“คุณจะเป็นอัศวินที่เก่งคุณจะต้องเป็นเด็กขัดเกราะที่ดี”

กลับมาเป็นผู้นำหน่วยคนแรกในรอบ 10 ปีที่มีดีกรีมาจากโรงเรียนนายเรือ

พล.ต.ต.ธนพล ศรีโสภา ผู้บังคับการตำรวจน้ำ พยายามขับเคลื่อนกำลังพลให้มีศักยภาพสมกับเป็น “เจ้าสมุทรสีกากี” อย่างเต็มสูบ

ตลอด 1 ปีบนเก้าอี้แม่ทัพได้ตั้งใจมุ่งมั่นสร้างทีมตำรวจที่เข้มแข็งเหนือ “น่านน้ำไทย” ที่รับผิดชอบทั่วประเทศ

เพื่อสร้างความอุ่นใจและความปลอดภัยแก่ประชาชน รวมถึงสร้างความเกรงขามในปฏิบัติการป้องกันปราบปรามผู้กระทำความผิดทางทะเลและแม่น้ำลำคลอง ตามสโลแกนหน่วย “พิทักษ์ประชาดุจครอบครัว ปกป้องความมั่นคงทางน้ำทั่วหล้า”

นับเป็นความภาคภูมิใจของหน่วยที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลา 66 ปี

 

ใช้หลัก  4 เอ็มบริหารองค์กร สะท้อนจุดอ่อน-จุดแข็งแล้วแก้ปัญหา

หลังจากได้รับความไว้วางใจให้มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจน้ำ  พล.ต.ต.ธนพล ศรีโสภา บอกว่า ได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงาน ใช้พื้นฐานง่ายๆ คือใช้หลัก 4 เอ็ม คือ คน (Man) เงิน (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Material) และการจัดการ(Management) วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหาอุปสรรคของหน่วยงาน ภายใต้การทำงานที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ภารกิจของกองบังคับการตำรวจน้ำ พล.ต.ต.ธนพล อธิบายว่า มีหลายส่วน เรื่องสำคัญสุด คือ มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ต่อมาเป็นเรื่องของการป้องกันและปราบปราม เรื่องของการกระทำผิดกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง สุดท้าย คือ ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

“ภารกิจของตำรวจน้ำ คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนกัน เพียงแต่ว่า เราใช้หน่วยปฏิบัติการในการปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องฝึกคนให้มีความรู้ความสามารถ ทั้งในด้านการเดินเรือ การช่างกลก็ดี เรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับที่เอามาฝึกเพื่อป้องกันความเสียหาย เพราะว่าบางครั้ง  เอาเรือเข้าไปปฏิบัติการ ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เช่น อาจจะโดนกระสุน หรือเกิดเพลิงไหม้ในเรือ เราจะได้ดับไฟได้ โดยใช้อุปกรณ์ที่มี” พล.ต.ต.ธนพลว่า

 

ผุดหลักสูตรฝึกทบทวนทางเรือ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ทั้งนั้นกลายเป็นที่มาของหลักสูตรฝึกทบทวนการปฏิบัติการทางเรือและใช้อาวุธปืนประจำเรือ ประจำปีงบประมาณ 2561 ระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานในการปฏิบัติงานด้านการถวายความปลอดภัยและการป้องกันปราบปราม เพิ่มทักษะและศักยภาพแก่ตำรวจในสังกัดให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น ให้ข้าราชการในสังกัดมีความรู้ความเข้าใจในภารกิจ รวมถึงอำนาจหน้าที่ของกองบังคับการตำรวจน้ำ

การฝึกภาคปฏิบัติทางทะเลครั้งนี้ พล.ต.ต.ธนพล ยืนยันว่า นอกจากทบทวนการใช้อาวุธประจำเรือให้กับตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เรือตรวจการณ์แล้ว ยังพัฒนาทักษะยุทธวิธีในการปฏิบัติหน้าที่ในเรือตรวจการณ์ทั้งงานสายปากเรือ งานสายช่างเครื่องประจำเรือ และงานด้านป้องกันปราบปราม อีกทั้งจะนำความรู้จากการฝึกอบรมไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันปราบปรามกระทำความผิดตามอำนาจหน้าที่ รวมถึงทดสอบสมรรถนะ และประสิทธิภาพของเรือตรวจการณ์ด้วย

เขาได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.สุริยา ปิ่นประดับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำเป็นผู้อำนวยการฝึกปฏิบัติทางเรือ อาทิ การเดินเรือในเวลากลางวันและกลางคืน การแปรกระบวนเรือ เดินทางจากกองบังคับการตำรวจน้ำจังหวัดสมุทรปราการ ไปยังอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต่อด้วยอำเภอแหลบงอบ จังหวัดตราด ตัดอ่าวไทยไปยังปากน้ำจังหวัดชุมพร ย้อนเข้ามาพักอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนเดินทางกลับฐาน

 

ปั้นนายตำรวจบกเรียนรู้ทางน้ำ ข้ามอ่าวไทยไปสัมผัสประสบการณ์จริง

ผู้เข้ารับการฝึกเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรไม่เคยผ่านหลักสูตรในสายป้องกันปราบปรามทางน้ำตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับการ-สารวัตร ประกอบกำลังใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในทะเล โดนเรือตรวจการณ์อธิกรณ์ประกาศ และเรือตรวจการณ์อรรคราชวราทร เราได้รับความกรุณาจากทางกองทัพเรือ ทั้งเรื่องของสถานที่อำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม มีการใช้อาวุธปืนประจำเรือขนาด.50 และปืนเอ็ม 16 ด้วยกระสุนจริง

“ผมต้องการฝึกจากตำรวจระดับสารวัตรขึ้นไปที่ไม่เคยผ่านการฝึกทางเรือเลย เป็นตำรวจจากหน่วยอื่นที่ย้ายมามีโอกาสได้มาฝึก และเรียนรู้ว่า ตำรวจน้ำ ใช้ชีวิตกันอย่างไร เรือปฏิบัติการอาจไม่ใหญ่มากนัก แต่เป็นเรือที่ดีที่สุดเท่าที่กองบังคับการมี เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ตำรวจที่ได้รับการอบรมจะรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่าง จะควบคุมสั่งการอะไรเวลาเจออุปสรรคขณะเดินเรือ ก่อนออกเรือต้องเตรียมอะไรบ้าง เช่น น้ำ  น้ำมัน อาหาร”

ผู้บังคับการตำรวจน้ำบอกอีกว่า  ต้องศึกษาสภาพอากาศ ดูการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากรณีเรือในขบวนมีการเกิดอุบัติเหตุ หรือขัดข้องในการเดินเรือจะขอความช่วยเหลืออย่างไรในการจัดการปัญหา เป็นคอนเซ็ปต์ที่กองทัพเรือมีมานานแล้ว เราเป็นตำรวจน้ำก็ต้องฝึก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปฏิบัติ หรือฝ่ายอำนวยการที่ต้องเรียนรู้จัดหายุทโธปกรณ์ที่เหมาะสมให้หน่วย ถึงต้องมีความเข้าใจตรงกันว่า ยุทโธปกรณ์อะไรที่หน่วยขาด เราฝึกกันแบบนี้ เดิมไม่มีการจัดซื้อ ถ้าผู้บังคับการจัดไปให้ แต่ทีมงานอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องซื้อของแบบนี้ ไม่เห็นจำเป็น พอมาสัมผัสด้วยตัวเองก็จะได้รู้และเข้าใจถึงความจำเป็นมากขึ้น

