“ตัดสินใจวางอนาคตใฝ่ฝันเลยว่า ต้องเป็นกวี เป็นนักเขียน”

ยุทธจักรทำเนียบกวีเอก นักเขียนคนดังของเมืองไทย ชื่อของ “โชติช่วง นาดอน”ติดอันดับไม่เป็นรองใครในวงการน้ำหมึกอย่างแน่นอน

ทองแถม นาถจำนง เป็นชื่อจริงของเขา หลานปู่ขุนนาถจำนง เติบโตในย่านบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี พ่อรับข้าราชการกระทรวงการคลัง รักการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังเด็ก ผ่านชีวิตมากอย่างโชกโชน เป็นทั้งนักกลอน นักศึกษาแพทย์หัวรุนแรง หมอผ่าตัด ข้าราชการศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง นักประพันธ์ ยันนักหนังสือพิมพ์

วัยเด็กมีโอกาสอ่านหนังสือที่ปู่สะสมเก็บไว้ในตู้ ติดใจวรรณกรรมคลาสิกเรื่อง “สามก๊ก” อ่านจบตั้งแต่ยังเรียนประถม เป็นเด็กเรียนเก่งสอบเข้าได้ที่ 14 ของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ถิ่นกำเนิดนักเขียนมากมาย อาทิ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เจ้าของบทประพันธ์ “ละครแห่งชีวิต” มาลัย ชูพินิจ นามปากกา “เรียมเอง” กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” โชติ แพร่พันธุ์ นามปากกา “ยาขอบ” เปลื้อง ณ นคร หรือ “ตำรา ณ เมืองใต้” และปรีชา อินทรปาลิต หรือ “ป.อินทรปาลิต” เป็นต้น

แค่อยู่ชั้น ม.ศ.2 ทองแถมรวมกลุ่มเพื่อนแต่งกลอนสดประชันกัน ได้ อ.สายสมร ปิ่นเฉลียว ภรรยา พ.ต.อ.ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว นักเขียนใหญ่เป็นที่ปรึกษา  “มันเป็นชีวิตเริ่มต้นของการเขียนอย่างจริงจัง หลังเป็นนักอ่านมานาน ตอนนั้นต้องเก็บเงินเป็นอาทิตย์เพื่อซื้อหนังสือมาแลกกับเพื่อนอ่าน ชอบอ่านเรื่องรงค์ วงษ์สวรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่กำลังเด่นดังมากของเมืองไทย” ทองแถมย้อนลำดับเส้นทางสู่วงการนักเขียน

 “พ่อผมให้ไดอารี่มาเขียนบันทึก ช่วงกลางปี ม.ศ.2 เริ่มเขียนบันทึก มารู้ตอนหลังจากอ่านตำราจิตวิทยาวัยรุ่นว่า ช่วงหนึ่งของคนเราจะมีคำถามของชีวิตว่า เราเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร แต่จุดนี้ คนจะคิดเร็วช้าต่างกัน ผมนับว่าเร็ว อายุ 15 ปีผมเข้าห้องสมุดไปตะลุยอ่านหนังสือจนหมด แถลงการศึกษาไปรื้อมาอ่านหมด ตั้งแต่ของศรีบูรพา หรือยาขอบ นักเรียนรุ่นพี่ที่เทพศิรินทร์ ช่วงนั้นการตัดสินใจทางความคิดมันเร็วมาก ตัดสินใจวางอนาคตใฝ่ฝันเลยว่า ต้องเป็นกวี เป็นนักเขียน เมื่อตัดสินใจแล้วต้องศึกษา อ่านประวัตินักเขียนในห้องสมุด วิธีการประพันธ์ต่าง ๆมากมายแล้วบันทึกไว้ในไดอารี่”

