“ผมเลือกเดินสายบู๊ ทำเพื่อความสงบสุขของชาวบ้าน”

ลายชีวิตราชการตัดสินใจเปลี่ยนจากชีวิตนักสืบไปเป็นครูใหญ่

พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร อดีตที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่า ครั้งนั้นตั้งใจไปเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ด้วยความที่เคยใช้ชีวิตกินนอนอยู่โรงเรียนนายร้อยสมัยยังเป็นนักเรียนตลอด 4 ปี ไม่ใช่เช้าไปเย็นกลับ ดังนั้น ความเข้าใจในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือการดูแลนักเรียนนายร้อยตำรวจ รวมถึงบุคลากรของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เราถึงต้องทำเต็มที่

“ ในชีวิตถ้าเป็นเรื่องบุญเรื่องกรรม ผมก็ทำกรรมไว้เยอะ การไปอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมไปสร้างคน เหมือนเป็นการไถ่บาป คิดว่าการไปสร้างคนเหมือนไปสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร เป็นมหากุศล ฉะนั้นจะตั้งใจเป็นพิเศษ ในการสร้างคน สร้างนักเรียนนายร้อยตำรวจออกมา ตามแนวความคิดของการเป็นตำรวจมืออาชีพ เพราะสังคมทุกวันนี้ ตำรวจเพี้ยนไปเยอะ เราต้องพยายามสร้างตำรวจให้เป็นตำรวจมืออาชีพ เปลี่ยนทัศนคติเขา ให้เขาคิดว่า การเป็นตำรวจ ต้องเป็นตำรวจให้คนดีเขารัก ศรัทธา แต่ที่ลืมไม่ได้เลยต้องทำให้โจรมันกลัว ไม่ใช่ทำตรงกันข้าม โจรรัก คนดีกลัว อย่างนี้ก็ไม่ไหว” ครูใหญ่เก่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจว่า

เจ้าตัวย้อนแนวคิดหวังจะปลูกฝังนักเรียนนายร้อยตำรวจ และนักเรียนนายร้อยอบรม ตั้งใจหล่อหลอมความเป็นตำรวจมืออาชีพ  อย่างน้อยในชีวิตเราเป็นตำรวจทั้งชีวิตและจิตใจ พิสูจน์ได้ทั้งภาคอีสานว่า คนที่เคารพรักเรา หรือลูกน้อง ใครที่อยู่ในใจเขา แนวคิดนี้ทำให้บางทีเราต้องไปต่อต้านการแต่งตั้งโยกย้ายสมัยยังเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กระทั่งเชิญออกจากห้องประชุม เพราะเราไม่ยอม อย่างน้อยหน่วยของเราต้องการคนที่อยากไปอยู่ ไม่ใช่เอาคนที่ทำผิดไปอยู่ ซึ่งเขาก็ไม่อยากมา

อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจยกตัวอย่างคนที่ปั้นไว้วางแนวเครื่องข่ายใยแก้วนำแสง ทำระบบเทคโนโลยีโรงเรียนนายร้อยตำรวจใหม่กลับไม่ได้ขึ้น แต่เอานอกนอกเข้ามาทั้งที่ไม่สมัครใจ “ผมต่อต้านในที่ประชุม เขาไม่อยากให้ชี้แจง ไม่ยอมแก้บัญชี อ้างว่า ผมทำให้การแต่งตั้งล่าช้า ในที่ประชุมแต่งตั้งบางคนโกรธ เพราะผมไม่ยอม หลายหน่วยยอมเพราะอยากอยู่ในตำแหน่งต่อ แต่ผมไม่แคร์  มึงจะย้ายกูไปไหนก็ได้ เขาเลยเชิญออกนอกห้องประชุม”

“ตำรวจเดี๋ยวนี้มันเละหมดแล้ว มาจากปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายล้วน ๆ ผิดฝาผิดตัว ผมเขียนแนวคิดเรื่องตำรวจแปลกหน้า กับตำรวจที่ประชาชนคุ้นเคย ตำรวจที่เขาคุ้นเคย แล้วเขาอยู่แล้วดี ประชาชนรักใคร่นับถือ ต้องให้เขาอยู่ ไม่ใช่เอาตำรวจแปลกหน้าเข้ามา แล้วข้ามห้วยจากภาคโน้นภาคนี้แล้วก็ไป มันทำให้สังคมตำรวจเสียหายหมด แล้วตำรวจหาเงินได้ดีกว่าตำรวจทำงาน ฉิบหายแล้ว ถามว่า เมื่อไหร่จะดีขึ้นคงใช้เวลาอีกนาน เพราะมันกลืนระบบไปหมดแล้ว”

