“เราปิดทองหลังพระมาตลอด เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสที่เราจะต้องเปิดบ้าง”

ก้าวข้ามหน่วยขยับมานั่งเป็น “แม่ทัพนักรบป่า”

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พยายามปลุกขวัญกำลังใจให้รู้สึกภูมิใจในศักดิ์ศรีของหน่วย

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า “กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นหน่วยงานหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีความเชี่ยวชาญในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาความมั่นคงของรัฐในพื้นที่ชายแดน”

แม้ตัวเองไม่ได้เป็น “ลูกหม้อ” ของเหล่านักรบเครื่องแบบฟาติก แต่ได้พิสูจน์ความเป็น “ผู้นำ” ให้ลูกน้องเห็นถึงบทบาท “ผู้บังคับบัญชาเบอร์หนึ่ง” คำนึงถึงหัวจิตหัวใจของผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นสำคัญ

พร้อมแก้ปัญหาและให้คำปรึกษา เสริมเขี้ยวเล็บแสดงศักยภาพของหน่วยที่ “ปิดทองหลังพระ” มาตลอดเปิดให้สังคมเห็นประสิทธิภาพการทำงานตามแบบฉบับนักรบชายแดน

รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง เรียกประชุมเพื่อมอบนโยบายการปฏิบัติงานทันที กำชับข้อราชการหลักเกี่ยวกับหน้าที่ปกป้อง เทิดทูน และพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ความสำคัญสูงสุดในการถวายความปลอดภัย การป้องกันและปราบปรามการล่วงละเมิดสถาบันพระมหาษัตริย์ เผยแพร่พระเกียรติคุณ พระราชกรณียกิจที่สำคัญในทุกโอกาส รวมทั้งเผยแพร่หลักปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาตามศาสตร์ของพระราชา

พล.ต.ท.สมพงษ์  ยังได้เน้นย้ำถึงพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงตรัสกับผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ในขณะนั้น) และคณะผู้เทนจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนในโอกาสเข้าเฝ้าถวายพระพรเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 75 พรรษา เป็นการส่วนพระองค์ ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ตำรวจตระเวนชายแดนทุกนายสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9

ความว่า …“ตำรวจชายแดน เขาเรียกตำรวจป่า ขอขอบใจตำรวจชายแดนทุกคนที่ได้ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเหนื่อยยาก และเข้มแข็งมาโดยตลอด ตำรวจตระเวนชายแดนเป็นที่พึ่งของประชาชน ขอให้ตำรวจตระเวนชายแดนทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ช่วยกันทำงานช่วยเหลือประชาชน ขอให้ไปบอกตำรวจตระเวนชายแดนทุก ๆ คนด้วย ขอขอบใจทุกท่านที่มาอวยพร”

น้อมนำกิจกรรมจิตอาสา พัฒนาโรงเรียนตำรวจชายแดน

กลายเป็นนโยบายหลักที่ พล.ต.ท.สมพงษ์ ต้องการสร้างทัศนคติ ค่านิยม และปลูกฝังอุดมการณ์ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สนับสนุนการจัดกิจกรรมการพัฒนาตามโครงการพระราชดำริ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดีด้วยหัวใจ” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงการน้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและพัฒนาให้ยั่งยืนอย่างเต็มขีดความสามารถ สมพระเกียรติของพระองค์ท่าน

ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.สมพงษ์ มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนงานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 ประจำปี 2560-2569 อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชนชายแดน

“ผมให้นโยบายไปแล้วว่า ทำยังไงก็ได้ ที่ทำให้ชาวบ้านรักตำรวจตระเวนชายแดนเพิ่มขึ้น  เหมือนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่อยู่ในห่างไกล กระทรวงศึกษาเข้าไปไม่ถึง อยู่กันลำบากลำบน ตำรวจตระเวนชายแดนสามารถทำหน้าที่ครูไปสอนเด็กเหล่านั้นได้ ทั้งนี้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าที่พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดตั้งโรงเรียนขึ้น มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสานต่อพระราชปณิธาน”

ขึ้นสัมผัสชีวิตเด็กบนดอย ตามรอยเสด็จฯสมเด็จพระเทพ

เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2561 พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  พร้อมด้วย พล.ต.ต.รุ่งสุริยา เผือกประพันธ์ ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 และ พล.ต.ต.ปราบพาล มีมงคล ผู้บังคับการกองการฝึก กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินไปตรวจความเรียบร้อย เตรียมการรับเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโรงเรียนตำรวจตระเวนขายแดนในพื้นที่รับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2561

ประกอบด้วย โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินทรงงานมี 5 แห่ง  ได้แก่ โรงเรียนตำรวจเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (บ้านแพะ อำเภอแม่ระมาด)  โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหม่อมราชวงศ์เฉลิมลักษณ์ จันทรเสน (บ้านเลอตอ อำเภอแม่ระมาด) ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตีนดอย (ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง) ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลโพเด (ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง) และศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคะเนจือทะ (ตำบลแม่อุสุ  อำเภอท่าสองยาง)

ในระหว่างตรวจดูการเตรียมความพร้อมครั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ยังถือโอกาสเยี่ยมบำรุงขวัญครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน นำเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องบริโภค และมอบเงินเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่คณะครูตามโรงเรียน แวะทักทายเด็กนักเรียนบนดอยอย่างเป็นกันเอง สร้างความประทับใจแก่บรรดาเด็กตัวน้อย และทราบจากครูใหญ่หลายโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนถึงการพัฒนา  ตรงกับกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์ให้เด็กในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มีความรู้ไปประกอบอาชีพได้

ได้ผลผลิตศิษย์เก่าไม่น้อย จากเด็กดอยสู่ความสำเร็จในอาชีพ

“ยกตัวอย่างโรงเรียนบ้านตีนดอย ผมมาดูการเรียนการสอน มาดูเด็กที่นี่ ทราบจากครูใหญ่ว่า โรงเรียนตรงนี้มีทุนสำหรับนักเรียนที่เรียนเก่งจนไปเรียนเทคนิคในเมือง บางคนมีบริษัทของประเทศญี่ปุ่นมาจองตัวไว้ไปทำงานเมื่อเรียนจบ มีอีกคนเรียนเก่งสอบติดแพทย์ แต่ขณะนี้ได้ย้ายตามบิดามารดาไปอยู่สหรัฐอเมริกา แสดงถึงการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” พล.ต.ท.สมพงษ์ว่า

ผู้นำนักรบป่าบอกอีกว่า ตรงนี้เองที่ตำรวจตระเวนชายแดนทำมาตลอดหลายสิบปี  แม้กระทั่งนำน้อมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว นำเอาเรื่องผลิตผลของพืชต่างๆ มาเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก ทำให้เด็กไม่ขาดสารอาหาร หลายโรงเรียนที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารการเดินทางลำบาก ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ยิ่งหน้าฝนถนนขาด ถามว่า ใครจะเข้ามา แต่ตำรวจตระเวนชายแดนต้องมาเพื่อสอนหนังสือเด็กนักเรียน

ศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ตามสถิติที่รวบรวมไว้เมื่อปี 2558 อาทิ เป็นนายแพทย์ 2 คน วิศวกรหรือสถาปนิก 20 คน เป็นตำรวจมากถึง 569 คน ทหาร 58 คน กลับมาเป็นครู 167 คน พยาบาล 37 คน พนักงานธนาคาร 11 คน  สาธารณสุข 23 คน พนักงานข้าราชการ 133 คน ทนายความ 11 คน รัฐวิสาหกิจ 23 คน ปกครองท้องถิ่น 204 คน บริษัทเอกชน 354   คน ธุรกิจส่วนตัว 315 คน ผู้สื่อข่าว 5 คน นักมวยหรือนักกีฬาอื่น 2 คน ผู้ดูแลเด็กในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 84 คน และเกษตรกรหรือลูกจ้างทั่วไปมากสุด 1,757 คน

 

จัดโครงการทัศนศึกษา พาเปิดโลกใหม่ที่ไม่เคยเห็น

พล.ต.ท.สมพงษ์เล่าด้วยว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบนโยบายไว้เช่นกันว่า ทำอย่างไรให้โอกาสเด็กนักเรียนโรงเรียนตระเวนชายแดนได้เรียนรู้นอกสถานที่มากขึ้น ที่ผ่านมาจึงทำโครงการทัศนศึกษาคัดตัวแทนเด็กนักเรียนทั้งหมด 10 รุ่น รุ่นละ 60 คน รวมทั้งหมด 600 คนไปเที่ยวงานกาชาด ที่สวนลุมพินี พาเที่ยวทะเลพัทยา บางแสน ชมศูนย์การเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่จังหวัดชลบุรี สัมผัสสนามฟุตบอลชลบุรี เอฟซี นอกจากนี้ ได้รับความกรุณาจากกองทัพเรือสนับสนุนให้เด็กเที่ยวชมบรรยากาศเรือรบหลวงจักรีนฤเบศร เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ที่เด็กทุกคนไม่เคยเห็น

