“อาชีพนักข่าวไม่ใช่อาชีพที่จะเป็นแฟชั่น เข้ามาทำเพื่อความโก้เก๋ หรือเอาไว้โพสต์ลงเฟซบุ๊ก”

 

นข่าวเนชั่นทีวีมากประสบการณ์ในสนาม

ฮุยคณาธิศ ศรีหิรัญเดช  พื้นเพเป็นชาวกรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กมีความฝันอยากเป็นนักกีฬา ชอบเล่นบาส ถึงขั้นได้รับการคัดตัวให้เป็นนักกีฬาโรงเรียน มาตั้งแต่ชั้น ม. 2  ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าเขาจะได้มาเป็นนักข่าว

เจ้าตัวเล่าว่า ที่จริงๆแล้วบ้านเปิดเป็นร้านขายหนังสือ และเป็นยี่ปั๊วรับจากจุดหลัก ไปส่งให้ร้านรายย่อยและขายเองด้วย ทำให้อยู่กับหนังสือและหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่เกิด  ถามว่าซึมซับเรื่องการอ่านมากน้อยแค่ไหน น้อยมาก ปกติจะชอบอ่านหนังสือพิมพ์กีฬา ข่าวแทบไม่ได้อ่านเ อ่านแต่สิ่งที่เราสนใจ  ตอนนั้นถ้าใกล้เคียงที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของการชอบถ่ายภาพ ชอบเอากล้องของพ่อมาเล่นมาถ่ายรูป

แม้จะมีความฝันอยากเป็นนักกีฬา แต่หลังเรียนจบ ม.ปลาย กลับเลือกเรียนตามเพื่อน เข้าเรียนบัญชี ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เ ชีวิตยังไม่ได้มีเป้าหมายอะไร  เรียนไปได้แค่เทอมเดียว ย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะนิเทศศาสตร์ สาขา วารสารศาสตร์ เหตุผลเพราะติดโปร ถึงตัดสินใจเปลี่ยนที่เรียน เป็นจังหวะที่ตัวเองได้คิดไตร่ตรองว่าจริงๆ แล้ว อยากจะเรียนอะไร เพิ่งจะคิดได้  “เลือกเรียนวารสาร เพราะคิดว่ามันคงใกล้ตัวเองที่สุดแล้ว เพราะอย่างน้อย บ้านเราเป็นร้านขายหนังสือ และเราชอบถ่ายภาพ ก็คงเหมาะกับตัวเองที่สุดแล้ว และด้วยบุคลิกไม่ใช่คนพูดเก่ง” เจ้าตัวว่า

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งเรียนและทำกิจกรรม เป็นคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ รับจ้างเพื่อนๆ ทั้งถ่ายงานส่ง และล้างฟิล์ม ทำหนังสือพิมพ์ของคณะ อาจารย์ให้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ผลัดกันทำคนละเดือน กลุ่มของเขาวางรูปแบบให้เป็นเหมือนหนังสือพิมพ์ฝรั่ง  มีพาดหัวข่าว  มีภาพเดียวอยู่ในนั้น เขาเล่าว่าตอนนั้นทำเรื่องของประเด็นยาเสพติดในวัยรุ่น อยู่หอไปถ่ายภาพของนักศึกษาข้างห้องกำลังเล่นยา ถือเป็นภาพที่ค่อนข้างแรง  ในยุคนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ที่จะมากระจายว่าหนังสือพิมพ์นักศึกษามีภาพแบบนี้ เนื้อหาที่ทำจึงรู้กันจำกัดอยู่ภายในมหาวิทยาลัย

เมื่อรู้สึกว่า การถ่ายภาพใช่ทางของตัวเอง ช่วงฝึกงาน เขาตัดสินใจไปฝึกงานที่เดอะเนชั่น ตามคำแนะนำของรุ่นพี่ที่มาฝึกก่อน  เพราะตอนนั้นตัดสินใจมุ่งมั่นอยากเป็นช่างภาพข่าวแล้ว แต่อาจารย์ไม่ยอม อยากให้ฝึกนักข่าวด้วย  สุดท้ายพอเริ่มจริง เน้นแต่งานด้านช่างภาพ  เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจมากกว่าการเป็นนักข่าว

ฝึกงานที่เดอะเนชั่น  ได้ทำไม่ต่างจากช่างภาพจริง ๆ นอกจากถ่ายภาพแล้ว ต้องเขียนประเด็นข่าวเพื่อใช้บรรยายสั้นๆประกอบภาพ แต่ภาพที่จะได้ลงหน้าหนึ่งจะมีแค่รูปเดียว  ต้องเป็นภาพที่ดีที่สุด  ประเด็นดีที่สุด  เขาบอกว่า เหมือนแข่งกัน เพราะเดอะเนชั่นมีช่างภาพกว่า 20 คน ฉบับไหนที่ภาพของเราได้ลงจะภูมิใจมากเป็นพิเศษ  การถ่ายงานที่เดอะเนชั่น ให้พื้นที่ทางความคิดค่อนข้างสูง ในการตีโจทย์ที่จะถ่ายภาพ ใช้เซนส์ความเป็นช่างภาพ เช่น วันที่เกิดเหตุการณ์ 911 เครื่องบินพุ่งชนตึก นั่งรถออกมาจากออฟฟิศไปหาร้านขายทีวี ที่มีทีวีเปิดหลายๆเครื่อง หลายช่อง เพื่อจะถ่ายภาพของคนที่กำลังยืนดูข่าวนี้ทางทีวี

หลังเรียนจบ คณาธิศไปสมัครช่างภาพข่าวไว้หลายที่ จนเดอะเนชั่นเปิดหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก มีการขยายทีมช่างภาพเพื่อรองรับงาน  ออฟ นันทสิทธิ นิตย์เมธา รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย  โทรมาถามว่า สนใจไหม ตัดสินใจโดยไม่ลังเล ไปสมัคร และได้เริ่มทำงานที่เนชั่นปี 2544   ความต่างระหว่างตอนฝึกงานกับตอนทำงานเต็มตัว คือหมายเยอะขึ้นและหมายจะค่อนข้างสัพเพเหระขึ้น ถึงแม้เราจะฝึกงานที่นี่มา  เราก็ไม่ได้มีประสบการณ์สูง  ตอนนั้นคมชัดลึกยังไม่ได้มีรถตะเวน  วิ่งทั้งงานบันเทิง งานต่างจังหวัด งานถ่ายสัมภาษณ์  มีการส่งช่างภาพไปต่างจังหวัดให้ไปอยู่ประจำที่นั่นเป็นศูนย์ข่าว 2-3 เดือน แล้วก็เปลี่ยนคน ผมได้ไปเชียงใหม่แล้วขอนแก่น  การอยู่ศูนย์ข่าว จะต้องคิดงานเอง หาประเด็นข่าวที่จะถ่ายภาพ ต้องคุยกับนักข่าวในศูนย์  รวมถึงเป็นประเด็นที่ส่วนกลางสั่งมาเพิ่มเติม”  

พอคมชัดลึกมีรถตระเวนให้ช่างภาพไปอยู่ประจำรถตระเวนคู่กับนักข่าวอาชญากรรม  เขาเล่าว่า สมัยนั้นรู้สึกว่าคดีอาชญากรรม มีเยอะกว่ายุคนี้ เยอะจนบางวัน เลือกไม่ถูกว่าจะทำคดีอะไรก่อน  เดอะเนชั่นมีกฎว่า ถ่ายต้องไม่เห็นศพ การถ่ายภาพจึงเน้นมุมภาพมากกว่า หรือภาพสื่อความหมาย และชิ้นงานข่าวที่ประทับใจและจดจำได้ไม่ลืม คือเหตุการณ์ สึนามิ 2547 จำได้เลยว่า หัวหน้าโทรมา บอกว่างไหมไปสึนามิหน่อย ไปเถอะเป็นงานสร้างชื่อ  ตอนนั้น ไม่มีใครรู้จักคำว่า สึนามิ เก็บเสื้อผ้าแล้วขับรถไปคนเดียว ทั้งชีวิตไม่เคยรู้ว่ากระบี่ไปทางไหน ซื้อแผนที่หาทางไปกระบี่ ลงพื้นที่ไปพร้อมกับ ตชด. เป็นชุดแรกที่เข้าไปเกาะพีพี ทำให้ได้ภาพตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการลำเลียงคนเจ็บออกมา พาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เห็นภาพความเสียหาย เดินขึ้นไปจุดชมวิวเพื่อที่จะถ่ายลงมาเวิ้งด้านล่างเห็นซากปรักหักพัง ภาพการช่วยเหลือ อยู่ยาวทั้งกระบี่ ภูเก็ต พังงา หาประเด็นเองทั้งภาพและข่าว รวมระยะเวลาเกือบ 2 เดือน นานมาก