พล.ต.อ.ศักดาเปรียบเทียบกับสมัยก่อนว่า แตกต่างกันมาก สมัยนั้นต้องเก่งจริง เวลาเข้าประชุม คนเก่งจริงมีโอกาสเจริญเติบโต การพิจารณาของผู้บังคับบัญชาจะดูว่าคนนี้เก่งอะไร รู้พื้นที่นี้ดีต้องเอาไปอยู่ตรงนี้ ไปคุมยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ดูอย่างเดียวว่า ตั๋วใคร เรายังเคยเขียนเรื่องตำรวจเมืองกะลา สุดท้ายเกรงใจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพราะรู้ว่า พยายามทำดีที่สุดแล้ว เลยไม่ลงเผยแพร่ในเพจส่วนตัว เหมือนที่แผ่เรื่องตำรวจที่ชาวบ้านคุ้นเคย กับตำรวจที่ชาวบ้านแปลกหน้า แล้วก็ตำรวจที่เอาแต่ขยายตำแหน่ง ใช้ตำรวจอะไรบ้างก็ไม่รู้ แล้ววิ่งไปหายอดกัน องค์กรเสียหาย  อาทิ เปิดแค่ร้านเหล้าร้านเดียว แร้งลง นี่เป็นเรื่องจริง น่าอับอายของวงการตำรวจ เสียดายที่ไม่มีโอกาสแก้ไข ไม่ได้เข้าไปทำตรงนั้น

เจ้าตัวสารภาพว่า เป็นสิ่งที่ติดค้างอยู่ ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเราไม่ใหญ่พอที่จะไปเปลี่ยนแปลงระบบ อยากทำให้ตำรวจดี ๆ ที่ทำงาน มีฝีมือ เจริญก้าวหน้าได้ แต่กลับแพ้ตำรวจพวกหาเงินเก่ง แล้วสุดท้ายคนที่ทำงานก็ไม่อยากทำงาน หาเงินดีกว่า หาเงินไปวิ่ง นี่แหละเป็นความเสียหาย  ถึงอยากจะฝากน้อง ๆ ที่ไม่ใช่ลูกศิษย์กับรุ่นที่ผ่านๆ มา เราสอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจในเรื่องการเป็นตำรวจของประชาชน ทำไม่ยาก ทำให้คนดีรัก คนร้ายกลัว พื้นฐานง่ายๆ โรงเรียนนายร้อยตำรวจสอนดีอยู่แล้ว สอนให้ละอาย เกรงกลัวต่อบาป หิริโอตตัปปะ ถ้ารู้จักละอาย เกรงกลัวต่อบาปจะไม่แสวงหาผลประโยชน์ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน รู้จักเดินทางสายกลาง มีกินมีใช้ พอเพียง ตำรวจยังไง ประชาชนก็ต้องพึ่งพิงอยู่แล้ว

“ผมเลือกเดินสายบู๊ ทำเพื่อความสงบสุขของชาวบ้าน เมื่อมาเป็นอาจารย์ถึงอยากปลูกฝังว่า ตำรวจต้องกล้าหาญ เพราะชาวบ้านรอตำรวจที่กล้าหาญ และพึ่งพิงได้ ถ้าตำรวจขี้ขลาดก็ฉิบหายแล้ว ตอนอยู่โรงเรียนนายร้อย ผมปลูกฝังเด็กให้มีความกล้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่รื้อมาใหม่ ให้นักเรียนนายร้อยตำรวจไปเซ็นชื่อโลงศพ เป็นโครงการสมัยผมเรียนอยู่ ต้องเดินเลาะไปตามเชือกเข้าไปในป่าช้า เมื่อเข้าไปในโกดังเก็บศพ เปิดโลงศพ เห็นศพแล้วเซ็นชื่อหน้าโลงศพ เพื่อให้เด็กสู้กับความกลัว สู้กับความเงียบ สู้กับความมืด สู้กับสิ่งที่จินตนาการ เด็กคนไหนผ่านได้ก็จะเริ่มมีความกล้า กล้าเดินไปในที่มืด กล้าที่จะปฏิบัติตามคำสั่งได้ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กลัวสุดขีด ผมสอนหมด” พล.ต.อ.ศักดาว่า

