คนแก่ตายกันเป็นเบือ ผมช่วยให้เขามาอยู่ที่คลองเตย มันอยากขายก๋วยเตี๋ยว ผมก็ลงทุนเปิดร้านให้ ตอนหลังก็ช่วยมันจะไปอยู่ฝรั่งเศส วันนี้ยังส่งจดหมายติดต่อกันอยู่ ต้องยอมรับว่า อยู่ที่เขมรโหดร้ายมาก ผมอยู่แค่ 20 วัน เห็นคนตายเป็นว่าเล่น กลายเป็นเรื่องธรรมดามาก”

พ้นนรกในดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน ปวิตรได้มีโอกาสลงพื้นที่ภาคใต้เกาะสถานการณ์ปะทะกันระหว่างโจรจีนคอมมิวนิสต์ กับกลุ่มขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน เขากลายเป็นนักข่าวชุดแรกที่เข้าไปกับอรุณ ลานเหลือ ในการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกขุนโจรแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ชื่อดังนาม “เป๊าะสู”ชนิดที่หลบเลี่ยงสายตาเจ้าหน้าที่ขึ้นไปถึงรังบนเทือกเขาบูโด

“ผมไปอยู่ที่นั่น 15-16 วัน มีโอกาสไปดูรังโจรที่มีระบบป้องกันรักษาความปลอดภัยดีมาก ผมถามแกว่า ทำไมถึงเป็นโจร ทำไมถึงมีความคิดแบ่งแยกดินแดน แกว่า ไม่ใช่แบบนั้น ชนวนทั้งหมดเกิดจากมีลูกนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งจะเข้าไปตัดไม้ แต่แกไม่ยอม มีนายตำรวจมือปราบคนหนึ่งมาขอเงิน แต่แกไม่ให้ สุดท้ายแกโดนขึ้นบัญชีดำเป็นหัวหน้าโจร ผมกับอรุณก็เอาข้อมูลมาตีแผ่ลงในบางกอกโพสต์ ซึ่งต่อมาแกก็มอบตัวเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย ภูมิใจนะ ทั้งที่ตอนออกมาเกือบตาย ฝนตกน้ำท่วมใหญ่ต้องเดินลุยน้ำที่สูงเกือบคอ 5-6 ชั่วโมงกว่ามาถึงรามัน ยะลา”สุวิตรว่าถึงผลงานโบแดง

ต่อมา เขาถูกส่งไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาลแล้วขยับประจำกรมตำรวจยุค พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้นำกรมปทุมวัน ริเริ่มการเจาะข่าวแบบใหม่ด้วยวิธีการเดินเข้าหาแหล่งข่าวตามห้อง ไม่ใช่นั่งรอแถลงข่าวอย่างเดียว อดีตนักข่าววัยดึกบอกว่า วันหนึ่งต้องกำหนดเลยว่า คุยกี่คน เดินหาข่าว หาโครงการเจาะคนนี้คนนั้นต่อยอดไปอีกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเล็กคนน้อยไปถึงนายพลใหญ่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายวิชาการยันกองคดี ทำให้เรามีแหล่งข่าวเยอะ ที่สนิทกันก็มีหลายคน เพราะเวลาเราเข้าไปทุกคนจะให้ความเชื่อถือด้วยความที่เป็นบางกอกโพสต์ เขาจะรู้ว่า เราไม่มีซี้ซั้ว ไม่มีผลประโยชน์ เป็นกลุ่มเดียวที่เราจะไม่รับซองเด็ดขาด มีบ่อยมากสมัยนั้นมายัดเงินนักข่าว สัมภาษณ์เสร็จอะไรเสร็จก็จะให้นายเวรเอาซองมาให้ เราไม่เอาเด็ดขาด ยืนยันได้ไม่เคยรับเลย

เขาย้ำถึงอุดมการณ์ทำงานว่า จะไม่ค่อยยอมเรื่องผลประโยชน์ ทุกคนในบางกอกโพสต์มีแนวคิดแบบนี้เหมือนกันหมด เราต้องคล้อยตาม นักข่าวสมัยใหม่บางคนไม่มี หลายคนถูกซื้อตัวไป มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก ใช้ปากกาหาผลประโยชน์ เหมือนว่า กูมีปากกากูจะเขียนอะไรก็ได้ ทั้งที่ตัวเองไม่มีความรู้ แต่จะพยายามแสดงเพาเวอร์ว่า ข้ามีอำนาจที่จะเขียนอะไรก็ได้ ทุกคนต้องฟังข้า เดี๋ยวนี้เป็นแบบนั้น เหมือนคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ดังหลายคนวิจารณ์คนนั้นคนนี้ทั้งที่ตัวเองไม่มีเพาเวอร์อะไร แต่คิดว่าตังเองมีปากกา

