ลาวงการไปนานหลายปี
ชื่อของ “ตุ้ย เดลินิวส์” ยังเป็นเสมือนตำนานนักข่าวประจำกองปราบปรามที่หลายคนไม่เคยลืมบุคลิกท่าทางน่าเกรงขาม ไว้หนวดไว้เคราดูราวกับผู้กว้างขวาง มีส่วนทำให้เขาถูกมองเป็นนักข่าวมาเฟียในห้วงขณะนั้น
วันนี้ “ตุ้ย” ปริญญ์ คุณวัฒน์ ถอดเขี้ยวเล็บหันไปประกอบอาชีพส่วนตัวเปิดร้านขายต้นไม้อยู่ภาคอีสาน ทิ้งเรื่องราวในอดีตไว้มากมายสมัยยังโลดโผนอยู่ในวงน้ำหมึก
เขาเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดในครอบครัวที่พอมีฐานะ เรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ไปต่อก่อสร้างเปรมฤทัย รุ่น 2 วาดฝันจะเข้าวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ บังเอิญผู้เป็นย่าทำธุรกิจค้าผ้าไหมตรงกล้วยน้ำไทจึงจับเขาไปฝากเจริญ คันธวงศ์ เข้าเรียนคณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยกรุงเทพ ซะอย่างงั้น กว่าจะเรียนจบเจ้าตัวบอกว่า ยากเย็นลำบากแสนเข็ญพอสมควร เพราะมัวไปตีกับพวกช่างกลที่มาเรียนด้วยกัน เพียงแต่ตัวเองเป็นฝ่ายวางแผน ได้ลูกน้องเยอะไม่ได้ลงมือเอง
หลังจบการศึกษาแล้ว ยังไม่มีงานทำเป็นชิ้นเป็นอัน อาศัยอยู่กับปรีย์ คุณวัฒน์ พี่ชายที่เป็นลูกเขยแคล้ว ธนิกุล เจ้าพ่อเมืองไทย วนเวียนอยู่ที่บ้านเฮียเหลาย่านสุขุมวิทบ่อยครั้ง ไม่ได้คิดว่าเป็นเจ้าพ่อ หรือผู้มีอิทธิพล เนื่องจากครอบครัวดองกัน ปริญญ์เล่าว่า พี่ชายเป็นนักข่าวเสียงปวงชนแล้วย้ายไปทำเดลินิวส์ เวลาที่เขาหนีเที่ยวกลางคืนจะแอบขึ้นรถตระเวนข่าวของพี่ชายออกจากบ้านไปลงหน้าโรงพักทองหล่อ ท่องราตรียันเกือบสว่างก็ขึ้นรถตระเวนก่อนพี่ออกเวรกลับเข้าบ้าน
“บ้านผมเลี้ยงเด็กแบบเฮี๊ยบมาก ไม่ให้เที่ยวไหนเลย ต้องใช้วิธีนี้หนีออกจากบ้าน ไม่โดนใครด่า ขึ้นรถตระเวนข่าวจนวันดีคืนดี หัวหน้าข่าวเดลินิวส์มีจดหมายมาถามว่าจะให้เป็นนักข่าวเอาไหม ชีวิตผมจริง ๆ แล้วไม่ได้อยากเป็นนักข่าว ชอบเขียนแบบก่อสร้างมากกว่า ไม่มีงานทำก็ไม่จนหรอก ปู่ย่ารวย แต่เมื่อถูกชวนจึงลองไปทำดู” ปริญญ์เล่าถึงจุดเริ่มบนเส้นทางคนข่าวหนังสือพิมพ์สีบานเย็น