ครูใหญ่เก่าในรั้วสามพรานเล่าต่อว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนต้องผ่านคอร์สนี้ เพราะเราอยากให้เด็กมีความกล้า เช่นเดียวกับหลักสูตรกระโดดร่ม แม้ช่วงนั้นเกิดโศกนาฏกรรมการสูญเสียนักเรียนนายร้อยตำรวจไปถึง 2 นาย แต่จำเป็นต้องดำเนินการต่อ เนื่องจากเป็นหลักสูตรแสดงถึงความกล้าหาญ คนเราเมื่อกล้าหาญจะทำในสิ่งที่เหนือกว่าคนอื่น  อีกอย่างที่สำคัญคือ ต้องปลูกฝังให้เกรงกลัวต่อบาป มีหิริโอตตัปปะ ไม่แสวงหาผลประโยชน์จนทำให้เสื่อมเสียองค์กรตำรวจ

เขาบอกว่า ทุกวันนี้ถึงเกษียณอายุราชการแล้วได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไปไหนมาไหนยังมีน้อง ๆ ให้ความเคารพนับถือ เพราะเราไม่เบียดเบียนใคร อยู่ขอนแก่นมายาวนานจนแทบจะเป็นคนขอนแก่นไปสุ่มเลยว่า ศักดาเป็นคนแบบไหน ร้านอาหารทุกแห่งไม่เคยเบียดเบียน ไม่เคยเบ่ง ตรงนี้คือ ที่เราเอาไปสอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจว่า ต้องเป็นตำรวจของประชาชน ถึงเวลาพอมีอะไร ชาวบ้านจะช่วยเราเอง

ตำนานมือปราบภาคอีสานการันตีว่า สมัยทำงานอยู่ภูธรภาค 4 เคยมีการสำรวจความเห็นจากประชาชนเรื่องการยอมรับตำรวจ ตำรวจภูธรภาค 4 ได้รับการยอมรับสูงสุดว่า เป็นตำรวจไม่เกร ไม่รีดไถ มีปัญหาบ้าง แต่น้อย ฉะนั้นเรื่องของการเป็นตำรวจมืออาชีพที่นี่ค่อนข้างดี ไม่รังแกชาวบ้าน เพราะนายเข้มแข็ง มีต้นแบบผู้นำอย่าง บุญทิน วงศ์รักมิตร พิชัย สุนทรสัจบูลย์  เป็นเรื่องที่ปลูกฝังเรามาตลอด

เส้นทางชีวิตของ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร ผ่านเรื่องราวมากมาย  เกิดในครอบครัวค้าขายของป่าที่ตำบลห้วยราช อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ วัยเด็กต้องขึ้นรถไฟไปเรียนชั้นประถมในเมืองบุรีรัมย์ พอจบประถม 4 ถูกส่งเข้าไปเรียนอัสสัมชัญ อุบลราชธานี ก่อนมุ่งสู่กรุงจบมัธยมต้นโรงเรียนวัดราชโอรส ต่อมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ชะตาพลิกผันมาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 34  เพราะอยากเป็นผู้พิทักษ์ อยากเป็นตำรวจปกป้องประชาชน ทั้งที่สอบติดวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักเรียนปกครอง ทำหน้าที่ปกครองนักเรียนนายร้อยรุ่นน้อง รุ่น 36 ที่ปัจจุบันได้ดิบได้ดีในวงการหลายคน อาทิ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ เป็นต้น จากนั้นบรรจุลงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ตั้งใจอยากจะเป็นมือปราบตั้งแต่สมัยเรียน  ยึดไอดอลตำรวจรุ่นพี่ อย่าง บุญทิน วงศ์รักมิตร สมชาย ไชยเวช ประชา พรหมนอก พิชัย สุนทรสัจบูลย์ ทั้งหมดถือว่า เป็นยอดตำรวจอีสาน ถึงเลือกไปลงที่อีสาน ประกอบกับอยากอยู่ใกล้บ้านเกิด

ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนไม่นาน ผู้ใหญ่เห็นแววให้มาเป็นหัวหน้าสายสืบ ยศแค่ ร.ต.ท. แถมได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจคุมพื้นที่อีสานเหนือ 7 จังหวัด ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจใช้งานมาตลอด ตั้งแต่ สืบสวนติดตามคดีต่าง ๆ  อาทิ แก๊งวางตะปูเรือใบปล้น คดีปล้นเรียกค่าไถ่ ปล้นเรียกค่าคุ้มครองบริษัทก่อสร้างงาน ตัดไม้ในป่า เป็นกลุ่มโจรผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์สมัยก่อน มีอาวุธใกล้เคียงกับเจ้าหน้าที่ ปราบปรามปะทะกัน

เมื่อปี 2529 เกิดคดีแหกคุกที่จังหวัดสกลนคร นักโทษ 13 คน จับผู้คุม 6 คนเป็นตัวประกัน เขาเป็น 1 ใน 4 นายตำรวจหนุ่มต้องเข้าไปรับบทมือสไนเปอร์ในภารกิจสำคัญ จัดการส่องนักโทษร่วง 2 ศพ ก่อนมีอีกทีมช่วยยิงแล้วช่วยเอาตัวประกันออกมาปลอดภัยทุกคน  ก่อนจะย้ายขึ้นไปเป็นสารวัตรจราจรเมืองขอนแก่น เพราะไม่มีตำแหน่งสืบสวน แต่ยังทำหน้าที่ชุดเฉพาะกิจอยู่รอจนตำแหน่งสารวัตรปราบปรามเมืองขอนแก่นว่าง ผู้ใหญ่จึงให้ไปลง ทำงานอีก 4-5 ขยับขึ้นรองผู้กำกับการที่มุกดาหารไม่นานโยกกลับมาเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนเมืองขอนแก่น

“ที่ขอนแก่น ผมทำมาทุกหน้าที่แล้ว เป็นเหมือนบ้าน ผมใจรักการทำงานก็เจริญเติบโตมาตลอดจนขึ้นเป็นนายพล สิ่งที่ภาคภูมิใจของผม คือ เติบโตด้วยสองมือสองเท้าของผมเอง มีผู้บังคับบัญชาสนับสนุนในเรื่องการทำงานจนเป็นที่วางใจ และได้เก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจส่วนตัว” อดีตนายตำรวจคนดังภาคอีสานว่า สมัยนั้นเขาเน้นมาตรการปราบปรามแบบเด็ดขาดเข้าตาผู้เป็นนาย ขึ้นชั้นเป็นนักสืบรุ่นใหม่ที่หาตัวเทียบยากในพื้นที่ภูธรภาคอีสานยุคที่โจรผู้ร้ายหดหาย เพราะเกรงกลัวกิตติศัพท์การทำงานถึงลูกถึงคน อีกทั้งได้ร่วมกับกองปราบปราม นำทีมโดย หาญพล นิตย์วิบูลย์ ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ออกติดตามแก๊งมือปืนรายใหญ่ที่หนีการไล่ล่าของตำรวจกองปราบปรามเข้าเขตเมืองขอนแก่น เปิดฉากดวลกันสนั่นจับตายคนร้าย 5 ศพรวด

แม้จะมีผลงานปราบปรามกระเดื่องทั่วอีสานเหนือ ทว่าเส้นทางการเติบโตบางครั้งกลับสะดุดถูกพิษมรสุมหลากหลายรบกวนเตะตัดขา แล้วโดนมรสุมการเมืองถูกกล่าวหาเป็นผู้มีอิทธิพล ใครตายก็มีชื่อไปติดอยู่ในลิสต์ว่าอยู่เบื้องหลังจนต้องแต่งเครื่องแบบไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้ใหญ่ มีคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจากจเรตำรวจ และกองปราบปรามมาสอบว่า มีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลจริงหรือไม่

