ผ่านประสบการณ์ชีวิตเป็นปรมาจารย์คนวงการหนังสือพิมพ์โดยแท้
“อาจารย์ป๋อง” พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ผู้ร่วมก่อตั้ง “หนังสือพิมพ์มติชน” ตำนานคนข่าวของเมืองไทยอีกคน ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้น คือ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ ตามด้วยหนังสืองานศพของตา ก่อนเข้าเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
ประเดิมทำหนังสือตอนอยู่ชั้นประถม 3 ชื่อ “เชิงสนุก” ทำกันเองแลกเปลี่ยนกันอ่านกับโรงเรียนวชิราวุธ บทความแรกที่เขียนเกิดจากแสตมป์สมเด็จพระเจ้าตากสินสมัยเปิดอนุสาวรีย์พระเจ้ากรุงธนบุรี ใช้ชื่อฮือฮาว่า “ทำไมพระเจ้าตาก ถึงไม่ได้เป็นมหาราช” ลงหนังสือที่ทำกันเองในหมู่เพื่อนชื่อ อสพ มาจากชื่อย่อของเพื่อน 3 คน คือ อารีย์-สมภพ-พงษ์ศักดิ์
ก่อนมาเปิดประเด็นจากข่าวไฟไหม้ใหญ่เมืองพิษณุโลก อาจารย์ป๋องเล่าว่า อ่านข่าวแล้วเห็นภาพออก เพราะเคยอยู่ที่นั่นเลยคิดหาทางช่วยเหลือ ตัดสินใจเขียนลงในหนังสือที่ทำประกาศเชิญชวนเพื่อนในโรงเรียนเอาของไปบริจาค ได้เงินมา 100 กว่าบาท มาสเซอร์มาเตือนว่า อย่าเอาเงินไปกินหมดนะ เป็นความรู้สึกที่ติดค้างอยู่ในใจ
ตอนนั้นบ้านอยู่แถวเฉลิมกรุง พงษ์ศักดิ์บอกว่า กลับจากโรงเรียนต้องผ่านโรงพิมพ์หลายฉบับทำให้เกิดแนวคิดว่า น่าจะเอาเงินที่เรี่ยไรได้มาไปลงหนังสือพิมพ์เป็นพยานแล้วก็ใส่ชุดนักเรียน ผมสั้นเกรียนเดินหอบเงิน พร้อมกล่องเสื้อผ้าไปให้เขาถ่ายรูปลงหน้า 3 จำแม่นเลยว่า เห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวรีบเอาไปมาสเซอร์ดูเพื่อยืนยันว่า เงินไม่ได้อยู่กับตัวเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นพลังของหนังสือพิมพ์ สามารถพิทักษ์ปกป้องรักษาคนพูดความจริงได้
เขาได้ อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นครูคนแรกในวงการหนังสือพิมพ์ เมื่อมีโอกาสไปทำหนังสือดรุณสารในเครือของสตรีสาร เป็นชมรมกิจกรรมในสโมสรปรียายามว่างวัดหยุดพฤหัสฯ ตอนมัธยม 2 ด้วยการช่วยเขียนหนังสือ ควบคู่กับการซึมซับดูโรงพิมพ์คุรุสภาระหว่างเดินทางกลับบ้าน “ทุกตอนเย็นผมจะไปชะโงกดูแท่นพิมพ์ ฉับแกระเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับผมมาก เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดความสนใจเรื่องการพิมพ์ มีความสุขมากไปแทบทุกวัน”
การเข้าไปมีส่วนหนึ่งของดรุณสารยังทำให้เด็กชายพงษ์ศักดิ์ได้รับอนุญาตเข้าไปในโรงพิมพ์ดูขั้นตอนการผลิตทุกอย่าง ช่วยทำโน่นทำนี่ แม้กระทั่งเป็นปฏิคมชาวตอบจดหมายให้แก่ผู้อ่านที่ส่งมา เรียนรู้ขลุกอยู่กับผู้ใหญ่เป็นเด็กแกร่งกล้าแก่แดดแก่ลม นำเอาประสบการณ์มาพิมพ์หนังสือแบบโรเนียวในโรงเรียนแจกเพื่อนอ่าน ครั้งนั้น ชาติ นาวาวิจิต เพื่อนร่วมรุ่นได้ทุนไปเรียนกองทัพเรือต่างประเทศส่งจดหมายมาเล่าประสบการณ์เขาจึงนำเรื่องมาลง
