มองการปฏิรูปตำรวจอย่างมีความหวัง

เส้นทางอันคดเคี้ยวและยาวไกลของการปฏิรูปตำรวจ ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 นับเนื่องต่อมาถึงการรัฐประหารในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ก็สามารถจะมองเห็นเค้าลางของความสำเร็จได้ในไม่ช้า ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 4 กรกฎาคม 2560 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ทั้งหมดจำนวน 30 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน ประกอบด้วยข้าราชการตามตำแหน่ง 5 คน ที่ไม่ได้เป็นตำรวจ 15 คน และข้าราชการตำรวจ 15 คน มีภารกิจต้องทำ 3 ส่วนคือ ด้านองค์กร บุคลากร และด้านกฎหมาย มีระยะเวลาทำงาน 9 เดือน

เมื่อพิจารณาถึงความสนใจของสังคมที่มีต่อเรื่องนี้ และการลงมือทำงานอย่างฉับพลัน กระตือลือร้นไม่พิรี้พิไร ด้วยความมุ่งมั่นและมีจิตใจเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายข้าราชการตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและมีส่วนร่วมมากที่สุด  ทำให้เกิดความหวังว่าการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้คงจะไม่ค้างเติ่ง รอวันแห่งความสำเร็จอย่างที่แล้ว ๆ มา

แต่ผลบรรลุแห่งการปฏิรูปตำรวจในครั้งนี้ ที่หวังจะให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ ถูกใจทุกฝ่ายนั้นคงเป็นไปได้โดยยาก ทั้งนี้เพราะการตกลงใจมีปัจจัยข้างเคียง  และวัตถุประสงค์เป้าหมายที่ต้องคำนึงถึงหลายประการ ทั้งเป้าหมายด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน  ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความสามารถและการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะสามารถแบกรับภาระด้านงบประมาณเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดหได้เพียงใด  อีกทั้งปัจจัยด้านความสามารถของตำรวจที่จะแบกรับภาระอันหนักหน่วง ทั้งจากสภาพความเป็นจริงของเนื้องาน และจากความคาดหวังของสังคม  ที่ทั้งคาดหวัง คาดคั้น และตั้งเป้าไว้มากมาย

ในเบื้องต้น คณะกรรมการปฏิรูปได้วางแนวทางและหัวข้อการปฏิรูปไว้ 5 ด้าน คือ 1.การพัฒนาระบบการสอบสวน 2.พัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์ 3.การพัฒนาอำนาจหน้าที่และภารกิจของตำรวจ 4.พัฒนาการบริหารงานบุคคล 5.การพัฒนาระบบค่าตอบแทน

ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าขอบเขตของการปฏิรูปนั้นมีความเหมาะสมดีและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด  มีคำถามใหญ่ ๆที่คาดว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูป ก็มีการตกลงกันได้ในหลักการ เช่น การสอบสวนไม่แยกออกไปจากภารกิจของตำรวจแต่จะปรับปรุงพัฒนาให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วและเป็นธรรม มีความเป็นอิสระ และจัดทำกฎหมายว่าด้วยการบริหารคดี  สร้างความชำนาญในคดีบางประเภท  รวมทั้งค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนที่เหมาะสม

สำหรับด้านการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจที่เป็นปัญหามาโดยตลอดก็ต้องใช้ระบบอาวุโสตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด  สังคมต้องการตำรวจที่มีความสามารถและเติบโตตามปกติ  ที่ซื่อสัตย์สุจริต มากกว่าตำรวจที่เก่งแต่ฉลาดแกมโกง

สิ่งที่น่ายินดีและเป็นชัยชนะประการหนี่งของการปฏิรูปตำรวจคราวนี้ก็คือ การพัฒนาในทุกด้านจะมุ่งไปที่การพัฒนาสถานีตำรวจถือเป็นหัวใจ ของหน่วยงานการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความยุติธรรม และปรับเปลี่ยนทัศนคติของการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ  จากผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นผู้บริการประชาชน โดยมีสถานีตำรวจเป็นหน่วยบริการประชาชน

การมุ่งพัฒนาสถานีตำรวจเป็นหัวใจ นับเป็นจุดสูงสุดของการปฏิรูปตำรวจในครั้งนี้ก็ว่าได้ จาก บทความในคอลัมน์กระจกหลวงของ ศ.ดร.ศักรินทร์ สุทธิเลิศ ในนิตยสาร Cop’s ฉบับเดือนที่แล้วได้กล่าวอ้างถึงข้อความที่ได้สนทนากับ ผศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม  มหาวิทยาลัยรังสิตว่า “ตำรวจมองการปฏิรูปว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้เขามากนัก เช่นกรณีของโรงพัก มีงานวิจัยพบว่า โรงพักคือจุดแตกหักของความขัดแย้ง เมื่อมีเหตุหรือเรื่องราวต่าง ๆ ประชาชนก็ต้องไปโรงพักในท้องที่นั้นก่อน  คงไม่มีใครเดินทางมาที่ส่วนกลางเมื่อเกิดคดีขึ้น แต่ในส่วนของโรงพักเองกลับมีแต่ความขาดแคลนอุปกรณ์ไม่พร้อม ทุกอย่างยังไม่มีความพร้อมในการบริการประชาชน  การปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างตำรวจแต่ละครั้งที่ผ่านมาไม่ได้แก้ไขในจุดนี้เลย”

