“สมัยผมต้องใช้ฝีมือ จินตนาการ และประสบการณ์”

ถูกบันทึกเป็นตำนานนายพลตำรวจที่ปั่นผลงานทั้งบู๊ ทั้งบุ๋นคนหนึ่งของดินแดนอีสานใต้

พล.ต.ท.แหลมทอง ญาณอุบล อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ชาวอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลันที่เรียนจบจากโรงเรียนอยุธยาอนุสสรณ์ ได้มุ่งเข้าสู่ประตูโรงเรียนเตรียมทหาร ย่างก้าวเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 18

มีเพื่อนร่วมรุ่นรั้วสามพรานล้วนเป็นดาวดังประดับวงการสีกากีขึ้นนั่งเก้าอี้สำคัญหลายคน ตั้งแต่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อธิบดีกรมตำรวจคนสุดท้าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรก พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงวิบูลย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ณรงค์วิช ไทยทอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.อนันต์ ภิรมย์แก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพล.ต.ท.เหมราช ธารีไทย อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

หลังเข้ารับราชการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไปสำเร็จหลักสูตรนักปกครองระดับสูงจากวิทยาลัยการปกครอง สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูงรุ่น 4 จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ต่อมาจบปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ด้วยคะแนะเกียรตินิยมดีจากนิด้า อีกทั้งเรียนจบหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 36

บรรจุครั้งแรกลงเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ไม่กี่เดือนถูกย้ายเป็นผู้หมวดประจำกองเมืองนครราชสีมา เจ้าตัวลำดับภาพเรื่องราวชีวิตวัยหนุ่มว่า กรมตำรวจมีนโยบายให้ทั้งรุ่นออกไปอยู่ภูธร และตำรวจตระเวนชายแดน ไปอยู่เป็นพนักงานสอบสวนกองเมืองนครราชสีมาสมัยนั้นมีนายตำรวจแค่ 2-3 คน อยู่ได้ 2 ปี เกิดปัญหาการเข้ามาของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน สหรัฐอเมริกาจึงเข้ามาช่วยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

“ผมเลยได้เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษรุ่นแรกของประเทศไทย” พล.ต.ท.แหลมทองทบทวนความทรงจำหลังตัวเองถูกส่งตัวไปฝึกอบรมที่จังหวัดอุดรธานีเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บไว้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ ฝึกอยู่ 2 เดือนกลับมาอบรมต่อที่จอหอในหลักสูตรของหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากล

ห้วงเวลานั้นเกิดการรบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างหนักที่ภูหินร่องกล้า ดินแดนยอดดอยสูงเขตรอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 กำลังไม่พอจึงประสานขอตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปเสริมแนวรบที่คุกรุ่นไปด้วยเสียงปืนและระเบิดกึกก้องเป็นสมรภูมิประวัติศาสตร์ชาติครั้งใหญ่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน

อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษกองบังคับการตำรวจภูธร 4 ไม่เคยลืมว่า ถูกส่งไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2511 รายงานตัวจังหวัดพิษณุโลกรับทราบแผนปฏิบัติการในการเข้ายึดบ้านแม้วป่าหวายใกล้วันเสียงปืนแตกที่ภูหินร่องกล้า ประจำอยู่ 2 เดือนกว่ากลับคืนต้นสังกัดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2512 เสี่ยงตายปะทะกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ 70 กว่าครั้ง ตำรวจตาย 5 นาย ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์ตายนับไม่ถ้วน “ส่วนใหญ่เป็นพวกแม้วแดง มันเจอเรามันก็ยิง เราเจอมัน เราก็ยิง ผมรบกันตั้งแต่สมัยยศร้อยตำรวจโทเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ตอนนั้นยังหนุ่ม ไม่มีอะไรต้องกลัว” พล.ต.ท.แหลมทองว่า

เสียงปืนคอมมิวนิสต์สงบคลี่คลายหลายพื้นที่ภาคอีสาน นายตำรวจหนุ่มจากเมืองกรุงเก่าเสร็จสิ้นภารกิจนักรบลงทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ดูแลทุกข์สุขชาวบ้านอีกครั้งอยู่โรงพักโพธิ์กลาง จังหวัดนครราชสีมา ก่อนขยับเป็นสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็นรองผู้กำกับการภูธรจังหวัดสุรินทร์ และขึ้นผู้กำกับการภูธรจังหวัดสุรินทร์

