“ใจจริง ผมไม่ได้อยากเป็นนักข่าวอาชญากรรมนะ”  

ก้าวเดินตามรอยเท้าผู้บังเกิดเกล้าเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์จนเป็นอีกตำนานคนข่าว

กิตติพงศ์ นโรปการณ์ อดีตผู้สื่อข่าวประจำกองปราบปราม ปัจจุบันนั่งทำหน้าที่บนเก้าอี้รีไรเตอร์ข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ลูกชายคนโต สันติชัย นโรปการณ์ แถมเป็นหลานลุง นเรศ นโรปกรณ์ นักเขียนคนดัง

เขาโตมากับน้ำหมึกนับตั้งแต่จำความได้ ด้วยเพราะพ่อเป็นนักข่าวอยู่ค่ายยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ หอบหิ้วหนังสือพิมพ์กลับมาบ้านวันละ 2-3 ฉบับ ทำลูกชายซึมซับการอ่านข่าวรายวัน โดยเฉพาะข่าวอาชญากรรม รวมถึงนิยายสารพัด  ประกอบกับบ้านขายและให้เช่าหนังสือด้วย ยิ่งให้เขาได้สัมผัสวรรณกรรมเลื่องชื่อจากยอดนักประพันธ์นามกระเดื่องของไทยมากมาย

เจ้าหนูจากบ้านนโรปการณ์เริ่มต้นประถมวัยที่โรงเรียนแสงอรุณ ใกล้วัดกัลยาณ์ ฝั่งธนบุรี เพราะบ้านอยู่ละแวกนั้น กระทั่งย้ายบ้านมาอยู่ ต.รวมโชค โชคชัย 4 ลาดพร้าว ถึงเข้ามัธยมโรงเรียนสตรีวิทยา 2 จนจบมัธยมปลาย หมายมั่นอยากเป็นนักโบราณคดี เพราะชอบสะสมของเก่า ชอบการคว้าซากปรักหักพัง ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ แต่เมื่อถึงตอนเอ็นทรานซ์ อันดับ 1-3 เลือกคณะวารสารศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อันดับ 4 ปรากฏว่า ไปติดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เป็นคนกรุงเทพฯ ไปอยู่ต่างจังหวัด เหมือนเปิดโลกอีกโลกหนึ่ง กิตติพงศ์ว่า ใช้ชีวิตอยู่หอพัก ได้เพื่อนฝูงช่วยกัน พยายามขวนขวายเพราะเป็นลูกคนโต ต้องเรียนให้จบ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเกรดเฉลี่ย 2.5-2.6 ยังนึกเสียใจตอนหลังว่า ทำไมไม่วางแผนตั้งใจเรียนแต่แรก อีกนิดเดียวก็ได้เกียรตินิยมกลับมาฝากพ่อแม่แล้ว

จบจากปัตตานี เจ้าตัวยอมรับว่า อยากไปเป็นตำรวจ รอจังหวะรับสมัครสอบบุคคลภายนอก พ่อชวนไปนั่งรถตระเวนข่าวอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เห็นอะไรต่าง ๆ มากมาย คิดว่า ถ้าเป็นตำรวจคงไม่รุ่งแน่ ตัดสินใจเป็นนักข่าวดีกว่า ได้ช่วยพ่อด้วย เดินตามรอยพ่อ แม้ยังไม่คิดว่าจะเป็นอาชีพจริงจัง เพราะยังเป็นเด็กหนุ่ม แต่เริ่มสนุก เพราะได้เริ่มทำข่าว ได้ลงรถตระเวน  สมัยนั้นไทยรัฐเปิดรับพนักงานต้องสอบแข่งขันด้วย เป็นรุ่นสุดท้ายที่ต้องสอบเข้า สอบได้ที่ 1 ของรุ่น ชีวิตนักข่าวน่าจะราบรื่นดี

