“ตำรวจที่ใช้งานสืบสวนสอบสวนแบบเรา รุ่นเก่า ๆ หมดสมัยแล้ว”

 

ดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ท.ชาญ วิมลศรี ตำนานมือปราบมาดสุขุมนุ่มลึกดุจสุภาพบุรุษผ่านแฟ้มคดีสำคัญมาไม่น้อย เริ่มต้นชีวิตเกิดอำเภอเมืองสุโขทัย หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม เบนเข็มเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อผดุงศิษย์วิทยา หลังจากนั้นสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 34 ได้แรงบันดาลใจสมัยอยู่บ้านเกิดมีนักเรียนร้อยตำรวจมาจีบพี่สาว เห็นการแต่งตัวแล้วเท่ ทำให้อยากเป็นตำรวจ

เข้ากรุงเรียนเก่งสู่เด็กกรุงเทพไม่ได้  ต้องไปเรียนพิเศษเพื่อติวเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจจนประสบความสำเร็จ ลงบรรจุเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อย ได้ “ไพฑูรย์ สุวรรณวิเชียร” ขณะนั้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลธนบุรีเห็นแววชักชวนมาอยู่กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลธนบุรี

“จริงๆ แล้ว งานสืบสวนสมัยก่อน มันไม่มีใครสอนหรอก แต่ว่า นักสืบมันต้องลักจำเอาจากรุ่นพี่บ้าง จากชั้นประทวนบ้าง ดูวิธีการอะไรต่าง ๆ ถีบตัวเองขึ้นมา นายเห็นว่า ผมทำงานดีชักชวนให้ไปอยู่กองสืบ คุมพื้นที่ 13-14 โรงพักฝั่งธนบุรี” พล.ต.ท.ชาญย้อนอดีต

ทำงานในยุค พ.ต.อ.เชาว์ ประสพสันต์ เป็นผู้กำกับคุมหน่วยดูแลลูกน้องเต็มที่ เขาปั่นผลงานให้กองสืบเยอะมากในเวลานั้น เป็นนายตำรวจรุ่นใหม่ไฟแรง ช่วงที่จอมโจร “ตี๋ใหญ่” เพิ่งถูกจับตาย  แต่ลูกน้องในแก๊งยังออกอาละวาดปล้นอยู่ มีหมายจับเป็นร้อย กรมตำรวจตั้งชุดทำงานออกเก็บกวาด ผู้หมวดชาญกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมจับตายลูกน้องคนสุดท้ายของโจรชื่อก้องร่วมกับสืบสวนเหนือคาโรงแรมอินทรา ประตูน้ำ

สะสมวิชาขยับขึ้นเป็นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม ก่อนขออาสามาเป็นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลหลักสองที่กำลังขาดตัว พล.ต.ท.ชาญเล่าว่า ทำงานเต็มที่ มีกี่หมายจับติดตามหมด ไม่มีค้าง ทำงานตลอดทั้งปีสถิติจับกุมมากกว่ากองสืบสวนทั้งกอง ชื่อเสียงเริ่มโด่งดัง นายทุกคนรู้จักหมด ท่านวรรณรัตน์ คชรักษ์ มาเป็นผู้การธนบุรีถึงขนาดขอดูตัว เพราะมีคดีมือปืนยิงที่หมู่บ้านเศรษฐกิจ เรียกเข้าไปพบบอกต้องเอาตัวมาให้ได้ในวันพรุ่งนี้

“เป็นการบ้านอย่างหนักเลย ผมไม่ได้นอนทั้งคืนเลย เช้าไปหิ้วมาให้ได้ ตั้งแต่นั้นมา ท่านวรรณรัตน์เรียกใช้งานตลอด ได้วิชาจากท่านมาเยอะ คือ ท่านไม่ได้สอน แต่เราจดจำเอา จำวิธีการสืบสวนอะไรต่าง ๆ ด้วยความที่ท่านเป็นคนละเอียด เป๊ะ มาก เราก็จำมาเลียนแบบ ใช้วิชาของท่านมาทำงาน เพราะผมเป็นเด็กไม่มีเส้น ไม่มีนาย อาศัยว่า เติบโตจากงาน  พอดีนายรู้จักเยอะ แล้วจังหวะท่านวรรณรัตน์มาอยู่กองปราบ ท่านก็ชวนผมไป  แต่ผมปฏิเสธ ขออยู่ที่เดิม” พล.ต.ท.ชาญว่า