ความคิดในเรื่องการพัฒนาโรงพักหรือสถานีตำรวจได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างมากมาย โดยเฉพาะได้รับแรงส่งอย่างสุดตัวจากปรมาจารย์ของการปฏิรูปตำรวจ คือ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจในสมัยหลังการปฏิวัติครั้งแรกรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงนับได้ว่าเป็นผู้ที่เอตทัคคะผู้รู้แจ้งแทงตลอดในการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริงทั้งยังเป็นตำรวจนักประพันธ์มือทองที่มีผลงานเขียนในรูปนวนิยายชีวิตและการทำงานของตำรวจนับเป็นสิบ ๆ เรื่อง  และเป็นศิลปินแห่งชาติด้านวรรณกรรมในปี 2541 บทความของท่านใน นสพ.มติชน วันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2560 เรื่อง สถานีตำรวจ ดานหน้าในสงครามกับอาชญากรรม  ซึ่งเผิน ๆ เป็นเรื่องราวที่ดูเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยพลังแห่งความโน้มน้าวและจูงใจ  แลเผยให้เห็นสภาพความเป็นจริงในความขาดแคลนของสถานีตำรวจอย่างชัดเจน ผู้เขียนซึ่งเป็นลูกศิษย์ตั้งแต่สมัย รร.นรต. จึงขอนำบทความนั้นมาแชร์กับท่านผู้อ่านนิตยสาร COP’S ในโอกาสฉลองขึ้นปีที่ 12 โดยพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ให้เสียความ

ท่านเปิดเรื่องในลีลาชั้นครู โดยโยนคำถาม พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจว่า  “ได้พิจารณาเรื่องสถานีตำรวจแล้วหรือยัง เพราะ สถานีตำรวจเป็นเหมือนด่านหน้าในการทำสงครามกับอาชญากรรม เพราะฉะนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องให้การสนับสนุนแก่สถานีตำรวจ เช่นเดียวกันกับที่กองทัพให้การสนับสนุนแก่หมวดและหมู่ ซึ่งเป็นด่านหน้าในการรบกับอริราชศัตรู

“การสนับสนุนที่ให้แก่สถานีตำรวจนั้นต้องให้อย่างเต็มที่  ทั้งในด้านบุคลากรและเครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ ขณะนี้สถานีตำรวจหลายแห่งทั่งประเทศมีกำลังตำรวจน้อยยังไม่เพียงพอ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ตรวจตระเวนป้องกันและปราบปรามอาชญากรและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวน

“พนักงานสอบสวนนั้นแต่เดิมก็มีอยู่จำนวนไม่เพียงพอกับภารกิจอยู่แล้ว จนผู้ที่ถูกเร่งรัดถึงกับฆ่าตัวตายไปหลายราย มาบัดนี้เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งให้ยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวนและให้ตัดโอนตำแหน่งไปประจำกองบัญชาการหรือกองบังคับการ และเปลี่ยนชื่อเป็นนิติกรกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนก็ยิ่งจะน้อยลงไปอีก  เป็นโอกาสให้นายตำรวจที่มีวุฒิ ขอโอนหรือลาออกไปเป็นอัยการหรือผู้พิพากษาด้วย

“ทางด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมนั้นทุกสถานีตำรวจยังมีกำลังไม่เพียงพอ หลายสถานีตำรวจใช้วิธีตั้งอาสาสมัครขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระ แต่อาสาสมัครที่ตั้งขึ้นนี้ขาดคุณสมบัติและฐานะไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย อย่างในต่างประเทศหลายแห่ง  ในการปฏิรูปตำรวจควรคำนึงถึงเรื่องตำรวจกองหนุนหรือตำรวจอาสาสมัครด้วย โดยออกกฎหมายรองรับ เพราะจะเป็นการบรรเทาภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณดังที่ปรากฎในปัจจุบัน

“ทางด้านเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นเป็นเรื่องแปลกกว่านิยาย ตำรวจไทยยังต้องออกเงินซื้อปืน  คอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์มือถือด้วยตนเอง บางรายต้องซื้อแม้แต่โต๊ะ-เก้าอี้ทำงาน การที่ต่างคนต่างซื้อปืนด้วยตนเอง ตำรวจจึงใช้กระสุนปืนชนิดและขนาดต่างกันด้วย ก็ไม่อาจอาศัยใช้กระสุนปืนของเพื่อนตำรวจที่กำลังร่วมปฏิบัติงานแทนได้

“ข้อเท็จจริงเหล่านี้ชี้ให้เห็นความอ่อนแอของสถานีตำรวจที่ทำให้สถานีตำรวจไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ และถ้าไม่ได้รับการปฏิรูป ด่านหน้าในสงครามกับอาชญากรรมก็อาจจะแตกในไม่ช้า”

พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพควรที่จะได้แลเห็นความสำคัญของสถานีตำรวจหรือโรงพักในฐานะที่เป็นจุดแตกหัก และด่านหน้าในสงครามกับอาชญากรรม โดยช่วยกันสนับสนุนและฟูมฟัก รักษาไว้ให้มีสถานีตำรวจที่เป็น โรงพักของเราทุกคน  ที่ประชาชนและตำรวจเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อให้โรงพักของเรา นี้ให้สามารถยืนหยัดเป็นที่พึ่งพาและพักพิงทั้งกายและใจของพวกเราประชาชนคนไทยทุกคนโดยเทียมเท่าเสมอกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES