การ์ตูนนิสต์ล้อการเมืองคนดังค่ายสำนักข่าวหัวเขียวที่ถูกยกเป็น “ขวัญใจคนเสื้อแดง”
“เซีย”ศักดา แซ่เอียว หนุ่มใหญ่ผู้มากด้วยอุดมการณ์และจุดยืนในการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างแน่วแน่ เขาเกิดในครอบครัวคนจีนค้าขายหมูที่ปากคลองสาน เป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 7 คน พอสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวต้องพากันย้ายมาตั้งรกรากอยู่ตลาดพลูถึงปัจจุบัน วัยเด็กเข้าเรียนประถมโรงเรียนจีน ผดุงประชาศึกษา จนชั้นประถม 4 ไปต่อวัดประยูวงศาวาส ก่อนสอบมัธยมวัดนวลนรดิศ
ศักดาเล่าว่า เดิมทีชื่อเล่น หย่งเซีย ตามศัพท์ภาษาจีนที่แปลว่า เสียงดัง พอโตขึ้นเพื่อนเรียกกันสั้น ๆ เลยกลายเป็นเซีย ชอบวาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากนิยมอ่านการ์ตูนไทยเล่มละสิบสลึง อาทิ ปี่วิเศษ ขวานฟ้าหน้าดำ รวมถึงการ์ตูนแปลอย่างไซอิ๋ว ซุปเปอร์แมน ทำให้ซึมซับ บางวันลงทุนไปเดินซื้อที่แถวผ่านฟ้า ถนนนครสวรรค์ แหล่งรวมร้านหนังสือในอดีตเอามาแบ่งกับเพื่อนอ่าน
นักเขียนการ์ตูนดังบอกว่า แรก ๆ พ่อแม่ว่าเหมือนกัน เอาแต่นั่งอ่านการ์ตูน ทว่าการเรียนเราไม่เสีย สอบได้ที่ 1 ตลอดจึงไม่ค่อยโดนเพ่งเล็งมากนัก จะมีปัญหาตอนไปโรงเรียน เพราะจะติดการ์ตูนไปด้วย ครูก็ยึดประจำ อ่านการ์ตูนจนเอามาหัดวาดเอง คิดอยู่ในใจลึก ตอนนั้นยอมรับว่า อยากเป็นนักเขียนการ์ตูน แม้ครอบครัวคนจีนอยากให้ลูกค้าขาย แต่พ่อแม่ไม่ปักใจว่า เราจะเป็นนักเขียนการ์ตูนได้ คิดแค่ว่า ลูกชอบอะไรก็โอเค พ่อแม่ภูมิใจด้วยซ้ำ เวลาเราวาดการ์ตูนแล้วมีคนชอบ เพราะในละแวกเดียวกันเด็กคนอื่นไม่วาดกัน เราวาดอยู่คนเดียว มันเป็นความชอบมากกว่า ฝึกวาดเรื่อย ๆ
เจ้าตัวบอกอีกว่า ตอนหลังวาดการ์ตูนเป็นเรื่องเป็นราว เพราะอิทธิพลมาจากหนังคาวบอย ระหว่างดูทีวีช่องขาวดำ ไม่ก็หนังสงครามโลก ก็จะมาวาดเป็นฉากพวกรบกัน เหมือนคาวบอยกับอินเดียนแดง สร้างจินตนาการเอง มันเป็นชีวิตของเราเลย ยิ่งตอนเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 วัดนวลนรดิศเริ่มมีงานเขียนการ์ตูนขายได้แล้ว ทำให้รู้สึกอยากมุ่งไปด้านนี้
ห้วงเวลานั้น เซียรับงานเขียนการ์ตูนที่พี่ชายเพื่อนติดต่อมาให้ เป็นการ์ตูนแปลของจีนที่เขาจะต้องเอากระดาษไขมาลอกลายเส้นจนตัวเองเริ่มชำนาญ ได้ค่าจ้างแผ่นละ 10 บาท ก่อนพัฒนาข้ามขั้นไปวาดปกลงสีน้ำได้แผ่นละ 50 บาท สำนักพิมพ์เห็นฝีมือดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอนหลังก็ให้แผ่นละ 75 บาท ซึ่งถือว่าเป็นยอดเงินค่าวาดการ์ตูนที่ค่อนข้างแพงมากในเด็กวัยมัธยมสมัยนั้น แต่สุดท้ายสำนักพิมพ์ไฟไหม้ทำให้เขาต้องหยุดรับงานไปโดยปริยาย
ย่างเข้าสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เด็กหนุ่มเซียเรียนจบมัธยมสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนต่อคณะครุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา หรือครุศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งใหญ่ในการเมืองของประเทศ นิสิตเก่ารั้วจามจุรีรับว่า มีผลต่อแนวความคิดของตัวเองไม่น้อย เพราะก่อนหน้าเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ช่วงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีปฏิวัติตัวเองเมื่อปี 2514 ได้เห็นได้ยินจากทีวี วิทยุ และตามร้านกาแฟที่คุยกันว่า ปฏิวัติตัวเอง เราก็งง ถึงติดตามข่าวการเมืองมาเรื่อย กระทั่งเข้าไปเรียนจุฬาฯ เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กลุ่มนิสิตนักศึกษาลุกเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เราก็เริ่มเกาะติด แม้ไม่ได้ไปร่วมกับเขา เพราะพ่อแม่ห่วง ทำได้แค่อ่านจากข่าว เห็นจากรูปตามหน้าหนังสือพิมพ์
เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์วิปโยคครั้งแรกย่างสู่ปี 2517 เซียเล่าว่า บรรยากาศตอนนั้นอบอวลไปด้วยกลิ่นประชาธิปไตย ทุกเย็นจะไปนั่งสนามหญ้าที่สโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่มีการไฮด์ปาร์กกัน มีรุ่นพี่มาเล่นกีตาร์ร้องเพลงเพื่อชีวิต พูดเรื่องของการต่อสู้ประชาธิปไตย ทำให้เราอินกับเหตุการณ์ เวลามีสัมมนาที่สำนักจิตตภาวัน เราก็ไปด้วย ขณะเดียวกันยังคงรับงานวาดการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีพวกอีกกลุ่มรับงานมา คราวนี้เปลี่ยนเป็นวาดแนวพวกหุ่นยนต์ ซามูไร อีกทั้งได้ทำงานซิลก์สกรีนเสื้อ เจอเพื่อนแนวศิลปะมากขึ้น
“พอขึ้นปี 3 เผชิญเหตุนองเลือด 6 ตุลา 19 ซึมซับบรรยากาศมาก คอยฟังเหตุการณ์ งานทำส่งอาจารย์จะวาดแนวนี้ดูจากหนังสือพิมพ์ และฟังเพื่อนที่ไปสนามหลวงกลับมาเล่าทุกวัน เริ่มกันมาเขียนการ์ตูนแนวการเมือง มันทำให้เราอินมาก เพื่อนบางคนเลิกเรียนเข้าป่าไปก็มี จำได้ว่า ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาจะมีช่างไฟฟ้าถูกแขวนคอ ผมก็วาดรูปนี้ส่งอาจารย์ เขียนละเอียด ทำเอาอาจารย์เริ่มงง เพราะผมเป็นคนเงียบ ๆ พอทำงานภาพพิมพ์ก็เขียนรูปภาพประวัติศาสตร์เด็กหญิงเวียดนามถูกระเบิดวิ่งหนีตายเสื้อขาดเปลือยล่อนจ้อน เขียนโจมตีเรื่องอเมริกันอันตราย”
“หลัง 6 ตุลาเกิดการปราบหนัก เพื่อนฝูงแตกกระจาย ต้องคอยพาเพื่อนหลบมากบดานอยู่ตลาดพลู เพราะกลัวตามล่า ถูกข่มขู่ตลอด มันทำให้ผมรู้เลยว่า ผมจะทำอะไร ผมบอกจะออกไปทำหนังสือพิมพ์ กับเขียนการ์ตูน หนุ่มสาวยุคนั้นต้องออกไปทำหนังสือพิมพ์ มันเหมือนมีอาวุธไว้ต่อสู้กับเผด็จการ เพราะเราเห็นสังคมถูกกดขี่ เรารู้ว่า หนังสือพิมพ์นี่แหละจะเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนได้ เป็นจุดที่เราจะได้แสดงความคิด เป็นเวทีที่จะสามารถแสดงอะไรออกไปได้ มีกำลัง มีเพาเวอร์ คิดว่า หนังสือพิมพ์จะสามารถสู้อะไรที่มันไม่เป็นธรรมได้” เซียบอกถึงแนวคิดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่วงการหนังสือพิมพ์
เขาเริ่มรับงานช่วยเขียนการ์ตูนล้อการเมืองให้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเข้าวงการไปวาดภาพประกอบบทความให้หนังสือประชาชาติรายสัปดาห์ เพิ่มมีความมุ่งมั่นมากขึ้น ทว่าพอเรียนจบปริญญาตรีกลับตกงานอยู่ 2-3 เดือนต้องไปเร่ขายไก่ในตลาดแถวบ้าน จนได้เพื่อนที่ทำงานอยู่สยามรัฐ ชวนไปเขียนภาพประกอบในหนังสือชาวกรุง แล้วไปทำหนังสืออาทิตย์รายวัน หนังสือแนวซ้ายเลยถูกมองว่า อยู่ฝ่ายซ้าย
