“ตำรวจกับเรื่องของภาพลักษณ์คงไม่สามารถจะทำมันเลิศเลอ”

 

ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญนับตั้งแต่เปลี่ยนผู้นำคนใหม่

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กลายเป็น “โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ในยุค พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ นั่งเก้าอี้ “แม่ทัพปทุมวัน” ท่ามกลางความคาดหวังจะเข้าไปมาช่วยกอบ “กู้ภาพลักษณ์” องค์กร

สู้รบปรบมือบรรดานักเกรียนคีย์บอร์ดที่จ้องถล่มตำรวจในโลกไซเบอร์

ถือเป็นงานท้าทายของนายพลคนหนุ่มในบทกัปตัน “ทีมปฏิบัติการข่าวสาร” ขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ ปั้น “สื่อ สร้าง สาร” กับการบ้านชิ้นโต โชว์ฝีมือสมที่ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ

กระทั่งสมาคมผู้สื่อข่าวช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทยมอบฉายา “องครักษ์พิทักษ์ สตช.” พิสูจน์ผลงานโดดเด่นในการเป็น “กระบอกเสียง” ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ตอบปัญหาชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ และคอยให้ข้อมูลข่าวสารกับทางสื่อมวลชนเป็นอย่างดี

 

หนุ่มชาวกรุงมุ่งเป็นสถาปนิก พลิกผันสู่รั้วเตรียมทหาร

ประวัติเส้นทางชีวิตของ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง เป็นชาวกรุงเทพมหานคร บ้านอยู่ย่านลาดกระบัง ทันทีที่จบมัธยมศึกษาโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เบนเข็มสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเป็นรุ่น 30 เลือกเหล่านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 46 ทั้งที่ใจอยากเป็นสถาปนิกตามค่านิยมในหมู่วัยรุ่นยุคนั้น ประกอบกับเป็นคนตัวเล็ก ไม่ได้เป็นพวกชอบออกกำลังกาย แถมป่วยเป็นโรคภูมิแพ้มาตั้งแต่เด็ก

“เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ไม่เคยคิดอยากไปออกกำลังกาย จะไปฝึกอะไรไม่มีอยู่ในหัว แต่เพื่อนดันไปซื้อใบสมัครเตรียมทหารให้ ลองสอบดูแล้วติด ไปบอกคุณพ่อว่า ถ้าจบจากเตรียมทหารแล้วจะลองไปขอเอ็นทรานซ์เข้าสถาปัตย์ได้หรือไม่ เพราะยังมีความหวังอยากเป็นสถาปนิก แต่ความคิดนั้นไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย” เจ้าตัวว่า

เรียนจบขึ้นเหล่าเข้าสู่รั้วสามพราน พล.ต.ต.อาชยนมีความฝันอีกว่า ถ้าสำเร็จหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้วอยากจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ดังนั้นพอลงบรรจุเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดุสิตได้ประมาณ 6 เดือน ตัดสินใจเดินตามความฝันด้วยการนลาไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านการบริหารจัดการภาครัฐ มหาวิทยาลัยเซาท์อีสเทิร์น  กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกานาน 2 ปี

 

เดินติดตามผู้เป็นนาย พร้อมวาดลวดลายลงสนาม

บินกลับมาทำงานอยู่แผนกสถิติ กองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี เป็นจังหวะที่ผู้บังคับบัญชาต้องการนายตำรวจที่จบปริญญาโท เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษสามารถช่วยโต้ตอบประสานงานกับต่างประเทศไทย เขาถึงเป็นตัวเลือกให้ไปเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.ท.มีชัย นุกูลกิจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น มีโอกาสเรียนรู้งานอีกด้านของระดับกรมตำรวจ

หลังจากนั้นลงเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ แล้วกลับเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.ท.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอีกรอบ แล้วขยับขึ้นสารวัตรแผนก 8 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว หรือสารวัตรตำรวจท่องเที่ยวเชียงใหม่ เป็นรองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวและได้มาเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ต่อมาเป็นผู้กำกับการประจำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ขยับนั่งผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวดูแลรับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร สุดท้ายกลับสู่เวย์ในการเป็นนายตำรวจติดตามในตำแหน่งนายเวร พล.ต.อ.วิเชียร์ พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พอหมดอำนาจผู้เป็นนายได้ลงสนามเป็นรองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ทำงานปราบปรามอาชญากรรมคนร้ายข้ามชาติจนเลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 และรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

 

แบบฉบับนักสืบพันธุ์ใหม่ เปิดเกมไล่เก็บแก๊งคอลเซ็นเตอร์

“ชีวิตจริงๆ ผมทำงานสืบสวนมาตลอดนะ” พล.ต.ต.อาชยนว่า แม้จะดูประวัติวนเวียนติดตามนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จะโดนเรียกใช้ไปคุมภารกิจพิเศษเป็นสืบสวนในอีกลักษณะ หาข่าวจากแหล่งข่าวต่างประเทศ คนละแนวกับงานสืบทั่วไป ถ้าพูดถึงชื่อแต่ละคน เราไม่ได้เป็นสตาฟฟ์ให้ใครเหมือนคนอื่น แต่ใช้การประสานงานระหว่างประเทศนำด้วยความที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตำรวจระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศจับงานด้านคนต่างประเทศ

พล.ต.ต.อาชยนเล่าว่า ตั้งแต่เป็นตำรวจท่องเที่ยวเชียงใหม่ทำงานเรื่องของการค้ามนุษย์ที่มีข้อมูลบุคคลต่างชาติ เพราะเราจะรู้ก่อนเสมอว่า คนต่างชาติมีวิถีกินอย่างไร อยู่อย่างไร เที่ยวแบบไหน ทำให้เราได้ซึมซับการทำงานที่เป็นใต้ดินร่วมกับคนต่างประเทศ องค์กรต่างประเทศ ทำให้เราได้มีความรู้ และเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า คอลเซ็นเตอร์

“ตอนนั้นลูกน้องบอกว่า มีคนจีน 30-40 คนอยู่ในบ้านแต่ละหลัง ผมอยู่ตำรวจท่องเที่ยวรู้สึกว่า แปลก นำไปจับกุม ยอมรับตอนแรกเอาผิดได้ยาก เพราะแต่ละคนทำงานเป็นโต๊ะ แต่ละตัวมีการจดว่า มีการโทรหาใคร ตอนนั้นระบบโบราณที่ใช้กันอยู่ ผมได้ทำมาตั้งแต่ต้น กระทั่งเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นไป ได้มีหาความรู้เพิ่มเติมจากเอฟบีไอ ได้ไปต่อยอดกับพวกอาชญากรรมไซเบอร์ของต่างประเทศในเรื่ององค์กรอาชญากรข้ามชาตินำมาปรับใช้ในการทำงานของเราเอง” รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอธิบาย

 

หวังสร้างวัคซีนคุ้มกันเหยื่อ เมื่อยากกวาดมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์

เขามักประสานงานเรื่องต่างประเทศจนเชื่อฝีไม่ลายมือกันเป็นเครือข่ายร่วมกันล่าคนร้ายข้ามชาติ ทำให้รู้กลไกของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ในปัจจุบันย้ายฐานบัญชาการไม่อยู่ต่างประเทศหมดแล้ว แต่ได้อาศัยเพื่อนผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในมือ อาทิ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอีกหลายประเทศ ทำให้การประสานงาน    ระหว่างประเทศได้เป็นไปอย่างดีเพื่อตัดขั้นตอนของแง่มุมกฎหมายในการเข้าไปจับ จนทุกอย่างตอนนั้นดาวน์ลงไปเกือบหมด

พล.ต.ต.อาชยนเสียดายว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมาระบาดอาละวาดระลอกหลังกลายเป็นโจทย์ที่ยาก ไม่เหมือนในอดีต แต่ละประเทศยังยอมรับว่า ลำบาก เมื่อเจ้าหน้าที่บางคนมีผลประโยชน์ถึงเป็นเหตุผลที่ยังทำไม่สำเร็จ เมื่อก่อนปรานเบื้องต้นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินก็สำเร็จ แต่ปัจจุบันเรื่องของเทคโนโลยีทำให้แก๊งมิจฉาชีพถ่ายเทเงินออกนอกประเทศในเวลาอันรวดเร็ว

นายพลนักสืบรุ่นใหม่สารภาพว่า แทบไม่มีทางที่จะสกัดได้ วิธีการเดียวที่เราต้องทำ คือให้ชาวบ้านมีภูมิคุ้มกันที่จะไม่โดนหลอก แต่อย่างว่า ยังมีอีกหลายคนอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ฟังข่าว ไม่ได้ดูโลกโซเชียล เป็นการบ้านที่ตำรวจจะทำอย่างไร ไม่ทิ้งประชาชน “เหมือนนิยามของนักสืบของผม เป็นวงจรนักสืบที่ต้องคิดให้ครบทุกมิติ  เราไม่ได้สืบแค่เฉพาะจะให้จับโจรได้ แต่เราจะสืบ แล้วเราจะทำลายขั้นตอนต่างๆ เพื่อไม่ให้คดีมันเกิด  คือสิ่งที่ผมคิดมาตลอด และลงมือทำ ก็ได้ทำมาตลอด เน้นอาชญากรข้ามชาติ อาชญากรรมข้ามชาติ เน้นวิธีการใหม่ๆ ของอาชญากรที่ใช้”

กำลังสนุกสนานกับงานล่าอาชญากร โดนแผลงศรให้มารับหน้าที่โฆษก

เจ้าตัวมีองค์ความรู้ในเรื่องของแผนประทุษกรรมคนร้ายหลายชาติพบว่า โซนเอเชียจะใช้แผนประทุษกรรมอย่างหนึ่ง โซนยุโรปมีแผนประทุษกรรมอย่าง โซนที่หลอกลวงต่างๆ จะอยู่ที่นิสัยใจคอของคนในแต่ละประเทศ อย่างอเมริกาจะต้องใช้วิธีการแบบนี้ถึงจะหลอกได้ ญี่ปุ่นใช้แบบนี้ในการหลอก วิธีไม่เหมือนกัน แต่สุดท้าย หัวโจกที่คิดพลอตจะมาจากต่างประเทศเป็นเรื่องที่ตำรวจจะต้องเรียนรู้จากประชาคมตำรวจต่างประเทศที่ทำงานในประเทศไทย เราจะได้รู้จักลู่ทาง ช่องทาง เพื่ออัปเดตอยู่เสมอ นำไปต่อยอดถ่ายทอดเพื่อนฝูงคนที่เป็นนักสืบแท้ ๆ ผสมกันให้งานสมบูรณ์แบบมากขึ้น รอบคอบมากขึ้น

ทำงานสืบสวนปราบปรามสารพัดเครือข่ายองค์กรข้ามชาติ จู่ ๆ ถูกทาบทามให้มาทำหน้าที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติทันทีที่เปลี่ยนบัลลังก์เจ้าสำนัก พล.ต.ต.อาชยนมองเหตุผลว่า อาจเป็นเพราะตัวเองอธิบายเรื่องคดีเก่งเมื่อครั้งรับหน้าที่โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พูดสั้นกระชับ ผู้ใหญ่เข้าใจ “การจะมาอธิบายให้ใครเข้าใจอะไร เป็นเรื่องที่ต้องใช้ศิลปะ ทำอย่างไรจะบรีฟข้อมูลให้ผู้บังคับบัญชาว่า ต้องทำอะไรบ้าง พุดอะไรบ้าง ทำให้เราคิดเป็นขั้นเป็นตอน”

“จริงๆ มีแค่นี้เอง หลักคือ พูดรู้เรื่อง จริงใจ ถ้าเกิดว่า เราจะต้องมีข้อมูลอะไรที่ไม่อยากจะพูด เราก็ต้องพูดกับเขา บอกไปนอกรอบว่าจริงๆ  แล้วเรื่องมันเป็นอย่างนี้ แต่ขอเถอะ ส่วนใหญ่ผมจะพูดกับสื่อกันรู้เรื่อง แล้วพอผู้ใหญ่เห็นอย่างนี้แล้วเลยคิดว่า ผมน่าจะเป็นโฆษกได้ ถึงเลือกให้เป็นโฆษก ยอมรับว่า ตอนนั้นคิดว่า งานเข้าแน่ ๆ แล้ว เพราะเป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรู้แนวนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ครบถ้วน ซึ่งตัวท่านเป็นคนลงรายละเอียดในเรื่องนโยบายทุกอย่าง เราต้องตามให้ทัน”

ปรับกระบวนยุทธ์รุกประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติขยายความว่า ต้องคิดหลักการแก้ปัญหาสำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนที่มีข้อเท็จจริงเป็นลบ ต้องมาบวกข้อกฎหมาย ผสมผสานให้มาอยู่ในรูปของการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเข้าใจตำรวจ เราต้องจริงใจ ไม่ใช่ว่า เกิด บอกไม่เกิด ต้องใช้ความจริง เป็นสูตรที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องให้ความมั่นใจกับประชาชน ไม่ปกปิดความผิด แล้วจะต้องติดตามทุกกระบวนการ ไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง

“เป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร เพราะเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเรื่องที่ผสมผสานหลายส่วน แตะอะไรมักจะโดนตำหนิ เนื่องจากเรามีคู่กรณีอยู่มากมายเป็นคนชั่ว คนไม่ดี แต่เราจะไม่เป็นคู่กรณีของประชาชนคนดี คนสุจริตชน  ทว่าเราจะถูกเฟกนิวส์ ถูกจับเอาตรงนั้นตรงนี้มาใส่บ้าง เราต้องพร้อมที่จะชี้แจง และต้องรวดเร็ว หากเราจะช้ากว่าสื่อโซเชียลของประชาชนจะทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยน”

กระนั้นก็ตาม พล.ต.ต.อาชยนบอกว่า  แม้จะช้ากว่า แต่มั่นใจว่า ชัวร์ และรอบคอบให้ประชาชนมั่นใจ อาจจะเป็นมวยจังหวะสองทุกครั้ง สุดท้ายประชาชนเข้าใจ และคงไม่ได้ให้ไปลุกลามใหญ่โต ถึงขั้นที่จะไปอคติกับตำรวจเท่านั้นเอง ถือว่าโอเค ถามว่า 3 เดือนที่มาทำหน้าที่เหนื่อยไหม ถ้าตอบว่า ไม่เหนื่อย คือโกหก เนื่องจากคิดจนกระทั่งไม่รู้ว่าจะพูดอะไร เพราะว่า ในทั้งวันมีเรื่องที่จะต้องรับข้อมูล “ ผมเป็นคนหนึ่งที่น่าจะส่อง และดูโซเชียลมากที่สุด มี 10 เรื่องอาจจะตอบได้เกือบหมด เหลือสัก 2 เรื่องที่ตอบไม่ได้ ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ต้องเรียนรู้เรื่องกฎหมาย เพราะแต่ละเรื่องไม่เหมือนกันเลยเพื่อที่จะได้ความชัดเจนมากที่สุด มันมีแง่มุมของกฎหมายที่ตอบไปแล้ว ถ้าคนสับสนอย่าตอบดีกว่า เสียเวลานิดเดียวทำให้ชัดเจนว่าข้อกฎหมายเป็นอย่างนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่บวกสำหรับเรา”

 

ต้องอธิบายทุกอย่างให้กระจ่าง แหวกทางชาวบ้านเดินไปพร้อมกัน

พล.ต.ต.อาชยนยืนยันว่า เราต้องทำจริง ๆ ทุกอย่าง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นวัวหายแล้วล้อมคอก เป็นสิ่งที่เราจะต้องเดินแล้วก็เรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่อยากให้รู้สึกว่า ถ้าประชาชนเห็นอย่างนี้แล้วต้องเดินไปกับเราด้วย เรียนรู้ไปด้วยกัน เช่นกรณีหนองบัวลำภู เกี่ยวกับอาวุธปืน ยาเสพติด หรือแม้แต่การจราจร เราต้องส่งเสริมในเรื่องของนิติทรรศนะให้ประชาชนรู้ว่า ต้องเรียนรู้กฎหมายด้วย หากทำอะไรไปรบกวนสิทธิคนอื่นต้องรู้ถึงผลกระทบที่ตามมา

เจ้าของฉายาองค์พิทักษ์ สตช.บอกด้วยว่า  ถ้าได้มาทำหน้าที่ตรงนี้แล้วไม่รู้ จะอธิบายอย่างไร ประชาชนก็ไม่เข้าใจ สิ่งที่เราทำคือ รักษาหลักการที่เป็นกติกาสากล ถ่ายทอดต่อว่า ตำรวจมียุทธวิธีอย่างไร มีหลักคิดแบบไหน หลายคนชอบพูดว่า เวลาจัดการปัญหาจากเบาไปหาหนัก แต่ปัจจุบันไม่ใช่  เรียกกันว่า เป็นการใช้สัดส่วน สมมติว่า คู่ต่อสู้มาด้วยสิ่งที่เป็นลักษณะของที่มีอาวุธหนัก ตำรวจสามารถตัดสินใจอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช่จะเริ่มต้นด้วยเบาไป หากปล่อยไว้สภาพชีวิตผู้บริสุทธิ์จะเป็นอย่างไร

สุดท้ายเขาเลือกเดินตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ระบุว่า ความทุกข์ของประชาชน ตำรวจจะต้องรีบเข้าไปแก้ไขให้ทันท่วงที คิดว่า สังคมคงเข้าใจหลัก  “ผมคิดว่า สังคมคงไม่มีแบบรำวง เล่นลิเก อีกแล้วว่า จะต้องมีการไปตรวจเท่าไร การป้องกันมีสถิติเท่าไร พวกนี้เป็นเรื่องของตัวเลข  จริงๆ ประชาชนเดือดร้อนอะไรต้องไปช่วย อยากได้อะไรต้องลงไปดูว่า ช่วยได้มุมไหนบ้าง ถ้าไม่ได้ก็รายงานขึ้นมาเพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

 

ชูบทบาทประสานงานสิบทิศ ทำให้เกิดแนวคิดแก้สารพัดปัญหา

“ผมเชื่อว่าในอนาคต ตำรวจทำงานคนเดียวไม่ได้ ยกตัวอย่างพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก มีหน่วยงานต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด ตำรวจต้องเป็นนักประสานงาน ไม่ใช่มือปราบ หรือนักสืบอย่างเดียว หน่วยงานอื่นมีอำนาจหน้าที่ มีกฎหมายมาช่วยตำรวจแค่นิดเดียวทุกอย่างมันก็จบ”  พล.ต.ต.อาชยนเสนอแนวคิดและบอกดด้วยว่า ความที่เคยเป็นนายเวรลงพื้นที่ก่อนได้มาจับงานสืบสวนคดีต่าง ๆ หล่อหลอมเราขึ้นมา ทำให้ได้ภาพพและมุมมอง ความคิดของหลายภาคส่วน

นายพลมากฝีไม้ลายมืออนาคตไกลย้ำว่า เราต้องรู้ผู้บังคับบัญชาต้องการอะไร ลูกน้องขาดเหลืออะไร และต้องรู้ตัวเองด้วยว่า เราถนัดอะไร ดังนั้นการมาทำหน้าที่นี้อยากให้มีความรู้สึกว่า สนุกกับการทำงาน ถ้าสนุกกับการทำงานแล้วจะรู้ว่า ไม่เบื่อ แล้วจะมีแนวคิด มีไอเดียใหม่ ๆ มาแก้ปัญหาที่ไม่เคยแก้ได้ ที่ผ่านมาแก้ปัญหาไปได้หลายเรื่อง โดยไม่ต้องประกาศให้ใครทราบ เพราะส่วนใหญ่ที่ทำทั้งหมด คือ ความสุขที่เราได้แก้ไขปัญหา

