“ถึงจุดนี้ผมก็สบายใจแล้ว ไม่มีคนที่จะจำผมในทางไม่ดี”

ถือเป็นอดีตนายพลตำรวจตงฉินภาพลักษณ์ดีคนหนึ่งในวงการผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ นักกีฬาแม่นปืนทีมชาติที่กวาดเหรียญรางวัลให้แก่ประเทศมากมาย

พล.ต.ต.บริบูรณ์ วุฒิภักดี อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลผู้ที่ถูกบันทึกลงเป็นตำนานผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือคนสุดท้าย และประเดิมตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 คนแรกของกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่

เขาเกิดที่จังหวัดสมุทรสงคราม พ่อแม่ทำสวนมะพร้าว เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัฒนานุวัตร ไปต่อมัธยมโรงเรียนบางคนที เมธีชุณหวันวิทยาลัยสมุทรสงคราม เป็นนักกีฬากระโดดไกลและกระโดดสูงชนะเลิศเหรียญทองของจังหวัด ก่อนย้ายเข้าเตรียมอุดมศึกษาแล้วสอบติดโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 18

เจ้าตัวรับว่า ตอนแรกไม่เชิงอยากเป็นตำรวจ แต่ชอบยิงปืน ชอบท่านอมร ยุกตะนันท์ ในฐานะที่แกเป็นนักกีฬายิงปืนทีมชาติ อ่านและศึกษาตามข่าวมาตลอด กระทั่งท่านมาดำเนินสะดวก ไม่ห่างจากบ้านเท่าไร ไปยิงปืนโชว์เลยไปดูด้วยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นตำรวจ ทั้งที่ตอนนั้นกำลังสอบเข้าวิศวะ จุฬาฯเหมือนกันถึงตัดสินใจทิ้ง เพราะนายร้อยตำรวจนัดสัมภาษณ์วันที่จุฬาฯ กำหนดสอบตรงกันพอดี

สู่รั้วสามพราน พล.ต.ต.บริบูรณ์ ยังไม่มีโอกาสแตะปืน แต่ไปวาดลวดลายในสนามฟุตบอล มายิงปืนจริงจังตอนจะเรียนจบโรงเรียนนายร้อยแล้ว “ผมเล่นฟุตบอลตลอด 4 ปี เขาเรียนยิงปืนกัน แต่ผมต้องไปซ้อมบอล เพราะผมเป็นหัวหน้าทีม เราไม่เคยชนะเลิศเลย พอปีผมถึงชนะเลิศแล้วได้ติดต่อกันมาอีก 6 ปี   ผมเคี่ยวรุ่นน้องอยู่กันจนมืดที่สนาม โค้ชกลับไปแล้ว เราก็ซ้อมต่อ ซ้อมเตะ เลยไม่มีเวลาไปยิงปืน มีโอกาสเข้าเรียนชั่วโมงแรก ครูสอนหลักการเป็นยังไง พอกลับบ้านเสาร์ อาทิตย์ ก็ลองกับพ่อยกมายิงแห้งๆ มาตลอดทุกอาทิตย์ พอเลิกฟุตบอลผมถึงเข้ามา เริ่มช้ากว่าคืนอื่นครึ่งปี ปลายปีมีแข่ง ผมก็ได้เหรียญทองของตำรวจ ของนักเรียนที่มีแข่งกันทุกปี ผมถือว่า เรียนช้ากว่าเขาเลยมุมานะกว่าคนอื่น”

บรรจุลงเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองลพบุรี ว่างเว้นจากการแข่งยิงปืน เพราะงานสอบสวนเต็มมือ แต่ก็ถือโอกาสใช้สนามยิงปืนละแวกนั้นฝึกซ้อมฝีมือ ทำงานอยู่ปีกว่าถูกได้รับคัดเลือกมาลงนครบาล พล.ต.ต.บริบูรณ์บอกว่า ตอนแรกอยากจะยับยั้งหาผู้ใหญ่ช่วย แต่ไม่มี ไม่ได้อยากมานครบาลเพราะไม่รู้จักใคร ประกอบกับเริ่มติดที่ลพบุรี เพราะรู้จักใครต่อใครแล้ว ทั้งศาล อัยการ แม้กระทั่งทนายก็รู้จักกันหมด ทำงานสบาย เราดูนครบาล เห็นรุ่นพี่ๆ แล้ว เครียดกันเหลือเกิน แต่ขอใครไม่ได้เลยย้ายมาอยู่โรงพักราษฎรบูรณะ