“ผมอยู่ขอนแก่นนานที่สุดตั้งแต่ ร.ต.ต.จนเป็น พล.ต.ต. ความที่เราเป็นตัวของตัวเอง และดำรงความเป็นธรรม ต้องร้องเรียนเป็นปีถึงได้รับการถอนชื่อจากผู้มีอิทธิพล แต่ยังเป็นผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง คดีที่ทำผมไม่เคยทำร้ายคนดี อยู่ที่ลูกน้องกับประชาชนรับได้หรือไม่ เขาต้องการตำรวจที่มือหนัก และซื่อสัตย์ เป้าหมายของผม คือ ต้องทำให้คนดีรัก และทำให้คนร้ายกลัว ถ้าทำให้คนร้ายกลัวไม่ได้ก็จะไม่ถึงขั้นที่ว่าเป็นตำรวจที่ดี”

คราวนั้นมีมลทินถูกย้ายพ้นพื้นที่กว่าจะแก้ต่างกลับมาขึ้นเป็นผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 4 แล้วถึงคืนถิ่นกลับมานั่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ไม่นานก็โดนกล่าวหาถูกย้ายลงใต้ก่อนจะย้อนไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 นาน 4 ปี ตัดสินใจอยากมาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่เปิดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรก “ผมมั่นใจว่าเป็นคนมีวิชาความรู้ มีความสามารถที่จะทำงานด้านอื่นให้สำนักงานตำรวจ ความรู้มากมายนั้นเลยอยากเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจเพื่อสร้างคน เพราะการสร้างคนเป็นตำรวจที่ดีนั้นเหนือกว่าการสร้างโบสถ์สร้างวิหาร”

เจ้าตัวแสดงวิสัยทัศน์ประกาศเจตนารมณ์ผลิตนายตำรวจที่มีจิตวิญญาณ เป็นตำรวจอาชีพอย่างแท้จริงที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ด้านวิชาการ และความสามารถด้านยุทธวิธีที่ทันสมัยให้กับสังคมไทย แต่แล้วเกือบต้องผิดหวังเมื่อไม่ได้เป็นตัวเลือกอันดับแรกของสภาการศึกษา ทว่าในที่สุดได้นั่งตำแหน่งครูใหญ่ในรั้วสถาบันเก่าสมใจ

“ผมไม่จำเป็นต้องดิ้นรนอีกแล้ว ชื่อเสียงไม่ต้องการ เงินทองไม่เดือดร้อน ชื่อเสียงความยอมรับของพี่ๆ น้องๆ ผมว่า เป็นที่รู้จักพอสมควรแล้ว ผมสร้างรุ่นน้องๆ ไว้เยอะ ภูมิใจพอแล้ว การมาทำงานในหน้าที่นี้ เป็นเรื่องของคำว่า ก่อนจากโลกนี้ไป สร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้รุ่นหลัง เพราะปัจจุบันนี้ตำรวจน่าสงสารต้องทำงานท่ามกลางภาวะความกดดัน ขาดแคลน แต่ประชาชนคาดหวังสูง กระบวนการยุติธรรมบ้านเรา มันเคว้งคว้าง ทำให้ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายยากไปด้วย โจรผู้ร้ายเหิมเกริม ทำงานลำบาก” 

ตลอดระยะเวลา 3 ปีในการทำหน้าที่ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.อ.ศักดาพยายามสอนนักเรียนเสมอว่า ต่อไปต้องเจออะไรที่หนักแน่ ไม่ใช่มีอำนาจมีพลัง แต่อาชีพตำรวจยังไงก็ต้องมีคู่โลกจะให้คนอาชีพอื่นมาทำหน้าที่ตรงนี้ไม่ได้ จึงต้องทำให้ตำรวจของเราแข็งแกร่ง “ผมว่า เป็นอาชีพที่มีเสน่ห์ บางคนบอกว่าเหมือนเป็นอาชีพที่ถูกสาป คนเกลียด แต่ก็มาสมัครสอบเข้ากันเยอะ แต่เขาจะเข้ามาด้วยจุดมุ่งหมายใดก็ตามแต่ เราก็ต้องผลิตเขาออกไปให้ได้ความมุ่งหมายเดียวกัน เขาต้องเสียสละ กล้าหาญ มีคุณธรรม โรงเรียนต้องสร้างให้เขา” ถือเป็นความตั้งใจในบั้นปลายชีวิตราชการของตำนานมือปราบคนดังแห่งภาคอีสาน

ศักดา เตชะเกรียงไกร !!!

 

 

 

RELATED ARTICLES