การ์ตูนนิสต์หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่บอกว่า ทำงานหนังสือพิมพ์ครั้งแรกสนุก เริ่มเรียนรู้งาน ไม่เคยทำมาก่อน มีหน้าที่ Sub Editor ทั้งที่ไม่เคยเรียน ไม่รู้เลยว่า จัดหน้าหนังสือพิมพ์ทำกันอย่างไร จบปริญญาตรีมาต้องนั่งปะหัวกระดาษ ต่อมา อาทิตย์รายวันเจ๊ง ต้องย้ายไปอาทิตย์รายสัปดาห์ ไม่นานก็ถูกสั่งปิดเมื่อทำรูป พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นแต่งชุดผู้หญิง ต้องเปลี่ยนไปอยู่สยามนิกร หนังสือในเครือแล้วไปสยามใหม่ และอาทิตย์เคล็ดลับ กลายเป็นหนังสือที่เปลี่ยนหัวบ่อยที่สุด จนอาทิตย์รายวันกลับมาใหม่เปลี่ยนมือผู้บริหารจากซ้ายกลายเป็นอำมาตย์ เรายืนอยู่ตรงข้ามมาตลอด ตัดสินใจออกมาทำออฟฟิศส่วนตัว มีกิจการของตัวเอง ทำหนังสือ รับงานกราฟฟิกดีไซน์อะไรเล็ก ๆ อยู่ 5 ปีไปไม่รอด เพราะเราไม่กว้างพอ
“ผมกลับมาอยู่สยามรัฐรายสัปดาห์ สยามรัฐรายวัน ดูฝ่ายศิลป์ และเขียนรูปเขียนการ์ตูนเป็นหลักเน้นล้อการเมือง คิดว่า คงจะเป็นเรือนตายแล้ว สยามรัฐคนรู้จักเยอะ วันดีคืนดี เจ้านายทะเลาะกันจนถูกไล่ออกเลยต้องออกตาม เสียดายมาก ต้องระเห็จไปเขียนให้บ้านเมือง และมาตุภูมิรายสัปดาห์ ช่วงคณะ รสช.พอดี ตอนวาดการ์ตูนให้บ้านเมืองสนุกมาก แซว รสช.ทุกวัน สวนทางนโยบายของหนังสือพิมพ์ที่ บรรหาร ศิลปอาชา เจ้าของบ้านเป็นรัฐบาลอยู่ มันท้าทายดี ตั้งใจวาด รู้สึกว่า งานเราดีขึ้น ปรากฏว่าตอนหลังบรรหารให้พัก ผมเลยลาออก”
เซียย้ายชายคาไปสังกัดไทยไฟแนนเชียล ถึงปี 2536 จังหวะที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐขาดนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองมา 1 ปีเต็ม หลังการเสียชีวิตปรมาจารย์นักเขียนการ์ตูนอาวุโสของเมืองไทยอย่างประยูร จรรยาวงษ์ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงหารือกันว่า หน้า 3 ขาดเสน่ห์ สีสันไป แม้บางคนมองว่า ไม่อยากให้ใครมาเขียนแทนประยูรที่ถือเป็นตำนานคนข่าวไปแล้ว สุดท้าย สราวุธ วัชรพล หัวหน้ากองบรรณาธิการสรุปต้องหาคนมาแทน และมีการเสนอชื่อ “เซีย” เข้าไปดูฝีไม้ลายมือด้วย พิจารณากันอยู่หลายเดือน เซียถึงเข้ามามีส่วนในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
เข้าไปเขียนตอนแรก เจ้าตัวว่า ก็ไม่มีคนรู้จัก เพราะเราเคยอยู่แต่ฉบับเล็ก ประกอบกับการ์ตูนการเมืองมันไม่มีผลต่อเหตุการณ์บ้านเมืองอะไร แต่หลังจากเกิดความแตกแยกในสังคม สื่อหลักพร้อมใจกันปิดตัวเอง มีเราคนเดียวที่ออกมาชน นับแต่วันแรกที่มีการปฏิวัติรัฐประหารโค่นอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ความคิดเก่าในหัวมันเริ่มกลับมา เราทำเรื่องนี้มาตลอด “ผมต่อต้านเผด็จการมาตลอด รูปแรกก็มีปัญหาเลย เป็นภาพเผาประเทศ กลุ่มเสื้อเหลืองเอาผมไปด่าบนเวที หาว่าผมต่อต้านรัฐประหาร หลังจากวันนั้น ผมก็ต่อต้าน คมช. มาตลอด ขณะที่หลายคนไม่มีใครกล้าเขียน ไม่มีใครกล้าจะล้อ คมช.”
