คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อมานาน สำหรับ อรวรรณ ชูดี หัวหน้ากองข่าวท่องเที่ยวและกีฬาของช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี
ประวัติชีวิตเป็นคนฝั่งธนบุรี จบประถมโรงเรียนวัดเจ้ามูล ไปต่อมัธยมศึกษานารีถึงชั้นมัธยม 3 ก่อนเข้ารั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เลือกสายศิลป์ภาษาเยอรมัน เพียง 2 ปีสอบเทียบผ่านไปเอ็นทรานซ์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะอยากเป็นนักข่าว
เธอยอมรับว่า ตอนแรกไม่รู้อยากเป็นอะไร พ่ออยากให้เป็นหมอตามสไตล์ผู้ใหญ่รุ่นเก่า แต่ปัญหาเกิดขึ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในวัยมัธยมที่เตรียมอุดมศึกษา พบวิชาเลขอ่อนจนรู้สึกว่า ตายแน่ถ้าจะไปเรียนสายวิทยาศาสตร์ ถึงเบนเข็มไปสายศิลป์ กระนั้นก็ตาม วิถีของเด็กเตรียมอุดมศึกษาเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ต้องเรียนต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ด้วยความที่เราอยู่ตรงนั้นมองยังไงก็ไม่ปิ๊ง
อรวรรณเล่าว่า จังหวะได้ไปงานนิทรรศการประจำปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนมีมนต์สะกด บรรยากาศดูอบอุ่น คนทำกิจกรรมเต็มไปหมดในมหาวิทยาลัย ต่างกับจุฬาลงกรณ์ที่ตอนเย็นจะเงียบ นิสิตไปเดินอยู่สยามสแควร์กันหมด ทำให้รู้สึกว่าชอบ ชอบในความเป็นธรรมศาสตร์ ถึงเวลาเลือกตัดสินใจจะเรียนอะไรที่ไม่น่าเบื่อ เลือกวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เป็นช่วงที่นิเทศศาสตร์กับวารสารศาสตร์กำลังบูมในตลาด
เจ้าตัวมีโอกาสฝึกงานบริษัทสตูดิโอเท็น ทำรายการสารคดีชีพจรลงเท้ากับรายการเด็ก “เล็กพริกขี้หนู” ที่ อรพรรณ พานทอง เป็นพิธีกร ก่อนไปฝึกสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ฝึกกับช่อง 3 เพื่อค้นหาตัวเองว่าชอบอะไรมากที่สุด สัมผัสได้ว่า การทำงานข่าวเป็นอาชีพที่สนุกสุดตอนไปฝึกกับช่อง 3 ทีทั้งข่าวการเมือง ข่าวเหตุการณ์ ข่าวอาชญากรรม
“รู้สึกว่าชอบ เรารู้แล้วว่า เราน่าจะมาทางนักข่าว” อรวรรณรำพันความหลัง พอเรียนจบเข้าสมัครงานสถานีวิทยุ พล.1 เป็นที่แรก ทำข่าวด่วนตามคอนเซ็ปต์อยากทำข่าววิทยุให้ไวที่สุด เป็นข่าวต้นชั่วโมง มี ศุภรัตน์ นาคบุญนำ เพื่อนร่วมสถาบันทำงานด้วยอยู่ประมาณปีเดียว ช่อง 7 เปิดสอบถึงชวนกันไปอยู่ค่ายหมอชิตกับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
ทำงานข่าวได้ 3 ปี ภรภัทร นีลพัธน์ เห็นแววตอนเป็นนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลทาบทามให้ย้ายค่ายมาอยู่ช่อง 9 อสมท กลายเป็นจุดเปลี่ยนอยู่ยาวมาถึงปัจจุบัน ได้ทำงานหลากหลาย เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวภาคสนาม กระทั่ง แสงชัย สุนทรวัฒน์ เข้ามาบริหารอยากให้มีรายการแบบทอล์กถึงได้รับโอกาสมาเป็นพิธีกรรายการต่อยอดการทำงานของตัวเองนอกเหนือจากการเป็นนักข่าวธรรมดา
