รู้ทันกลโกงแก๊งพัสดุตกค้าง

 

จิตอาสาตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มอบหมายให้ พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.อมรชัย ลีลาขจรจิตร ผู้กำกับการงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จัดทำจิตอาสาออนไลน์ตำรวจสอบสวนกลาง ขอนำเสนอกลโกลของแก๊ง “พัสดุตกค้าง” Parcel Post Scam เตือนภัยประชาชนให้รู้เท่าทันเหลี่ยมมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์

เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน คนไทยมีสถิติการสั่งซื้อของออนไลน์มากขึ้นด้วยสถานการณ์โควิด ประกอบกับการพัฒนาของแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกต่อการช็อปปิ้งออนไลน์ บางคนอาจสั่งซื้อสินค้าหลายรายการจนบางครั้งจำไม่ได้ว่าได้สั่งซื้ออะไรไปบ้าง หรือสั่งสินค้าเพียงชิ้นเดียวก็จริง แต่อยู่ระหว่างรอสินค้ามาส่ง แล้วเราก็ไม่รู้วิธีการบริหารจัดการของผู้ให้บริการขนส่งด้วยว่ ามีวิธีการอย่างไร มิจฉาชีพได้อาศัยช่องโหว่ของข้อเท็จจริงนี้รวมตัวกันเป็นแก๊งขึ้นมา ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริการขนส่ง ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการหลอกลวงว่า มีพัสดุตกค้าง ถูกตีกลับ และในกล่องพัสดุนั้นมีสิ่งของผิดกฎหมายบรรจุอยู่ สุดท้ายหลอกให้เสียค่าปรับ โอนเงินไปยังบัญชีของคนร้าย เมื่อรู้ตัวอีกทีก็สูญเงินไปหลายบาท

จิตอาสาออนไลน์สอบสวนกลางได้บอกถึงพฤติกรรมกลโกลของแก๊งเหล่านี้ พร้อมวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกัน

1. “หลอก” เริ่มด้วยมีเบอร์แปลกโทรเข้ามาที่เบอร์เรา โดยจะสอบถามเราก่อนว่าได้เคยสั่งของออนไลน์หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริง คนไทยเราส่วนใหญ่ ก็เคยสั่งของออนไลน์กันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย และบางครั้ง เราก็อาจหลงลืมไปว่า เราได้เคยสั่งของอะไรไว้ที่อยู่ระหว่างการจัดส่งหรือไม่ เราก็อาจจะตอบกลับไปว่าเคยหรือไม่เคย คราวนี้แก๊งพวกนี้จะแจ้งเราว่า มีพัสดุถูกตีกลับโดยมีเราเป็นผู้รับ หรือผู้ส่ง แล้วแต่ว่าแก๊งพวกนี้จะอุปโลกขึ้นมา และในกล่องพัสดุนั้นมีสิ่งของผิดกฎหมายต่างๆเช่น บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม หนังสือเดินทางซึ่งเป็นของต้องห้ามหรือเป็นของผิดกฎหมาย สร้างสถานการณ์ขึ้นมาว่าเราเกี่ยวข้องกับสิ่งของเหล่านั้น มาถึงตรงนี้เราก็อาจจะสงสัยว่าเราเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ บางคน หากไม่ทันได้สั้งสติ ก็อาจจะหลงเชื่อไปว่าอาจจะมีการผิดพลาดทางการขนส่งของผู้ส่งหรือผู้รับ ที่เราอาจเข้าไปเกี่ยวข้องโดยที่เราไม่รู้ตัว และคิดว่าเรื่องที่เรากำลังฟังอยู่เป็นเรื่องจริง ทีนี้เราก็จะสอบถามกลับไปยังคู่สนทนา(แก๊ง) ว่าเราต้องทำอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น คราวนี้ ก็จะนำมาสู่กลโกลขั้นต่อไป