“ ขบวนการนี้ไม่ธรรมดา เมื่อก่อนทำหนังสือพิมพ์ต่อต้านเผด็จการทหาร ตอนนั้นไม่มีใครกล้าพูดถึงอำมาตย์ เพียงแต่ตัวมหาอำมาตย์ที่พวกเราพูดกันปัจจุบันนี้ เพราะพวกเราทำหนังสือพิมพ์กันมานาน เราจะรู้ว่า คนนี้มีวิถีทางที่มาแบบไหน พยายามสร้างภาพทำคอนเซ็ปต์ น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯ ต้องป๋าเปรม เมื่อก่อนตอนอยู่อาทิตย์รายสัปดาห์ เขียนแตะหน่อยสั่งปิดทันที กลายเป็นศัตรูกันมาตลอด เรารู้สึกไม่ชอบมาพากล” การ์ตูนนิสต์ล้อการเมืองให้เหตุผล
เซียอธิบายว่า แม้แรก ๆ ไม่ชัวร์ว่า ใครอยู่เบื้องหลัง เราจะไม่เขียน ถ้าคอลัมนิสต์ไทยรัฐยังไม่เขียน ไม่เริ่ม เราจะเริ่มไม่ได้ ต้องรอหน้า 3 เขียนก่อน เราเริ่มเขียนภาพมือที่มองไม่เห็น ตอนที่สกู๊ปการเมืองหน้า 3 เขียนก่อน เราเขียนนำไม่ได้ เพราะจะถูกมองไม่ใช่ข้อเท็จจริง พอหน้า 3 เขียน หรือหน้า 4 เขียน ใช้คำอะไร พูดถึงคนไหน ถึงเขียนตาม ต้องอิงจากคอลัมนิสต์ จากเนื้อหาของข่าว บางอันไม่มีในหน้าข่าวไทยรัฐ ถึงหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นเล่น เราก็จะไม่จับมาวาด
คนข่าวหนุ่มใหญ่รับว่า มีผลกระทบต่องานเขียนพอสมควรหลังความแตกแยกเริ่มลุกลาม เคยมีโทรศัพท์ขู่มาที่บ้านตอนตีสาม ด่าสาดเสียเทเสีย หาว่ารับใช้ทักษิณ ชินวัตร ในเว็บไซต์อีกฝ่ายก็จะโพสต์ด่าเต็มไปหมด เอาหน้าเราไปโพสต์ลง เราเปิดตัวอยู่แล้ว ปกติก็จัดกิจกรรม คือ ไม่สอนการ์ตูนให้แก่เด็ก ก็ทำค่ายการ์ตูน คนจะรู้จักทั่ว เวลาไปที่ชุมนุมแจกลายเซ็น ก็มีคนมาขอถ่ายรูป ไม่รู้ใครบ้าง แต่ก็ชั่งมัน
“ส่วนตัวไม่เคยรู้จักทักษิณ” เจ้าตัวปฏิเสธหนักแน่น และบอกว่า เคยคุยครั้งเดียวตอนเปิดงานทีเค ปาร์ก ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เราเป็นอุปนายกสมาคมการ์ตูน ได้ทำกิจกรรมรวมกัน ครั้งเดียวเอง แต่มาหาว่า สนิทกัน โทรศัพท์คุยกัน บอกบินไปฮ่องกงรับเงินทักษิณ เพียงเพราะเราต่อต้านเผด็จการทหาร ทั้งที่จริงทักษิณอาจจะเผด็จการ ถ้าลายออกเมื่อเราก็เล่น แต่ทหารดันออกลายก่อน
