“ทำคดีเยอะมาก วิสามัญฆาตกรรมไป 10 กว่าราย โจรยุคนั้นสู้จริง ยิงกันจริง ๆ ผู้ใหญ่เห็นผลงาน”

 

ไพจิตร อ่องศรี อดีตเด็กหนุ่มอำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ศิษย์เก่าโรงเรียนปราจีนราษฎรอำรุง ตัดสินใจดั้นด้นเข้าเมืองกรุงทันทีที่จบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 เข้าเป็นนักเรียนพาณิชยการราชดำเนิน แต่กลับไปใช้ชีวิตเสเพล หัดเป็นนักมวยขึ้นชกหาเงินตามเวทีเล็ก ๆ กินค่าตัวเพียง 50 บาท อีกทั้งยั่งวุ่นอยู่กับการนั่งดูหญิงสาวเต้นรำ

ผลสุดท้ายเลยเรียนไม่จบ

พออายุย่างเข้ายี่สิบถึงวัยเกณฑ์ทหาร กลัวมาก เป็นเหตุให้เลือกเสี่ยงสอบโรงเรียนพลตำรวจนครบาลบางเขนที่น่าจะได้ช่วยสังคมมากกว่า เมื่อจบมาก็ลงบรรจุเป็นผู้บังคับหมู่ สถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ ดงนักเลงดังยุค 2499 อาทิ เก๊าม้าเก็ง เหลา สวนมะลิ ล้อ วงเวียน ก่งก๊ง เต็งโก้ และจ๊อด เฮาดี้ เป็นต้น

เรียนรู้สะสมประสบการณ์นานกว่า 6 ปี สามารถจับกุมมือขว้างระเบิดขวดลงหน้าพระที่นั่ง ในสนามศุภชลาศัย วันที่ไทยดวลแข้งกับพม่าได้เป็นรายแรก ยึดของกลางเป็นระเบิดขวดเกือบ 200 ลูก พ.ต.อ.พิชิต มีปรีชา สมัยนั้นดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ เห็นแววเลยดึงเข้าไปเสริมทีมสืบสวนเหนือ

คลี่คลายคดีสำคัญมากมาย รวมถึงคดีคนร้ายจับเจ้าของร้านอาหารศรแดงไปเรียกค่าไถ่ คดีวิ่งราวทรัพย์หน้าธนาคาร “แก๊งหัวแข็ง” ที่ล้วนเป็นลูกเสี่ยย่านเยาวราชถิ่นเก่าที่เขาชำนาญพื้นที่ ส่งผลให้ติดยศ “จ่า” ต่อมา พ.ต.อ.เจริญ โชติดำรงค์ เป็นผู้กำกับกองสืบแนะนำให้สอบภายในจนได้ขึ้นเป็นสัญญาบัตรติศ “ร้อยตำรวจตรี” กลับมานั่งเป็นรองสารวัตรประจำสืบสวนเหนือ

พิสูจน์ฝีมือนักสืบพันธุ์แท้ด้วยการแกะรอยจับพยาบาลสาววางยานอนหลับฆ่าชิงทรัพย์ ส.ส.กำธร ลาชโรชน์ ในโรงแรมม่านรูดแถวสะพานควาย กับคดียิงถล่ม ส.ส.ราชบุรีด้วยปืนอาก้าหน้าโรงนวดถนอมใจอารีย์ แถวเฉลิมกรุง ท้องที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ คดีปล้นโรงแรมแมนดาริน คดีแก๊งปลอมธนบัตรรายใหญ่

พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ อธิบดีกรมตำรวจจึงมีคำสั่งให้ขึ้นเป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อย อยู่ได้ 6 เดือนย้ายเป็น สารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง เป็นสารวัตรแผนกสืบสวนพิเศษ 191 แล้วขึ้นรองผู้กำกับการข่าว ฝ่ายอำนวยการ กรมตำรวจ นาน 4 ปี กระทั่ง พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต้องการหาตัวนักสืบอาชีพเข้าไปช่วยปราบปรามอาชญากรรมในเมืองหลวงจึงเลือกไปนั่งเก้าอี้ “ผู้กำกับสืบสวนใต้”

เป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 5 ภายหลังกรมตำรวจผ่าโครงสร้างแบ่งกองบัญชาการนครบาลออกเป็นกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 ก่อนขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ (191) จนตัดสินใจลาออกจากราชการตามโครงการ “เออรี่ รีไทร์” ติดยศ “นายพล”

