อดีตจเรตำรวจคร่ำหวอดอยู่ในวงการนักสืบเกือบตลอดชีวิตราชการ
พล.ต.ท.สมบัติ มิลินทจินดา ชาวอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี พ่อทำงานเป็นวิศวกรรถไฟ แม่ค้าขาย ก่อนย้ายเข้ากรุงเทพฯ เนื่องจากพ่อเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัว เพราะลพบุรีสมัยนั้นเป็นชุมโจรสารพัดเสือก่อคดีจี้ปล้นเป็นประจำ
หลังจากจบชั้นมัธยม 3 เข้าสอบโรงเรียนเตรียมทหารเลือกเหล่าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 35 เหตุผลเพราะสมัยเด็กอยู่ในชุมชนย่านบางซื่อ เต็มไปด้วยยาเสพติด มีการพนัน ตำรวจมาไล่จับกันทุกวัน รู้สึกว่า ดี มีอำนาจสามารถจับคนได้ ทำให้ชอบตำรวจตั้งแต่ตอนนั้นจนสมปรารถนาไปบรรจุโรงพักสมเด็จเจ้าพระยาเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปราม
ปีแรกตั้งใจทำงานหนักมาก ขยันจนได้ 2 ขั้นก่อนขยับลงมาทำหน้าที่สืบสวนตั้งแต่ตอนนั้น พล.ต.ท.สมบัติเล่าว่า เริ่มทำงานนอกเครื่องแบบ ชอบจับโน่น จับนี่ ตัดสินใจไม่ไปงานสายอื่นนอกจากสืบสวนอย่างเดียว อาศัยครูพักลักจำจากนายตำรวจรุ่นพี่ ฝั่งธนบุรีเวลานั้นไม่ค่อยมีเหตุอุกฉกรรจ์มากมาย ไม่ได้ไปสัมผัสกับกองสืบ หรือกองปราบปราม ทำงานในพื้นที่อยู่หลายปี กระทั่งเริ่มรู้จักรุ่นพี่ที่มีความสามารถหลายคน อาทิ สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ปรีชา ธิมามนตรี ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง
พล.ต.ท.สมบัติบอกว่า เป็นเพราะกองสืบสวนเหนือ สืบสวนธน เข้ามาหาข้อมูลในพื้นที่ถึงได้ประสานงานกัน ทำอยู่สมเด็จเจ้าพระยาเป็นรองสารวัตรสืบสวนนานถึง 12 ปี ในพื้นที่รู้จักหมดไม่ว่าใครไปใครมา ด้วยความที่อยู่นานชำนาญพื้นที่ เวลามีเหตุเกิดละแวกนั้นตจะเรียกเราไปช่วย เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้งานจากกองสืบสวนที่มีเทคโนโลยีและเทคนิคมากกว่าโรงพัก “เราเลยรู้ว่า เราไม่ใช่นักสืบสมัยใหม่ ไม่เหมือนปัจจุบันที่จะมาเดินหาข่าวไม่มีแล้ว เพราะสมัยนั้นมีแค่แพ็กลิงก์ กับโทรศัพท์มือถือตัวใหญ่เป็นเครื่องมือเฉพาะทางที่มีอยู่แค่นั้น การที่เป็นกองสืบไม่ธรรมดา ทำให้มีความคิดอีกขั้นว่า เราต้องไปอยู่กองสืบดีกว่า”
สุดท้ายไม่ได้ไป แต่ได้เลื่อนขึ้นเป็นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลคลองสานคุมพื้นที่ทางน้ำไล่กวดจับการพนันในเรือ ปีเดียวโยกเป็นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางเสาธง เพราะผู้ใหญ่เห็นมีคดีเยอะ ลวงแท็กซี่ไปจี้ ไปปล้นฆ่าเอาศพมาทิ้ง เจ้าตัวเล่าอีกว่า ทำงานร่วมกับกองสืบสวนธนบุรีบ่อยครั้ง โดยเฉพาะรณศิลป์ ภู่สาระ นายตำรวจนักสืบรุ่นน้องแต่มากความสามารถขณะนั้นดำรงตำแหน่งสารวัตร ไม่นานย้ายลงเป็นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ยุคเปลี่ยนโครงการยุบกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ พระนครใต้ และธนบุรี เป็นกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 1-9
ต่อมาผู้บังคับบัญชาเห็นถึงความขยันแต่งตั้งให้เป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 8 ทำได้งานกองสืบตามความฝัน เริ่มรู้แล้วว่า ได้ลงงานที่ลึกซึ้งกว่าเก่า ทำคดีสำคัญต่อเนื่องที่มาจากผู้เป็นนายสั่งการ หรือเป็นคดีที่สังคมประชาชนให้ความสนใจ
เขาเริ่มต้นคลี่คลายคดีปล้นรถน้ำมัน ของบริษัท ซัสโก้ เริ่มมีลูกน้องในมือเยอะขึ้นล้วนแล้วแต่มีความสามารถใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ปิดแฟ้มสำเร็จ ผู้บังคับบัญชาเชื่อมั่นในการทำงาน ก่อนเข้าสู่ยุคประกาศสงครามกับยาเสพติดสนองนโยบายทำไปหลายคดี “พออยู่กองสืบได้เห็นการทำงานที่กว้างขึ้น เหนื่อยแต่ดีกับตัวเรา หมายถึงงานใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบ สฤษฏ์ชัย เอนกเวียง เป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 เป็นตัวหลักในการระดมนักสืบจากองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 1-9 ทำให้มีความสัมพันธ์กัน ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่แต่ละคนล้วนสุดยอด ทำให้เราได้วิชาความรู้เพิ่มเติมจากตรงนั้น”
นอกจากสฤษฎ์ชัย เอนกเวียงเป็นต้นแบบแล้ว เขายังได้ ปรีชา ธิมามนตรี เป็นอีกอาจารย์ที่ติวเข้มตำราการสืบสวนสมัยใหม่เวลามีคดีสำคัญจากการตั้งศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุม (Command and Control Operation Center : CCOC) เก็บเกี่ยววิทยายุทธ์จากบรรดานักสืบเขี้ยวลากดินมาเต็มกระเป๋า ก่อนย้ายเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 9 ทำคดีอุ้มฆ่าชาวต่างชาติ แต่อยู่เพียง 5 เดือนถูกโยกกลับถิ่นเก่ามานั่งผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 6 ทำงานให้ พล.ต.ต.อภิชาติ เชื้อเทศ ลูกพี่เก่าที่ขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6
“ผมไม่มีเส้น ไม่มีอะไรเลย ทำงานอย่างเดียว ไม่ได้วิ่งเต้น ผู้ใหญ่เห็นเราทำงาน สมัยก่อนนายจะอย่างนี้ คือๆ คนไหนทำงาน นายจะจับคนที่มีความรู้ความสามารถด้านนั้นไป ให้ไปทำงาน ไม่ต้องมาวิ่งเต้นอะไร เราสืบ 9 ก็ทำงาน แล้วพี่อภิชาติไม่มีใคร เคยเห็นเราทำงานด้วยกันตอนสืบ 8 ถึงเลือกมาอยู่ เสมือนอานิสงส์ในการที่ทำงาน ทำให้ชีวิตเราเจริญเติบโตได้ โดยไม่ต้องไปวิ่งเต้น”
พล.ต.ท.สมบัติยกตัวอย่างสมัยเป็นรองสารวัตรนาน 12 ปี ทำงานอย่างเดียว รู้จักลูกน้องที่ทำงานอยู่กับเราทุกวัน ทำตั้งแต่ประมาณ 11 โมง ไปจนถึง 6 โมงเช้า นอนตอน 6 โมงเช้าแทบทุกวัน อยู่กลางคืนตลอด เพราะว่าในพื้นที่ มีสถานบริการ สมัยนั้นมีธนบุรีคาเฟ่ เป็นที่รวมของโจร เราต้องไปอยู่ในพื้นที่ ไปดูว่าใครมา ใครยังไง ต้องไปเช็กว่าใครเข้าพื้นที่เลยต้องอยู่ทุกวัน
เป็นนักสืบคุมใจกลางเมืองหลวงได้ 2 ปีขยับอีกรอบเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 5สืบสวนคดีเกี่ยวกับชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ประเดิมจับยาเสพติดที่เรียกว่า แคร็ก (crack) ครั้งแรกที่ยังไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร เป็นผงสีน้ำตาลเข็มคล้ายยาไอซ์ แต่มีส่วนผสมที่แรงกว่า เป็นยาเสพติดชนิดใหม่ที่กำลังระบาดในประเทศไทยเมื่อปี 2550
ปั่นผลงานออกแถลงข่าวตลอดในพื้นที่กว้างขึ้นของเมืองกรุงอยู่ 2 ปีได้เป็นรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล คราวนี้ติดปีก เพราะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ร่วมกับ รณศิลป์ ภู่สาระ ที่นั่งเป็นหัวหน้าคุมหน่วยเป็นแม่บทของกองทัพสืบสวน สะสมวิชาความรู้ทำให้มีวิสัยทัศน์ในการวิเคราะห์อาชญากรรมควรจะต้องดินไปแบบไหน เพราะเวลาเกิดเหตุ “นักสืบต้องมีพื้นฐานข้อมูล ต้องมีหลักทางวิชาการ หลักทางนิติวิทยาศาสตร์ ถึงจะวิเคราะห์ได้ว่า ควรจะต้องรีเช็กประเด็นไหน เวลาตั้งประเด็น ต้องตั้งไว้โดยรวมๆ 3-5 ประเด็น พอถึงเวลาที่ตัดออกไปแล้วจะมีช่องเดียวที่เดินไปได้ แล้วไม่เคยพลาด เดินไปช่องนั้น ถูกทุกที ไม่ใช่แบบจับฉ่าย ถ้าไม่มีข้อมูล จะงง และมั่วไปหมด เพราะไม่มีทิศทาง”