ส่วนพื้นที่หน้าหลัง พงษ์ศักดิ์เขียนบทความทั่วไป ก่อนวิพากษ์วิจารณ์โรงเรียนว่า “ทำไม โรงเรียนไม่มีห้องสมุด” ครั้งนั้นเขาถูกภราดาเรียกไปพบ ในใจคิดว่าถูกไล่ออกแน่ เพราะถูกหมายหัวมานานจึงร้องไห้ ปรากฏว่า ภราดาแจงว่า โรงเรียนกำลังมีโครงการทำข้อสมุดอยู่แล้ว “ผมโล่งเลย ออกมาก็คิดว่า นี่คืออันหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งว่า ถ้าเราทำดี ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง มันต้องมีทางออก นี่คือสิ่งที่ติดอยู่กับเรา เป็นโดยลักษณะธรรมชาติ ได้มาจากการทำสิ่งที่ถูก และยึดมั่นตรงนั้น ยืนยันแล้ว อย่างน้อยมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ไม่ต้องไปกังวลเป็นส่วนประกอบอันหนึ่งว่าทำไมถึงมาทำงานแบบนี้ แล้วเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ทำงานแล้วมีผลสำเร็จเป็นเกณฑ์”
อาจารย์ป๋องอธิบายว่า การที่เราทำหนังสือ แล้วบอกว่าจะต้องทำวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ ไม่ใช่คำพูดเก๋ๆ แค่เอามาพูดเท่านั้น แต่เป็นการปฏิบัติประจำ เพราะเราทำหนังสือไม่ใช่ทำแข่งกับของเมื่อวาน แต่เราต้องทำให้ดีขึ้น ในวันรุ่งขึ้น เพราะยังไม่มีคนเห็น ถ้าคนทำแค่ให้ดีกว่าเมื่อวาน ถ้างานไม่ดีตั้งแต่วันนี้มันออกไปแล้วไง ต้องทำพรุ่งนี้ต่างหาก นี่คืออันหนึ่งที่บอกกับทุกคนในวงการตลอดว่า เราทำงานเพื่ออนาคต
“งานหนังสือพิมพ์ คือ การทำงานเพื่อคนอื่น ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เพราะฉะนั้นผมถึงยึดหลัก อาชีวปฏิญาณ คือ การปฏิญาณตนต่อสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะประกอบอาชีพตามธรรมเนียมที่วางไว้เป็นบรรทัดฐาน หาใช่การทำมาหากิน หรือทำมาเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว”
หลังจากมัธยม 8 แผนกวิทยาศาสตร์ พงษ์ศักดิ์เข้าเรียนคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานหนังสือพิมพ์ไปด้วย เมื่อสมัครเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์หลักเมือง แต่สำราญ เทศสวัสดิ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการ ให้ไปทำงานแผนกตรวจปรุ๊ฟ ก่อนขยับมาเป็นนักข่าวอาชญากรรม
ปรมาจารย์คนหนังสือพิมพ์ย้อนอดีตว่า โตขึ้นมาจากพื้นฐานตรงนี้ ไปทำข่าวโรงพัก ข่าวการเมือง จนกระทั่งไม่มีคน เป็นทั้งนักข่าว หัวหน้าข่าว เข้าหน้า ทำทุกอย่าง แล้วย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ยุคแรกปี 2507 ภายหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี “ผมเป็นคนสุดท้ายที่ไปทำข่าวจอมพลสฤษดิ์ก่อนตายด้วยซ้ำ” พงษ์ศักดิ์รำลึกภาพประวัติศาสตร์ “วันนั้นท่านไปปล่อยอันธพาลที่คุกลาดยาว ทุกคนไปกันตั้งแต่เช้าจนบ่าย แกยังพูดไม่หมด อบรมเหมือนสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย จนไม่มีนักข่าวฉบับไหนอยู่ กลับโรงพิมพ์กันหมด เหลือผมคนเดียว”
