“ผมจะเขียนหนังสือจนกว่าจะเขียนไม่ได้”

ดีตคอลัมนิสต์ปากกาคมแห่ง “มติชนสุดสัปดาห์” วิจารณ์ภาพศิลปะโป๊เปลือยจนได้รับฉายา “เกจินู้ด”

นิวัติ กองเพียร ชาวอำนาจเจริญ ที่สมัยนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี วัยเด็กค่อนข้างเกเร ไม่เรียนหนังสือ แต่มักเอาตัวรอดได้เสมอ สอบทำคะแนน 50 เปอร์เซ็นต์ผ่านทุกครั้งกระทั่งจบมัธยมต้นเลยมุ่งเข้ากรุงมาต่อโรงเรียนเพาะช่าง

นักวิจารณ์งานศิลปะฝีปากกล้าลำดับเรื่องราวว่า ตอนเด็กขี้เกียจเรียนหนังสือ คณิตศาสตร์เกลียดมาก เอาแต่วาดรูปเล่น เที่ยวเล่นขี่จักรยาน ที่ไปเรียนเพาะช่าง แค่อยากวาดรูป แต่ก็ไม่ได้เรื่อง เมื่อไม่ได้คิดเอาดีทางวาดรูปอยู่แล้ว เราต้องทำงานด้วย ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย ยากจน พี่น้องทุกคนต้องช่วยตัวเอง พี่สาวส่งให้ใช้เดือนละ 250 บาท

เขาถึงดิ้นรนหางานไปขอทำงานกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่นิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ทำตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายศิลป์ หัดตรวจปรู๊ฟตั้งแต่ตอนนั้น ทำให้ติดใจงานหนังสือ ประกอบกับเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากพี่สาวชอบซื้อนิตยสารบางกอก สกุลไทย ไปอ่านนวนิยายเลยติดมาจากตอนนั้น  “ผมอ่านหนังสือนะ แต่ไม่ชอบเรียนหนังสือ อยู่เพราะช่างก็ไม่ได้เรียนเท่าไหร่ สมัยก่อนไม่ต้องเช็กชื่อ ส่งแต่งาน เพื่อนจะคอยเขียนส่งให้ มาทำงานเต็มตัว พอเวลาสอบก็จะพยายามให้ตัวเองผ่านมันได้ เอาตัวรอดได้ เรียนจนจบ ทั้งที่เพาะช่างปีนั้นตกราว 11-12 คน” นิวัติเล่าความหลัง

ต่อมา ส.ศิวรักษ์ เลิกสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ เขาก็ตามไปอยู่ไทยวัฒนาพานิช ทำนิตยสารอีสานชัยพฤกษ์ รับภาระดูแลงานฝ่ายศิลป์ รวมถึงเขียนบทความทุกชนิด เน้นเรื่องศิลปวัฒนธรรม วิจารณ์ศิลปะ พาคนไปดูวัดวาอารามก่อนเข้าสังกัดประชาชาติรายสัปดาห์จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นิวัติบอกว่า การเมืองไทยคุกรุ่นมาตั้งแต่ปี 2516 เราเข้าไปอยู่แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ช่วยทำโปสเตอร์การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาทั้งหมดให้พวกเดินขบวน ต้องตื่นแต่เช้า กลางคืนไม่ได้นอน มี เสกสรร ประเสริฐกุล ธีรยุทธ บุญมี เป็นหัวคิดส่งมาให้เราเป็นหัวโจกวาดภาพ

ชื่อของนิวัติถึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ตอนนั้น พอเกิดเหตุการณ์นองเลือดในอีก 3 ปีถัดมา ทั้งหมดถึงต้องหนีกระเจิง “ผมไม่รู้จะทำอะไร เข้าป่าก็อยู่ไม่ได้ ความคิดสมัยนั้น ผมรักความเป็นธรรมอย่างเดียว ผมไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ผมถึงเข้าป่าไม่ได้ เพราะผมก็ไม่เห็นด้วยกับคอมมิวนิสต์ แต่เราก็ไม่เอารัฐบาลเผด็จการ ความคิดผมมันเป็นเสรีชน แต่ผมก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองไทย พวกรัฐบาลหาเรื่องจับหมด”

นิวัติเลือกเดินทางหนีออกนอกประเทศไปใช้ชีวิตต่างแดนในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คอยจัดการอยู่เบื้องหลัง ปรากฏว่า ได้เข้าไปอยู่กับติช นัท ฮันห์ ที่ยกตัวเองเป็นศาสดาคนหนึ่งของศาสนาพุทธ ต้องตื่นตี 4 ขุดดิน ปลูกผัก ทำสมาธิ นิวัติเลยบอกลาแดนน้ำหอมข้ามไปทำงานอยู่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษแทน ได้มีโอกาสทำหนังสือพิมพ์มิตรไทย นำข้อมูลข่าวสารจากสำนักข่าวบีบีซีไปแปลตีพิมพ์เป็นภาษาไทยให้คนไทยในยุโรปอ่าน มีนักเรียนไทยที่ลอนดอนช่วยกันแปล ช่วยกันเขียน ออกเดือนละเล่ม