เป็นรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลปีเดียวย้ายเป็นรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ตามวิถีชีวิตข้าราชการตำรวจด้วยความอาวุโสน้อยในกลุ่มรองผู้บังคับการสืบสวน โชคดีได้ทำงานสืบสวนเหมือนเดิม สัมผัสบรรยากาศนักสืบแบบภูธรแตกต่างจากนครบาลสิ้นเชิง ได้พิชิตคดีปล้นรถขนเงินเป็นข่าวโด่งดังในอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มี พ.ต.อ.พิจิตร กรมประสิทธิ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชรอยู่เบื้องหลัง
หลังจากนั้น พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมรุ่น ย้ายมารักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้เรียกไปช่วยงานความมั่นคง ตัดวงจรกลุ่มที่เคลื่อนไหวให้เกิดความวุ่นวานในประเทศตลอด 5 เดือน มีโอกาสกลับมาเป็นผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ตามเพื่อนร่วมรุ่นที่ข้ามเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สืบสวนคดียิงนายสมยศ สุทธางกูร เจ้าพ่อคาเฟ่คนดังที่เต็มไปด้วยศัตรูรอบข้าง แกะรอยจนพบเป็นเรื่องส่วนตัวได้ผู้ต้องหามาดำเนินคดี รวมถึงคดีฆ่าหั่นศพครูสอนภาษาชาวญี่ปุ่น
พล.ต.ท.สมบัติเผยเบื้องหลังว่า ลูกชายอยู่ญี่ปุ่นติดต่อพ่อไม่ได้เดือนกว่า บินมาเมืองไทย พบพ่อพักอยู่แถวห้วยขวางแล้วหายไป ในห้องมีแต่เสื้อผ้า เราลงพื้นที่สืบสวนได้ข้อมูลผู้หญิงเคยติดต่อกับผู้ตาย บ้านอยู่แถวบางพลี สมุทรปราการ ไปตามหาที่บ้านจนรู้ว่า พาคนแก่ชาวญี่ปุ่นไปโรงพยาบาลบางนาแล้วหายไป เราสงสัยตั้งแต่ตอนนั้นแต่ยังไม่มีหลักฐาน ใช้เทคโนโลยีช่วยสืบสวน เอากองพิสูจน์หลักฐานไปตรวจห้อง แล้วคุมตัวมาสอบปากคำจนรับสารภาพพาไปชี้จุดทิ้งชั้นส่วนศพในคลองแถวบางพลี และยังขยายผลพบคดีในลักษณะเดียวกันในการฆ่าอำพรางชาวญี่ปุ่นเอาเงินประกันไปก่อนหน้า เป็นเคสสำคัญที่สถานทูตญี่ปุ่นมาแสดงความขอบคุณพร้อมทายาทของเหยื่อ เพราะว่าใช้หลัก ทุกอย่าง ก็จับได้
อีกคดีสำคัญสุดยอดเป็นเหตุการณ์ลอบวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ มีคนตายร่วม 20 ศพ บาดเจ็บอีกเป็นร้อย อดีตผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลเล่าว่า ได้ระดมนักสืบมาหมดทั่วประเทศ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นั่งหัวโต๊ะคุมเกม เพราะนายกรัฐมนตรีกำชับต้องเอาตัวมาให้ได้ เนื่องจากกระทบกับความมั่นคงของประเทศ เราเคยเห็นว่าคดีที่เราทำงานในประเทศใช้เทคโนโลยีชั้นสูงแล้ว แต่คดีนี้ยังสูงกว่านั้นอีกจนได้ผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติ ทว่าการจะเอาตัวต้องใช้กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนกว่าจะจบด้วยดี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้