คนบกต้องเข้าใจคนทะเล กำหนดรันเวย์ให้เหล่าคีย์แมน

“ผมพยายามบอกนโยบายไปว่า การทำงานจะต้องสอดรับกัน ให้ลูกน้องเข้าใจสิ่งที่หน่วยต้องการ คือตอบสนองภารกิจ ไม่ใช่ตอบสนองความต้องการของหน่วย แต่ต้องนำไปใช้ในการป้องกันปราบปราม ในการดูแลประชาชน ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของเรา ไม่เพียงแต่เส้นทางการเดินเรือ ยังมีทรัพยากรใต้น้ำอีก  ทั้งหมดเป็นทรัพยากรหลักที่เราใช้กันอยู่ ส่วนการขนส่งทางเรือ เรามีท่าเรือสำคัญอะไรบ้าง เมื่อเกิดสถานการณ์แล้วการดูแลความปลอดภัยเรามีหน่วยงานรับผิดชอบได้ดีแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจและเป็นมืออาชีพในการบริการทางเรือ การบังคับใช้กฎหมายก็สามารถสร้างเครือข่าย คนบกเข้าใจคนทะเล มันก็ทำให้ทำงานง่าย” พล.ต.ต.ธนพลว่า

 “คนทะเลก็ต้องพรีเซนต์ให้เห็นความจำเป็นไปยังคนบกทราบ เพื่อที่เราจะได้ทำงานได้ เราเป็นมนุษย์บก เพียงแต่ว่าเราใช้เรือไปทำภารกิจ ดังนั้น ความเป็นอยู่ หรืออะไรต่างๆ มันแตกต่างกัน ผู้ใต้บังคับบัญชาเหล่านี้อนาคตอาจจะได้เป็นผู้บังคับบัญชาอย่างผม หรือในสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป เราก็จะได้แนวคิดทางบก ผมถึงต้องใช้เวลากับคีย์แมนเหล่านี้ค่อยข้างเยอะ ให้พวกเขาได้ลงพื้นที่จริง ผ่านการฝึกอบรมให้เกิดความชำนาญไม่มากก็น้อย”

เจ้าตัวยอมรับว่า การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา คนที่รับราชการตำรวจเมื่อได้รับคำสั่งก็ต้องปฏิบัติ ส่วนจะถูกใจหรือไม่ถูกใจก็แล้วแต่ สำหรับตำรวจน้ำ เราต้องสร้างความเข้าใจก่อนว่า เราจะทำอะไรบ้าง มีหน้าที่อะไรบ้าง คนเราบางครั้งการเรียนในห้องก็รู้แต่ทฤษฎีจะนึกภาพไม่ออก เหมือนเราพูดสิ่งที่เราไม่รู้จัก เช่น เราจะไม่เข้าใจเรื่องโมเลกุลว่า ข้างใจประกอบด้วยอะไรบ้าง พอมาฝึกเองจะเข้าใจเลยว่าสิ่งที่รีบภารกิจแล้วจะต้องไปทำอะไร มีอะไรต้องคิด

 

อยากให้เผชิญกระแสคลื่นลม กับอาการพะอืดพะอมอยู่กลางมหาสมุทร

นายพลเจ้าสมุทรสีกากีขยายความต่อว่า พยายามบรรยายให้ฟัง ได้โอกาสให้มาฝึกเรียนรู้ทักษะเนื้อของานทั้งฝ่ายอำนวยการและฝ่ายปฏิบัติต้องไปด้วยกัน ตามหลักยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และการส่งกำลังบำรุง หากไม่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ในมิติที่เป็นนโยบายที่ดีจะล้มเหลว การใช้เรือ ยุทโธปกรณ์ อาวุธ การสื่อสารมันถึงต้องเจือสมให้เหมาะกับภารกิจ “ผมจะเป็นต้องเอาบุคลากรเหล่านี้มาอยู่ในเรือฝึกจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติการถ้าส่งเรือไปลำเดียว ถ้าเกิดความผิดพลาดเราจะไม่มีทีมเสริมหนุนหลัง ทะเลที่มีคลื่นเดินเรือในเวลากลางคืนจะเกิดอะไรขึ้น เดินเรือกลางวันถ้าไปลำเดียวโดดเดี่ยวจะรู้สึกอย่างไร”

          “ผมจะให้ผู้บังคับบัญชาเรียนรู้ว่า คุณจะเป็นอัศวินที่เก่งคุณจะต้องเป็นเด็กขัดเกราะที่ดี ผมผ่านการฝึกแบบนั้นมาก่อน รับรู้ถึงความยากลำบาก เจอทะเลคลื่นหนักสารพัด เราถึงเรียนรู้ว่ามนุษย์บกที่เวลาไปลงเรือ มันมีอาการเมาคลื่น แต่ต้องทำงานให้ได้ ถ้าไม่ทำงาน เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่สนใจเพื่อนร่วมงาน ไม่ทำงานเป็นทีม ความไม่ปลอดภัยก็จะเกิดขึ้นกับตัวเรือแล้วจะเกิดอันตรายกับทีม”

พล.ต.ต.ธนพลเน้นว่า ตำรวจน้ำเวลาเราทำงานจะให้นโยบายตั้งแต่เริ่มต้นว่า เราบริหารงานเป็นทีม ทีมของเรา ถ้าไม่มีเอกภาพ พลังก็จะไม่เกิด เปรียบเสมือนเรือลำหนึ่ง ประกอบด้วย พังงา ใบจักร แม้กระทั่งนอตตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในเรือ ถ้าตัวหนึ่งบางทีหมุนช้า เรือวิ่งได้ แต่ก็จะเกิดปัญหาสะดุด ทั้งความเร็วก็ดี ทิศทางก็ดี หรือการใช้อาวุธที่ไม่มีความชำนาฯ สุดท้ายทุกคนก็จะได้รับผลร้ายทั้งสิ้น

 

ยอมรับถึงจะจบจากโรงเรียนนายเรือ แต่ก็ยังไม่เอื้อเรื่องหลักกฎหมาย

“ตำรวจน้ำเป็นหน่วยตำรวจที่ต้องใช้เรือและการปฏิบัติงานที่เป็นทีมด้วยความเข้าใจ เราจะไม่เรียนรู้แต่ทฤษฎี เรียนทฤษฎีเสร็จแล้วต้องลงภาคปฏิบัติ ผมถึงจำเป็นต้องเอาคีย์แมนเข้ามาฝึก ผมคาดหวังว่า คีย์แมนเหล่านี้พอเรียนรู้แล้วก็จะไปเป็นคนกำกับ ไปฝึกคนเพิ่ม เพราะตำรวจน้ำทำงานอยู่ทุกวัน ไม่ใช่ถึงเทศกาลแล้วมาระดมกัน ตรงนั้นมันคือ การเพิ่มการปฏิบัติมากกว่าปกติ”

ผู้บังคับการตำรวจน้ำสาธยายอีกว่า เราจะเอาภารกิจเป็นตัวตั้ง ดูแลความปลอดภัยในภาพรวม ปฏิบัติการแบบตำรวจบก แต่ตำรวจน้ำเป็นเหล่าพิเศษ เป็นตำรวจที่ใช้เรือได้ ถึงมีการตั้งหน่วยตำรวจน้ำขึ้นมาเติมเติมภารกิจของประเทศ “ผมมีโอกาสสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ ก่อนไปศึกษาเพิ่มด้านนิติศาสตรบัณฑิต และบริหารธุรกิจ ผ่านหลักสูตรอบรมหลายสิบหลักสูตร จบเป็นรองสารวัตรพิจารณาแล้วว่า จบจากโรงเรียนนายเรือเราจะรู้เรื้องเรือ เรื่องปฏิบัติการทางเรือ แต่เราจะไม่เข้าใจเรื่องกฎหมาย”