ขึ้น ม.ศ.3 ทองแถมมีโอกาสทำหนังสือ “ศิรเทพ” ในโรงเรียนไปขายเด็กสวนกุหลาบ มีพ่อของเพื่อนสนับสนุนทุนมาทำหนังสือ เขาจำได้แม่นว่า ข้อเขียนอันนั้น บังเอิญมาเจออีกครั้งหลังมีคนรวบรวมพิมพ์ไว้ หลักฐานชิ้นนี้กลายเป็นสิ่งบ่งบอกว่า เขาเขียนหนังสือมาได้ 40 กว่าปีแล้ว คือเมื่อประมาณปี 2513 ทองแถมเล่าว่า ชอบอักษรศาสตร์ แทนที่จะเลือกเรียนศิลป์ กลับไปเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ ตอนขึ้น ม.ศ.4 ด้วยความที่พ่ออยากให้เป็นหมอ แต่ใจคิดว่า ความรู้สายศิลป์เราอ่านได้ ถามคนได้ วิทยาศาสตร์ต้องทดลอง ต้องปฏิบัติเอง ก็ต้องมาทางนี้ตามความต้องการของพ่อ

สุดท้ายเขาสอบติดเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างที่พ่อฝันให้ลูกเป็น แต่ชีวิตนักศึกษาตอนนั้นมีเรื่องราวเข้ามามากมาย เนื่องจากเข้าไปเรียนปี 1 ตอน พ.ศ.2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา แม้ทองแถมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวร่วมก่อการ ไม่ได้ร่วมเดินขบวน ทำแต่วรรณศิลป์ อย่างมากก็แค่เขียนกลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคม ทว่าเหตุการณ์บานปลายกว่าที่คิด เพราะหลังจาก 14 ตุลา แนวคิดต้องห้ามเกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยมออกมาเป็นกระแสเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

“สมัยเด็กผมก็อ่านหนังสือการเมืองมาตลอด เพราะพ่อเป็นคนชอบประวัติศาตร์ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ่อนิยมเจ้า สะสมหนังสือไว้ เรื่องราวตั้งแต่สมัยปี 2475 ถึงสงครามโลก ผมจะอ่านมาเรื่อย เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง พอปี 2512 สัมผัสบรรยากาศการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกในชีวิต มิตร ชัยบัญชา ยังลงสมัครและได้ไปฟังมิตรหาเสียง ปรากฏว่าระหว่างหาเสียงมีคนก่อกวนขว้างก้อนหิน คนแก่หัวล้านที่ยืนอยู่หน้าผมหัวแตก เป็นภาพที่เห็นแล้วมันสะเทือนใจเรา ทำไมการเมืองต้องรุนแรงขนาดนี้” ยอดกวีอาวุโสระบายความรู้สึกห้วงเวลานั้น

เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเข้าไปอยู่ในสโมสรนักศึกษา เริ่มอ่านหนังสือซ้าย มีแนวอุดมคติแบบสังคมนิยม ทองแถมอธิบายว่า ทุกวันนี้มีคนสับสนอยู่ สังคมมีการเมืองการปกครอง กับระบบเศรษฐกิจ สังคมนิยมของคอมมิวนิสต์ไม่น่ารังเกลียด เป็นลัทธิเศรษฐกิจ ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศมีระบบการปกครอบแบบเลือกตั้งประชาธิปไตย แต่เลือกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ถึงทุกวันนี้ยังเชื่อมั่น ชอบในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม แต่ตอนหนุ่มคิดว่า เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดี ทางเดียวต้องโค่นผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ประชาธิปไตยและใช้ความรุนแรง

ช่วงกำลังสอบเทอมแรกของปีสุดท้ายชีวิตนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ ตรงกับเหตุการณ์ตุลาปี 2519 ทองแถมนั่งเก้าอี้นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วน จตุรงค์ ฉายแสง เรียนคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเดียวกันเป็นนายกสโมสรมหาวิทยาลัยองค์กรใหญ่ทั่วประเทศ “หลังมีการกวาดล้างนักศึกษา ผมกับจตุรงค์คิดเหมือนกัน เขาก็หนี ผมก็หนีเข้าป่า แต่อยู่คนละเขตแดน เพราะมั่นใจว่า เศรษฐกิจระบบสังคมนิยมสามารถแก้ปัญหาความอยากจนได้ เมื่อสู้ในเมืองไม่ได้เลยต้องไปใช้เวทีอื่น เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะความคิดผมไปแล้ว ผมเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ชักนำกันหนีเข้าป่า”

