“สิ่งที่ผมทำทุกวันนี้  ผมทำเพื่อตำรวจ ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง”

 

มีเลือดตำรวจเข้มข้นอยู่เต็มร่าง เป็นตำนานระดับอาจารย์สอนยุทธวิธีที่จริงจังต่อลูกศิษย์ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านตำรามาอย่างครบเครื่อง

พล...ภาสกร สถิตยุทธการ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลูกชาย พล.ต.ต.สกล สถิตยุทธการ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 1 และเป็นหลานปู่ของ พล.อ.หลวงสถิตยุทธการ หลังจบประถมปีที่ 4 โรงเรียนราชินีบน ย้ายไปต่อสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ก่อนสอบเข้าเตรียมทหารรุ่น 21 เลือกเหล่านายร้อยตำรวจเป็นรุ่น 38 แต่เกเรขี้เกียจ สอบตกจนต้องไปจบพร้อมนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 39 เลือกตัดสินใจบรรจุลงเป็นตำรวจตระเวนชายแดน

เจ้าตัวเล่าว่า อยากเป็นตำรวจตระเวนชายแดนตั้งแต่เด็ก ได้อยู่ป่าเขา สมัยนั้นยังรบกับลาว เขมรและในจังหวัดชายแดนภาคใต้  เวลาลูกศิษย์พ่อมาหาที่บ้านจะคุยกันเรื่องนี้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร มีปัญหาอย่างนี้จะทำอย่างไร ทำให้เราซึมซับ พ่อบอกเป็นตำรวจต้องทำงานสอบสวน แต่ปฏิเสธ ยืนยันจะสวมชุดเขียวเท่านั้น เป็นตำรวจตระเวนชายแดนมีความสุขกว่า ได้จับปืนผาหน้าไม้เป็นสิ่งที่เรารัก ชอบยิงปืนมาตั้งแต่เด็ก อายุ 7-8 ขวบพ่อเอาปืนมาให้จับแล้ว พอเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ไปอยู่ชมรมยิงปืน ยังมีความใฝ่ฝันด้วยว่าต้องติดทีมขาติสักครั้ง

ลงทำงานตำรวจตระเวนชายแดนเขต 3 คุมพื้นที่ตามแนวชายแดนจังหวัดอุบลราชธานีที่กำลังคุกรุ่นบนสมรภูมิรบระหว่างลาวกับเขมร ก่อนเดินทางไปเมืองนอกศึกษาอบรมเกี่ยวกับด้านยุทธวิธี เมื่อพบว่า สิ่งที่เรียนมาจากรั้วสามพรานกับสิ่งที่ประสบจากหน้างานคนละเรื่องกัน “โรงเรียนนายร้อยตำรวจสมัยก่อนสอนยิงปืนมือเดียว ยิงต่อสู้ระบบนี้  พอเอามาใช้จริง มันใช้ไม่ได้  ทำให้รู้แค่ว่า การยิงปืน คือ อะไรแค่นั้นเอง  ผมถึงอยากจะรู้ว่า ไอ้ต่อสู้จริง ๆ ที่มันต้นตำรับ สอนแบบไหน ทำให้ผมเก่งขึ้นมาได้ มีความรู้ได้ เพราะคุณแม่จะบอกว่า ถ้าจะไปเรียน รู้อะไร ต้องรู้ให้เป็นครูเขานะ ไม่ใช่รู้แล้ว ตอบคำถามไม่ได้ รู้ต้องเป็นครู ต้องเข้าใจ ต้องตอบปัญหาได้ ต้องเข้าใจหัวใจของการที่เราไปเรียน อย่าลืมนะ ภาษาที่เราไปเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาไทยที่เราจะเข้าใจง่ายๆ” พล.ต.ต.ภาสกรว่า

เขาบินลัดฟ้าเก็บเกี่ยวตำราแรกที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทำให้รับรู้เพิ่มเติมว่า มีหลักสูตรต่อเนื่องที่รัฐเนวาดา และที่เมืองลอสแอนเจลิส หากคิดต่อยอดความรู้ กลายเป็นประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวอีกหลายเที่ยวบนดินแดนสหรัฐอเมริกา ได้ความรู้กลับมาเมืองไทย และอัปเดตข้อมูลใหม่ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาเมื่อได้ติดต่อประสานงานกับครูฝึกที่เมืองนอกเสมอในเรื่องตำราเรียน

อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกว่า เมืองนอกรถสายตรวจใช้ 3 ปืนพกมานานแล้ว เป็นทั้งปืนหลักคือ ปืนสั้น และปืนรองเป็นปืนลูกซองยาว ตอนหลังใส่ปืนเอ็มโฟร์ติดรถด้วย  แต่ตำรวจไทยเพิ่งจะพัฒนาไม่กี่ปีมานี่เอง เมืองนอกจะมีการฝึก การเทสต์ตลอดเวลา สมัยไปอบรมเคยเข้าไปในเคสรูมเคลียร์ริ่งออกมาเสร็จแล้วครูฝึกยื่นกระดาษให้เป็นคำถามว่า ยิงไปกี่นัด ยิงใครบ้าง รูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน เป็นการเทสต์สติและไหวพริบเราว่าจำได้ไหม สิ่งที่เกิดขึ้น คือ อะไร นี่คือ การสอน ไม่ใช่ว่าเข้าห้องแล้ว จำไม่ได้ว่าจะยิงกี่นัด จะทำอะไรบ้าง ฝรั่งจะสอนให้เราคิด สอนให้เราจำ สอนให้เราก้าวไปข้างหน้า ให้คิดตลอดเวลาว่า ถ้าเกิดอย่างนี้จะทำอะไร สอนให้มีแผนหลัก แผนรอง แผนฉุกเฉิน ต้องคิดเสมอ

 ใช้ชีวิตเป็นนักรบป่าประมาณปีครึ่ง เปลี่ยนชีวิตเป็นนายเวร พล.ต.ต.ดิเรก สงคศิริ ผู้บังคับการตระเวนชายแดนเขต 2 ก่อนลงไปอยู่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ตอนที่ผู้เป็นนายขยับขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 2 เสร็จแล้วเป็นผู้บังคับหมวดเคลื่อนที่เร็วอยู่ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬถูกกล่าวหากระทำรุนแรงเลยขอย้ายไปเป็นสารวัตรงานยิงปืน โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เหตุผลเพราะอยากเป็นครูสอนหนังสือ

ประเดิมบทบาทครูหันมาปรับระบบการเรียนการสอนภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นำเอาภาพสมัยเป็นตำรวจตระเวนชายแดนเห็นการปะทะ ทำวิสามัญฆาตกรรม และเรื่องราวต่าง ๆ ไปสอนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นน้องให้ต้องเตรียมตัวอย่างไรเมื่อเผชิญสถานการณ์ สอนอยู่นาน 5 ปี 9 เดือนถูกเสนอขึ้นเป็นรองผู้กำกับการอำนวยการ “ผมบอกขอขึ้นฝ่ายปกครองได้ไหม ผมไม่ชอบงานเอกสาร ตอนเป็นนายเวรทำงานเอกสาร ผมยังหนีไปยิงปืน แต่ผู้ใหญ่ไม่ให้ ผมบอกไปว่า ถ้าอย่างนั้นขอเป็นสารวัตรอีกปีได้ไหม ผู้ใหญ่กลับฉุนใส่ท้าทายว่า ถ้าแน่จริงไปเป็นรองผู้กำกับในนครบาลเลย ผมบอกได้ครับ”

เป็นครั้งแรกที่ พล.ต.ต.ภาสกรไปปรึกษาพ่อเรื่องโยกย้ายอย่างจริงจัง แสดงเจตจำนงของเป็นรองผู้กำกับการอารักขาและรักษาความปลอดภัย สมัยนั้นขึ้นตรงกับกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ “ ผมบอกคุณพ่อว่า ชาตินี้ทั้งชาติ ผมขอถวายงานพระเจ้าแผ่นดินสักครั้ง อย่างน้อยมันมีความสุขในการที่ได้ถวายงาน ผมไม่รู้หรอกว่า งานจะหนักหนาแค่ไหน พอได้ย้ายไปแล้วถึงรู้ว่า เป็นอะไรที่หนักเอาการเหมือนกัน ต้องดูกำลังพลเกือบ 1,000 คน ผมต้องดูแลพวกเขา แล้วก็ไม่มีผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา มีพี่กับน้อง ผิดก็จวก ผมไม่มีเขียนรายงานชี้แจงแล้วไปขัง หรือไปลงโทษวินัยอะไรมากมาย อย่างมากลงโทษให้ดันพื้น ถ้าหนักหน่อยให้ใส่เสื้อเกราะหมวก ถือปืนวิ่ง เป็นอะไรที่ได้ออกกำลัง ฝึกวินัยไปในตัว ผมก็บอกเด็กว่า วินัยมันมาจากสมองนะ มันมาจากความรู้สึกนะ มันไม่มีความจำเป็นจะต้องฝึกแถว ชิดแถว แล้วเป็นการสร้างวินัย มันไม่ใช่ คนจะมีวินัย ต้องเกิดจากใจ”

เป็นรองผู้กำกับยาวนานถึง 12 ปีกว่าจะได้เลื่อนเป็นผู้กำกับการอารักขาที่เปลี่ยนโครงสร้างยกระดับหน่วยเป็นกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน หลังจากนั้นขึ้นเป็นรองผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ก่อนโยกเป็นรองผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 มุ่งมั่นสร้างลูกศิษย์ใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนจากนายมาเป็น ส.ต.ต.แล้วต้องทำอย่างให้มีความภูมิใจในความเป็นตำรวจ

พล.ต.ต.ภาสรศึกษาว่า ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจเป็นงานหน้าเดียวเกี่ยวกับการสร้างเด็ก ตอนย้ายไปนักเรียนนายสิบอยู่ครึ่งเทอมแล้ว ต้องกันไปดูว่า ที่สอนกันเป็นอย่างไร มองไปมองมารู้สึกว่า ไม่ใช่ หลักสูตรตอนนั้นไม่ได้สอนให้มีความแกร่ง มีความมั่นใจในการทำงาน ตัดสินใจขอปรับใหม่ลงไปคุมเรื่องการฝึกเอง ตอนแรกมีนักเรียนต่อต้าน คงมองใครไม่รู้เพิ่งย้ายมาปรับโน่นนี่ ใช้เวลาอยู่ 6 เดือนเด็กนักเรียนถึงเข้าใจ “คิดดูว่า คนอยู่ 6 เดือนก่อนหน้าผม ความรักกับผม 6 เดือนที่อยู่กับพวกเขา ความรักมันผิดกัน ความเคารพนับถือมันผิดกัน  พอรักเราปุ๊บ ความนับถือมันวิ่งมาหาเราเอง โดยที่เราไม่ต้องไปบอกว่า มึงต้องมาทำความเคารพกูนะ ไม่ต้องมานั่นนะ มันรู้เลยทันทีว่า ต้องทำอะไรบ้าง”

ทำไปทำมาเป็นรองผู้บังคับการอยู่อีก 7 ปีครึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการ เจ้าตัวรับว่า ขอขึ้นไม่ได้ ถือเป็นกรรมของเราที่เราทำมาไม่ว่าจะเป็นชาตินี้หรือชาติที่แล้ว ไม่ได้ตามประสงค์ก็ก้มหน้าก้มตาสอนนักเรียน ทุ่มเทให้เต็มที่ แล้วย้ายมาเป็นรองผู้การนครบาล 7 ก่อนเกษียณปีเดียว ท่านจักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ไปคุมเรื่องการยิงปืนของสมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทย คุมตำรวจไปดูงานต่างประเทศ  ขณะเดียวกันยังดูงานป้องกันปราบปราม เรียกผู้กำกับ รองผู้กำกับมาประชุมวันแรกตั้งกฎกติกาไว้เลยว่า ถ้ามีเหตุเกิดแล้วเราไปถึงก่อน ผู้กำกับ รองผู้กำกับป้องกันปราบปราม สารวัตรป้องกันปราบปราม โดนนะ

สมัยดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7  ยังทำโครงการนำเอารองผู้กำกับและสารวัตรสายป้องกันปราบปรามไปทบทวนยุทธิวิธียิงปืน รวมถึงผู้กำกับการโรงพัก ออกเงินค่ากระสุนให้ทั้งหมด เนื่องจากพบว่า ไม่เคยฝึกทบทวนกันมา เขาเลือกไปปรับเรื่องการใช้อาวุธปืน และมีปืนเอ็มโฟร์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โควตานำเข้ามาให้กลายเป็นโอกาสให้ไปสอนการใช้ในแต่ละหน่วยที่ร้องขอมา เริ่มต้นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยแรก

“ยุทธวิธีหลักการปฏิบัติมันจะแตกต่างกับที่อยู่ในตำราหรือแบบที่เรียนมาสมัยก่อน สำคัญสุดคือการทำงานแบบสายตรวจ ไม่ได้เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เพราะหน่วยปฏิบัติการพิเศษมีทั้งอุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์ บุคลากรเยอะแยะ แต่ในบางครั้ง ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สายตรวจต้องไปให้เร็ว อาจจะไปคนเดียวหรือ 2 คน ต้องทำงานให้ได้ เป็นในลักษณะนั้น  ผมจะเอาบทเรียนจากทีตำรวจผิดพลาดไปสอนเสมอ บางทีต้องรื้อระบบการฝึกใหม่หมด เอาของใหม่หมด อย่าไปสนของเก่า เอาของใหม่เข้ามา ไม่ต้องไปสนใจสิ่งที่เป็นตำราเก่า เพราะว่ามันเป็นเรื่องของใหม่แล้ว เราไม่ได้ปรับปรุงหลักสูตรมาเป็นเวลา 20 กว่าปี สิ่งที่ผมมีอยู่ขณะนี้เป็นของใหม่ แล้วสิ่งที่เรียนมามันก็เป็นของใหม่ ผมถึงเอาของใหม่ไปสอน”

“ผมจะหนักทางยุทธวิธีเป็นหลักกับการยิงปืน  เพราะมันคือชีวิตจิตใจ อยากจะฝากกับเด็กรุ่นใหม่ คือ อย่างแรก ใจต้องมาก่อน ต้องพร้อมรับในสิ่งที่มันเกิดขึ้น ต้องดูสถานการณ์ เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น ภาวะแวดล้อมที่มันเปลี่ยนแปลงไป  สมัยก่อนโจรผู้ร้ายมันกลัวตำรวจ เห็นตำรวจมันหนี แต่ตอนนี้มันเห็นตำรวจปุ๊บ มันโดดเข้าใส่ เราจะทำยังไง จะแก้ไขยังไง เราต้องมีทั้งจิตวิทยา มีทั้งมวลชนสัมพันธ์ และการป้องกันตัว  การแก้ไขเหตุการณ์ทำยังไง เพื่อที่จะให้เหตุการณ์มันซอฟต์ลง ปลอดภัยขึ้น” ตำนานครูฝึกยุทธวิธีย้ำมุมคิด

สำหรับตำรวจ พล.ต.ต.ภาสกรแนะเสมอว่า สิ่งแรกต้องปลอดภัย เพราะถ้าตำรวจไม่ปลอดภัยจะไปช่วยประชาชนต่อไม่ได้ แล้วต้องพูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยนั้น หรือหน่วยนี้ หน่วย ก หรือหน่วย ข จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ ต้องพูดเป็นภาษาเดียวกัน เพราะถ้ามันเกิดเหตุการณ์อย่างเหตุที่โคราช จริงๆ จบได้ด้วยตำรวจโรงพัก  กลับกลายเป็นว่า ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะว่าเรื่องกฎหมาย เรื่องการบังคับบัญชา ไม่เอื้ออำนวยให้ตำรวจมากมาย