“มีนายบางคนหาว่าผมอุ้ม จูน คลองเตยไปเรียกค่าไถ่ หาว่า 191 ที่ผมคุมอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่ผมพยายามชี้แจงว่า ผมไม่เคยรู้จักไอ้จูนเลย และข่าวว่ามันก็ยังอยู่ไปเรียกมันมาถามซิ วันนั้นทำให้ผมท้อแท้มาก รุ่งขึ้นผมยื่นหนังสือลาออก สบายใจกว่า ไม่ใช่ไม่ได้เป็นผู้การแล้วน้อยใจลาออก” พล.ต.ต.ไพจิตร อ่องศรี เริ่มต้นเผยความในใจที่เก็บไว้นานกว่า 5 ปี

ชีวิตตำรวจนักสืบของเขาถือว่า ฟันผ่าอุปสรรคมามากมาย ไหนจะต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับโจรผู้ร้ายแล้วยังต้องรบกับผู้บังคับบัญชาบางคนที่ไม่เข้าใจวงจรชีวิตของนักสืบ พล.ต.ต.ไพจิตรบอกว่า สมัยเก่ากว่าคนจะผ่านงานนักสืบได้ต้องเฟ้นแล้วเฟ้นอีก ตอนโดนดึงขึ้นไปอยู่กองสืบเพราะผู้บังคับบัญชาเห็นว่าทำงาน มีประสบการณ์และกว้างในพื้นที่ เขาจะดึงตำรวจชั้นประทวนมือดีตามโรงพักคัดมาอยู่กองสืบ เพราะกองสืบคัดคนไม่ได้ ใครกว้างแถวจักรวรรดิ สำราญราษฎร์จะเลือกเอามาอยู่ เพราะรู้ว่าแต่ละพื้นที่ใครเป็นผู้มีอิทธิพล ขาใหญ่ นักเลง คนร้ายลักวิ่งชิงปล้น หรือค้ายาเสพติด ไม่เหมือนสมัยนี้ซี้ซั้วคว้ามาเป็น

“ทำคดีเยอะมาก วิสามัญฆาตกรรมไป 10 กว่าราย โจรยุคนั้นสู้จริง ยิงกันจริง ๆ ผู้ใหญ่เห็นผลงาน ตอนได้เป็นสารวัตรปราบปรามบางกอกน้อย ผมยังไม่เชื่อเลย เพราะสมัยสอบชั้นประทวนเป็นนายตำรวจมีคำสั่งล็อกสเปกไว้ให้เป็นได้แค่ร้อยตำรวจเอก พอย้ายไปอยู่ดอนเมือง มีคดีปล้นฆ่าปาดคอแท็กซี่ทุกวัน พื้นที่ตรงนั้นเปลี่ยวมาก ตามอยู่หลายเดือนกว่าจะจับคนร้ายได้ ผมขายรถไป 3 คันเอาเงินมาทำงาน โชคดีที่บ้านเรามีฐานะ ท่านสิทธิ์ จิรโรจน์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งบ้านอยู่ในท้องที่ยังถามเลยว่า ดอนเมืองไม่มีอะไร แหล่งอบายมุขก็ไม่มี ทำไมสายสืบอยู่ได้”

“มันเป็นความมุ่งมั่นของผม ใคร ๆ ก็ดูถูกว่า คงตายแค่ร้อยเอก ผมต้องลองดู ต้องเจริญก้าวหน้า เมื่อทำงานแล้วได้ผล ทำให้เรามีกำลังใจ จนได้ย้ายเป็นสารวัตรแผนกสืบสวนพิเศษ” พล.ต.ต.ไพจิตรเล่าอย่างภูมิใจ

แต่การไปดำรงตำแหน่งสารวัตรสืบสวนกรุงเทพฯ ของเขาครั้งนั้นไม่ได้เลิศหรูอย่างที่ฝัน เมื่อต้องไปมีปัญหากับผู้บังคับบัญชาแบบไม่ทันรู้ตัว เนื่องจากสมัยนั้น พล.ต.ต.วินิจ เจริญศิริ กำลังลุ้นตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแข่งกับ พล.ต.ต.ทิพย์ อัศวรักษ์ ปรากฏว่า มีบ่อนพนันแห่งหนึ่งที่ไดอาน่าอพาร์ตเมนต์ ถนนเพชรบุรี ที่คุณหญิงเจริญ อดิเรกสาร เรียก พล.ต.ต.ทิพย์ไปกำชับให้จับให้ได้เพราะแอบอ้างชื่อคุณหญิงเจริญ