“ผมไม่ได้ต่อต้านอำมาตย์ ผมต่อต้านเผด็จการ คำว่าอำมาตย์มันมาทีหลัง ภาพมันชัดเจนขึ้น สู้กับเผด็จการทหารอย่างเดียวไม่พอแล้ว ตอนนี้ยุทธศาสตร์ คือ ก้าวข้ามประชาธิปัตย์ เพราะในสภาก็ไม่ได้ นอกสภาก็ไม่ได้ มวลชนกำลังรบกับตุลาการ รบกับอำมาตย์ มีคนถามเหมือนกันว่า ทำไมชอบการ์ตูนพวกเสื้อแดง อยากบอกว่า ช่วงที่สื่อมวลชนถูกปิดหมด ทุกคนไม่นำเสนอเขาเลย ก็มีแต่การ์ตูนผมที่กล้าจะเขียน อย่างน้อยเป็นเพื่อนเขา อย่างน้อยเปิดช่องหายใจ ผมเจอยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ท่านบอกดูทุกเช้า มันเหมือนช่วงที่หันไปทางไหนมันมืดไปหมด อย่างน้อยดูการ์ตูนเซียก็ใจชื่นขึ้นมาบ้าง”
“บางคนถามผมว่า เป็นเสื้อแดงไหม ผมจะบอกว่า ผมไม่ใช่เสื้อแดง แต่ผมเป็นอาจารย์เสื้อแดง เสื้อแดงเกิดเมื่อไหร่ ผมเกิดเมื่อไหร่ ผมเขียนการ์ตูนมาตั้งแต่ปี 21 ก็อยู่ในแนวนี้ สันติบาล หรือรัฐบาลบางยุคก็ผลักให้ผมเป็นคอมมิวนิสต์ ผมเขียนมานานมาก ผมอยู่ในจุดยืนนี้ จตุพร พรหมพันธุ์ ยังดูการ์ตูนผมตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่รามคำแหง เราเป็นสื่อต้องช่วยคนที่เขาไม่มีโอกาส รู้ว่าเขาถูกรังแก ที่อื่นไม่เปิดช่อง ไม่มีเวทีให้เลย เราก็ถือว่า เป็นสนามเล็ก ๆช่องเล็ก ๆ อย่างน้อย เขาอ่านตรงนี้แล้วเขามีความสุข ไปในที่ชุมนุมเอาการ์ตูนมาอ่าน ชาวบ้านก็ยิ้มหัวเราะ สบายใจ มีกำลัง” เซียระบายความในใจ
นักเขียนการ์ตูนขวัญใจคนเสื้อแดงเปิดอกอีกว่า รู้จักพวกนี้หรือไม่ ไม่รู้จักมาก่อนเลย จนการ์ตูนเราทำให้รู้สึกว่า อยู่ข้างเขา เป็นพวกเขา ถึงมีโอกาสได้เจอบ้าง มีรุ่นพี่พาไปบ้าง เจอกันเสร็จก็กลับบ้าน ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นักเขียนการ์ตูนจะไปมีเพาเวอร์อะไร เขียนไปอย่างนั้นแหละ ไม่มีกำลังพอที่จะไปอะไรกับใครเขาได้ เขียนการ์ตูนวันหนึ่งใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง คิดไปเขียนไป บางทีคิดพล็อตเรื่องนาน 4-5 ชั่วโมงคิดไม่ออก แต่ละชิ้นต้องคิดหนัก ต้องมีแนวคิดอะไรให้เขาบ้าง ประเด็นต้องก้าวไปข้างหน้า เขียนการ์ตูนมา 30 กว่าปีก็ต้องทำให้เหมือนเขียนบทบรรณาธิการข่าว ต้องมองประเด็นอะไรที่มันคืบไปข้างหน้าได้บ้างชี้ให้คนอ่านเข้าใจปัญหานั้นด้วย อีกอย่าง คือ ต้องรู้ว่า พวกที่อ่านการ์ตูนเรามี 2 พวก พวกหนึ่งอ่านแล้วต้องได้กำลังใจ อีกพวกอ่านแล้วต้องเจ็บปวด ต้องทำให้ได้ 2 อารมณ์
