ลงสัมผัสสมรภูมิร้อนชายแดนด้ามขวานมาตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547
ผ่านไป 14 ปี พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ อดีตผู้กำกับการ 6 กองบังคับการปราบปรามในครั้งนั้น ได้ถูกบันทึกเป็น ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ “คนสุดท้าย” เปลี่ยนจากบทนักสืบมาสวมบทนักรบ ก่อนหน่วยถูก “ยุบสลาย” กลับไปรวมกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
ถึงกระนั้น เจ้าตัวได้รับความไว้วางใจไปนั่งเก้าอี้แม่ทัพคุมกำลังและพื้นที่กว้างกว่าเก่า
ทว่าหัวใจของเขายังเป็น “นักรบเต็มตัว” ขอเลือกมานั่งบัญชาการบริหารหน่วยในสำนักงานภายในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ที่เคยเนรมิตเป็นศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้เดิม อำเภอเมืองยะลา
เพื่อทุ่มเทเวลาปลุกขวัญกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชาใน 3 จังหวัดชายแดนประเทศ อีกทั้งสานงานที่ยังคั่งค้างนานกว่า 14 ปีในการสร้างสันติสุขคืนสู่ชาวบ้านในพื้นที่
เริ่มเดินเรื่องจากคดีปล้นปืนที่ไม่รู้อะไร ปะติดปะต่อไปจนสัมผัสเครือข่ายโจรใต้
พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เริ่มต้นเรื่องราวตั้งแต่มาทำงานในพื้นที่ครั้งแรกสมัยเป็นผู้กำกับการสังกัดกองบังคับการปราบปรามว่า เราทำตั้งแต่ยังไม่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้นที่นี่ เหตุการณ์วันปล้นปืนวันที่ 4 มกราคม พอวันที่ 5 มกราคม ก็ลงมาพร้อมทีมกองปราบปราม เชิญทหารที่อยู่ที่ค่ายทั้งหมดไปอยู่ในค่ายจังหวัดระยอง นั่งสอบปากคำทีละคน ทำกันมาจนรู้ทุกอย่างจากตอนแรกไม่รู้อะไร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะหยุดเหตุร้ายรายวันได้อย่างไร แต่เราเริ่มทำจากตรงนั้นก่อน
พอทำไปทำมา เจ้าตัวยอมรับว่า พบเครือข่ายก่อความความไม่สงบกลุ่มบีอาร์เอ็นมีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ในจังหวัดยะลา ตำรวจถึงเริ่มปรับกระบวนท่า เริ่มมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติส่วนหน้ายกเอาทีมตำรวจมือดีจากส่วนกลางเข้ามา เอาตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษทั่วประเทศระดมมาอยู่ที่นี่ ปรับให้มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษเป็นของตัวเอง ให้มีประจำทุกโรงพัก แต่พอปรับแล้ว ปรากฏว่า เลขตำแหน่งไม่มี ต้องไปเอาตำแหน่งเสมียนเวร เสมียนโรงพักมาเป็นตำแหน่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ
“ตอนนั้นโรงพักก็ขาดกำลัง ต้องค่อยๆ ปรับเป็นระบบ เหมือนกับทำไป แก้ปัญหาไป แก้ปัญหาเฉพาะหน้า มองว่า ตำรวจน่าจะมีกำลังของตัวเองถึงจัดกำลังขึ้นมา เอาทหารเกณฑ์มาเป็นตำรวจ เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษอยู่ตามฐานในเขตพื้นที่โรงพัก แม้โรงพักขาดคน เพราะต้องเอาเลขตำแหน่งมา แต่คดีไม่มาก ปัญหาก็ไม่เกิด กระทั่งเริ่มมีคดีเกิดขึ้นเยอะ ต้องขอตำแหน่งใหม่เอามาเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 1,700 อัตรา เพื่อคืนตำรวจที่ดึงมาตอนแรกกลับไปอยู่โรงพัก”