“เมื่อก่อนจะไม่ทำกันแบบนี้ บางกอกโพสต์ยิ่งไม่ได้ ทุกเย็นจะมีการประชุมข่าว ผมต้องเข้าไปร่วมด้วย มีนักข่าวคนละสายมานั่งเสนอข่าวว่า แต่ละคนมีข่าวอะไรกันบ้าง ข่าวไหนสำคัญขึ้นหน้า 1 จะเป็นมติที่ประชุม ข่าวไหนควรไปอยู่หน้าใน หรือเล็กกี่คอลัมน์นิ้วก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมบอร์ด บรรณาธิการยังไม่มีสิทธิจะขอให้ข่าวนั้นข่าวนี้มาอยู่หน้า 1 ไม่มีสิทธิขอให้ข่าวนี้เขียนเบา ๆ หน่อย เพราะไปกระทบพวกตัวเอง ทุกคนจะไม่ยอม แต่ตอนหลังก็ไม่ใช่แบบนี้แล้วหลังจากมีนายทุนเข้ามาซื้อกิจการ”นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าส่ายหัว

อยู่วงการข่าวมานานเกินกว่า 40 ปี ในที่สุด เขาตัดใจเดินถอยออกมาด้วยภารกิจส่วนตัวต้องไปดูแลกิจการร้านกาแฟย่านซอยธนิยะ สีลม ทำเอาเพื่อนพี่น้องหลายคนเสียดาย สุวิตรบอกว่า ชีวิตมันเปลี่ยนเมื่อได้มาศึกษาเรื่องการคั่วกาแฟ ลงทุนซื้อเครื่องคั่วจากเยอรมัน และบินไปเรียนที่สิงคโปร์เกือบเดือนก่อนกลับมาลองเปิดร้านกาแฟ พอยุ่งมาก ไม่มีเวลา คนงานลาออกก็ต้องวิ่งมาขายเองจะให้รุ่นน้องส่งข่าวให้ แต่ตัวเรามาดูแลกิจการส่วนตัว มันไม่ใช่ เราเกรงใจ จะไปกินแรงได้อย่างไร ประกอบกับข่าวของบางกอกโพสต์ถ้าเป็นข่าวทั่วไปธรรมดาเขาจะไม่เน้น เขาต้องเน้นข่าวเจาะ ถ้าเราไม่ทำเองก็ฝากคนอื่นลำบากถึงต้องลาออก

“อาจเป็นเพราะอิ่มตัวแล้วด้วย ตอนนั้นอายุก็ปาไป 58 ปีมันถึงวัยเกษียณพอดี” สุวิตรให้เหตุผล

นอกจากเปิดร้านกาแฟแล้ว เขายังหุ้นกับเพื่อนนักธุรกิจทำโรงงานกาวติดต่อพีวีซี รวมถึงลงทุนเปิดร้านพิซซ่ามอลล์ ก่อนปิดตัวไปทีละธุรกิจด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซารวมถึงร้านกาแฟที่เขารัก ถึงกระนั้นก็ตาม ทุกวันนี้ เขายังพอใจกับการใช้ชีวิตธรรมดาในวัย 72 ปี ด้วยการออกกำลังกายเข้าชมรมตีแบดมินตันร่วมกับระวิ โหลทอง บอสใหญ่สยามสปอร์ตเกลอเก่าอยู่เป็นประจำ “มีคนชวนกลับเข้าวงการข่าวเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่เอาดีกว่า ผมเอาเวลาว่างไปตระเวนถ่ายรูป รูปอาร์ตต่าง ๆ ที่มันฝังอยู่ในใจผมนานแล้ว  เวลาไปต่างจังหวัด เช้าตีห้าต้องตื่นไปหาถ่ายภาพ ดอกไม้ วิถีชีวิตคนบ้านนอกที่ผมชอบมาก มีความสุขกว่าเยอะ”

ท้ายที่สุด สุวิตรฝากแง่คิดถึงคนข่าวรุ่นใหม่ว่า  อุดมการณ์สำคัญ ทำงานขอให้มีจุดยืน ไม่ใช่เห็นแก่คนนั้นคนนี้ ต้องจรรโลงสังคมด้วย ถ้าพวกสื่อไม่ช่วยกันก็แย่ เช่น ข่าวบางข่าวควรเขียนแต่ไม่เขียน นับวันจะเลวลง ยิ่งวงการตำรวจปล่อยไม่ได้ อย่าตามน้ำ บางจุดอย่าไปยอมแหล่งข่าว ต้องซัดกัน ไม่อย่างนั้นคนที่ลำบาก คือ ลูกหลานเรา ไม่ใช่จะซื้อกันได้ แม้บางทีสื่อด่าไปก็ไม่สน แต่ถ้าช่วยกันตีมันจะกลัว ไม่ใช่เป็นเครื่องมือให้เขา

“สมัยผมทำงานมีอุดมการณ์ มีความสุข มีใจรัก แต่เดี๋ยวนี้ เศรษฐกิจมันบีบ ต้องเงินอย่างเดียวไม่สนใจอย่างอื่น อะไรที่ได้เงินก็เอาหมด ข้อเสียจึงเกิดขึ้น ผมไม่อยากให้เกิดตรงนี้ขึ้นมา มันจะแย่ พวกสื่อนี่แหละสำคัญที่สุด ไม่ต้องไปกลัว

         

RELATED ARTICLES