“เราจะทำอย่างไรให้คนฟังที่ได้ยินแต่เสียงของเรา แต่สามารถจินตนาการได้”

 

ยู่เบื้องหลังไมค์มานาน แฟนข่าววิทยุทั่วไปอาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตา น้ำเสียงอ่านข่าวของเธอมีเสน่ห์  ชัดถ้อยชัดคำชวนติดตาม

ปอดารากาญจน์ ทองลิ่ม ผู้ประกาศข่าวสำนักข่าวไทย สาวหน้าหวาน ตากลมโต หากจะเรียกว่าเธอเป็นคนข่าววิทยุก็คงไม่ผิดนัก แม้เส้นทางชีวิตจะผ่านประสบการณ์มาทั้งงานสื่อแขนงโทรทัศน์และงานวิทยุ เจ้าตัวเกิดและเติบโตในครอบครัวที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานด้านการศึกษา พ่อทำงานเป็น วิศวกรนิวเคลียร์ อยู่ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ส่วนแม่ ดูแลกิจการที่บ้าน ทำธุรกิจอพาร์ตเมนต์ให้เช่า  มีน้องสาวฝาแฝดที่แม้หน้าตาจะไม่เหมือนกัน แต่สนิทกันมาก ชื่อ “ป่าน” เกิดห่างกัน 4 นาที

เธอเล่าว่า สมัยเรียน มีเพื่อนชื่อปอเหมือนกัน เวลาครูหรือเพื่อนเรียกจะงง คนไหนต้องหัน เลยเติมคำหน้าว่า โอ กลายเป็น โอปอ จะได้ไม่สับสนว่า เรียกใคร  ตั้งแต่เด็กๆ ยอมรับว่า พ่อเคร่งเรื่องการเรียนมาก เพราะว่าพ่อเรียนเก่ง อยากให้ลูกเรียนเก่งเหมือนกัน แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนอะไร ชีวิตมีเรื่องเรียนเป็นหลัก นอกจากเรียนหนังสือ มีเรียนดนตรี เรียนภาษา พ่อจะไม่ยอมให้ขาดเรียนเลย เพราะถือว่าการศึกษาเป็นรากฐานของชีวิต มีครั้งหนึ่งตอนไปสอบเข้า ม. 1 ที่สตรีวิทยาวิทยา 2  สอบติดห้อง 12 พ่อหน้าเสียมาก คิดว่าห้องบ๊วย มารู้ทีหลังว่าเลข 12 นี่เป็นห้องคิงส์ แต่เราเป็นเด็ก ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร

เรียนโรงเรียนเดียวกับน้องฝาแฝดมาตลอด ตั้งแต่ที่โรงเรียนบุญฤดี โรงเรียนเรวดี และสตรีวิทยา 2เพิ่งจะมาแยกห้องกันตอน ม.5 ย้ายจากสายวิทย์-คณิต ไปเรียนสายศิลป์ เพราะตอนนั้นรู้ตัวเองแล้วว่า อยากจะเรียนจบไปประกอบอาชีพเป็นอะไร ดารากาญจน์บอกว่า ไม่ได้อยากเป็นหมอ เภสัช วิศวะ แล้วจะเรียนไปทำไม อยากเป็นผู้ประกาศข่าว เพราะอยากออกทีวี แต่ก็ไม่ชอบขนาดที่จะต้องไปเอนเตอร์เทนท์คน เรามาทางสายนิ่ง ผู้ประกาศน่าจะเหมาะกับเรา มีสคริปต์อ่านด้วย ไม่ต้องจำบทแบบดารา

