โลกสีกากีของเขา

“ขอโทษครับ” ข้อความบอกลาเพียงสั้น ๆ ของนายตำรวจหนุ่มที่กำลังมีอนาคตดี

พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ มังคละวัชร์ รองผู้บังคับการประจำกองการต่างประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ ประจำสถานเอกอัครราชทูต กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตัดสินใจผูกคอตายลาโลก

“เคยรู้สึกไหม เวลาไม่มีใครแล้ว จะมองไปทางไหน ไม่มีใครให้พูดจา ไม่มีเลย ซักคน จะหันมามองและเข้าใจ คนๆ นี้ ที่มันไม่มี…อะไร” ครั้งหนึ่งเจ้าตัวโพสต์ระบายบทเพลง “เหงา” ของนักร้องดัง อนุวัฒน์ สงวนศักดิ์ภักดี หรือ “บอย พีซเมกเกอร์” บ่งอารมณ์ส่วนตัว   

พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ มังคละวัชร์ เดิมชื่อ “เทวัญ มังคละชาติกุล” สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 44 เพื่อนรุ่นเดียวกับ พล.ต.ต.อาทิชา เปาอินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์  ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 พล.ต.ต.ปรีดา สถาวร ผู้บังคับการกองอัตรากำลัง พ.ต.อ.ชูสวัสดิ์ จันทร์โรจนกิจ รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล  พ.ต.อ.ฐากูร นิ่มสมบุญ รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์  พ.ต.อ.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี  และ พ.ต.อ.ประสงค์ อานมณี รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เป็นต้น

ส่วนใหญ่จะรับราชการที่ตำรวจป่าไม้  เรียนดี ภาษาดี เป็นที่รักของพี่น้องเพื่อนฝูงและผู้บังคับบัญชา

อายุน้อยในรุ่นและเลื่อนตำแหน่งเร็ว เคยไปทำงานต่างประเทศในนามของสหประชาชาติ ก่อนกลับมาเป็น ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนั้นขึ้นรองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

เป็นลูกน้องฝีมือดีของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมสางคดี “เสือดำ” ที่มี เจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต กับพวกตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา

ต่อมาสมัครใจเป็นผู้ช่วยทูตฝ่านตำรวจ ประจำกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา

ใช้ชีวิตโสดและเป็นคนมุ่งมั่นทุ่มเทในหน้าที่การงาน

เคยออกมาแสดงความเห็นส่วนตัวโต้กระแสโซเชียลเกี่ยวกับคดีเสือดำที่โจมตี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ยืนยันผู้เป็นนายจริงจังกับการทำงาน นอนไม่กี่ชั่วโมง ทำเอาผู้ใต้บังคับบัญชาต้องตื่นตัวตลอดเวลา

“สิ่งที่คนภายนอกที่ไม่รู้จักและอาจไม่ชอบใจ ก็คือ ลักษณะการพูดที่ดูดุดัน ใช้ถ้อยคำรุนแรง แต่จิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”  ระบุด้วยว่า ในการทำงาน พล.ต.อ.ศรีวราห์เน้นย้ำอยู่เสมอ เป็นพระต้องสวด เป็นตำรวจต้องจับ

ไม่มีใครใหญ่กว่ากฎหมาย  

ขณะเดียวกัน เขายังเคยดับเครื่องชนโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงประเด็น การวิ่งเต้นใช้เส้นสาย ในการเลื่อนขั้นในตำแหน่งของแวดวงตำรวจ ตีแผ่ความจริงในยุทธจักรสีกากีว่า เคยมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกบอกจะรับราชการตำรวจให้ก้าวหน้า นอกจากการทำงานหนักแล้ว ต้องคบคน 2 อาชีพ คือ “สื่อมวลชน” กับ “นักการเมือง” ซึ่งก็น่าจะเป็นจริงในยุคนั้น

แต่โชคดีที่สมัยนี้นอกจากสื่อดั้งเดิมแล้ว ยังมีสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก​ ที่ถ้าใครรู้จักใช้ให้เป็น ก็เท่ากับตัวเองเป็นสื่อมวลชนเอง แถมทำดี ๆ สื่ออาชีพยังมาหยิบเอา content ในสื่อโซเชียลส่วนตัวไปเผยแพร่ฟรีๆ โดยไม่ต้องจ้าง

“ไม่น่าแปลกใจที่ตำรวจมือปราบ นักสืบ  มือสอบสวน ตำรวจนักพัฒนา นักบริหาร นักกฎหมาย ตำรวจสายวิชาการ จะใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ที่ได้รับความนิยมสูงในบ้านเรา เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์​ผลงาน บางคนถึงกับลงทุนจ้างมืออาชีพจัดทำแฟนเพจเพื่อการนี้โดยเฉพาะ”

ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด หากผลงานเหล่านั้นเป็นของท่านจริง

ถึงกระนั้น นายตำรวจหนุ่มกังวลคือพวก “มือปราบพาวเวอร์พอยท์”  เอาผลงานคนอื่นไปพรีเซนต์​ในการบรรยาย ประชุม หรือแถลง โดยไม่ให้เครดิตผู้ปฏิบัติจริง

ส่วนอาชีพ “นักการเมือง” เขาเข้าใจเองว่า น่าจะหมายถึงผู้มีอำนาจนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มี “พาวเวอร์” สนับสนุนตำรวจพวกของตัวเองได้

อันเป็นการสะท้อนถึงความจริงอันเจ็บปวดกับ “ระบบอุปถัมภ์” ที่แม้น่าเชื่อว่าจะมีในทุกกรมกอง แต่ตำรวจเป็นอาชีพที่ส่วนมากต้องสัมผัสกับประชาชน ให้คุณให้โทษได้ จึงเกิดรอยกระเพื่อมในสังคมได้มากกว่าอาชีพอื่น

พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ ออกตัวว่า ข้อเขียนของเขา คือ ความเห็นส่วนบุคคล มิได้มีเจตนาพาดพิงถึงใครเป็นการเฉพาะ ผู้เขียนไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่คอลัมนิสต์​ เขียนเพราะอารมณ์​พาไป หากไปกระทบความรู้สึกใคร หรือทำให้ท่านใดไม่พอใจ กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

เจ้าตัวถึงกล้าระบายอารมณ์ตีแสกหน้าอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ว่า คนที่ทำงาน เมื่อต้องการเติบโต ต้องการก้าวหน้า “ต้องวิ่งเต้น” เพราะบทเรียนมีให้เห็นในการแต่งตั้งทุกวาระ ที่ดูเหมือนจะเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ

“แต่หากมองอย่างเป็นกลาง ปัญหานี้อาจจะไม่ได้เลวร้ายกว่าที่เคยเป็น อาจเป็นเพียงเพราะความเจริญทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทำให้ข่าวสารต่าง ๆ แพร่กระจ่ายไปสู่การรับรู้ของคนหมู่มากรวดเร็วขึ้นก็เป็นได้” เขาว่า

ปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ คนที่ก้าวหน้าเติบโตจากการ “วิ่งเต้น” เพียงอย่างเดียว ไม่มีผลงาน ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดิน เหล่านี้ต่างหาก เมื่อคนเหล่านี้ได้เป็นผู้บริหาร กุมอำนาจหน่วยงานสำคัญ

“ไม่อยากจะคิดเลยว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร” พันตำรวจเอกหนุ่มรำพัน

กระทั่งถึงวันต้องลาจากโลกไป

 ทิ้งไว้แต่อนุสรณ์ความคิดที่ยากจะเนรมิตเพื่อเปลี่ยนแปลง “โลกสีกากี” ของเขา

 

 

 

RELATED ARTICLES