“เบ้าหลอมใหม่” จากรั้วสามพราน ยึดอุดมการณ์ลงสนาม

 

ผลผลิตของนักเรียนนายร้อยตำรวจลอตใหม่กำลังจะก้าวออกไปรับใช้ประชาชน

นรต.นันทวุฒิ ใบงาม หัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจประจำรุ่น 71 ขณะที่ นรต.หญิง ณัฐชา เครือแตง เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมรุ่น ดีกรีเป็นนักเรียนดีลำดับ 3 ของรุ่น

ทั้งคู่อยู่ชั้นปีที่ 4 ขยับเป็นพี่ใหญ่ประจำ “รั้วสามพราน” อัดแน่นอุดมการณ์มาเต็มแก้ว

ยึดแนวคำสอนของ พล.ต.ท.ศักดา เตชะเกรียงไกร อดีตผู้บัญชาการนักเรียนนายร้อยตำรวจที่ปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ตั้งแต่เริ่มย่างก้าวแรกอยู่ในชั้นปี 1

“ต้องเป็นตำรวจที่คนดีรัก คนร้ายกลัว”

ไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตของเขาและเธอจะเจออะไรบนเส้นทางสีกากีข้างหน้า แต่ทั้งคู่สัญญาไว้ว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด พิสูจน์อาชีพที่ท้าทาย มีภาพ “ติดลบ” ตั้งแต่วันแรกที่สวมเครื่องแบบแล้ว

ติดใจบทสิบตำรวจโทบุญถึง ถึงอยากรับบทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ประวัติชีวิตของนักเรียนนายร้อยตำรวจผู้มุ่งมั่นอย่าง นรต.นันทวุฒิ ใบงาม เกิดในครอบครัวทำธุรกิจส่วนตัวรับปลาไปส่งตามบ่อตกปลาอำเภอเมืองชลบุรี มีความฝันอยากเป็นตำรวจตั้งแต่เด็ก เพราะชอบดูหนังเกี่ยวกับตำรวจประเภทบู๊สะบั้นหั่นแหลก โดยเฉพาะบทบาทของพระเอกหนุ่ม อำพล ลำพูน จากละครทางช่อง 7 สี เรื่องสิบตำรวจโทบุญถึง ทำเอาเขาหมายมั่นจะสวมเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้ได้

ตอนแรกเจ้าตัวตั้งใจว่า หากจบชั้นมัธยมปลายโรงเรียนชลบุรีสุขบทแล้วจะไปสอบเข้าโรงเรียนนายสิบตำรวจเพราะเห็นว่าใกล้บ้าน และด้วยความที่ไม่รู้ว่า มีโรงเรียนนายร้อยตำรวจด้วย กระทั่งอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 เพื่อนมาบอกถึงเริ่มตั้งใจเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารตอนจบมัธยมปีที่ 3 แต่สอบครั้งแรกผิดหวังไม่ติดสักเหล่า

“ยอมรับว่า ครั้งนั้นผมไม่ได้รู้สึกอะไร ยังเชื่อมั่นว่าจะสอบให้ได้ ต้องทำให้ได้ ครั้งแรกตั้งใจนะ แต่เหมือนไปไม่สุด กลายเป็นว่า พ่อเสียใจมากกว่า พ่อร้องไห้พอรู้ว่า ผมสอบไม่ติด พ่อเชียร์อยากให้ผมรับราชการ ตั้งใจมากกว่าผมอีก ลุ้นตลอด คอยส่งขนมส่งเสบียงตอนไปติวกวดวิชาประจำ” นรต.นันทวุฒิฟื้นความหลัง

 