ทำอยู่หลายปีหลายรายการได้รับการเลื่อนหน้าที่มาดูการผลิตเปิดหัวรายการ “ข่าวดังข้ามเวลา” ออกอากาศที่ช่อง 9 อยู่ประมาณ 3 ปีกว่า เป็นคนที่ดูแลทำคอนเซ็ปต์ ช่วยกันคิดเรื่อง ดูประเด็น มีบริษัทพาโนราม่าเป็นบริษัทลูกร่วมผลิต ก่อนโยกเป็นหัวหน้ากองข่าวท่องเที่ยวและกีฬา “ฉีกแนวตัวเอง ต้องบอกว่า ถนัดที่สุดคือ การเมือง อยู่การเมือง แต่ไม่เป็นไร ถือว่าเราได้เปลี่ยนสิ่งรอบตัวเรา เป็นความรู้ใหม่ๆ ถึงมันจะเป็นงานที่เราไม่ค่อยถนัด เราต้องเรียนรู้มันไป”
สาวคนข่าว อสมท ยังมีมุมมองการทำงานของนักข่าวรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก สมัยก่อนนักข่าวทำงานยากกว่าปัจจุบัน ไม่มีกูเกิล ไม่มีลักษาลอกข่าวส่งกัน “เราโตมาในลักษณะที่เราเรียนรู้ คือ ต้องเป็นคนไปหาข่าว ต้องสร้างแหล่งข่าวเอง ต้องรักษาแหล่งข่าวเอง แล้วถ้าจะแบ่งเพื่อนก็ต้องเป็นเพื่อนที่สนิทมากๆ แต่แม้จะแบ่ง ก็แบ่งกันไม่หมด เพราะมันจะต้องมีอะไรที่เป็นไฮไลต์ของตัวเองด้วย ทำให้ข่าวมันมีความหลากหลาย แตกต่าง แล้วสนุก เรียกได้ว่า กว่าจะได้ข่าวแต่ละชิ้น ทำให้เราต้องเรียนรู้อะไรเยอะพอสมควร ต้องทำการบ้านเพื่อที่จะไปคุยกับเขา การรักษาระยะห่างของแหล่งข่าว ไม่มีแบบทำมาสำเร็จรูปมาให้เอาไปลงเลย”
เธอสะท้อนภาพปัจจุบันว่า นักข่าวอยู่กับที่ก็ได้ข่าวที่แหล่งข่าวส่งมาให้ แต่สมัยก่อนอย่างเก่งก็แจกใบแถลง ทว่าเอาไปใช้ไม่ได้ ต้องมานั่งเขียนใหม่ ทำใหม่หมด ไม่ได้เป็นสิ่งที่สำเร็จรูป ต่างจากปัจจุบัน พอมีนักข่าวเยอะมากขึ้น ประกอบกับมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป กลายเป็นว่า การทำข่าวหมู่เป็นเรื่องปกติไปแล้ว การมีข่าวเหมือนๆ กัน ไม่ได้เป็นเรื่องผิด หรือแม้แต่การตกข่าว ถ้าเป็นสมัยก่อนถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย อาจเพราะเราโตมาในยุคที่มีการแข่งขันในสนามข่าวสูง ใครตกข่าวโดนตัดเงินเดือนก็มี ถ้าช่องอื่นมี แล้วเราไม่มีจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ทำให้นักข่าวทุกคนต้องแอบฉีก ทำให้ทุกคนต้องทำการบ้านเสมอ
อรวรรณจำได้ว่า ก่อนจะไปทำงานแต่ละวัน สมัยอยู่การเมือง ต้องนั่งอ่านหนังสือพิมพ์หมดเกือบทุกฉบับว่ามีประเด็นอะไรน่าสนใจเพื่อไปตามประเด็นต่อ นั่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาลจะรู้แค่ข่าวการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้เรื่องเศรษฐกิจ แม้แต่เรื่องราวความเคลื่อนไหวในวงการตำรวจ บางทีเราเจอตำรวจเข้ามาในทำเนียบ ต้องรู้ด้วยว่า เป็นใคร สำคัญแค่ไหน มีประเด็นอะไร
