“มาตฐานไม่ได้หมายถึงเครื่องมือใครดีที่สุดในโลก แต่มาตรฐานต้องเป็นการยอมรับการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกได้”

เบื้องหลังแฟ้มอาชญากรรมเกือบทุกคดี

หน่วยพิสูจน์หลักฐานมีส่วนสำคัญอยู่เบื้องหลัง “ไขปริศนา” พาไปสู่ตัวคนร้ายที่กลายเป็นผลงาน “ปิดทองหลังพระ”

เป็นภารกิจของ พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ที่ต้องถางขวากหนามอุปสรรคเพื่อเปิดทางสว่างปลายอุโมงค์ให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนมั่นใจใน “การบ้าน” ตามไล่ล่าหาตัวผู้กระทำความผิด

พิชิตคดีอาชญากรรมลึกลับซ่อนเงื่อนสารพัดรูปแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและกระบวนการยุติธรรม

ทำความจริงให้ปรากฏเป็น “เชือกมัด” ผู้ต้องหาไม่ให้หลุดบน “บัลลังก์ศาล” ในบั้นปลาย

 

ผลักดันหน่วยงานตามยุทธศาสตร์ ตามแบบนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่

“มาตรฐานสากลในงานนิติวิทยาศาสตร์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางควรจะต้องมี” พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลางเน้นนโยบายการบริหารหน่วยตามแบบฉบับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล

เขามองว่า ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ในสังคมไทยปัจจุบันมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เกิดความลำบาก และใช้เวลานานในการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อนำมาประมวลผล และวิเคราะห์คดีที่เกิดขึ้นล้วนทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.วาทีตระหนักดีว่า สังคมรวมถึงประชาชนล้วนมีความต้องการ และคาดหวังที่จะได้รับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากรัฐมากขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อยดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการกำหนด ทิศทางการปฏิบัติงานและพัฒนาองค์กรเพื่อผลักดันหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ว่า “เป็นตำรวจมืออาชีพ ทำงานเชิงรุก เพื่อความสงบสุข ของประชาชน”

 

เน้นยกระดับการปฏิบัติงาน มุ่งให้เป็นมาตรฐานสากล

ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลางเชื่อมั่นว่า กระบวนการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐานสากลเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรม นอกจากสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กรแล้วยังสามารถยกระดับความรู้ ความสามารถของผู้ปฏิบัติงานให้เทียบเท่ากับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี

“สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจถึงมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ และงานตรวจพิสูจน์ ด้านนิติวิทยาศาสตร์ทั้ง 8  ด้าน เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างมีมาตรฐานสากล กว่าสิบปีที่ผ่านมา สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆภายในประเทศ และระหว่างประเทศ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด มูลนิธิเอเชียตำรวจนิวซีแลนด์ โดยสถานทูตนิวซีแลนด์ สำนักงานตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย (AFP) ฝ่ายความร่วมมือด้าน การบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด (INL) สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ในการ สนับสนุนงบประมาณในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกอบรมองค์ความรู้ด้านวิชาการสมัยใหม่ และสอดคล้องกับการแก้ปัญหาอาชกรรมในยุคปัจจุบัน”

เจ้าตัวว่า มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ รวมถึงงบสนับสนุนสำหรับการจัดทำมาตรฐานหน่วยตรวจ ISO/IEC 17020 และมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ทดสอบ ISO/IEC 17025 เพราะกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ถือเป็นหน่วยงานหลักของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจที่ให้บริการด้านการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และงานตรวจพิสูจน์ทั้ง 8 ด้าน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ทั้งด้านการเจรจาติดต่อค้าขาย การคมนาคม การท่องเที่ยว และอื่น ๆ อีกมากมาย

 

ส่ง 6 กลุ่มงานเข้ารับรอง ISO  รอโชว์อีก 2 หน่วยให้เท่าเทียมกัน

“ในฐานะเมืองหลวงสำคัญ เลี่ยงไม่ได้ที่พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครจะเป็นแหล่งรวมปัญหาต่าง ๆไว้ด้วยกัน และปัญหาอาชญากรรมเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่เฉพาะเกิดขึ้นกับประชาชนคนกรุงเทพมหานคร   เอง  หากเกิดขึ้นกับบุคคลต่างชาติอาจจะทำให้ขยายวงกว้างออกไป ส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศได้อีกด้วย” พล.ต.ต.วาทีอธิบายความ