“ผมได้รับคำสั่งให้ไปจับ ท่านวินิจเลยไม่พอใจ หาว่าฉีกหน้า เพราะท่านคุมงานปราบปรามอบายมุขอยู่ ขู่บอกว่าไม่เป็นไร อย่าให้ผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก็แล้วกัน พอท่านขึ้นจริง ๆ ผมโดนย้ายเลย ไปอยู่ฝ่ายข่าวที่กรมตำรวจ กว่าจะพ้นมรสุมต้องรอนาน 4 ปี ผู้บัญชาการโสภณ วาราชนนท์ ทาบทามให้มาอยู่สืบสวนใต้”

อดีตนักสืบลูกหม้อเมืองกรุงบอกว่า รู้จัก พล.ต.ท.โสภณ ตั้งแต่อยู่พลับพลาไชย ท่านรู้ว่า เรากว้างขวางกลุ่มคนจีนในพื้นที่ ทั้งที่เราไม่เคยอยู่เขตกองบังคับการนครบาลใต้เลย เป็นจังหวะที่นครบาลเลือกหาตัวนักสืบ ขาดบุคลากรจึงเรียกไปทำงาน “ท่านถามว่าผมทำได้มั้ย ผมจะบอกว่าไม่ได้ก็กระไรอยู่จึงรับปากว่าจะทำให้ดีที่สุดกว่าทุกคนก็แล้วกัน ปากไปก่อนแล้วเพราะอยากเป็นผู้กำกับ แต่มานึกอีกทีว่าเราจะคุมพวกนายร้อยตำรวจได้หรือ ผมมาจากพลตำรวจ”

เมื่อไปนั่งทำงานจริง ๆ พล.ต.ต.ไพจิตร ใช้นโยบายแบบเปิดเผยให้ลูกน้องในหน่วยรู้ กางบัญชีให้เห็นว่า เดือนหนึ่งมีรายได้เท่าไร แบ่ง 60 เปอร์เซ็นต์ลงกองกลางให้แต่ละชุด ที่เหลือ 40 เปอร์เซ็นต์เก็บไว้เป็นทุนสำรองจ่าย ดูแลผู้บังคับบัญชา ส่วนรางวัลนำจับคดีต่าง ๆ ผู้กำกับไม่ขอยุ่ง เพราะไม่ได้ไปจับด้วย ยกให้ลูกน้องทั้งหมด ตอนนั้นงานของสืบสวนใต้ไม่เป็นรองใคร จับคดีอาชญากรรมสำคัญเดือนละกว่า 100 คดี จัดรางวัลทำงานให้ลูกน้องแข่งขันกัน ต้องไม่ขี้เหนียวและแสดงความจริงใจให้เขา

จวบจนแยกกองบังคับการเป็นผู้กำกับการสืบสวนนครบาล 5 พล.ต.ต.ไพจิตร พร้อมทีมงานสืบสวนมือดีที่คัดจากนครบาลใต้สร้างผลงานให้หน่วยงานมากมาย ก่อนเปิดทางให้ พ.ต.อ.จตุรงค์ ภุมรินทร์ มานั่งคุมงานนักสืบต่อ ส่วนตัวเองคืนถิ่นเก่า 191 ระลอกสองในตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ยังไม่วายถูกมรสุมผู้เป็นใหญ่ที่เคยกินแหนงแคลงใจในอดีตสมัยใช้ชีวิตนักสืบร่วมสังกัดเดียวกันจับให้ไปทำงานคุมหน่วยตำรวจสุนัข ตำรวจม้า ว่างงานไปพักใหญ่

กระทั่ง พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ขู่จะย้ายเขาเพราะมองว่าขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน “ผมตัดสินใจเข้าไปคุยกับท่านบอกถึงเหตุผล เพราะผมไม่มีกำลังอยู่ในมือ ทำงานต้องมีลูกน้อง เราไม่มีเวลานั่งเฝ้าติดตามคนร้ายมันไม่ใช่เด็ก ๆ จะเข้าบ่อนก็ไม่ได้ สมัยก่อนผู้ใหญ่ส่งเสร้มให้ไปเล่นในบ่อน เล่นม้า เล่นมวย เพื่อหาข่าว รู้จักคน แล้วจะให้ผมไปทำอะไรได้” พล.ต.ต.ไพจิตรบอก

ปรากฏว่าได้ผล พล.ต.ท.วรรณรัตน์ให้กำลังตำรวจมา 15 คนตั้งหน่วยสืบสวนสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ “ผมคัดเอาลูกน้องเก่าสมัยเคยอยู่สืบสวนพิเศษมาทำงาน แต่ภาพรวมของทีมพบว่าความรู้ทางอาชญากรรมไม่มี คงสู้งานกองสืบไม่ได้ บังเอิญเป็นช่วงที่ยาเสพติดระบาดมาก ผมก็เลยเบนเข็มมาทำงานยาเสพติด ทั้งที่สายสักคนก็ไม่มี ความรู้ก็ไม่มี มันเหมือนมืดแปดด้าน จนมีอยู่วันจับผู้ต้องหายาบ้ามาขยายผล มีแต่คนงานก่อสร้างชาวกะเหรี่ยงที่ซื้อขายกันก็จึงรู้แหล่ง ค่อย ๆ ต่อยอดขยายผล”

นักสืบรุ่นเก่าอธิบายว่า กวาดพวกต่างด้าวหลบหนีเข้ามา 20-30 คนไปเลี้ยงดูอย่างดีแล้วหลอกล่อซื้อใจกัน มีชาวพม่าเป็นสายและล่าม เรียนรู้กันเอง จับส่งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบ้าง เอาเป็นสายต่อให้บ้าง แรก ๆ ก็ต้องเลี้ยงดู ให้เขามีส่วนร่วมกับลูกน้อง สร้างความสนิทสนม ใหม่ ๆ พวกนั้นก็ไม่ไว้ใจตำรวจ บอกข้อมูลจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง หลอกเอาเงินไปก็ไม่น้อย แต่ก็เคยขยายผลจับจาก 1,000 เม็ด เป็น 5,000 เม็ด 50,000 เม็ด ถึงแสนเม็ด ล้านเม็ดก็มี ทำกันต่อเนื่องอยู่ 2 ปีกว่าจับยาบ้าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเม็ด

“ผมทำงานแทบตายยังถูกด่า ทั้ง ๆที่ไม่เคยคิดลาออก เป้าหมายไม่ได้อยากเป็นนายพล เพราะที่ผ่านมาก็ไม่น่าจะถึงขนาดนี้ มันเป็นเหมือนของแถม แต่พอเจออุปสรรค รู้สึกว่า เหนื่อยฟรี หาว่าไปจับจูน คลองเตย ว่าเรามีประวัติไม่ดี มั่วสุมนักเลงการพนัน มือปืน พวกลักขโมย ทั้งที่ชีวิตนักสืบสมัยก่อนมันเป็นแบบนั้น แต่เราไม่ได้ไปร่วมกระทำความผิด สุดท้ายผมทนแรงเสียดสีไม่ไหว ผมไม่มีสถาบันรองรับก็เลยขอลาออก นายยังบอกให้ใจเย็น ๆ แต่ผมตัดสินใจแล้ว และไม่เคยไปเหยียบที่ทำงานอีกเลย” พล.ต.ต.ไพจิตรตอกย้ำความเจ็บช้ำในบั้นปลายชีวิตตำรวจอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม บนความผิดหวังยังมีความภูมิใจในการทำงานนักสืบอยู่ไม่น้อย พล.ต.ต.ไพจิตรเล่าผลงานที่ประทับใจว่า นอกจากจับคนร้ายปาระเบิดขวดหน้าพระที่นั่งในสนามศุภชลาศัยแล้ว ยังมีคดีที่คนอื่นทำไม่ได้ แต่เราทำได้ เป็นแก๊งวิ่งราวทรัพย์หน้าธนาคารที่ก่อเหตุตอนเช้า สาย บ่ายยันเย็น ตามกันอยู่ 2เดือนสามารถจับได้ยกทีม อีกคดีคือปล้นธนาคารกรุงเทพ สาขามหาชัย แล้วยิงนายดาบตำรวจเสียชีวิต หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงมติตามความเห็นของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ว่าเป็นฝีมือ “ตี๋ใหญ่”