“มันทำให้รู้แก่นของปัญหา คือตรงไหน คิดว่าเป็นหลักในการทำงานกับหลักคิดที่ได้ทำมาตลอด สำหรับทีมงานประชาสัมพันธ์สำคัญเช่นเดียวกัน แม้ไม่ได้เลือกเองทั้งหมด แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดทำมาตลอด คือเลือกเองบ้าง และใช้องคาพยพที่มีอยู่บ้าง เราไม่สามารถทำให้ใครถูกใจได้ทุกคน แต่เราพยายามใส่ใจในการถ่ายทอดปัญหาของตำรวจ ทำอย่างไรก็ได้แต่อย่าขี้เกียจที่ต้องบอกลูกน้องทุกระดับชั้นให้เข้าใจว่า เราอยากได้อะไร มีหลักการทำงานอย่างไรเพื่อประชาชน ถ้าเข้าใจแล้วไม่ปฏิบัติก็องมีเรื่องกัน แต่ถ้าไม่เข้าใจ พวกเราพร้อมที่จะทำความเข้าใจ ขึ้นอยู่กับสติปัญญา หรือความสามารถของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน แต่เราจะไม่ทิ้งใครให้โดดเดี่ยว”

 

ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเชื่อถือ อย่าสื่อข้อความวกวนสับสนกว่าเก่า

พลตำรวจตรีหนุ่มยังบอกว่า ตอนรับตำแหน่งโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติครั้งแรก ชาวบ้านอาจยังไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ ทว่าตำรวจรู้จักกันอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเชื่อถือ เพราะเราไม่เคยออกสื่อหลัก นอกจากสื่อของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สิ่งหนึ่งที่คิดว่าจะให้ประชาชน ชาวบ้านเชื่อถือได้ มีเวลาไม่นานในการจะสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน ด้วยเรื่องของการพูดออกสื่อ หรือโฟนอิน และจะต้องทำการบ้าน  เตรียมตัวศึกษาไว้ล่วงหน้าว่า แต่ละช่วงมีเหตุการณ์อะไรฮอต เราจะต้องทำให้ตรงที่สุด ทำให้ชาวบ้านฟังเราแล้วจบ

“ไม่ใช่ให้ชาวบ้านฟังเราแล้ว สงสัยมากขึ้นไปอีก ตรงนี้ผมคิดไว้มากว่า พร้อมจะตอบคำถามให้ทุกอย่างกระจ่าง ให้เข้าใจว่า ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดซ้ำ พอชาวบ้านฟังแล้วรู้สึกว่า ตำรวจคนนี้พูดพอฟังได้บ้างก็ผ่านไปได้ แต่ถ้ายิ่งมีคนไม่รู้จัก แล้วเราพูดวกวนสับสนไม่ชัดเจนจะยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้น ผมและทีมงานต้องทำทุกอย่างให้ประชาชนประทับใจในเวลาอันสั้นที่สุด”

ผลตอบรับกลับมา พล.ต.ต.อาชยนว่า ประชาชนพอใจ เพราะเราให้ข้อมูลที่ถูกต้อง กระนั้นก็ตามเรายังต้องพัฒนาต่อเนื่องในหลายเรื่อง ไม่มีใครจะเรียกว่า เพอร์เฟกต์ สำหรับยุคนี้ ปัจจุบันคนที่จะรอดต้องพร้อมจะเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเติมน้ำเข้าไปในแก้วตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีทางที่จะพอใจได้ในความรู้สึกว่า เราทำอยู่พอแล้ว เพราะโลกก้าวไปไกลมาก ถ้าเราไม่ขวนขวาย  ศึกษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะแง่มุมกฎหมาย ไม่ว่าจะทริกกลโกงใหม่ๆ หรือว่าไม่อยู่กับลูกน้อง ไม่อยู่กับเจ้านายที่เข้าใจจะไม่ทันเกม

 

การบ้านข้อหลักสำคัญ ปั่นงานให้สังคมส่วนใหญ่เข้าใจตำรวจ

เจ้าตัวและทีมงานต้องทำการบ้านให้หนักกว่าคนอื่นเพื่อร่วมขับเคลื่อนเนื้องานประชาสัมนธ์ ถามว่าจะแก้ภาพพจน์ขององค์กรตำรวจได้หรือไม่ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติมองว่า ต้องช่วยกัน คนในองค์กรต้องเข้าใจด้วยว่า สังคมมองตำรวจอย่างไร อาทิ พื้นฐานเรื่องการขับรถ การจอดในที่ห้ามจอด เป็นเจ้าหน้าที่กิริยามารยาทแค่คำพูดคนที่ขึ้นมาโรงพัก ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดทัศนคติปรับจูนกัน

“ผมรู้ว่า ตำรวจเหนื่อย แต่ไม่ควรจะพูดจาไม่ดี อธิบายไม่เข้าใจกับประชาชน มันจะวนมาจุดที่ว่า เราควรที่จะต้องดูตัวเองด้วย ดูตัวเองไม่พอ เราจะต้องประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนให้รับทราบว่า เราทำอะไรอยู่ ทำมามากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะทำอะไรต่อไป การแก้ภาพพจน์องค์กรถึงจะดีขึ้นแน่นอน”

“ ทั้งนี้ทั้งนั้น ตำรวจกับเรื่องของภาพลักษณ์คงไม่สามารถจะทำมันเลิศเลอ ให้คนทั้งหมดหันมานิยมชมชอบตำรวจได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่แค่ขอให้เข้าใจตำรวจ แล้วระบายออกในสิ่งที่ประชาชนรู้สึกเพื่อปรับความเข้าใจกันว่า ตำรวจทำเต็มที่ แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว” พล.ต.ต.อาชยนว่า

 

ฝากมุมคิดถึงประชาชน ขอให้เพื่อนพี่น้องทุกคนอดทนอย่าท้อ

เขาอยากฝากถึงชาวบ้านว่า ตำรวจ คือ ลูกหลานของประชาชน มีหัวจิตหัวใจที่ต้องการจะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน แต่คนในองค์กรมี 2 แสนกว่าคน อาจจะมีบางคนที่เดินออกนอกลู่นอกทาง แต่เราพยายามที่จะทำทุกอย่างให้เกิดความยุติธรรม คนไม่ดีคงต้องดำเนินการ แต่คนที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อยากให้ประชาชนให้กำลังใจด้วย อย่าให้เสียกำลังใจในสิ่งที่ทุ่มเทปฏิบัติมา

ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.อาชยนถึงเพื่อนพี่น้องร่วมอาชีพไว้ด้วยว่า ยุคนี้ตำรวจต้องพูดความจริงกับประชาชน ต้องเห็นประชาชนเป็นศูนย์กลางที่จะต้องไปช่วย แล้วพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ ถ้าพบว่ามีการกระทำผิด หรือมีอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมาต้องดำเนินการ ไม่มีการปกปิดในความผิดที่เจ้าหน้าที่ หรือตำรวจได้กระทำ

“ขอให้รู้ว่า ทุกสายงานเป็นงานที่หนัก ต้องมีความอดทนอดกลั้น อย่าท้อ ตำรวจเองต้องเป็นกำลังใจให้กัน  รักกัน ถ้าตำรวจเราไม่รักกัน ไม่ทำในสิ่งที่ดีให้กัน องค์กรก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอให้มีความรู้สึกว่า เราทำงาน เดินไปด้วยกัน แล้วจะประสบความสำเร็จในการที่จะนำความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับมาเชื่อมั่นในตำรวจได้อย่างสมศักดิ์ศรี และเต็มภาคภูมิเท่านั้นเอง” โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติทิ้งท้าย

 

….

“พวกเราต้องเร็ว แต่ละวัน สงสารคนโดนหลอกเยอะ ต้องรีบเตือนให้พวกเขารู้”​

ผู้กำกับญา-พ.ต.อ.ปริญญา กลิ่นเกษร ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ แกนหลักทีมงานประชาสัมพันธ์ช่วยอยู่หลังม่านโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทายาท พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตนายตำรวจมือปราบกับนางจงจิต จิรการพงษ์

เป็นชาวอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ศึกษาชั้นอนุบาล – ประถมปีที่ 5 ที่โรงเรียนถาวรวิทยาในถิ่นเกิดแล้วเข้ามาศึกษาต่อชั้นประถมปีที่ 6 โรงเรียนพันธศึกษา กรุงเทพมหานคร ก่อนสอบเข้าชั้นมัธยมที่โรงเรียนโยธินบูรณะ จบแล้วไปเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 40 และนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 56

หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เลือกลงตำแหน่ง พนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัย London Metropolitan University ที่ประเทศอังกฤษ สาขา กฎหมายสิทธิมนุษยชนกับกระบวนการอาญา

กลับมารับตำแหน่ง รองสารวัตรสถานีตำรวจท่องเที่ยว 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ที่มี พ.ต.ต.พฤธิพงศ์ นุชนารถ เป็นสารวัตร ช่วงออกเวรชอบไปศึกษางานสืบสวนกับ พ.ต.ท.พันธนะ นุชนารถ สารวัตรสืบสวนกองกำกับการตำรวจท่องเที่ยว 1 (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) เพราะชื่นชอบในความเก่ง ทว่าบุคลิกของตัวเองไม่เหมาะกับงานนอกเครื่องแบบเนื่องจากตัวสูง คนจำง่าย

กระนั้นก็ตาม นำเอาความรู้เล็กน้อยขอย้ายเป็นรองสารวัตรกลุ่มงานสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดดราชบุรี แต่ดวงคงไม่ให้เป็นนักสืบ ต้องกลายเป็นนายตำรวจติดตาม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี สมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วลงเป็นสารวัตรจราจร สถานีตำรวจภูธรหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนโยกมาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจทางหลวง (พระนครศรีอยุธยา) ได้ 3 ปี โยกไปเป็น สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง (นครปฐม) เป็นสารวัตรกองกำกับการ  1 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3  และ ทำหน้าที่เป็นตำรวจติดตาม พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน เมื่อครั้งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เลื่อนขึ้นรองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ท่ามกลางปริมาณงานค่อนข้างหนัก และขออาสาเป็นผู้บังคับกองร้อยควบคุมฝูงชน ทำอยู่ 4 ปี พ.ต.อ.ปราศัย จิตตสนธิ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 (ตำแหน่งสมัยนั้น)​ ถามว่า “เอ็งไม่วิ่งออกจากชุดควบคุมฝูงชนบ้างหรือ เห็นน้องๆ วิ่งกันทุกปี ให้นายมาฝากตลอด”​  เจ้าตัวตอบว่า “พี่ยังไม่หนี ผมจะหนีไปไหน ก็อยู่จนกว่าจะขึ้นผู้กำกับนี่แหละครับ”

ปี 2562 เลื่อนขึ้นเป็นผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง เป็นผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3  ทำให้ได้มีโอกาสมาช่วยงาน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เมื่อครั้งยังเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คุมงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทำข่าวและผลิตสื่อเตือนภัยให้ความรู้ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อแก๊งอาชญากรรม

เหตุผลนี้เองที่ พ.ต.อ.ปริญญาคิดว่า ผู้บังคับบัญชาน่าจะไว้วางใจเห็นเราทำมาต่อเนื่อง และมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับพี่ๆ น้องๆ สื่อในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมานาน เป็นงานที่หนัก เพราะสมัยนี้สื่อสังคมออนไลน์ค่อนข้างเยอะ ต้องติดตามตลอดเวลา มีประเด็นใหม่ๆ มาตลอด ไม่เหมือนสมัยก่อน แค่อ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้า ดูข่าวทีวีวันละสองรอบเช้าบ่ายก็จบแล้ว สามารถจับประเด็นได้เลย

“สมัยนี้ต้องติดตามข่าวตลอด 24 ชั่วโมง การรายงานเหตุรวดเร็วขึ้น ต้องทำงานเป็นทีม ทีมต้องใหญ่ขึ้น แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ที่สำคัญคือ ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว คนอื่นทำได้วันละ 2-3 อย่าง แต่ท่านทำได้วันละ 10-20 อย่าง ท่านไวมาก จำแม่นมาก ถ้าเราช้า เราหลุดทันที อีกอย่างท่านเป็นคนมีเมตตา เห็นคนเดือดร้อนท่านต้องรีบช่วย เห็นประชาชนถูกหลอกเสียหายบ่นว่า หดหู่ใจทุกวัน สั่งทีมงานตลอดว่า พวกเราต้องเร็ว แต่ละวัน สงสารคนโดนหลอกเยอะ ต้องรีบเตือนให้พวกเขารู้”​

ขณะเดียวกัน นายตำรวจหนุ่มร่างโย่งมองว่า พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นคนเก่ง คิดเร็ว วิเคราะห์แยกแยะ จับประเด็นเร็ว สามารถสื่อสารกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ตลอดเวลา ทำให้ทีมประชาสัมพันธ์ทำงานง่าย ไปในทิศทางเดียวกัน รู้สึกเหนื่อย แต่ทำงานสนุก

 

“อยากให้ประชาชนรับรู้การทำงานของตำรวจดีๆ  มีมากมาย”