ดังนั้นในฐานะผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลางที่ดูแลพื้นที่การตรวจพิสูจน์ทุกสถานีตำรวจในพื้นที่นครบาล  เขามีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะผลักดันงานนิติวิทยาศาสตร์ทั้ง 8  ด้านให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมไทยให้ประชาชนในพื้นที่อุ่นใจ และสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังพื้นที่ในกรุงเทพมหานครว่า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น อย่างน้อยที่สุดพวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการบริการที่เท่าเทียมกัน ภายใต้หลักวิชาการที่ทันสมัย เป็นกลาง และได้มาตรฐานสากล

ปัจจุบันกองพิสูจน์หลักฐานกลางได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17020 และ ISO/IEC 17025  แล้ว  6 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาวุธปืนและเครื่องกระสุน กลุ่มงานตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือแฝง กลุ่มงานตรวจพิสูจน์เอกสาร ทั้ง 4 กลุ่มงานนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานหน่วยตรวจ ISO/IEC 17020 จากคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานนี้จะบ่งบอกถึงการใช้ดุลยพินิจของผู้ตรวจเองว่า เป็นไปตามข้อกำหนดสากลที่ทั่วโลกใช้เป็นแนวปฏิบัติกันอยู่ และอีกหนึ่ง มาตรฐานที่สำคัญที่กองพิสูจน์หลักฐานกลางได้รับการรับรองแล้วเช่นกัน คือ มาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบ ISO/IEC 17025 ได้แก่ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์ยาเสพติด และกลุ่มงานตรวจพิสูจน์ชีววิทยาและดีเอ็นเอ รับรองจาก สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ขอเวลาลุยอีกปีเดียว เพิ่มเขี้ยวเล็บให้ชาวบ้านเชื่อถือ

นโยบายของ พล.ต.ต.วาทีกำลังดำเนินการจัดทำมาตรฐานสำหรับการตรวจพิสูจน์สารระเบิด ของกลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ที่จะได้รับการรับรองภายในปี 2566  และได้จัดทำแผนงานที่จะยื่นขอการรับรอง มาตรฐานสำหรับกลุ่มงานตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ในขอบข่ายการตรวจ ฮาร์ดดิสไดร์ฟ จากเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป จากกล้องCCTV และจากโทรศัพท์มือถือรุ่นต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีมาอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด (INL) โดยสถานทูตสหรัฐอเมริกาในการจัดทำมาตรฐานสากลนี้

“ผมมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะผลักดันให้งานนิติวิทยาศาสตร์ทุกด้านของกองพิสูจน์หลักฐานกลางได้รับการรับรองมาตรฐานสากลทั้งหมดภายในปี 2567 ให้ครบถ้วน และเป็นไปตามยุทธศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อรองรับคดีอาชญากรรมที่มีความซับซ้อน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการบริการในระดับมาตรฐานสากล” ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลางระบุ

“มาตฐานไม่ได้หมายถึงเครื่องมือใครดีที่สุดในโลก แต่มาตรฐานต้องเป็นการยอมรับการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกได้” นายพลนักวิทยาศาสตร์ในฐานะโฆษกของหน่วยเชื่ออย่างนั้น “ผมอยากเป็นกระบอกเสียงที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ในส่วนของพิสูจน์หลักฐานว่า หน่วยงานเรามีมาตรฐานสากลรับรอง เพราะเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือจะแข่งกันไปก็เท่านั้น เท่ากันหมด ใครมีงบประมาณจัดซื้อได้ แต่สิ่งที่เราต้องการทำ คือ เรื่องของมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจให้ประชาชน”

 

เปิดบ้านให้ทุกองค์กรตรวจสอบ คำตอบอยู่บนบัลลังก์ศาล

พล.ต.ต.วาทียังย้ำถึงศักยภาพการทำงานของหน่วยว่า สามารถที่จะเอาผลพิสูจน์หลักฐานของเราไปใช้ในชั้นศาลได้ บิดเบือนไม่ได้ คือ การพัฒนาเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือเป็นเรื่อง แต่ถ้าพัฒนาแล้วไม่ยอมให้องค์กรภายนอกมาตรวจสอบ นั่นคือ ไม่มีมาตรฐาน ถึงอยากจะจับในเรื่องของมาตรฐาน เปิดโอกาสให้ทุกองค์มาตรวจสอบ ทำงานตามขั้นตอนที่เรามี

“อย่างกรณีของดีเอ็นดี ผมมาจากหน่างานผลตรวจดีเอ็นเอ เป็นคนทำเรื่องดีเอ็นเอในสถาบันนิติเวชวิทยามาก่อน ต้องมีแบบแผน  ไม่ได้มั่ว ต้องมีขั้นตอนที่ทำตามระบบ มีรูปแบบของคณะกรรมการตามมาตรฐานที่กำหนด อันนี้ คือ สิ่งที่จะมาควบคุมผู้ปฏิบัติงานให้อยู่ในระเบียบ อยู่ในขั้นตอนการปฏิบัติที่ได้มาตรฐาน พอไปขึ้นศาลจะไม่ได้มีข้อกังวล โต้แย้งอะไร ทำให้คดีทุกอย่างสำเร็จตรวจสอบได้เมื่อผ่านมือนักวิทยาศาสตร์ของเรา สามารถขึ้นศาลได้ทุกคดี”

ยกตัวอย่างคดีฆ่าแหม่มชาวอังกฤษบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี สมัยที่ พล.ต.ต.วาทียังอยู่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจเล่าว่า ตอนนั้นดีเอ็นเอของพิสูจน์หลักฐานยังไม่มีการตรวจสอบในเรื่องของการรับรองมาตรฐาน ISO เวลาวัตถุพยานได้รับมาจาก 2 แหล่งจากที่เกิดเหตุ ถ้าเป็นคดีใหญ่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกรณีคดีเกาะเต่า ผู้ต้องหาเป็นชาวเมียนมา เริ่มเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแล้ว ทางเมียนมาไม่เชื่อและพยายามที่จะตีข่าวเป็นการจับแพะ คนไทยเองก็เชื่อว่าจับแพะมาตลอด แต่ผลตรวจถูกต้อง เพราะฉะนั้น ต้องไปอ่านในรายงานที่ผู้พิพากษาตัดสินจากผลตรวจของนิติเวชวิทยาที่ชี้ชัดคนร้ายเป็นชาวเมียนมาทั้ง 2 คน

ชีวิตเริ่มต้นจากสถาบันนิติเวชวิทยา ทุ่มเวลากับงานตรวจดีเอ็นเอ

ย้อนประวัติเส้นทางชีวิตนายพลนักวิทยาศาสตร์หนุ่มเป็นชาวฉะเชิงเทรา เรียนจบวิทยาศาตรบัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต แล้วเข้ามาบรรจุเป็นหมอโรงพยาบาลตำรวจตามอัตราว่างอยู่สถาบันนิติเวชวิทยา พล.ต.ต.วาทีสารภาพว่า ไม่เคยคิดเหมือนกันว่า ทำไมต้องมายุ่งกับศพ แต่เพราะตำแหน่งว่างพอดีต้องคว้าไว้ก่อน มีโดนล้อเหมือนกันว่า ต้องไปอยู่กับศพ เราไม่ได้คิดอะไร เป็นหน้างานใหม่ของเทคนิคการแพทย์ที่เปิดโอกาสให้ได้ทำเรื่องของดีเอ็นเอ จุดเริ่มต้นของสถาบันนิติเวชวิทยาเป็นที่แรกในตำรวจก่อนกองพิสูจน์หลักฐาน

เจ้าตัวต่อยอดการพัฒนารูปแบบการตรวจครบทุกอย่าง เอาดีเอ็นเอมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญ หลังจากนั้นถูกส่งไปหาความรู้เพิ่มเติมในหลักสูตรปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ที่โรงพยาบาลศิริราช เน้นการตรวจเรื่องดีเอ็นเออย่างเดียวจริงจัง ทำวิทยานิพนธ์เรื่องของการตรวจวายโครโมโซม แล้วกลับไปพัฒนาเรื่องการตรวจดีเอ็นเอของตำรวจเปรียบเทียบกับคนร้าย หรือศพ

“จริงๆ การเปรียบเทียบเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเราได้ดีเอ็นเอจากศพ เราจะรู้เลยว่า สิ่งที่ได้จากในตัวศพ นั่นคือ ตัวคนร้าย แล้วค่อยเอาตัวคนร้ายไปเทียบกับสิ่งที่ติดมากับศพ ส่วนมากพวกนั้นคดีหลักๆ จะเป็นคดีข่มขืนที่เราจะได้จากตัวศพค่อนข้างมาก  คดีข่มขืนจะเป็นอะไรที่เป็นไฮไลต์ที่ทำให้งานดีเอ็นเอของตำรวจ มีชื่อเสียงขึ้นมาในสมัยนั้นจะสำเร็จค่อนข้างเยอะ”