อดีตนักเรียนนายเรือพรรคนาวินรุ่น 85 สารภาพว่า จำเป็นต้องเติมจุดอ่อนของคนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ เราจะไม่เข้าใจเรื่องกฎหมายก็จำเป็นต้องไปศึกษาเพิ่มเติม และเติมเทคนิคการสืบสวนแบบตำรวจบก เติมในสิ่งที่ขาด ก่อนใช้คนของเราสร้างคนของเรา เพราะประเทศเราไม่มีโรงเรียนสร้างตำรวจน้ำ มีแต่นักเรียนนายร้อยตำรวจ นักเรียนนายเรือ มหาวิทยาลัย นักเรียนนายสิบตำรวจ หรือโรงเรียนชุมพลทหารเรือที่ได้มิติเดียว

 

พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ประกาศใช้คนในหน่วยให้มากที่สุด

“เมื่อผมมาเป็นผู้บังคับหน่วย ผมจะเห็นตรงนี้เป็นจุดอ่อนจึงทำวิกฤติให้เป็นโอกาส อย่างผู้กำกับ หรือรองผู้กำกับที่ไม่ชำนาญทางเรือ แต่เก่งเรื่องกฎหมาย เก่งเรื่องทางบก ผมก็จะเอาบุคลากรเหล่านี้มาสอนตำรวจน้ำที่ยังขาดอยู่ ผู้ที่ปฏิบัติการจริงในพื้นที่จะเห็นจุดอ่อนในการทำงานว่าอะไรควรจะเติมเต็มในหน่วยของเรา คือ แนวคิดผมที่ใช้คนในหน่วยให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

การฝึกทบทวนหลักสูตรฝึกทบทวนการปฏิบัติการทางเรือและใช้อาวุธปืนประจำเรือกลางทะเล พล.ต.ต.ธนพลบอกว่า ทำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หน่วยที่ไม่เคยมีการฝึกในหมู่เรือแบบนี้มาก่อน เราจำลองมาจากกองทัพเรือ เพราะเคยฝึกมาก่อน เพื่อเป็นการตอบสนองของตำรวจน้ำที่จะต้องเสิร์ฟภารกิจที่ได้รับ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่เราจะต้องดำเนินการในภาคของผู้ปฏิบัติ

“แม้ผมเป็นภาคนโยบาย ในขณะเดียวกันผมก็เติบโตมาจากภาคปฏิบัติ  เราโตมาตั้งแต่เป็นเด็กๆ เป็นผู้ปฏิบัติกับเรือขนาดเล็ก เราเข้าไปตรวจวิเคราะห์ได้ว่าจะเจอสิ่งที่เกิดขึ้นอะไรบ้าง แต่เราก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อไม่เกิดความผิดพลาดระหว่างปฏิบัติหน้าที่”

 

เส้นทางชีวิตวนเวียนอยู่ในสังกัด ยืนหยัดปฏิบัติงานสู่เก้าอี้ผู้นำหน่วย

สำหรับประวัติของ พล.ต.ต.ธนพล ศรีโสภา เป็นชาวกรุงเทพมหานคร พ่อรับราชการครู แต่ตัวเองเรียนจบโรงเรียนพรหมานุสรณ์ สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร เลือกเหล่าตำรวจน้ำแต่ต้องไปฝากเรียนที่โรงเรียนนายเรือ ฝึกเหมือนนักเรียนนายเรือทุกอย่าง บรรจุมาเป็นรองสารวัตรสังกัดตำรวจน้ำ เจ้าตัวมีความภาคภูมิใจว่า ตำรวจน้ำเป็นตำรวจ ต้องใช้กฎหมายเหมือนตำรวจ ขณะเดียวกัน สามารถใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ได้ใกล้เคียงกับกองทัพเรือ

