“ผมมีความเห็นว่า ระบบสายตรวจเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของงานตำรวจ”

ผ่านประสบการณ์ในชีวิตราชการสร้างลูกศิษย์ลูกหาและลูกน้องไว้มากมาย

พล.ต.อ.อัยยรัช เวสสะโกศล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปรมาจารย์แห่งวงการสีกากีอีกคนที่ทุกคนยอมรับ เกิดอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แต่เริ่มต้นเรียนครั้งแรกจังหวัดสงขลากว่าจะจบชั้นประถมต้องย้ายไปหลายจังหวัด เนื่องจากบิดาเป็นข้าหลวงสรรพสามิตภาค 5

สุดท้ายโดนส่งเข้าโรงเรียนประจำที่อัสสัมชัญศรีราชา ก่อนเข้ามัธยม 7 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนกประจำอยู่บางปู สมุทรปราการ ไปจบชั้นมัธยม 8 เตรียมอุดมศึกษาสามพราน เป็นนักรักบี้ มีส่วนทำให้เข้าซ้อมกับทีมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กระทั่งสอบเข้าไปเรียนต่อเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 16 มีเพื่อนร่วมรุ่นล้วนเป็นตำนานประดับองค์กรสีกากี อาทิ พล.ต.อ.เขตต์ นิ่มสมบุญ พล.ต.อ.สมชาย วาณิชเสนี พล.ต.อ.สมชาย มิลินทางกูร พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ และพล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นต้น

รับราชการครั้งแรกตำแหน่งผู้บังคับหมวด สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองมหาสารคาม 2 ปีย้ายอยู่เมืองสุโขทัย ก่อนเป็นผู้บังคับหมวดโรงเรียนตำรวจภูธร 4 จังหวัดยะลา รับบทเป็นหัวหน้าครูฝึก จากนั้นขึ้นเป็นสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ สมัย พ.ต.อ.ยงยุทธ อินทบุหรั่น เป็นผู้กำกับ พ.ต.ท.เจริญ โชติดำรงค์ เป็นรองผู้กำกับ ทำคดีสำคัญไม่น้อย อาทิ  คดีลูกชายเจ้าของร้านลูกชิ้นศรีย่านถูกจับเรียกค่าไถ่ เป็นฝีมือคนงานเก่า

พล.ต.อ.อัยยรัชเล่าว่า เด็กถูกจับไปขังอยู่จังหวัดตราด คนร้ายโทรศัพท์มาเรียกค่าไถ่ เราดักฟังได้ยินเสียงเหมือนมันอยู่ที่ลานโบว์ลิ่ง แกะรอยจนตามไปจับได้ นอกจากนี้ยังมีคดีทลายขบวนการโจรกรรมรถรายใหญ่ภาคตะวันออก ยึดของกลางจำนวนมาก เรียกได้ว่า สมัยนั้นสืบสวนเหนือมีคดีเยอะพอสมควร

อยู่สืบสวนเหนือได้ 2 ปีลงเป็นสารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เผชิญเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พล.ต.อ.อัยยรัช จำแม่นว่า หลังจากรัฐบาลถูกโค่นล้มลง ประชาชนบางส่วนเห็นตำรวจเป็นศัตรู มีการเผาและทำลายสถานีตำรวจหลายแห่ง โรงพักชนะสงครามก็เป็นอีกเป้าหมาย ในฐานะสารวัตรปกครองป้องกันได้จัดกำลังตำรวจเป็นแนวป้องกันทางเข้าโรงพัก 3 ด้าน คือ ด้านถนนข้าวสาร ถนนบางลำพู และถนนหน้ากรมสรรพากร มีการตรึงกำลังทั้งสองฝ่ายตลอดวันตลอดคืน

“ตำรวจถูกกดดันอย่างมาก ถูกล้อมจนขาดอาหารและน้ำ ผมต้องประสานกับสารวัตรทหารเรือขอกำลังมาช่วยสนับสนุน กลุ่มผู้บุกรุกถึงสลายตัว โรงพักชนะสงครามจึงรอดพ้นจากการถูกเผาทำลาย นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการชุมนุม ผมยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำทางรถถังบุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยมีข่าวว่า มีการสะสมอาวุธภายในมหาวิทยาลัย แต่ผมยืนยันได้ว่า ไม่มี จึงตัดสินใจนำรถถังเลี้ยวกลับหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ไอ้ก้านยาวขึ้นตรงนั้น” อดีตนายพลวัยเกษียณย้อนเวลาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ชาติ

