“ผมเป็นตำรวจคนแรกในเมืองไทยที่สามารถสอบสวนเสร็จแล้วส่งสำนวนสั่งฟ้องให้ศาลตัดสินได้ภายใน 7 วัน”

“คิดดูสิว่ามันฝังใจมั้ย ฝังใจฉิบหาย มันไม่ยุติธรรม ทีคนอื่นขี่ ทำไมไม่จับ ทำไมมันเจาะจงมาที่เรา มันน่าอะลุ่มอล่วยกันบ้าง” พ.ต.อ.วิศิษฐ์ นิมิตรกุล ย้อนความหลังขณะยังเป็นเพียงเด็กนักเรียนประถมนุ่งกางเกงขาสั้นขี่จักรยานอยู่ในตลาดบ้านนา จังหวัดนครนายก

แล้วถูกตำรวจจราจรเรียกจับข้อหาไม่เปิดไฟหน้ารถ

มันเป็นเหตุการณ์ฝังใจที่ทำให้เขาตัดสินใจมุ่งมั่นเป็นตำรวจหวังผดุงความยุติธรรมในสังคม เมื่อเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์แล้วไปต่อปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเบนเข็มเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยอบรมบรรจุลงตำแหน่งผู้บังคับหมวดเคลื่อนที่เร็ว กองกำกับการ 2 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ประจำพื้นที่ตาพระยา อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี

ใช้ชีวิตตำรวจป่าตามแนวชายแดนกัมพูชากว่า 2 ปีถึงย้ายเข้ากรุงเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง แล้วขยับเป็นรองสารวัตร กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้ ขึ้นเป็นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลคลองตัน รองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้า รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 6 เป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 5 และผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง กระทั่งเกษียณอายุราชการในปี 2546

ตลอดระยะเวลาการทำงาน พ.ต.อ.วิศิษฐ์ ถือเป็นนายตำรวจที่มีความชำนาญทั้งงานสอบสวนและสืบสวนควบคู่กันไป เฉกเช่น พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ต้นแบบของเขาที่ไว้วางใจดึงให้เขาไปเป็นคณะทำงานสอบสวนคดีสำคัญระดับประเทศมากมาย อาทิ คดีปลอมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คดีกบฏเมษาฮาวาย คดีฆาตกรรมแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ ไปจนถึงการติดตามเพชรซาอุดิอาระเบียระลอกสอง ทีมเดียวกับ พล.ต.ท.จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา พล.ต.ท.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน พ.ต.อ.เพชร สระทองอุ่น พ.ต.อ.ขจรศักดิ์ ปานสาคร และพ.ต.อ.มานิต ธนสันติ เป็นต้น

พ.ต.อ.วิศิษฐ์มองว่า การทำงานสอบสวนต้องควบคู่ไปกับงานสืบสวน คำนึงถึงพยานหลักฐานเป็นหลัก นักสืบสมัยก่อนบางคนเฮงซวย ไม่คำนึงถึงตรงนี้ ผู้ต้องหารับสารภาพก็ดีไป ไม่รับก็กระทืบให้รับ แต่หลักฐานไม่มี พนักงานสอบสวนต้องมาช่วยแก้ปัญหา ยุคสมัยพล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจึงพยายามผลักดันให้รองสารวัตรสืบสวนต้องมีพื้นฐานมาจากพนักงานสอบสวนด้วยจะได้รู้ว่า หลักฐานคืออะไรเพื่อเชื่อมโยงเป็นจิ๊กซอว์ให้ครบสมบูรณ์