เดินตามความฝันสมที่วาดหวัง ไม่ฟังคำทัดทานอาจารย์ไม่ชอบตำรวจ

กลับมาเรียนต่อมัธยมปีที่ 4 นักเรียนนายร้อยตำรวจหนุ่มเล่าว่า ไม่ได้ท้อแท้ ยังคงเชื่อในตัวเองว่าจะทำให้ได้แน่นอนภายใน 3 ปี และกะจะไม่เรียนกวดวิชาแล้ว บังเอิญผลคะแนนสอบที่ค่ายติวดี โรงเรียนกวดวิชาเลยบอกว่า ไม่ต้องเสียเงินค่าเรียน เสียแค่ค่าอาหารพอ ในที่สุดก็สอบได้ คราวนี้คะแนนติดทั้ง 4 เหล่า แต่เหล่าที่ได้คะแนนดีที่สุดเป็นทหารเรือ

เขาบอกว่า ตำรวจรับ 180 นาย สอบได้ที่ 280 ตั้งใจไว้ว่า ถ้าไม่ได้เป็นตำรวจก็จะไม่เรียน ทู่ซี้เลือกเหล่าตำรวจเดินตามหาความฝัน พอถึงตอนรายงานตัว พวกตัวจริงไปเลือกเหล่าอื่นเยอะ คะแนนเลยไล่ขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 166 ติดเหล่าตำรวจจนได้  “ตอนนั้นดีใจมาก แต่อาจารย์ที่โรงเรียนมัธยมไม่อยากให้เป็น บอกว่า ผลการเรียนผมดี ประกอบกับอาจารย์ไม่ค่อยชอบตำรวจ พยายามเชียร์ให้ผมเรียนสายวิศวะ เป็นหมอ อะไรพวกนี้ เหมือนตอนผมสอบไม่ติดปีแรก อาจารย์กลับดีใจ”

เลือกตามความฝันเข้าไปเรียนเตรียมทหารก่อน 3 ปี นรต.นันทวุฒิบอกว่า ก่อนหน้ามีรุ่นพี่เล่าประสบการณ์ในรั้วเตรียมทหารให้ฟัง แต่ไม่เหมือนกับที่ฟังมาทั้งหมด ได้มีโอกาสไปเรียนรู้เอง ช่วงแรกยอมรับว่า ปรับตัวยาก เพราะไม่เคยเจออะไรแบบนี้ในชีวิต ปรับตัวจากพลเรือนมาเป็นเหมือนระบบทหาร เราไม่ชิน ต้องปรับตัวอยู่พักหนึ่ง มีเพื่อนที่เรียนห้องเดียวกันออกไปถึง 4 คน

 

เรียนรู้ระบบเตรียมทหาร สู่รั้วสามพราน-หน้างานต่างกัน

“สำหรับผมตอนนั้นถือว่าหนัก เพราะไม่เคยเจอมาก่อน แต่ทุกคนก็ต้องผ่านตรงนี้ไปได้ มันเป็นการฝึกอะไรเราหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องความอดทน” หนุ่มเมืองชลว่า พอขึ้นปี 3 เขาได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนบังคับบัญชา ตำแหน่งหัวหน้าหมวดปกครองรุ่นน้องชั้นปีที่ 2 ถามว่าฝึกหนักลงโทษจวกกันหนักเหมือนที่กระแสสังคมโจมตีจริงไหม เขายืนยันว่า พวกเราไม่มีอะไรที่เกิดขอบเขตจะอยู่ในกรอบตลอดแล้วทุกคนก็ผ่านออกมาได้

จากรั้วจักรดาวก้าวเข้ารั้วสามพราน นักเรียนนายร้อยตำรวจมาดเข้มสารภาพว่า วันแรกที่เข้าไป มีทั้งสิ่งที่เคยฝันไว้จะเป็นแบบหนี้ แต่บางอย่างไม่ค่อยตรงเท่าไร เข้ามาอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะปรับพื้นฐานใหม่ ชั้นปีที่ 1 จะมีแบบฝึกของตำรวจต่างจากรูปแบบทหาร และยังเรียนรู้ระบบธรรมเนียมใหม่ ไม่เหมือนของทหาร ระหว่างชั้นปีมีเรื่องระบบอาวุโสค่อนข้างเป๊ะกว่า แต่งานของตำรวจเป็นงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ไม่ต้องวางอำนาจอะไร ทำให้มีความใกล้ชิดระหว่างพี่กับน้องมากขึ้น

ผ่านมาทุกหลักสูตร ได้ฝึกงานสายปราบปรามและสืบสวนที่สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ฝึกงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เจ้าตัวว่า ชอบงานสืบสวนมากที่สุด เหมือนได้ใช้ความสามารถ ใช้ความเป็นทีมมากกว่างานหน้าอื่น เป็นงานท้าทาย ส่วนงานสอบสวนไม่ใช่ไม่ได้ชอบ แค่รู้สึกว่าเป็นงานรูทีน พอมีประชาชนมาแจ้งความ เราก็สอบปากคำ กระบวนการไม่แตกต่างออกไปเท่าไรนัก

 

เป็นนักกีฬาฟันดาบสากล ก่อนคุมคนในตำแหน่งหัวหน้านักเรียน

กิจกรรมระหว่างเรียน นรต.นันทวุฒิเล่าว่า เลือกเป็นนักกีฬาฟันดาบสากลของโรงเรียน อยู่ชมรมฟันดาบ เพราะเป็นกีฬาอย่างเดียวที่เล่นไม่เป็น คิดว่า น่าจะเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ตัวเอง อยากลองเล่นให้เป็น เลือกเข้ามาอยู่ชมรมตั้งแต่ปี 1 ลงแข่งกีฬาเหล่าได้เหรียญทุกปี ทั้งเหรียญทอง และเหรียญเงิน ก่อนจะขยับเป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวด เป็นหัวหน้านักเรียนเต็มตัว

เหตุผลที่ได้รับเลือก เขาอธิบายว่า จะมีการเก็บคะแนนจากเพื่อนตั้งแต่ชั้นปี 1 จำได้ว่า ครั้งแรกได้ลำดับที่       5 ต่อมาได้ที่ 1 ตลอด เพราะเพื่อนเลือก อาจจะเป็นเพราะเราคุยกับเพื่อนเข้าใจ มีความเป็นผู้นำส่วนหนึ่ง หน้าที่ของหัวหน้านักเรียนคือ ดูแลกิจกรรมของนักเรียนทั้งหมด และเสนอในรอบเดือนจะทำกิจกรรมอะไรบ้างเพื่ออนุมัติ อีกทั้งแก้ปัญหาต่างๆ ของนักเรียน คิดแนวทางแก้ไข เสนอผู้บังคับบัญชา

“ไม่ได้หนักใจเท่าไหร่นะ ตั้งใจไว้แล้วเมื่อรับตำแหน่งว่า ต้องเป็นแบบนี้ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด มันก็จะเหนื่อยหน่อย แต่ได้ประสบการณ์ เพื่อนก็ฟังนะ ปกครองเพื่อนรุ่นเดียวกันจะง่ายกว่า เพราะทุกคนมีวัยวุฒิ และวุฒิภาวะเท่ากัน อาจต้องใช้ศิลปะในการคุยบ้าง ต้องเข้าใจความรู้สึกเพื่อนก่อนว่า เพื่อนน่าจะต้องการประมาณไหน แล้วจุดตรงกลางจะอยู่ตรงไหน ระหว่างที่ผู้บังคับบัญชาสั่งมากับที่เพื่อนต้องการไปทางไหนทางหนึ่งไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะถูกมองว่า คุมเพื่อนไม่ได้ ต้องหาจุดตรงกลาง” หัวหน้านักเรียนนายร้ายตำรวจรุ่น 71 ว่าถึงหลักการ

 