“ทุกคนมีความรู้สึกดีใจมาก บางคนไปทะเลครั้งแรก หลายคนไม่เคยไปกรุงเทพฯ พวกเขาจะรู้สึกเหมือนว่า สังคมให้โอกาสพวกเขา ทำให้เด็กมีโอกาสสร้างแรงบันดาลใจ และจะไม่ไปทำร้ายสังคมในอนาคต เพราะเราปลูกจิตสำนึกให้เห็นสังคมที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การรู้จักการให้ การเสียสละ เมื่อผู้ใหญ่ใจดี เสียสละมาช่วย เราก็ต้องทำตัวเป็นพลเมืองดี ตั้งใจเรียน ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ช่วยพ่อแม่ทำงาน ปลูกผัก ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทำชุมชนเขาให้เข้มแข็ง แล้วมันก็ได้ทั้งหมด” พล.ต.ท.สมพงษ์อธิบายเหตุผล

เขาถือว่าโครงการทัศนศึกษาครั้งนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และจะทำเป็นโครงการต่อเนื่องต่อยอดให้เป็นรูปธรรมในอนาคตเพื่อให้โอกาสเด็กนักเรียนในสังกัดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสสิ่งใหม่ในการเรียนรู้นอกห้องเรียน

 

เยี่ยมถิ่นเก่าสมรภูมใต้ สร้างขวัญกำลังใจนักรบด้ามขวาน

การมาเป็นผู้นำตำรวจป่าของ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นลำดับต้น ถึงขนาดลงสมรภูมิด้ามขวานประเทศเยี่ยมให้กำลังใจตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 เพราะเป็นพื้นที่ที่ตัวเขาเคยลงไปใช้ชีวิตอยู่ระยะหนึ่งสมัยเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรยี่งอ จังหวัดนราธิวาส และตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส เจ้าตัวบอกว่า รู้ดีว่าสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไร ยิ่งกำลังของตำรวจตตระเวนชายแดนถูกส่งลงไปทุกภาคทั่วประเทศ แม้แต่หน่วยพลร่มนเรศวรของกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ

  “ในฐานะผู้นำหน่วย พอลงไปพูดคุย พวกเขามีกำลังใจดีมาก เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายที่เป็นแกนนำก่อความไม่สงบเสียชีวิตจากการติดตามข่าวของตำรวจตระเวนชายแดนก่อนเกิดการปะทะกันอย่างกล้าหาญ สามารถขยายผลไปยังเครือข่ายร่วมขบวนการได้อีก เป็นยุทธวิธีที่เราปลูกฝัง มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจท้องที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นในเรื่องการข่าวเป็นหลัก”

แม่ทัพนักรบชายแดนมองว่า  จริงๆ แล้วตำรวจตระเวนชายแดนมีความเข้มแข็ง เพราะอยู่กับป่า อยู่กับชายแดน แต่เราจะนำความรู้เรื่องการสืบสวน การสะกดรอย การติดตาม การขยายผล และการประสานหน่วยข้างเคียง หรือใช้เทคโนโลยีที่จะมาใช้ประโยชน์ในการสืบสวนได้เพิ่มเข้าไป เสริมเขี้ยวเล็บให้ตำรวจตระเวนชายแดนมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น

 

ยึดสันติวิธีบวกยุทธวิธีดับร้อน ป้อนยุทโธปกรณ์เสริมทัพ

ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ท.สมพงษ์เรียนรู้มาตลอด 5 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น เขาจึงน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่าด้วยการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักปฏิบัติในการแก้ปัญหาที่สมรภูมิปลายด้ามขวาน ยึดแนวทางสันติวิธี และงานการเมืองนำการทหารมาใช้เป็นกลไกหลัก สร้างเอกภาพและบูรณาการการแก้ปัญหาระดับยุทธวิธีให้สอดคล้องกับระดับยุทธศาสตร์

ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายมอบนโยบายแก่ลูกน้องว่า ต้องควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการยุติเหตุร้ายรายวัน ลดความรุนแรง เน้นมาตรการเชิงรุกด้วยการตรวจค้นและทำลายภายใต้ขอบเขตของกฎหมายเพื่อจำกัดเสรีการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้าม “ปัจจัยปัญหาอีกอย่างคือเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ยกตัวอย่าง หน่วยพลร่มนเรศวร 261 มีขีดความสามารถในการรบสูง เป็นหน่วยที่พลังอานุภาพเข้มแข็ง สร้างศักดิ์ศรีให้ตำรวจตระเวนชายแดนและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทว่าปัญหาที่สัมผัสเป็นในเรื่องของรถหุ้มเกราะ แบบวี 150 ใช้งานมา 40 กว่าปีขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพลดน้อยไป”

“ ผมได้นำเรียนท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งสองให้ความกรุณาเรื่องของการจัดซื้อรถหุ้มเกราะขนาดกลางสนับสนุนในกำลังรบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนรถหุ้มเกราะรุ่นเก่า แต่นอกจากเน้นเรื่องยุทธวิธี ยุทโธปกรณ์แล้ว สำคัญสุดคือ เราต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วยอย่าให้มีการบิดเบือนข้อมูลเปลี่ยนแปลงแนวความคิดไปในทางที่ผิดจนจุดชนวนความไม่สงบขึ้นต่อเนื่อง เรียกว่า เราทำคู่ขนานไปกับมาตรการเชิงรุก”

เกาะติดสถานการณ์ยานรก ปกคลุมตะเข็บประเทศเพื่อนบ้าน

เสร็จสิ้นภารกิจมอบนโยบายการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจตระเวนชายแดนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ท.สมพงษ์ อดห่วงไม่ได้กับสถานการณ์ยาเสพติดตามแนวชายแดนภาคเหนือ เขาขึ้นเหนือล่องใต้ไปโผล่ตะเข็บภาคอีสานตลอดการบริหารราชการเพียงแค่ 2 เดือนเศษ “การแก้ปัญหาด้านยาเสพติดจำเป็นต้องป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มข้นตามนโยบายของรัฐบาล  โดยเฉพาะเรามีพื้นที่รับผิดชอบแนวตะเข็บชายแดน ต้องพยายามประสานหน่วยข้างเคียง ทั้งทหาร ตำรวจพื้นที่ ฝ่ายปกครอง ในการซีนไม่ให้มีการลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาในประเทศ”

พล.ต.ท.สมพงษ์ให้สังเกตว่า  ระยะหลังตำรวจตระเวนชายแดนมีการจับกุมผู้ลำเลียงยาเสพติดได้จำนวนมาก ทำวิสามัญฆากตรรมคนร้ายที่ต่อสู้เจ้าหน้าที่ แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหายาเสพติดหมักหมมมานาน เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันทุกฝ่าย ไม่เฉพาตำรวจตระเวนชายแดน ต้องทุกหน่วย ทั้งทหาร และฝ่ายปกครอง รวมถึงภาคเอกชน และประชาชนเอง

“พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นหูเป็นตาดูแลบุตรหลาน แจ้งข้อมูลเบาะแส หากพบเห็นใครร่ำรวยผิดปกติ ใครมีพฤติการณ์ค้ายาเสพติด แจ้งมาที่เจ้าหน้าที่เรา เราพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการสืบสวนจับกุม ผมถึงเน้นการสร้างมวลชน เพราะหัวใจในการทำงานของเรา คือ การข่าว การที่เราจะได้การข่าวที่ดี คือการทำให้ชาวบ้านรักเรา เหมือนที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น ทำยังไงก็ได้ ให้ชาวบ้านรักตำรวจตระเวนชายแดนเพิ่มมากขึ้น ถ้าเขารักเรา เขาให้ข่าวเรา ให้ข้อมูลเรา แล้วเราก็จะดูแลความปลอดภัยเขา เพราะว่าสิ่งที่เรามาทำ เราทำให้กับประชาชน”

 

วาดหวังสวัสดิการความเป็นอยู่  ทำแท่งที่พักอยู่ใน 16 กองกำกับ

ระหว่างเยี่ยมบำรุงขวัญผู้ใต้บังคับบัญชาตามต่างจังหวัด พล.ต.ท.สมพงษ์ ได้โอกาสดูความเป็นผู้ของผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง พยายามส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกน้องและครอบครัวให้พึ่งพาตัวเองได้อย่างมีเกียรติ ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม โปร่งใส และเพียงพอ