ปรากฏว่า “บัญญัติ ไทยภักดี” รู้ฝีไม้ลายมือเรื่องการยิงปืนได้เรียกตัวไปซ้อมที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลธนบุรี และลงแข่งกีฬาภายในกรตำรวจที่อำเภอทับกวาง สระบุรี  ชนะอมร ยุกตะนันท์ นักแม่นปืนต้นแบบที่เขาชื่นชอบในวัยเด็ก กรุยเส้นทางสู่การแข่งขันกีฬาเขตกวาด 6 เหรียญทองในนามเขต 10 กรุงเทพมหานครก้าวขึ้นทำเนียบทีมชาติ แข่งกีฬาซีเกมส์ 9 ครั้งคว้า 39 เหรียญทอง เอเชี่ยนเกมส์อีก 5 สมัยได้ 1 เหรียญทอง “ถ้าเป็นสมัยนี้น่าจะรวยนะ แต่สมัยก่อนไม่ได้อะไรเลย แถมโดนด่าด้วยว่า ไม่ทำงาน ทั้งที่ผมทำงาน ไม่เคยขาด ผมซ้อมก็ถนัดยิงแห้ง ตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย ผมก็อยู่กับบ้าน หรือไม่ก็ที่โรงพัก ก็ยกขึ้นมายิง” อดีตมือปืนทีมชาติย้อนความหลัง

พ้นจากโรงพักราษฎร์บูรณะไปเป็นผู้หมวดโรงเรียนนายร้อยอยู่ได้ 6 เดือน พล.ต.ต.บริบูรณ์เล่าว่า ท่านประเสริฐ รุจิรวงศ์ เลือกติดเอเชี่ยนเกมส์ ปืนสั้นทีมชาย ก่อนท่านรองเยื้อน ประภาวัตให้ย้ายกลับมานครบาล คราวนี้เราขอเลือกอยู่ใกล้ศาล เพราะสมัยราษฎร์บูรณะเดินทางไปฝากขังทีลำบาก ได้มาอยู่โรงพักพระราชวัง ทำหน้าที่สอบสวนมาตลอด ความจริงทำมาตั้งแต่อยู่ลพบุรีแล้ว

 “ผมทำงานด้านสอบสวนดีจนผู้ใหญ่เรียกให้เข้านครบาล เพราะผมเป็นคนละเอียด สำนวนส่งไปไม่ค่อยถูกแก้ ถึงขึ้นฉลาด ทองธารีบอกว่า คนนี้ทำสำนวนต้องดูหรอก ผมทำสำนวนละเอียด และทำเร็ว ฝากขังครั้งแรกสำนวนผมออกแล้ว อยู่ลพบุรีใครทำวิสามัญฯมาก็ให้ผมทำสำนวน ผมทำสำนวนวิสามัญฯเป็น 100 คดี แต่ก่อนนี้วิสามัญฯเยอะ ผมคอยเก็บสำนวนให้”

ขึ้นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลพระราชวังแล้วโยกเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวนโรงพักเดิมไม่กี่เดือน “วิฑูร ยะสวัสดิ์” คัดเลือกคนมีความประพฤติดีไปแทนคนที่ถูกร้องเรียนทั้งหลาย ชื่อของ “บริบรูณ์ วุฒิภักดี” กลายเป็นที่ฮือฮาเมื่อไปแทน “พจน์ บุณยะจินดา” ที่พระประแดง สมุทรปราการ เขาเล่าว่า ไปอยู่ไม่ทันไรพวกโรงงานมาร้องเรียนหน้าโรงพัก หาว่า มือปืนเหรียญทองมาทำอะไร ควรให้คนงานมีงานทำสิ อยู่ได้สัก 11 เดือน อึดอัด มีผู้ใหญ่ในกรมตำรวจมีอำนาจสั่งตำรวจภูธรมาก บีบให้ส่งเงินบ้าง ให้ไปเอาเหล็ก เอาอะไรมา เราไม่อยากทำ โรงงานตอนนั้นมีอยู่ 500 กว่าโรง ก็บอกผู้ใหญ่ว่า จะไม่ไปรบกวน เราไม่ชอบ พ่อแม่สอนมาอย่าให้เสียชื่อ