พล.ต.ต.ภาสกรบอกอีกว่า ยิ่งช่วงหลังผู้บังคับบัญชาบางคนไม่ได้ลงไปดูเด็ก ไม่ได้ลงไปแตะดิน เท้าไม่แตะดิน พอเท้าไม่แตะดินจะเกิดปัญหาความน่าเชื่อถือ การเคารพ การปฏิบัติ ไม่ได้ใจกัน  เด็กเมื่อไม่ได้ใจนาย คือ นายไม่ได้ใจเด็ก งานก็ไม่เดิน งานแค่ฉาบฉวย เป็นการสร้างภาพพจน์ด้วย เหมือนการสร้างหนัง สร้างละคร  ไม่ใช่แค่ทำขอไปที ขอจบเป็นวันๆ ไป การฝึกของตำรวจไทยไม่เหมือนของเมืองนอกที่จะฝึก 3 เดือน  ต้องเทสต์ร่างกายก่อน 1 เดือน   เดือนที่ 2 ต้องเทสต์วิชาการ เดือนที่ 3 ถึงไปเทสต์เรื่องการปฏิบัติ เมืองไทยบางคนตั้งแต่จบจากพลตำรวจจนกระทั่งเกษียณไม่เคยฝึกอะไรเลย

“ตำรวจมันต้องต่อสู้ป้องกันตัวได้ ล็อกได้ จับได้ แย่งปืนได้ กล้าตัดสินใจในการใช้อาวุธปืน เดี๋ยวนี้เด็กบอกชักปืนมา ก็คุกๆ ครับนาย พอชักปืนมายิงไอ้นี่บาดเจ็บ นายกลับไปตามกระแส สั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าทำไมต้องอย่างนั้น อย่างนี้  ทั้งที่การวิสามัญฆาตกรรม ก็คือ วิสามัญฆาตกรรม ก็ต้องวิสามัญฆาตกรรม ตาม ป.อาญาที่กำหนดไว้ ไม่มีตำรวจคนไหนหรอกที่อยากจะชักปืนแล้วยิงคนตาย แต่บางทีต้องป้องกันตัวในลักษณะที่พอสมควรแก่เหตุ”

อดีตนายพลตำรวจชั้นครูฉายภาพสะท้อนความจริงถึงผู้ใหญ่บางคนย้ำว่า อย่านั่งคิดแต่ในห้องแอร์ ลงมาแตะดินบ้าง ลงมาดูบ้าง กลับไปถามตัวเองกับสิ่งที่เคยพูดไว้ตอนเป็น ร.ต.ต.เพิ่งจบใหม่ กับปัจจุบันที่เป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.อ.หรือนายพลตำรวจตรงกับสิ่งที่พูดไว้ตอนนั้นหรือไหม เชื่อว่า ไม่ตรงเนื่องจากสังคมมักสร้างคนให้เปลี่ยน เราต้องมีจุดยืน ต้องมีอุดมการณ์กินไม่ได้ก็จริง แต่ทำให้งานเดินมีประสิทธิภาพ และสร้างคนให้เข้มแข็ง ไม่ว่าร่างกาย หรือจิตใจ  “ผมไม่ได้บอกว่าผมเก่ง เพราะคนเก่งกว่าผมมีเยอะ  แต่ผมเอาส่วนเด่นของผมออกมาเพื่อใส่ให้กับตำรวจที่ยังขาดอยู่ นั่นคือ ความสุข ถามว่าทำไม ไม่อยู่บ้านเฉยๆ วะ ผมต้องบอกว่า ผมยังมีความรู้สึกว่า ผมยังไม่แก่ ผมรู้ว่า อะไรที่มันยังอยู่ในหัว ยังอยู่ในใจผม มันยังคาใจอยู่ มันยังไม่จบ แล้วผมก็สั่งลูก สั่งเมีย สั่งลูกน้องไว้แล้ว เวลาผมตาย ผมไม่ใส่นะชุดขาว ผมขอใส่ชุดเขียว เพราะผมเกิดมาจากชุดเขียว ผมเกิดมาจากจิตใจของตำรวจตระเวนชายแดน”

“สิ่งที่ผมใส่ตอนตาย คือ สิ่งที่ผมเกิดจากความเป็นตำรวจมา คือ ชุดเขียวยังอยู่ในร่างกายผมอยู่ สมองผมคิดจะทำยังไงให้ตำรวจมันเก่ง ทำยังไงให้เกิดสามัญสำนึก ตำรวจที่มายิงปืน เรียกผมครู เรียกผมอาจารย์โดยที่ไม่เคอะเขิน พลเรือนที่อะไรที่ผมสอน เรียกผมครู ครูครับๆ เพราะอะไร เพราะพวกเขาเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ผมสอน มันทำงานได้จริง  แล้วพอทำดู มันทำได้ จากคนยิงเป้าไม่เข้าจนยิงเป้าเข้า สิ่งที่ผมสอนมันไม่จบ มันเป็นอินฟินิตี้ เรียนต่อได้เรื่อย ๆ”  พล.ต.ต.ภาสกรสีหน้าจริงจัง

