“ผมอยากจะสื่อในความคิดของผม ซึ่งไม่ค่อยคล้ายกับคนทั่วไป”

ดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศผ่านงานข่าวสงคราม ข่าวผู้ก่อการร้าย ข่าวการเมืองทั้งในและต่างประเทศมากว่า 37 ปี

สุทิน วรรณบวร ประกาศตัวเองเป็น “นักข่าวสายโจร” เพราะเริ่มทำงานในช่วงสงครามอินโดจีนกำลังคุกรุ่น ใช้ชีวิตอยู่ในสมรภูมิ 2 ทศวรรษแรกของการทำงานอยู่กับป่าคลุกคลีกองโจรและกองกำลังต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น กองกำลังเขมรแดง เขมร 3 ฝ่าย กองกำลังว้า ขุนส่า กะเหรี่ยง กะยา มอญ โจรจีนมาลายา และพูโลในภาคใต้ รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

เป็นนักข่าวไทยคนเดียวที่พบผู้นำกองโจรผู้ก่อการร้ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเขมรแดง ราชายาเสพติดขุนส่า อ้าย เสียวสือ ผู้นำว้า นายพลบอ เมียะ ผู้นำกะเหรี่ยง จีน เปง ผู้นำโจรจีน และลุก มาน บิน ลิมา หัวหน้าโจรพูโล

ก่อนกลับมาอยู่สายการเมืองกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาปะทะคารมผู้กุมอำนาจบริหารประเทศหลายยุครัฐบาลด้วยสไตล์คำถามที่ตรงไปตรงมา

สุทินเกิดอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ในตระกูลนักเลง ทวดเป็นขุนกอบคีรีกิจ (อินทร์ วรรณบวร) ปู่เป็นกำนันต่อยอดมาจนถึงรุ่นพ่อ ส่วนตัวเขาคิดว่า ไม่ใช่สไตล์ หลังจากรู้ความถึงย้ายตามพี่ชายไปอยู่กรุงเทพฯ “มีแพทย์ประจำตำบลให้แง่คิดไว้ว่า ถ้าผมอยู่ที่บ้านโตขึ้นมาก็เป็นแบบที่เห็นควรหาทางออกที่ดีกว่า ผมมองว่าจริง อยู่บ้านนอกส่วนใหญ่เป็นพวกนักเลง คนที่นั่นถือมาแต่โบราณ ไม่รบนายไม่หายจน ไม่ดัง มันไม่เหมาะกับผม”

หนีมาเรียนกรุงเทพฯ สุทินรับว่า ไม่ได้เรียนหนังสือมากมาย แค่อ่านออกเขียนได้ บังเอิญมีช่วงสงครามอินโดจีน พวกอเมริกันมาอยู่ในเมืองไทยมาก คนหนึ่งเช่าบ้านซอยราชครูของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องการเลขานุการ ตอนนั้นเราอายุ 15 พอมีพื้นภาษาอังกฤษ เพราะอาศัยเรียนข้างถนนควบคู่กับเรียนพิมพ์ดีดเลยลองไปสมัครดู อเมริกันคนนี้เป็นครูอยู่มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ฉากหลังเขาว่าเป็นซีไอเอเห็นว่า เรายังเด็กเกินไป แต่ก็ให้มาช่วยงานส่งเอกสารและอยู่กับเขาที่บ้านซอยราชครู เปิดโอกาให้เราได้เรียนรู้ภาษาเพิ่มเติมนำไปต่อยอดจนจบหลักสูตรที่สถาบันเอยูเอ

 เมื่อใช้ภาษาอังกฤษได้ดีไม่นาน สุทินได้รับโอกาสเข้าทำงานสถานทูตอังกฤษทำหน้าที่เสมียนประสานงานกระทรวงการต่างประเทศประมาณ 2 ปี เกิดวิกฤติ 14 ตุลา 2516 ทำให้เขาไปร่วมชุมนุมด้วย เจ้าตัวว่า พื้นฐานของคนใต้ชอบพูดการเมืองในสภากาแฟ ทำให้เรารู้สึกสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก พอมีชุมนุมกันลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ ก็ไปนั่งฟังตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาจนเกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาขึ้นมาก็ติดชุลมุนอยู่ในนั้นไม่ได้เข้าทำงาน พอกลับไปเขาก็บอกว่า ทำงานในสถานทูตมันไม่เหมาะ แม้จะอยู่ระดับไหนก็แล้วแต่เลยออก

เอาความรู้ด้านภาษาขึ้นไปสอนหนังสือที่เชียงใหม่กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เที่ยวนี้สุทินโดนหางเลขโดนจับไปด้วย เพราะออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มตัวในข้อหาเป็นภัยสังคม เข้าไปอยู่ในค่ายทหารกาวิละที่เชียงใหม่นานราว 3 เดือน หมดอิสรภาพครั้งนั้น สุทินเล่าว่า ยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะไปบ่มเพาะกับคนที่คิดทางการเมืองแบบนี้ในค่ายปลูกฝังให้เกลียดระบบ พอออกมาเสียเงินล้างประวัติไป 6,000 บาท ก่อนตัดสินใจแปลหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติทางการเมืองขาย

ต่อมา สำนักข่าวยูพีไอต้องการเทเล็กซ์โอเปอเรเตอร์ 2 ตำแหน่งเพื่อทำงานกะเช้ากับบ่าย เขาตัดสินใจไปสมัครอาศัยพื้นฐานการอ่านหนังสือพิมพ์รับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวหลากหลายมาก่อนเลยได้ขยับตัวเองไปเป็นนักข่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตสื่อมวลชนนับจากนั้นเป็นต้นมา คลุกอยู่กับข่าวสงครามอินโดจีนในกัมพูชาเจาะเชิงลึกเข้าถึงผู้นำเขมรแดง  “ช่วง20 ปีแรกผมจะอยู่ในป่ากับกองโจรตลอด ตอนนั้นพวกกบฏเป็นกองโจร ผมเลยเรียกตัวเองเป็นนักข่าวสายโจร ได้ทำข่าวที่เหนือจากคนอื่น ทำให้มีบทบาทเด่นขึ้นมารับผิดชอบพื้นที่อินโดจีน ลาว เขมร พม่า”

อยู่สำนักข่าวยูพีไอ 12 ปี สร้างวีรกรรมหักดิบผู้นำเผด็จการพม่า หลังเหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 ที่รัฐบาลพม่าสลายการชุมนุมของนักศึกษาตายเป็นเบื่อ บางส่วนหนีมาอยู่ตามแนวชายแดนไทย นายพลซอ หม่อง ได้ประสานทางการไทยให้ส่งตัวกลับ ก่อนสร้างภาพให้นักข่าวจากสำนักต่าง ๆ บินไปพม่าเพื่อยืนยันว่า ทุกคนอยู่อย่างสุขสบาย ในจำนวนคณะสื่อมวลชนครั้งนั้นมีสุทินติดตามไปด้วย เขาเปิดประเด็นร้อนแรงกลางห้องแถลงข่าวว่า อยากเจอแกนนักศึกษาคนหนึ่งที่เคยสัมภาษณ์ลี้ภัยอยู่ฐานกะเหรี่ยง แต่กลับมีการสมอ้างปรากฏตัวในห้องประชุม

“ผมบอกว่าไม่ใช่ พร้อมมีรูปถ่ายให้ดูยืนยันแล้วย้ำบอกว่า ผมอยากเจอคนนี้” สุทินเล่านาทีเดือดบนแผ่นดินประเทศเพื่อนบ้าน “ปรากฏว่า ทีมจัดประชาสัมพันธ์กระชากไมค์ไม่ให้ถามต่อ ผมโมโห ผมเลยพูดกระแทกเป็นภาษาอังกฤษว่า ผมไม่ใช่ทีมงานประชาสัมพันธ์ของคุณ เมื่อคุณบอกว่าไม่มีใครตาย ก็ต้องเอามายืนยัน คุณจะให้ใครมาหลอกผมไม่ได้ ถ้าทำอย่างนี้ คุณจะเสียหายเอง ซอ หม่องอย่าคิดว่าแน่ ถึงทำกับสื่ออย่างนี้”

ทหารที่นำคณะตัดสินใจรีบดึงเขาออกก่อนจะบานปลาย พอตกเย็นขึ้นเครื่องบินกลับนายทหารคนนั้นถึงกับเอ่ยปากชมว่า “ไอ้ทิน มึงแน่มาก กูก็อยากให้ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่กูพูดไม่ออก” สักพักหัวหน้าข่าวรอยเตอร์ขอมานั่งข้างเสนอเงินเดือนให้ 2 เท่าในการดึงตัวเข้าสังกัด สุทินลังเลอยู่ไม่กี่วันก็ตอบตกลงอำลายูพีไอ แต่คงทำหน้าที่ในสมรภูมิข่าวตามแนวชายแดน และประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีนจนกัมพูชาประกาศสันติภาพถึงกลับคืนเมืองไทยสู่อ้อมกอดของป่าคอนกรีตตามข่าวการเมืองในยุคพฤษภาเดือดปี 2535