“มันเป็นโรงเรียนของการที่จะต้องมีความรู้รอบเลยจริง ๆ ทำเนียบรัฐบาลสำหรับคนที่โตมาจากนักข่าวการเมือง มันเหมือนเป็นโรงเรียนแรกที่ทุกคนควรจะต้องผ่าน เป็นอะไรที่สนุกในยุคนั้น คือ แข่งกันบ้าง เพื่อนได้บ้าง เราได้บ้าง เพื่อนตกบ้าง เราตกบ้าง ไม่โกรธกัน ไม่เป็นไรเดี๋ยวคราวหน้าเราหาให้ดีกว่า แต่ตอนหลัง รู้สึกว่า เหมือนๆ กันไปหมดจนแทบจะไม่รู้สึกถึงความต่าง ยิ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีที่ทุกคนเป็นสื่อได้ เป็นจุดเปลี่ยนมากมาย กลายเป็นว่า ถ้าสื่อหลักไม่สามารถสร้างมาตรฐานของตัวเองเอาไว้ให้ทุกคนยังเชื่อ สักวันอาจจะไม่เหลือพื้นที่ให้เราก็ได้ เพราะสื่อทางเลือก เอาจุดที่สื่อหลักไม่ทำ เป็นทางเลือกให้ อย่างสื่อออนไลน์ หลายสำนักที่เห็น” อรวรรณว่า
เธอกังวลว่า เหล่านี้กำลังสร้างแนวทางการนำเสนอเนื้อหาข่าวแบบใหม่ออกมา สื่อออนไลน์มีหลายสำนัก หลายเจ้าเหลือเกิน บางสำนักไม่ได้เป็นสื่อ แต่เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์บางอย่างที่ทำภายใต้ความเป็นสื่อเพื่อจะได้นำเสนอในมุมของเขา ยากเหมือนกันในการที่คนไม่ได้กลั่นกรอง ไม่ได้ติดตามว่า อันนี้ใช่ หรือไม่ใช่ ถือว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับสมัยที่เพิ่งเริ่มทำงาน แต่มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ใช้คำว่า น่าเป็นห่วงดีกว่า คือ ถ้าหลุดเข้าไปผิดที่ผิดทาง ชาวบ้านจะเสพข้อมูลแบบที่ผิดๆ แล้วที่สำคัญสมัยก่อน อ่านก็รู้คนเดียว แต่เดี๋ยวนี้ส่งต่อได้ง่ายมาก ยิ่งสืบทอดความเข้าใจผิด คือ ความยาก ของคนที่จะกลั่นกรอง คนที่จะรับข่าวสาร หรือแม้แต่ตัวเราเอง ที่จะเสพสื่อบางสื่อเพื่อจะไปตามต่อในประเด็นนั้น ๆ แต่ถ้าเราดูผิดก็งานใหญ่เหมือนกัน
ตลอดการทำงานโทรทัศน์นเกือบ 30 ปี อรวรรณยังเล่าว่า สิ่งที่ทำคู่กันมา คือ จัดรายการวิทยุตอนเช้า เกี่ยวกับประเด็นข่าวรายวันในรายการข่าวเข้มประเด็นข้น นำเสนอให้คนที่ขับรถเช้า ๆ ไปทำงาน ไม่มีเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ เลือกเอาไฮไลต์มาเลือกอ่าน ตอนหลังมีออนไลน์ สื่อเยอะขึ้นต้องเลือกสกัดให้มากขึ้น สำหรับงานวิทยุเหมือนการที่ได้เป็นตัวเองได้เต็มที่ ไม่เหมือนกับโทรทัศน์ เพราะเหมือนกับการขายความเป็นตัวเรา ไม่ได้มีภาพของความเป็นองค์กรของสำนักข่าวไทย บุคลิกของคลื่น คือ ให้มีความหลากหลาย ความหลากหลายของผู้จัด ของเนื้อหา ของมุมมอง สามารถจะใช้ความเป็นตัวเองมากขึ้น