การได้มาทำงานอยู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เซียบอกว่า ช่วยให้เวลาเขียนการ์ตูนรู้สึกถึงคุณค่ามันสำคัญ เพราะเราอยู่ในสื่อที่คนรู้จักทั่วประเทศ มีคนอ่านมาก ทำให้คนเห็นเราเยอะ รู้จักเรามาก เราต้องทำงานที่มีคุณภาพด้วย คนรู้จักมาก ถ้างานห่วยก็ไปเลย ยิ่งรู้ว่า งานเราสำคัญกับมวลชน อันนี้หัวใจเหมือนกัน ทำออกมาแล้วเทียบกับสมัยก่อนที่เขียนไปก็อย่างนั้นสนุก ๆ ยุคนี้ไม่ได้แล้ว ต้องเครียด งานทุกชิ้นต้องกลั่นแล้วกลั่นอีก กรองแล้วกรองอีก แต่ก็จะเป็นการทำให้งานเราคุณภาพดีขึ้น เปิดสู่สากลมากขึ้น ถึงขนาดทีวีบีบีซียังมาถ่ายสกู๊ป ใช้ชื่อตอนนักเขียนการ์ตูนคนเสื้อแดง แสดงว่า เขาเห็นความสำคัญ
เจ้าของคอลัมน์การ์ตูนล้อการเมืองหน้า 3 บอกอย่างภูมิใจว่า ในพวกที่ชุมนุม บนเวทีใคร ๆ ก็พูดถึง ที่สำคัญเวลาจัดชุมนุมจะมีการนำรูปการ์ตูนของเราไปจัดนิทรรศการบ้าง การ์ตูนก็เข้าไปมีบทบาท มันสำคัญเหมือนกันในการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นอยู่ทุกวันนี้ การ์ตูนก็เป็นส่วนหนึ่ง เราเคยต่อสู้จากเป็นฝ่ายตั้งรับ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เริ่มสู้ตั้งแต่ก่อตัว จนบาดเจ็บล้มตาย ถึงวันนี้เริ่มมีสิทธิ มีเสียงขึ้นมาแล้ว ถือว่า เรายืนอยู่ข้างประชาชน ถูกต้องที่สุดแล้ว
“ปรัชญาของการ์ตูนล้อ คือ เขียนเรื่องหนักให้เป็นเรื่องเบา ๆ สนุกสนาน แต่กลายเป็นว่า การ์ตูนการเมืองผมมันเครียด เพราะเราต้องการอินกับเหตุการณ์บ้านเมือง พยายามหาช่องทางนำเสนอเพื่อให้การเมืองคลายไปสู่จุดที่ดี ชี้ให้เห็นปัญหาที่ไม่เป็นธรรม หาทางออกต่อสู้กับฝ่ายอยุติธรรม เลยต้องคิดเยอะกลายเป็นเครียดกับมันด้วย ถ้าจะบอกผมเป็นนักรบแนวหน้าไหม ก็เกือบ เพราะต้องวางเกม วางแผนในการ์ตูน จริง ๆ อยากให้เป็นเรื่องสนุกสนาน แต่มันไม่มีประโยชน์ อ่านไปแล้วผ่าน ๆ ตลกไปวัน ๆ ไม่ได้อะไรกับคนอ่าน ผมก็ทำแบบนี้แหละ ให้มวลชน ประชาชนที่ต่อสู้อยู่ในสนามได้อ่าน ได้มีกำลังใจ ให้มีแนวคิด อย่างน้อยส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ก็ยังดี ให้เขารู้ว่าควรจะทำอย่างไร อย่างน้อยให้เขารู้ว่า เราเป็นเพื่อนเขา เราเป็นพวกเขาอยู่ ไม่ว่าเขาจะผิดหวัง จะเหงา จะดีใจ ให้เปิดไทยรัฐหน้า 3 ดู เห็นการ์ตูนเราอยู่ ได้รู้ว่า เพื่อนกัน เห็นหน้ากัน เป็นตัวแทน” หนุ่มใหญ่มองแบบนั้น
เขายังวางอนาคตทิ้งท้ายด้วยว่า อาชีพนักเขียนการ์ตูนการเมือง คงเขียนไปจนตาย เหมือนประยูร จรรยาวงษ์ เพราะไม่ได้ใช้อะไรมาก ตราบใดที่ยังมีแนวความคิดไม่เลอะเลือน ไม่ผิดเพี้ยน สำคัญก็คือ จุดยืนต้องไม่เปลี่ยน ต้องอยู่ข้างประชาชน