ต่อมาเลื่อนเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ขึ้นเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ใช้ชีวิตราชการวนเวียนอยู่ในถิ่นถนัดฝั่งธนบุรี ปรากฏว่าถูกเด้งเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง แบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ได้สมัครใจว่ากันว่าเป็นเหตุผลทางการเมืองในพื้นที่ ถูกกล่าวหาฝักใฝ่การเมืองเลือกข้าง ทั้งแต่เป็นผู้กำกับการโรงพักต้องพบปะชุมชน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย แถมได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เป็นโรงพักมวลชนดีเด่นอีกต่างหาก

อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญบอกว่า ไปร้องเรียน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอความเป็นธรรม ได้รับคำตอบให้ไปก่อน เมื่อเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้บังคับบัญชาสั่งอะไรก็ต้องปฏิบัติตาม ลูกกำลังอายุ 9 เดือนอยู่ พูดอะไรไม่ออก เดือดร้อนหนัก พอไปอยู่เขาชัยสนได้เดือนเดียว ท่านอดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แวะมาเยี่ยมถึงโรงพักบอก “ ลื้อเป็นคนมีชื่อเสียงมาอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร”

            ในที่สุด พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เซ็นคำสั่งย้ายไปช่วยราชการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ทำงานอยู่ในจังหวัดยะลา ร่วมงานกับนายตำรวจมือดีมากมายที่มาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ ท่านอดุลบอกเอาผมมา เพราะเห็นเป็นคนเก่ง ทั้งงานสืบสวน งานสอบสวนด้วย ตำรวจใต้อ่อนมา อยากจะให้มาช่วย ตอนนั้นมี รณศิลป์ ภู่สาระ เก่งงานสืบสวน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ขาดงานสอบสวน ผมได้ทั้งสอบทั้งสืบด้วย อยากให้ผมเอารูปแบบของนครบาลไปถ่ายทอดตามโรงพักชายแดนภาคใต้ เพราะตอนนั้นแย่มาก คดีความมั่นคงเป็นศูนย์เลย ยังทำไม่เป็นกัน”

พล.ต.ท.ชาญลงมือประชุมร่วมหารือแนวทางยกเอาตำราสมัยอยู่ภาษีเจริญกวาดล้างพวกแก๊งนักเลง มือปืนแถวบางแค ตามแนวคิดว่า ถ้าสามารถทำประวัติคนร้ายที่ก่อเหตุในพื้นที่ได้ เวลามีเหตุเกิดจะง่ายต่อการติดตามตัว ผู้เสียหายไม่ต้องไปดูรูปถ่ายที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร แต่มาดูที่หน่วยเราได้เลย เป็นโมเดลไปนำเสนอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลานั้นคอมพิวเตอร์กำลังพัฒนาระบบ ออกแบบเวลาคนร้ายก่อเหตุใน 3 จังหวัด หมู่บ้านไหนให้ใช้พระราชกำหนดปิดล้อม ตรวจค้น นำตัวเข้าศูนย์ซักถาม แยกห้องซักประวัติเพื่อขยายผลเก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด

จัดระบบอยู่ 2 ปี เขาบอกว่าเป็นรูปเป็นร่าง รู้ความเคลื่อนไหวทั้งหมด อำเภอไหนมีใครเป็นคนร้าย เริ่มรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับ ตั้งรางวัลนำจับเป็นล้าน ทำให้ตำรวจมีกำลังใจ “ผมมีหน้าที่อย่างเดียว พอมีระเบิดขึ้นมาปุ๊บ ผมก็เข้าตรวจที่เกิดเหตุ ให้พิสูจน์หลักฐานเก็บปลอกกระสุน เก็บสะเก็ดระเบิด เก็บทุกอย่าง เพราะว่าสิ่งนี้จะเป็นซิกเนเจอร์ของมัน สมมติว่า คนพันระเบิด ใช้มือซ้าย มือขวา มันจะมีซิกเนเจอร์ของมัน ให้เก็บหมดเลย พิสูจน์หลักฐานสามารถเก็บหลักฐานได้หมด รู้เลยว่า ระเบิดลูกนี้ใครเป็นคนประกอบ ปืนกระบอกนี้เอามาจากไหน ใครยิง”

คลุกคลีพื้นที่เสี่ยงภัยพักใหญ่จน พ.ต.อ.นพดล เผือกโสมณ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ขณะนั้นพลาดเหยียบกับระเบิดขาขาด พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ส่งให้เขาไปทำหน้าที่แทน เจ้าตัวรับคำบัญชาเล่าบรรยากาศว่า นราธิวาสสถานการณ์รุนแรงมากเมื่อปี  2549-2550 นายสั่งก็ไปทันที รายงานตัวเสร็จไม่รู้ประเพณี แต่งชุดขาวนั่งกินข้าวเจอระเบิดหน้าร้านต้อนรับเลย ลูกน้องต้องมาเตือนว่า นายครับที่นี่แต่งเครื่องแบบไม่ได้ ตั้งแต่นั้นไม่แต่งเครื่องแบบคุมพื้นที่อีก