เลือกเอ็นทรานซ์ทางสายนิเทศศาสตร์ ทั้งที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลสอบออกมาติดเชียงใหม่ ผิดกับน้องสาวไปเลือกเรียนทันตแพทย์ที่สงขลา เธอเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่หอพักลำพังที่เชียงใหม่ ไม่ทำให้พ่อแม่หนักใจ พอขึ้นปี 2 เลือกเอกโทรทัศน์วางเป้าหมายอยากเป็นผู้ประกาศข่าวอย่างเดียว แต่ถ้าไม่ได้ทำทีวีก็ยอมจะเป็นผู้ประกาศข่าววิทยถจัดรายการเปิดเพลงน่าจะสนุกไม่แพ้กัน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีสถานีวิทยุของตัวเองที่กระจายเสียงไปทั่วทั้งจังหวัด เป็นรายการที่คนจัดเป็นอาจารย์ จะมีช่วงที่นักศึกษาได้ฝึกจัดรายการจริงด้วย อาจารย์จะให้เราจัดรายการเอง เปิดเพลง ไปทำข่าวมารายงานจริง คนฟังไม่ใช่แค่คนในมหาวิทยาลัย นอกจากการฝึกปฏิบัติแล้ว  ตอนนั้นก็จะมีการเรียนเกี่ยวกับการใช้เสียง อาจารย์ท่านหนึ่งจะให้อ่านหนังสือนิทาน แล้วพากย์เสียง ปอเลือกเล่มที่มีสัตว์ ม้า คนแก่ เด็ก อาจารย์ชมว่า เป็นคนใช้เสียงเก่ง เพราะเลือกเสียงที่เข้ากับตัวละครนั้นๆ ได้ดี  ออกเสียงอักขระชัดเจน ดารากาญจน์ย้อนความหลัง

เธอเรียนจบมาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 2  เข้าสู่ชีวิตการทำงานเต็มตัว สาวสำนักข่าวไทยบอกว่า จริงๆแล้ว เริ่มทำงานมาก่อนที่จะเรียนจบเสียอีก ในช่วงปี 4 เทอมสอง มีรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว มาชวนไปสมัครผู้ประกาศวิทยุ คลื่นฮอตเวฟ ของเอไทม์มีเดีย ก็ไปสมัคร ปรากฏว่าได้ เขาให้เริ่มงานเลย ตอนนั้นใกล้จบ ไม่มีวิชาที่ต้องเข้าห้องเรียนจะขึ้นเครื่อง บินมาอ่านข่าว จันทร์-ศุกร์  ส่วน เสาร์-อาทิตย์ ก็บินกลับไปทำรายงานกับเพื่อน ยอมรับว่าเหนื่อยมาก แต่เป็นประสบการณ์ที่ดี พอเรียนจบก็ลาออกจากงานอ่านข่าวที่ฮอตเวฟ เพื่อเรียนต่อปริญญาโทคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปสอบกรมประชาสัมพันธ์ ตำแหน่ง นักวิทยุกระจายเสียง ได้เป็นข้าราชการรุ่นเดียวกับบุญมา ศรีหมาด ลงประจำจังหวัดตรัง

หน้าที่นักวิทยุกระจายยเสียง ดารากาญจน์อธิบายว่า ต้องทำข่าว จัดรายการ ดูแลคิวในตารางการออกอากาศ ตัวเองถือเป็นเด็กสุดในนั้น พักที่นั่น เช้ามาทำงาน บางวันอยู่เวรอ่านข่าว 1-2 ทุ่ม บางทีมีจัดรายการกลางคืน 4 ทุ่ม ไม่สามารถจะทำกิจกรรมใดๆ ได้มาก เพราะตารางงานไม่แน่นอน เวลามีงาน เราจะถูกนึกถึงตลอด ด้วยความที่อยู่ใกล้ด้วย  หัวหน้าจะเรียกไปออกงานสังคม งานเกษียณ  เต้นลีลาศ แม้จะรู้ว่าเป็นประโยชน์ในการทำงาน เพราะเวลาไปติดต่อขอสัมภาษณ์ รู้เลยว่าเราได้สิทธิพิเศษ เพราะแหล่งข่าวจะคุ้นเคยกับเรา แต่ไม่ใช่ทางเรา ไม่ชอบงานสังสรรค์แบบนี้ ติดนิสัยจากที่บ้านด้วยที่ครอบครัวปลูกฝังมาว่า หลังทุ่มหนึ่ง ควรอยู่บ้าน ไม่ออกไปตะลอนๆ  สุดท้ายปอขอลาออก หัวหน้าท่านเอ็นดูก็บ่นเสียดาย ขอให้อยู่อีกเดือน ให้ผ่านโปร เพื่อจะบรรจุให้เป็นข้าราชการ พอบรรจุเสร็จ เขาก็ให้ออก

ทิ้งงานกรมประชาสัมพันธ์หันไปสมัครเป็นผู้ประกาศข่าวช่อง 7 รุ่นเดียวกับ ไก่ ภาษิต อภิญญาวาท และเหมือนฝัน ประสานพานิช แต่ต้องรับการฝีกอบรมทักษะผู้ประกาศอีกเป็นเดือน ระหว่างนั้น สำนักข่าวไทยที่ช่อง 9 อสมท เปิดรับผู้ประกาศวิทยุ เธอจึงไปสมัครก่อนถูกเรียกสัมภาษณ์ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ใจอยากรอผลที่ช่อง 7 แต่ช่อง 9 ให้โอกาสมาทำเป็นผู้เรียบเรียงข่าวก่อน เหมือนเหยียบเรือสองแคม ในที่สุดช่อง 7 ประกาศผลไม่มีชื่อของดารากาญจน์ ทองลิ่ม