เพราะตำรวจใกล้ชิดประชาชน ส่งผลให้ต้องอดทนพิสูจน์ตัวเอง        

สำหรับความคาดหวังกับการเป็นตำรวจในอนาคต เขาตอบอย่างจริงจังว่า ตั้งใจจะเป็นตำรวจตลอดชีวิตจนเกษียณ ในแบบที่ว่า ทำหน้าที่ตำรวจให้ดีที่สุด แม้แต่ละยุคสมัยตำรวจจะเปลี่ยนไป จากเดิมตำรวจเป็นที่น่าเกรงขาม น่าเชื่อถือ ปัจจุบันกลับโดนกระแสสังคมทำให้ดร็อปลงไป แต่ส่วนตัวคิดว่า อนาคตอะไรหลายอย่างน่าจะไปในทางที่ดีขึ้น ตำรวจต้องย้อนกลับมาเป็นยุคที่น่าเชื่อถือของประชาชน

นรต.นันทวุฒิเชื่อว่า องค์กรตำรวจพยายามจะเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างที่ยังไม่ลงตัว สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของตำรวจกำลังแก้ไข “ก่อนหน้าที่ผ่านมามีบางคนถามผมว่า เรียนนายร้อยอะไร พอบอกตำรวจ เขาก็ถามต่อว่า ทำไมไม่เรียนทหาร เหมือนว่า เขาไม่ชอบตำรวจ ราวกับรู้ว่า เรามีโอกาสเลือกทหาร ทำไมไม่เลือกทหารอากาศ ทหารบก ทหารเรือ ทำไมเลือกตำรวจ”

“ผมก็ตอบไปตรงๆนะว่า ผมชอบ แต่ก็เข้าใจดีว่า กระแสสังคมปัจจุบัน พอตำรวจทำพลาดก็เป็นจุดเด่นขึ้นมา เพราะตำรวจทำงานใกล้ชิดกับประชาชน เราถึงต้องทำให้ดี ผมมองว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง  รู้สึกว่า บางครั้งมันติดลบตั้งแต่แรก ทั้งๆ ที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ยังไม่ได้จบออกไปทำงานด้วยซ้ำ ตั้งแต่ก้าวเข้ามาเลย มันถึงกลายเป็นอาชีพที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง เป็นอาชีพที่ท้าทายดี” นักเรียนนายร้อยตำรวจปีสุดท้ายระบายความเห็น

 

นักเรียนพยาบาลสาวทหารอากาศ  เคยพลาดโอกาสเป็นนายร้อยตำรวจ

ส่วน นรต.หญิง ณัฐชา เครือแตง เด็กสาวที่ก้าวเข้ามาสู่รั้วสามพรานด้วยอุดมการณ์อยากช่วยเหลือสังคม เป็นชาวลพบุรี พ่อแม่ประกอบอาชีพค้าขาย เธอเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย โรงเรียนประจำจังหวัดบ้านเกิด ก่อนมุ่งหน้าสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจติดรอบแรกลำดับที่ 225 แต่เปิดรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงแค่ 70 คน ทำให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

เธอรำพันอดีตว่า ตอนนั้นไปสอบหลายที่ ติดคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ และวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ ไม่ติดแค่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ “อยากเป็นหมอ แต่ว่าพอสอบไปแล้ว รู้สึกว่า เราคงเป็นหมอไม่ได้ มันยาก พอไปเรียนพยาบาล ยิ่งรู้สึกไม่อยากเป็นหมอมากขึ้นไปอีก มันไม่ใช่ตัวเรา งานมันจำเจ เรารักษาคนไข้ก็จะรักษาอยู่อย่างนี้ ขึ้นไปก็จะเจอคนไข้แบบเดิม ไม่น่าจะไปรอด”

สุดท้ายเลือกเรียนวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ เจ้าตัวให้เหตุผลว่า ได้ศึกษาข้อมูลกองทัพอากาศพบมีกองบินหลายแห่ง มีอัตรากำลังพลมาก ความมั่นคงน่าจะมากกว่า มีอนาคตมากกว่าทหารเรือ แต่เมื่อเรียนไปปีเดียวรู้ตัวแล้วว่าไม่ชอบ เรียนหนัก เกิดอาการลังเล ตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ใช่คืออะไร และอะไรคือคำตอบที่แท้จริง

