วันปฐมนิเทศ

 

“ใครจะสละสิทธิ์วันนี้บอกได้ มาแล้วชีวิตท่านจะเปลี่ยน” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกระตุกต่อมคิด

ครูใหญ่ผู้ร่างพิมพ์เขียวต้นแบบ หลักสูตรสืบสวนคดีอาญารุ่นพิเศษ 5 G ขึ้นปฐมนิเทศ 40 นักเรียนนอกเครื่องแบบที่เข้ารับการอบรมวิชานักสืบแบบเข้มข้นต่อหน้า “บรมครู” แห่งตำนานอย่าง พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ผู้ร่วม หล่อเบ้า 30 นักสืบ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน

ความภูมิใจของ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ แม่ทัพนครบาลในยุคนั้นที่ให้ความสำคัญกับงานสืบสวนเป็น ตำราเล่มใหม่ ไว้รองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตำรวจเมืองหลวง

ตลอด 3 เดือนในการฝึกอบรมครั้งนั้น ไม่มีวันหยุด ห้ามลา ห้ามป่วย ห้ามขาด

“ใครไม่ไหวให้ออกไป” คำพูดของ บิ๊กอู๊ด-พล.ต.ต.ปรีชา ธีมามนตรี ยังก้องวานอยู่ในความทรงจำลูกศิษย์ทุกคน

“ปีใหม่นี้ก็คงไม่ได้ไปไหน มาอยู่ในนี้แล้วนะ ถอยหลังกลับไม่ได้ ใครจะสละสิทธิ์วันนี้บอกได้” ได้เวลาอาจารย์ปั๊ดถามย้ำกับทุกคนอีกรอบ

เจ้าตัวเท้าความเป็นมาของ “ปฐมบท” หลักสูตรนับตั้งแต่เข้ารับราชการตำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2526 มองกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นแม่แบบของตำรวจไทยในเรื่องการสืบสวนสอบสวน

เป็นที่ยอมรับของทุกคนในกรมตำรวจ

กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลธนบุรี ปฏิบัติหน้าที่ ถึงลูกถึงคน นำไปสู่ความสำเร็จในการพิชิตคดีใหญ่

“เวลาที่ตำรวจสืบเหนือ สืบใต้ หรือสืบธนไปที่ไหน ได้รับการยอมรับจากทุกที่ พื้นที่ปฏิบัติการไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร แต่ไปตั้งแต่เหนือสุดยันใต้สุดของประเทศไทย ไปทุกเรื่อง” พล.ต.อ.สุวัฒน์อธิบายและบ่นเสียดายที่ไม่มีประวัติศาสตร์เขียนกัน นอกจากเป็นการพูดกันปากต่อปาก สร้างนักสืบสมัยนั้นมีชื่อเสียงแตกต่างกันไป

“สมัยผมเป็นรองสารวัตรอยู่สืบสวนเหนือ พี่ปรีชา ธิมามนตรี เป็นสารวัตรผม เราก็ทำงานด้วยกัน  ไปเหนือจรดใต้ 3 วัน 4 วัน 5 วัน 7 วัน 10 วันถึงกลับบ้าน พี่อู๊ด-ปรีชาไม่ให้ใส่นาฬิกา ไม่ให้ใส่สร้อย ไปไหนก็รองเท้าแตะ ซื้อเสื้อเอาตามปั๊มน้ำมัน ซื้อเสื้อแถมก็มี ติดต่อกันด้วยเพจ ผมเรียกว่าเป็นยุคเดินดิน ยุคเลี้ยงสาย ใช้สายลับ เป็นยุคที่เราต้องเดินทาง เดินดิน เกาะติด เป็นหมาล่าเนื้อ”

ก่อนจะมีเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทย

โทรศัพท์มือถือกลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องของความสำเร็จของการสืบสวนสอบสวน

สุดท้ายพวกเขาเรียนรู้กันว่า คดีไม่สามารถจบลงได้ด้วยการปฏิบัติงานลำพังแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยหนึ่ง จำเป็นต้องรวมปฏิบัติการของกำลังหลายหน่วยและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

ต้นกำเนิด ศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุม (Command Control Operation Center-CCOC) ที่ พล.ต.ต.ปรีชา ธีมามนตรี เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดตั้ง “เซ็นเตอร์” ทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลบริหารคุณภาพงาน มีกลุ่มวางแผน มีทีมวิเคราะห์ข้อมูลก่อนแจกจ่ายให้ชุดปฏิบัติไปลงสนามล่า

กระทั่งมาถึงปัจจุบัน เจ้าสำนักปทุมวันในฐานะ “ครูใหญ่” หลักสูตรสืบสวน 5 G  บอกว่า เทคโนโลยีพัฒนาเปลี่ยนชีวิตมากมาย ประกอบกับแนวคิดการเมืองการปกครอง แนวคิดในเรื่องของสิทธิมนุษยชน แนวคิดในเรื่องของเสรีแบบสุดขั้ว

ทั้งเร็ว และกว้างขวาง มีผลกระทบสูง

“โซเชียลมีเดียเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา เปลี่ยนแปลงการทำงานของทุกอย่าง เปลี่ยนแปลงตำรวจ คดีทุกวันนี้ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบ พนักงานสอบสวนไม่รู้ว่าโรงพักไหน ผู้กระทำผิดกระจายตัวทั้งในและต่างประเทศ การกระทำผิดทำได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ และในยุคต่อไปที่กำลังใกล้เข้ามา ระบบการเงินของประเทศจะเปลี่ยน”

ตำรวจกำลังเผชิญสถานการณ์โลกใหม่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ถึงต้องเตรียมตัวรับมือ

 

RELATED ARTICLES