ตำนานคนข่าวอาวุโสเล่าว่า การเมืองไทยตอนนั้นเริ่มเปลี่ยนมากขึ้น แต่เนื่องจากว่าเวลาเราทำข่าว สำนักข่าวต่างประเทศไม่มีสาย เราทำทุกข่าวที่มันดึงความสนใจของต่างประเทศ บางทีไปที่ไหน นักข่าวไทยไม่รู้จัก บางครั้งมองเราเป็นตัวก่อกวน เพราะถามตรงไปตรงมา และต้องได้คำตอบที่ตรงกับคำถาม  เช่นถ้าถามว่า จะไปนนทบุรี หรือบางเขน แล้วมาตอบว่า ก็รู้ๆ กันอยู่ มันไม่ใช่ “เหมือนที่ผมเคยถาม วัฒนา อัศวเหม รู้สาเหตุหรือไม่ที่ถูกบัญชีดำไม่ให้เข้าสหรัฐอเมริกา แกตอบว่า อเมริกากลั่นแกล้ง ดูถูกประเทศไทย และตัวเขาก็ไม่ได้พิศวาสอเมริกา เกิดมาชาติไปแค่ 2-3 ครั้ง ผมก็ย้ำว่า ผมไม่ได้ถามว่าคุณรักหรือเกลียดอเมริกา ผมถามว่าเพราะเหตุผลอะไร คราวนี้วัฒนากันมาขึ้นเสียงว่า คุณมีเรื่องกับผมไม่ดีนะ ผมเลยถามว่า ควรมีเรื่องกับใครดีล่ะ เขาก็เลยถามว่ามาทำข่าวหรือมาหาเรื่อง ผมถึงอยากบอกว่า คนพวกนี้ไม่เข้าใจการทำงานของนักข่าวต่างประเทศ”

ทำให้บ่อยครั้งสุทินปะทะคารมนักการเมืองระหว่างสัมภาษณ์ โด่งดังมากตอนฟาดปากกับสมัคร สุนทรเวช สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในประโยคคำถามแค่ว่า พรรคประชากรไทยจะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ สมัครกลับตอบไม่ตรงคำถามอ้างรัฐบาลอเมริกาปราบจลาจลคนตายมากมายไม่เห็นต้องออก พอสุทินทวนคำถามย้ำ สมัครถึงกับไม่พอใจสั่งให้เขาหุบปาก ลูกชายกำนันห้วยยอดเลยสวนกลับไปว่า “คุณนั่นแหละที่ต้องหยุดปาก ถ้าคุณไม่ใช่รองนายกฯ เป็นชาวบ้านธรรมดาผมก็ไม่ถามหรอก”

สุทินบอกว่า ตัวเขาไม่ใช่คนหยาบคาย แต่ไม่ชอบให้ใครมาดูถูกภูมิปัญญานักข่าว จะบอกไปไหนมาสามวาสองศอกไม่ได้ หากใครตอบแบบนี้เหมือนกันทุกคนจะโดนสวนหมด ไม่เว้นนายกฯทักษิณ ชินวัตร เผชิญหน้ากัน 3 ครั้ง มีปากเสียงกัน เพราะเราเห็นว่า การดำเนินการของเขาผิดพลาด เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์ภาคใต้ใหม่ ๆ ทำโครงการพับนกล้านตัว พวกข้าราชการ ผู้ว่าฯ อยากประจบสอพลอเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์นก เราก็ปากไวบอกไปว่า ควรเสนอให้สร้างควายดีกว่า เดี๋ยวนกมาเกาะเอง

อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศคนดังสะท้อนวีรกวนผู้นำรัฐบาลต่อว่า ตอนทักษิณพาคณะสื่อมวลชนขึ้นเครื่องบินไปบังคลาเทศเพื่อเปิดเที่ยวบินใหม่ เราคุยกับฝ่ายขายรู้ว่าขาดทุนแน่ พอถามทักษิณบนเครื่อง กลับถูกต่อว่า เราถามนอกเรื่อง เพราะเขาพามาดูเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราเลยสวนว่า ที่มีหมายข่าวแจ้งมาเรื่องเปิดเที่ยวบินล่ะ คืออะไร ที่ตอบเมื่อกี้ไม่ใช่ประเด็น ทักษิณก็ส่ายหัวบอกถึงเมืองไทยค่อยคุยกัน