เธอฝากถึงวงการตำรวจด้วยว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาตกเป็นประเด็นร้อนให้วิพากษ์วิจารณ์หนัก เราเลือกนำเสนอไปตามข้อเท็จจริงที่มีกระแส แต่ลึก ๆ อยากบอกว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่หนักกว่าอาชีพอื่นลักษณะเนื้องานที่ต้องใกล้ชิดกับชาวบ้านมาก ๆ แล้วในบรรดาคนที่รับราชการทั้งหลาย ตำรวจนมีคีย์แอ็กชั่นหนักที่สุดที่ต้องใกล้กับผู้คน แล้วถูกลิขิตว่า เวลามีเรื่องยินดีในชีวิตจะไม่มีตำรวจอยู่ในเรื่องราวของคนเหล่านั้นแต่เมื่อมีความทุกข์ มีการสูญเสีย มีการถูกกระทำ ตำรวจจะเข้าไปสัมผัสกับคนเหล่านี้ แม้จะมีความพยายามที่จะให้ตำรวจไปสร้างความสัมพันธ์กับประชาชน แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากเท่าไหร่ พอเวลาตำรวจมีเรื่องเมื่อเทียบกับคนรับราชการอื่นจะไม่ถูกตีแผ่เท่า
“มีความรู้สึกว่า ตำรวจดี ๆ ที่มีอยู่ มักไม่ได้ถูกพูดถึง หรือเป็นข่าว ต้องถือว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่เสียสละมาก บางคนที่ไปทำงานอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตำรวจจบใหม่ๆ ตั้งอกตั้งใจทำงาน สัมผัสได้จากเวลาบางทีเราทำข่าว หรือทำสารคดี สงสัยว่า ทำไมไม่มีโอกาสได้เติบโต ได้มีชีวิตเพื่อมาทำงานในด้านดีๆ ให้วงการ หรือว่าในเรื่องของวิถีของการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ข้าราชการอื่นอาจจะไม่รันทดเท่ากับตำรวจ เพราะว่ามันมีปัจจัย ตัวแปร เข้ามาเยอะมากจากอำนาจการเมืองจนมีความรู้สึกว่า อยู่ยากจริง ๆ “ อรวรรณมองแบบนั้น
เธออยากให้วงการตำรวจสามารถยืนได้อย่างเข้มแข็ง การเมือง หรือปัจจัยอื่นขอให้มาแทรกแซงได้น้อยๆ ให้ตำรวจทำงานได้อย่างสง่างาม เป็นที่เชื่อถือของชาวบ้านมากขึ้น ตำรวจดี ๆ ที่ทำเรื่องเล็กๆ อย่างบางเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เวลามีเรื่องราวออกมา คนชื่นชม หรือว่าแม้แต่ตำรวจดีๆ ที่แบบจากไป เหมือนตำรวจทางหลวงที่โดนรถเฉี่ยวชนแล้วตายขณะออกไปปฏิบัติหน้าที่จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกมีส่วนร่วมของคนให้กับเขาเยอะมาก
อรวรรณย้ำว่า ตำรวจดีในวงการพยายามทำอะไรที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้สึกรักและอบอุ่นใจ ต้องพยายามทำให้เขาเป็นที่รู้จัก ไม่ใช่มารู้จักตอนที่เขาตาย ไม่ใช่แบบมีเรื่องสูญเสียแล้ ถึงจะรู้สึกว่า ตำรวจคนนี้ดีจัง แต่กลายเป็นว่า มีตำรวจที่ทำไม่ดีแค่คนสองคน หรือว่าอาจจะมากขึ้น ทำให้ที่เหลือหมองไปหมดเลย “ตัวเราเคยมีเพื่อนที่พ่อเป็นตำรวจที่ต้องทำงาน ทำให้เรารู้ถึงความทุกข์ของคนในครอบครัว เวลามีข่าวลบๆ นี่ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ เวลามีข่าวอะไรที่แย่ๆ เกี่ยวกับตำรวจ ลูกมาเรียนหนังสือ ก็เศร้านะ จะรู้สึกแบบว่า เหมือนคนไม่ชอบอาชีพพ่อ ทั้งที่พ่อเป็นต้นแบบของลูก การทำไม่ดีของคนจำนวนไม่เท่าไหร่ แต่ถูกเหมาด่า ทำให้ลูกภาคภูมิใจว่า ฉันเป็นลูกตำรวจ ฉันเป็นเมียตำรวจ ต้องแอบๆ ไม่อยากให้ใครรู้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบกับการที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นตำรวจ”