คลำทางกันนานกว่า 10 ปี สันติวิธีต้องแก้ด้วยการเจรจา
ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 บอกว่า กว่าจะคลำทางถูกเรื่องตำแหน่งตำรวจขาดแคลนต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี สำหรับการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ส่วนตัวมองว่า ต้องแก้ปัญหาด้วยการเจรจา แต่จะต้องเจรจากับใครต่างหากที่เป็นปัญหา คือ เราไม่รู้ เพราะเป็นองค์กรลับ ไม่เปิดเผยตัวตน คนที่มาเจรจาด้วยใช่หรือไม่ใช่ก็ไม่รู้ ยกตัวอย่าง กลุ่มที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ พวกอาร์เคเค มี 5 คน รู้จักหัวหน้าคนเดียว คนที่ไปออกทีวี เป็นใครบ้างพวกนั้นก็ไม่รู้
“ผมเคยถามมัน มันก็ไม่รู้จัก ถ้าคนในทีวีบอกให้หยุดก่อเหตุ แบบนี้มันจะหยุดไหม มันก็ว่าถ้าหัวหน้าของมันคนเดียวไม่บอก มันก็ไม่หยุด ขบวนการนี้มันตัดตอนโดยที่เราไม่รู้ ด้วยเพราะมันเป็นองค์กรที่ปิดลับ จนกระทั่งสืบสวนยาก ถ้าเป็นอาชญากรรมธรรมดาก็รู้ ก็เห็นแล้ว แต่นี่เป็นหัวหน้าขบวนการไม่รู้แล้ว ต้องไปไล่ต่อ ยอมรับว่า ไม่ง่าย” พล.ต.ท.รณศิลป์อธิบาย
“ คนที่มาอยู่พื้นที่ตรงนี้ต้องเข้าใจ เวลานี้ค่อนข้างจะเป็นรูปธรรม เพราะทหารมีการจัดทำกำลังรบ มีหัวหน้า มีรองหัวหน้าแต่ละฝ่ายเป็นเค้าโครง ตำรวจมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษประจำโรงพัก แต่ต้องไปขึ้นยุทธการกับทหาร ทว่าก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก ตำรวจโรงพักมักจะไม่ค่อยดูแลหน่วยปฏิบัติการพิเศษพวกนี้ ต้องมาปรับใหม่ว่า นี่ลูกหลานเรานะ เป็นตำรวจเหมือนกัน ต้องดูแลด้วย ไม่ใช่ทิ้งเลย เสริมสร้างกลุ่มพวกนี้ให้เข้มแข็ง อย่างน้อยต้องดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่ออกตรวจ โดนระเบิดทุกวัน”
เปิดปฏิบัติการเชิงรุกควบคู่กัน ตามจับผู้ก่อเหตุให้ทันเพื่อหยุดปัญหา
แม่ทัพนักรบสมรภูมิชายแดนใต้วางนโยบายไว้ชัดเจนว่า ทุกคนต้องปรับตัว ดูแลตัวเองแล้วยังต้องคุ้มครองชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ ลดความสูญเสียให้ได้ ที่ทำมาในระยะที่เป็น ผู้บัญชาการพยายามจะให้ปฏิบัติการเชิงรุก คือ พิสูจน์ทราบ ทำเครือข่าย ทำทำเนียบกำลังรบ ให้เห็นว่า ในหมู่บ้าน ในพื้นที่ของตัวเอง มีใครเป็นตัวหลัก ใครต้องเพ่งเล็ง กลุ่มไหน ยังไง ใครออกหมายจับไว้แล้ว ต้องมีการตรวจค้นบ้าน อย่างน้อยให้เป้าไว้ เดือนหนึ่ง ต้องมี 2-3 ครั้ง