ผู้กำกับอั้ม-พ.ต.อ.ชินวุฒิ  ตั้งวงษ์เลิศ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรฉิมพลี จังหวัดฉะเชิงเทรา อีกทีมงานประชาสัมพันธ์อยู่เบื้องหลังฉากชุดปฏิบัติการข่าวสาร เป็นชาวท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จบมัธยมโรงเรียนเทพศิรินทร์ ก่อนสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 56 พ่วงด้วยวุฒิปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านหลักสูตร United Police Officer Course ,SWEDINT ประเทศสวีเด่น  หลักสูตรสืบสวนคดีอาญาระดับก้าวหน้า รุ่นที่ 9 และหลักสูตร ALETS รุ่นที่ 3

เริ่มต้นการทำงานจากการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปฏิบัติ โดยเฉพาะงานสืบสวนจากพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลท่าข้าม ก่อนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 9  ตามคำแนะนำของ พ.ต.ท.พงศ์อานันต์  คล้ายคลึง  รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 9 (ยศในขณะนั้น)  คลี่คลายคดีอุจฉกรรจ์สำคัญ  เช่น สืบสวนจับกุมคนร้ายฆ่าหมกป่าสาวกรมทางหลวงชนบท ที่บริเวณคูน้ำย่านคลองรังสิต พื้นที่สถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์  จังหวัดปทุมธานี

ต่อมาได้รับโอกาสทำงานเป็นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรสำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ   มีผลงานมากมาย   แล้วย้ายมาขึ้นรองผู้กำกับที่นครบาลได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าชุดปราบปรามยาเสพติดของกองบังคับการตำรวจนครบาล 3  ขยายผลทลายเครือข่าย “นายกุ๊ก ระยอง” ยึดของกลางยาบ้ากว่า 1 ล้านเม็ด

หลังจากนั้นได้รับโอกาสให้เข้าร่วมชุดปฏิบัติการที่ 1 ศูนย์อำนวยการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การควบคุมของ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กวาดจับแก๊งหลอกลงทุน มิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ กระทั่ง พ.ต.อ.ปริญญา กลิ่นเกษร   ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองสมุทรปราการ นำเข้าสู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์เอาความรู้จากการทำคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเผยแพร่เตือนภัยให้กับประชาชน อาทิ โครงการไซเบอร์วัคซีน  เดินสายบรรยายให้ความรู้ภัยออนไลน์ให้กับหน่วยงาน หรือสถานศึกษาต่าง ๆเรื่อยมา

ส่วนเหตุผลที่มาเป็นตำรวจ เจ้าตัวมองว่า อาชีพตำรวจเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นได้ สามารถช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้ด้วยตัวเอง งานในหน้าที่ยังสามารถทำความดีได้ในตัว มีครอบครัวคอยสนับสนุน เขายังมุมมองการประชาสัมพันธ์ด้วยว่า ต้องสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ให้ประชาชนรับทราบด้วยความเข้าใจ  รวมถึงข้อมูลต่างๆ จะต้องรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

“ในการทำงานของผมจะเน้นการขับเคลื่อนโดยพลังบวก อยากให้ประชาชนรับรู้การทำงานของตำรวจดีๆ  มีมากมาย แต่อาจขาดการสื่อสาร ทำให้ประชาชนรับทราบแต่มุมลบ ยอมรับว่าจะต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนาสังคมให้มุ่งเห็นประโยชน์ของการทำความดี เป็นพลังให้คนทำดี” พ.ต.อ.ชินวุฒิว่า

 

 

“ งานประชาสัมพันธ์ของตำรวจเป็นศาสตร์และศิลป์ของงานมวลชนสัมพันธ์”

องเดวิด-พ.ต.ท.ธ เทพ ไชยชาญบุตร รองผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 8  (ฝ่ายกิจการต่างประเทศ) dกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทำหน้าที่รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อดีตดารานักแสดง นายแบบโฆษณาที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เดิมชื่อ ทวยเทพ เดวิด วิบุลศิลป์ นายชัยชาญ วิบุลศิลป์ ลูกชายข้าราชการตุลาการบำนาญ สังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม และนางดอริส อาร์ลีน โกล์ด ชาวอเมริกัน

ชาวจังหวัดชลบุรี เข้าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล รุ่นที่ 69 ไปต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เส้นทางชีวิตราชการ เริ่มต้นบรรจุตำแหน่ง รองสารวัตร นิติกร (สบ1 ) กลุ่มงานเสริมสร้างและพัฒนาวินัย กองวินัย ขึ้นเป็นสารวัต นิติกรด้านสอบสวนและพิจารณาโทษ กองวินัย เป็น อนุศาสนาจารย์ กองวินัย โยกเป็นฝ่ายกิจการต่างประเทศ กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด  ขยับนั่ง สารวัตรงาน 4 กองกำกับการ 4 (งานปฏิบัติการข่าวกรองต่อต้านการก่อการร้ายสากลภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้) กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2

ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เป็นหัวหน้ากลุ่มงานประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กองการต่างประเทศ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ กองการต่างประเทศ ขึ้นรองผู้กำกับการ ฝ่ายอำนวยการ 3 (นโยบายและแผน) กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แล้วถึงย้ายเป็นรองผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 8  (ฝ่ายกิจการต่างประเทศ) dกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

        มีความสนใจศึกษาอภิปรัชญาและปรัชญา วิชาประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ รวมถึงวิชาชิตต์ศาสตร์และการฝึกจิตต์แบบเตโชกสิน ยึดคติธรรมในการดำเนินชีวิต คือวิ ถีแห่งการเรียนรู้ของดวงจิตต์  ขณะเดียวกันยังมีงานอดิเรกทำสวนกาแฟ คั่วกาแฟจำหน่าย และเป็นวิทยากรบรรยายในวิชาต่าง ๆ ที่มีความรู้ความชำนาญ เช่น วิชาการเป็นผู้ประกอบการวิชาการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวในหลักสูตรมัคคุเทศก์รับอนุญาต และรับให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตและมุมมองในการแก้ไขความตึงเครียดในการใช้ชีวิตเชิงจิตวิทยาแบบตัวต่อตัว

พ.ต.ท. ธ เทพเชื่อมั่นว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่มีหน้าที่ดูแลสังคมให้มีความสุขสงบเป็นระเบียบเรียบร้อย อยู่ในกฎเกณฑ์ของประชาคมภายในกรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ในอาชีพ-วิชาชีพนี้เองเป็นธรรมชาติในการกระทบกระทั่งกับการใช้สิทธิเสรีภาพของมนุษย์ และเป็นธรรมดาของตำรวจในทุกประเทศทั่วโลกที่จะเป็นอาชีพที่พลเมืองจะไม่ชื่นชอบเท่าไรนัก ทั้งในหลายประเทศจะมีการปลุกความเกลียดชังตำรวจ หรือความไม่ชอบตำรวจมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมในทางการเมืองเสมอๆ

            เมื่อมารับเป็นรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติลุยงานประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร เจ้าตัวบอกว่า เป็นงานครอบคลุมในหลายด้านหลายประการ เริ่มต้นตั้งแต่การปลุกจิตสำนึกว่า กฎหมาย คือสัญญาประชาคมร่วมกันของพลเมืองในสังคมที่สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตาม กระตุ้นเตือนให้ความรู้ ให้พลเมืองตระหนักถึงทั้งสิทธิและหน้าที่ของตนตามสัญญาประชาคมหรือที่เรียกว่า กฎหมาย ต้องย้ำเตือนถึงโทษต่างๆ ที่อาจต้องรับหากละเมิดต่อกฎหมายหรือสัญญาประชาคมนั้น โดยเฉพาะในยุคแห่งพลวัตรที่อาชญากรรมหรือภัยของสังคมเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในรูปแบบใหม่ๆ

“การให้ความรู้เชิงป้องกันเพื่อให้พลเมืองมีภูมิคุ้มกันและวิธีปฏิบัติต่อกรกับภัยอาชญาการอย่างทันท่วงทีตามสมควร เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้ตำรวจสามารถทำหน้าที่ในการดูแลป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ดีขึ้น” เขาอธิบาย

“ งานประชาสัมพันธ์ของตำรวจเป็นศาสตร์และศิลป์ของงานมวลชนสัมพันธ์ในการทำหน้าที่ปรับปรุงทัศนคติในทางลบ สร้างความเชื่อมั่นและผูกมิตรกับพลเมืองสันติราษฎร์เพื่อทำให้งานในหน้าที่โดยรวมของตำรวจมีความครบถ้วนสมบูรณ์เป็นผลดีต่อสังคมและประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป”

อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย เจ้าตัวยอมรับว่า ยังมีอยู่ ดังนั้นงานประชาสัมพันธ์จะต้องชี้แจงตามข้อเท็จจริง แสดงความจริงจังของผู้บังคับบัญชาในการแก้ไขปัญหาขององค์กร เพื่อให้สังคมได้รับทราบและมีความเชื่อมั่นในกระบวนการแก้ไขปัญหาของตำรวจ “สรุปเป็นงานที่ยากและท้าทายที่สุดงานหนึ่งเลยครับ” พ.ต.ท.ธ เทพระบายความเห็น

 

“การยกระดับภาพลักษณ์ของตำรวจยุคใหม่ต้องมีบุคลิกสมาร์ทและที่เข้าถึงได้ง่าย”

ารวัตรลูกขวัญ-พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา อาจารย์ (สบ2) กลุ่มงานคณาจารย์ คณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นอีกคนที่ทำหน้าที่รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีดีกรีเคยขึ้นเวทีประกวดนางสาวไทยปี 2012 เกิดที่กรุงเทพมหานคร แต่ไปเติบโตที่เชียงใหม่ในครอบครัวข้าราชการมีพี่สาว 1 คน ปัจจุบันเป็นผู้ประกาศข่าว NBT North สังกัดกรมประชาสัมพันธ์

เธอสำเร็จการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และ Master of Science (Urban Environmental Management), Asian Institute of Technology (AIT)   รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ก่อนหน้าเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ก่อนมาเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ข้ามชาติประเภทลวงรักออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ชีวิตไลฟ์สไตล์ชอบการออกกำลังกาย ขี่ม้า วิ่งเทรล ขี่เจ็ตสกี โยคะ ยิงปืน และว่ายน้ำ  มีคติประจำใจ คือ ใช้ชีวิตให้มีความสุขและไม่เบียดเบียน

ถูกทาบทามมาทำหน้าที่รองโฆษกสำนักงานนตำรวจแห่งชาติ เจ้าตัวยึดหลักเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของตำรวจในยุคโซเชียลมีเดีย 3 ประการ คือ เรียนรู้ – ศึกษาเครือข่ายสังคมออนไลน์และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนจากการรับข่าวสารมาเป็นวิธีบอกต่อกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มีลักษณะการกระจายข่าวสารอย่างรวดเร็ว เรียบง่าย – นำข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ และข้อกฎหมาย มาแจ้งเตือนประชาชนด้วยด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน ตรงประเด็น และเข้าถึง – เน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงประชาชนในทุกกลุ่ม ทุกเพศวัย ในช่องทางที่มีความเหมาะสม โดยเฉพาะสื่อสังคมสมัยใหม่ แต่ก็ยังไม่ละทิ้งการประชาสัมพันธ์แบบเดิม เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งถึงประชาชนอย่างทั่วถึง

การปฏิบัติหน้าที่รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาตินอกเหนือจากการชี้แจงข้อมูลและแถลงข่าวแล้ว เธออธิบายว่า ต้องมุ่งเน้นภารกิจเผยแพร่องค์ความรู้ด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อเสริมสร้างไซเบอร์วัคซีนไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์

“การยกระดับภาพลักษณ์ของตำรวจยุคใหม่ต้องมีบุคลิกสมาร์ทและที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อสร้างความอบอุ่นใจให้ประชาชน” พ.ต.ท.ณพวรรณว่า พร้อมลุยการประชาสัมพันธ์ภารกิจเพื่อสังคมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้บริการแก่ประชาชน เช่น โครงการอาชาบำบัด ของกองกำกับการม้าตำรวจที่ให้บริการบำบัดเด็กพิเศษ เป็นต้น

 

 “การประชาสัมพันธ์ คือ การป้องกันอาชญากรรมที่ดีที่สุด”

ผู้กองเติ้ก– ร.ต.อ.พากฤต กฤตยพงษ์  รองสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 อดีตนักกีฬาฟันดาบเยาวชนทีมชาติไทย ศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดา สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และปริญญาโททางด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

เริ่มต้นการทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์ในฝ่ายนโยบายและแผน ระหว่างกำลังศึกษาปริญญาโท เมื่อจบปริญญาโททางด้านอาชญาวิทยาได้ใช้ความรู้ทางด้านอาชญาวิทยาไปปฏิบัติในสายงานการสืบสวนจาก พ.ต.อ. ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ทำให้สามารถมองภาพของกระบวนการยุติธรรมและการสืบสวนสอบสวนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

บรรจุตำรวจครั้งแรกในตำแหน่ง รองสารวัตรกลุ่มงานระบบวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กองตำรวจสื่อสาร ก่อนได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยนายเวร พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจจนผู้เป็นนายเกษียณอายุราชการถึงได้มาลงตำแหน่งสังกัดตำรวจไซเบอร์ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้อยู่ในชุดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ทำหน้าที่ เตือนภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์แก่พี่น้องประชาชนผ่านสื่อหลัก สื่อสังคมออนไลน์และพื้นที่ต่างๆในชุมชน รวมไปถึงสถานศึกษาต่าง ๆทั่วประเทศ โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ และ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าวสารในขณะนั้น