ถามว่าเสียดายไหม ไม่เสียดายนะ เพราะถ้าได้คงคิดหนัก เนื่องจากจะได้เป็นแค่ฟรีแลนซ์  ได้เงินตามวันที่อ่านข่าวจริง ไม่ใช่เงินเดือน แต่ที่ช่อง 9 ได้เงินเดือน ได้เป็นพนักงาน มันต่างกันเยอะ แต่ที่เราอยากรอผล ส่วนหนึ่งคือมันท้าทายตัวเองว่า ตัวเองทำได้ไหม เธอระบายความรู้สึก ก่อนไปเริ่มงานที่ช่อง 9 เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ในตำแหน่งผู้เรียบเรียงข่าวให้ผู้ประกาศข่าวต้นชั่วโมงอ่าน มีจัดรายการบ้าง ลงเสียงสกู๊ป ทำส่วนงานวิทยุ

ไปได้ไม่ถึงปี มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการ อสมท คัดผู้ประกาศข่าวทีวี เธอผ่านการคัดเลือกไปอ่านข่าวต้นชั่วโมง ทำงานควบ จันทร์-ศุกร์ ทำวิทยุ ส่วนวันเสาร์ อ่านข่าวทีวี 4 ทุ่ม-ตี 5 พอวันอาทิตย์กลับมาทำวิทยุ ทำงาน 7 วัน ไม่มีวันหยุด ทำได้ไม่กี่เดือน มีการขยับเวลาอ่านข่าวทีวีให้ ได้พักมากขึ้น แต่ทำ 7 วันเหมือนเดิม ทำอยู่เกือบ 5 ปี จนเริ่มร่างกายไม่ไหว บวกกับต้นสังกัดมีรับผู้ประกาศข่าวใหม่ถึงกลับมาทำวิทยุอย่างเดียว

  เกือบ 5 ปี ได้ลองทำ ได้โอกาส บรรลุความฝันแล้ว อีกอย่างงานทีวี ไม่น่าจะตรงกับบุคลิกเรา ที่เป็นคนง่ายๆ ไม่ชอบแต่งตัว เพราะทำทีวีต้องแต่งหน้าทำผม ใส่สูท ต้องเป๊ะ เนี้ยบตลอด กลับมาบ้านก็ต้องมานั่งลบหน้าอย่างเหนื่อย สระผม มันไม่ใช่ฟีลเรา เเต่เราก็ยังรักการอ่านข่าวเหมือนเดิม ปอรู้สึกว่า เราเป็นคนวิทยุเต็มตัว รักงานข่าว รักงานที่ต้องใช้เสียง ได้รับโอกาสจากหัวหน้าให้ทำงานที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงแรกแค่เรียบเรียงข่าว อ่านต้นชั่วโมง ต่อมาเริ่มให้จัดรายการ ให้นั่งอ่านข่าวเฉยๆ สรุปข่าวภาคเที่ยง ยาวครึ่งชั่วโมง อ่านแบบเล่าเรื่อง ก็ต้องปรับเทคนิค อ่านยังไงไม่ให้ทื่อ ให้ดูมีชีวิตชีวา แต่จริงๆ คือ ในมือเป็นสคริปต์

ดารากาญจน์ได้ทำรายการสวนอักษร เป็นรายการอ่านหนังสือให้ผู้พิการและผู้สูงอายุฟังผ่านทางวิทยุ เหมือนเวลาที่ไปอ่านให้ผู้พิการทางสายตา เมื่อถึงสิ้นปีรายการจะรวบรวมเทปรายการส่งมอบให้สมาคมคนตาบอดเก็บในห้องสมุด นอกจากรายการสวนอักษรยังได้รับมอบหมายให้จัดรายการ ครบเครื่องเรื่องข่าว เป็นรายการ ทอล์ก ออกอากาศทุกเย็นวันเสาร์ ต้องคิดประเด็น นัดแหล่งข่าวที่จะเข้าสายที่บางครั้งก็เป็นรัฐมนตรี อธิบดี ถามตอบ ไม่มีสคริปต์ เป็นงานท้าทายมากสำหรับเธอ

เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนขึ้นนั่งเก้าอี้ บรรณาธิการข่าววิทยุ สำนักข่าวไทย ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น รับผิดชอบภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่งานตัวเองเหมือนเมื่อก่อน  พอทำแล้วเข้าใจหัวอกบรรณาธิการอย่าง หัวหน้าเราเลยเจ้าตัวหัวเราะ เสนห์ของงานวิทยุ สำหรับปอ มองว่า คือการที่เราจะทำอย่างไรให้คนฟังที่ได้ยินแต่เสียงของเรา แต่สามารถจินตนาการได้ การเรียบเรียงข่าวก็เช่นกัน มันเป็นความท้าทาย ต้องเขียนข่าวหรือใช้จังหวะน้ำเสียงการอ่านยังไง ให้คนฟังเห็นภาพ และเข้าใจว่าเราจะกำลังนำเสนอข่าวอะไร อยู่ที่การใช้ภาษา ข่าววิทยุนาทีเดียว เราต้องเลือกใช้คำที่สั้น แต่เข้าใจง่าย และต้องสามารถอธิบาย สื่อความหมายได้ยาว

ทักษะสำคัญของผู้เรียบเรียงข่าววิทยุ บรรณาธิการสาวแนะว่า ต้องมีคลังศัพท์ในหัวเยอะมาก ใช้ภาษาไทยอย่างดี  เพราะหน้าที่ความรับผิดชอบงานเรียบเรียงข่าว  คือ ต้องอ่านข่าวนั้นให้เข้าใจ แปลเป็นภาษาง่ายๆ รู้เรื่อง ส่งให้ผู้ประกาศอ่าน เพื่อให้คนฟังได้ประโยชน์ ได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง ถ้าเราทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม รอแค่ก็อปปี้ข่าวที่นักข่าวส่งมา เอามาลงในแบบฟอร์ม มันก็ไม่ใช่  งานที่ทำ คือ ความรับผิดชอบ ที่มากกว่าแค่การทำตามหน้าที่

เส้นทางคนข่าวตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา นอกจากการทำงานข่าวแล้ว เธอยังมีโอกาสป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และรับเชิญเป็นวิทยากรตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เคยได้รางวัลภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต คือรางวัล เทพทอง เป็นรางวัลที่ให้กับแก่ผู้ที่ใช้ภาษาไทยดีเด่น ชัดเจน  ภูมิใจมาก เพราะคือรางวัลพระราชทาน ต้องได้รับการยอมรับจริงๆ จึงจะได้รับรางวัลนี้ รู้สึกว่า เป็นเกียรติ เป็นกำลังใจในการทำงาน รางวัลเทพทองตัวแรกทำจากทองคำจริงๆ ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะที่เป็นนักวิทยุกระจายเสียง พระองค์ท่านเป็นต้นแบบให้ประชาชนในทุกๆด้าน ส่วนตัวแล้วยึดถือพระองค์ท่านเป็นแนวทางการทำงาน ในเรื่องความมุ่งมั่น ทุ่มเทในการทำงาน เวลาพระองค์ท่านเสด็จฯเยี่ยมประชาชน ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นพระราชา ไม่จำเป็นต้องเสด็จฯ มาลงพื้นที่ แต่พระองค์ท่านเสด็จฯ เพื่อให้รู้จริงถึงปัญหาของประชาชน  จะได้แก้ไขได้ถูกจุด เราก็นำมายึดเป็นหลักในการทำงานเช่นกัน ต้องทำงานของเราให้เต็มที่ ให้เข้าถึงจริง รู้จริงๆ

ในเดือนตุลาคม 2560 ที่ถือเป็นห้วงเดือนแห่งงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง เป็นห้วงเวลาแห่งความอาลัยของประชาชนคนไทยทุกคน ดารากาญจน์ฝากประชาสัมพันธ์ด้วยว่า วิทยุสำนักข่าวไทย จัดทำรายงานพิเศษ ออกช่วงครบเครื่องเรื่องข่าว อัญเชิญพระสุรเสียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเรียบเรียงเป็นรายงานพิเศษ ออกอากาศ วันเสาร์-อาทิตย์ รวมทั้งมีรายงานพิเศษ พระราชพิธี พระราชประวัติทุกวัน ตลอดทั้งเดือน

 

RELATED ARTICLES