ผ่านประสบการณ์สืบสวนนครบาลจนเป็นที่ยอมรับ ก่อนขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มีโอกาสรับผิดชอบดูงานความมั่นคงทำคดีการเมืองอีกระลอก แล้วเลื่อนเป็นจเรตำรวจจากนั้นตัดสินใจลาออกไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา เหตุผลเพราะทำงานให้ชาติบ้านเมืองมาไม่น้อย โดยเฉพาะคดีความมั่นคง อยากไปทำงานเกี่ยวกับนิติบัญญัติ ดูเรื่องกฎหมายที่สำคัญต่อประเทศน่าจะทำตัวเขามีโลกที่กว้างมากขึ้น
“ผมทำงานสืบสวนมาทั้งหมด 35 ปี ถือมาเยอะแล้ว อยากไปทำงานฝ่ายนิติบัญญัติผลักดันเรื่องการออกกฎหมาย ผมว่าสำคัญนะ บางทีคนออกกฎหมายไม่ได้เป็นคนที่ใช้กฎหมาย ไม่รู้หรอกว่า สอดคล้องกับผู้ปฏิบัติไหม ในฐานะที่เราเคยเป็นผู้ปฏิบัติมาก่อน ได้จะเอาความรู้ ความสามารถที่เคยมี และอุปสรรคในการทำงานของเราไปต่อสู้เพื่อผลักดันกฎหมายให้มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงๆ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ ถ้าออกกฎหมายที่ไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ กฎหมายมันก็ไร้ประโยชน์” พล.ต.ท.สมบัติว่า
เขามองว่า กฎหมายบางตัวไม่เข้าวิถีชีวิตคนไทย ปฏิบัติไม่ได้ ตำรวจไม่อยากจับเพราะถูกด่ากลายเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นเวลาออกกฎหมาย ต้องให้อยู่ในสมดุลระหว่างคนที่ต้องถูกบังคับใช้กับผู้บังคับใช้กฎหมาย คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎร หรือประชาชน ต้องทำให้ปฏิบัติได้ ถึงอยากเข้าไปในการต่อสู้ตรงนี้ จากที่เราทำงานในพื้นที่มา เอยู่ในแวดวงการทำงานสืบสวนมานาน น่าจะใช้ประโยชน์ตรงนี้ที่จะไปดูแลให้การออกกฎหมายให้มีประโยชน์ที่สุด
ทิ้งท้าย นายพลนักสืบรุ่นเก่าอยากจะฝากอะไรน้องนักสืบรุ่นใหม่ ให้คำนึงพื้นฐานแรกของตำรวจ คือ ต้องมีความอดทนอดกลั้น ต้องมีคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจโรงพัก หรือส่วนไหน ถ้าตำรวจไม่มีคุณธรรม สังคม ประชาชนจะเดือดร้อน กฎหมายจะออกมาดีแค่ไหนก็ หากผู้บังคับใช้ไม่มีคุณธรรม สังคมก็แย่ ดังนั้นต้องตั้งมั่นในคุณธรรม มีความยุติธรรม เพราะเมื่อเราทำงาน เราจับผู้ต้องหา เราต้องมีจิตมุ่งมั่นกับตรงนั้นว่าต้องมีความยุติธรรม ต้องมีคุณธรรม เป็นเป้าให้เดินไม่เป๋ ไม่เขวไปนึกถึงเรื่องผลประโยชน์ ส่วนความสามารถของแต่ละคนมากน้อยแค่ไหน ต้องตั้งต้นตรงนี้ให้ได้ก่อน
“เรื่องการทำงาน ต้องฝากว่า อย่างสมัยรุ่นผม ต้องใช้พลังงานเยอะ ไม่ใช่สมัยนี้ นั่งบนโต๊ะ สมัยก่อนมันต้องเดินหาข่าว หาสาย ทำให้ได้สัมผัสกับประชาชน การที่เราสืบสวนโดยที่ไม่ได้ไปลงพื้นที่ ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับประชาชนจะห่างกันไปเรื่อย อย่างคนดีต้องไปช่วยเหลือ ไปคุ้มกัน ไปป้องกันเหตุ สำหรับ คนร้ายเราต้องไปไล่บี้ ไปจับกุม เพราะเวลาที่เราลงพื้นที่ เราจะรู้ว่าไอ้นี่มันแสบ ไอ้นี่มันติดยา ประชาชนก็เอือมมัน กระทั่งไม่ไหวแล้ว เราต้องไปเอาตัวมันมา ป้องกันไม่ให้คนพวกนี้มาก่อเหตุ สร้างความวุ่นวายให้ชาวบ้าน” อดีตจเรตำรวจย้ำ
เจ้าตัวรู้สึกเสียหายหากทำงานแบบปัจจุบัน ไม่มีการไปสัมผัสกับประชาชน ขาดเอกลักษณ์ของตำรวจในสมัยก่อนที่ต้องรู้จักลงไปเดินในพื้นที่บ้าง ไม่ใช่ว่าเป็นผู้กำกับการแล้วไม่ลงพื้นที่ ไม่ไปเดิน ไม่ไปหาคนในพื้นที่เลย แล้วจะได้วางแผนทำงานให้กับชาวบ้านอย่างไร “อยากให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข อย่าไปหวังผลประโยชน์มาก เพราะไอ้เรื่องนี้มันจะกัดกร่อนตำรวจ”
สมบัติ มิลินทจินดา !!!