“นักสืบสั่งให้ไปตายต้องตาย ยิงเป็นยิง ยึกยักไม่ได้ ต้องนั่งในหัวใจลูกน้องให้ได้ ไม่ใช่ไม่รู้เรื่อง สั่งมันก็ไม่ฟัง”

ถือเป็นนักสืบระดับปรมาจารย์คนหนึ่งในวงการตำรวจ

ครบเครื่องทั้งเรื่องสืบสวนและสอบสวนจนได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปอยู่ในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญระดับชาติมากมาย  พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ถึงมีลูกศิษย์ลูกหาคว่ำหวอดอยู่ในเส้นทางนักสืบจำนวนไม่น้อย

ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน เด็กน้อยจากอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เดินเตาะแตะเข้าโรงเรียนประชาบาลวัดท่าพูดในถิ่นเกิด โดยที่ตัวเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในอนาคตจะเจริญเติบโตเป็นถึงนายพลตำรวจใหญ่

หลังจบมัธยมโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจึงเบนเข็มเข้าสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหารหันเลือกเหล่านายร้อยตำรวจสามพรานสะสมวิชาผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กระทั่งจบรุ่นที่ 13 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา พล.ต.อ.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธ์ พล.ต.อ.สนอง วัฒนวรางกูร และ พล.ต.อ.ชุมพล อรรถศาสตร์ เป็นต้น

รับราชการครั้งแรกเมื่อปี 2503 ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โด่งดังเมื่อเป็นนายตำรวจแชมป์พิมพ์ดีดเร็วที่สุดของกรมตำรวจ ผ่านงานสืบสวนสอบสวนจนได้เลื่อนชั้นเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต 2 เป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลบางรักปีเดียว ได้ขยับขึ้นตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลเหนือ ก่อนข้ามฝั่งไปที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลใต้จนได้นั่ง “ผู้กำกับสืบใต้” ถึง 2 ครั้ง ในปี 2523 และ ปี 2527 แล้วก้าวขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลใต้

ปี 2532 ชีวิตพลิกผันต้องออกนอกหน่วยนครบาลแต่ได้ติดยศ “นายพล” ตำแหน่งผู้บังคับการข่าวสาร สำนักงานสารนิเทศ กรมตำรวจ นานกว่า 2 ปี คืนถิ่นเก่าเข้านั่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองในรัฐบาล รสช.ปี 2534 พอปีถัดมาขยับเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคุมงานสืบสวนปราบปรามคดีอาชญากรรมทั่วเมืองหลวง กระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ริเริ่มโครงการโรงเรียนนักสืบ โดยให้รองสารวัตรสืบสวนตามโรงพักทั่วกรุงมีโอกาสเข้าไปเรียนรู้วิชานักสืบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติกับบรรดานักสืบรุ่นพี่มากประสบการณ์ที่กองกำกับการสืบสวนนครบาลเหนื่อ ,ใต้ และธนบุรี            ก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2541 ในตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ รับผิดชอบงานสอบสวนทั่วประเทศ

“ชอบงานสืบสวนมาตั้งแต่เป็นรองสารวัตร เมื่อก่อนเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนเขาจะไม่ค่อยทำสืบสวน ให้สอบสวนอย่างเดียว ส่วนงานสืบมีแค่จ่าเป็นหัวหน้า แต่เราอยากเป็นนักสืบเลยอาสาสมัครกับสารวัตรขอช่วยสืบสวน เป็นหัวสืบสวนไปโดยปริยาย” พล.ต.ท.โสภณ เริ่มต้นเล่าความหลัง

“เหตุเพราะมันสนุก คล้ายกับว่า ถ้าเราจับเองจะรู้หลักฐานหมด ทำสำนวนง่ายเบาะแสต่างๆ อยู่ที่เราเยอะ คิดว่า หากจะปราบปรามอาชญากรรมให้สำเร็จ งานสืบสวนกับสอบสวนต้องคู่กัน แยกกันเมื่อไหร่ก็เจ๊ง”       

พล.ต.ท.โสภณเล่าว่า สมัยเป็นรองสารวัตรยศร้อยตำรวจโทอยู่โรงพักพลับพลาไชยเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากเหตุการณ์ระทึกบนโรงพัก หลังจากสารวัตรป้องกับปราบปรามจับลูกน้องของ “ตี๋เซี๊ยว” หรือ “ตี๋บ้า” นักเลงเยาวราช “ระหว่างเข้าร้อยเวร มันเดินเข้ามานั่งตรงหน้าโต๊ะ เราก็เห็นท่าไม่ค่อยดี เลยถอยเก้าอี้เอามือปลดซิบปืนข้างเอว มันบอกให้ปล่อยลูกน้องมันเดี่ยวนี้พร้อมเอามือล้วงเข้าไปในกระเป๋าสะพายจึงตัดสินใจกระโดดกอดรัดตัวไม่ให้มันดิ้น ขู่ให้มันปล่อยของในมือไม่อย่างนั้นมีเรื่องแน่ พอมันปล่อยเท่านั้นแหละถึงรู้ว่าเป็นระเบิดมือจึงรีบถีบมันกระเด็นตกโต๊ะแล้วช่วยกันล็อกตัวเอาไว้”

