“ตำรวจอย่างผม ไม่ยอมทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและความไม่ถูกต้องเด็ดขาด”

ดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจมากด้วยคุณภาพ

พล.ต.ท.ธงชัย ไชยรักษ์ นักคิดนักพัฒนา ผู้ร่วมวางรากฐานกองตำรวจทางหลวง ชาวอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง จบมัธยมโรงเรียนปัทมโรจน์ราษฎร์บำรุงแล้วไปต่อโรงเรียนศิริศาสตร์ กระทั่งสำเร็จมัธยม 8 เข้าสู่รั้วนายร้อยตำรวจรุ่น 11

เจ้าตัวยึดอุดมการณ์มาตั้งแต่เด็ก เห็นตำรวจสายตรวจเมาเกะกะรังแกชาวบ้าน จับไปยิงทิ้งบ้าง อะไรบ้าง ทำให้รู้สึกว่า ทำไมตำรวจต้องทำแบบนี้ “สมัยนั้นเพิ่งผ่านสงครามโลก มีบัญชีดำเสือสวัสดิ์ แต่ไม่ทราบนามสกุล เป็นนักเลงใหญ่เที่ยวไล่ฆ่าคน ปรากฏว่า ตำรวจยุคนั้นไปต้อนเอาคนชื่อสวัสดิ์มาใส่กุญแจมือไปยิงทิ้งหมด มันทำให้ฝังใจผม ผมถึงต้องเรียนมาเป็นตำรวจให้ได้เพื่อจะมาดูแลตำรวจไม่ให้รังแกประชาชน”  พล.ต.ท.ธงชัยเท้าความหลังทั้งที่ก่อนหน้าสอบติดคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปแล้วด้วย

อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจบอกว่า ลักษณะการทำงานค่อนข้างของเขาจะแตกต่างจากตำรวจคนอื่นโดยมุ่งเน้นให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านให้ได้ ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 1 แม่เป็นคนบ้านนอกนุ่งโจงกระเบนไปเยี่ยมตรงประตูกลางของโรงเรียน มีอุดมคติตำรวจที่นักเรียนนายร้อยทุกคนต้องท่องก่อนนอนตั้งแต่ปี 1- ปี 4 แต่งโดยพระสังฆราช เวลาย้ายไปไหน เราจะต้องเอาไอ้นี่ขึ้นไว้บนสถานี กองกำกับ กองบังคับการ บนกองบัญชาการ ให้ทุกคนเห็น นั่นคือ ต้องเคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล มุ่งบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อปวงชน ดำรงความยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต “แปลกที่หลายคนออกมาแล้วไม่ค่อยทำกัน” นายพลตำรวจเก่าในวัย 81 ปีระบายความรู้สึก  ” การพัฒนาตำรวจเอาให้ได้ตามนี้ก็ดีใจตายแล้ว”

เขาประเดิมตำแหน่งเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ได้ปีครึ่ง กองตำรวจทางหลวงจัดตั้งใหม่ ทำหนังสือเวียนขอผู้สมัครใจย้ายไปอยู่ เขาเห็นว่า การอยู่โรงพักไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ซ่องก็ยังเป็นซ่อง บาร์ก็เป็นบาร์ โรงยาฝิ่นก็เป็นอยู่อย่างนั้น ระบบเจ้าขุนมูลนายเยอะมาก หลายอย่างแตะต้องไม่ได้ ผู้ใหญ่มาตรวจที่หน้าที่อย่างเดียวคือจ้องจับผิด ไม่มีวิธีที่จะพัฒนาองค์กร ถ้าดึงดั้นจะอยู่ก็จมปลัก ถ้าหน่วยตั้งใหม่ เราสามารถกำหนดหรือปรึกษาผู้บังคับบัญชาได้ว่าเราจะกำหนดให้เป็นตำรวจที่ดีได้อย่างไร ทำให้ประชาชนได้อย่างไร สร้างมูลขึ้นมาเพื่อหล่อหลอมตำรวจรุ่นใหม่

นายตำรวจหนุ่มขณะนั้นวางรากฐานผลิตตำรวจทางหลวงเอง เสนอโครงการให้ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบนับ 10 โครงการ “ผมมันไม่ใช่ทำงานแบบเคยทำมายังไงก็ทำอย่างนั้น หรือเป็นประเภทที่เรียกว่า หัวไม่ก้าวหน้า ยึดรูปแบบดั้งเดิม เพราะผมถือว่า สังคมมันเปลี่ยน แล้วตำรวจทางหลวง มันไม่เคยมีมาก่อน เราสามารถที่จะขยายหรือปรับปรุงงานให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่าตั้งด่านชั่งน้ำหนักอย่างเดียว  ตำรวจทางหลวงรับผิดชอบทั่วประเทศ เส้นทางหลวง คือ เส้นโลหิตของประเทศ ฉะนั้นตามเส้นต่างๆ เหมือนโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายเรา มันก็ไปตามเส้นโลหิต อาชญากรรม ตัดไม้ทำลายป่า หรือว่าบรรดายาเสพติด การกระทำผิดทั้งหลาย ของเถื่อน มันก็มาตามเส้นทางถนนหลวง เราก็ต้องหาทางบล็อก”

ใช้เวลานาน 28 ปีอยู่ทางหลวงตั้งแต่ตำแหน่งรองสารวัตรแผนก 1 กองกำกับการ 1 ตำรวจทางหลวง ไต่เต้าเลื่อนเก้าอี้เป็นสารวัตร รองผู้กำกับ ผู้กำกับการ กระทั่งขึ้นผู้บังคับการตำรวจทางหลวง คิดค้นรถวิทยุสายตรวจทางหลวง ตั้งสถานีตำรวจทางหลวงจนกระจายทั่วประเทศ  โดยมีความรู้สึกว่า รถออกมามากย่อมมีอุบัติเหตุมากขึ้น ตำรวจทางหลวงน่าจะเข้าไปดูแลเรื่องอุบัติเหตุ อย่างน้อยก็ในการป้องกัน เพราะว่าตำรวจภูธรมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องไปจับโจร จับขโมย เพราะฉะนั้นบนเส้นทางถนนหลวง ตำรวจทางหลวงต้องไปช่วยดูแล

อดีตผู้การทางหลวงมีมุมมองว่า อุบัติเหตุเป็นเรื่องใหญ่ ความตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่ละปีน้อยกว่าอุบัติเหตุด้วยซ้ำ เพราะตายกันทุกวัน ตอนนั้นถึงคิดทำรถกู้ชีวิต เป็นรถพยาบาลอยู่ตามสถานีตำรวจทางหลวงคอยบริหารชาวบ้าน ทำให้ถึงขนาดตามตำบลไกลปืนเที่ยงยังสามารถเรียกใช้บริการได้ ขณะเดียวกัน รถทางหลวงยังมีบริหารเติมน้ำมันค่อยช่วยเหลือรถที่น้ำมันหมดกลางทางให้ฟรี ถ้ารถเสียก็มีรถลาก

“สมัยผมเป็นสารวัตร ไปตรวจแถวบ้านนา นครนายก เห็นจักรยานเก่าไม่มีไฟถูกรถชนตายเป็นประจำ ผมก็ร่วมกับนายอำเภอ เสนอขอให้มีสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงนำไปติดให้ชาวบ้าน ตั้งแต่นั้นมา ไม่ตายเลย นี่คือความคิดที่ผมนั่งรถไป แล้วจินตนาการตลอดเวลาว่าจะทำอะไรให้ประชาชนได้บ้าง เพื่อลดอุบัติเหตุ ที่ผมทำก็ไม่เคยบอกใคร แม้กระทั่งนาย แต่ว่าได้บุญ ผมทำเพื่อได้บุญกุศล ณ วันนี้ ผมไม่กลัวตายนะ ไม่กลัวหรอก เพราะว่า ผมทำอะไรให้แก่ประชาชนเยอะ ในเรื่องที่จะเซฟชีวิต เซฟความลำบากให้เขา ตลอดการทำงานในหน้าที่ก็ไม่เคยไปรีดไถใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำให้ใครต้องหม่นหมอง หรือเอาเราไปพูดในแง่ไม่ดี ผมถือว่า บุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีอะไรเกินที่เราจะเอาอำนาจที่เรามีอยู่มาเป็นพระเดชใส่หม้อแปลงแล้วเอาท์พุตออกมาเป็นพระคุณให้ประชาชนได้ ดีกว่าทอดกฐินอีก”  

พล.ต.ท.ธงชัยยังมีความเห็นว่า การจราจรไม่ใช่อาชญากรรม ตำรวจไม่ควรไปคิดเอาเงินเขา ต้องป้องกัน ไม่ใช่ปราบปราม เพราะสิ่งที่กระทำผิดเกิดจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประมาท รีบร้อน สมัยหนึ่งเคยเสนอไม่เห็นด้วยกับการได้ส่วนแบ่งเงินรางวัลค่าปรับจากความผิดจราจร ไม่เหมือนกรณีจับกุมของหนีภาษี หรือยาเสพติด เพราะพวกนั้นมีเงิน มีทอง มีเจตนาที่แท้จริง ต้องการที่จะรวย ต้องการค้าของเถื่อน เลี่ยงภาษี ต้องให้ค่าจ้างตำรวจ ประชาชนก็ไม่ว่าอะไร คนถูกจับก็ไม่ว่าอะไร เพราะมุ่งหากินทางนี้อยู่แล้ว ยาเสพติดก็เช่นกัน แต่ความผิดด้านจราจรไม่ใช่ เป็นคดีที่ไม่เจตนาส่วนใหญ่ แม้จะทำผิดก็ไม่มีผลประโยชน์ที่จะได้จากการทำผิดนั้นๆ

อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจย้ำว่า มาตรการด้านเงินรางวัลจากการจราจร ตอนนั้นได้ค้านแล้วในขณะที่ประชุม และให้ระวังการกลั่นแกล้ง การจับเพื่ออยากได้รางวัล ทำให้ตำรวจกับประชาชน เกลียดกันมากขึ้น แต่ประธานสมัยนั้นไม่ยอม บรรดาขุนพลพลอยพยักเป็นกรรมการก็เห็นด้วย ในที่สุดก็เป็นไปตามคำพยากรณ์ของเราจนปัจจุบันนี้

พ้นจากผู้บังคับการตำรวจทางหลวง พล.ต.ท.ธงชัย เลื่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ฝ่ายประสานงานกระทรวงมหาดไทย) พร้อมกับรับบทโฆษกกรมตำรวจ ก่อนเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรภาค 4 กระทั่งเกษียณอายุราชการในปี 2538

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ถอดหัวโขน นายพลตำรวจโทผู้มากความสามารถยังติดตามข่าวสารภายในองค์กรเก่า ก่อนระบายความรู้สึกว่า ตำรวจเป็นหน่วยที่มีอำนาจมากที่สุด นายกรัฐมนตรีนั่งกินกาแฟริมถนนเห็นคนชกกัน ยิงกัน หรือกระทำผิด แล้วคนร้ายเดินเอ้อระเหย ยังไม่มีอำนาจจับกุม ต้องไปบอกตำรวจ ไปหาตำรวจ หรือถ่ายรูปจดจำไว้ เพื่อให้ตำรวจตามจับ อำนาจของกฎหมายทุกฉบับ เป็นอำนาจตำรวจทั้งนั้น ถึงมีนักการเมืองพยายามจะครอบงำตำรวจให้ได้ เพื่อการแทรกแซงการแต่งตั้ง เอาคนของตัวให้เป็นใหญ่ ตั้งแต่ระดับหัวลงไปเลย น่าเห็นใจตำรวจที่ตกอยู่ในอำนาจของนักการเมือง ถ้าไม่ทำชั่วตามใจเขา ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจปลดอธิบดีกรมตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปกี่คนแล้ว

“ตอนผมอยู่ภูธรภาค 4 หัวคะแนนทุกคนที่หิ้วเงินไปซื้อเสียง ผมหิ้วมาขังทุกคนเลย ไม่ได้ขังตามกฎหมายนะ เช่าโรงแรมเลยให้กินนอนสบาย กินอยู่สบาย ก่อนคืนหมาหอน 3 วันจนเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วถึงปล่อยไป คนที่หิ้วเงิน ถ้าระดับนายพลได้เป็นล้านนะ ผมไม่อยากเอ่ยชื่อ เพราะคนที่เป็นหัวหน้าหิ้วมาตั้งแต่ 30-40 ปีมาแล้ว คือใคร ได้เป็นใหญ่ในกรมตำรวจด้วย ในเมื่อผู้นำองค์กรตำรวจถูกปลดเป็นประจำเสมือนฆ่าไก่สอนลิง ขนาดผู้นำยังปลด ฉะนั้นตำรวจทั้งหลาย เลยหงอนักการเมืองหมด ใช้ทำอะไรก็ต้องทำ ใช้หิ้วเงินก็ต้องหิ้ว ไปไหนก็ต้องเทคแคร์ เดินล้อมหน้าล้อมหลัง ขออะไรก็ได้ กลัวนักการเมืองกันทั้งประเทศ ภาพพจน์ตำรวจที่เสียหาย เพราะความไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกนักการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลัง” พล.ต.ท.ธงชัยพูดจริงจัง

” แต่ตำรวจอย่างผม ไม่ยอมทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและความไม่ถูกต้องเด็ดขาด ขนาดผมเป็นที่ปรึกษานายกฯ ก็ไม่กล้ามาสั่งอะไรผม จะให้ผมทำอะไรให้ในสิ่งที่ไม่ชอบไม่ควร ผมไม่ทำ ผมจึงไม่โตเท่าที่ควร แต่ผมพอใจ จะยอมทำตามเฉพาะคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ผมทำงานไม่แบบจูล่ง กวนอูไปรบราฆ่าฟัน ผมจะทำงานแบบขงเบ้ง ใช้สมองทำงาน”

เขาแนะทางออกในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในวงการสีกากีอีกทั้งลดคดีอาชญากรรม สร้างวินัยแก่ตำรวจจราจรด้วยว่า  ต้องเพิ่มเงินเดือนตำรวจ ให้เทียบเท่าสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย เพิ่มกำลังตำรวจให้เพียงพอ ต้องไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ และต้องมีมาตรการป้องกันการแทรกแซงการทำงานของตำรวจ ให้ตำรวจสามารถทำงานได้อย่างอิสระ

พล.ต.ท.ธงชัยเปรียบเทียบว่า ตำรวจมีความสำคัญอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างนั้นหรือ คือ ในการสืบสวนสอบสวน ตำรวจเปรียบเสมือนแม่ครัว มีหน้าที่ไปจ่ายตลาด ไปหาพยานหลักฐานมา มีหน้าที่สอบสวนเบื้องต้น สมมติมีคนมาแจ้งความแล้ว เขาจะแกงส้ม เขาก็สอบให้มันเข้ากับองค์ประกอบของแกงส้ม อัยการเสมือนคนชิมก่อนว่า ควรจะปรับปรุงให้มีรสชาติดีหรือไม่ แต่คนแกงไปแล้ว อัยการบอกสำนวนยังไม่แน่น ไปเพิ่มเติมตรงนี้หน่อย แต่จะให้ไปทำเป็นต้มยำ ไม่ได้ เพราะเขาสอบมาเป็นแกงส้ม ศาลเป็นเพียงผู้บริโภค เขาต้มยำทำแกงมาอย่างไร ต้องกินตามนั้น แต่สังคมและรัฐบาลให้เงินเดือนแม่ครัว ซึ่งเป็นต้นทางแห่งความยุติธรรม เพียง 1 ใน 5 ของอัยการ และศาล สังคมมันถึงเป็นอย่างนี้

 “ยังมีอีกมากมายที่ทำให้ประชาชนต้องกลัวตำรวจมาก แม้แต่จะไปแจ้งความยังต้องหาคนฝาก เป็นมิติแห่งความเลวร้าย ต้องแก้ไขอย่างยิ่ง ถ้าอยากเห็นระบบความยุติธรรมในประเทศนี้ได้รับการแก้ไขอย่างเกาถูกที่คัน ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยอธิบดีตำรวจหัวหน้าตำรวจภูธรภาค 4 นัดประชุมตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บัญชาการจนถึงชั้นประทวน พูดจาขอให้ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด เลิกสิ่งเหล่านี้ให้หมด  ซ่องโสเภณี  บ่อนการพนัน  ยาเสพติด  .ลักรถไปขายลาว  ตัดไม้ทำลายป่า ให้เสร็จสิ้นภายในไม่เกิน 1-3 เดือน ตามความยากง่ายของปัญหา”

” ผมต้องขอขอบคุณผู้ใต้บังคับบัญชาของผมทุกคนสมัยนั้น ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง 100 เปอร์เซ็นต์ ภารกิจสำเร็จตามเป้าหมายก่อนกำหนด ขอยกความดีให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ต่างเห็นด้วย และตั้งใจปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นด้วยความเต็มใจ จนประสบความสำเร็จอย่างผิดคาด ความสำเร็จที่น่าจะยากแต่กลับง่าย ได้ขอสรุปว่า เกิดจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ต้องไม่มีแผล ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะนักการเมือง ญาติโยมของอธิบดีตำรวจ รองอธิบดี ผมบอกลูกน้องไม่ต้องกลัว ผู้ช่วยรับผิดชอบเอง  และให้ความดีความชอบ หรือลงโทษด้วยระบบคุณธรรม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์” อดีตหัวหน้าตำรวจภูธรอีสานเหนือว่า “คนที่ทำความดี ถ้าต้องวิ่งเต้นก็เจ๊ง แบบนี้ไม่เอา ข้าราชการตำรวจหิวโหยระบบคุณธรรม ถ้าทำดีได้ดี ไม่ต้องวิ่งเต้น ตำรวจพร้อมจะทำงานกันอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เอาเวลาทำงานไปวิ่งโยกย้าย ก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว”