ถึงกระนั้นก็ตาม อดีตนายตำรวจนักสืบมือสอบสวนคนดังเริ่มต้นงานกระท่อนกระแท่นพอสมควร เขายอมรับว่า ตอนวัยรุ่นเกเร สำนวนค้าง งานสอบสวนเละเทะดูไม่ได้ กรมตำรวจไม่ให้ออกก็บุญแล้ว “สำนวนต้องส่งถึงผู้บังคับการกองคดีพิจารณา ร.ต.ท.วิศิษฐ์ คนเดียวเซ็นสั่งฟ้องเองเลย เล่นเอาฮือฮากันทั้งกรม โดนขัง 3 วัน ก็มันไม่ทันแล้วจะทำไงได้ นายโสภณน่าจะแอบดูอะไรอยู่เบื้องหลัง เห็นแววบ้าของผมมั๊ง ถึงชวนไปอยู่สืบสวนใต้ ตอนแรกก็ทำอะไรไม่เป็น มีพี่อังกูร อาทรไผท คอยสอนงานนานปีเศษถึงแยกออกมาทำเอง สะสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ”

ผู้กำกับนักสืบรุ่นเก่าบอกว่า ประทับใจในหลายคดีที่ประสบความสำเร็จ แต่มีอยู่คดีหนึ่งที่ตามล่ากันเหนือจรดใต้ เป็นคดียิงเสี่ยหุ้นเสียชีวิตในซอยสุขุมวิท 71 ที่ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งสารวัตรสืบสวนโรงพักคลองตัน กำลังพักผ่อนอยู่กับครอบครัวที่ชายหาดพัทยา ผู้บังคับบัญชาติดต่อให้กลับไปด่วน เพราะคดีนี้กองสืบสวนใต้ไม่ยอมลงมาทำ อ้างพาหนะไม่มี มือปืนหนีขึ้นไปเชียงราย

“นายเรียกผมไปพบ บอกต้องเอาให้ได้ คุณจะเอาใครไปร่วมงาน พรุ่งนี้จะออกคำสั่งให้ทันที ผมนึกในใจฉิบหายแล้ว ขืนทำแบบนั้นต้องทะเลาะกับกองสืบแน่ อนาคตก็ต้องประสานกันอยู่ดี เลยโทรศัพท์หาผู้กำกับสืบสวนใต้ขอลูกน้องมาคนขึ้นเครื่องบินไปเชียงรายด้วยกัน ตามสะกดรอยเมียมันเป็นหลัก เพราะไม่รู้มันไปกบดานอยู่ที่ไหน”

 “ปรากฏว่าเมียมันย้อนมานครสวรรค์ พวกผมก็ต้องตามมาต่อ แต่มันมีมอเตอร์ไซค์ ผมต้องระดมกองสืบและโรงพักเอารถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ตีขึ้นมาช่วยสมทบนาน 10กว่าวัน ก็ยังไม่ได้เรื่อง คราวนี้พอตีสามของวันที่ 31 ธันวาคม เมียมันหอบลูกเข้ากรุงไปขนส่งสายใต้แต่ตั๋วเต็ม มันเลยขึ้นรถไฟลงใต้ พวกผมก็พากันขึ้นรถไฟตามประกบตลอดทางยาวถึงสตูลเช่ารถ ลงเรือกันอุตลุดกว่าจะได้ข่าวว่า มันแอบไปอยู่ในเรือประมงที่เกาะหัวมัน ใกล้เกาะลังกาวี” พ.ต.อ.วิศิษฐ์เล่าอย่างเมามัน

 “มาแล้วนี่ 20 กว่าวันถอนก็ถอนไม่ได้ นายก็จี้มา ตัดสินใจเหมาเรือตามไปจับได้ที่กลางทะเล ตัวมันเป็นผื่นเต็มไปหมด ฉลาดฉิบหาย อ้างกับพวกผมว่าเป็นเอดส์ ทำให้ไม่มีใครกล้าแตะต้องมาก พาขึ้นเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯให้นายแถลงข่าว หลายปีผ่านไปตอนผมเป็นหัวหน้าโรงพักร่มเกล้า มีผู้ชายมาหาบอกว่า นายจำผมได้มั้ยครับ ผมคุ้นหน้าแต่นึกไม่ออก มันเฉลยว่าที่นายไปเอามาจากเกาะหัวมันไงครับ อ๋อ มันเพิ่งพ้นคุก และบอกว่าจริง ๆแล้วไม่ได้เป็นเอดส์หรอก แค่กลัวพวกผมจะไปกระทืบมันเท่านั้นเอง”