ยุคนั้นมาเฟียย่านเยาวราชอาละวาดเต็มไปหมด ผู้หมวดไฟแรงจัดการจับนำมาทำประวัติให้พวกมันเลิกก่อความเดือดร้อน มังกรจีนชื่อดัง อาทิ เก๊าม้าเก้ง , ล้อ วงเวียน , เหลา สวนมะลิ หรือเจ้าพ่อแคล้ว ธนิกุล , ก่งก๊ง ,เล่าถิ ,ชั่ง โรงหมู และ เกชา เปลี่ยนวิถี ล้วนถูกนายตำรวจหนุ่มโสภณจับทำประวัติลงแฟ้มหมด

พอสมัยเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลใต้มีโอกาสทำงานสืบสวนแบบเต็มตัว มีคดีสำคัญเกิดขึ้นมากมาย ทั้งคดีจับคนเรียกค่าไถ่ ชิงทรัพย์หน้าธนาคาร  ปล้นรถสิบล้อเอาคนขับไปฆ่าทิ้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่คดีนั้นคนร้ายถูก พล.ต.ท.โสภณกับพวกจับตายรวดเดียว 4 ศพ

นายพลชั้นบรมครูนักสืบบอกว่า ทีมงานสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมที่ดีที่สุดในประเทศยุคนั้นไม่มีทีมไหนสู้กองสืบสวนใต้ มอบนโยบายให้เน้นการทำงานเป็นทีมไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเก่ง ได้ลูกน้องมือดีเข้ามาช่วย ตั้งแต่ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์  พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท พล.ต.ต.ชาลี เภกะนันทน์ พล.ต.ต.สมคิด บุญถนอม พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ และ พ.ต.อ.ทรงพร สารพานิช   เป็น 6 นายตำรวจหลักของหน่วย มีหลายคดีลึกลับซับซ้อนที่ต้องใช้หลักการทำงานแบบสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานก่อนแล้วค่อยจับกุมเพราะบางครั้งยังไม่มีผู้เสียหาย ยกตัวอย่าง คดีคนร้ายปล้นเงินจากชาวบ้านที่ไปถอนแล้วเดินออกมาหน้าธนาคารเกิดขึ้นบ่อยมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจพอจะรู้ตัวว่าใครเกี่ยวข้อง แต่จำเป็นต้องมีการวางแผนว่าจะจับตอนไหน อย่างไร ให้ได้หลักฐานครบ

“ เมื่อรู้กลุ่ม เราได้ส่งคนตามสะกดรอย ใช้รถเก๋ง 5คัน จักรยานยนต์ 2 คัน ผู้ต้องสงสัยมีอยู่ 4คน ตามไปทุกธนาคารที่มันเข้าออก จดบันทึกไว้ว่าใช้รถกี่คัน มีวิธีการดูเหยื่ออย่างไร ตามกันอยู่ 38 วันทำการของธนาคาร กว่าพวกมันจะลงมือที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาตะนาว  มีพวกมัน 2 คนอยู่ในธนาคารส่งซิกให้อีก 2 คนด้านนอกรอแล้วตรงเข้าจี้ชิงเงินขึ้นรถจักรยานยนต์หนี เชื่อมั้ยว่าลูกน้องเราตามไม่ทัน เราเลยต้องสั่งให้ตามคนที่เหลือในธนาคาร เพราะเดี๋ยวมันต้องนัดเอาเงินไปแบ่ง สุดท้ายตามไปเจอหน้าอาบอบนวด ริมถนนศรีอยุธยา จึงเกิดการยิงต่อสู้จับตายไป 2 คน ที่เหลืออีก 2 คนจับเป็น มีผู้หญิงท้องแก่อยู่ในแก๊งทำหน้าที่ชี้เป้าด้วย” อดีตผู้กำกับสืบสวนใต้เล่าประสบการณ์

พล.ต.ท.โสภณบอกว่า นักสืบไม่ใช่พอเป็นแล้วไม่คำนึงถึงพยานหลักฐานเอาข้อเท็จจริงจากการข่าวมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้พยาน ไม่เช่นนั้นผู้ต้องหาจะหลุดหมด “ทุกคดีที่เราจับแทบไม่หลุดเลย อาศัยประสบการณ์จากงานสอบสวน เมื่อใครจับแล้วพยานคนจับต้องให้ตำรวจกองสืบสวนทำบันทึกสอบปากคำเองแล้วส่งให้เราดูสำนวนเองก่อนส่งโรงพัก”