ชีวิตที่ต้องหลบภัยการเมืองยุคมืดไปอยู่ต่างแดนของนิวัติใช้เวลานานราว 3 ปี มีโอกาสเก็บภาพงานศิลปะมากมายตามแบบสถาปัตยกรรมของยุโรป ก่อนกลับเมืองไทยหลังรัฐบาลประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรี 66/2523 คืนถิ่นเกิดสู่บทบรรณาธิการหนังสือเดินทางท่องเที่ยว และตั้งบริษัทตัวเองรับจ้างออกแบบทำหนังสือ รวมทั้งเปิดร้านอาหารสนุกนึกในย่านทองหล่อนาน 8 ปี มติชนถึงทาบทามให้ไปเป็นคอลัมนิสต์ และยังเป็นบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรมด้วย

เจ้าตัวบอกว่า เขียนวิจารณ์ศิลปะ ไม่ได้วิจารณ์ภาพนู้ด แต่คนมันลากไปใส่ เราสนใจศิลปะ มันเป็นความงามด้านศิลปะ ความงามของคนจะว่าไปแล้วกับความงามของหน้าบันโบสถ์ก็เหมือนกัน ใช้วิธีเดียวกันจับ ใช้วิธีเดียวกันเขียน ไม่ได้แตกต่างกัน เราก็เขียนไปตามนั้น วิจารณ์จากภาพถ่าย แต่คนลากไปใส่นู้ดเอง คงไม่รู้จะเรียกว่าอะไร เราไม่ได้เปลี่ยนแนวการเขียน เขียนแนวนี้มาตั้งแต่ประชาชาติ  วิจารณ์หนังอีโรติก เอาศิลปะมาจับในการวิจารณ์งานแต่ละครั้ง อย่างวัดก็ไม่ได้เน้นที่ประวัติ ไม่ได้สนใจว่าจะมีอายุยาวนาน 500 ปี ใครสร้าง ใครทำ ไม่บอก แต่จะดูว่า วัดนี้มีอะไรสวย คันทวย หน้าบันสวยไหม จิตรกรรมฝาผนังสวยหรือเปล่า

“พอผมหันมาวิจารณ์ภาพแนวผู้หญิง ทำให้มีคนสนใจตรงนั้น แต่มันไม่ใช่นู้ดหรอก คนมันเรียกนู้ดหมด ประเทศนี้มันเรียกผิด หนังอีโรติก กับหนังโป๊ก็คนละเรื่อง บ้านเราเรียกหนังโป๊หมด หนังดี ๆ แนวอีโรติก มีฉากเอากันนิดหน่อยมองไม่เห็นอะไรด้วยซ้ำ มันก็บอกหนังโป๊ ไม่ดู ปัญหามันอยู่ตรงนี้ ผมพยายามสื่อตรงนี้ให้คนเข้าใจ แยกให้ออกว่า มันมีอยู่ 3 ระดับ นู้ดก็อัน อีโรติกก็อีกแบบ โพโนกราฟฟี่ก็อัน ชัดอยู่แล้ว แยกมันให้ออก ถ้าเราจะกำหนดโพโนกราฟฟี่ คือ โป๊ นู้ด คือเปลือย ก็กำหนดมาซะ คุณก็ไม่กำหนด ราชบัณฑิตก็นั่งโด่อยู่เฉย ๆ แทนที่จะออกมาให้ประชาชนใช้ให้มันถูกต้อง”

อดีตคอลัมนิสต์งานศิลป์อธิบายต่อว่า ถ้าเราพูดเปลือย หมายถึงนู้ด ต้องเอาอย่างนั้น หรือคำว่า นู้ด คือ รูปเปลือย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ใช้คำว่าเปลือย เปลือยตรงไหนก็ได้ นู้ด ไม่ใช่ว่า ต้องเปลือยทั้งตัว นู้ดมือ นู้ดแขน นู้ดขาก็ได้ นู้ดไหล่ นู้ดหลัง นู้ดก้น มันได้หมด ก็เป็นรูปเปลือยไม่มีเสื้อผ้าปิดในร่างกายขอมนุษย์ก็เท่านั้นเอง ง่าย ๆ ไม่ได้ยากอะไรเลย ถ้าเป็นหนังโป๊ หนังเอ็กซ์ ก็บอกโป๊ แต่ถ้าเป็นดาราถ่ายภาพยั่วยุกามรมณ์ ก็อีโรติก มันชัดอยู่แล้ว แยกความหมายจากความรู้สึกที่คนมองได้รับ บางคนพื้นฐานเป็นกรรมกร ไม่ค่อยได้ดูรูปพวกนี้ รูปงาม ๆ ไม่ได้สนใจ ไม่รู้จักวีนัส เพราะเขาไม่ได้เรียน บังคับเขาก็ไม่ได้ ว่า เขาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็จะมาสนใจรูปของดารานางแบบตลาดล่าง ให้เขารับไป ไม่ได้เสียหายอะไร ก็ต้องมีให้เขารับ เพราะความรู้สึกเขาต้องมี ความต้องการของเขาก็อยากได้ เราก็ไม่ทำอันนี้