อดีตนักสืบเมืองกรุงเล่าต่อว่า ได้ควักเงินช่วยเป็นค่ารถให้ไปกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี เพราะตอนนั้นกล่อมทั้งคืนให้รับสารภาพ เมื่อพลาดไปแล้ว โทษจะได้เบา แต่ถ้าไม่ทำก็สู้คดีกันไป “มันไม่ใช่มือปืนอาชีพ แนวทางการสืบสวนจะรู้ว่าจริง ไม่จริง ถ้าเป็นตัวจริงมันคงตายไปแล้ว ผมไม่เอาไว้หรอก พวกรับจ้างฆ่าคนเพื่อเงินอย่างเดียว สมควรมั้ย พวกผมจะฆ่าพวกห่านั่นมากกว่า”

พูดถึงเรื่องวิสามัญฆาตกรรม พ.ต.อ.วิศิษฐ์ดวลปืนเด็ดหัวโจรครั้งแรกในชีวิตเมื่อตอนเป็นรองสารวัตรสืบสวนใต้ วันนั้นมีคดีปล้นทรัพย์แถวพระโขนง คนร้ายยิงรองสารวัตรเจ้าของท้องที่บาดเจ็บ เขารับแจ้งเหตุจึงรีบเดินทางไปพร้อม ร.ต.อ.รังสรรค์ กาญจนรัตน์ (ยศขณะนั้น) นักสืบคู่หู พบคนร้ายหนีขึ้นไปหลบบนดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์ “ยังไงซะ คนร้ายมันก็ต้องมีปืนเพราะถึงขั้นยิงใส่นายตำรวจ ผมแค่เห็นเงาหัวโผล่มา 2-3 คนก็ตัดสินใจกับรังสรรค์กระหน่ำยิงใส่เลย ไม่ต้องรอให้มันยิงก่อน ปะทะกันดุเดือด คนร้ายตาย 3 ศพ เชื่อมั้ย มีนักข่าวจับภาพได้พอดี ผมเข้าไปขอร้องบอกอย่านะเพื่อน เราให้เกียรติกัน เราไม่เอาฟิล์มนาย แต่นายไม่ต้องเอาไปลงนะ เราไม่หักหาญน้ำใจกัน เขาก็ยอม เพราะนักข่าวกับตำรวจนักสืบสมัยนั้นมันสนิทกันมาก”

“ผมทำงานถือหลัก ไม่วิ่ง แต่นายเข้าใจ นายเป็นใครก็แล้วแต่ ถ้าเรามีหน้าที่รับผิดชอบ ผมเอางานเข้าแลก คดีจับมือปืนบนเกาะหัวมัน ก่อนหน้าผมถูกหวย 8 หมื่นกว่าบาท เก็บเมียไม่ให้รู้ แต่เอาเงินไปทำงานหมดจนไม่มีเหลือแถมเอาเงินที่บ้านมาอีก หมดไปเป็นแสน ก็ดีเหมือนกัน มันไม่มีเงินสืบสวน ต้องใช้เงินส่วนตัวตลอด อยากได้ผลงาน นายบอกเอามาให้ได้ ก็ตามสืบจนเอามาได้ ทุ่มสุดชีวิต ส่วนจะได้รับความดีความชอบได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งหรือไม่ก็แล้วแต่นาย ผมมีความสุข ผมก็ทำไป สุดท้ายมันถึงช้าไปหมด เกษียณแค่ตำแหน่งผู้กำกับ”