เขานั่งรถตระเวนข่าวอยู่ไม่นาน ต้นสังกัดเห็นแววมอบหมายให้ไปเป็นนักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล เริ่มสร้างแหล่งข่าวเองจากตอนแรกไม่เป็น โดยเฉพาะ “ธนู หอมหวล” ปรมาจารย์นักสืบเมืองหลวงที่เสมือนเป็นแหล่งข่าวแรก ๆ ของเขา ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนช่างสังเกต ช่างถาม บุคลิกกวนๆ ทำให้แหล่งข่าวที่ส่วนใหญ่เป็นนักสืบนิยมชมชอบ

นักข่าวหนุ่มจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีโอกาสไปสัมผัสชีวิตบรรดานักสืบของกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ และกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลธนบุรี เห็นการสืบสวนแกะรอยคดีดังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำข่าวสืบสวนสอบสวน อาทิ มหากาพย์ตระกูลมรดกเลือดของเจ้าของตลาดยิ่งเจริญ ตั้งแต่การตายของนางนัยนา ตามประกอบ ภรรยา พ.ต.ท.สมาน ตามประกอบ สารวัตรสืบสวนโรงพักดอนเมือง นำมาสู่การหายตัวไปของนายเทอดชัย หรือผู้ใหญ่แดง ธรรมวัฒนะ

เริ่มรู้จักสนิทสนมตำรวจสืบสวน จำได้แม่นคนแรกคือ ปรีชา ธิมามนตรี ขณะนั้นเป็นสารวัตรแผนก 1 ของสืบสวนเหนือกำลังทำคดีฆ่าผู้หญิงแถวเสนานิคม ทุกคนหลงประเด็นไปหมดแล้วมองเป็นคดีฆ่าข่มขืน แต่พี่เขาเดินมาสะกิด คงเคยดูเรามาก่อน เห็นเราเดินอยู่บ่อย ๆ ก็บอกเดี๋ยวมันหลงประเด็นกันใหญ่ จริง ๆ คือ ผัวมันฆ่า เดี๋ยวพี่จะไปจับ เป็นคดีฆ่าอำพราง มันทำให้ผมเริ่มสนุกกับการทำข่าวสืบสวนสอบสวน กิตติพงศ์ลำดับความหลัง

หลังจากนั้น ทุกบ่ายเขาจะไปหมกตัวอยู่ที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลเหนือชั้นเดียวกับกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาลเก่าแล้ว มีส่วนทำให้รู้จักนายตำรวจชื่อดังในยุคนั้น ตั้งแต่ สมชาย วาณิชเสนี วรรณรัตน์ คชรักษ์ วินัย เปาอินทร์ กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา โกสินทร์ หินเธาว์ ศุภกิจ ศรีจันทรานนท์ สุชาติ ธีระสวัสดิ์ ไพศาล เชื้อรอด วีระศักดิ์ บูรพากาญจน์

คลุกคลีตีโมงซุ่มอยู่กับทัพนักสืบเมืองหลวงนาน 3-4 ปี เกิดปฏิวัติรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534  เจ้าตัวจำแม่นว่า เข้าตระเวนข่าวแทนเพื่อนร่วมสังกัด กำลังอยู่ชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม ฟังวิทยุตำรวจระบบมีชายฉกรรจ์อาวุธครบมือเพ่นพ่านอยู่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ รีบย่องออกจากชมรมไปไม่บอกใคร เห็นทหารเต็มพรึบ ก็วิ่งเอากล้องเข้ารัวชัตเตอร์ หางตาชำเลืองแล้วทหารวิ่งอ้อมมาข้างหลังแล้วช้อนเราเลย ยึดกล้องไปด้วย

โทรศัพท์บอกโรงพิมพ์ว่า ผมโดนยึดกล้องแล้วนะ สักพักก็พี่จากหนังสือพิมพ์บ้านเมืองบอกว่า ข่าวอย่างนี้ เขาไม่เอาข่าวเดี่ยวกันหรอก ผมขำฉิบหาย แต่ก็สนุกคนข่าวผู้อยู่ในหน้าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยิ้มให้ภาพความทรงจำเก่า

