“เป็นนักข่าวต้องทำได้ทุกอย่าง ทำได้ทุกสาย”

 

นข่าวสาวแห่งค่ายโมโน 29

“มด” ฐิติญา เกษกาญจน์  ชาวลาดกระบัง เริ่มต้นปฐมวัยโรงเรียนเชิดเจิมศิลป์ ไปต่อมัธยมโรงเรียนพรตพิทยพยัต เลือกสายศิลป์-ฝรั่งเศส ชอบเกี่ยวกับงานเขียน งานอ่าน ล่ารางวัลเป็นเกียรติประวัติสมัยเรียนประถมมากกว่า 40 ใบจากการประกวดเรียงความ พูดเชิญชวน แสดงสุนทรพจน์ กล่าวคำขวัญ กวาดทุกรางวัลจนเพื่อนไม่ประกวดแข่งขัน

เธอบอกว่า อาจเป็นเพราะตัวเองชอบอ่านหนังสือที่พ่อรับนิตยสารรายเดือนมาไว้ที่บ้าน พวกบันเทิงกีฬา แล้วขยับไปอ่านข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ ข่าวสถานการณ์จนเป็นนิสัยจนต้องเก็บเงินไปหาซื้อหนังสืออ่านเอง ก่อนเข้าไปเรียนต่อคณะสื่อสารมวลชน สาขาเทคโนโลยี การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

“ตอนนั้นหนูคิดไม่เหมือนคนอื่น คิดว่า ถ้าเราชอบงานข่าว เรารู้สึกมีความสนใจ ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม สามารถไปหาความรู้เพิ่มเติมเองได้ ถึงเรียนโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ได้มีโอกาสฝึกงานโครงการยุวชนคอนเสิร์ตของบิ๊กเมาท์เท่นฝ่ายประชาสัมพันธ์ รู้สึกชอบด้วยเหมือนกัน”

            อย่างไรก็ตาม หลังเรียนจบเธอได้เริ่มต้นทำงานที่รายการทีวี 360 องศา เป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม อยู่แค่ผ่านโปรเป็นจังหวะดิจิทัลทีวีเปิดพอดี ตัดสินใจไปสมัครช่องวัน ทำงานใหม่ ๆ เจ้าตัวยอมรับ ร้องไห้ถี่มาก ไม่แน่ใจว่า งานข่าวใช่ตัวเราไหม ทำไมเหนื่อย ไม่เหมือนที่เคยดูคนในทีวี ทุกอย่างดูง่าย พอมาทำงานจริงๆ ยากกว่าที่เรียนมาทั้ง 4 ปี

มดบอกว่า พอมาอยู่เรื่อย ๆ เริ่มปรับตัว มีพวกพี่ ๆ ในกองบรรณาธิการช่วยฝึกงานเขียน ได้เป็นเฉพาะกิจทำสกู๊ปพิเศษ ทำรายการสารคดีข่าวจับต้นชนปลายย้อนรอยคดีดังอยู่ 3 ปี เกิดภาวะเศรษฐกิจต้นสังกัดมีเลย์ออฟพนักงานต้องออกตอนส่งท้ายปี ย้ายไปอยู่ฝ่ายออนไลน์ของช่องพีพีทีวีระหว่างรองานทีวีจริง ๆ กระทั่งก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของช่องโมโน 29

เธอมีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวหลายด้านมาตั้งแต่สมัยอยู่ช่องวัน ไม่ได้มีสายเฉพาะทาง ทำทั้งข่าวสถานการณ์ทั่วไป ทั้งน้ำท่วม เหตุระเบิด ไปจนถึงงานพระราชพิธี ทำอยู่อย่าง “คงเหมือนพี่ที่กองบรรณาธิการบอกว่า เป็นนักข่าวต้องทำได้ทุกอย่าง ทำได้ทุกสาย คือ นักข่าวไม่มีแบบที่ว่าจะต้องทำสายนี้เท่านั้น หรือว่าจะต้องอยู่ตรงนี้เท่านั้น  ต้องแบบปรับตัวได้ ถ้าจะต้องไลฟ์ ก็ต้องทำได้ ต้องทำทีวีก็ต้องทำได้ หรือจะต้องลงเสียงทางวิทยุก็ต้องได้”

สาวค่ายโมโน 29 ยังมองว่า ด้วยความที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือ ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ ทำให้มีการเปรียบเทียบการนำเสนอของผู้สื่อข่าว สะท้อนว่า การนำเสนอภาพข่าว หรืออะไรกลายเป็นว่าสังคมภายนอกจากจะจับตา เคยมีคนพูดว่า สื่อมวลชนจะกลายเป็นลำเอียง ถึงเป็นประเด็นดราม่าสะท้อนสังคมที่ช่วยทำให้ขับเคลื่อนไปด้วยกันได้

“ความเห็นส่วนตัวมั่นใจว่า คนทั่วไปอาจถ่ายคลิปสะท้อนภาพเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่พวกเขาไม่เหมือนนักข่าวอาชีพ เพราะไม่มีทางรู้อะไรมากเท่ากับนักข่าวที่ต้องลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องหน้าเบื้องหลังของเรื่องทั้งหมดมากกว่าภาพที่เห็นในจอ” เจ้าตัวทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES