ล่าขบวนการดูดเงิน

บทพิสูจน์ฝีมือ

บทพิสูจน์เนื้อผลงานที่หลายคนมองซ้ำซ้อน “ขบเหลี่ยมกัน” หรือไม่

ไหนจะมี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมเทคโนโลยี หน่วยงาน “น้องใหม่” ไว้ปราบ “โจรไซเบอร์” ยังมี กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขึ้นตรงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

ไม่รวมถึง สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

กำลังพลและอุปกรณ์ทันสมัยมากมาย ยังมี ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งขึ้นเป็น “ชุดเฉพาะกิจ” เก็บกวาดวายร้ายตามโลกอินเตอร์เน็ต

มี ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9

แบบนี้ผู้ร้ายที่แฝงตัวในสังคมออนไลน์หาเหยื่อบนโลกโซเชียลไม่น่าหนีรอดกฎหมายไปได้

ทว่าความจริงอยู่เหนือจินตนาการของ “มายาภาพ”

ปฏิบัติการตามล่า “เครือข่ายดูดเงิน” ผู้เสียหายด้วยการหักเงินจากบัญชีธนาคาร บัญชีบัตรเครดิต บัญชีบัตรเดรบิต อย่างผิดปกติ ยังคงแกะรอยกันต่อไป

 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในนาม ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับบทเป็น “หัวหอก” นำทัพ กำชับภารกิจสำคัญตามสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าแก้ปัญหาในภาพรวม ประชุมร่วม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

ได้ข้อสรุปให้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นผู้รับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกิดขึ้น ประสานกับธนาคารเจ้าของบัญชีเป็นผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี

กรณีมีประชาชนมาแจ้งความเพิ่มเติม เช่น ยังไม่ได้รับเงินคืนในบัญชี หรือได้เงินไม่ครบ หรืออื่น ๆ ให้พนักงานสอบสวนรับแจ้งแล้วส่งเรื่องถึง กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดำเนินการ

พร้อมแนะนำประชาชนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมธนาคารไทย หารือร่วมกันแล้ว มีแนวทางว่า ธนาคารเป็นผู้เสียหาย เป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ตรวจระบบ หากพบเงินหาย ธนาคารจะคืนให้แก่เจ้าของบัญชีภายใน 5 วัน

เจ้าของบัญชีไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่ให้แจ้งข้อมูลกับธนาคารทราบ

กรณีที่โรงพักได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้วให้ส่งเรื่องพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องถึง กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดำเนินการ

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ต้องรายงานความคืบหน้า ทั้งกรณีที่รับแจ้งไว้เอง และที่ได้รับแจ้งจากโรงพักอย่างต่อเนื่องทุกวันจันทร์ให้ฝ่ายกำกับและติดตามผลของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

มอบส่วนปฏิบัติการข่าวสารของ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง

ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการป้องกันมิให้ตกเป็น “เหยื่อ”ของคนร้าย

ตั้งแต่ ระมัดระวังการกรอกข้อมูลบัตรเพื่อจ่ายเงินค่าสินค้า หรือบริการจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ คนร้ายอาจจะทำหน้าเว็บไซต์มี “โลโก้ปลอม”ให้เหมือนกันบริษัท หรือร้านค้าที่ประชาชนติดต่อ

หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่มีการส่งมาทางอีเมล เอสเอ็มเอส หรือสื่อสังคมออนไลน์ และการเข้าเว็บไซต์ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่ทำมาได้แนบเนียนโดยไม่ตั้งใจ

ระมัดระวังการนำบัตรเครดิตไปใช้จ่ายที่ร้านค้า หรือบริการต่าง ๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือไว้วางใจ เพราะอาจถูกลักลอบบันทึกข้อมูลด้านหน้าและหลังบัตรที่มีเลขหลังบัตร CVV นำไปใช้ผูก หรือทำธุรกรรมออนไลน์

ควรใช้แผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดทับรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัวเก็บเอาไว้แล้วใช้กระดาษทรายลบเลขรหัสดังกล่าวออกจากหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน ป้องกันมิจฉาชีพมิให้ถ่ายรูปด้านหน้าและด้านหลังบัตร

คงตามดูกันต่อไปว่า “วายร้ายไซเบอร์” จะเหนือกว่าตำรวจเมืองไทยที่มีกองกำลัง “ฝูงใหญ่” แค่ไหน !!!

 

 

 

RELATED ARTICLES