แด่นักรบหน้าด่าน

วิกฤติวายร้ายไวรัส “โควิด-19” เราจะก้าวข้ามมันได้เร็วแค่ไหน

ลำพังมาตรการเข้มเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ยังมีหลายคนไม่สนโลก ไม่ยอมรับกฎกติกา แถมยังกล้าท้าทายพ่นน้ำลายใส่ “แป้นคีย์บอร์ด” ของจอคอมพิวเตอร์

โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศในห้วงวันที่ เมษายน 2563  ภายหลังรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  

หลายคนดื้อรั้นดึงดันจะไม่ยอมเข้าขั้นตอนการกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการของเชื้อโรค

พวกเขาเหล่านั้นเลือกที่จะขาดจิตสำนึก  ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ขาดระเบียบวินัย และการไม่เคารพกฎหมาย

มีทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองมัวประคบประหงมลูก ๆ ที่ไปร่ำเรียนต่างประเทศ บางคนกลับจากทำธุรกิจ บางคนกลับมาเพราะกลัวโรคร้ายนี้ในต่างประเทศ

สุดท้ายทำตัวเป็น “นักเลงคีย์บอร์ด” ด่าเจ้าหน้าที่เสีย ๆ หาย ๆ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ทุกคน ปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อส่วนรวม ทำเพื่อตัวคนที่ถูกกักตัว ญาติพี่น้อง พ่อ แม่ เพื่อนฝูงของคนเหล่านี้ทั้งนั้น

ด้วยเหตุผล คือ โรคนี้บางครั้งการวัดไข้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่า มีการติดเชื้อมาด้วยหรือไม่

ยกตัวอย่างหลายเหตุการณ์ที่ยืนยันได้ชัดเจน คือ ผู้ที่เสียชีวิตบนรถไฟขณะจะเดินทางกลับบ้านหลังจากผ่านการตรวจคัดกรองมาจากสนามบินทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข กรมควบคุมโรค และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแล้ว

เขาผ่านการคัดกรองมา เพราะไม่ปรากฏว่า “มีไข้สูง” กระทั่งไปออกอาการขณะโดยสารอยู่บนรถไฟ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากสถิติการแพร่ระบาดของเมืองไทยยังพบว่า ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แล้วไม่ปรากฏไข้สูงในช่วงเดินทางกลับ ต่อมามีไข้แล้วมีการแพร่กระจายออกไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนทั่วไป

ล่าสุดมีคนใช้นามแฝงโพสต์ด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคนเข้าเมืองในเฟซบุ๊ก ด่าทอการทำงานของเจ้าหน้าที่ จากการที่เชิญตัวญาติที่เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถือเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อนี้มากที่สุดในโลก และเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง เพื่อเข้ารับการทำ STATE QUARANTINE เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยเป็นเวลา 14 วัน

ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคนเข้าเมืองในเรื่อง “ยศน้อย”มากักญาติเขาได้อย่างไร

ทั้งที่ข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนพยายามช่วยกันทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อวายร้ายไวรัสไปสู่ผู้คนในประเทศจนนำไปสู่การสูญเสีย

มาตรการหนึ่ง คือ การกักตัวคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วันในสถานที่ที่รัฐจัดให้

อีกส่วน คือ การรณรงค์ให้คนอยู่บ้านเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด การปิดสถานที่ทำงาน ห้าง ร้านค้า สถานบันเทิง สนามมวย และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากป้องกันไม่ให้คนไปรวมกัน ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ

ไม่เอาแต่ประโยชน์ ความสุขสบายของตัวเองเป็นใหญ่

ข้ออ้างที่ว่า ถูกกักตัวมาแล้วในต่างประเทศ มีผลตรวจยืนยันมาแล้วบ้าง เจ้าหน้าที่ฝากบอกถ้าเห็นว่า มาตรการในประเทศไทยยังไม่ปลอดภัยขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านี้ กลับไปพำนักที่ประเทศที่ท่านเดินทางกลับมาก่อนก็ได้

หากยังมีจิตสำนึกขอให้ทำตามแนวทางที่ภาครัฐเขากำหนดให้ทำเพื่อสังคมส่วนร่วม

สำหรับการโพสต์ดังกล่าว พล.ต.ท.สมพงษ์  ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้รับทราบและฝากถึงสังคมโดยรวม ขอให้เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ทุ่มเท เสียสละ ทั้งที่กำลังทำงานในสนามบิน ทั้งเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หมอ  พยาบาล ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ขนส่ง และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเอง

คนส่วนใหญ่อาจมองว่า ทั้งหมดเพราะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้กักญาติพี่น้องของท่าน แท้จริงแล้วเป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อเป็นการสกัดกั้นการแพร่กระจายเชื้อโรค

เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความเสี่ยงหมด กลับบ้านไปก็ต้องแยกกันอยู่ แยกกันกินกับครอบครัว แม้จะยังไม่มีอาการใด ๆ และถึงจะมีเสียงก่นด่าอย่างไร พวกเขาทุกนายไม่เคยย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่กันต่อไปอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อประชาชนและประเทศชาติของเรา

ใครจะเห็นแก่ตัวอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ถ้าทำผิดกฎหมาย ต้องไม่มาโทษกันภายหลัง และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

อย่ามาพูดตอนหลังว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอโทษกับเหตุการณ์ ต่อไปจะไม่ทำอีกแล้ว”

กลายเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะถูกกระแสสังคมโจมตีอย่างหนักอย่างนั้นหรือ

เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องฝากทิ้งท้ายด้วยว่า ขอให้ประชาชนทุกท่าน เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเท เสียสละ ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน อยู่หน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองที่เสี่ยงต่อโรค ต่อศัตรูที่มองไม่เห็น ไม่รู้ว่าตัวเองจะติดเชื้อไปเมื่อไหร่ แล้วลูก เมีย พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คนรอบข้างจะเสี่ยงติดเชื้อไปด้วยอีกเท่าไหร่

พวกเขาล้วนเสียสละเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ เพื่อลูกหลานของพวกเราทุกคน

ให้รอดพ้นจากวิกฤติวายร้ายไวรัสที่กำลังเผชิญได้เร็วที่สุด

RELATED ARTICLES