ทูตตำรวจของเฟซบุ๊ก

ทริปการเดินทางมาดูงานเพื่อประสานความร่วมมือของตำรวจกองปราบปรามที่ประเทศสิงคโปร์

พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการปราบปราม มีความคาดหวังที่จะให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของทีมลูกน้องเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของ “เขี้ยวเล็บ” กองกำลังติดอาร์มในการติดตามปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงลักษณะการลงมือก่อเหตุโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว

การบินข้ามแดนสู่เมืองลอดช่องครั้งนี้ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุด พาทีมกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม ที่รับผิดชอบงานปฏิบัติการข่าวสาร นำโดย พ.ต.ท.ยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ สารวัตร ร.ต.ท.อธิบดี ฉิมพลี รองสารวัตร ร.ต.ท.กมลภพ หาญเวช รองสารวัตร ส.ต.ท.คณากร ชิราพฤกษ์ ผู้บังคับหมู่ ส.ต.ท.หญิง รุ่งสภาพร อุตะมะ ผู้บังคับหมู่ และคณะชมรมนักข่าวกองปราบปรามของ วัสยศ งามขำ ประธานชมรม เข้าเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่เฟซบุ๊ก ประเทศสิงคโปร์ มี Rob Abrams ผู้จัดการฝ่ายความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยของเฟซบุ๊กต้อนรับอย่างดี

เขาเคยทำงานเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอยู่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยมานานกว่า 5 ปี มีความเข้าใจพฤติกรรมบริโภคสื่อออนไลน์ของคนไทยอย่างดี

Rob Abrams พร้อมให้ความร่วมมือในการประสานงานการทำงานเกี่ยวกับการใช้กฎหมายของตำรวจไทยเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น ทำหน้าที่เหมือน “ทูตตำรวจของเฟซบุ๊ก” ท่ามกลางสถานการณ์ของอาชญากรรมในโลกที่ไม่มีพรมแดน

เจ้าตัวบอกว่า ตัวเลขประชากรของไทยมีจำนวนประมาณ 75 ล้านคน แต่มีสถิติคนสร้างบัญชีใช้เฟซบุ๊กมากถึง 53 ล้านคน และเป็นคนวัยทำงานมากที่สุดในโลก ในจำนวนทั้งหมดนี้ เขาเชื่อว่า มีทั้งคนดี คนเลวใช้แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก

“ดังนั้น เฟซบุ๊กต้องสื่อสารชัดเจนถึงนโยบายความเป็นส่วนตัว คือ อะไร แม้ทางเรายินดีจะให้ความช่วยเหลือผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องปกป้องนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ด้วย” ผู้จัดการฝ่ายความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยของเฟซบุ๊กอธิบาย

ที่ผ่านมา เขาบอกว่า ทีมงานของเฟซบุ๊กได้มีส่วนเข้าไปช่วยลดภัยคุกคามต่าง ๆ คอยแลกเปลี่ยนข่าวกรองของแต่ละประเทศ พร้อมให้ความช่วยเหลือทุกเรื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดของพนักงานที่มีน้อยจำเป็นต้องเรียงลำดับความสำคัญ

ความสำคัญของเฟซบุ๊กที่คอยเป็นหูเป็นตาช่วยเหลืองานความมั่นคงของแต่ละประเทศ Rob แจงว่า มีตั้งแต่การป้องกันการก่อการร้าย ติดตามคดีเด็ก คดีค้ามนุษย์ ร่วมกับหน่วยบังคับใช้กฎหมายหลายประเทศทั่วโลก

เขายกตัวอย่างคดีเด็กถูกลักพาตัวที่ต่างประเทศให้ความสำคัญมาก เมื่อเฟซบุ๊กได้รับการแจ้งข้อมูลจะกระจายรายละเอียดอย่างรวดเร็วเพื่อหาเบาะแสติดตาม เน้นยิงข้อมูลไปในพื้นที่ต้องสงสัย ไม่ได้กระจายถึงกลุ่มคนทั่วโลก

เป็นการทำงานเชิงรุกแบบเรียลไทม์

อีกหลายคดีที่เฟซบุ๊กมีส่วนช่วยปิดแฟ้มให้เจ้าหน้าที่ มีทั้ง กลุ่มมิจฉาชีพแฮกบัญชีเหยื่อ คดีฉ้อโกงทรัพย์ คดีประทุษร้ายทางเพศ การฆ่าตัวตาย รวมไปถึงความปลอดภัยของชาติจำพวก ภัยก่อการร้าย กลุ่มซ้ายจัด-ขวาจัด ผ่านเจ้าหน้าที่และระบบสมการของเฟซบุ๊ก

มีทีมงานคอยดูแลระบบทั่วโลกแต่ละฝ่าย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เฟซบุ๊กกังวล คือ หน่วยงานราชการของประเทศไทยที่บังคับใช้กฎหมายหลายหน่วยที่มีเพจของเฟซบุ๊กยังไม่ได้รับการการันตีอย่างเป็นทางการของเฟซบุ๊กว่า “เป็นหน่วยงานของรัฐ” หรือ “บลูติก-Blue Tick” ทำให้ยากต่อการประสานข้อมูลออนไลน์ในเวลาอันรวดเร็ว

บ่อยครั้งเป็น “เพจเถื่อน” เป็น “เฟกนิวส์” จนขาดความน่าเชื่อถือ

คือ ความโชคดีของคณะทำงานตำรวจกองปราบปรามที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสานการทำงานนำไปต่อยอดจัดการอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในโลกของเฟซบุ๊ก

ถึงขั้นเตรียมจัดทีมงานมาเทรนนิ่งตำรวจกองปราบปราม “นำร่องหน่วยแรก” อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

RELATED ARTICLES