เมื่อบ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ พล.ต.อ.อัยยรัช หันมาพัฒนางานสายตรวจอย่างจริงจัง เนื่องจากเห็นว่าในพื้นที่มีชุมชนบางลำพู เป็นชุมชนใหญ่ และมีตลาดขนาดใหญ่ เกิดเหตุวิ่งราวทรัพย์เป็นประจำจึงจัดสายตรวจเดินเท่าทำหน้าที่เดินตรวจย่านบางลำพู กำหนดให้สายตรวจและสมุดพกกันเพื่อตรวจสอบการทำงาน ผลของการจัดสายตรวจนี้ทำให้คดีวิ่งราวทรัพย์หมดไปจากบางลำพู

“พอผมคุมสมุดเซ็นชื่อ ทีนี้ตำรวจสายตรวจกระดิกไม่ได้ แต่เดิมชอบแวบไปโต๊ะบิลเลียดบ้าง กลับบ้านบ้าง พอสายตรวจอยู่ ขโมยมันก็ไม่กล้า ใช้ระบบตรวจ เดินตามเซ็นสมุดเซ็น มันก็ไม่มีนักวิ่งราว จากที่ก่อนหน้าเกิดทุกวัน เป็นจุดเริ่มต้นของตู้แดงตามจุดล่อแหลม จุดชุมชนหนาแน่น บ้านบุคคลสำคัญ เป็นระบบควบคุมสายตรวจทั้งรถจักรยานยนต์และเดินเท้า ผู้บังคับบัญชาระดับสูงถึงขนาดให้สารวัตรปกครองป้องกันโรงพักอื่นในนครบาลมาดูงาน และนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย”

แนวคิดเรื่องตู้แดงนำร่องเป็นโรงพักแรกของเมืองไทย พล.ต.อ.อัยยรัชยอมรับว่า เกิดขึ้นหลังจากได้ไปฝึกร่วมหลักสูตรพิเศษ Jungle Warfare ที่ประเทศมาเลเซีย เป็นการฝึกรบในป่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เห็นตำรวจตระเวนชายแดนของมาเลเซียเดินรักษาฐาน มีตู้มาเซ็นลงสมุด เราก็มานั่งคิดว่า น่าจะนำมาใช้ทำในบ้านเราเลยทำตู้แดงขึ้น พิจารณาแต่ละที่แบ่งเป็นเขตตรวจ หมุนเวียนกัน 3 ผลัดๆ ละ 8 ชั่วโมง ทำให้คดีลดลง แต่เหนื่อยมาก เพราะต้องควบคุมคำสั่งตลอด เผลอไม่ได้ เผลอก็แอบเข้าโรงหนัง ถ้าไม่เหนื่อย ก็ไม่ได้ผล ต้องควบคุมให้อยู่ เพราะสายตรวจ ยกตัวอย่างมา 20 คน ต้องเป็นคนดีด้วย เอาใครมามั่วไม่ได้

 พอดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร 4 (ปัจจุบันคือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ) พล.ต.อ.อัยยรัช ได้สานแนวคิดที่ตัวเองริเริ่มสมัยหนุ่มเป็น “คู่มือสายตรวจ” จนได้รับการอนุมัติจากอธิบดีกรมตำรวจให้นำไปใช่ทั่วประเทศ และเมื่อขึ้นเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจได้มีการนำคู่มือดังกล่าวไปปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นับเป็นผลงานอันภาคภูมิใจของเจ้าตัว

“นายบางคนอาจไม่รู้ บอกว่าลูกน้องเหนื่อยอย่างโน่นอย่างนี้ แต่ทุกอย่างมันลงตัว ทุก 2 ชั่วโมง ต้องออกตรวจ รอบหนึ่งกี่ชั่วโมงต้องกำหนดไว้ ทีนี้นครบาลมีพวกไปตรวจเยี่ยม ตั้งด่าน มันก็เลยไปกันใหญ่ เพราะว่าสายตรวจ เวลามีม็อบ ก็เอาสายตรวจไป แต่ละท้องที่ก็เลยเหลือกำลังสายเดียว แต่ผมก็สู้มาหลายยก เรื่องถ้ามีม็อบ ต้องมีกำลังส่วนกลาง ไม่ใช่เรียกของโรงพัก ถ้าเรียกโรงพักมาก็สูญเลย เกิดผลกระทบต่ออาชญากรรมในท้องที่ ก็โชคดีที่โดยมากมีม็อบ แล้วไม่มีเรื่องใหญ่”

