ข้ามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกไปรับผิดชอบภารกิจสำคัญใจกลางเมืองหลวง
เมื่อผู้บังคับบัญชาไว้วางใจให้ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ลุกจากเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 มานั่งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แบบพลิกโผ “หักปากกาเซียน” ด้วยเหตุผลเพียงเพื่อให้เข้าแก้ปัญหาหมักหมมสารพัดในเมืองกรุง
จุดยุทธศาสตร์ “หัวใจหลักสำคัญ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เล่นเอาหลายคนฮือฮาเพราะรับรู้ถึงกิตติศัพท์ความแข็งกร้าว พูดน้อย และไม่เสาะแสวงหาผลประโยชน์ที่จะเป็น “โทษ” แก่ตัวเอง
น่าจับตาการกุมเหียนของนายพลที่ถูกมองว่า “ตงฉิน” คนหนึ่งในวงการสีกากีจะมี “ทีเด็ด” อะไรในการบริหารหน่วยประวัติศาสตร์อันยาวนานครบรอบ 100 ปีพอดี
เคยสอบติดพาณิชย์นาวี แต่วิถีหักเหเพราะครอบครัว
“ผมเกิดวันตรุษจีน” พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง เกริ่นถึงที่มาของชื่อ “เจ้า” ไม่ใช่ “จ้าว” อย่างที่หลายคนเข้าใจ ลูกชายนายธนาคารชาวกรุงที่ไม่เคยมีความฝันเป็นตำรวจสักนิดเดียว หลังจบประถมโรงเรียนเอกชนย่านพญาไทได้สอบเข้าโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ในยุคแรกที่ยังเป็นหลังคามุงจาก เกิดจุดไฟเผาโรงเรียนสมัยเรียนวิชาเคมีเป็นเรื่องที่ตัวเองไม่มีวันลืม
วาดหวังเป็นทหารเรือ เหตุที่ไม่อยากเป็นตำรวจ เจ้าตัวเล่าว่า ตอนเด็กถูกรถสามล้อชนกระเด็น ไปแจ้งความโรงพักพหลโยธินรออยู่ประมาณ 3- 4 ชั่วโมง รู้สึกว่า ทำไมต้องมานั่งรอในสิ่งที่ตำรวจไม่ได้ทำอะไรเลย มีส่วนให้ไม่ชอบ พอจบมัธยมไปสอบติดพาณิชย์นาวี แต่แม่ไม่ให้เรียน อยากให้สอบโรงเรียนเตรียมทหาร ด้วยความที่ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้คิดมาทางนี้เข้ากาอย่างเดียว แทบไม่มีสมาธิในการอ่านสุดท้ายไม่ได้
เดินอยู่เฉย ๆ ปีเดียวกลับมาสอบใหม่ก็เหมือนเดิม แต่สอบพาณิชย์นาวีติดอีก พล.ต.ท.ธิติเล่าอีกว่า แม่ยังไม่ให้ไปเรียน พูดมาอยู่คำเดียวถ้าไม่เข้าเตรียมทหารเท่ากับแม่ต้องรับภาระส่งน้องอีก 2 คนเรียน ไหนจะต้องผ่อนบ้าน เล่นเอาสะอึก ยอมรับว่า ฐานะที่บ้านปานกลาง ไม่ได้ถือว่า ดี เด็กๆ ยังไปช่วยทำขนมช่วยแม่ พ่อแม่ก็เลี้ยงดูมาอย่างอบอุ่น ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกขาด
บรรจุตำแหน่งโรงพักเมืองภูเก็ต ก่อนได้เกร็ดความรู้หนังสือที่งานกำลังพล
กลายเป็นแรงมุมานะให้ตั้งใจสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเลือกเหล่านายร้อยตำรวจรุ่น 40 เขาบอกว่า เป็นรสชาติชีวิตที่แปลกใหม่ ไม่เคยรู้ว่า ต้องมีสมาคม ต้องมีกลุ่ม เพราะเมื่อก่อนไม่ค่อยอยู่กับเพื่อน ชอบอยู่เงียบๆ เด็กๆ แม่จะพาไปวัดบ่อย แต่ไม่ได้เป็นคนเรียบร้อย ช่วงวัยรุ่นไปเที่ยวกับเพื่อน ถ้ากลับบ้านตี 1- 2 พอตี 4 แม่ตื่น ต้องไปวัด หิ้วกระป๋องเดินตามเป็นลูกศิษย์วัด โดนปลูกฝังมาแบบนี้
ชีวิตในรั้วสามพรานนาน 4 ปี พล.ต.ท.ธิติเลือกเข้าชมรมถ่ายภาพตามความชอบส่วนตัว และมักถูกพี่ปกครองเรียกซ่อมประจำ อาทิ วรายุทธ สุขวัฒน์ แต่เป็นอะไรที่จบออกมาแล้วรักกัน ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทไหน ไม่เคยมีความรู้สึกว่ามียศ หรือตำแหน่งมาขั้น “ อย่าง พล.ต.ต.พงศ์อานันต์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 นอนเฝ้าหน้าห้องแก ทุกวันนี้ ผมเจอหน้า ความรู้สึกก็คือ เป็นพี่ตลอด เห็นเดินมา ผมรีบวิ่งไปยกมือไหว้ก่อนมันรู้สึกแบบนั้น”
จบออกมาลงเป็นรองสารวัตรสอบสวนโรงพักเมืองภูเก็ต ไม่นานย้ายเป็นรองสารวัตรทะเบียนพล กรมตำรวจ ได้ “รุ่งโรจน์ แสงคร้าม” เป็นครูสอนร่างหนังสือ ด้วยความที่ตัวเองไม่มีความรู้พื้นฐานมาเลย “แกมีความอดทน แก้ให้เราทุกวัน ให้หัดเขียนจนเขียนได้ จากเขียนเสนอแก ไปเสนอผู้บังคับการผ่านแก ผ่านผู้กำกับการถึงผู้บังคับการการ เขียนจนให้ผู้บังคับการลงนาม แล้วก็เสนอต่ออธิบดีแสวง ธีระสวัสดิ์สมัยนั้น พัฒนาจนเขียนเองถึงกระทรวงมหาดไทยเสนอให้รัฐมนตรีลงนาม ไปจนถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝึกให้ผมหัดเฉลียว หัดมอง หัดแทงหนังสือให้เป็น ปรับบทให้ได้ ก็ถูกฝึกมาตรงนั้นหลายปี ถึงมีความรู้งานหนังสือติดมาอ่านระเบียบ โยงกับกฎหมาย”
สู่หน่วยตำรวจสอบสวนกลาง สร้างตำนานจัดระเบียบสังคม
หลังจากนั้นโยกติดสายขาวเป็นผู้ช่วยนายเวร และนายเวร พล.ต.อ.ไมตรี ชวลิตธำรง แล้วก็ลงเป็นสารวัตรทะเบียนพล โยกมาอยู่กองภาษีอากร กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจเดิม ไปเก็บเกี่ยวความรู้เรื่องภาษีอากรอยู่ 3 ปี ทำให้รู้เรื่องกฎหมายพวกฉ้อฉลโกงภาษี ก่อนขึ้นรองผู้กำกับทะเบียนพลนาน 2 ปี เป็นผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ดูแลพื้นที่ภาคอีสานแล้วมาอยู่กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจทางหลวง
วนเวียนอยู่สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางทั้งหมด 14 ปี เป็นตำรวจป่าไม้ เป็นรองผู้บังคับการการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขึ้นผู้บังคับการจเรตำรวจ แล้วขยับเป็นผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ลุยแหลกสถานบริการบังคับค้าประเวณีเด็ก กดปุ่มปิดสวิตช์สถานอาบอบนวดที่เอาเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์มาค้ากาม จัดระเบียบร้านอาหารแฝงหญิงบริการตามริมถนนอยู่หมัด
“มันไม่ควรจะมีแบบนี้ โดยเฉพาะในเมืองหลวง ผมมองว่า ไม่ใช่สถานประกอบการ ใช้แรงงานเด็ก บางที่ในตู้คอนเทนเนอร์ คนที่ใช้บริการอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่สมมติว่า เรามีคนตัวเล็กที่บ้าน เรามีบ้านญาติเรา เห็นหลาน เราวิ่งอยู่อย่างนี้ มันไม่ใช่ มันไม่ควรจะมี ไอ้คนที่นั่นควรจะไปทางอื่นไหม มีตัวเลือกอื่นไหม ผมว่ามีตัวเลือกอื่นนะ ไม่ควรมีตัวเลือกนี้ ไม่ควรมีอยู่เลยในตาราง”
เด้งลงคุมภูธรสระบุรี มีอาจารย์ดีสอนตำราสืบสวน
ผลปรากฏว่า ถูกย้ายเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี เจ้าตัวสารภาพว่า ไม่รู้สึกอะไรทั้งที่ทำตามหน้าที่ โดยสัตย์จริง ตื่นเต้นทุกครั้งที่เราจะต้องไปรับตำแหน่งในหน้าที่ใหม่ เราต้องทำการบ้านเยอะ หาข้อมูล ปีเดียวที่สาระบุรีมีคดีมากมายให้คลี่คลาย อาทิ แก๊งยานรกหลอกสายไปยิงทิ้ง เราตามจับได้ที่วังน้อย พระนครศรีอยุธยา คดีฆ่าปาดคอครูอิ๋วในอำเภอแก่งคอย สระบุรี แล้วคดีขโมยรถโยนเด็กออกนอกหน้าต่างทิ้งตามไปวิสามัญฆาตกรรมได้ที่จังหวัดสระแก้ว
“เป็นอะไรที่ผมรู้สึกว่าได้ทำงาน เรียกว่าสตรีตไครม อยู่กับลูกน้อง เดินท่อมๆ นั่งรถเช็กจุดด้วยกัน ผมชอบไปนั่งดู สมัยก่อนคนที่ฝึกผมแบบนี้ ท่านฐิติราช หนองหารพิทักษ์ สอบตำรานักสืบ การเฝ้าจุดสะกดรอยทุกรูปแบบ หลายๆ อย่างที่ได้เอามาใช้ในปัจจุบัน เป็นประโยชน์กับงานสืบสวน ผมเรียกเจอแก ผมไม่เคยเรียกพี่ ผมเรียกครูใหญ่” พล.ต.ท.ธิติละเมียดความหลัง “ได้เรียนรู้ในการทำแผนประทุษกรรมจัดเป็นแฟ้มแยกแยะข้อมูลในการสืบสวนติดตาม เพราะคนร้ายจะมีลายเซ็นของตัวเองไม่เหมือนกัน เรื่องพวกนี้เป็นศาสตร์ที่ตำรวจไม่ค่อยได้เอามาใช้ ทุกวันนี้เราจะใช้วิธีการนั่งรอภาพวงจรปิด แต่หลายคดีเราได้ตัวผู้ต้องหา เพราะแผนประทุษกรรมที่คนร้ายลงมือในสิ่งที่ทำมาก่อนหน้านี้
อยู่สระบุรีสนุกกับงานปราบปรามอาชญากรรมเกือบครบปีโดนโยกไปช่วยราชการสลับตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ประมาณ 1 เดือน คำสั่งออกขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ย้ายนั่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเหยียบทัพเมืองหลวงนาน 2 ปี แล้วกลับเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 อีกรอบ
ข้ามรักษาการตำแหน่งผู้การชลบุรี ก่อนนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2
ต่อมาได้รับคำสั่งให้ไปรักษาการผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีเก็บกวาดปัญหาอบายมุขเกลื่อนจนเป็นปัญหาเรื้อรังควบคู่กับสนับสนุนกำลังทลายเครือข่ายอิทธิพล หลงจู๊ชาย- นายสมชาย จุติกิติ์เดช นายบ่อนคนดังเมืองระยอง พล.ต.ท.ธิติบอกว่า เข้าใจในบริบทการทำงานของตำรวจสอบสวนกลางที่พยายามความหาพยานหลักฐานมัดคดีจ้างวานฆ่าวินจักรยานยนต์รับจ้างในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีจากแฟ้มเก่าที่โรงพักทำไม่สุด เพราะมุมมองของผู้บังคับบัญชาระดับสูงบอกว่า ไม่ใช่แค่นั้น ต้องมีข้างบนแล้วไปเชื่อมถึงเรื่องบ่อน
อดีตรักษาการผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีมองว่า การเข้าไปเก็บหลักฐานภายหลังเหตุเกิดกวาว่า 6 เดือน แล้วไปไล่เจอรอยเส้นเงิน สถานที่นัดพบ รอยโทรศัพท์ รอยส่งไลน์ โอนเงิน ตามหาเจอ 6 เดือน เอาไปให้อัยการดูแล้วเห็นว่า ใช่ สามารถเป็นพยานหลักฐานพอฟ้อง แต่เวลาไปนำสืบที่ศาล คดีจ้างวานฆ่าให้แน่นกว่านี้ยังไม่มากพอ “ผมถึงบอกว่า ความพยายามของตำรวจกองปราบอย่างหนึ่ง คือทำสุดทาง อย่างน้อย เอาคนไม่ดีมาเก็บ มากักบริเวณไว้ระยะหนึ่ง ไม่ให้ทำอะไรให้ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่งั้นมันจะใหญ่ ข้อมูลที่ผมมี บางคนสามารถย้ายตำรวจพื้นที่ในระดับผู้การได้”
“ผมถามว่า แล้วตำรวจชั้นผู้น้อยจะอยู่ยังไง แตะก็แตะไม่ได้ ได้แค่มอง มองหน้าเดี๋ยวโดนย้ายอีก มันไม่ใช่ ผมว่า มันไม่ควรจะอยู่กันแบบนี้ ผมว่า พวกเขาทำถูกแล้วนะที่สลายไปได้” พล.ต.ท.ธิติระบายความรู้สึกก่อนที่ตัวเองจะเลื่อนเป็นผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานรัฐสภา แล้วนั่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ดับปัญหาร้อนชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
มอบนโยบายไว้จัดเจน อะไรเสี่ยงต้องรับผิดชอบตัวเอง
“อะไรที่ทำแล้วมีปัญหา หรือทำแล้ว ซ้ำรอยเดิม ผมบอกว่า อย่าทำเลย” เจ้าตัวมอบนโยบายการบริหารหน่วยตั้งแต่วันแรกที่ลงปฏิบัติหน้าที่ “หลักของผม ใครอยากทำ ทำไป แต่รับผิดชอบตัวเอง ถ้ามีเรื่อง ก็ต้องว่าไปเอง แต่ของผม ผมมองว่าถ้าผมจะได้อะไรมา ผมมีของ 3 ชิ้นสิทธิของผม แต่ไอ้น้องคนนี้เอามาให้ผม 20 ชิ้น ผมทานไม่ได้ สมมติผมได้เงินสินบนหรืออะไรมา ผมไม่ได้รวยขึ้นหรอก ถามว่า ผมเสี่ยงภัยไหม โอกาสที่จะผิดพลาดในชีวิต ทำไมเราจะต้องพาครอบครัวเราไปเสี่ยงขนาดนั้น แต่ผมไม่เอา ไม่ให้มี ผมไม่ได้จนลง แม้แต่บาทเดียว ผมบอกลูกน้อง เราไม่ได้จนลงนะ”
พล.ต.ท.ธิติกำชับนโยบายด้วยว่า อย่ารังแกชาวบ้าน ไม่ใช่เดินไป แล้วก็งุบงิบๆ ถ้าชาวบ้านอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ที่ไม่ได้เกิดปัญหา อาจจะไม่มีความสุขเท่าเดิม แต่ไม่ได้มีความทุกข์เพิ่มขึ้น เหมือนพอมีคำสั่งย้ายมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมีความทุกข์มากขึ้นไหม ไม่มีอยู่ในรอยหยักของสมอง รู้ตอนแรกก็ไม่ได้มีการทาบทาม ใบสั่งมาก็รู้ว่าต้องทำ “ไม่มีคำถามว่าทำไมต้องเป็นผม ผมว่าผู้บังคับบัญชาให้ทำ ก็ทำ ถ้าท่านเห็นว่าเหมาะสม ก็ไป ไม่มีต่อรอง ไม่มีอะไรว่าทำไมต้องผม ไม่เคยคิดถามเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว ไปก็ไป อยู่ก็อยู่”
รู้สึกหรือไม่ว่าลูกน้องกลัวกันหมด พล.ต.ท.ธิติตอบว่า ไม่กลัวหรอก เราไม่ได้ไปทำอะไรให้ต้องรู้สึกกลัว เพียงแต่ว่า นโยบายที่ให้วันแรก อะไรที่เป็นอยู่ อะไรที่ควรจะเป็น ต้องรู้จักบริหาร ทุกคนที่มานั่งเป็นผู้บริหาร สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ยอมเลย คือ เรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อน แล้วมาแจ้งความต้องมาวิ่งเต้น ฝากกัน อันนี้ไม่ได้ โดนเลย ตอนสมัยอยู่ภาค 2 ถ้าคดีเกิดคดีวันนี้ พรุ่งนี้ คุยต้องทำเลย บัญชีพยาน สืบสวน ทำอะไร สอบสวนอยู่ตรงไหน เก็บรวบรวมอะไร ส่งตรวจอะไรบ้าง สอบพยานไปกี่ปาก มีวัตถุพยาน บัญชีเอกสาร พร้อมไหม ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ต้องรายงาน
