รวบประธานปฏิรูปยุทธศาสตร์ไทสยามจอมลวงโลก

 

ที่กองบังคับการปราบปราม พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการปราบปราม พร้อมด้วย พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผู้บังคับการปราบปราม พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม แถลงจับกุม นายกำจรเกียรติ อินทคง อายุ 43 ปี ประธานคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยามได้ที่บริเวณอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่ง  แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมของกลาง โทรศัพท์มือถือ 8 เครื่อง  ปืน 1 กระบอก สมุดบัญชีธนาคาร 7 เล่ม บัตรเอทีเอ็ม 8 ใบ เอกสารเกี่ยวกับคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยามและบริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง เสื้อมีสัญลักษณ์ตราคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม 4 ตัว นามบัตรบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 1 ใบ

สำหรับคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม ก่อนหน้านี้เคยถูกตำรวจกองปราบตรวจสอบมาแล้วเมื่อปี 2563 เนื่องจากมีพฤติกรรมส่อเค้ากระทำความผิด ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามผังองค์กร  แจ้งว่าจะมีเงินเดือนค่าตอบแทนในแต่ละระดับตั้งแต่ 15,000 – 1,000,000 บาท แต่พบว่าโครงการตามที่กล่าวอ้างไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง  มีผู้อยู่เบื้องหลัง คือ นายกำจรเกียรติ อินทคง อายุ 43 ปี ทว่าขณะนั้นยังเป็นเพียงการเริ่มต้นยังไม่ปรากฎความเสียหายที่แน่ชัด ทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้

ตำรวจกองปราบปรามพยายามสืบสวนเฝ้าสังเกตการณ์ พร้อมกับประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้กับประชาชนเรื่อยมา กระทั่งเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พลเมืองดีชาวเชียงใหม่แจ้งเบาะแสว่า คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยามชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่ม อ้างว่า ถ้าเข้าร่วมจะได้ตำแหน่งผู้อำนวยการระดับตำบล มีค่าตอบแทนให้เดือนละ 50,000 บาท  มีข้อแม้ว่าจะต้องยอมเสียค่าสมัครสมาชิกแรกเข้าเป็นเงิน 320 บาท พร้อมกับนำพยานหลักฐานต่างๆมามอบให้ ตำรวจเร่งจัดกำลังลงพื้นที่สืบหาเบาะแสหลักฐานเพิ่มเติมจนทราบว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง  เหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวบ้านในแทบพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ตาก พิจิตร และนครสวรรค์

ตามแนวทางการสืบสวนพบรูปแบบ หรือวิธีการหลอกลวงของผู้ต้องหาอ้างตัวเป็นประธานคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม ตีสนิทกลุ่มชาวบ้านแล้วชักชวนให้เข้ากลุ่มเป็นสมาชิก  แจงนโยบายการทำความดีของกลุ่มจำนวน 19 ข้อ เกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ มีเงินเดือนให้ เพื่อสร้างแรงจูงใจ รวมถึงยังมีการแอบอ้างตัวว่าเป็นประธานบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงหลอกเอาเงินค่าสมัครสมาชิก แม้เงินค่าสมัครต่อคนจะเป็นเพียงเงินหลักร้อย แต่เมื่อมีจำนวนผู้หลงเชื่อสมัครสมาชิกเข้ามาเป็นจำนวนมากถือเป็นจำนวนเงินที่มหาศาล เฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 – 28 มีนาคม 2565 พบมียอดรวมเงินโอนเข้ากว่า 29 ล้านบาท

จากการตรวจสอบบริษัทต่าง ๆของผู้ต้องหาที่มีการกล่าวอ้างว่า ยังพบไม่มีการประกอบกิจการตามที่กล่าวอ้างจริง อีกทั้งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า เงินที่ได้มาส่วนใหญ่จะถูกโอนไปยังหญิงสาวรูปร่างหน้าตาดีหลายราย บางรายโอนเงินเพื่อให้หญิงสาวโชว์ของลับวาบหวิว โอนให้ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงที่เป็นกลุ่มพวกพ้อง หรือผู้ร่วมขบวนการ กระนั้นก็ตาม ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ

 

RELATED ARTICLES