“สุดท้ายทะเลาะกันหนัก คือ ตอนที่จะมีการเลือกตั้งปี 2549 พรรคฝ่ายค้านบอยคอต เขาไปหาพรรคเล็กมาลงสัตยาบันประชุมคุยกันในสภา พูดกันหน้าดำ คร่ำเครียด ผมเลยกดไมโครโฟนถามว่า นายกฯ ครับ ที่ประชุมอยู่นี่ มันประชุมสภาโจ๊ก หรือสภาจริงครับ ถ้าประชุมสภาโจ๊ก เกรงใจตลกคาเฟ่บ้าง ถ้าประชุมสภาจริงเกรงใจประชาชนด้วย ปรากฏว่า มีตำรวจสภา และเจ้าหน้าที่หามออกไปจากห้องประชุมเลย ทำให้เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาถึงกับไม่ให้สัมภาษณ์พิเศษตามธรรมเนียมผู้นำกับสำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งผมทำมาตั้งแต่นายกฯ เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเว้น ทักษิณอยู่คนเดียวที่ไม่เคยได้สัมภาษณ์พิเศษ”

เส้นทางประสบการณ์ในสนามข่าวของสุทินต่อมาพ้นสังกัดรอยเตอร์ข้ามเข้าค่ายเอพี ก่อนไปเป็นผู้สื่อข่าวอิสระให้สำนักข่าวอัลจาซีรา และสำนักข่าว ซีซีทีวี ภาคภาษาอังกฤษของจีน ควบคู่กับทีวีวันภาคภาษาอังกฤษของอินโดนิเซีย กระทั่งถูกจับในกัมพูชาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ตอนเข้าไปหาข่าวความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหาร หลุดออกมาได้จึงหยุดทำข่าวต่างประเทศ หันมาเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์แนวหน้าในคอลัมน์ “วิภาคข่าวเทศ วิเทศข่าวไทย” กลับไปเก็บตัวพักผ่อนอยู่ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

เพิ่งมาโผล่หน้าขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. หลังจากแกนนำที่ชุมพรชักชวนให้มาร่วมอุดมการณ์ “ผมอยากจะสื่อในความคิดของผม ซึ่งไม่ค่อยคล้ายกับคนทั่วไป มุมมองไม่เหมือน ไม่คล้ายกับใครตั้งแต่ต้นแล้ว เหมือนผมกับนักข่าวสายตำรวจ มีความขัดแย้งกันมาตลอด เขาอิงตำรวจผมไม่ว่า แต่เขาอย่าพูดแทน ทำแทนตำรวจทุกอย่าง ผมมักจะไปคุยกับสายสืบคนที่จับจริงก่อน ไม่เอาตามใบแถลงข่าวที่มีชื่อนายพล นายพันยาวเหยียด ผมมองว่า นักข่าวสายตำรวจ มันก็จะพูดเข้าข้างตำรวจ ทำให้ผมมักขัดแย้งกัน”

ทว่าการขึ้นเวทีขับไล่รัฐบาล สุทินจะพูดมุมมองที่เกี่ยวกับต่างประเทศ มุมของสื่อต่างประเทศที่มองการเมืองไทย ส่วนใหญ่สื่อต่างประเทศจะถูกตีกรอบความคิดจากบริษัทประชาสัมพันธ์ ทำตัวเป็นล็อบบี้ยิสต์ แต่จะมี 2-3 แห่งแหวกแนวออกมาก เช่น รัสเซียนทีวี จะบอกว่า ใครที่บอก ทักษิณ คือ นักประชาธิปไตย จะเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล เพราะทักษิณ เป็นเผด็จการ มีนโยบายประชานิยมที่ทำให้คนในชนบทได้ลืมตาอ้าปาก แต่สร้างความฉิบหายให้ชาวนา เป็นเอาข่าวทั้งไทยและต่างประเทศมาวิเคราะห์ พูดในสิ่งที่คนทั่วไปยังไม่รู้

หากเสร็จภารกิจจากการชุมนุม เขาวางโครงการบั้นปลายชีวิตไว้แล้วว่าจะกลับไปหลังสวน ไปเขียนหนังสือ แปลหนังสือจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขียนบทความ “มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันเป็นสายเลือดไปแล้ว อยู่วงการ 37 ปี มันมากกว่าครึ่งชีวิต เชื่อเถอะคนที่อยู่มานานๆ ทิ้งไม่ได้หรอก ต้องฟังวิทยุ ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ พออ่านแล้วก็ต้องออกความเห็นด้วย”

 

 

RELATED ARTICLES