ตำแหน่งแรก เป็นผู้คุมเรือขนาดเล็กของกองบังคับการตำรวจน้ำนาน 4 ปี ก่อนย้ายเป็นชุดสืบสวนผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้างทำงานกับพล.ต.ต.รังสิต ญาโณทัย ผู้บังคับการปราบปราม จากนั้นเป็นนายเวร พล.ต.ต.นิเวศน์ นาคสมบูรณ์ ผู้บังคับการตำรวจน้ำ พอนายเกษียณ ย้ายไปอยู่กองทะเบียน 4 เดือน แล้วไปเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจน้ำจังหวัดนราธิวาส 2 ปีกว่า ข้ามกลับมาอยู่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ตั้งศูนย์ปราบโจรกรรมที่แหลมฉบัง

ต่อมาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจน้ำแหลมงอบ จังหวัดตราด รับภารกิจ ป้องกันและปราบปรามโจรสลัดแนวชายแดนฝั่งทะเลภาคตะวันออก ขึ้นรองผู้กำกับการอำนวยการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ สมัยนั้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 เห็นฝีมือเลยปรับให้เป็นรองผู้กำกับการหัวหน้าสืบสวนจังหวัดสระแก้ว  แล้วกลับมาถิ่นเก่าตำแหน่งผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจน้ำ เป็นรองผู้บังคับการนาน 5 ปี ถึงขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจน้ำคนที่ 27 ในประวัติศาสตร์หน่วย ถือเป็นคนแรกในรอบ 10 ปีที่จบจากโรงเรียนนายเรือถัดจาก พล.ต.ต.มิสกวัน บัวรา ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2550

 

พยายามสร้างมาตรฐานที่ดี เผื่อพื้นที่คนมาใหม่สานต่อได้สะดวก

เมื่อเป็นลูกหม้อทำให้มองปัญหาหน่วยแทบทะลุปรุโปร่ง  นายพลหนุ่มจึงพยายามปรับปรุงหน่วยในจุดอ่อนของข้อจำกัดด้านงบประมาณที่มี ให้ตอบสนองโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้ใช้อุปกรณ์ไปดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะเป็นสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่ต้น เราถึงต้องการเติมเต็ม พยายามปรับระบบทุกมิติ โดยเฉพาะการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในสำนักงานต้องให้ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับยานพาหนะส่งซ่อมศูนย์ที่มีแบรนด์รับรองมาตรฐาน โปร่งใสตรวจสอบได้ ป้องกันข้อครหาเรื่องค่าคอมมิชชั่น

“สิ่งที่ผมจะได้รับ ก็จะได้อะไรที่สร้างไว้ ไม่ใช่พอผมย้ายไปแล้วมันจบ  อยากจะสร้างอะไรที่ผมย้ายไป แล้วใครก็ได้มาทำต่อตามมาตรฐานเดียว หรือใกล้เคียงกัน สุดท้าย คือประชาชนที่ได้ประโยชน์ เขามอบจ๊อบเรามาแบบนี้ เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับจ๊อบ นั่นคือ หลักเบสิก  ขณะเดียวกัน เราก็ต้องปรับรูปแบบ ผมก็ต้องทำ ต้องฝึก ยอมรับนะว่า ฝึกคนยากสุด แต่ก็ต้องฝึก เน้นที่ทฤษฎีแมน มาคิดปรับใช้กับกำลังพลทั้งหมดที่มีอยู่”

เหตุที่ต้องจัดหลักสูตรฝึกอบรมบ่อยครั้ง พล.ต.ต.ธนพลว่า งานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายของตำรวจน้ำค่อนข้างจะกว้าง  ไม่รู้ว่า ตำรวจน้ำจะได้รับภารกิจอะไรตอนไหน เราจึงต้องพยายามสร้างคนขึ้นมา ภายใต้กรอบของข้อจำกัด ยุทโธปกรณ์ก็ต้องร้องขอตามความจำเป็น อุปกรณ์ทั้งหมดมีการเสื่อมสภาพก็ต้องพยายามใช้งานให้ได้ และปรับเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีความจำเป็น ตำรวจน้ำต้องทำให้คุ้มค่าเหมาะสมต่อการปฏิบัติการทั้งหมด