ตอนแรกปริญญ์ลงสนามไปฝึกงานฝังตัวอู่สถาบันนิติเวชวิทยา 1 เดือน อยู่ประจำโรงพยาบาลตำรวจอีกเดือน ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ให้คอยถ่ายรูปอะไรก็ไม่รู้ กลัวผีก็กลัว กระทั่งนักข่าวเดลินิวส์ประจำกองปราบปรามที่อยู่นานกว่า 10 ปีถูกย้าย ต้นสังกัดตัดสินใจส่งปริญญ์ลงไปประจำกองปราบอยู่สามยอดแทน ถือเป็นนักข่าวที่เด็กสุดในขณะนั้น มี พล.ต.ต.สงวน คล่องใจ เป็นผู้การ ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นสารวัตรแผนก 4 กอง 2
“ผมไม่เคยเป็นอะไรเลย ไปถึงก็เจอนักข่าวรุ่นเก่าใช้ยังกับหมา ไปโน้นไปนี่ ให้นั่งทั้งวันไม่มีข่าว แต่แม่งส่งกันฉิบหาย ผมโดนเดลินิวส์ด่ายับ ตอนหลังผมตัดสินใจยกเสื้อผ้าใส่กระเป๋าไปนอนกองปราบแม่งเลย เรียนรู้กินนอนอยู่ที่สามยอดนานพอสมควร อาศัยดูการทำงานของนักข่าวรุ่นพี่ที่อยู่ฉบับอื่นเกือบ 2 ปี แล้ววางแผนเอาเขาออก เพื่อเอาพวกตัวเองเข้ามา ตอนหลังเหลือแอ๊ด วิชเลิศ งามขำกับผม กุมฐานนักข่าวทั้งหมด แต่ผมไม่ได้เอาเปรียบใคร” ตำนานนักข่าวรุ่นเดอะเล่าวีรกรรมสมัยยังหนุ่ม
เขาบอกว่า นักข่าวรุ่นน้องเริ่มเข้ามาอยู่ใหม่ ต่างคนต่างหาข่าวเอามาแบ่งกัน เราเป็นคนเริ่มต้นหาข้าวกลางวันให้นักข่าวกิน แต่ไม่ได้ไถเงินตำรวจนะ ทำไม่เป็น เพราะตระกูลก็มีฐานะอยู่แล้ว แค่ช่วยให้ตำรวจหากับข้าวกลางวันให้สัก 2 อย่าง ข้าวเราเอาหม้อมาหุงเอง กินกันอยู่ในห้องนักข่าวเล็ก ๆ ที่กองปราบสามยอด
แต่พออยู่นานเลยกลายเป็นว่า เขาเป็นนักข่าวอิทธิพลทำตัวไม่ต่างจากเจ้าพ่อ เรื่องนี้ปริญญ์ปฏิเสธด้วยน้ำเสียงเรียบไม่มีทีท่าอารมณ์เสียว่า เป็นการพูดกันมากกว่า เราไม่ได้เป็นเจ้าพ่อ แต่เวลาเราไปพูดอะไรกับใคร ไปขอความช่วยเหลือใครก็รู้จักกันหมด อาจมีภาพบางครั้งที่ดูเกเร เสียงดัง เคยท้าชกกับตำรวจ เพราะตำรวจมาด่านักข่าว อีกอย่างคือ คนทำข่าว โดยเฉพาะข่าวตำรวจต้องเขี้ยว ต้องเก่งกว่าตำรวจ มีพรรคพวกเพื่อนฝูงพี่น้องเยอะภาพถึงถูกมอบเป็นแบบนั้น
ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่วายตกเป็นเป้าสายตาของนายพลใหญ่ เมื่อครั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เข้าไปนั่งเป็นผู้บังคับการกองปราบปรามแล้วเกิดเคืองกันเรื่องคำพูด ก่อนจะมีเหตุลอบวางระเบิดห้องวีรบุรุษนาแกเป็นข่าวดังกระฉ่อนสามยอด “ผมก็ไม่ได้เกี่ยว ผมเป็นนักข่าว หาว่าผมอยู่เบื้องหลังด้วย มาว่า ผมไปรับมือระเบิดมาวาง ที่ผ่านมาปากผมมันก็ไม่ดี ผมเคยถามเสรีว่า คนขับรถพี่มันไม่ได้อยู่กองปราบ เป็นตำรวจที่หน่วยอื่นมาเบิกเบี้ยเลี้ยงกองปราบได้ไง แล้วยังเอารถไปเติมน้ำกองปราบอีก แบบนี้ไม่ได้คนตรงแล้ว ทำให้เสรีเคืองหลายเรื่อง”
“หลังระเบิด ผมก็ถามเสรีว่า ตามปกติพี่จะกลับบ้าน 6 โมงเย็น แต่วันนั้นทำไมอยู่ถึง 2 ทุ่ม ในเมื่อรุ่งขึ้นมีกำหนดจะประชุมแผนพัฒนากองปราบ ทำไมต้องกลับดึกขนาดนั้น ก่อนระเบิด วันเดียว เสรีอ้างว่า ที่บ้านยังไม่ทำกับข้าว ผมก็ขำ ผมก็ถามต่อว่า ใครเป็นโทรสั่งให้แม่บ้านปิดประตูทั้งหมดตอนตี 5 ครึ่ง เพราะปกติแม่บ้านจะเปิดห้องตอนตี 5 เปิดประตูอ้าไว้ ขณะเดียวกันทุกวันพี่จะมา 6 โมงครึ่ง แต่วันนั้นมาหลังระเบิดไปแล้วตอน 8 โมงกว่าเกือบจะ 9 โมงจะเป็นไปได้อย่างไร พูดถึงเรื่องเวลาประชุมกัน อย่าไปคิดเรื่องระเบิด ผมก็ถามเอาประเด็นตรงนี้ ไม่ได้เถียงเรื่องระเบิด แค่ชี้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร”
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ปริญญ์ถูกคำสั่งย้ายด่วนไปเป็นนักข่าวประจำกรมตำรวจ มีผู้ใหญ่ในโรงพิมพ์ขอร้องเพราะเรื่องจะได้จบ ทำเอาเจ้าตัวงง ขนาดโฉบไปหน้ากองปราบยังถูกนายเวรนายพลคู่กรณีไล่ตะเพิดอย่างกับหมา พล.ต.อ.บุญชู วังกานนท์ ตอนนั้นเป็นผู้ช่วย อ.ตร.รู้ข่าวก็บอกให้ใจเย็น ไม่นานก็เกิดรัฐประหารยึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เสรีถูกย้ายพ้นสามยอด มี พล.ต.อ.บุญชู กลับมารักษาการผู้การกองปราบแทน นักข่าวหนุ่มใหญ่หัวสีบานเย็นถึงคืนถิ่นในสนามข่าวเก่าอีกครั้ง
ปริญญ์ทำข่าวอยู่กองปราบปรามนาน 16 ปี ผ่านคดีดังระดับชาติมาอย่างโชกโชน อาทิ แชร์แม่ชม้อย ทิพยโส คดีปลอมเครื่องราชอิสริยภรณ์ คดีเพชรซาอุดิอาระเบีย คดีเชอรี่ แอน ดันแคน รวมถึงคดีสังหารแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผอ.อสมท รู้สึกประทับใจการทำงานของผู้การกองปราบปรามหลายคน ตั้งแต่ บุญชู วังกานนท์ รุ่งโรจน์ ยมกกุล รังสิต ญาโณทัย คำนึง ธรรมเกษม และวชิระ ทองวิเศษ แต่มีเพียงอดีตนายตำรวจนาแกคนเดียวที่เขาไม่ประทับใจจนกลายเป็นไม้เบื่อไม้เบากัน