“ความสุขของผม คือความสำเร็จของคดี อย่างเกาะหัวมัน พอจบคดีแล้วเอาแผนที่ประเทศไทยมากาง เชื่อมั้ยว่า จากที่ตามมาตั้งแต่เหนือสุดลงไปใต้สุดเลย พาหนะใช้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นเกวียน ถามว่า สนุกมั้ย สนุก ได้ตัวแล้วมีความสุขฉิบหาย ไม่มีอะไรที่ดีใจเท่านี้ เมื่อเห็นงานสำเร็จ ฉิบหายช่างมัน ต้องการชื่อเสียง สะสมมาเรื่อยเดี๋ยวนี้นะ พูดกันเปิดอกเลย บางทีมีข่าวฆ่ากันตายออกทีวี ก็มานั่งคิดคนเดียว ถ้าเป็นกู กูสงสัยคนนี้โว้ย น่าจะมาสาเหตุนี้ มันแกะตรงนี้ ทำตรงนี้ หาคนนี้หรือยังกันว่ะ สายเลือดนักสืบมันยังเข้มข้นเหมือนเดิม เพียงแต่เราไม่มีโอกาสแล้ว”อดีตนักสืบมือดีระบายความรู้สึก

มีอีกคดีที่นายตำรวจวัยเกษียณประทับใจไม่แพ้กันเป็นคดีคนร้ายบุกชิงทรัพย์แล้วตัดนิ้วผู้เสียหายเพื่อถอดเอาแหวนทองหนัก 2 สลึงติดมือไป นับเป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญในสมัยนั้นมาก พ.ต.ท.ชัยรัตน์ มีปรีชา ดำรงตำแหน่งสารวัตรสืบสวนโรงพักคลองตัน ส่วน พ.ต.อ.วิศิษฐ์ เป็นสารวัตรสอบสวน เมื่อจับคนร้ายได้ก็เอาตัวมาสอบปากคำจนรับสารภาพ “ผมเป็นตำรวจคนแรกในเมืองไทยที่สามารถสอบสวนเสร็จแล้วส่งสำนวนสั่งฟ้องให้ศาลตัดสินได้ภายใน 7 วัน”

“ผู้เสียหายยังนอนอยู่ที่โรงพยาบาลเลิดสิน ผมรีบประสานอัยการ และผู้พิพากษาไปเผชิญสืบที่โรงพยาบาล บอกท่านครับคดีนี้มันอุกอาจ ต้องรีบตัดสิน เพราะคนไทยลืมง่าย ศาลท่านยินดี ผมเลยจัดสถานที่จำลองศาล มีคอกทนาย เอาโต๊ะมาทำเป็นบัลลังก์ เข็นผู้เสียหายมาเผชิญสืบ เอาผู้ต้องหามาพร้อมอัยการและทนายความ เสร็จสรรพทุกอย่าง ไปตอนเช้ากลับมาบ่ายสามโมง ศาลตัดสินจำคุก 25 ปี ผมชื่นใจมาก ใช้เวลาเพียงแค่ 7 วัน ไม่มีพนักงานสอบสวนคนไหนในนครบาล หรือเมืองไทยกล้าทำแบบนี้”

“ความจริงแล้ว ผู้พิพากษาท่านพร้อมจะมาเสมอ กรณีผู้เสียหายอยู่โรงพยาบาล การเคลื่อนย้ายลำบาก อ้างความจำเป็นถึงโทษทัณฑ์ที่คนร้ายทำไว้กับผู้เสียหาย ต้องทำให้สังคมเห็นว่าความยุติธรรมมีจริง ศาลตัดสินลงโทษรวดเร็ว ทุกคนก็สนใจ เพราะคดีเพิ่งผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ” พ.ต.อ.วิศิษฐ์ให้เหตุผล

แต่ใช่ว่าสร้างผลงานเลื่องชื่อแล้วจะได้ดิบได้ดี เพราะหลังจากความสำเร็จในคดีนั้น พ.ต.อ.วิศิษฐ์ พยายามปรับตัวเป็นพนักงานสอบสวนที่ขยันแข็งขัน ตั้งปณิธานว่าต้องทำให้ดีที่สุดให้ผู้บังคับบัญชาเห็น อดทนทำสำนวนหามรุ่งหามค่ำชดเชยเวลาที่สูญเสียเครดิตไปสมัยเป็นรองสารวัตร ผู้บังคับบัญชาบางคนเห็นก็เอ่ยปากชม แม้กระทั่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ท่านหนึ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเขาชัดเจน เพราะเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยผู้การท่านนี้เป็นสารวัตรใหญ่