ต่อมา เขาย้ายไปประจำกองปราบปรามที่ยังมีอาคารอยู่สามยอด มี พล.ต.ต.รังสิต ญาโณทัย นั่งเป็นผู้บังคับการที่รู้จักคุ้นเคยกันตั้งแต่เป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี  เปิดสมรภูมิรบบนแผงหนังสือพิมพ์ใหม่ กิตติพงศ์ทำงานเดินเดี่ยวคนเดียวไม่สนใจนักข่าวรุ่นใหญ่ที่อยู่มาก่อน ด้วยความที่คิดว่า เราเจ๋ง ไม่สนใจใคร กูตก กูเจ็บ กูไม่แค้น กูเอาใหม่ เอาคืน หวดคืน หวดสนุก เจอกันบนแผง สมัยก่อนสนุก สนุกจริง ๆ ขยันทำงาน  ตี3 ตี 4 ยังเข้ามากองปราบอยู่เลย เอาความขยันสู้ เพราะถือเป็นเด็กหนุ่ม ยิ่งบังเอิญ จังหวะท่านวรรณรัตน์ คชรักษ์ เข้ามาเป็นผู้การต่อจากท่านล้วน ปานรสทิพ และย้ายที่ทำการมาอยู่ข้างแดนเนรมิต ถนนพหลโยธินในปัจจุบัน มีทีมสืบสวนเหนือเข้ามาหมด เสร็จเราอีก

ประเดิมวันแรก เขาตามถ่ายรูปลงผลงานความสำเร็จของกองปราบในหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐถึง 4 งานรวด เป็นนาทีระลึกตำรวจชักปืนจ่อจับกุมคนร้ายแก๊งลักทรัพย์รายใหญ่ยึดของกลางจำนวนมาก กิตติพงศ์เล่าว่า ความจริงอยู่กองปราบปรามตอนแรกเริ่มจากทำข่าวจับซ่องโสเภณี สมัยนั้นมี บัญชา จารุจารีต เป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามการค้าประเวณี ไปได้ข่าวดังที่ระยอง ทลายซ่องที่บังคับหญิงสาวขายตัว ใครไม่ทำจะถูกทำร้าย ก่อนเปลี่ยนมาทำข่าวจับมือปืน จับแก๊งอาชญากรรม ได้ภาพ ได้รางวัลเยอะมาก แต่สมัยนั้นไม่คิดว่า จะเอารางวัลอะไร ขอให้ได้งาน

ถามถึงแฟ้มข่าวประทับใจ กิตติพงศ์บอกว่า ประทับใจทุกคดีที่งานสำเร็จ  สะสมประสบการณ์จากเห็นตำรวจทำงานสืบสวน เราจะเริ่มคิดเอง คิดแบบตำรวจ เข้าหาเป้าหมายก่อนตำรวจด้วยซ้ำ บางคดีตำรวจต้องมาขอร้องว่า อย่าเพิ่งเข้าไปแตะ กลัวผู้ต้องสงสัยรู้ตัวแล้วแผนของตำรวจจะแตก แต่ก็ไม่วายเจอมรสุมพลาดตกประเด็นข่าวจากคดีฆาตกรรมแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ เพราะความรั้น อวดเก่ง เอาดี คิดว่า ตัวเองเจ๋ง เป็นบทเรียนสอนให้เราต้องไม่พลาดอีก