อดีตนักกีฬาเหรียญทองทีมชาติน้ำเสียงจริงจังว่า เราเป็นคนบ้านนอก อย่าให้ใครดูถูก เรายังต้องขอเงินบ้านใช้อยู่เลย พ่อก็บอกว่า อย่าไปรบกวนใคร บ้านเราพอมีพอใช้ ไม่ถึงกล้าบอกนายว่า ไม่มีให้หรอก และจะไม่อยู่นาน มีทางก็ไป ถ้าทำอย่างเขาไม่ได้ก็อย่าอยู่ดีกว่า ก่อนสมัครใจย้ายกลับนครบาลมาลงโรงพักสำเหร่ เจ้าอาวาสที่พระประแดงและชาวบ้านยังนึกว่า โดนรังแก พยายามจะหาผู้ใหญ่ช่วย ปรากฏว่า ย้ายได้ 3-4 วัน ตำรวจพระประแดงถูกยิงตาย ลูกน้องเก่ามาขอความช่วยเหลือให้ช่วยจับคนร้าย เพราะเห็นว่า ไม่มีใครทำงานแบบเราแล้วก็จับได้

ต่อมาย้ายเป็นสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เป็นหน้างานแรกที่ทั้งชีวิตไม่เคยสัมผัส

ด้วยความที่ไม่เป็น พล.ต.ต.บริบูรณ์พยายามศึกษาค้นคว้าตลอดแล้วขึ้นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม และที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ไต่เป็นรองผู้กำกับการนครบาล 4 ผู้กำกับการกลาง กองบังคับการตำรวจจราจร ผู้กำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ และรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ

 นายพลตำรวจวัยเกษียณหัวเราะเมื่อนึกถึงภาพความหลังสมัยรับราชการกลางเมืองหลวง เขาว่า รับผิดชอบดูแลงานสายตรวจ ปรับยุทธวิธีการตั้งด่านใหม่เพื่อปิดกันป้องกันการก่อเหตุอาชญากรรมนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับงานจราจรที่ตัวเองได้คุมอีกหน้า อยู่เป็นรองผู้การหลายจนได้เป็นนายพล ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเป็น ผู้การเหนือ คิดแค่ว่า เราอาวุโสอันดับ 1 แล้ว ที่ไหนก็ได้ ไม่เกี่ยง เพราะไม่ได้วิ่งเต้น มารู้ตอนที่อธิบดีพจน์ บุณยะจินดาให้ไปหาที่บ้านตอนตี 4 ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบ้านอยู่ไหน ต้องประสานผู้ช่วยนายเวรบอกทาง

“ผมไปกับภรรยา ถึงแล้วท่านบอกไม่มีอะไรหรอกจะให้เป็นผู้การเหนือ ผมขนลุกเลยนะ กลับมาบ้านนอนไม่หลับยันรุ่งเช้าไปทำงานเลย ชีวิตเราไม่เคยนึกว่าจะได้ ท่านบอกให้ทำงานเต็มที่ ไม่ต้องห่วงท่าน ไม่ต้องเอาอะไรมาให้ ท่านอธิบดีพจน์พูดแบบนี้ คอลัมนิสต์บางคนยังเขียนด่าผม หาว่า ผมเส้นใหญ่ ทั้งที่ผมไม่รู้เรื่อง ไม่เคยวิ่งเต้น”อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือระบายความรู้สึก

ยุคนั้น พล.ต.ต.บริบูรณ์บอกว่า วางนโยบายง่ายๆ แค่ 3 อย่าง คือ ให้มีจิตบริการ ทำงานยึดระเบียบและกฎหมาย การวางตัวให้รู้ว่า ควรหรือไม่ควร  เหมือนเราเป็นเด็ก เราก็ต้องไหว้ผู้ใหญ่ คนที่ยศสูงกว่า ข้าราชการปฏิบัติกับคนทั่วไป ให้มีจิตบริการ เรื่องระเบียบกฎหมายอย่าพลาดให้ยึดตรงนี้ไว้ ถ้าผิดแล้วคุกตะรางมาถามหา เพราะฉะนั้น ทั้งชีวิตราชการถึงไม่เคยโดนตั้งกรรมการ

เข้าช่วงผ่องถ่ายโครงสร้างใหม่ยุบกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ พระนครใต้ และธนบุรี ปรับเปลี่ยนเป็นกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9  พล.ต.ต.บริบูรณ์ จึงกลายเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือคนสุดท้าย และผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 คนแรกอย่างที่ว่าไว้ตอนต้น จากนั้นขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจนเกษียณอายุราชการ

“สมัยผมยิงปืน นอกจากไม่ได้ขั้นแล้ว อธิบดียังด่าว่า เอาแต่ยิงปืน ถึงจุดนี้ผมก็สบายใจแล้ว ไม่มีคนที่จะจำผมในทางไม่ดี ผมยังดีใจตอนผมเป็นผู้การเหนือ มีคนมาจากลพบุรีมาขอพบ นายเวรหน้าห้องบอกรู้จักตั้งแต่เป็น ร.ต.ต. เป็นคนที่ผมจับข้อหาพยายามฆ่า พ.อ.ทหารพลร่ม ติดคุก 12 ปี ออกมาหาผม บอกคิดถึง เห็นมีชื่อเป็นผู้การเหนือ เขาไม่โกรธผม ผมก็บอกว่า ผมไม่ได้แกล้ง ผมทำตามหน้าที่ ผมยังชื่นชมว่ามันจำเราได้ ผมถามบอกว่า เดือดร้อนอะไรหรือเปล่า มันก็บอกไม่เดือดร้อน สบายดี” พล.ต.ต.บริบูรณ์ว่า

ชื่อชั้นอาจจะไม่ใช่มือปราบ แต่ด้วยความเป็นมือสอบสวน พล.ต.ต.บริบูรณ์อยู่เบื้องหลังคดีดังมากมาย เจ้าตัวยกคดีสังหารแพทย์หญิงนิชรี มะกรสาร ที่ตัวเองขึ้นให้การศาลปากสุดท้ายมัดสุขุม เชิดชื่น อดีตสมาชิกวุฒิสภาสู่ศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิต “มีนายตำรวจบางคนแนะให้เปลี่ยนลำกล้องปืนแล้วพาไปชี้ที่ซ่อน เมื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ไม่ตรงกับหัวกระสุนที่ศพ พอขึ้นให้การ ทนายมันก็ถามผม อันนี้เป็นรายงานการตรวจกระสุนปืนที่ศพบอกว่าไม่ตรงกับอาวุธปืนใช่หรือไม่ ผมว่าใช่ ไม่ตรงปืนของกลาง ทนายบอกศาลได้โปรดช่วยบันทึกไว้ด้วย แล้วก็ถามอัยการ ซักค้านอะไรไหม ก็ไม่ซักค้าน ผมขออนุญาตให้การเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องอาวุธปืนของกลาง เพราะผมเป็นนักยิงปืนทีมชาติมา 20 ปี”

ศาลเป็นผู้หญิงอนุญาตให้การต่อ พล.ต.ต.บริบูรณ์อธิบายเป็นฉากอย่างละเอียดว่า ปืนของกลางกระบอกนี้ จับได้ภายหลังเกิดเหตุแล้วหลายวัน ผู้ต้องหาเป็นคนพาชี้เอง เป็นปืนตัวเอง แต่ปืนขนาดนี้สามารถถอดได้ทุกชิ้นส่วน เพราะเป็นปืนออโตเมติก ลำกล้องปืนของปืนกระบอกนี้ถูกถอดเปลี่ยน ศาลก็เชื่อคดีนี้ถึงปิดฉากอย่างสมบูรณ์ ทั้งผู้จ้างวาน ทั้งมือปืนกับพวกถูกดำเนินคดีหมด โดยเฉพาะสุขุม เชิดชื่น ที่โดนพิพากษาประหารชีวิต

อดีตนายพลที่สะสมประสบการณ์มายาวนานฝากข้อคิดผ่านผู้มีอำนาจต่างยุคด้วยว่า ตัวเองโตมาได้ขนาดนี้พอใจแล้ว หากเป็นสมัยนี้อาจเป็นรองผู้กำกับแก่ ๆ ยุคนี้มันอยู่ที่นาย และระบบที่ทำให้คนเก่ง ๆ บางทีถูกลืม พวกสายสอบสวนสมัยตนเป็นผู้การยังเป็น พ.ต.ท. ปัจจุบันก็ยังเป็น พ.ต.ท. ไม่ได้ขึ้นผู้กำกับอีกหลายคน ควรต้องให้ความยุติธรรมที่เป็นรูปธรรม ทั้งหมดเกิดจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่ผ่านงานสอบสวนจึงไม่เห็นความสำคัญของงานสอบสวน

“สมัยเก่าๆ เขาผ่านมาหมด ใครที่จะขึ้นมาได้ ต้องเคยผ่านงานสอบสวน เป็นผู้บังคับบัญชาการตำรวจนครบาล ก็ต้องผ่านผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เดี๋ยวนี้หายาก โตยาก ที่สำคัญ ถ้าไม่ได้โตจากงานสอบสวน งานก็ติดขัด สมัยก่อนใครจะเป็นสารวัตรใหญ่ต้องโต้คารมกับทนายความได้ ต้องปะฝีมือกับเขาได้ เดี๋ยวนี้ลำบาก”

บริบูรณ์ วุฒิภักดี !!!

RELATED ARTICLES