เป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส 4 ปี อยู่กับสมพงษ์ ชิงดวง นันทเดช ย้อยนวล ทำหน้าที่คุมงานสืบสวน จับมือนอนด้วยกัน เอาหัวชนกันทุกวัน คดีเกิดรีบเข้าที่เกิดเหตุหาตัวคนร้าย รวบรวมหลักฐานออกหมายจับส่งให้นันทเดช ย้อยนวล ติดตามตัว  ขณะที่สมพงษ์ ชิงดวง คอยตั้งด่านเข้มงานป้องกันจนนราธิวาสปลอดสถานการณ์ความรุนแรง

อยู่จนนายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ เสนอทวีคูณให้เจ้าหน้าที่ทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งให้เขาเลื่อนเป็นผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจจังหวัดชายแดนใต้คนแรกของหน่วยที่เปิดตำแหน่งใหม่ พล.ต.ท.ชาญบอกว่า ทหารแฮปปี้มาก เวลาคดีเกิดเราจะอยู่ตลอด ก่อนหน้าไม่มีใครนั่งหัวโต๊ะ สไตล์การทำงานของเรา คือ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองต้องมาหมด ระดมความคิดร่วมกับพิสูจน์หลักฐาน เวลาพรีเซนท์ไม่ต้องสั่งใคร เพราะรู้หน้าที่กัน

แค่ปีเดียวเพื่อนชวนคืนกรุงเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 นั่งไม่นานมีคนจะมาเอาเก้าอี้อีก ขอกลับถิ่นเก่าฝั่งธนบุรีเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7 ก่อนได้อาวุโสขยับเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค  6 ลุยตรวจโรงพัก 365 สถานีหมดทุกพื้นที่ นำเอาโครงการสต๊อปวอล์กแอนด์ทอล์กสมัยอยู่โรงพักเพชรเกษมไปทำ เพราะเป็นโมเดลที่ได้รับรางวัลไปใช้ในพื้นที่ภูธรภาค 6 ปรับพฤติกรรมตำรวจภูธรที่ฝังรากกันมานานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

เขาทำป้อมตำรวจให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ทุกแห่งต้องมีห้องน้ำสะอาด รองเท้าแตะวาง เดิน กินนอนได้ มีอาหาร กล้อยแขวนไว้ ให้พวกนายร้อย 53 ไปอยู่ มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวรมาทำวิจัยเป็นเรื่องเป็นราว  “ตอนนั้นดังมาก ผมบอกว่า คนที่เกลียดเรา เกลียดตำรวจมากที่สุดคือ ประชาชน คุณทำยังไงให้ประชาชนรัก ก็ต้องใช้วิธีการนี้ เวลาออกตรวจต้องหยุดพูดคุย เมื่อก่อนคุณไม่เคยไปไหว้ประชาชนเลยใช่ไหม เข้าไปทัก ไปไหว้ ถามไถ่ทุกข์สุข ชาวบ้านจะบอกหมด ใครดูดกัญชา ใครพวกนักเลงโต พกปืน เป็นข้อมูลจับได้หมด ตัวเลขสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

กระทั่ง พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมรุ่นขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เขาถูกชวนกลับมาช่วยงานในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทำข้อมูลรวบรวมคดีค้างเก่าตามโมเดลที่ทำสำเร็จสมัยอยู่ภาคใต้ สร้างโครงข่ายให้เห็นเครือข่ายอาชญากรรมในการติดตามตัวผู้กระทำความผิด ก่อนได้รับความไว้วางใจให้ไปรักษาการผู้บังคับการกองปราบปรามที่กำลังมีปัญหาภายในร้อนระอุ

            “ผมไม่เคยอยู่กองปราบปราม ไม่เคยอยู่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อยู่นครบาล 23 ปี ไม่รู้ว่าประเพณีของสอบสวนกลางเป็นอย่างไร ประจวบเหมาะกำลังมีปัญหา ท่านฐิติราชให้มาช่วยแก้ เนื่องจากเห็นว่า กองปราบปรามเละมาก ไม่มีจับคดีอะไรเลย ผมรับปากว่า ช่วยได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้นะ  เอาความรู้ความสามารถเท่าที่ผมมีอยู่ไปทำตรงนั้นเลย สำนวนการสอบสวน ค้างอยู่ 4,000-5,000 คดีถูกร้องเรียนมากเหลือเกิน งานสืบสวนก็ต้องทำ งานข้อมูลก็ต้องทำเช่นเดียวกับงานสอบสวน”

