กำเนิดใหม่กองสืบเมืองหลวง

 

อวสานของตำนานกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ พระนครใต้ และธนบุรี จบลงเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2540

หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 1) ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม114 ตอน 9 ก ลงวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2540

ผ่ากองบังคับการตำรวจนครบาลเดิมในพื้นที่เหนือ ใต้ และธนบุรี ออกเป็น 9 หน่วย เรียกใหม่เป็น กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9

นับตั้งแต่การจัดตั้งกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ พระนครใต้ และธนบุรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พุทธศักราช 2503 ตามพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2503  ลงวันที่ 13 กันยายน พุทธศักราช 2503 ประกาศ ณ วันที่ 26 กันยายน พุทธศักราช 2503

สร้างเหล่านักสืบมือปราบเมืองหลวง พิชิตโบแดง คดีสำคัญระดับชาติมากมาย

ทำเนียบรายชื่ออดีตผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนทั้ง 3 กองกำกับการที่กลายเป็น “ตำนานของทัพนครบาล”

หลายคนชื่อชั้นไม่ธรรมดา

กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ มี พ.ต.อ.วิเชียร แสงแก้ว ดำรงตำแหน่งคนแรก ตามด้วย พ.ต.อ.พิชิต มีปรีชา พ.ต.อ.ยงยุทธ อินทบุหรั่น  พ.ต.อ.เจริญ โชติดำรงค์ พ.ต.อ.ฉลาด ทองธารี  พ.ต.อ.ชาญ รัตนธรรม พ.ต.อ.สุริยะ โมรานนท์ พ.ต.อ.ปราโมทย์ บูรณะพิมพ์ พ.ต.อ.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ พ.ต.อ.วาทิน คำทรงศรี พ.ต.อ.ทวี ทิพย์รัตน์ พ.ต.อ.ประมวล นีละคุปต์ พ.ต.อ.คำนึง ธรรมเกษม พ.ต.อ.วินัย เปาอินทร์ พ.ต.อ.วิบูลย์ศักดิ์ สิทธิเดชะ พ.ต.อ.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น และพ.ต.อ.วิวัฒน์ วรรธนะวิบูลย์

กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ มี พ.ต.อ.สุวรรณ รัตนชื่น นั่งผู้กำกับการคนแรก ต่อด้วย พ.ต.อ.อดุลย์ วัฒนโชติ พ.ต.อ.เถลิงศักดิ์ สังขะตะวรรธน์  พ.ต.อ.อมร ยุกตะนันท์ พ.ต.อ.อุดม มั่นวิเชียร พ.ต.อ.ธนู หอมหวล  พ.ต.อ.โสภณ วาราชนนท์ พ.ต.อ.อำพล สุรทิณฑ์ ก่อน พ.ต.อ.โสภณ วาราชนนท์ โยกไปนั่งอีกครั้ง แล้วเปิดทางให้ พ.ต.อ.วรรณรัตน์ คชรักษ์ พ.ต.อ.บุญชอบ พุ่มวิจิตร พ.ต.อ.รังษี ทองไกรแสน พ.ต.อ.พีระพล สุนทรเกตุ พ.ต.อ.อาทิจ ชูตินันท์ พ.ต.อ.วัชระ เข็มศักดิ์สิทธิ์ พ.ต.อ.สมศักดิ์ แสนชื่น และพ.ต.อ.ไพจิตร อ่องศรี

กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลธนบุรี มี พ.ต.อ.สมชาย บุญลือ คุมเก้าอี้นานถึง 7 ปี ต่อด้วย พ.ต.อ.พล ภวภูตานนท์ พ.ต.อ.วุธ จำปีรัตน์ พ.ต.อ.สำเนา วิทิศวรการ พ.ต.อ.วินิจ เจริญศิริ พ.ต.อ.ไพฑูรย์ สุวรรณวิเชียร พ.ต.อ.ฉลาด ทองธารี พ.ต.อ.ลิขิต วัฒนปกรณ์ พ.ต.อ.อำพล สุรทิณฑ์ พ.ต.อ.เชาว์ ประสพสันต์ พ.ต.อ.สินสมุทร มุกดาหาร พ.ต.อ.อุไร ศรีอุไรย์ พ.ต.อ.สัญจัย บุญยเกียรติ พ.ต.อ.วุฒิ พิพัฒนบวรกุล และพ.ต.อ.โกสินทร์ หินเธาว์

ดังนั้น พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รู้อยู่แล้วถึงสถานการณ์ “กองแตก” แยกเป็น กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 1-9 จำเป็นต้องการขุมกำลังนักสืบไปเสริมทัพประดับ “เขี้ยวเล็บ” ให้หน่วยงานใหม่

เป็นเหตุผลที่หลักสูตรสืบสวนคดีอาญาขั้นพิเศษของนครบาลเกิดขึ้นด้วยการคัดเลือกรองสารวัตรรุ่นใหม่ไปฝึกอบรมเพื่อก้าวต่อไปเป็น “ทายาทนักสืบ” จำนวน 30 ชีวิต

มี พ.ต.ท.ปรีชา ธิมามนตรี รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลเหนือ เป็น “แม่งานหลัก”ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากลและการก่อการร้ายในเมืองทุกรูปแบบ รวมถึงการสืบสวนคดีวางระเบิด และการสืบสวนคดีอาญาที่มีความสลับซับซ้อน

ได้ “พี่เลี้ยง” ช่วยประคอง อาทิ พ.ต.อ.วินัย ทองสอง ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม พ.ต.ท.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้กำกับการข่าว กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.ท.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองผู้กำกับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ  พ.ต.ท.เสถียร ดีเหมาะ สารวัตรแผนก 5 กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลธนบุรี พ.ต.ต.บรรลือศักดิ์ ขลิบเงิน สารวัตรแผนก 3 กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ และ พ.ต.ต.ธงชัย กนิษฐกุล สารวัตรแผนกประชาสัมพันธ์ กองกำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี

แบ่งกลุ่มภาคปฏิบัติออกสืบสวนจำลองคดีสำคัญขณะนั้น คือ เหตุระเบิดลานจอดรถ ตึกไอบีเอ็ม ถนนพหลโยธิน ท้องที่ สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เหตุลอบวางเบิดรถเบนซ์ของ ณรงค์ อุ่นแพทย์ ผู้กว้างขวางวงการมวยชื่อดังบนทางด่วน ท้องที่ สถานีตำรวจนครบาลดินแดง และคดีฆาตกรรม มาซาโกะ เวลเคอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ท้องที่ สถานีตำรวจนครบาลโคกคราม

สร้างความคึกคักให้แก่บรรดานักเรียนระดับรองสารวัตรนอกเครื่องแบบไม่น้อย

 “เวลาเรียนพวกเอ็งทุกคนห้ามหลับ” พ.ต.ท.ปรีชากำชับดังลั่นห้อง ทำทุกคนเงียบสนิท “อนาคตพวกเอ็งจะลงไปอยู่ตามกองกำกับการสืบสวนนครบาลที่จะแยกออกจากโครงสร้างเก่า รู้ใช่ไหม”

“ครับ” ทุกคนว่าเป็นเสียงเดียวกัน

“ท่านผู้บัญชาการฝากเน้นมา ตามหลักการถือว่างานสอบสวน มีงานสืบสวนเป็นผู้สนับสนุน เป็นกระบวนการอำนวยความยุติธรรมชั้นต้น พวกเอ็งต้องทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีที่กล่าวหากัน รวมถึงการติดตามจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย”

ผลผลิตบุคลากร 30 นักสืบ “เลือดใหม่” เป้าหมายหลักของ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต้องการให้กระจายลงไปอยู่ตาม กองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 1-9 ในจังหวะที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ยุบ กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ และ กองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี

กำเนิดใหม่ของกองสืบสวนเมืองหลวงได้อุบัติขึ้นแล้ว

พ.ต.อ.วิวัฒน์ วรรธนะวิบูลย์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 1 พ.ต.ท.ทรงวุฒิ ถวัลกิจดำรงค์ รองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลลาดกระบัง เป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 2 พ.ต.ท.อาจินต์ จารุวร รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 3 พ.ต.ท.มันทาร อภัยวงศ์ รองผู้กำกับการจราจร สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 4

พ.ต.ท.ไพจิตร อ่องศรี ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ เป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 5 พ.ต.ท.สำเริง สุวรรณพงษ์ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 6 พ.ต.อ.โกสินทร์ หินเธาว์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลธนบุรี เป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 7 พ.ต.ท.อภิชาติ เชื้อเทศ รองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 8 พ.ต.ท.ชัยทัศน์ รัตนพันธุ์ รองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลท่าพระ เป็นผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 9

มรดกที่เกิดจากโรงเรียนนักสืบนครบาลรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่ดีสุดของวงการตำรวจต่างลงไปเป็นมือสืบสวน “ดาวดวงใหม่” ตามความคาดหวังของ “บรมครู” ผู้ก่อตั้งหลักสูตรและคณะทำงาน

กระทั่ง 20 กว่าปีผ่านไป หลายคนกระจัดกระจายตามวิถีเส้นทางเดินของตัวเอง

RELATED ARTICLES