ถึงเวลาโรงพักต้องขยับตัว ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
เขายกตัวอย่างในพื้นที่ภูธรภาค 2 ในคดีปล้นฆ่าชิงทรัพย์ตกเป็นข่าวโด่งดังที่ต้องกรรมการสอบสวนผู้กำกับโรงพักเพราะไม่ใส่ใจคดี คนร้ายไปปล้นรถที่พัทยาเอาเจ้าของรถไปปล่อยเขตฉะเชิงเทรา เอารถกลับมาไปปล้นฆ่าเหยื่อในท้องที่แหลมฉบัง หากวันนั้น เจ้าของรถไปโบกรถไปนั่งรอแจ้งความไล่ติดตามคงไม่มีคนตาย ไม่มีเหตุซ้ำ
“นี่คือปัญหาของโรงพัก ลูกเขาตาย ถ้าตำรวจขยันขยับตัวหน่อย ลูกเขาจะตายไหม ผมมองว่า ทุกครั้งที่เวลาจับผู้ต้องหาได้ ไม่ว่าคดีฆ่าโยนเด็ก หรืออะไร ตั้งแต่คดีที่มาเป็นสารวัตรไม่ใช่ความรู้สึกดีใจตอนจับคนร้ายได้ ไม่เคยดีใจเลย ความรู้สึกหนึ่งที่รู้สึกได้ คือ เวลาเดินไปบอกญาติว่า ผมขอโทษ เหตุมันเกิด เราไม่สามารถป้องกันได้ก่อน แต่ผมจับคนร้ายให้ได้ แล้วดูสีหน้าครอบครัวเขา มันจะบอกเลยว่า เขาสูญเสีย แต่เราเยียวยา เราจับคนร้ายได้ ไม่ได้รู้สึกว่า ดีใจที่จับคนร้ายได้ แค่รู้สึกว่า เราทำอะไรให้ครอบครัวเหยื่อได้บ้าง แล้วหน้าที่ที่ดีที่สุดของเราอีกอย่าง ต้องเอาให้มันติดคุก ไม่ใช่ให้มันวิ่งเต้น วันไหนที่ศาลตัดสินจำคุก นั่นแหละ คือมีความรู้สึกว่า เออ ถึงที่สุดแล้ว”
ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลย้ำว่า สังคมจะอยู่อย่างไร คนที่มีหน้าที่แล้วไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ไปทำเรื่องอื่น ควรทำหน้าที่ปกติของให้ดีที่สุดก่อน แล้วค่อยไปคิดเรื่องอื่น ถามว่า มาเป็นผู้นำนครบาลแล้ว พวกเขาจะยังไง “ผมเข้าใจนะว่า มีวัฒนธรรมองค์กร ไม่ต้องมาปรับตามสไตล์ของผม แค่กลับไปทำหน้าที่ของคุณให้มันดี ต้องทำอะไร 1-3 ถ้าคุณทำได้ดีแล้ว คุณจะไปทำอะไรนอกเหนือจากนั้นก็ได้ ไม่ได้สติ๊ก คุณให้ประชาชน ชาวบ้านสบายใจ รับรองเขาไม่ร้องเรียนคุณหรอก”
ยอมรับอาชีพจมอยู่กับความทุกข์ แต่จำเป็นต้องลุกปัดเป่าคลายปัญหา
เจ้าตัวขยายภาพกว้างเพิ่มเติมว่า มีอยู่ 3 อาชีพจมอยู่กับความทุกข์ระทมของชาวบ้าน คือ หมอ พระ ตำรวจ ไปหาหมอต้องรอคิว ต้องเสียค่าตรวจ ถามมากไม่ได้ด้วย หมอดุ หมอตรวจเสร็จ จ่ายยาเสร็จ กลับบ้าน กินยา แล้วหายไหมก็ไม่รู้ เวลาไม่สบาย ไปหาหมอตี 3 โทรศัพท์หาหมอได้ กลับต้องไปรอที่โรงพยาบาล หรือหมอไปหาที่บ้าน เจ็บหน้าอก ไปตามเวลา ลงตารางนัดด้วย ถ้าไม่ได้คิวก็ไม่ได้ตรวจ วันนี้หมอไม่เข้า ส่วนพระ เราไม่สบายใจ ลูกติดยา ลูกหนีเรียน ลูกแข่งรถ ไปหาพระ สามีติดการพนัน ติดผู้หญิงอื่น ไปหาพระ ขอให้พระ ช่วยให้ศีล ให้พร สบายใจ หันมาเจอตู้บริจาค หยอดตังค์ด้วย กราบพระ 3 ครั้ง ต้องไปหาหมด