 

 ปราบปรามเชิงรุกคู่งานช่วยเหลือกู้ภัย ทำคู่มือไว้ใช้เตือนสติกำลังพลลงงานในพื้นที่

ผู้บังคับการตำรวจน้ำเผยอีกว่า สำหรับการปฏิบัติการเชิงรุกในการปราบปรามอาชญากรรม หลักการก็คล้ายกัน คือ เรารบกับอาชญากร ปัจจัยแรก เราต้องศึกษาการรบ ตัวเจ้าหน้าที่ แม่ทัพ แม่กอง พลเมืองเราพร้อมแค่ไหน  ภูมิอากาศ ภูมิประเทศเป็นอย่างไร ถึงมารู้เขา รู้เรา คำว่า รู้เขา หมายถึงว่า ตอนนี้เกิดอาชญากรรมอะไรขึ้น ระยะเวลาของอาชญากรรม ข้อมูลของกลุ่มอาชญากรรม พอเราเข้าใจ รู้เขาแล้ว เราต้องมาดูว่า เรามีข้อจำกัดอะไรบ้าง เรือของตำรวจน้ำเป็นอย่างไร เราจะสืบสวนแบบควบคุมได้แค่ไหน ในการปฏิบัติภารกิจ เรือที่ขึ้นไปก็ต้องใช้งานได้ทุกอย่างเรียบร้อย ไม่อย่างนั้นเราอาจจะร้องเรียน เพราะฉะนั้นตรงนี้ เราต้องดูทางด้านทะเล การปฏิบัติการเหมาะสม ต้องดูความพร้อมของหน่วย

ความพร้อมตรงนี้ พล.ต.ต.ธนพล จึงจัดทำคู่มือแจกจ่ายให้ตำรวจผู้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแบบมืออาชีพเวลาส่งกำลังลงไปในพื้นที่ โดยเฉพาะมีภัยพิบัติฉุกเฉิน ตำรวจน้ำต้องมีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย อย่างกรณีอุทกภัยเป็นอย่างไร พื้นที่มีการตัดกระแสไฟฟ้าหรือยัง ส่วนเรื่องของสัตว์มีพิษอาจนอกเหนือการควบคุมแต่เราก็ต้องระวัง อุปกรณ์ช่วยชีวิตพร้อมหรือไม่ ตำรวจที่เข้าพื้นที่มีความพร้อมทางด้านร่างกายไหม มีอุปกรณ์ป้องกันภัยไหม

“เราต้องลงลึกในรายละเอียดไปจนถึงเรือที่ใช้บรรทุกรับน้ำหนักเท่าไหร่ อุปกรณ์สื่อสารพร้อมหรือเปล่า หากเสียหรือขัดข้อง เกิดอุบัติเหตุจะทำอย่างไรในสถานการณ์ฉุกเฉินเวลานั้น เราถึงต้องมองมิติของฝ่ายเราก่อน”พล.ต.ต.ธนพลบอกและยังมีแนวคิดนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาตั้งศูนย์อพยพเวลาเกิดอุทกภัย มีกำลังตำรวจน้ำพร้อมช่วยเหลือประชาชนในการขนส่งลำเลียงผู้ประสบภัยไปที่ศูนย์ ก่อนส่งกำลังสายตรวจไปลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมยานพาหนะเข้าตรวจตามไม่ได้ หน่วยของตำรวจน้ำจะเข้าพื้นที่ได้ดีกว่าเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วปฏิบัติแบบนั้น ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วแค่ตระเวนแจกของเป็นรูปแบบเดิมอย่างเดียว

 

RELATED ARTICLES