“ไม่ใช่ว่า หนีหมายจับ แต่เมียท้องทุกปี คือ พอหนีแล้วมันก็ไม่เข้าไปที่บ้าน ตำรวจไปดูครั้งเดียวบอกหนี ก็หนี ทั้งที่พวกนี้มันก็วนกลับมา หนีแบบไหน เมียมันถึงท้องได้ ถึงจำเป็นต้องปฏิบัติการเชิงรุก จากนั้นมาทำเรื่องการสืบสวน เน้นงานสืบสวนให้มีประสิทธิภาพ ถ้ามีคดี ต้องพยายามจับให้ได้ เพราะถ้าจับไม่ได้ มันก็จะเกิดขึ้นอย่างนี้ติดๆ กัน”
อดีตนักสืบเมืองหลวงผันตัวมาเป็นนักรบภูธรด้ามขวานเล่าว่า เมื่อก่อนตอนมาคุมพื้นที่ ใหม่ๆ ปัตตานี ระเบิดอาทิตย์ละครั้ง สองอาทิตย์ครั้ง กระทั่งผู้การมาใหม่พยายามจะตั้งล้อมเขตเมือง ไม่ให้คนร้ายเข้า พอเรามาดู มองว่า ยังไม่ใช่ เพราะคนร้ายอยู่ในเมือง เราต้องขุดพวกนี้ออกมา แต่ละพื้นที่ส่วนไหนที่เราเข้าไปทำแล้ว พิสูจน์ทราบแล้วจะเงียบไปทันที ไม่ค่อยมีเหตุระเบิดในเมืองอีกเลย นอกจากที่ห้างบิ๊กซีที่อยู่นอกเขตเมือง และกลุ่มที่ลอบวางระเบิดก็เป็นคนนอกพื้นที่
ลดบทบาทแนวร่วมในพื้นที่ ทำบรรยากาศให้ดีไม่สร้างเงื่อนไข
“เมื่อมีคดีเกิด เราถึงต้องพยายามพิสูจน์ทราบ จำกัดเสรีความเคลื่อนไหว ลดบทบาทแนวร่วมในพื้นที่ ไม่ให้มาดูต้นทาง มาตัดต้นไม้ ขวางถนน โปรยตะปูเรือใบ คนจะมาก่อเหตุมันก็น้อยลง แต่พวกนี้ไม่ได้หายไปไหน ติดรูปประกาศหมายจับแล้ว ก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ต้องมาไล่ดูว่า ไปอยู่ไหน สวนยางในป่าเขา ไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน พวกนี้เป่านกหวีดปี๊ด กลับมาได้ วางระเบิดเสาไฟได้ในวันเดียว 100 ต้น คือ ยังทำได้ ก็ต้องหาวิธีว่า ทำอย่างไรจะจับพวกนี้ให้ได้” เจ้าตัวว่า
นายพลนักรบภูธรภาคใต้อธิบายอีกว่า มีหลายโครงการที่ทำ อย่างทหารพาคนกลับบ้าน มีพวกกลับใจบางส่วนกลับมา ถามว่า ทันใจเราไหม ไม่ทันใจ หากจะให้สงบจริงๆ ต้องดึงคนพวกนี้กลับมาเร็วๆ วิธีการ คือเสนอแก้มาตรา 21 พระราชบัญญัติความมั่นคง มีมาตรา 15 ที่จะเอาคนเหล่านี้กลับมาได้ ไม่ต้องรับโทษ แต่ต้องมาฝึกอบรม 6-8 เดือน แต่มันน้อยไป ไม่พอ ชาวบ้านก็ไม่ไว้วางใจว่า พวกนี้กลับมาจะกลับตัวจริงหรือไม่ หรือเอามาฟอกตัว เราต้องดูตรงนี้ให้ดี
สรุปสุดท้าย พล.ต.ท.รณศิลป์มั่นใจว่า ทุกอย่างจะจบได้ด้วยการเจรจา เพียงแต่จะเจรจากับใคร ถูกตัวหรือไม่เท่านั้น ส่วนตำรวจมีหน้าที่ทำบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการเจรจา ลดเหตุความไม่สงบ ให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม “มันจะเป็นคานจั่ว ระหว่างการทหารกับการพัฒนา ถ้ามีเหตุเกิดขึ้นเยอะ การพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ใครจะมาลงทุน เมื่อการพัฒนาเพิ่มขึ้น พวกนี้มีงานทำ มีรายได้ก็น่าจะดีขึ้น”
ลงดูแลขวัญกำลังใจลูกน้อง มองภาพสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น
“ตรงนี้ เพราะผมอยู่มานาน ทำให้รู้ว่า เวลามีเหตุเกิดขึ้นต้องรีบไปดู ประกอบกับ ตำรวจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานอยู่ได้ด้วยขวัญกำลังใจ ถ้าผู้บังคับบัญชาไม่มา ไม่สนใจ พวกเขาจะรู้สึกเหงา เราต้องทำให้พวกเขาเห็นว่า นายยังอยู่ เช้าตื่นมาก็ไปยืนเข้าแถวทุกวัน ให้ตำรวจรู้ว่า ผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญ” พล.ต.ท.รณศิลป์ให้เหตุผลที่ต้องปรับมานั่งทำงานจังหวัดยะลา แทนที่จะอยู่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 จังหวัดสงขลา
