แบบเรียนพิบัติภัยกับงานกู้ชีวิต

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้

พระราชกระแส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชื่นชมและให้กำลังใจทีมงานกู้ภัยช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี ติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

“…ความสำเร็จของปฏิบัติการค้นหาในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นระบบระเบียบด้วยความรู้ความสามารถและความเสียสละ อุทิศตนของทุกคนทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร แพทย์ พยาบาล หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญ อาสามัคร และจิตอาสาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากประเทศไทยต่าง ๆ ที่มีน้ำใจเดินทางมาช่วยเหลือ สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่ส่งกำลังใจห่วงใย ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้โดยเต็มกำลังและยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนด้วยความเต็มใจยินดี

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า ความสมัครสมานสามัคคี และความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด ต่างก็ยังมีอยู่ในหัวใจเต็มเปี่ยม ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความชื่นชมยกย่องต่อท่านทั้งหลายด้วยใจจริง และขอทุกท่านมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานในขั้นต่อไป ด้วยความมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาอันกล้าแข็ง และมีศรัทธาเชื่อมั่นไม่เสื่อมคลาย เพื่อให้ปฏิบัติการช่วยเหลือครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปอย่างที่สุด สมดังความหวังตั้งใจของทุกท่านทุกฝ่าย ตลอดจนประชาชนทั้งหลายที่เอาใจช่วยอย่างเต็มที่เสมอมา ….”

ภารกิจหินภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนจึงถือเป็นความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย แต่จำเป็นต้องหันมาทบทวนแผนการฝึก การเตรียมรับมือพิบัติภัยที่เกิดจากธรรมชาติยากแก่การคาดเดา เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าไว้

ส่วนทำให้เป็นรูปธรรม หรือแค่ไฟไหม้ฟางเป็นเรื่องที่ต้องจับตาในอนาคต

เพราะเหตุช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำยังไม่บรรลุเป้า กลับเกิดเรื่องราวคลื่นมรสุมกลืนชีวิตนักท่องเที่ยวชาวจีนหลายสิบชีวิตเป็นโศกนาฏกรรมกลางทะเลอันดามันเขตจังหวัดภูเก็ต

เป็นพิบัติภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยง แต่รัฐบาลสามารถหาทางป้องกันและรับกับสถานการณ์ได้ เนื่องจากทุกคนไม่อยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เฉกเช่น วาตภัยครั้งใหญ่ที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 หรือมหัตภัยคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

สุดท้ายรัฐบาลยังเหมือนทำงานแบบรูปหน้าปะจมูก

เหมือนความคาดหวังของ พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ผู้ล่วงลับ

“ประเทศไทยต้องสร้างระบบการรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นมาตรฐานที่ทันสมัยกว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่ มีแต่วิธีเก่า ๆ ที่ชอบพูดว่า รู้แล้วทั้งนั้นและกำลังทำอยู่ พูดอย่างนี้เป็น 20 ปีมาแล้วยังไม่เห็นทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ว่าไว้

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากทำมากกว่าพูด ลองปัดฝุ่นทบทวน โครงสร้างบริหารจัดการภัยพิบัติเหตุชาติ ในที่ประชุม กปอ.ครั้งที่ 2/2549 วันที่ 14 ธันวาคม 2549 สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

คงไม่สายเกินไปหรอกนะ !!!

RELATED ARTICLES