สิ่งที่จะดำเนินการ เจ้าตัววาดเป้าไว้ในเรื่องสวัสดิการที่พักอาศัย หลังพบว่า กำลังพลของตำรวจตระเวนชายแดนมีประมาณ 20,000 นายทั่วประเทศ แต่บ้านพักแต่ละหลังมีอายุ 40-50 ปีขึ้น แถมอยยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงจัดแจงเรียนปัญหากับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมตตาอนุมัติโครงการสร้างอาคารที่พักอาศัยทั้งหมด 16 กองกำกับการทั่วประเทศเป็น 16 แท่ง ๆ ละประมาณ 80 ห้องเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตำรวจตระเวนชายแดน หลังจากก่อนหน้าที่อนุมัติจัดหาเรื่องรถหุ้มเกราะขนาดกลางมาทำแทนรถวี 150 ที่มี่อายุ 40-50 ปีที่บางทีการใช้งานไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในงบประมาณค่าซ่อมบำรุงรักษา ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ถือเป็นขวัญกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชาไม่น้อย

   อีกส่วน นายพลตำรวจโทมาดเข้มเน้นการบริหารจัดการด้านบุคลากร ปลูกฝันคุณธรรม จริยธรรม อุดมการณ์ให้เป็นตำรวจมืออาชีพกับกำลังพล ทุกนายต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมายทุกขนิด มีความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ผู้บังคับบัญชาต้องมีภาวะผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา พัฒนาบุคลิกภาพของตำรวจตระเวนชายแดนทุกนายในด้านการแต่งหาย การวางตัว และการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่ศรัทธาของประชาชน

ลูกทหารชอบทำงานติดดิน ไม่ดิ้นตามระบบเจ้าขุนมูลนาย

“ตำรวจตระเวนชายแดน มีความเป็นสุภาพบุรุษ เสียสละ ทุ่มเททำงาน เป็นเหมือนปิดทองหลังพระ” พล.ต.ท.สมพงษ์เห็นแบบนั้น เขาสารภาพว่า ไม่เคยสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน แต่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้มาดูแลบำรุงขวัญผู้ใต้บังคับบัญชา เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วย “ผมไม่คิดว่าจะทำไม่ได้ เพราะผมเป็นลูกทหาร อยู่ในค่ายทหารมา 15-16 ปี อยู่ในระบบทหาร ตำรวจตระเวนชายแดนก็ไม่แตกต่างเหมือนทหาร แล้วผมก็จบเตรียมทหาร ผมเรียนรู้ ผมไปทำงานจังหวัดนราธิวาสเกือบ 5 ปี ได้ทำงานประสานร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนมาตลอด”

“ตอนไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็อยู่แนวชายแดนประสานกับตำรวจตระเวนชายแดนที่ตรงนั้น ผมว่าตรงนี้ มันเป็นเนื้อเดียวกัน สิ่งที่ผมคิด ผมคิดดี ก่อนหน้าการทำงานอาจเหมือนกัน แต่คนละภารกิจ ทำงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ หน่วยได้ ที่สำคัญคือ ประเทศชาติ ประชาชนได้ ผมว่า มันเป็นหลายมิติ แล้วผมจะพยายามทำตัวไม่เป็นเจ้าขุนมูลนาย ผมก็ไปแบบติดดิน ไปเยี่ยมกองร้อย นอนกองร้อย กินข้าวกับลูกน้อง ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ บางทีผมวิ่งออกกำลังกายเย็นๆ ในกองร้อย ก็วิ่งไป ทักทาย แม่บ้าน เด็ก เขายังไม่รู้เลยว่าผมเป็นผู้บัญชาการ” นายพลตำรวจเลือดนักรบว่า

“ชีวิตผมเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก ผมชอบลุยๆ อยู่ตรงไหนก็ได้ ก็ทำให้ดีที่สุด เคยอยู่ใต้สุดจนเหนือสุด อยู่มาหลายหน่วยแล้ว เพราะฉะนั้นหน่วยนี้ ผมคิดว่า ผมเชื่อมั่น เท่าที่สดับรับฟัง ลูกน้องไม่แอนตี้ผม กลับยอมรับ และให้ความร่วมมือ เพราะเรารู้ว่าหน่วยนี้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราเอาสิ่งที่เขายังขาด มาเสริม มาเติมเต็มให้เขามีเขี้ยวเล็บเพิ่มขึ้นมา”