 

กลับมาตามหาคำตอบให้ตัวเอง ไม่หวั่งเกรงความสวยด้วยเพราะเลือกแล้ว

สาวนักเรียนพยาบาลทหารอากาศตัดสินใจเด็ดขาดกลับมาตั้งตาสอบโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกครั้ง เที่ยวนี้ติดสำรองลำดับที่ 7 เธอยอมรับว่า ไม่รู้จะได้เรียนหรือไม่ เพราะเป็นตัวสำรอง ทำใจอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่ได้ก็กลับไปเรียนต่อพยาบาลให้จบ จบแล้วอาจไปทำอย่างอื่นแทนเช่น เป็นพยาบาลบนเครื่องบินที่เขาเรียกว่า เวชศาสตร์การบิน หรืออาจเปลี่ยนสายไปสอบเป็นแอร์โฮสเตส บางสายการบินน่าจะสนใจเราเพราะเป็นพยาบาลทหารอากาศ ถ้าพัฒนาทักษะด้านภาษาได้

ปรากฏว่า เธอโดนเรียกติดเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นคนสุดท้าย กลับไปบอกครอบครัวคำตอบที่ได้รับคือ ไม่เห็นด้วยจะเสียเวลากลับมาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องจากมองว่า ไม่เหมาะสำหรับเธอที่เป็นผู้หญิงรูปร่างบอบบาง “เราคิดว่า มันดูไม่จำเจ ไม่ซ้ำใครนะ เป็นผู้หญิงที่ทำอะไรได้เยอะ ทั้งยิงปืน เรียนการต่อสู้น่าจะไม่เหมือนใคร ดูเป็นผู้หญิงที่ทำอะไรได้หลายอย่าง คล่องแคล่ว ตอบโจทย์ตัวเราได้มากกว่าพยาบาล”

“ พอได้เข้ามา อาจเพราะด้วยความอยากเข้ามาอยู่แล้ว ทำให้มีความอดทนค่อนข้างสูง ไม่เหมือนกับบางคนที่ไม่ได้อยากเข้ามา เพราะบางคนพ่อแม่บังคับอยากให้เรียน ไม่เหมือนเราที่ตัดสินใจมาเอง รู้สึกว่าเลือกมาแล้วก็อดทนไป เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เดี๋ยวมันก็จบ ไม่เคยมีความคิดอยากลาออกเหมือนคนอื่นที่รู้สึกว่า มันเหนื่อย ต้องโดนจวก ต้องอะไรหลายๆ อย่าง อีกทั้งตัดผมสั้น ตากแดด หมดสวย ในเมื่อเราเลือกแล้วก็ยอมรับได้”

 

ฝึกร่วมผู้ชายทำตัวถ่วงไม่ได้ แถมยังกลายเป็นรองมิสสามพราน

อดีตนักเรียนพยาบาลทหารอากาศหันเหชีวิตสู่รั้วโรงเรียนนักเรียนนายร้อยตำรวจเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกอย่าง ตั้งแต่เวลาตื่น เวลานอน ฝึกระเบียบวินัยมากขึ้น ที่สำคัญคือ รูปแบบการฝึกยุทธวิธีภาคสนามไม่ต่างจากผู้ชาย เสียเปรียบกว่าด้วยซ้ำตรงที่ไม่ได้ผ่านโรงเรียนเตรียมทหาร ไม่ได้เคยฝึกอะไรมากสักอย่าง ต้องเริ่มทุกอย่างใหม่หมด ต้องพัฒนาตัวเองให้มากจะเป็นตัวถ่วงเขาไม่ได้

