ได้รับเชิญไป “หยิบหมอก หยอกดอกกระเจียว” ในงานเทศกาลท่องเที่ยวดอกกระเจียวงาม จังหวัดชัยภูมิ และเที่ยวร่วมงานประเพณีบุญหลวง ชมการละเล่นผีตาโขน จังหวัดเลย จากคำเชื้อเชิญของคุณสมฤดี ชาญชัย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พาหนะของเราออกเดินทางสู่จังหวัดชัยภูมิ มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว เมื่อไปถึงนายสุหฤทธิ์ ชาญวนังกูร ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครราชสีมา ก็มาร่วมแจมด้วย พร้อมนำเราไปยังทุ่งดอกกระเจียวที่สวยงาม ก่อนจะได้ชมต้องแวะทดสอบความกล้ากันที่ “ผาหำหด” ซึ่งเป็นก้อนหินที่ยื่นออกไปในอากาศ พวกเราบางคนใจฝ่อไม่กล้าไปยืน บางคนก็กล้าๆ กลัวๆ ที่จะไปยืนบนผาหำหดนี้ จนเห็นกันแล้วก็อดขำไม่ได้ จากนั้นพวกเราตรงไปยังทุ่งดอกกระเจียวที่เบ่งบานชูช่ออยู่หลายทุ่งให้เลือกชม ดอกกระเจียวของที่นี่มี 2 สีคือ ดอกกระเจียวสีม่วงอมชมพู(ดอกบัวสวรรค์ )และดอกกระเจียวสีขาว(ดอกบัวเทพอัปสร) และจะบานช้ากว่าอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เดินเที่ยวชมทุ่งดอกกระเจียวจนแล้วเข้าพักที่ สุดทาง@ LOVE รีสอร์ต เป็นรีสอร์ตที่ออกแบบและตกแต่งแบบเรียบง่าย สบายๆ แต่มีความสวยงาม ดูดีมาก ภายในห้องก็จัดได้สวยงาม สะอาดสะอ้าน และที่สำคัญสำหรับคนที่รักสัตว์เลี้ยง เพราะที่นี่สามารถนำสัตว์เลี้ยงแสนรักมาพักได้ เพราะเจ้าของก็รักสัตว์เลี้ยงเหมือนกัน
เช้าวันใหม่ต้องรีบตื่นกันก่อนฟ้าสางไปที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต เมื่อไปถึงพวกเราก็นั่งรถรางของอุทยานมุ่งหน้าสู่ “ผาสุดแผ่นดิน” เป็นจุดสูงสุดของอุทยาน และเป็นหน้าผาสูงสุด มีความสูง 846 ม. เป็นผาหินที่ยื่นออกไปในอากาศคล้ายกับจุดชมวิวผาหำหด แต่มีขนาดใหญ่กว่า เมื่อเราขึ้นไปยืนบนหน้าผาเราจะเห็นทิวทัศน์สุดแผ่นดินเป็นบริเวณกว้างสวยงาม โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่นี่จะเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามที่สุด เพราะมีสายหมอกปกคลุมผืนป่าเบื้องล่าง ชมทัศนียภาพประกอบสายหมอกที่เคลื่อนแบบเฉื่อยๆ เป็นที่ประทับใจแล้วเดินชมทุ่งดอกกระเจียวท่ามกลางหมอกสายบางๆ ปกคลุม สัมผัสกับทุ่งดอกกระเจียว ราชินีแห่งมวลไม้ดอกของขุนเขาป่าหินงามออกดอกสีชมพูอมม่วงเต็มทั่วผืนป่า ชูช่อล้อสายลมและสายหมอก นับว่าเป็นภาพที่สวยงามที่สุด
เก็บภาพไว้ในความทรงจำ นั่งรถรางไปชมลานหินงาม เป็นความวิจิตรที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น มีสภาพเป็นลานหินกว้าง ที่มีก้อนหินขนาดใหญ่รูปลักษณ์แปลกตา สวยงาม ไม่ว่ารูปสิงโต แม่ไก่ ช้างเอราวัณ รูปเรดาร์ ดอกเห็ด และหินรูปถ้วยรางวัลฟุตบอลฟีฟ่า เป็นที่มาของชื่อ “ป่าหินงาม”
ชมความสวยงามของดอกบัวสวรรค์แล้ว พวกเราก็บ๊าย บาย จังหวัดชัยภูมิ เดินทางสู่จังหวัดเลย เข้าชมพิพิธภัณฑ์ผีตาโขนภายในวัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย สถานที่แสดงประวัติความเป็นมา และนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองด่านซ้าย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่สืบต่อกันมา รวมถึงผีตาโขนที่มีความเชื่อกันว่าเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล มีนายอนันต์ มงคลเดช วัฒนธรรมอำเภอด่านซ้ายมาให้ความรู้ว่างานบุญผีตาโขนนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญหลวง ที่ถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่นที่รวมเอางานบุญพระเวส และงานบุญบั้งไฟ รวมเป็นงานบุญเดียวกัน โดยงานบุญพระเวส จัดขึ้นเพื่อให้ฟังเทศน์มหาชาติ ส่วนงานบุญบั้งไฟนั้นเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อถวาย บูชาเทวาอารักษ์รักเมือง ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล
ผีตาโขนจะเป็นผู้ออกมาสร้างสีสันและความครื้นเครงในขบวนแห่ ส่วนชื่อของผีตาโขนนั้นเล่าต่อกันมาว่าน่าจะมาจากการสวมหน้ากากคล้ายหัวโขน หรือบางคนเรียกเป็นผีตาขน ผีตามคน และเพี้ยนเป็นผีตาโขนในที่สุด เมื่อเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์ เราจะเห็นหัวผีตาโขนที่วาดลวดลายวิจิตรสวยงาม และหุ่นผีตาโขนที่มีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันออกไปมากมาย ทั้งผีตาโขนใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิง จะไม่มีการทำใหม่ทุกปี แต่จะทำตามธรรมเนียมที่กำหนดไว้เท่านั้น และผีตาโขนเล็กที่เราพบเห็นกันทุกปี นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการทำหน้ากากผีตาโขน รวมทั้งมีมุมให้สวมชุดผีตาโขนไว้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกด้วย และยังมีร้านสินค้าที่ระลึกให้ได้เลือกซื้อกันอย่างจุใจ ช้อปกันจนกระเป๋าแฟบ ก็เดินทางกลับที่พัก
วันรุ่งขึ้น ตื่นกันตั้งแต่ตี 3 ร่วมพิธีกรรมงานบุญใหญ่ เรียกกันว่า งานบุญหลวง ณ วัดโพนชัย เริ่มจากพิธีไหว้พระขอศีลและบวชพราหมณ์จากพระสงฆ์ ตามด้วยพิธีเบิกพระอุปคุตเวลา 04.00 น. โดยการนำของพ่อแสนแก้วอุ่นเมือง นำขบวนชาวบ้านที่ถืออุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขันแปด(พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) เดินไปที่ริมแม่น้ำหมัน พอถึงบริเวณแม่น้ำหมัน พ่อแสนแก้วอุ่นเมืองก็จะทำพิธีสวดคาถาบูชาพระอุปคุต จนถึงเวลา 07.00 น. ก็ร่วมทำบุญตักบาตร ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกแขนให้เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม ท่ามกลางชาวบ้านที่มาร่วมงานจำนวนมาก หลังเสร็จพิธีก็ตั้งขบวนแห่จากบ้านเจ้าพ่อกวน นำโดยเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม และพ่อแสน พร้อมด้วยชาวบ้าน รวมทั้งผีตาโขนใหญ่-น้อยจำนวนมากแห่ไปที่วัดโพนชัย เพื่อร่วมในพิธีเปิดงาน “วันโฮม”
หลังจากพิธีเปิดงาน พวกเราไปสักการะพระธาตุศรีสองรัก ที่สร้างขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเพื่อเป็นสักขีพยานในการทำสัญญาทางพระราชไมตรีอันดีงามกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) เป็นเจดีย์ศิลปกรรมแบบล้านช้าง ก่ออิฐถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรงบัวเหลี่ยม ถัดจากองค์พระเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกจะมีศิลาจารึก 1 แผ่น จารึกตำนานการสร้างพระธาตุศรีสองรักด้วยอักษรธรรม ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีงานสมโภชพระธาตุศรีสองรักขึ้นโดยจะนำต้นผึ้งที่ประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่เป็นทรงหอปราสาทมาถวายองค์พระธาตุถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนผู้ที่จะไปสักการะพระธาตุศรีสองรักนั้น ห้ามนำสิ่งของหรือดอกไม้สีแดงขึ้นบูชา และไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีแดง เพราะองค์พระธาตุสร้างขึ้นเพื่อสัจจะและไมตรี สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของเลือดและความรุนแรง
ขอพรดั่งประสงค์ ก็มาชมความสวยงามของวัดเนรมิตวิปัสสนา ผ่านซุ้มประตูศิลาแลง เราจะพบกับความแข็งแกร่งที่โดดเด่นของพระอุโบสถ และเจดีย์ที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง เมื่อเดินเข้าไปในพระอุโบสถขนาดใหญ่จะพบกับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามตามศิลปะภาคกลาง มีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระพุทธประวัติที่สวยงามประดับอยู่โดยรอบ ชมความสวยงามโอ่อ่าพอประมาณ พวกเราก็เข้าไปกราบสักการะพระพุทธชินราชจำลอง พระประธาน และกราบหุ่นขี้ผึ้งของพระครูภาวนาวิสุทธิญาณ (หลวงพ่อพระมหาพันธ์ สิลวิสุทโธ) ผู้สร้างวัดและมรณภาพแล้ว จากนั้นก็เดินมาทางด้านหลังพระอุโบสถเราจะเจอกับมณฑปพระครูภาวนาวิสุทธิญาณ ภายในเป็นที่ตั้งหีบสีทองบรรจุสังขารซึ่งไม่เน่าเปื่อยของพระครูภาวนาวิสุทธิญาณ เปล่งประกายเหลืองอร่าม และรูปจำลองพระครูภาวนาวิสุทธิญาณ ให้พุทธศาสนิกชนได้มากราบไหว้ พร้อมพวงมาลาพระราชทาน
ชมภายในบริเวณวัดกับอาคารที่สร้างด้วยศิลาแลงสีแดงกลมกลืนกับสีเขียวของพันธุ์ไม้ที่ร่มรื่น ทำให้ปลอดโปร่งภายในใจและหายเหนื่อย ก่อนลาจากไปร่วมเปิดถนนคนเดิน “ถนนผีฯ…คนเดิน” โดยมีคุณยุพา ปานรอด ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเลยร่วมจัดขึ้น ภายในงานมีการแสดงดนตรี การจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมือง งานแฮนด์เมด งานหัตถกรรม งานศิลปะ งานไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ จากชาวด่านซ้ายและชาวเมืองเลย ก่อนเดินทางกลับที่พัก
รุ่งอรุณวันใหม่ ชมการสาธิตการทำหน้ากากผีตาโขน เริ่มจากการเอาส่วนหัวที่ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียวมาหักพับขึ้นให้มีลักษณะคล้ายหมวก เอามาเย็บเข้ากับหน้ากากที่ถากเป็นรูปหน้าจากโคนก้านมะพร้าว แล้วนำมาเจาะช่องตา เสร็จแล้วเอาจมูกที่แกะสลักเป็นรูปร่างต่าง ๆ จากไม้เนื้ออ่อน ปัจจุบันนิยมทำยาวเป็นงวงช้าง เขาทำจากปลีมะพร้าวแห้งมาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการแล้วติดที่ข้างหวด จากนั้นก็เอาสีน้ำมันที่มีสีสันสดใสมาวาดตกแต่งลวดลายตามที่ต้องการ นำเศษผ้ามาเย็บต่อกับหวดและหน้ากากให้ผ้าคลุมมิดไหล่ จนสำเร็จเสร็จกลายเป็นหน้ากากผีตาโขน
แล้วก็ได้เวลาไปร่วมในพิธีเปิด “งานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน” ประจำปี 2557 มีนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเป็นประธานเปิดงาน ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย เริ่มงานด้วยการโดดร่มดิ่งพสุธา ตามด้วยการแสดงร่ายรำ ขบวนแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ขบวนของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม ขบวนของอำเภอต่างๆ รวมทั้งขบวนผีตาโขนจำนวนมาก ก่อนตะวันตกดิน บรรดาผู้เล่นเป็นผีตาโขน จะถอดชุดผีตาโขนและอุปกรณ์ที่ใช้เล่น ไปโยนทิ้งในแม่น้ำหมัน ถือเป็นการลอยเคราะห์ให้ไหลไปกับแม่น้ำ แต่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเก็บไว้ประดับบ้านหรือเก็บไว้ใช้ในปีหน้า
ทริปนี้เป็นอันสิ้นสุด แล้วพบกันใหม่