นายตำรวจหนุ่มเลือดใหม่ยังมีความคิดว่า ตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม และในโลกนี้ทุกประเทศต้องมีตำรวจ ไม่ว่า เราจะมองโลกให้สวยดูดีแค่ไหน แต่เราก็ต้องอยู่ร่วมโลกกับคนชั่วและผู้กระทำผิดกฎหมายอยู่ดี ดังนั้นทุกสังคมขาดอาชีพตำรวจไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหน การเป็นส่วนหนึ่ง ของการขับเคลื่อนฟันเฟืองที่เป็นเครื่องมือในการปราบปรามอาชญากรรม คือ สิ่งที่จุดประกายในการเติมเต็มเหตุผลที่เลือกมาอยู่ตรงนี้

“ผมเชื่อมาตลอดว่า การประชาสัมพันธ์ คือ การป้องกันอาชญากรรมที่ดีที่สุด เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งที่ตัวเหยื่อ เมื่อเราเอาหลักการของสามเหลี่ยมอาชญากรรมมาเทียบ ตามพื้นฐานการที่อาชญากรรมจะเกิดจะมี 3 สิ่งคือ เหยื่อ อาชญากร โอกาส  และการที่เราสร้างความเข้มแข็งให้เหยื่อได้รู้เท่าทันภัยของอาชญากรรมนั้น คือการปิดช่องอาชญากรรมได้ส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนของการป้องกันเหตุก่อนที่อาชญากรรมจะเกิดขึ้น ช่องทางโซเชียลมีเดียในยุคนี้คือ ตัวช่วยให้ตำรวจได้สื่อสารกับประชาชนได้เป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้เราได้บอกข้อมูลและการเตือนภัยให้ประชาชนได้ดังกว่าเมื่อก่อน” ร.ต.อ.พากฤตบอกถึงหลักการทำงานในชุดปฏิบัติการข่าวสารที่ตัวเป็นส่วนหนึ่งของทีม

 

“สื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันย่อมมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนทุกเพศทุกวัย”

ผู้กองไอซ์-ร.ต.อ.พิชพงศ์ โสมกุล  รองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ กองบินตำรวจ อดีตนักแสดงละครโทรทัศน์ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3 จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาบริหารสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

เจ้าตัวเลือกมาเป็นตำรวจ เพราะครอบครัวรับราชการในสาขาอาชีพต่าง ๆหลายคน ทำให้ได้มุมมองทัศนคติต่อการรับราชการรับใช้ประเทศชาติและประชาชน ถึงตัดสินใจเข้ารับราชการตำรวจใช้ความสามารถที่ตัวเองถนัดนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงาน สังคม และประเทศชาติ

ถูกดึงตัวมาอยู่ในชุดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขับเคลื่อนเนื้องานด้านประชาสัมพันธ์ ร.ต.อ.พิชพงศ์บอกว่า อยากเห็นช่องทางในการแนะนำเผยแพร่สาระดี ๆที่เกี่ยวกับงานตำรวจ ริเริ่มผลิตสื่อทางเพจเฟซบุ๊ก และช่องยูทูบ ชื่อ “กากีนั้งทีวี”  มุ่งเน้นประโยชน์เพื่อประชาชน ใช้การสื่อสารที่เข้าใจง่ายเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน แนะนำสาระความรู้และเตือนภัยชาวบ้านเสมือนเป็นตัวแทนตำรวจยุคใหม่ที่เห็นความสำคัญต่อการเตือนภัย

“ในยุคปัจจุบันเราจะหลีกเลี่ยงช่องทางโซเชียลมีเดียไม่ได้ เพราะประชาชนรับรู้ข่าวสารต่าง ๆผ่านทางโซเชียลมีเดีย ส่วนตัวผมเองก็มีผู้ติดตามทางโซเชียลจำนวนหนึ่ง บางครั้งจะใช้สื่อโซเชียลส่วนตัวในการเผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานตำรวจเบื้องต้นได้ ผมเลยมองว่าสื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันย่อมมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนทุกเพศทุกวัย” ร.ต.อ.พิชพงศ์เชื่อมั่นแบบนั้น

 

“อยากจะเปลี่ยนทัศนคติให้คนมองตำรวจดีมากขึ้น”

ผู้กองแพรว-ร.ต.อ.หญิง พิชญากร สุขทวี  รองสารวัตรฝ่ายยุทธศาสตร์ กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รักษาราชการรองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการปราบปราม ปฏิบัติหน้าที่รองสารวัตร กองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม อสาวเชียงราย เกิดในครอบครัวครู เรียนจบมัธยมโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ไปต่อคณะนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สำเร็จปริญญาตรีมาทำงานเป็นครีเอทีฟอยู่ไม่นาน ครอบครัวไม่ชอบ เพราะอยากให้รับราชการ เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง ประกอบกับมีคุณลุงเป็นตำรวจ เห็นเป็นไอดอล รู้สึกเท่มากเลยอยากเดินรอยตาม มองว่างานตำรวจเป็นงานที่ท้าทาย น่าสนใจ

สุดท้ายเบนเข็มไปสมัครสอบเป็นนายสิบตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ก่อนเข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 37

      ขยับจากหน่วยตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาติดอาร์มกองปราบปรามทำหน้าที่กำหนดแผนงานและภารกิจประชาสัมพันธ์องค์กรตรงกับที่ร่ำเรียนมา เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งช่อง “กากีนั้งทีวี” ช่องที่ให้ความรู้เกี่ยวกับตำรวจและการป้องกันอาชญากรรม

ถามว่าจะทำอย่างไรให้ภาพลักษณ์ของตำรวจดีขึ้น ร.ต.อ.หญิง พิชญากรแสดงความเห็นว่า การเข้ามาเป็นตำรวจทำให้รู้ว่า ตำรวจดี ๆมีเยอะมาก แต่แค่ไม่ได้ประกาศ หรือบอกออกไปให้คนทั่วไปได้รับรู้ “ส่วนใหญ่ข่าวที่ออกเกี่ยวกับตำรวจ เท่าที่เห็นมักจะเป็นข่าวที่ไม่ดี ทำให้คนทั่วไปมองตำรวจในทางที่ไม่ค่อยดีนัก อยากจะเปลี่ยนทัศนคติให้คนมองตำรวจดีมากขึ้น อยากแชร์เรื่องดี ๆเกี่ยวกับตำรวจ สร้างการรับรู้ที่มันเข้าถึงผู้คนมากขึ้น” ผู้กองสาววาดความหวังไว้

RELATED ARTICLES