“พอเป็นตำรวจ ทำงานเดลิเวอรี ตั้งแต่ผมจบมานี่ แค่มีเหตุปุ๊บ ตำรวจต้องวิ่งไปหา ขึ้นวิทยุมาที เราก็ต้องวิ่ง ไปแล้ว ช้าเร็วไม่รู้ แต่เราไป ใกล้ไกล ไม่รู้ แต่เราไป แม้ ไม่มีเสียงตอบรับในสัญญาณที่เป็นบวก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะอะไร มันคือ เงินภาษีอากร ที่ชาวบบ้านคิดว่า ต้องได้ มาแจ้งความ มาให้จับคนร้าย จับให้ จับได้ด้วย หมอรักษาหายหรือเปล่า ไม่รู้ พระสวดเสร็จ ลูกเลิกแข่งรถหรือเปล่า ไม่รู้ เลิกเล่นยาหรือเปล่า ไม่รู้ แต่ตำรวจจับได้ โดนด่าอีก ถ้าหันไปที่ตัวชี้วัดของโรงพักนะ ไม่ต้องทำอะไรเลย เอาตู้บริจาคไปตั้งหน้าโรงพัก ถ้าโรงพักไหนตู้ไม่แตกนะ โรงพักนั้นใช้ได้ เชื่อผมไหม” พล.ต.ท.ธิติพูดด้วยรอยยิ้มแต่สีหน้าจริงจัง
“ผมไม่ได้ต้องการทำงานให้ลูกน้องรัก แต่อยากให้พวกเขาทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่ ผมไม่ได้คิดว่า ผมเป็น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพราะวิถีผม หรือไลฟ์สไตล์ผม ไม่ได้แสดงบทบาท หรือแสดงตัวว่าเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผมก็ใช้ชีวิตเหมือนตำรวจคนหนึ่ง ไม่ต้องทำตัวเราให้แตกต่างจากใคร” แม่ทัพตำรวจเมืองหลวงแสดงตัวตนที่ชัดเจน
ไม่ขอตอบโต้ปะทะคารมใคร ในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้
เขายังเอ่ยถึงอดีตนักการเมืองรายหนึ่งออกมาโจมตีรายวันว่า ไม่จำเป็นต้องออกมาตอบโต้ เราเชื่อในพลังเงียบที่อยู่เบื้องหลัง คือ ถ้าเราจะต้องสื่อสารกับคนที่มีมุมมอง มีทัศนคติที่มีอคติ หรือมีอัตตา เหมือนการคุยกันคนละคีย์โทน ไม่มีทางคุยรู้เรื่อง ถ้าถามว่า ใครได้ประโยชน์ จริง ๆ แล้วจะไม่มีใครได้อะไร เราไม่มีทางปรับเปลี่ยนคีย์บางคนได้ ตรงกันข้ามอีกฝ่ายก็ไม่มีทางที่จะมาทำให้เราทำงานตามที่บอกได้ เราคิดว่าการติดต่อสื่อสารไม่สามารถที่จะเป็นไปในทางที่เป็นคุณ มีแต่ทางลบ เราควรทำตัวเรายังไง แต่ไม่ได้วางเฉย เรารับฟัง อะไรที่ทำได้แล้วเป็นประโยชน์ เราก็เอามาปรับปรุง ทว่า ไม่ใช่โดนกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย ไม่มีหลักฐาน ถูกใช้วิธีการอะไรที่แสดงออกแบบผิด
“ผมมองว่า คำพูด กริยา ท่าทางของคน ถูกหล่อหลอมมาด้วยการดูแล พื้นฐานทางจิตใจ ผมเห็นแบบนั้นแล้ว ผมจะต้องไปกระทำในลักษณะอย่างนั้นด้วยหรือ ผมคิดว่า ไม่จำเป็น เราทำสิ่งที่เราคิดว่า มันถูกต้อง เดินให้มันถูกทาง ถ้ามันถึงเวลาแล้ว พลังเงียบ หรือเสียงเงียบ ตอบเราได้ ทผู้ชมข้างเวที ประชาชนที่เฝ้าดู สื่อที่มีประสบการณ์จะเข้ามาช่วยประคับประคองให้ไปในทางตรงที่ดี ถ้าเราหยุดระหว่างทาง เราหยุดที่จะเข้าไปแก้ปัญหา มันไม่ทำให้อะไรมันดีขึ้น แล้วจะทำให้สิ่งที่เราทำอยู่มันเสียหายด้วย”