เจ้าตัวไล่จี้ทุกวันเรียกพนักงานสอบสวนเช็กคดีค้างเร่งให้ดำเนินการทั้งหมดสามารถลดจำนวนสำนวนค้างได้ เพราะก่อนหน้าไม่มีใครทำ โยนทิ้ง ปล่อยเละเทะจนค้างมาก  พล.ต.ท.ชาญยอมรับว่า หนักใจอยู่ เรียกนายตำรวจที่มีฝีมือมาคุย มาขอร้องให้ช่วยกัน มีคดีใหญ่เรานั่งหัวโต๊ะ ถ้าคดีเล็กน้อยปล่อยให้ทำกันเอง ทุกคนต้องช่วยกัน ประชุมงานสอบสวนต้องบอกว่า ทุกคดีที่หมกไว้ ดำไว้ ไม่ตั้งกรรมการ แต่ต้องมารายงานให้ทราบ ว่า คดีนี้ขาดอะไร รักษาการตรงนั้นทุกคนแฮปปี้ ผู้กำกับยิ้มหมด คดีออกเยอะ มีแถลงข่าวรายวันกู้ชื่อตำรวจกองปราบปรามกลับมา เมื่อทุกคนตั้งใจทำงาน

รักษาการเก้าอี้ผู้บังคับการปราบปรามได้ประมาณ 2 ปี ถูกวางตัวไว้เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางแทนเพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมรุ่นอย่าง พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ สุดท้ายอกหักถูกตีตก  เขาเข้าใจว่า อาจไม่ใช่เด็กนักการเมือง  ทั้งที่ต้องขึ้นผู้บัญชาการก่อหน้า ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งแคนดิเดตตลอด แม้กระทั่งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แต่จะถูกตีตกว่า มีเรื่องนั้นเรื่องนี้ เอาชื่อแขวน

         “ตอนนั้นไม่ได้ถอดใจ  เพราะความมุ่งมั่นของเรามีอยู่แล้ว ผมมาแบบไม่มีเส้น อาศัยทำงานอย่างเดียว เพราะฉะนั้นใครจะมาล้มล้างความคิดของผมไม่ได้ ไปถามน้อง ๆ ได้เลยว่า ผมทำงานไม่มีเหน็ดมีเหนื่อย ไม่มีใครที่จะสามารถมาตำหนิการทำงานได้ เวลาผมไปบรรยาย ผมไปบรรยายเอง วันหนึ่งได้ 2 โรงพัก คิดดูสิเกือบ 300 โรงพักสมัยอยู่ภูธรภาค 6 ใช้เวลาแค่ปีเดียว” พล.ต.ท.ชาญระบายความในใจก่อนได้โบนัสปีสุดท้ายของชีวิตราชการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“ไม่เสียใจนะ ผมทำงานมา รับใช้ชาติมา ผมบอกตรง ๆ ผมทำงานเต็มที่ ทำงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาก สามารถคุยได้เลยว่า ผมทำเยอะ แต่ว่า ผมไม่ใช่ตำรวจที่ชอบประชาสัมพันธ์ตัวเอง คนที่อยู่กับผม ไปถามดูได้เลย โดยเฉพาะที่ชายแดนใต้ว่า ผมเป็นคนยังไง ไม่ต้องกลัว มีระเบิดปุ๊บ ผมไปที่เกิดเหตุทันที”

ถามว่า ประสบการณ์ทั้งหมด อยากจะฝากอะไรถึงตำรวจรุ่นใหม่ๆ บ้าง พล.ต.ท.ชาญมองว่า คงฝากยาก เพราะว่าแนวทางการทำงานสมัยปัจจุบันกับสมัยก่อนคนละแนว อดีตต้องใช้ความละเอียด เรียกว่า ทักษะเฉพาะตัว ความละเอียด ความอะไรต่าง ๆ แต่ปัจจุบัน ตำรวจความขยันหมั่นเพียรไม่ค่อยมี อาศัยเทคโนโลยีอย่างเดียว  คนละฟิวส์ ตำรวจสมัยนี้ใครที่เก่งเทคโนโลยีมีโอกาสที่จะขึ้นสูงได้ เพราะคู่แข่งจะมีน้อย

“ตำรวจที่ใช้งานสืบสวนสอบสวนแบบเรา รุ่นเก่า ๆ หมดสมัยแล้ว  เพราะฉะนั้นฝากไม่ได้ งานสืบสวน ต้องเป็นไปตามคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันยังดีใจที่หลายคดีงานสืบสวนระบบใช้ไอทูยังใช้ได้อยู่ แล้วมีอาจารย์ที่เก่งๆ คอยถ่ายทอดอยู่”  อดีตนายพลนักสืบฝีมือดีมองทะลุปรุโปร่ง

ชาญ วิมลศรี !!!

 

 

RELATED ARTICLES