“บ่ายๆ หากว่างก็ออกเยี่ยมหน่วย ประชุมคดี ผมไม่ได้เรียกมาประชุมหน่วย ไปที่โรงพักเลย คดีใหญ่ๆ ระยะหลังถึงจับได้เยอะ ตั้งแต่ เผารถทัวร์ โจมตีจุดตรวจกรงปินัง ระเบิดบิ๊กซี ฆ่ากันที่ระแงะ เราลงไปดูเองทั้งหมด ตำรวจภาคใต้ค่อนข้างมีวินัย เท่าที่ผมอยู่มาหลายๆ หน่วย บรรยากาศมันต่างกัน เพียงแต่ดูแลเขาให้ดี ลูกน้องตาย ไปงานศพทุกงาน ให้เห็นว่า นายไม่ทอดทิ้งเขา โรงพักไหนมีปัญหา เข้าไปดูปัญหาเกิดจากอะไร ไปช่วยเขาแก้ไข”
ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดภาคใต้คนสุดท้ายมองอนาคตที่เปิดฉากรบนอกตำรากันมาตั้งแต่ปี 2547 ว่า ปัจจุบันมีเหตุเกิดเป็นเรื่องผิดปกติไปแล้ว น้อยไปมาก แต่ที่เรามองเห็น คือ ฝ่ายเขาดูเราตลอดว่า เราทำอะไร ตอนนี้เป้าหมายเขา คือ ทำลายเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจ ตอนมาใหม่ๆ เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร การข่าวส่งเอกสารให้เป็นปึก รายงานเหตุยาวเหยียดทุกวัน เปรียบเทียบปีนี้กับปี 2547-2548 ตอนนั้นรับผิดชอบสืบสวนมานั่งดูแต่ละวันที่เหตุเกิด ต้องพิจารณากันว่าจะไปเหตุไหนก่อน ทุกวันนี้ดีขึ้นเพราะเทคโนโลยีช่วยได้มาก ดีกว่าทุกหน่วยทั่วประเทศ กำลังพลที่นี่ก็ระดมมือดีจากทั่วประเทศเข้ามาอยู่
ได้พนักงานสอบสวนคดีความมั่งคง ปักธงแยกคดีอาชญากรรมทั่วไป
อดีตผู้กำกับการ 6 กองบังคับการปราบปรามมองอีกว่า ตำรวจส่วนกลางที่ระดมมาทำงานในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 บางส่วนยังอยูแล้ว กลายเป็นตำรวจพื้นที่ไปแล้ว งานสืบสวนที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ตำรวจค่อนข้างจะเก่ง หลายๆ เหตุมีคดีแฝงเยอะ พฤติกรรมเหมือนคดีความมั่นคง พอเรามาสืบจริงๆ แล้ว พบว่า ไม่ใช่คดีความมั่นคงและติดตามจับกุมได้ ชาวบ้านเริ่มเชื่อในเรื่องการสืบสวน การสอบสวน ยิ่งตอนนี้เราตั้งพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคงเฉพาะด้วย ขอสมัครใจจากตำรวจสอบสวนทั่วประเทศ พอมีคดีเกิดพวกนี้จะเข้าใจและมองทะลุเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐาน
เจ้าตัวยอมรับว่า เมื่อก่อนคดีความมั่นคงให้โรงพักรับผิดชอบ ถ้าโรงพักไหนสารวัตร รองผู้กำกับการมีศักยภาพ คดีก็ไปได้ แต่ส่วนใหญ่ ร.ต.ต. หรือ ร.ต.ท.ทำ พอส่งขึ้นศาล ต่อให้สืบสวนทำมาดี คนรวบรวมพยานหลักฐานรวบรวมไม่ครบ อัยการก็สั่งไม่ฟ้องบ้าง ศาลยกบ้าง เยอะมาก พอดำเนินคดีไม่ได้ ต้องเยียวยา ไม่รู้หมดเงินไปเท่าไหร่ ตอนนี้ มีพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคงจะเห็นภาพกว้างทั้งหมดต้องทำอะไรบ้าง แถมมีศูนย์พิสูจน์หลักฐานตั้งอยู่รวมกัน คิดว่าเป็นกองบัญชาการที่หน่วยพิสูจน์หลักฐานทำงานได้เต็มศักยภาพกับตำรวจท้องที่ได้ดีที่สุด