เก็บเกี่ยวประสบการณ์เป็นรุ่นพี่ใหญ่ของน้องนักข่าวกองปราบถึงวันอิ่มตัว ต้นสังกัดได้เรียกขยับให้เป็นรีไรเตอร์ เรียบเรียงข่าวอยู่ในโรงพิมพ์ ความรู้สึกตอนนั้น ร้องไห้เลย ไม่อยากขึ้น ชอบชีวิตนักข่าวภาคสนาม แต่เดลินิวส์ไม่ยอม เพราะเห็นอยู่นานแล้ว เป็นรีไรเตอร์ ทำไปทำมาเริ่มสนุก แถมกลางคืนไม่ต้องนอน แหกปากทั้งคืน ฟังวิทยุบี้นักข่าวรุ่นน้อง ก่อนก้าวใหญ่โตขึ้นนั่งเก้าอี้หัวหน้าข่าวอาชญากรรมเดลินิวส์
“ไม่เคยคิดมาก่อนจะเป็นหัวหน้าข่าว” ปริญญ์บอกความรู้สึก แต่เพียงแค่ 2 ปีเศษก็มีเรื่องมีราวใหญ่โตโดนคลื่นมรสุมลูกใหญ่ซัดให้ออกจากงานที่ตัวเองสะสมผลงานมากว่า 20 ปี เมื่อถูกพาดพิงไปมีเอี่ยวหุ้นสถานบริการแห่งหนึ่งแถวเหม่งจ๋าย พอประชา มาลีนนท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยไปตรวจแล้วมีการอ้างชื่อตุ้ย เดลินิวส์ ดูแลอยู่ ร่วมลงหุ้นถึง 14 ล้านบาท “ผมจะเอาตังค์ที่ไหนไปหุ้น ถามว่ารู้จักเจ้าของร้านมั้ย รู้จัก มันเคยมาปรึกษาจะเช่าที่เปิดสถานบริการ ผมนึกว่ามันบ้า ตอนหลังมาทำจริงแล้วชวนผมไปเที่ยวจะลดเปอร์เซ็นต์ให้ ผมเห็นเป็นแค่ซาวน่า ไม่ใช่อาบอบนวด ก็โอเค”
“สุดท้ายผมก็พังเพราะมัน ผมถ่ายเอกสารเป็นปึกพร้อมชี้แจงทั้งหมดเลยว่า มีหุ้นตรงไหน สู้ไปสู้มากลับมีคนในเดลินิวส์พยายามบีบผม เสียใจตรงที่มันไม่ได้เกี่ยวกับผม ผมก็ชี้แจงไปหมดแล้ว ทำไมไม่ฟังผม วงการนี้มันเป็นแบบนี้ วันดีคืนดีก็มีข่าวผมไปคุมโต๊ะบอล ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน ผมเล่นอะไรไม่เป็น คำว่าไม่เป็น คือไม่เล่น ไม่เคย ตั้งแต่เด็กจนโตป่านนี้ เล่นเป็นแต่ไพ่รัมมี่ สนามม้าไม่เคยเข้า บ่อนเข้าไปตอนตำรวจเข้าจับ กลับมาเหมารวมว่า ผมรู้จักหมด”
อดีตหัวหน้าข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ชื่อดังเปิดใจอีกว่า มีหนังสือพิมพ์บางฉบับไปลงข่าวพาดหัวใหญ่ แฉมาเฟียคุมรัชดาฯ อ้างเป็นหัวหน้าข่าวสีบานเย็น มีหนวด ขับรถเซฟิโร่ คุมรัชดาฯ ทั้งแถบ เสธ.ทุกเสธ.