“ถ้าไม่ได้เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจไม่รู้เลยว่า การจะเป็นตำรวจมันหนักขนาดนี้เชียวหรือ ยิ่งเราเป็นส่วนน้อย เราต้องไม่เป็นตัวถ่วง ถ้าคนข้าง ๆ ยังไม่ล้ม เราจะล้มไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน ไม่ต้องห่วงความรักสวยรักงาม ทุกคนฝึกก็ตัวดำเหมือนกัน ผมสั้นเหมือนกัน อยู่ให้รอดในแต่ละวัน ไม่โดนจวก ไม่โดนทำโทษ ทั้งหมดไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้หญิง หรือผู้ชาย คือ ต้องอดทนเหมือนกัน” นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงชั้นปีที่ 4 ว่า

ผ่านช่วงเวลาปีแรกไปอย่างรวดเร็ว มีการจัดประมวลมิสสามพรานขึ้นเป็นครั้งแรก ตามนโยบายของ พล.ต.ท.ศักดา เตชะเกรียงไกร ครูใหญ่โรงเรียนนายร้อยตำรวจต้องการเห็นผู้หญิงทำอะไรก็ได้ภายใต้คอนเซปต์ “สวย เท่ เก่ง” ทำวีดีโอพรีเซนเทชั่น สวมชุดฝึกแนะนำตัว แสดงท่ายุทธวิธี เธอผ่านการประกวดเข้ารอบสุดท้ายไปแสดงความสามารถพิเศษเล่นขิม ร้องเพลงตามที่ถนัดคว้ารางวัลรองชนะเลิศมิสสามพรานครั้งแรก

 

คว้ารางวัลดูงานเมืองมังกร อีกตอนยังได้รับโล่รางวัลเรียนเก่ง

รางวัลการประกวดความสวย เท่ เก่งครั้งนั้นไม่สำคัญเท่ากับประสบการณ์ที่ได้ไปดูงานโรงเรียนนายร้อยตำรวจจีนเป็นเวลา 15 วัน ร่วมกับเพื่อนกว่า 10 คน นรต.หญิง ณัฐชา ถ่ายทอดว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจที่เมืองจีนจะแตกต่างจากเราตรงที่มีการแบ่งเวลาชัดเจน ช่วงไหนฝึกต้องฝึกจริง แต่เวลาพักก็พักจริง ปล่อยฟรีสไตล์จะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเข้ากฎระเบียบเมื่อไรต้องอยู่ในกรอบ เขาจะจริงจังกับการเรียนมากเพื่อทดสอบความพร้อมที่จะเป็นตำรวจมากน้อยแค่ไหน

หลังกลับจากดูงานเมืองจีนสู่โหมดเข้าฝึกกระโดดร่มที่ค่ายนเรศวร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เธอได้รับโล่การฝึกดีเยี่ยมลำดับ 1 ของพลร่มรุ่น 219 ขณะเดียวกัน ยังรับโล่รางวัลเรียนดีลำดับ 1 ของรุ่น ลุ้นปีสุดท้ายจะถูกบันทึกเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์โรงเรียนนายร้อยตำรวจที่จะมีชื่อติดบอร์ดประกาศเกียรติคุณสอบได้คะแนนเป็นที่ 1 ของรุ่น 71 ต่อจากนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นที่ 68 และรุ่นที่ 69

“ตอนเข้ามาเรียนเทอมแรกเกรดไม่ดี เพราะฝึกเหนื่อยมากยังปรับตัวไม่ได้ พอมาเทอมสองขอย้ายจากนั่งหลังห้องไปอยู่หน้าห้อง จดทุกอย่างที่ครูสอน ตั้งใจฟังที่ครูพูดฝืนตัวเองไม่ให้หลับ ทำเกรดดีขึ้นเรื่อย ๆ จนได้คะแนนเฉลี่ยรวมเป็นที่ 1 ได้รับโล่เรียนดีในเวลาต่อมา” นรต.หญิง ณัฐชาบอกถึงความภาคภูมิใจในผลการเรียน

 

อยากเป็นตำรวจดี มีคนไว้ใจ ไม่ใช่ตีตราติดลบตั้งแต่แรกเห็น

ความฝันในอนาคต เธอวาดไว้ว่า อยากทำงานสอบสวน รู้สึกเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง ถ้าจะไปทำงานสายอื่นต้องมีพื้นฐานจากงานสอบสวนก่อน ทำได้สักพักเมื่อได้ประสบการณ์แล้วอยากไปอยู่สายสืบสวน ปราบปรามก็ย่อมทำได้ เพราะโรงเรียนสอนทุกอย่างให้เราเป็นได้ทุกอย่าง เหมือนยิงปืนเราก็คะแนนดี ได้เหรียญเงิน ทั้งปืนยาว และปืนสั้น

แต่สิ่งสำคัญที่สุด นรต.หญิง ณัฐชาอยากเป็นตำรวจให้คนดีรักและไว้ใจ เข้ามาปรึกษาปัญหาพร้อมจะให้เราช่วยเหลือ คนร้ายเห็นแล้วไม่กล้าทำความผิด กลัวที่จะทำผิด แต่ปัจจุบันภาพตำรวจทุกวันนี้ ถ้าคนภายนอกมอง ด้วยความที่ตำรวจใกล้ชิดประชาชนอาจจะทำให้มีทั้งถูกใจ และไม่ถูกใจ เพราะตำรวจให้ทั้งคุณและโทษกับเขา เมื่อใดที่ให้คุณ เขาก็พอใจ เพราะช่วยเหลือเขา ถ้าเมื่อใดให้โทษ เขาจะรู้สึกว่า ไม่ได้ทำผิด คือทุกคนจะมองสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งเล็กน้อย ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ประกอบไปแค่ตำรวจหน่วยเดียว ตำรวจเป็นแค่ต้นทางเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคดีอะไร แต่ประชาชนส่วนมากคิดว่าตำรวจผิดอยู่แล้ว

“แค่แต่งชุดสีกากีก็มองลบไปก่อนแล้ว เวลาทำงานเลยลำบาก ตำรวจทุกคนจึงเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของภาพลักษณ์ ควรมุ่งมั่นทำความดีให้ประชาชนกลับมารักกลับมาศรัทธา อย่าให้ความผิดพลาดของใครคนใดคนหนึ่งต้องกลายมาเป็นคำตัดสินภาพรวมว่าตำรวจเราไม่ดี เหมือนที่พูดต่อๆ กันมาว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่ถูกสาปจริงๆ” เธอว่า

 

ยอมรับในเสียงกร่นด่า แม้ว่าจะทำดีมามากน้อยเพียงใด

“ตำรวจเป็นคนแรกที่นึกถึง แต่เป็นคนสุดท้ายที่นึกรัก” นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงสะท้อนความจริง “ยามประชาชนเดือดร้อนจะนึกถึงตำรวจก่อน แต่เป็นสุดท้ายจะนึกรักเพราะมีอะไรผิดพลาดจะมองว่า ตำรวจผิดไว้ก่อน ทว่าสิ่งเดียวที่ตำรวจทำได้ คือ อดทนไม่ว่าประชาชนจะตำหนิอะไร ต้องอดทน และยอมรับในจุดนี้ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ทำหน้าที่ของเราต่อไป”

นรต.หญิง ณัฐชามองว่า  ตำรวจมีจุดอ่อนทางด้านของการสื่อสาร การนำเสนอภาพลักษณ์ ไม่ฉลาดพูด ไม่ฉลาดพรีเซนต์ออกไป มีทำดีก็เยอะ แต่ไม่ค่อยมีการเปิดเผยออกมา พอเปิดเผยมาทีก็เหมือนกลายเป็นว่า สร้างภาพหรือเปล่า บางทีเลือกเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ทั้งที่จริงแล้ว เราทำมาโดยตลอด ส่วนดีมากกว่าส่วนเสียอยู่แล้ว เหมือนจุดดำบนกระดาษสีขาว คนจะเลือกมองจุดดำ ต่อให้มันจะเล็กแค่ไหน ก็ทำให้กระดาษนั้นดูมีตำหนิ คนก็เลือกที่จะมอง