“ผมก็พยายามเขียนตรงนี้ว่า สิ่งที่ถ่ายกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแฟชั่น ผมก็เอาศิลปะจับเลยว่า ไอ้นี่มันยั่วยุกามรมณ์ นี่มันอีโรติก ไม่ได้ถ่ายเป็นแฟชั่นอย่างเดียว ชุดว่ายน้ำคุณมาแอ่นหน้าแอ่นหลัง ทำปากห่อยั่วให้เขาเกิดอารมณ์ทางเพศ ผมมอง ผมคิดแบบนั้น ผมก็มีสิทธิที่จะแสดงความเห็น คุณไม่เห็นด้วยก็เรื่องของคุณ คุณเห็นว่าสวย ก็แสดงความเห็นออกมา ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่มุมของเรามองว่ามันตั้งใจยั่วยุกามรมณ์ต่างหาก”

เกจินู้ดย้ำว่า ศิลปะเกิดจากเจตนา ศิลปินทุกคนช่างภาพมีเจตนาแล้วทีแรก จับกล้องก็จะมีเจตนาจะถ่ายรูปต้องให้ได้อารมณ์แบบนี้ งานออกมาได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง คนดูเป็นคนวิจารณ์ เป็นคนบอกว่า ดี ได้อารมณ์หรือไม่ สิ่งที่เราทำก็ทำแค่นี้ เพียงเสนอความคิดออกไป ดูแล้ว เราคิดว่า เป็นแบบนี้นะ แต่อย่าเชื่อเรา ต้องดูเอง แน่นอนบางคนไม่พอใจที่ไปวิจารณ์งานเขา ใครจะชอบ ไม่มีคนชอบหรอก เวลาถูกคนอื่นด่า แต่เราจะบอกว่า ไม่ได้วิจารณ์ตัวตนของเขา เราวิจารณ์รูปถ่าย

ผู้มากประสบการณ์งานศิลปะบอกอีกว่า จะทำอะไรให้ชัดเจน อย่าเอาศิลปะไปเคลือบ อย่าอ้างศิลปะ เหมือนรายการก็อตทาเลนต์ ไปบอกว่า ทำศิลปะ ทั้งที่ไม่ใช่ศิลปะ ศิลปะไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะทำได้เลย ถ้าจะให้ทำเดี๋ยวนั้นก็ต้องคิด ไม่ใช่ไม่คิด แจ็กสัน พอลล็อก ขายรูปราคา 4,000 ล้านบาท ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เอาแปรงจุ่มสีพาดไปบนผ้าใบ แต่ส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องพวกนี้ บ้านเราไม่เคยสอน สอนศิลปะตั้งแต่เด็กให้วาดรูป สอนทำไมวาดรูป ทุกคนวาดเป็นหรือ เรียนอยู่ห้องเดียวกัน 40 คน บางห้องวาดไม่เป็นสักคน ยังไปบังคับให้วาดอีก ต้องสอนให้เด็กรู้จักศิลปะ เด็ก ๆ มาต้องรีบพาไปพิพิธภัณฑ์ ไปให้เห็นความงามของทุกอย่าง ต้องไปสอนเขาว่า อันไหนงาม อันไหนไม่งาม พอดูมาก ๆ ก็จะรู้แล้ว วาดรูปมันต้องเกิดจากการอยากวาด โรงเรียนหนึ่งมีศิลปินกี่คน ศิลปากรสร้างคนปีหนึ่งเท่าไรให้เป็นศิลปิน เทียบกับจำนวนประชากรไทยกว่า 60 ล้านคน

 เขามองว่า แค่นี้ยังไม่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอนอีก แล้วชาติไหนเราจะรู้จักศิลปะ ลองไปญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือเกาหลี เด็กตัวเล็กเท่าอนุบาลบ้านเราอยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้ว รู้จักแวนโก๊ะแล้ว แต่เด็กบ้านเรารู้จักหรือเปล่า รู้จักเฟื้อ หริพิทักษ์ หรือไม่ ในทีวีก็ไม่มีสอน บางช่องเอาศิลปินที่ไหนมาสอนไม่รู้ เป็นเหมือนสากกะเบือออกมาชื่นชมว่า เก่งหมด รูปสวยอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ใช่ สอนวาดรูป สอนทำไม มันวาดได้ทุกคนที่ไหน เหมือนสอนถ่ายรูป สอนได้ไหม ก็สอนไม่ได้ แต่ต้องสอนให้เขาดูรูปว่า รูปสวยมันเป็นอย่างไร