2. “ลวง” แก๊งจะอุปโลกขึ้นมาว่า เดี๋ยวจะต่อสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการแจ้งความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อ้างว่า หากไม่ได้ทำจริง สามารถแจ้งความเป็นหลักฐานตำรวจได้ แล้วโอนสายไปให้เพื่อนร่วมแก๊ง(ที่อาจจะนั่งอยู่ที่เดียวกัน ณ สถานที่ใดที่หนึ่ง) ทำทีเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งยศ ชื่อ สกุล ให้ทราบ เพื่อให้ดูตนเองดูน่าเชื่อถือว่าเป็นตำรวจจริง  อาศัยว่า คงไม่ได้ทันตั้งตัวเพื่อจะตรวจสอบชื่อนั้นว่ามีจริงหรือไม่ และหากจะตรวจสอบจริง ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่มีฐานข้อมูลรายชื่อตำรวจทั่วประเทศ และอาจจะมีเวลาไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบชื่อนั้น เมื่อแจ้งชื่อแล้ว แก๊งพวกนี้จะแจ้งแบบเดียวกับคนที่อ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริการขนส่งแจ้งว่า ต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ไม่เพียงแต่การคุยโทรศัพท์เท่านั้น บางแก๊ง ขอไอดีไลน์ ทำเนียนแอดไลน์มาหา รูปโปรไฟล์ก็ทำเนียนให้เป็นรูปตราสถานีตำรวจ หรือตราโล่ตำรวจ พร้อมวิดีโอคอลให้เห็นเลยก็มี ใช้คลิปวิดิโอตำรวจจริง ๆใส่หน้ากากอนามัยแล้วใส่เสียงลิปซิ้ง ทำให้เหมือนว่า มีตำรวจจริงๆกำลังวิดีโอคอลพูดอยู่ เมื่อสร้างความน่าเชื่อถือ(ในระดับหนึ่ง)ได้แล้ว หากตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป (ในขั้นตอนนี้บางครั้งแก๊งก็อาจจอุปโลกน์ตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องก็มี ตามแต่เรื่องราวที่แก๊งนี้จะสร้างขึ้นมา)

3. “หลง” แก๊งพวกนี้รู้ดีว่า เมื่อสนทนามาถึงจดุนี้แล้วเหยื่อยังไม่รู้ตัว นั่นแสดงว่า เหยื่อเริ่มหลงเชื่อกลโกลของมันแล้ว แก๊งมิจฉาชีพจะแจ้งให้ชำระเงินค่าปรับ แจ้งว่า เพื่อจบเรื่อง ไม่ต้องดำเนินคดี ไม่ต้องติดคุก รูปแบบการคุยจะแตกต่างกันไปตามแต่เรื่องราวและสถานการณ์ที่แต่งขึ้น

4. “โอน” มาถึงขั้นนี้ เหยื่อคงจะกลัว ไม่อยากติดคุก ไม่อยากมีเรื่อง ไม่อยากเสียเวลาไปสถานีตำรวจ แก๊งคนร้ายจะให้โอนเงินเข้าไปยังบัญชีปลายทางของแก๊ง อ้างเป็นบัญชีที่รับชำระเงินค่าปรับของสถานีตำรวจ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทาง บัญชีนั้นก็เป็นบัญชีที่รับจ้างเปิด ติดตามเส้นทางการเงินได้ลำบากมากขึ้นไปอีก เมื่อโอนเงินไปได้สักพัก ผู้เสียหายจะมานั่งทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และนั่นก็คือ ตอนที่รู้ว่า ถูกหลอกแล้วนั่นเอง

กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขอแนะนำว่า หากมีเบอร์แปลกโทรเข้ามาแจ้งว่า “ท่านมีพัสดุตกค้าง” “ท่านมีพัสดุถูกตีกลับ” ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ท่านกำลังจะถูกแก๊งพวกนี้หลอกให้โอนเงิน ให้ท่านตั้งสติและพึงระลึกเอาไว้ว่า “อาจจะ” มีพัสดุตกค้างเกิดขึ้นในความเป็นจริง “แต่” การให้โอนเงินค่าปรับเป็นจำนวนหลักพัน หรือหลักหมื่น เพียงแค่การคุยโทรศัพท์โดยปลายสายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่นั้น ดูไม่น่าจะสมเหตุสมผล หากท่านจะต้องควักเงินออกจากกระเป๋าท่านไป ขอให้ท่าน “มั่นใจ” หรือ “แน่ใจ” ว่าท่านได้ตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยละเอียดเสียก่อน

หนึ่งในกลวิธีที่จะหยุดยั้งคนพวกนี้ก็คือ ให้ท่านขอเบอร์ติดต่อกลับกับคนพวกนี้ ก่อนให้หาเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานราชการที่คนพวกนี้อ้างถึง แล้วนำชื่อที่คนพวกนี้อ้างถึง ไปสอบถามกับหน่วยงานราชการดังกล่าวว่า มีคนชื่อนี้ตามที่อ้างหรือไม่ เพียงแค่ขั้นตอนแรก เชื่อว่า แก๊งพวกนี้อาจจะวางสายใส่ เพราะเริ่มไหวตัวแล้วว่า ชาวบ้านเริ่มรู้ทัน

ขอเพียงท่าน “มีสติ” และ “ไม่ยอมเสียเงินง่ายๆ” เพียงเท่านี้ ท่านก็ห่างไกลจากแก๊งพวกนี้ได้

เพราะเราเชื่อว่า “การป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการระงับความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้น” เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้”

ด้วยความรักและความปรารถนาดีจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

RELATED ARTICLES