เขายืนกรานว่า ปัญหาของเมืองไทยเกิดจากกฎหมายไม่เอื้อให้คนทำงาน และอีกสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากทำให้ตำรวจถอยหลังไปเรื่อย คือ ครูฝึกที่พูดคนละภาษา สอนกันคนละแบบ แต่ละภาคไม่เหมือนกัน  ถามว่า เป็นตำรวจใช่ไหม แต่ทำไมทำไม่เหมือนกัน ทั้งที่ต้องทำเหมือนกัน ตำราเล่มเดียวกัน เพราะครูฝึกแต่ละคน เอาความคิดตัวเองเข้าไปใส่แล้วไม่กรองก็เกิดความผิดพลาด ต้องเรียกว่า ความเป็นอีโก้ของตัวเองสูง

 “สิ่งที่ผมทำทุกวันนี้  ผมทำเพื่อตำรวจ ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อชื่อเสียง ไม่ได้สนใจหรอก แต่สิ่งที่พ่อกับแม่สอนมา บอกว่า สอนอะไรให้รู้เป็นครูเขา นี่คือสิ่งสำคัญ ลูกจดนะลูก จำนะลูก แล้วต้องทำความเข้าใจกับมัน ผมมารู้ตอนมันสายแล้ว สายคือ พ่อแม่เสียแล้ว มานั่งคิดตอนโตแล้วว่า อ๋อ มันอย่างนี้นะ รู้อะไรให้รู้เป็นครูเขา เพราะเราต้องเอาไปสอนเขา  ต้องตอบปัญหาเขาได้ แก้ปัญหาให้เขาได้ อย่างนั้นมากกว่า”

เจ้าตัวฝากไว้อีกด้วยว่า  ทุกคนเคยทำพลาด เราก็ไม่ใช่ไม่มีพลาด แต่สิ่งที่พลาดต้องมานั่งคิดว่า พลาดเรื่องอะไร พลาดเพราะอะไรแล้วกลับมาแก้ไข อย่าให้เกิดขึ้นอีก ชีวิตตำรวจไม่สามารถกดรีสตาร์ตใหม่ได้เหมือนเกม อันนี้ตายแล้วตายเลย พลาดไม่ได้  “แต่ตำรวจตายในหน้าที่ส่วนใหญ่ผมส่งหรีดให้ ถ้าไปได้ผมไป  เงินทำบุญ ผมทำ ผมไม่รู้จักเลย ผมก็ส่ง เพราะผมถือว่า เป็นลูกน้องผมคนหนึ่ง นี่คือ สิ่งที่ผมรักตำรวจ ชีวิตผมคือ ตำรวจ เกษียณแล้วก็ยังคิดว่าทำอะไรให้กับตำรวจได้บ้าง”

ทิ้งท้ายอดีตผู้ทรงคุณวุฒิที่ปัจจุบันใช้เวลาว่างไปตระเวนสอนยิงปืนตามหน่วยงานเหมือนสมัยรับราชการกังวลมากคือ เรื่องกฎหมาย การปฏิบัติของตำรวจรุ่นหลัง จิตใจของตำรวจรุ่นใหม่ ผู้มีอำนาจการบังคับบัญชาต้องทำหน้าที่บำรุงขวัญกำลังใจ ไม่ใช่โยนงานอะไรให้เป็นภาระหนักเพิ่ม ต้องโยนงานที่เป็นตำรวจให้ฝังใจในตรงนั้น  ส่วนเรื่องระเบียบ วินัยต้องเกิดจากสมอง เกิดจากสำนึกมากกว่าที่จะบอกซ้ายหัน ขวาหัน ธำรงวินัย ไม่ใช่ตรงนั้น

ภาสกร สถิตยุทธการ !!!

 

 

 

RELATED ARTICLES