อดีตนายพลตำรวจมากความคิดมองว่า บุคลากรตำรวจที่สร้างผลงานมากที่สุด เหน็ดเหนื่อยมากที่สุด คือ ชั้นประทวน ไม่เคยทำงานในห้องแอร์ ยืนตากแดด ผู้บังคับบัญชากลับไม่ได้ให้ความสำคัญทางด้านสวัสดิการครอบครัว กำลังใจ เงินค่าตอบแทนก็ไม่เพียงพอ จับอะไรมาควรเปิดโอกาสให้แถลงเองบ้าง ไม่ใช่นายเอาหน้าไปหมด ที่จับๆ ฝีมือชั้นประทวนทั้งนั้น  ต้องสำนึกว่า พวกเขา คือ ผึ้งงาน นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีหน้ามีตา เพราะพลตำรวจ หรือตั้งแต่จ่า ไปแสวงหาผลงานมาป้อนให้ทั้งนั้น ไม่ใช่พอแถลงข่าว ใบแถลงชื่อของนายเต็มหมด แต่คนจับไม่รู้อยู่ไหน ไม่รู้ด้วยซ้ำทำผลงานแล้วจะได้ 2 ขั้นหรือไม่ เพราะไม่เคยรับใช้นาย

ทิ้งท้าย พล.ต.ท.ธงชัย อดห่วงความเป็นไปในประเทศไม่ได้ เขาเอ่ยปากชม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ตัดสินใจยึดอำนาจเพื่อแก้ไขความขัดแย้งของชาติในเวลานั้น แต่นายกฯเป็นคนอารมณ์ดีเกินไป ต้องกึ่งเผด็จการให้เข้มข้นมากกว่านี้ ถึงจะพอพัฒนาประเทศได้ ไม่น่าจะหวั่นไหวเรื่องเสียงนกเสียงกาของกลุ่มคนเพื่อจะกลับไปเอาผลประโยชน์ของประเทศเหมือนเดิมแบบนี้ ยืนยันว่า ตั้งแต่ปี 2475 จนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีประชาธิปไตยในประเทศไทยเลยแม้แต่วินาทีเดียว

” คุณประยุทธ์ บอกว่า จะพัฒนาประเทศด้วยแม่น้ำ 5 สาย แต่ผมอยากให้มีแม่น้ำสายที่ 6 ที่สำคัญมาก เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาประชาธิปไตยด้วย ถามว่า เราด่านักการเมืองว่า นักการเมืองเลวกันหมด แต่เราไม่เคยพูดถึงต้นเหตุ ต้นทางของความล้มเหลวทางประชาธิปไตยไทยเลย  คือ คนที่ขายเสียง เงินไม่มา กาไม่เป็น เรื่องนี้ไม่มีใครกล้าพูด ดังนั้น ต้องรีบแก้ปัญหาด้วยการประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ บอกประชาชนให้รู้ สอนให้เข้าใจว่า ถ้ายังไถเงินจากผู้แทนอยู่ บ้านเมืองจะแก้ไขไม่ได้ แล้วในที่สุดวงจรมันก็จะกลับไปสู่การที่นักการเมืองก็จะไปไถเงินมากกว่าที่ประชาชนจะได้รับ” อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจให้ข้อเสนอแนะ

“ฉะนั้น แม่น้ำสายที่ 6 ถ้าแก้ประชาชนได้ว่า จงสำนึก จงเข้าใจว่า ท่านเป็นผู้สร้างผู้แทนราษฎร แต่ท่านมอบสิทธิให้ด้วยราคาที่ถูกมาก ท่านเห็นแก่ได้เล็กๆ น้อยๆ แล้วให้เขาเข้ามากินบ้านกินเมือง มันถึงมาจากตรงนี้ ผมอยากเอากูรูทั้งหลาย ทั้งนักวิชาการ นักนิเทศศาสตร์ อาจารย์ทั้งหลายในมหาวิทยาลัย ไประดมมาแก้ที ผมเชื่อว่า แก้ได้ ใช้เวลาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พูดจากับประชาชนให้เข้าใจว่า ผู้แทนราษฎรไม่ใช่คนชั่วคนเลวอะไรหรอก แต่ว่า ถ้าเขาไม่ให้ ก็ไม่เลือกเขา ฉะนั้นอย่าไปเอาของเขา เท่ากับท่านทำลายชาติ  แล้วถ้าทำได้ คนดีๆ ก็จะกล้าลง เพราะไม่ต้องซื้อเสียง คนทำลายชาติ ทำลายประชาธิปไตยที่แท้จริง คือประชาชนที่ยอมขายเสียงให้พวกเขานั่นแหละ”   

ธงชัย ไชยรักษ์ !!!

RELATED ARTICLES