ประสบการณ์ที่ผ่านมา นิวัติยอมรับว่า ทั้งหมดได้มาจากการที่ตัวเองอ่านหนังสือ จากวิธีคิดของคน ไม่เชื่อระบบโรงเรียน ส่วนจะถูกหรือ ผิดอีกเป็นเรื่องหนึ่ง เพราะตอนเด็กเรียนแต่วาดรูป แต่ไม่รู้อะไรเลย พิพิธภัณฑ์ไม่เคยไป เรียนมาก็ไม่เคยเห็นครูคนไหนพาเราไปดู หรือครูคนไหนพาไปดูวัด ครูคนไหนชี้อะไรงาม ไม่งาม ไม่เคย เราต้องหาเองหมด นี่แหละระบบการศึกษาไทย แต่จะทำอย่างไร ไม่ทราบ

ปัจจุบันนิวัติลาวงการน้ำหมึกในหน้ากระดาษหันไปเปิดเว็บไซต์ www.niwatkongpien.com วิจารณ์งานตามสไตล์เดิมของตัวเองผ่าน e magazine ในโลกไซเบอร์แทน หลังพ้นชายคามติชนมาเมื่อ 6 ปีก่อน “ผมลาออก เกษียณอายุ ผมเลิกอะไร ไม่เคยคา ถามว่า มีปัญหาอะไรไหม ก็มีบ้างตอนแกรมมี่จะมาซื้อหุ้นมติชน เขาหาว่า ผมเป็นพวกแกรมมี่มาซื้อหุ้น  เพราะผมสนิทกับวาณิช จรุงกิจอนันต์ แม้แต่วาณิช ก็ไม่ได้เกี่ยวกับแกรมมี่เลย ผมถึงบอก นี่คือ ความผิดพลาด ผมทิ้งมติชน ไม่กลับไปอีก จะเลือกคุยกับคนที่สนิทและเข้าใจเรา รู้ว่า เราไม่ใช่แบบนั้น”

เปิดเว็บไซต์เอาบทความแนวเก่ามาเขียนวิพากษ์วิจารณ์ภาพนู้ดแบบปากกาคมกริบเหมือนเดิม นิวัติว่าสนุกกว่างานเขียนในหน้านิตยสาร เพราะระบบของ e magazine สามารถตอบโต้กับผู้อ่านได้เลย เข้ามาทุกสัปดาห์มากกว่าจดหมายสมัยอยู่มติชนอีก ถือว่า ใช้ได้ กระแสดีกว่าเดิม แต่ก็ยังมีคนไม่เห็นด้วย มีมาด่าเฉพาะตอนแรก ๆ ด่าในสิ่งที่ไม่เอาข้อความที่เราเขียนมาพูดกัน พอเขียนวิจารณ์รูปโป๊ มาหาว่า เราเป็นคนหมกมุ่นทางเพศ

“เวลาผมตอบกลับ ผมก็จะบอกว่า ผมหมกมุ่นทางเพศ ผมอยากถามว่า ผู้ชายคนไหนไม่หมกมุ่นทางเพศบ้าง แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านพุทธทาสท่านก็บอก คนมันหมกมุ่นทางเพศทั้งนั้น และเป็นอันที่ละยากที่สุด มันเป็นปกติธรรมชาติของคน บางพวกมันดัดจริต ทำเป็นมือถือสากปากถือศีล ใครไม่อยากเอา ธรรมชาติของมนุษย์เกิดมาเพื่อจะสร้างเผ่าพันธุ์ ยอมรับว่า ถ้าวันไหนผมหมดความรู้สึกทางเพศ ผมก็คงเขียนไม่ได้ เพราะผมใช้อารมณ์ทางเพศเขียน เมื่อไหร่ผมเอาไม่ได้ ผมก็คงเขียนไม่ได้ ถ้าผมเห็นรูปแล้วไม่มีอารมณ์ ไม่รู้สึกเหี้ยอะไรเลย ผมก็ไม่รู้จะเขียนยังไง ทุกวันนี้ผมก็ยังอยากออกไปนั่งดูสาว ๆ ที่สยามสแควร์ พารากอน มันเป็นเรื่องปกติ”

 “ผมจะเขียนหนังสือจนกว่าจะเขียนไม่ได้ ผมหยุดไม่ได้ หยุดก็ คือ คงตาย” นิวัติตั้งปณิธานถึงบั้นปลายชีวิตตัวเองแบบนั้น

RELATED ARTICLES