พล.ต.ท.รณศิลป์ขยายความว่า ผู้การพิสูจน์หลักฐานจะมานั่งประชุมทุกเช้าวันจันทร์ พุธ ศุกร์ มีคอนเฟอเรนซ์กับตำรวจทั้ง 3 จังหวัด ทุกเช้าใครมีเหตุอะไรมาก็รายงาน ส่งชุดสืบไปทำ ไปทำอะไรได้ ใช้อำนาจอัยการศึกควบคุมตัว เอาพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ ไปจับ พนักงานสอบสวนคดีความมั่นคงลงไปดูทำให้ขับเคลื่อนไปได้ พอแยกคดีความมั่นคงออกจากคดีอุกฉกรรจ์ธรรมดา เรายิ่งเริ่มเห็นแล้วว่า คดีความมั่นคง ไม่มาก เพราะเมื่อคดีไหนสืบไม่ออก กลายเป็นคดีความมั่นคงหมด
ยังสกัดไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แค่เข็นกดดันไม่ให้อยู่ในเขตเมือง
“คดีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ทำวันนี้แล้วจะเห็นผลวันนี้ หรืออีก 3 เดือน อาจจะเป็นปีถึงเห็นผล ตอนผมมาเป็นผู้บัญชาการเมื่อปี 2559 ไปรื้อระบบของปัตตานีที่เมื่อก่อนระเบิดทุกวัน โคกโพธิ์ ระเบิดรถไฟ ตอนนั้นแรง แต่ตอนนี้พอทำ รื้อคดีเก่าๆ ออกมา คดีที่ไม่รู้ตัว รื้อออกมาได้หลายสิบคดี รู้ตัวผู้กระทำผิด จับตัวได้ เริ่มเห็นผล เมื่อเดือนก่อนศาลพิพากษา 6 คดี กลุ่มคนร้ายกลุ่มเดียวกัน ประหาร 6 คน จำคุกตลอดชีวิต 3 คน จำคุก 9 ปี คนหนึ่ง ไม่เคยมีอย่างนี้มาก่อน ตอนนี้เริ่มเห็นว่า เดินถูกทางแล้ว คนที่ไม่เคยถูกพิสูจน์ทราบ เริ่มถูกพิสูจน์ทราบ”
แม่ทัพคุมพื้นที่สนามร้อนไฟใต้บอกว่า พวกนี้หน้าขาว ไม่เคยมีประวัติ วันดีคืนดี ไปก่อเหตุหัวหิน ไปตรัง ไปภูเก็ต ตอนนี้เราพยายามจัดเวทีให้ชกใน 3 จังหวัด ทำอะไร มาทำตรงนี้ ถ้าขึ้นไปเมื่อไร หวดเละเทะเลย เพราะตอนนี้รู้เยอะ เป็นกลุ่มที่ทำกลุ่มเดียวกันที่สมุย ภูเก็ต เราจะไม่ให้ขึ้นเกินแยกควนมีด เข้าสงขลา เข้าหาดใหญ่ ถามว่า สกัดได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ถือว่ายังไม่ได้ คือ ถ้ายังไม่พิสูจน์ทราบพวกนี้ ถือว่า ยังไม่ครบขบวนการ มีอีกพอสมควรที่ยังจับไม่ได้
ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 รับว่า พวกที่จับไม่ได้ส่วนหนึ่งไม่อยู่ในพื้นที่ หนีไปอยู่ป่าเขา พื้นที่สวนยาง มีแนวร่วมดูแล ไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้างบ้าง เราถึงต้องแก้ทุกมิติพร้อมกัน ต้องขยับขึ้นไปทีละขั้น ถ้าไปเจอปัญหาแล้วถอยมาขั้นหนึ่งก็ไม่หนักใจ ถ้าไปได้ตามสเต็ปที่วางไว้ที่ว่า จะสามารถเอาคนพวกนี้กลับมาได้เหตุการณ์น่าจะดีกว่านี้ แต่ถ้าอยู่ในสภาพที่เป็นอย่างนี้ เราได้แค่กดเขาไม่ให้อยู่ในหมู่บ้าน ในเมืองเท่านั้น
มอบนโยบายใส่มิติให้หัวหน้าโรงพัก ต้องตระหนักปฏิบัติตัวอยู่ในระเบียบวินัย