ทองแถมใช้ชีวิตอยู่ในป่าเชียงรายที่ภูชี้ฟ้าในปัจจุบันนาน 2 ปี คอยปลุกระดมคนพื้นที่ชนบทแย่งชิงมวลชน ก่อนถูกส่งไปเรียนแพทย์ที่เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน เพราะพวกนั้นมองว่าเขามีพื้นฐาน หวังผลิตแพทย์ไว้เตรียมรบครั้งใหญ่ เรียนภาษาจีนอยู่ 3 เดือนถึงไปศึกษาวิชาแพทย์ผ่าตัด แต่กลับติดอยู่แดนมังกรถึง 5 ปี หลังพรรคคอมมิวนิสต์ล้มเหลว เมื่อจีน โซเวียต เวียดนาม ทะเลาะกันเอง

ด้วยความที่รักบทกวีเป็นทุนเดิม ทำให้ระยะเวลา 5 ปี ของทองแถมไม่สูญเปล่า เขาได้ไปอ่านบทกวีจีนแล้วเริ่มสนุกและแปลเก็บเอาไว้เยอะมาก กระทั่งรัฐบาลไทยประกาศนโยบาย 66/2523 เขาตัดสินมอบตัวผ่านสถานทูตหอบบทกวีกลับมาเมืองไทย “ผมกลับมาบวชขอโทษพ่อแม่ที่ทำให้เสียใจ ก่อนกลับไปเอาปริญญาโดยเรียนอีกปีที่มหาวิทยาลัย เพราะรู้อยู่แล้วว่า ประเทศไทยไม่มีใบปริญญาไม่ได้ ยังไงก็ต้องเอา หางานทำอยู่พักใหญ่ ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อน สุดท้ายได้ทำงานกองแพทย์ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง”

“ผมใช้เวลาว่างช่วงบ่ายเขียนหนังสือ แปลหนังสือ เริ่มติดต่อกับเพื่อนที่เคยอยู่ป่าด้วยกัน  บางคนทำหนังสือพิมพ์ เห็นฝีมือเขียนกลอนของผมตั้งแต่อยู่ในป่า เขาถามว่า ไปได้อะไรมาจากเมืองจีนบ้างล่ะ ผมเลยส่งกวีจีนที่แปลเอาไปลง เรื่องของขุนศึก ขุนพลต่าง ๆ ในนิยายสามก๊กลงในข่าวพิเศษ มติชนเห็นเลยขอบ้าง สักพักได้เป็นคอลัมน์ประจำ ใช้นามปากกา โชติช่วง นาดอน จากกวีขยายเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ จับตำราพิชัยสงครามเอามาประยุกต์ใช้กับการบริหารงานในยุคนั้น ประสบความสำเร็จมีชื่อ มีคนติดตามมากขึ้น”

งานเขียนนาม “โชติช่วง นาดอน” ติดตลาดเป็นคอลัมนิสต์ประจำในมติชน และนิตยสารแพรว ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจออกจากงานที่ศาลเด็กมายึดอาชีพนักเขียนอย่างจริงจัง ประกอบกับสำนักพิมพ์ดอกหญ้าชวนให้ไปทำหนังสือแนวจีนเป็นพ็อกเกตบุ๊ก แปลจากจีน ขายดิบขายดีในช่วงแรก ทว่าต่อมาสำนักพิมพ์วางนโนบายการตลาดแบบเชิงรุก ประมาท ทำให้ขาดทุน โชคดีที่เขาไปนั่งคุยกับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับอัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนรุ่นพี่ที่ราชดำเนินจึงชวนกันไปทำหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่กำลังขาดบรรณาธิการ

เมื่อปี 2535 ทองแถมทิ้งงานพ็อกเกตบุ๊กไปจับหนังสือพิมพ์ ทำหน้าที่บรรณาธิการบทความ เพราะอยากรู้เหมือนกันว่า หนังสือพิมพ์รายวันทำอย่างไร แต่มีคนไปฟ้อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หาว่า อัศศิริ เอาทองแถมที่เป็นคอมมิวนิสต์เข้ามาทำงาน “ตอนแรกแกก็ไม่ได้ว่าอะไร ผมก็นึกว่า แกคงลืมเรื่องนี้ไปแล้ว ปรากฏว่า เข้าไปหาแกครั้งที่ 4 นั่งกินข้าวกันอยู่ ผมกำลังจะยกแก้วเหล้าเข้าปาก แกก็โพล่งออกมาเลยว่า คุณทองแถม ผมถามคุณจริง ๆ ว่า คุณเป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ผมก็รู้ เพราะเขาร่ำลือกันว่า หม่อมเกลียดคอมมิวนิสต์ วินาทีนั้นผมแทบสะอึก ยกแก้วดื่มคิดคำตอบใช้ปฏิภาณ พอวางแก้ว ผมทันทีว่า ผมเป็นคอมมิวหน่อย แกหัวเราะก๊าก เรียกคนไปเอาไวน์มาให้ผมขวด คือแกชอบใจ”

“คิดว่า แกไม่ชอบคอมมิวนิสต์จริง แต่แกมีความรู้ แกเข้าใจ แกเรียนสูง ผมมาอ่านบทความทีหลัง แกอธิบายตอบคำถามของคอมมิวนิสต์ได้อย่างถูกต้องตามทฤษฎี วันนั้นถ้าผมบอกผมเป็น ก็เหมือนกับว่า ไปทำร้ายจิตใจแก ไม่เหมาะมานั่งอยู่ตรงนี้ แต่ถ้าบอกผมเป็น มันก็ไม่ใช่ เราก็ไม่มีศักดิ์ศรีของตัวเอง อย่าไปปฏิเสธประวัติตัวเองดีกว่า คำว่า คอมมิวหน่อย หมายความว่า ผมเคยเป็น แต่ตอนนี้ผมไม่ใช่ ผมยังชอบระบบเศรษฐกิจที่ยุติธรรมไม่เอารัดเอาเปรียบแบบสังคมนิยม แต่ไม่ใช่วิธีการต่อสู้อีกแล้ว ผมคิดว่าหม่อมต้องเข้าใจ”   

จากนักประพันธ์นวนิยายแดนมังกรผันตัวเองไปเป็นบรรณาธิการบทความการเมืองหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ทองแถมยอมรับว่า ช่วงแรกมีความสุข สนุกไปกับมัน แต่ตอนหลังเหนื่อยและเบื่อแล้ว โดยเฉพาะในระยะหลังที่สยามรัฐมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงก่อนมาถึงยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ชีวิตประจำวันของเขาทุกวันนี้ยังคงคร่ำหวอดอยู่กับหมึกพิมพ์ทำหน้าที่บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาคอยเขียนบทบรรณาธิการประจำวัน ใช้เวลาช่วงเช้าดูข่าวทีวี และอ่านข่าวหนังสือพิมพ์นำไปวิเคราะห์กลั่นเป็นบทบรรณาธิการ บรรจงถ่ายทอดเนื้อหาออกสู่สาธารณะที่จะต้องเป็นแนวติดเสมือนตัวแทนของหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวจึงทำให้ต้องใช้เวลาเขียนอยู่นานนับชั่วโมงกับเนื้อหาเพียงไม่กี่บรรทัด

ทว่าตกบ่าย เขาเหมือนอินทรีติดปีกบินสู่ท้องฟ้าไปตามความฝันออกพบปะเพื่อนฝูงและทำงานกวีที่ตัวเองรัก ถึงได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนที่ผ่านมา

สมกับที่ได้รับการยกย่องเป็น “ปรมาจารย์ร่ายบทกวี” ตามแบบฉบับขุนศึกมังกรจีนแห่งยุคสามก๊ก

 

RELATED ARTICLES