“อยากให้ประชาชนเปิดใจ มองตำรวจแบบเป็นเลขศูนย์ก็ได้ ไม่ต้องติดลบมาก่อน ไม่ใช่ เฮ้ยตำรวจมา แต่จริงๆ อาจจะไม่มีอะไรก็ได้  ยกตัวอย่าง สมัยลงไปทำฝึกงาน รุ่นพี่หลายคนตั้งใจช่วยชาวบ้านตามหน้าที่ ทว่าชาวบ้านบางคนก็บอกว่าต้องช่วยนะ ทั้งที่จริงๆ เราไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นคดีแพ่ง เราไม่มีอำนาจ เราทำให้ไม่ได้ ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจ บางคนก็รู้กฎหมาย แต่รู้ผิวเผินยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ถึงคิดว่า ตำรวจต้องปรับปรุงเรื่องการสื่อสาร ต้องประชาสัมพันธ์ ถ้าสมมติว่า มีคนเข้าใจผิดเรื่องหนึ่ง ควรสื่อสารนำเสนอออกไปเลย ไม่ใช่ปล่อยให้เข้าใจผิด ให้เขาด่าจนคนทั้งประเทศเข้าใจผิดแล้วค่อยออกมาว่า มันไม่ใช่”

 

จิตใจต้องหนักแน่นดั่งหินผา ขอเป็นอาสาช่วยเยียวยาภาพองค์กร

เจ้าตัวสะท้อนอีกว่า ตำรวจจะยืนอยู่ตรงไหนก็มีทั้งคนรัก คนเกลียด ดังนั้นจิตใจต้องหนักแน่นดั่งหินผา เป็นตำรวจก็เหมือนเท้าเหยียบอยู่บนตะปู ส่วนตัวตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะหนักขนาดนี้ พอได้มาเป็นแล้วก็ต้องอดทน ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง  แม้ว่าจะทำดีอย่างไรก็ไม่เข้าถึงใจประชาชนสักที เหมือนมีกำแพงกั้นอยู่ คือจะรักเราได้จริงๆ ก็ต้องเป็นตำรวจด้วยกัน หรือคนที่ได้อยู่กับวงการเราจริงๆ

“อยากจะฝากถึงน้องที่จะเข้ามาเป็นตำรวจ นอกจากจะต้องมีความตั้งใจ มีความสามารถส่วนหนึ่งแล้ว ยังต้องมีความอดทนอย่างมาก เพราะไม่ใช่อาชีพที่สวยหรู เจอมาแล้วกับตัวเอง ต่างจากตอนเรียนพยาบาล มีคนเรียกคุณพยาบาล ความรู้สึกแตกต่างกันมาก ต่อให้ยังไม่ได้ทำอะไร ผิดกันกับตอนที่เป็นตำรวจ ความรู้สึกของคนภายนอกมองตำรวจทำอะไรไปก็มีภาพลบกลับมาอยู่ตลอด”

เธอย้ำทิ้งท้ายว่า เมื่อมาเป็นตำรวจก็ต้องอดทน ถ้าเรายึดมั่นสิ่งที่เราทำว่า ถูกต้อง เชื่อว่า ยังไงก็ต้องได้รับสิ่งที่ดีๆ กลับมา เหมือนกิจกรรมอาสาที่ทำมาตลอดกับดนตรีเปิดหมวกรับบริจาคเงินช่วยมูลนิธิต่าง ๆ ของวงสามพรานชาริตี้ ที่พวกเราจะยังคงรวมตัวทำกันต่อไป ถึงจะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่เราได้ช่วยเหลือสังคมอย่างน้อยก็เป็นตำรวจกลุ่มหนึ่งที่ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ขององค์ตำรวจดีขึ้น ไม่คิดว่า เราเป็นตำรวจที่แย่ ก็พอแล้ว

 

RELATED ARTICLES