ต้องเกรงใจ สถานบริการต้องจ่ายที่ละ 5 หมื่นบาท “ผมเคืองนะ ผมเป็นคนบ้า ๆ ไม่มีพิษ มีภัยกับใคร มีแต่พวก จ่ายผมที่ละ 5 หมื่นแล้วเงินมหาศาลตรงนั้นไปอยู่ไหนล่ะ ถ้าจ่ายจริงสมัยก่อนรัชดาฯมีเป็น 100 ร้านเชียวนะ ผมเสียใจตรงนี้ แล้วยังดึงไปเกี่ยวกับคดีวางระเบิดห้องเสรีอีก โยงมาเกี่ยวกับคดีเผาซาวน่าอีกแห่ง ตอนแรกก็ไม่คิด อยากลงก็ไป กูบ้าดังดี พอวันออกจากเดลินิวส์เริ่มคิด พวกแม่งลงกันแบบนี้หรือเปล่า กูถึงต้องออก แต่ก็แค่คิด ไม่มีอะไรมาก”
วันสุดท้ายในอาชีพคนข่าว ปริญญ์จำได้แม่นว่า กำลังจะเข้าโรงพิมพ์ ยามรักษาความปลอดภัยไม่ให้เข้า บอกให้รออยู่ข้างหน้า สักพักมีผู้หญิงเอาใบลาออกมาให้เซ็น ให้เราลาออกเอง มีเงินชดเชยให้ 2 แสนกว่าบาท ด้วยความหมั่นไส้ปนโมโหเลยเซ็นลาออกเลย ปรากฏว่า ผู้ใหญ่โทรมาด่า หาว่าเราโง่หรือเปล่า ด่าเราเป็นควาย ซึมเลยวันนั้น เพราะคนอื่นช่วยป้องให้หมดแล้ว แต่เราดันไปเซ็นใบลาออกเอง เพราะเราไปทะเลาะกับเจ้าของ ไม่ยอมก็ไมได้ มีการมาขู่ด้วยว่า ไม่ให้บอกผู้ใหญ่ว่าเขาบีบให้ออก วิถีมันเป็นแบบนั้น
ตกงานกะทันหัน แต่ปริญญ์ก็ไม่กระเทือนเท่าใดนัก เพราะบ้านมีฐานะ อาเพิ่งเป็น ผอ.อสมท ตัวเองก็พอมีดอกเบี้ยเงินกู้ประทังชีวิต ลูกไม่มี เมียก็เลิก วัน ๆ ก็ไปนั่งจิบกาแฟอยู่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค นัดตำรวจ กับนักข่าวรุ่นน้องมานั่งคุยปรับทุกข์ ก่อนหันเหไปทำคอกวัวอยู่แม่สอด จังหวัดตาก สู้กับอิทธิพลในพื้นที่จนเกือบจะยิงกันตาย ตอนหลังเห็นว่า ได้ไม่คุ้มเสียก็ห่างออกมาทำร้านขายต้นไม้
“หน้าผมดูเหมือนคนบ้าดีเดือด แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ผมเป็นคนเรียบร้อยในสังคมอีกสังคมหนึ่ง ใครคบไปนาน ๆ ก็จะเห็น ไปกินที่ไหนผมก็จ่าย เวลา 20 ปีที่ทำข่าวมาถือว่าสนุก ถึงทุกวันนี้อายุจะ 60 ปีแล้วก็ยังสนุก ได้ทำงานต้นไม้ที่รัก แม้ตอนแรกคิดว่าจะไม่รอดแล้ว กิจการไม่ใหญ่ไม่โตก็พอเลี้ยงตัวเองได้”
เจ้าตัวทิ้งทายฝากถึงนักข่าวรุ่นน้องด้วยว่า อยากให้ทำงาน คือ ทำงาน แต่อย่าไปจดจ้องกับอนาคตในงานตัวนี้มาก เป็นนักข่าวก็เป็นไป แต่อย่าไปคิดว่า ต้องไปเป็นรีไรเตอร์ เป็นหัวหน้าข่าว ถามว่า “ทุกวันนี้ถ้าผมยังเป็นหัวหน้าข่าวก็ยังคงเป็นอยู่มั้ง มันจะขึ้นไปไหน ในเมื่อข้างบนก็ยังอยู่ครบหมด มันยาก”