ที่แท้กลายเป็นแก๊งของ “อ๋า โกบ๊อ” ย่านฝั่งธนบุรี

“ผมสืบได้โดยบังเอิญ เพราะมันมีเมียเป็นพาร์ตเนอร์ที่อเล็กซานดร้าไนท์คลับย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แหล่งที่ผมไปเที่ยวอยู่ประจำทุกคืน ตอนนั้นยศร้อยตำรวจตรีอยู่สืบสวนเหนือ เห็นเด็กผู้หญิงคนนี้เมาและสูบกัญชาจึงเรียกมานั่งด้วย คุยไปคุยมาจนร้านเลิก บ๋อยมากระซิบว่า พี่จิตรพาไปปลอบใจหน่อยมันกลุ้มใจเรื่องผัว ไม่รู้เรื่องอะไร ผมก็พานั่งรถไปเที่ยวพัทยา ระหว่างทางหญิงคนนี้บ่นกับผมว่า เป็นห่วงผัวที่ไปมีเรื่องกับตำรวจเพราะคิดว่าผมเป็นนักเที่ยวธรรมดา ผมถามว่าเรื่องอะไร มันบอกมีเรื่องที่มหาชัย ผมถึงกับผงะแล้วถามไปว่า เธอเป็นเมียตี๋ใหญ่เหรอ เขาบอกไม่ใช่ ตี๋หย่ง ตี๋ใหญ่อะไรกัน ผัวหนูอยู่ซอยโกบ๊อ ไม่ได้เป็นคนยิง แต่เพื่อนยิง”

นายตำรวจนักสืบมากประสบการณ์เล่าว่า กำลังเมาอยู่ หายเลย หูพึ่ง แต่ยังไม่รู้ว่าผัวของมันชื่ออะไร คือใคร เมื่อไปรายงาน พ.ต.อ.เจริญ โชติดำรงค์ ท่านจึงให้ไปตีสนิทต่อเพื่อเอาข้อมูลมาให้มากที่สุด พยายามจนสำเร็จไปส่งถึงบ้านของมันที่ซอยโกบ๊อ “ผมทำยังไงรู้มั้ย ผมออกอุบายบอกผู้หญิงพาร์ตเนอร์คนนี้ว่า อยากมาหาทุกคืนนะ แต่กลัวผัวเธอจะยิงเอา ถ้าคืนไหนผัวอยู่บ้านให้เปิดไฟหน้าบ้านไว้นะ เป็นอันรู้กัน ปรากฏว่าได้ผล หลังเฝ้ากันอยู่หลายวันสามารถจับได้ยกแก๊ง”

พล.ต.ต.ไพจิตรยังมีมุมมองสะท้อนผ่านไปถึงนักสืบยุคปัจจุบันด้วยว่า การทำงานของนักสืบรุ่นเก่าส่วนใหญ่ไม่แสดงตัวว่าเป็นตำรวจ เวลาเที่ยวตามสถานบริการก็จะไม่ดื่มเหล้า ไม่ออกหน้าออกตา ป้อนงานให้หน่วยลงไปทำ กว่าจะสืบสวนคลี่คลายคดีสำคัญได้ใช้เวลาและความอดทนไม่น้อย แต่ปัจจุบันผู้ใหญ่พอใจใครก็เอามาเป็น มันไม่ใช่ บางคนมุ่งหวังผลประโยชน์ ทำงานไม่ได้ นักสืบต้องเสียสละทั้งในเรื่องส่วนตัว และผลประโยชน์ ควรคืนรายได้ที่ไม่ถูกต้องให้สังคมบ้าง

“ทุกวันนี้จิตวิญญาณของความเป็นตำรวจนักสืบจริง ๆ เหลือไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา ได้รับส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรม ทำงานไม่เจริญก้าวหน้า ผู้บังคับบัญชาไม่ได้กลั่นกรองข้อมูล ใครฟ้องก่อนได้เปรียบ พวกไม่มีรุ่น ไม่มีสถาบันก็ตาย อย่างผมยอมรับการทำงานของท่านเจริญ โชติดำรงค์ และยึดถือแบบอย่างมาตลอด ท่านไม่เคยแบ่งสถาบันว่า คนนี้มาจากชั้นประทวน มหาวิทยาลัย หรือนายร้อยตำรวจ ท่านหลอกใช้ได้ทุกคน ทุกสถาบัน ไม่ว่าลูกน้องคนไหนมีปัญหาทะเลาะกันก็ให้เก็บไว้แล้วออกไปทำงาน ถือว่าเก่งและครบเครื่องนักสืบรุ่นครูจริง ๆ” เป็นคำทิ้งท้ายของนักสืบนครบาลพันธุ์แท้

ไพจิตร อ่องศรี !!!

 

RELATED ARTICLES