ย้ายเป็นผู้กำกับการภูธรจังหวัดอุบลราชธานี เลื่อนเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร 4 จังหวัดนครราชสีมา ผงาดติดยศ “นายพล” ตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธร 6 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 2 ตามโครงสร้างกรมตำรวจเก่าที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด จากนั้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจภาค 3) รองผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่รองหัวหน้าตำรวจภาค3) แล้วย้ายลงเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และนั่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 จวบจนเกษียณอายุราชการ

ตลอดการทำงานในพื้นที่อีสานจนชำนาญยิ่งกว่าบ้านเกิด พล.ต.ท.แหลมทองบอกว่า ทำคดีสำคัญมาเยอะ ดูแลควบคุมสถานการณ์สำคัญระดับชาติอีกไม่น้อย ได้รับมอบหมายเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์จัดงานเวิลด์เทค’95 งานแสดงอุตสาหกรรมระดับโลกที่มหาวิทยาลัยสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ที่ต้องดูแลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

อดีตผู้นำหน่วยตำรวจภูธรภาค 3 อธิบายว่า งานเวิลด์เทคเป็นมหกรรมการแสดงสินคาทั่วโลก มันไม่ใช่ของง่าย นักธุรกิจจากต่างชาติ และคนไทยต้องมาก่อสร้างร้านแสดงสินค้าเป็น 100 ร้าน ช่วงเวลาเดือนกว่าระหว่างก่อสร้างต้องระวังที่สุดเรื่องของไฟไหม้ เพราะเคยเกิดเหตุที่สเปนก่อนจะเปิดแสดงแค่ 3 วัน ไฟไหม้หมดเลย เราต้องขอรถดับเพลิงมาเตรียมไว้ และตระเวนดูความเรียบร้อยอย่าให้เกิดอุบัติเหตุ ตอนนั้นคิดว่า ต้องเปิดให้ได้ สุดท้ายผ่านไปด้วยดี

นอกจากนี้ เขายังได้รับเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ขนญวนอพยพกลับประเทศเวียดนาม  พล.ต.ท.แหลมทองเล่าว่า กลุ่มเหล่านี้เป็นญวนอพยพแตกมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามอยู่กับที่คลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์คัดเอาบางส่วนไปประเทศที่สามบ้างแล้ว ที่เหลือเป็นเศษเหลือเดนไม่มีใครเอาต้องเอากลับประเทศ ตอนแรกพวกนั้นก็ไม่อยากกลับ เราจำเป็นต้องจับกลับประเทศเจรจาจนยอมใช้เวลา 2 เดือนในการส่งกลับเป็นจำนวน 3 หมื่นกว่าคน

ส่วนคดีอาชญากรรมดัง นายพลวัยเกษียณแห่งตำนานอีสานใต้ยกตัวอย่างสมัยตัวเองนั่งเก้าอี้รองผู้บังคับการตำรวจภูธร 4 เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนคลี่คลายระเบิดสังหาร “เสี่ยแหย” สมชัย ฤกษ์วรารักษ์ เจ้าพ่อค้าไม้คนดังเมืองวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ที่ต้องมาจบชีวิตอย่างโหดเหี้ยมหน้าบันไดศาลจังหวัดนครราชสีมา

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเวลา 11 โมงเศษวันที่ 19 กรกฎาคม 2532   ขณะที่พ่อค้าไม้ภาคกลางออกจากห้องพิจารณาในคดีที่บริษัทตัวเองถูกฟ้องผิดชำระค้าไม้ คู่ความเรียกค่าเสียหาย 210 ล้านบาท ระหว่างลงบันไดหน้าศาลได้เกิดเสียงระเบิดดังกึกก้องฉีกร่างเสี่ยแหยกับพวกกระจุยกระจาย เหยื่อบึมตายคาที่ 6 ศพ เป็นตำรวจวิเศษชัยชาญที่ตามมาอารักขาเจ้าพ่อดับ 3 ศพ ที่เหลืออีก 7 รายไปสิ้นใจตายโรงพยาบาล ในจำนวนนั้น คือ “เสี่ยแหย” สมชัย ฤกษ์วรารักษ์

พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น แต่งตั้งให้ พล.ต.ท.บุญทิน วงศ์รักมิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 คลายปมสังหารร่วมกับทีมของ “ชลอ เกิดเทศ” และ “ธนู หอมหวล” ชื่อของ “แหลมทอง ญาณอุบล” ถูกกำหนดให้เป็นหัวหน้าฝ่ายสืบสวนควบคุมทีมของอินทรีอีสานบุญทิน วงศ์รักมิตร  พวกเขาใช้เวลาการแกะรอยนานหลายเดือน ก่อนจับกุม ส.ต.ชำนาญ หรือสด เสือศิริ อดีตทหารกองพล 9 กาญจนบุรี นายเอี้ยง หรือใหญ่ ช่างเรืองกุล อดีตทหารเกณฑ์ และนายวิสิษฐ์ แท้เที่ยง หุ้นส่วนค้าไม้ของเหยื่อที่เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่ทั้งหมดให้การปฏิเสธ

“สมัยก่อนคดีอาชญากรรมค่อนข้างรุนแรง ตำรวจรุ่นผมทำงานกันหนักมาก สมัยผมต้องใช้ฝีมือ จินตนาการ และประสบการณ์ คดีที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งเหมือนเป็นโจทย์ให้เราแก้และหาคำตอบเพื่อตามจับให้ได้ อย่าคิดว่า มันจะสำเร็จทุกเรื่อง แต่สำเร็จมากกว่าไม่สำเร็จ ผิดกับปัจจุบันที่มีเครื่องช่วยเยอะ มันต่างกันมาก”นายพลมือปราบรุ่นเก่าให้ความเห็น

เขายอมรับว่า หลังจากเกษียณอายุราชการปลอดโปร่งขึ้นมาก และพยายามไม่หาเรื่องอะไรเข้ามาในหัว นอกจากออกกำลังกายเล่นกอล์ฟกับพวกเกษียณ หากรับอะไรมามากจะเครียด หันมาดูแลสุขภาพดีกว่า อย่างไรก็ตาม เราเป็นคนมีพรรคพวกเยอะ ถ้าไม่จำเป็นจะพยายามไปทุกงาน เลือกอยู่แบบสังคมเปิดพอสมควร ไม่ใช่มานั่งปิดรอแก่ตาย ทุกวันนี้ยังขับรถเอง มันได้ฝึกสมอง เราก็เหมือนพระสึกแล้ว ไม่อยากให้ใครมาเดือดร้อนกับเรา เราก็ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ใคร

สำหรับมุมมองจากประสบการณ์ในอดีต พล.ต.ท.แหลมทอง ชี้ว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก แต่คดีอาชญากรรมไม่ว่าที่ไหนในโลกไม่มีทางลด สังคมยิ่งเจริญยิ่งไปกันใหญ่ โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดไม่เคยลดลง แม้ตำรวจจะจับจะปราบขนาดนี้ สมัยยังรับราชการก็ยึดนโยบายการทำงานสนองผู้บังคับบัญชาเอามาปฏิบัติ ใครเป็นตำรวจอย่าคิดว่าสบาย นอกจากคุณไม่เอาไหน ยิ่งเป็นผู้บัญชาการยิ่งหนัก เวลาผู้ใหญ่ถามไม่ได้ถามระดับจังหวัด เขาอัดมาที่กองบัญชาการ เราต้องไหวตัว เราต้องแว่วตลอด ไวตลอด บางทีเช้าต้องโทรศัพท์ไปถามผู้กำกับ ผู้การจังหวัดว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

“ผมทำงานยาก ๆ มาเยอะ ทำอะไรแล้วทำจริง ทำให้มันสุดความสามารถ ให้บรรลุ งานใหญ่ ๆ สารพัด ตั้งแต่สมัย ผมเป็นตำรวจใหม่ ๆ  ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ตำรวจมันเยอะ เขาก็คัดเลือกคนหนุ่มไฟแรงไป พอผมเป็นผู้ใหญ่ก็มีงานใหญ่เกิดขึ้นเยอะ เขาใช้เรา เราก็ต้องทำ คดีใหญ่มันมากมาย เรื่องของอิทธิพลหรือ ผมไม่กลัวหรอก ตอนอยู่สุรินทร์ ผู้ว่าเสนอ มูลศาสตร์ เคยมาคุยว่า จังหวัดเรา มีคนมาถามเรื่อยว่า ใครเป็นผู้มีอิทธิพล ท่านตอบว่า ท่านกับผู้กำกับนี่แหละผู้มีอิทธิพล คนอื่นจะมาเหนือกว่าได้อย่างไร” 

ถึงกระนั้นก็ตาม นายพลนอกราชการเกรงที่จะฝากแง่คิดแก่ตำรวจรุ่นหลัง เขาให้เหตุผลที่ไม่กล้าว่า กลัวตำรวจเด็กรุ่นใหม่อาจจะมองรุ่นเราตกรุ่นไปแล้ว ทุกวันนี้ ตำรวจเป็นหน่วยงานที่พัฒนาไปมาก เรากล้าพูด เมื่อก่อนจังหวัดมีผู้กำกับเป็นพันตำรวจเอกคุมแล้วขยับเป็นพันตำรวจเอกพิเศษ ตอนนี้เป็นนายพลแล้ว เป็นการพัฒนามาถูกทาง ใครจะมองเป็นการขยายตำแหน่งก็ชั่ง

พล.ต.ท.แหลมทองยังมองว่า เป็นตำรวจ 5 ปีสอบสวนไม่เก่งแน่ ต้องเป็นสารวัตรแล้วถึงจะเก่ง มันจะมองคดีแบบตั้งสมมติฐาน คดีที่เกิดขึ้นตอนแรกตำรวจไม่รู้หรอก เป็นการบ้านที่ตำรวจต้องคิด  ต้องหาคำตอบให้ได้ เหล่านี้ต้องอาสัยประสบการณ์ แม้จะซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่ใช้ได้ผล สมัยนี้ตัวช่วยเยอะ เมื่อก่อนจับเองสืบเอง สมัยนี้มีกองบังคับการ กองกำกับการสืบสวนช่วยกันเป็นทีม คนละไม้คนละมือ กองพิสูจน์หลักฐานก็ช่วยได้มาก

“เดี๋ยวนี้คดีใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะ บางทีผมตามไม่ทันแล้ว ยิ่งเกี่ยวกับโลกอินเตอร์เน็ต พวกผมตกรุ่นไปแล้ว เรื่องคดีการเงิน ผมก็ตกรุ่น หน่วยงานการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินก็เก่งมาก ความผิดทางด้านคอมพิวเตอร์ รุ่นผมก็ไม่มี อนาคตยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นมาอีก ตำรวจต้องตามอาชญากรรมให้ทัน มีหน่วยงานทางนี้มาโดยเฉพาะ เมื่อก่อนไม่มีเลยคดีความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และมีแนวโน้มมากขึ้น”

อดีตมือสืบสวนมากประสบการณ์เตือนด้วยว่า ทุกวันนี้สังคมเข้มข้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ตำรวจอย่ามองข้ามพวกนี้ และนับวันจะทำงานยากขึ้น แต่ก็มีตัวช่วยตามมา เหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่ต้องโตขึ้นขยายขึ้น ตำรวจต้องตามให้ทัน เท่าที่สังเกตดู คดีสลับซ้อนยังทำกันได้เร็ว เคยคุยกับตำรวจสืบสวนตามโรงพักพบมีเก็บสถิติไว้เยอะ จากตาบอดเป็นตาใส สมัยก่อนของใครของมันเก็บใส่กระเป๋าไว้ ย้ายทีก็เอาไปด้วย สมัยนี้มีการออนไลน์ แชร์ข้อมูลเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดโยงไปถึงตัวละครในต่างประเทศ แต่เชื่อว่า ตำรวจจะยิ่งทำงานหนักขึ้นกว่าเก่า

นายพลรุ่นลายครามบอกอีกว่า อยากให้ตำรวจสื่อสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชน รู้จักการวางตัว บางคนเห็นสื่อรีบหนีเลย เราต้องบอกอย่าไปหนีเขา มันเป็นอาชีพเขา ถ้าเขามาถามแล้วเราไม่พูดเลย ไม่ได้ เราต้องพูด ถ้าไม่พูดเขาก็เอาไปเขียนเอง ทำไมไม่เอาสื่อให้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ให้เขาเดินตามที่เราต้องการ อันนี้ง่ายกว่า “สมัยผม รู้จักสื่อเต็มไปหมด ไม่ใช่มาหันหลังเป็นศัตรูต่อกัน  ผู้สื่อข่าวไม่ว่าเป็นโทรทัศน์ ทีวี หนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ตำรวจอาสา พวกนี้บางทีทำงานขยันกว่าตำรวจด้วยซ้ำ ถ้าใช้ตำรวจไปหาข่าวยังสู้พวกนี้ไมได้เลย ผมนับถือจริง ๆ”

แหลมทอง ญาณอุบล !!!

RELATED ARTICLES