เส้นทางชีวิตรับราชการของเขา หลังจากเป็นสารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามแล้ว ได้เลื่อนเป็นสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจนครบาลพญาไท รองผู้กำกับการตำรวจนครบาล 13  ขึ้นผู้กำกับการ 1 ตำรวจทางหลวง รองผู้บังคับการทางหลวง เป็นผู้บังคับการตำรวจป่าไม้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร 4  ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรภาค 3) รองอธิบดีกรมตำรวจ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ประวัติครอบครัว สมรสกับรองศาสตราจารย์ ดร.พิมพันธุ์ เวสสะโกศล มีบุตร 2 คน ได้แก่ นายปวริศ เวสสะโกศล และพ.ต.ท.ดร.ปียรัช เวสสะโกศล สาวัตรแผนกสายตรวจ กองกำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ

พล.ต.อ.อัยยรัช ลำดับเรื่องราวถึงประสบการณ์ทำงานว่า สิ่งที่ได้มาแต่ละที่ ส่วนใหญ่ทำงานแล้วสำเร็จลุล่วง ตรงเป้าหมายที่เราทำ เช่น ตอนอยู่ทางหลวงทำงานประสบความสำเร็จก็ชื่นใจ สมัยก่อนเบิกยางต้อง 5 เส้น เจ้าหน้าที่ผู้ทำเรื่องเอาไปเส้น ถ้าอยากเอาเร็วต้องหยอดน้ำมัน ไม่อย่างนั้น 4-5 เดือนกว่าจะเบิกได้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราปรับใหม่ วันเดียวต้องเสร็จ แต่ละแห่งอยู่แค่ 2 ชั่วโมง เบิกเช้า บ่ายต้องได้ ก็ถูกต่อต้านพอสมควร

อดีตนายพลมาดเข้มเล่าอีกว่า พอไปเป็นผู้การป่าไม้ ปลุกให้ตำรวจตื่นตัวร่วมมือกันปราบปรามผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง สิ้นเดือนแต่ละชุดทำงานต้องมาแถลงในที่ประชุมว่า จับอะไรได้กี่ราย คนที่ไม่มีผลงานจะโดนจวกในที่ประชุม ตอนนั้นมี รองผู้กำกับต้องขอลาออก 2 นาย เพราะไม่มีผลงาน ไม่มีผลงานหลายเดือนจนต้องขอลาออกไปเอง อีกทั้งวางรากฐานให้หน่วยสอบสวนกลางเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การทำงานด้านอาชญากรรม ตำรวจทางหลวง เมื่อก่อนไม่มีชุดจับของผิดกฎหมาย รวมทั้งคดีต่างๆ ก็ปรับตั้งแต่อยู่ทางหลวง ให้ทำแบบมีชุดทำงานคดีอาญา แล้วก็จับได้เยอะ

 “ความจริงผมทำมาตั้งแต่อยู่นครบาล ระดมจับแข่งกัน ผมอยู่พญาไท แข่งกับสมเกียรติ พ่วงทรัพย์ สารวัตรใหญ่สำราญราษฎร์ ผมจับจนได้โล่ป้องกันปราบปรามอันดับ 1 ของกรมตำรวจ ผมยังเอาโล่ฝังไว้ที่กำแพงโรงพัก อยากให้ทุกคนเห็นผลงานด้านปราบปราม กระทั่งมีการรื้อทิ้งอาคารหลังเก่าเพื่อสร้างโรงพักใหม่ ไม่รู้ว่า โล่หายไปไหนแล้ว” ตำนานนายพลมือปราบฝีมือดีบ่นเสียดาย

อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทิ้งท้ายฝากข้อคิดว่า จากประสบการณ์ทำงานได้ประจักษ์ชัดเจนว่า ระบบสายตรวจเป็นปัจจัยสำคัญในการลดอัตราการเกิดคดีต่าง ๆ “ผมมีความเห็นว่า ระบบสายตรวจเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของงานตำรวจ เป็นงานที่สำคัญที่สุดของตำรวจ สอดคล้องกับหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร การป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นย่อมดีกว่า เพราะไม่มีความเสียหายใดใด และหากมีเหตุเกิดขึ้น งานสายตรวจก็สามารถสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวนได้อย่างดี”

เจ้าตัวเชื่อว่า ตำรวจยุคใหม่ควรให้ความสำคัญกับงานสายตรวจและพัฒนานำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตำรวจต้องตระหนักว่า หน้าที่ของตำรวจ คือตรวจ เป็นรากศัพท์ของคำว่าตรวจ และเมื่อตำรวจตรวจตราท้องที่รับผิดชอบได้อย่างดี ราษฎรย่อมได้รับอานิสงส์ เป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สมดังปณิธานของตำรวจไทย

อัยยรัช เวสสะโกศล !!!

 

 

RELATED ARTICLES