เช่นเดียวกับประเด็นถูกใส่ความสร้างความแตกแยกในหน่วยภายหลังมาดำรงตำแหน่ง พล.ต.ท.ธิติหัวเราะบอกว่า เป็นข้อมูลเลื่อนลอยจากตำรวจที่ไม่ชอบเรา ถ้ามีจริงคนไหนพามาพบได้ มาแนะนำตัวได้ เราพร้อมจะรับฟังและแกปัญหา ความรู้สึกตรงนี้มั่นใจว่า คนที่ทำงานด้วยกันไม่ทำแน่ เกรงว่า จะเป็นคนไม่ทำงานชักใบให้เรือเสีย ถ้ารักหน่วยงาน หรือรักสังคมจริง ทำไม่ไม่เอาข้อมูลมาให้
อยากขอขอบคุณแม่บ้านทุกคน เสียสละอดทนให้สามีทำงานเพื่อคนอื่น
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภูธรกับนครบาลแตกต่างกันด้านความคิดไหม พล.ต.ท.ธิติว่า ทั้งสองหน่วยคุยรู้เรื่องหมด ถอดหัวโขนออก นั่งกินข้าวก็คุยกันได้หมด “ตำรวจต่อให้มียศจ่า ถ้ามีคุณงามความดี ในวันที่เกษียณอายุ ผมยกมือไหว้ และขอบคุณครอบครัว ขอบคุณลูกหลานด้วยที่ยอมให้สามี พ่อบ้านทิ้งการดูแลครอบครัวมาดูแลสังคม ดังนั้น คนเป็นแม่บ้านตำรวจถือว่า ใจกว้าง วันที่สามีเกษียณ ผมจะขอบคุณแม่บ้านทุกครั้ง บอกว่า ผมขอบคุณในความใจกว้างของคนที่เป็นแม่บ้านตำรวจ เพราะมันเป็นอาชีพที่ความอบอุ่นในครอบครัวน้อยกว่าอาชีพอื่นทั้งหมด”
ย้อนความถึงปฐมบททลายผับจินหลิงเคยคิดไหมจะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต นายพลผู้นำการเบิกเกมกระฉากหน้ากากนายทุนธุรกิจจีนสีเทาทั้งระบบในเมืองไทยยอมรับว่า เข้าใจเป็นเคสเครือข่ายกับฝั่งประเทศเพื่อนบ้านไม่น่าจะใหญ่โต และไม่คิดจะมีข้าราชการเข้ามาพัวพันมากขนาดนั้น ไม่คิดด้วยว่าจะกล้าเอามือบังคดี 3 โรงพัก เป็นสิ่งที่เราถึงอยากค้นหา หลังจากพบหญิงชาวจีนช็อกตายในผับย่านรัชดาภิเษกส่งโรงพยาบาลท้องที่มักกะสัน แต่บิดหลักฐานการเสียชีวิตในท้องที่ลุมพินี
“ต้องทำเชิงรุก เรารู้ว่าจะต้องมีแรงเสียดทาน เราเห็นจากภาพที่สุทธิสาร เราก็รู้ว่า เราต้องเจออะไร แต่ถามว่า เราจะต้องถูกแรงสะท้อนอย่างนี้ไหม ก็ต้องเจอ คิดว่า มันยังสกปรกได้อีก ผ้าขี้ริ้ว มันสกปรกแล้วมันยังสกปรกได้อีก คนเรามันมีทุกอย่างเพื่ออะไร เรารู้ว่าเราทำให้เขาสั่นคลอน เรารู้ว่าเราทำให้เขาเสียหาย เรารู้ว่าเราทำให้มันหมดสภาพ เสียสถานภาพ ในการเป็นบุคคลเกรดเอ ทำให้เขาเสียสถานภาพในทางสังคม ในทางเศรษฐกิจ ถูกยึดทรัพย์ หรือถูกอะไรก็แล้วแต่ แต่คนที่อยู่รอบข้าง หรือพยายามที่จะช่วยเหลือ พวกนี้แหละเป็นคนที่น่ากลัวที่สุด”
เข้าเมืองหลวงมาเพื่อเผชิญปัญหา อย่าให้เห็นชาวบ้านต้องฝากช่วยดูคดี
หลังจากปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเห็นปัญหาความไม่ชอบมาพากลของสำนวนคดีเกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐานที่ถูกทำลายไปบางส่วน ทำให้เจ้าตัวคิดถึงคำของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เรียกไปกระซิบบอกตอนแต่งตั้งให้มาเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลว่า “มันมีปัญหา และรู้ว่าต้องเจอกับปัญหา แต่เอ็งต้องดูเอง เอ็งมาอยู่นี่เอ็งจะรู้ว่า ไม่ได้สบายหรอก แต่ต้องมาเพื่อแก้ปัญหา ช่วยทำให้มันดีขึ้น”