กองกำกับสืบสวนรุ่นนั้นถึงต้องเลือกทีมนายตำรวจที่มีความรู้การสอบสวนเข้ามาด้วย เช่น พ.ต.อ.วิศิษฐ์ นิมิตรกุล พ.ต.อ.มานิต ธนสันติ เพื่ออาศัยทำคำให้การในสำนวนมัดผู้ต้องหาไม่ให้หลุดในกระบวนการชั้นศาล ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตนักสืบพอสมควร

แม้จะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยังไม่เคยทิ้งงานสืบสวน มีหลายคดีที่ลงเป็นหัวหอกช่วยลูกน้องสืบสวนคลี่คลายปม นำประสบการณ์เข้าไปเสนอแนะ บางคดีถึงขั้นลงทุนเช่ารถแท็กซี่ปลอมเป็นโชเฟอร์ขับตระเวนหาข่าวและดูให้กำลังใจลูกน้องถึงจุดแบบหามรุ่งหามค่ำ

เมื่อถามถึงภาพรวมของวงการตำรวจนักสืบในยุคปัจจุบัน พล.ต.ท.โสภณมองว่า นักสืบระดับล่างขาดตอน พวกที่มีความสามารถอยู่ในระดับแค่ผู้กำกับการ ต่ำกว่านั้นแทบไม่มีแล้ว มีแต่คนหนี ตัวเด่นก็ไม่เกิด ขาดความก้าวหน้า อย่างดีก็แค่ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองผู้บัญชาการ ขนาดสมัยก่อนยังมีเพียง พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น คนเดียวที่ก้าวขึ้นถึงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ

“ยิ่งตอนนี้ฝ่ายอำนวยการเป็นใหญ่หมดแล้ว เรื่องปราบปรามเลิกคุย”  

นายพลตำรวจผู้คว้ำหวอดในวงการนักสืบมานานกว่า 30 ปี บอกว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหน้าตาของประเทศ คดีเกิดในกรุงเป็นข่าวดัง ตำรวจนครบาลเป็นครูฝึกให้ตำรวจสัญญาบัตรที่ออกจากโรงเรียน เป็นหน่วยครู แต่ไม่คิดจะปรับปรุงให้ครูมันดี เมื่อครูไม่ดีแล้วนักเรียนจะดีอย่างไร

“แต่งตั้งผู้กำกับกองสืบ รู้จักถนนหรือเปล่าไม่รู้ มาจากบ้านนอกไปไหนยังหลงแล้วมาเป็นหัวหน้ากองสืบสวนได้อย่างไร  ตั้งคนไม่เหมาะสมกับงาน ไม่พัฒนาคน ให้ไปหาความรู้เอาเอง เหมือนปล่อยลิงเข้าป่า แจกกล้วยให้หวี สอนให้ร้องเจี๊ยก อย่างอื่นไปหากินเอาเองแล้วมันจะไปดีได้อย่างไร ไม่มีทางดีหรอก เพราะหัวหน้าหน่วยไม่ได้เรื่อง”     

“นักสืบสั่งให้ไปตายต้องตาย ยิงเป็นยิง ยึกยักไม่ได้ ต้องนั่งในหัวใจลูกน้องให้ได้ ไม่ใช่ไม่รู้เรื่อง สั่งมันก็ไม่ฟัง” พล.ต.ท.โสภณให้แง่คิดและยังฝากไปถึงนักสืบรุ่นหลานว่า ต้องวางหลักการทำงาน ไม่ใช่อยากจับอะไรก็ไปจับ คดีที่ต้องปราบ เกิดแล้วเป็นผลให้เกิดคดีอื่นต่อเนื่อง เช่นยาเสพติด ต่อเนื่องปล้นทรัพย์ ประทุษร้ายต่อชีวิต สื่อลามก ส่งผลให้เกิดคดีทางเพศ ทำร้ายต่อชีวิต ต้องเอาให้อยู่ คดีแก๊งอิทธิพลก็ต้องเอา ไม่เช่นนั้นจะเกิดเรื่อย

“ปัจจุบันไม่คิดกันแบบนี้ ไม่วางหลักให้เด็ก  พวกเด็กก็ไม่รู้ มันต้องแก้ที่คน แก้ที่ตัวหัวหน้าหน่วย เป็นปัจจัยเด็ดขาดให้งานสำเร็จหรือไม่สำเร็จ อุปกรณ์ดี แต่คนไม่ดีก็ทำอะไรไม่ได้ ทำงานไปวันๆไม่มีประโยชน์”

“หากย้อนเวลาได้ อยากกลับไปทำงานแก้ไขสิ่งที่ค้างคาให้ตำรวจสืบสวนนครบาลดีขึ้นกว่านี้” เป็นคำฝากทิ้งท้ายของตำนานปรมาจารย์นักสืบ

โสภณ วาราชนนท์ !!! 

 

 

RELATED ARTICLES