ได้ความไว้ใจจากผู้บังคับบัญชา ก้าวมานั่งคุมกองพิสูจน์หลักฐานกลาง

ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลางชี้ว่า สมัยก่อนคนร้ายไม่รู้มากว่า ถ้าคดีข่มขืนมักทิ้งร่องรอย ทิ้งหลักฐานไว้เต็มไปหมด ตำรวจได้จากตรงนั้นมาตรวจดีเอ็นเอ ก่อนคนร้ายจะค่อยๆ พัฒนารูปแบบมากขึ้นในเรื่องของการที่จะไม่หลั่งเข้าไป แต่เราก็จะได้จากสิ่งอื่น ๆ เช่น จากเล็บมือของศพ ที่ผ่านมา ทำคดีใหญ่ๆ หลายคดีได้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ให้ความเมตตาชวนไปช่วยคลายปมฆ่าแหม่มเกาะเต่า พอท่านขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงไว้วางใจให้เป็นผู้บังคับการสถาบันฝึกอบรมของพิสูจน์หลักฐาน

พล.ต.ต.วาทีว่า เป็นหน้างานที่ชอบ ทำเรื่องของมาตรฐาน จับงาน ISO  ดูเรื่องของการฝึกอบรมคน วาระแรกที่มาเลยกดปุ่มเรื่องของมาตรฐาน ISO มองว่า กองพิสูจน์หลักฐานยังไม่มีเรื่องนี้ ตั้งเป้าภายใน 1 ปี จะต้องได้การรับรองในเรื่องของดีเอ็นเอก่อนได้รับรองมาตรฐานตามที่ตั้งใจไว้ จากนั้นขยับมาเป็นผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลางทำให้เห็นภาพที่ยังเหลืออยู่อีก 2 กลุ่มงาน คือ เรื่องของสารระเบิด เคมีฟิสิกส์และเรื่องของคอมพิวเตอร์ที่จะต้องทำให้ครบทุกหน้างาน เป็นการบ้านที่ตั้งใจทำเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

ก่อนหน้านี้เขาสังกัดอยู่สถาบันนิติเวชวิทยา ไม่ได้ย้ายไปไหนเสมือนเป็นลูกหม้อของหน่วยทำงานมาตลอด 24 ปี แต่ไม่ใช่แพทย์ผ่าชันสูตรพลิกศพ ได้รับบทในตำแหน่งเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในห้องแลป ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะนั้นเล็งเห็นความสามารถถึงเลือกจะดึงเข้ามานั่งเป็นผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลางพัฒนางานไปพร้อมสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ

พยายามทำทั่วประเทศเหมือนกัน ไม่ต้องมาโรมรันอยู่แต่ส่วนกลาง

เจ้าตัวยืนยันว่า มาตรฐานของกองพิสูจน์หลักฐานทั่วประเทศต้องเหมือนกันหมด ปัจจุบันกระจายไป 10 ศูนย์ มีผู้บังคับการคุมทั้งหมด ทว่าแต่ละศูนย์ยังไม่ครบทุกกลุ่มงาน เพราะสุดท้ายยังต้องลงมาตรวจที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง อาจด้วยปัญหาของงบประมาณ เรื่องอุปกรณ์เครื่องไม่เครื่องมือ เรื่องของคนที่จะต้องได้รับการฝึกอบรม

  ความคาดหวังในอนาคต พล.ต.ต.วาทีตั้งใจจะบริหารหน่วยให้เป็นที่ยอมรับ ไม่คิดจะย้ายกลับไปอยู่สถาบันนิติเวชวิทยาอีกแล้ว เนื่องจากต้องการให้หน่วยพิสูจน์หลักฐานทั่วประเทศเป็นมาตรฐานเทียบเท่ากัน ไม่เอาความเจริญมากระจุกอยู่แค่ส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร เช่น ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีความสำคัญมากอาจจะเยอะกว่ากองพิสูจน์หลักฐานกลางด้วยซ้ำ จำเป็นต้องเป็นต้นแบบของทางภาคใต้เพื่อเป็นที่พึ่งของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 8 และศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9 ในอนาคต

“อย่างน้อยควรจะมีครบทุกหน้างานให้ประชาชนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีความเชื่อมั่น ไม่ต้องมีข้อถกเถียง หรือร้องเรียนว่า ตรวจจริงไหม ตรงไหม ขณะเดียวกัน ผมยังมองว่า  แต่ละพื้นที่ภูธรภาคต้องมีศักยภาพใกล้เคียงกัน ไม่ว่าเหนือ อีสาน ตะวันออก ตะวันตกและใต้ เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจไว้ ยิ่งถ้าผมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลทุกภาคส่วนของพิสูจน์หลักฐานจะพยายามพัฒนารูปแบบการตรวจ รูปแบบมาตรฐานแต่ละศูนย์ให้ครบทุกหน้างานเช่นกัน” ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลางสีหน้าจริงจัง

ห่วงขวัญกำลังใจกำลังพลผู้น้อย แถมต้องมาคอยตามพวกมโนโซเชียล

เจ้าตัวคำนึงถึงการให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์ด้วยว่า กองพิสูจน์หลักฐานมีการใช้งานกำลังพลค่อนข้างเยอะ แต่ถูกจำกัดด้วยหลายๆ อย่าง มีความพยายามไปลดสิ่งต่าง ๆ  เช่นเป็นหน่วยที่ไม่มียศ ไม่มีอะไร  ตรงนี้ทำให้ขวัญกำลังใจเสีย เราพยายามจะต่อสู้ให้ลูกน้องในหน่วย ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ อย่าลืมว่า การบังคับบัญชายังต้องใช้ระบบรูปแบบนี้อยู่ เรื่องของการสั่งการจากตำรวจด้วยกันเอง ลองนึกภาพดู ถ้าตัดยศออก แล้วเราให้ตำรวจสั่งการอย่างไร

พล.ต.ต.วาทีขยายภาพด้วยความเป็นห่วงว่า ต่อไปจะยุ่ง คือ เราไม่ได้ให้ตำรวจสั่งเราได้อย่างนั้นหรือ ทั้งที่ตามรูปแบบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวนจะต้องเรียกกองพิสูจน์หลักฐาน เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ ไม่ใช่ว่า อยู่ ๆ มีเหตุ แล้วพิสูจน์หลักฐานจะเดินเข้าไปเอง พนักงานสอบสวนต้องร้องขอให้เข้าไปร่วมตรวจ เพื่อที่จะเก็บหลักฐานก่อนส่งรายงานให้พนักงานสอบสวนพิจารณาสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง

ที่ผ่านมาหนักใจคดีไหนมากสุด ประสบการณ์ของตำรวจนักวิทยาศาสตร์หนุ่มตอบทันทีว่า คดีที่ตำรวจจับตัวคนร้ายไม่ได้ ถ้าจับตัวคนร้ายมาได้ไม่ยาก ส่วนคดีที่สังคมกดดันในปัจจุบันก็เป็นอีกปัญหาในโลกโซเชียลที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่จนทำงานยาก อาจเพราะคนอาจดูหนังดูละครมากไปจนมีการคาดหวังและจินตนาการ

หากสังคมไม่เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ ต้องไล่บี้พิสูจน์ความจริงให้กระจ่าง

“เอาอย่างง่ายๆ คดีของดาราสาวที่ตกน้ำ สังเกตว่า จะมีการมโนค่อนข้างเยอะ มโนจากคนที่รู้จริงบ้าง ไม่รู้บ้าง เอาแค่กู้ภัยก็เห็นคนละแบบกับแพทย์แล้ว แต่คนดันไปเชื่อกู้ภัย ไม่เชื่อแพทย์ สังคมเชื่อแบบนั้นแล้วแพทย์ก็เป็นแพทย์ของตำรวจกลับไม่เชื่อ ต้องมีการส่งตรวจผ่าพิสูจน์รอบ 2 ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น เพราะสุดท้ายผลออกมาก็ตรงกัน ผมถามว่า อย่างนี้จะทำไปเพื่ออะไร นี่คือ ความยากของงานตำรวจในโลกสมัยใหม่” พล.ต.ต.วาทีให้ข้อคิด

เขาบอกว่า  ถ้าสังคมไม่เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่จะลำบากในการที่จะให้ความยุติธรรมกับประชาชน เพราะหากคนไปเชื่อกับกระแสในสื่อโซเชียลทั้งที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง มโนกันไป ทำให้การปะติดปะต่อเรื่องราวจะออกทะเลไป ดังนั้น ตำรวจไม่ควรจะทำไปตามกระแสโซเชียล ควรจะทำไปตามพยานหลักฐานที่เจอ

พล.ต.ต.วาทีทิ้งท้ายว่า การวิเคราะห์คดีต้องคำนึงจากพยานหลักฐานเป็นหลักอย่าไปตามกระแสโซเชียล แค่ภาพๆ เดียว คนมักมองกันไป 100 แบบ 100 คนก็มอง 100 แบบ ถ้าเราต้องมาทำให้ทุกคนถูกใจไม่มีประโยชน์ ต่อให้มีคนถูกใจ 99 คน มีคนหนึ่งไม่ถูกใจก็เท่านั้น

RELATED ARTICLES