พล.ต.ท.ธิติบอกว่า เป็นสิ่งที่ไม่รู้ความหายคืออะไร รู้อย่างเดียวคือ แก้ปัญหาภายใน ไม่คิดเหมือนกันต้องมานั่งทำคดีธุรกิจสีเทา ไม่ใช่แค่อาชญากรรมพื้นฐาน ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่กรุงเทพมหานครกับสิ่งที่ไปกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ที่สำคัญ คือ เรื่องสอบสวน ถ้าชาวบ้านเดินขึ้นโรงพักแล้ว ยังต้องฝาก อย่าให้ได้ยิน ได้ยินแล้วจะของขึ้น
“ ถ้าเขาถูกปล้น ถูกจี้ ถูกโกง ถูกล่อลวง แล้วยังจะต้องมานั่งคอยคุยที 6 ชั่วโมง 3 วัน กว่าจะได้เจอ ผู้กำกับการอย่างนี้ไม่ได้ จริงๆ ผู้กำกับการต้องมานั่งที่โรงพักทุกวัน สมัยผมเด็ก ๆ เวลาเข้าเวร ผมถูกสอนให้กลัว บอกเฮ้ย ผู้ต้องหาครบหรือเปล่า ก่อนที่จะออกเวร 15 นาที ต้องไปยืนเช็ก นั่งหน้าโรงพัก ถามป้ามาทำอะไร พี่มาทำอะไร อ๋อ มาแจ้งความ เราจะจำเลย ไอ้นี่เวรเก่า คนของเวรเก่าจดไว้ก่อน เป็นช่วงรอยต่อเวร ผมโตมาแบบพนักงานสอบสวนแบบนั้น”
ตั้งเป้าหมายทำพื้นที่ปลอดภัย ผู้กำกับต้องใส่ใจในการเดินถนนดูแล
ทิ้งท้ายผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมีเป้าหมายอยากทำให้ทุกพื้นที่รู้สึกปลอดภัยเดินได้ในตอนกลางคืน ผู้หญิงเดินได้ เด็ก หรือใครก็ได้ มีเซฟโซน ไม่ใช่ว่า เดินไปแล้ว ต้องหันหน้าหันหลัง หรือต้องยืนคอยคนเดินเป็นเพื่อน เราเคยเห็นคนยืนคอย ความรู้สึกช่วงเป็นเด็กจะเดินเข้าไปในซอยกลับบ้าน ผู้หญิงต้องยืนรอ ให้เราเดินเป็นเพื่อนเข้าไป เราเคยเห็นภาพพวกนั้น ถึงอยากให้พื้นที่ในนครบาล มีพื้นที่อย่างนี้มาก ๆ
“ต้องมองด้วยสัดส่วนความเป็นจริง ตำรวจนครบาล 2 หมื่นกว่าคนจากจำนวน 88 โรงพัก แล้วต้องดูแล ฟังดูแล้วมันวาดฝัน แต่ควรจะมีบ้างในแต่ละพื้นที่ ควรจะหาพื้นที่พวกนี้ให้ได้ ถ้าพื้นที่หนึ่งมันแข็งแรงแล้ว ชาวบ้านเขาดูแลกันเองได้แล้วก็มีโอกาสที่จะขยายต่อไป ทำให้มันเป็นเซฟโซนได้ไหม ทำอะไรให้มันเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ มากกว่าจะเป็นโครงการที่เป็นนามธรรม เอาที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้เลย เอาสายตรวจลงไปเดิน ผู้กำกับเดินด้วย ลงไปเดินทุกวัน สารวัตร รองผู้กำกับจะเดินไหม ใช้วิธีปักหมุด เมื่อเห็นตำรวจมาเดินบ่อยๆ แล้ว โจรมันจะมาเดินไหม กลายเป็นเซฟโซนอัตโนมัติ”
ผู้นำนครบาลยังวางหลักการว่า อย่างจราจร รถชนตรงหน้าโรงเรียนศรีอยุธยา พญาไท เราเห็น 2 ครั้งแล้ว มอเตอร์ไซค์ชนคุณหมอเสียชีวิต โรงเรียนสันติราษฎร์เด็กจะโดนรถชน 2 จุดในช่วงเวลาที่เป็นวิกฤติ เร่งด่วนกลับไม่มีตำรวจแก้ไข ต้องแลกกันคนละหมัด คุยกันเลย เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลลงไปยืน 1 ชั่วโมง ผู้บังคับการต้องยืน 10 วัน ถ้าผู้บังคับการไปยืน 10 วัน รองผู้การต้องไปยืน 30 วัน เอาไหม เราไม่ได้แกล้ง แต่ถ้าเราเห็นว่า เป็นปัญหาตรงนี้ แล้วสถิติรถชนเดือนหนึ่ง 4 ครั้ง ยังไม่เอาคนมายืนอีก เราไม่โอเค