สมัยก่อนหนังสือพิมพ์มันหนัก ใครไม่เคยโดน ไม่รู้หรอก โดนมาหมดทุกคน หัวหน้าข่าวไม่เท่าไหร่ แต่นาย ไม่ได้เลย บางอารมณ์ถึงขั้นด่า อย่าให้เห็นหน้า แต่ผมไม่ได้ท้อ ไม่ได้หนักใจนะ ก็สู้และแก้ตัว ทำให้ได้ เราถึงฮึด ใจจริง ผมไม่ได้อยากเป็นนักข่าวอาชญากรรมนะ  ชอบข่าวแนวอาชญากรรม แต่ไม่ได้อยากทำ คือ อยากทำข่าวประเภทที่ชาวบ้านเดือดร้อน ช่วยคนที่ไม่มีโอกาสเป็นจุดหลักเลย เหมือนเคยไปทำข่าวม็อบสมัชชาคนจน คลุกคลีกับชาวบ้าน เดินกับเขาตั้งแต่กลางดงยันมาถึงหินกอง ปักหลักอยู่ตรงนั้นจนรัฐบาลยอม เขาดีใจนะ ผมตามถ่ายรูปเอง แล้วรู้สึกชอบ นี่คือ สิ่งที่ผมประทับใจ ได้ช่วยประชาชน แล้วยิ่งปัจจุบันมีข่าวพวกต้มตุ๋นอาละวาด บางคนอาจมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ผมมองว่า ไม่ดี ไม่ชอบเลย อยากช่วยเหลือ อยากลงข่าวพวกนี้ เตือนคนอื่นอย่าไปหลงเชื่อ อยากทำข่าวที่ให้เหยื่อได้รับการเยียวยา ถ้าช่วยเขาแล้วเห็นผลสำเร็จออกมา จะรู้สึกดีใจ นักข่าวประจำกองปราบปรามระบายความเห็น

ประสบการณ์ทำข่าวเกินกว่า 32 ปี กิตติพงศ์สารภาพว่า ไม่ขอฝากอะไรให้น้องนักข่าวรุ่นใหม่ บางทีพวกน้องเขาต้องสอนเราต่างหาก เพราะคนละยุคกันแล้วเมื่อเทียบเทียบกับปัจจุบัน เราก็ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง โอเคบางเรื่องเราอาจเก่งกว่า แต่บางเรื่องเวลาทำงาน เราจำเป็นต้องฟังคนที่ผ่านงานมาก่อน  เราจะมีมุมมองใหม่ที่กว้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า นักข่าวภาคสนามอาจต้องปรับตัว อย่าทำซังกะตายจะเหมือนดูถูกตัวเอง การยืนหยัดในยุคที่การแข่งขันของสื่อสูงจะตามน้ำอย่างเดียวไม่เกิดประโยชน์กับคนรับสื่อเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น ยามวิกฤติมักมีคำพูดหนึ่งว่า ในความมืดมิด เราถึงจะเห็นดวงดาว เราถึงจะเห็นแสงสว่าง เหมือนกับคลื่นซัดลูกเก่าไป ลูกใหม่มา สิ่งที่อยากจะเตือนไว้ คนไหนอยากเก่ง อย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ

นอกจากทำหน้าที่รีไรเตอร์เรียบเรียงข่าวอาชญากรรมตีพิมพ์ลงหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้ว กิตติพงศ์ยังมีอีกโลก ทำเว็บไซต์ โปลิศนิวส์วาไรตี้ เผยแพร่เรื่องราวความเคลื่อนไหวในแวดวงตำรวจผ่านสื่อออนไลน์ เจ้าตัวว่า ทำแล้วมีความสุข นำเอาสิ่งที่ถนัดมาสร้างแหล่งข่าวใหม่เพิ่มขึ้น ถือเป็นการปล่อยของในสถานการณ์ที่คนอ่านหนังสือพิมพ์ลดลงไปอ่านจากจอโทรศัพท์มือถือ ได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่เคยมีใครทำ หรือมีแต่ไม่ได้ทำต่อเนื่อง

ทุกวันนี้ผมภูมิใจนะที่ได้ตามรอยพ่อ คิดว่า ถ้าพ่ออยู่คงดีใจเหมือนกัน กิตติพงศ์ทิ้งความรู้สึกถึงต้นแบบนักหนังสือพิมพ์ของพ่อบังเกิดเกล้าผู้ล่วงลับ

 

 

 

RELATED ARTICLES