เจ้าตัวได้พูดในเรื่องมิติผู้นำในการบริหารงานสถานีตำรวจให้มีประสิทธิภาพของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ด้วยว่า แม้สภาพพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ กลุ่มแรกเป็นภาพอาชญากรรมทั่วไปของ 4 จังหวัดตอนบน ส่วนอีกกลุ่มเป็นเรื่องของความมั่นคง 3 จังหวัดตอนล่าง สำคัญสุด คือ ป้องกันอย่าให้มีการสูญเสียของกำลังพล ให้มียุทธวิธีในการปฏิบัติหน้าที่ ข้าราชการตำรวจต้องปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ผู้บังคับบัญชาต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ประจำหน่วย
พื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 ตอนบนมี 4 จังหวัดประกอบด้วยตรัง พัทลุง สตูล และสงขลา พล.ต.ท.รณศิลป์มองถึงอารมณ์ความแตกต่างกับ 3 จังหวัดตอนล่างอย่างปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่ถือเป็นกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคที่มีกองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรถึง 2 แห่ง แยกทำคดีอาชญากรรม 4 จังหวัดตอนบนกับคดีเกี่ยวกับความมั่นคงใน 3 จังหวัดภาคใต้
“พอปัญหา 3 จังหวัดค่อยๆ คลี่คลายแล้ว จังหวัดที่เหลือเป็นติ่งของเราไปแล้ว ตอนบนจริงๆ ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ละจังหวัดจะแตกต่างกัน มาใหม่ๆ พัทลุง ยิงใส่หลังคาบ้านกันทุกวัน เป็นจังหวัดเดียวที่มีปัญหาเรื่องอาวุธปืน ถือเป็นอาชญากรรมปกติที่ตำรวจทั่วไปคุมได้ ค่อยๆ ทำไป น่าจะดีขึ้น ไม่เหมือนสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง มันคือ ความแตกต่างของมิติการทำงานตำรวจพื้นที่” พล.ต.ท.รณศิลป์ว่า
พลิกปูมประวัติชีวิตรับราชการ เป็นลูกหม้อนครบาลได้อาจารย์เก่ง
ย้อนบันทึกประวัติเส้นทางรับราชการของ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ นับว่าโชกโชนผ่านคดีสำคัญมาจำนวนไม่น้อย เกิดในครอบครัวครู พ่อเป็นนายทหารยศพันเอกสอนอยู่โรงเรียนเตรียมทหาร ส่วนแม่เป็นเรือจ้างประจำโรงเรียนวัดราชผาติการาม เชิงสะพานซังฮี้ หลังเรียนจบประถมโรงเรียนประกอบอนุสรณ์ ได้มุ่งหน้าสู่ “รั้วชมพูฟ้า”สวนกุหลาบวิทยาลัยรุ่น 97 เสร็จแล้วสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 มีเพื่อนนักเรียนที่ติดสอยห้อยตามไปเจอกัน อาทิ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ พล.ต.ต.อภิชาติ ศิริสิทธิ์ และพล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล
ตั้งใจอยากสวมเครื่องแบบตำรวจตั้งแต่เด็กอาจเป็นเพราะพ่อแม่รับราชการ พี่ชาย 2 คนทำงานสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กับเป็นนายทหารเรือ ทว่าตัวเองชอบแนวบู๊ คิดว่าเป็นตำรวจดีกว่า ลงบรรจุตำแหน่งครั้งแรกเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร เจ้าตัวเล่าว่า ไปใหม่ ๆ เข้าเวรเที่ยงคืน พอ 3-4 ทุ่มเข้าโรงพักแล้ว รีบไปนั่งเกาะรถสายตรวจวนรอบพื้นที่ตรวจไปเรื่อยจนถึงเวลาเข้าเวร ถึงเวลาออกเวร 6 โมงเช้าก็ทำต่ออีก ไปงานสายตรวจบ้าง สายสืบบ้าง พยายามศึกษาพื้นที่ ดูรุ่นพี่ทำงาน หาประสบการณ์ให้ตัวเอง “ไม่ใช่เป็นร้อยเวรแล้วจะมานั่งอยู่กับที่ เพราะผมมันชอบทำตัวอยู่ไม่ค่อยสุข”