“วันแถลงผลงานพิจารณาขั้นเงินเดือน เขาบอกผมว่า วิศิษฐ์ขยันจังนะ ทำดีมา 1 ปี ไปโรงพักทีไรก็เจอทุกที สำนวนไม่ค้าง โดยเฉพาะคดีตัดนิ้วก็ทำเสร็จภายใน 7 วัน บรรดานาย ๆ ฝากชมมา ขอบคุณนะ เวลานั้นผมหัวใจพองโต คิดว่าได้ 2 ขั้นแน่เพราะเราทำดีมาตลอด จนได้ยินคำว่า แต่ เขาบอกผมว่า แต่คุณปกครองรองสารวัตรอีกคนไม่ได้ 2 ขั้นคงจะยาก ผมตะโกนแจกกล้วยแล้วเดินออกจากห้องเลย ทำงาน 1 ปีฟรี ๆ แต่ทุกวันนี้เสียใจนะที่ปากไวไปหน่อย”

ผู้กำกับวิศิษฐ์บอกอีกว่า พอกลับมานั่งระบายกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง สมัยนั้น พล.ต.ท.วินิจ เจริญศิริ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อนปลอบว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวอั๊วจัดการให้ เฮียนั่งเฉย ๆ  จากนั้นเพื่อนคนนี้ก็ยกหูโทรศัพท์หา พล.ต.ท.วินิจรับปากเสนอให้ได้ 2 ขั้น “คิดดูล่ะกัน เพื่อนผมเสียเงินค่าโทรศัพท์แค่ 3 บาท ติดต่อกัน 5 นาที ยกหูโทรต่อหน้าผม ให้ผมได้ 2 ขั้นเลย  ผมทำงานทั้งปี กลับไม่ได้ ความยุติธรรมมันอยู่ตรงไหน แต่ผมไม่เคยท้อนะ”

สุดท้าย อดีตนักสืบมือสอบสวนมากประสบการณ์ฝากทิ้งท้ายถึงผู้บังคับบัญชาปัจจุบันด้วยว่า ต้องดูแลลูกน้องให้เท่า ๆ กัน สอบสวนก็ต้องดูแล สืบสวนก็ต้องดูแล ไม่ใช่ชงสืบสวน เพราะได้หน้าไปแถลงข่าวอย่างเดียว  งานจะสำเร็จได้ก็ต้องสอบสวนด้วย ยิ่งผู้บังคับบัญชาไม่เก่งสอบสวน เซ็นสำนวนอย่างเดียว ไม่มีโอกาสอ่าน บางประเด็น หลักฐานก็หลุดหายไปเฉย มันน่าเสียดาย ถ้าหลักฐานในชั้นสอบสวนไม่อยู่ในสำนวนเท่ากับสูญเปล่า

“พนักงานสอบสวนจะน้อยใจ ผู้บังคับบัญชาไม่ให้ความสำคัญ สื่อไม่ให้ความสำคัญ เมื่อนายไม่เอาใจใส่ พอส่งไปสอบสวนคดีก็เฉื่อย ไม่ตั้งใจ สำนวนก็ค้าง ดังนั้นต้องให้ความสำคัญทัดเทียมกับฝ่ายสืบสวน แค่นักเรียนนายร้อยจบมาเห็นภาพของงานนักสืบ ปราบปราม ก็อยากเดินแนวทางนี้ งานสอบสวนไม่มีใครอยากมา อีกหน่อยก็จะถูกอัยการดึงไป เมื่อนั้นตำรวจก็ล่มสลาย งานนักสืบก็จะส่งผลกระทบไปด้วยแน่นอน”  

วิศิษฐ์ นิมิตรกุล !!!

RELATED ARTICLES