ถามว่างานชิ้นนั้นได้สร้างชื่อเหมือนที่หัวหน้าโปรยมาให้ตอนก่อนจะไปไหม ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ในความรู้สึกคือเราไปเป็นช่างภาพชุดแรก มันมีความรู้สึกฮึกเหิมที่จะไป และมันต้องใช้ทักษะใช้สมองใช้ความคิด เพราะคนข้างในก็ไม่สามารถสั่งอะไรเราได้ เพราะเขาก็ไม่รู้นะว่าในพื้นที่มีอะไรบ้าง ช่างภาพฝีมือดีบรรยายฉากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมประวัติศาสตร์ในอดีต

จากช่างภาพ วันหนึ่งมีจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งใหญ่ เมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจ ออฟฟิศจะลดช่างภาพ แต่ผู้บริหารที่เดอะเนชั่นอยากได้ช่างภาพที่เป็น photo journalist คือ ถ่ายงานได้ ทำข่าวได้ จึงเสนอว่า ถ้ามีคนยอมย้ายมาเป็นนักข่าวจะไม่ต้องเอาคนออก  ตอนนั้นมองไปช่างภาพที่เหลือ มีลูกมีเต้าแล้วทั้งนั้นเลย ถ้าออกจากงานก็คงไม่มีที่ไปต่อ พอเขาพูดจบ ผมก็ยกมือทันที  มีช่างภาพ 3 คนที่ย้ายมาพร้อมกัน ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตครั้งหนึ่งเหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนเป็นช่างภาพถึงบางทีจะมีเขียนข่าวบ้าง  มันก็ไม่ได้เต็มตัว  พอเป็นช่างภาพที่ต้องทำข่าวด้วย มันทำให้เราเปลี่ยนลักษณะการทำงานโดยสิ้นเชิง สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแน่ ๆ คือหลังจากวันนั้นไม่ได้ออกต่างจังหวัดอีกเลย อยู่กรุงเทพฯมาตลอดตั้งแต่นั้นมา

  เป็นนักข่าว แต่ยังทำทั้งถ่ายภาพและทำข่าว บางงานต้องถ่ายภาพนิ่งและวีดีโอในคนเดียวกัน แม้จะวิ่งข่าวอาชญากรรมเป็นหลัก แต่ในหน้างานจริง ผ่านการทำข่าวครบทุกสาย ภาษาคนข่าวเรียกว่า ทำตั้งแต่งานเจ้ายันงานโจร ผ่านทั้งงานพระราชพิธี  อาชญากรรม ข่าวบันเทิง ข่าวม็อบ หรือแม้แต่ข่าวเหตุการณ์ระทึกเฉียดตาย รถแก๊สชนคอสะพานที่คลองตัน เมื่อปี 2555  เข้าเวรกลางคืนลากถึงเที่ยงของอีกวัน ทั้งทำข่าว ถ่ายคลิป ถ่ายภาพ รายงานสดทีวี รายงาน Video Call เรียกว่าได้ใช้ทุกแพลตฟอร์ม

ถามว่างานชิ้นที่ประทับใจ เขากลับคิดถึงข่าวเล็ก ๆ ชื่อ  “ทุกชีวิตมีค่า” ภาพข่าวนี้ได้รางวัล ของสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย หลังไปทำข่าวไฟไหม้บ้าน จนเหลือแค่ตอไม้ มีแมวตัวดำๆตัวหนึ่งเกาะอยู่บนยอดไม้ ลงมาไม่ได้ ตอนนั้นยืนมองอยู่คิดว่าจะยังไง จู่ ๆก็เห็นดับเพลิงปีนขึ้นไปบนเสาต่อไม้เพื่อจะไปดึงออกมา “แมวตัวนั้นกลัวมากไม่ยอมปล่อยมือ ดึงอยู่นาน ทั้งฉีดน้ำช่วย เพื่อให้แมวปล่อยมือจากตอไม้ ผมถ่ายภาพนั้นมา ภาพนั้นได้รางวัล มันเหมือนเป็นแค่ข่าวเล็ก ๆข่าวไฟไหม้ธรรมดา แค่แมวตัวหนึ่ง แต่มันก็เป็นชีวิตหนึ่งชีวิต เจ้าหน้าที่เขาอาจจะไม่จำเป็นต้องปีนขึ้นไปก็ได้ เพราะเดี๋ยวแมวก็อาจจะลงมันเอง แต่เขาก็ปีนขึ้นไปช่วย”

ประสบการณ์ทำงานข่าวมา 20 ปี จากช่างภาพนิ่ง มาเป็นนักข่าว และปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ สังกัดเนชั่นทีวี  นอกจากงานข่าวแล้ว ยังทำเพจ  ฉันชอบที่กว้าง  ลงภาพและเรื่องราวการท่องเที่ยว เป็นงานอดิเรกตามแบบที่ตัวเองชอบ ขณะที่ในการทำงานข่าว มองว่า คนข่าวยุคนี้ ต้องมีทักษะหลายๆอย่าง ไม่สามารถทำเป็นแค่อย่างเดียวได้อีกแล้ว “ทำอะไรอย่างเดียว ยังไงมันก็ต้องดีที่สุดอยู่แล้ว แต่เราจะทำยังไง ให้ทำหลายอย่าง แล้วได้ดีที่สุด เราก็ต้องคิดอีกสเต็ปหนึ่ง ต้องคิดว่าชอตที่ดีที่สุด เราจะเลือกให้ความสำคัญกับอะไร ถ้าตอนนี้ ผมทำทีวี ผมต้องทำสิ่งที่เรารับผิดชอบเป็นหลักให้ดีที่สุด เพราะตอนนี้ เทคโนโลยี มันช่วยเราได้เยอะ ถ่ายวิดีโอ ก็สามารถคัดเป็นภาพนิ่งออกมาได้ด้วย”

หากให้นิยามอาชีพนักข่าว คนข่าวหนุ่มเนชั่นทีวีมองว่า คงเปรียบได้กับยาม เพราะงานข่าวทำงานเป็นกะ และทำงาน 24 ชั่วโมง ต้องคอยเฝ้าทุกอย่าง ดูแลความเดือดร้อนทุกข์ยาก ความลำบากของคนอื่น ไม่ว่าจะทำข่าวสายไหนก็ตาม  สำหรับผม อาชีพนักข่าวไม่ใช่อาชีพที่จะเป็นแฟชั่น เข้ามาทำเพื่อความโก้เก๋ หรือเอาไว้โพสต์ลงเฟบุ๊ก จริงอยู่ที่ยุคนี้เราต้องทำงานแข่งกับความเร็ว แต่ความเร็วนั้นก็ต้องอยู่บนความถูกต้อง และกาลเทศะ ไม่ใช่รักใครก็เชียร์ ไม่รักใครก็ขยี้ สิ่งที่นักข่าวยุคนี้จะต้องปรับตัว จริง ๆคงไม่ใช่แค่นักข่าว  ทุกคนก็ต้องปรับตัวให้ยืนอยู่บนโลกนี้ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะปรับตัวยังไง ให้มันอยู่บนความถูกต้องและกาลเทศะให้มากที่สุด มากกว่าที่จะทำไปเกินหน้าที่  

บางครั้งที่นักข่าวลงข่าวว่าตำรวจจะไปจับคนนี้คนนั้น จริงๆแล้วถ้าเป็นนักข่าวสมัยก่อน ต้องรอดูว่า มีหมายจับออกมาแล้วหรือไม่ เราจะสนใจกฎหมาย ไม่ให้กระทบกับการทำงานเจ้าหน้าที่ แม้ข้อมูลจะอยู่ในมือเรา แต่เราจะยังไม่ออกอากาศ แหล่งข่าวมักจะคุยกัน ขอให้หมายออกก่อนนะ แล้วค่อยออกข่าว แต่สมัยนี้ นักข่าวมักจะไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ จริงๆแล้วมันเสี่ยงกับการถูกฟ้องได้ ผมมองว่า รายละเอียดในการทำงานเหล่านี้ อาจเป็นเรื่องที่นักข่าวยุคนี้หลงลืมไป  คณาธิศทิ้งท้ายให้คิด

RELATED ARTICLES