เพียงแค่ 2 ปี หมวดรณศิลป์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าสายสืบ ก่อนข้ามโรงพักอยู่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก เจอต้นแบบนักสืบที่ตัวเขายอมรับนับถือเป็นครูคนแรกอย่าง สารวัตรฉัตรกนก เขียวแสงส่อง เรียนรู้วิชาแกร่งกล้าเข้าตา พล.ต.ต.บุญชอบ พุ่มวิจิตร ผู้บังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี เรียกให้ไปช่วยราชการสืบสวนนครบาลธนบุรี
คลุกวงสืบสวนคลายปมคดีดัง ก่อนข้ามไปนั่งทำงานในสังกัดกองปราบ
“ตอนนั้น ผมเป็นสารวัตรสอบสวนบางขุนเทียนได้แค่ 7 วัน ท่านบุญชอบขอตัวไปช่วยราชการกองสืบเลย” พล.ต.ท.รณศิลป์เล่าเหตุการณ์ในยุค พ.ต.อ.สัญจัย บุณยเกียรติ นั่งผู้กำกับสืบสวนธนบุรี สร้างหน่วยตำรวจนอกเครื่องแบบโด่งดังไม่แพ้สืบสวนเหนือ – สืบสวนใต้ กลายเป็นชุดดรีมทีมสืบสวนธนฯเคียงข้างรุ่นพี่ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง
ต่อมากองบัญชาการตำรวจนครบาลปรับโครงสร้างยุบตำนานกองบังคับการเหนือ-ใต้-ธนบุรี แตกออกเป็นกองบังคับการนครบาล 1-9 ส่งผลให้ พล.ต.ต.รณศิลป์ ข้ามฝั่งเจ้าพระยาเป็นสารวัตรกองกำกับการสืบสวนนครบาล 4 ปิดคดีฆ่าชิงรถลูกชายอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ก่อนจะย้ายกลับถิ่นเก่าเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนนครบาล 7 ไขคดีชำแหละศพ “เจนจิรา พลอยองุ่นศรี” นักศึกษาแพทย์นำไปสู่การจับกุมเสริม สาครราษฎร์ นักศึกษาแพทย์ชื่อดัง
กระทั่ง “ฉัตรกนก” ย้ายเป็นผู้กำกับการ 3 กองปราบปราม ได้พยายามทาบทามเขาไปอยู่ด้วย แต่ เจ้าตัวปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ถนัดงานต่างจังหวัด คุ้นเคยกับพื้นที่เมืองหลวงมากกว่า จากนั้นไม่นาน ฉัตรกนกสลับมาดูแลพื้นที่กองกำกับการ 1 กองปราบปราม เที่ยวนี้เขาถึงเลี่ยงไม่ได้กลายเป็นทีมงานสืบสวนของกองปราบฯ ผ่านคดีสำคัญ อาทิ จับกุม นายณฤทธิ์ เพ็งเอี่ย พร้อมพวก ผู้ต้องหาในคดียิง นายสันติ ชัยวิรัตนะ อดีตรัฐมนตรี และส.ส.หลายสมัย คดีอดีตนายทหารพร้อมพวกกักขังหน่วงเหนี่ยวพนักงานฝ่ายตรวจสอบบัญชี บริษัทก่อสร้างชื่อดัง สามารถจู่โจมชิงตัวผู้ตรวจสอบบัญชีออกมาได้อย่างปลอดภัย
ขึ้นผู้การสืบสวนเมืองหลวง คดีทั้งหลายทั้งปวงเก็บกวาดเกลี้ยง
ห่างนครบาลติดอาร์มคลุกอยู่กองปราบปรามจนเลื่อนเป็นผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามสืบสวนคดีเศรษฐกิจ เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันทหารพัฒนา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ถึงถูกดึงตัวลงไปช่วยงานที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จังหวัดยะลานาน 7 ปี ขยับเป็นรองผู้บังคับการตำรวจน้ำ รองผู้การกองปราบปราม แต่ตัวอยู่พื้นที่ชายแดนกว่าจะติดยศนายพลคืนถิ่นเก่าเป็นผู้บังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล
ครั้งนั้น พล.ต.ท.รณศิลป์บอกว่า ถนัดงานสืบอยู่แล้ว การมาคุมงานสืบสวนที่นครบาล ต้องเข้าใจว่าโครงสร้างของที่นี่กำหนดให้แต่ละกองหน้างานไม่เหมือนกัน เช่น กอง 1 ถนัดมือปืนรับจ้าง กอง 2 ดูแลงานยาเสพติด จะมีความสามารถเรื่องสะกดรอยติดตามคนร้ายใช้เครื่องมือพิเศษ กอง 3 ดูหลายเรื่อง ความสามรถหลากหลาย พอเรามาอยู่ก็ดึงเอาทุกกองมาทำคดีเดียวกัน เด็กมันก็สนุก มันก็อยากทำ งานมันก็ออกเรื่อย ๆ
“นโยบายของผม คือ ไม่บังกัน ถ้างานออก คนที่ทำงาน จะได้หน้าได้ตา ไม่ใช่หน่วยโน้นทำเราไม่ให้ข่าว มันไม่ใช่ งานถึงออกมาตลอด ส่วนมากงานที่หยิบมาทำจะออกหมด มันเกิดจากทุกคนร่วมแรงร่วมใจ เวลามีงานไม่ใช่กองใครกองมัน ผู้กำกับทุกคนต้องลงมาช่วย ใครมีความถนัดด้านไหนก็เข้ามาคุยกัน เราขึ้นกระดานเลยว่า งานนี้ใครรับไปทำได้ แต่ละชิ้น พอมารวมกันมันจะได้เป็นรูปเป็นร่าง และรวดเร็ว”
ย้ายระเนนระนาดหลายเก้าอี้ คลี่ปมปิดแฟ้มบึมแยกราชประสงค์
คุมทัพเป็นหัวหน้าหน่วยสืบสวนนครบาล เจ้าตัวยังอดห่วงไม่ได้ว่า ภาพรวมอาชญากรรมกรุงเทพฯ เรื่องยาเสพติดสำคัญสุด มันจะทำให้เกิดลูกโซ่หลายอย่างตามมา เด็ก ๆ ติดยาเสพติดกลางคืนออกเที่ยวเตร่ ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนชิงทรัพย์ ค้าขายยาเสพติด ยิ่งเดี๋ยวนี้พ่อค้ายาเสพติดมีอาวุธปืนติดตัวตลอด ตำรวจถูกยิงประจำ ตอนนี้รัฐบาลเริ่มวางนโยบายแก้ปัญหา คิดว่าถูกทางแล้ว เพราะถ้าทำเรื่องยาเสพติดได้อาชญากรรมมันก็จะลดลง “แต่มันคงต้องใช้เวลา” เขามองแบบนั้น
นั่งเก้าอี้ไม่นานโดนย้ายข้ามเป็นผู้บังคับการสืบสวนตรวจคนเข้าเมือง ขึ้นรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ข้ามเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 โดนย้ายเข้ากรุเป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ แต่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจเห็นในฝีไม้ลายมือเรียกมาช่วยทำคดีสำคัญและย้ายกลับมาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
มีส่วนร่วมกันคลี่คลายคดีระเบิดสะท้านกรุงที่ศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ กระทั่งขยับเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เกือบปีถึงขึ้นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนใต้คนสุดท้ายก่อนยุบหน่วยถูกสอยเข้าประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และไปรักษาการผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวหน่วยงานใหม่ชั่วคราวแล้วกลับมานั่งคุมทัพ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มพื้นที่รับผิดชอบอีก 4 จังหวัดตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9