อาจารย์ป๋องเล่าต่อว่า เป็นคนสุดท้ายที่เดินไปส่งที่รถ ท่านเรียกเราว่า ไอ้หนู เพราะก่อนหน้ามีความสัมพันธ์กันมาก่อน เคยเขียนหนังสือเรื่องน้ำตกชันตาเถรอยู่เขาเขียว ชลบุรี ลงสตรีสาร จอมพลสฤษดิ์ให้อาจารย์นิลวรรณเรียกตัวไปพบที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ เพื่อแจงเรื่องจะตัดถนนทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ท่านเป็นคนอ่านหนังสือ แล้วก็เป็นคนที่พูดจาเพราะมาก หลังจากร่ำลากันที่ลาดยาว ท่านก็นั่งรถไปแหลมแท่น บางแสน แต่ขากลับมาเฮลิคอปเตอร์ส่งโรงพยาบาลพระมงกุฏ เพราะโรคหัวใจก่อนอสัญกรรม
อดีตคนหนังสือพิมพ์ผู้ผ่านหลายเหตุการณ์บ้านเมืองเล่าอีกว่า ทำข่าวการเมืองแข่งกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นคนแรกที่เข้าบ้านสะพานควายตอนกระทรวงยุติธรรมเข้ายึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ กลับมาแทนที่จะเล่นข่าวพาดหัว หัวหน้าข่าวกลับไม่สนใจมองข่าวไม่เป็น ขี้เกียจเปลี่ยนข่าว เพราะ 2 ทุ่มกว่าแล้ว เราถึงประกาศลาออก รู้สึกน้อยใจ ทีตกข่าวนิดๆ หน่อยๆ ด่าพ่อล่อแม่ ไล่ไปผูกคอตาย แต่ต้นสังกัดไม่ยอมให้ออก
ระหว่างนั้น เขายังอยู่ในกลุ่ม 7 สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตรศาสตร์ ศิลปากร เชียงใหม่ และขอนแก่น ทำวารสารรายเดือนใช้ชื่อ “หนังสือเล่มละบาท”เพื่อต้องการให้ออกเผยแพร่สู่ภายนอกต่อสู้อำนาจเผด็จการที่ปิดกั้นสื่อ สุดท้ายก็โดนรัฐบาลสั่งปิด พอจบการศึกษาจากรั้วธรรมศาสตร์แล้ว จึงบินไปเรียนต่อปริญญาโท วารสารศาสตร์ มหาวิทยาวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา
เหตุผลที่ไปเรียน พงษ์ศักดิ์ยอมรับว่า เพราะทนไม่ไหวกับอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย ที่เที่ยวดูถูกนักหนังสือพิมพ์ว่า ไม่จบปริญญา สมัยนั้นมีที่จบออกมาทำแค่ไม่กี่คน ถึงไปหาที่เรียนที่มันยาก ประกาศจะไปสู้พวกด็อกเตอร์ทั้งหลาย ทำหนังสือลาเดลินิวส์ไปเรียน จบแล้วกลับมาเป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ และสอนเด็กตามมหาวิทยาลัย
ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเมื่อพงษ์ศักดิ์ร่างโครงสร้างเงินเดือนในสังกัดให้เทียบเท่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐคู่แข่งแบบก้าวกระโดด นายห้างแสง เหตระกูล เรียกทั้งหมดไปคุยที่บ้านย่านอโศก เจ้าสำนักสีบานเย็นยอมตกลงตามข้อเสนอ แต่บรรยากาศเริ่มระหองระแหง ทำให้พงษ์ศักดิ์ต้องลาออก ได้ ณรงค์ เกตุทัต เพื่อนเก่าร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตยยุคใหม่” ต้นแบบหนังสือพิมพ์หัวขาวดำที่เน้นข่าวหนัก
กลับไปอยู่เดลินิวส์อีกรอบ ไม่นานออกมาตั้งหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติรายวัน” จนเหตุการณ์รัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีคำสั่งปิดตายหนังสือพิมพ์ เขาจึงเบนเข็มหันมาจับมือขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงศ์เทศ เปิดหนังสือพิมพ์หัวเศรษฐกิจชื่อ “เข็มทิศธุรกิจ” ฉบับแรกของเมืองไทย ต่อสู้กับรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ตีแผ่ทุกเรื่องจนมีส่วนทำให้รัฐบาลต้องล้ม
พอสถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย “หนังสือพิมพ์มติชน” ถึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2521 ในรูปแบบของหัวขาวดำอีกครั้ง แม้เป็นหนี้เป็นสินกระท่อนกระแท่นตอนแรก แต่ก็ยืนยาวมาถึงปัจจุบันนี้ ผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์มติชนบอกว่า เราต้องทำสำหรับวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าคนอื่น มองการณ์ไกลกว่าคนอื่นให้ถูกต้องครบถ้วน ผิดน้อยที่สุด ถ้าผิดแล้วต้องแก้ไข เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่ไปตะแบง แล้วต้องคิดตลอดว่าคนอื่นเขาฉลาดกว่าเรา เขารู้มากกกว่าเรา เขาอยู่ในที่นั่น เราจะไปรู้ดีกว่าเขาได้ยังไง เพราะฉะนั้นห้องสมุด มติชน ถึงดีที่สุด เพราะเราเก็บคลิปข้อมูลไว้จนสามารถขายได้
ประสบการณ์ในวงการโชกโชนผ่านมาถึงวัย 72 ปี พงษ์ศักดิ์สารภาพว่า ไม่เคยคิดตัวเองจะเดินมาไกลถึงจุดนี้ เคยทำโครงการเหยี่ยวปีกหักมาตั้งแต่เกือบ 30 ปีก่อน ได้เงินมามาช่วยอะไรต่างๆ มากมาย แต่ตอนนี้คิดว่า ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้ไปสอนคนรุ่นใหม่ว่า อาชีพที่เกี่ยวกับการสื่อสารมันสำคัญยังไง แล้วพวกที่มีโทรศัพท์มือถือ สำคัญยังไง ไปสอนให้พวกข้าราชการองค์กรต่างๆ ที่ต้องไปง้องอนสื่อต่างๆ ทำให้มันเสียหนักเข้าไปอีก ไปธรรมดาไม่ได้ ต้องไปช้ากว่าเขา กินอาหารธรรมดาก็ไม่อร่อย ต้องมีอย่างนั้น อย่างนี้
อาจารย์ป๋องว่า การสื่อสารที่เป็นประโยชน์ คือ รู้วิธีการทำสื่อ ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ เพราะทุกอย่างเป็นการสื่อสารทั้งนั้น ที่ทะเลาะกันจะฆ่ากัน เพราะพูดกันไม่รู้เรื่องใช่หรือไม “ของมันควรจะพูดกันรู้เรื่องเข้าใจ ก็ไม่เข้าใจ ใช้สื่อผิด พูดจาเอาแต่เรื่องของตัวเองเป็นเกณฑ์ ยิ่งสื่อมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งฆ่ากันมากเท่านั้น บางทีไม่ได้พูด แค่เห็นไอ้นั่นมันเดินยิ้มมา ก็คิดว่ามายิ้มเยาะ ก็มีเรื่องกัน”
“ปัญหาทุกวันนี้ มักพูดติดปากกันว่า เหมือนลิงแก้แห เอะอะอะไรก็แก้แต่ทำไม่ได้หรอก เพราะมันคิดทุกวันนี้ว่า ตัวมันเป็นลิงไงถึงแก้ไม่ได้ ทำไมไม่เป็นคนแก้แห ถ้าเป็นคน อย่างน้อยก็ไม่ตกน้ำตาย ถ้าแหพันแล้ว อย่างน้อยก็ไม่เดินไปใกล้ตลิ่ง ต้องเดินออกนอกตลิ่ง ถ้าจะแก้เอง หรือไม่เรียกคนมาช่วย จะเห็นคนที่ถือมีดมา ถ้าเป็นลิงก็จะคิดว่า จะมาฆ่ากูแน่ แต่ถ้าคนก็รู้ว่าจะมาช่วย ช่วยกรีด ช่วยตัด มันจะไม่กลัวหรอก สังคมลิงแก้แห เพราะคิดว่าตัวเองเป็นลิง บรรณาธิการคิดว่าตัวเองเป็นลิง นายกฯ ก็คิดว่าตัวเองเป็นลิงด้วยก็ถึงเป็นแบบนี้ คิดแบบลิงไง ทำไมไม่คิดว่าเป็นคน เพราะฉะนั้นอย่ามาบอกว่า ไม่มีทาง”อาจารย์ป๋องทิ้งท้าย