 

จัดอบรมติวเข้มตำราสืบสวน ให้มีเพลงทวนเป็นกระบวนไว้กำราบโจร

ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้ทำโครงการฝึกอบรมการสืบสวนแก่ลูกน้องเพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญด้านการสืบสวน เชิญวิทยากรล้วนเป็นนักสืบระดับอาจารย์ผ่านประสบการณ์พิชิตคดีสำคัญมาอย่างโชกโชน เช่น พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้บังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 ไปช่วยติวเข้ม

“เพราะจริงๆ เด็กสมัยใหม่สนใจเรื่องเทคโนโลยี แต่ไม่มีใครสอน พวกเขาเลยไม่มีโอกาส ผมต้องการมาเติมตรงนี้ ให้โอกาสพวกเขา จะสังเกตได้ว่า การปฏิบัติงานในรอบเดือนที่ผ่านมาในช่วงที่ผมมารับตำแหน่ง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับคำชมเชยจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในวันประชุมบริหาร ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่พวกเราภูมิใจว่าสิ่งที่พวกเราได้ทุ่มเท เสียสละ ผู้บังคับบัญชาเห็น”

“เราปิดทองหลังพระมาตลอด เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสที่เราจะต้องเปิดบ้าง จะได้ให้รู้ว่า หน่วยเราอยู่กันอย่างไร เสียสละกันอย่างไร ส่วนตัว ผมก็ภูมิใจว่า มาอยู่ได้ 2 เดือน ไปเยี่ยมลูกน้อง ตำรวจตระเวนชายแดนมีความรัก ความสามัคคีกันมาก มีความน่ารักในตัวเอง” ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนสีหน้าจริงจัง

ย้อนเส้นทางชีวิตสีกากี ประสบการณ์ดีมีรางวัลเชิดชูเกียติ

สำหรับประวัติของ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง เป็นนายพลตำรวจหนุ่มที่ไม่ธรรมดา ลูกชายทหารยศน้อยจังหวัดลพบุรี สอบเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 24 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 40 เริ่มต้นเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตรัง  รองสารวัตรแผนกสายตรวจรถยนต์และรถจักรยายนต์ กองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ ขึ้นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรตำบลโพธิ์แก้ว จังหวัดนครปฐม

ย้ายเป็นสารวัตรแผนก 3 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม  ขยับเป็นรองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม แล้วโยกทำหน้าที่นายเวร พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ สมัยเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จากนั้นขึ้นผู้กำกับการฝ่ายปฏิบัติการ 2 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กลับมาเป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองปราบปราม และผู้กำกับการ 5 กองปราบปราม ได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2541 ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี และเป็นข้าราชการที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีเด่นในปีเดียวกัน รับโล่จาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เคยลงไปปฏิบัติหน้าที่ทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรก เมื่อได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ส่วนหน้า) จังหวัดยะลา คลี่คลายคดียิง พ.ต.ท.มานิต รัตนนาวิน รองผู้กับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปัตตานี  ก่อนทำวิสามัญฆาตกรรมนายนาเซสะนิง ผู้ต้องหาที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

 

ฝ่าวิกฤติเปลี่ยนเป็นโอกาส สร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเอง

ต่อมาเผชิญมรสุมเด้งจากตำแหน่งผู้กำกับการ 5 กองปราบปรามไปเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ครั้งนั้น เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ผ่านนิตยสาร COP’S ว่า  “ เมื่อคำสั่งออกมาให้ผมไปทำหน้าที่  เราเป็นตำรวจก็ต้องพร้อมต่อสถานการณ์ ผู้บังคับบัญชาสั่งก็ต้องไป ผมเป็นตำรวจ มีวินัย ไปทำให้ดีที่สุด มองอีกมุมคือผู้บังคับบัญชาให้ความไว้ใจ เห็นเรามีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้”

“หนักใจหรือไม่ ผมเป็นตำรวจหนักใจไม่ได้ ถ้าหนักใจมันก็ท้อ เราเป็นตำรวจ มีหน้าที่ในการพิทักษ์ประชาชน ถ้าตำรวจกลัว ตำรวจหนักใจ ประชาชนที่เขาคาดหวังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้สูงจะเป็นอยู่กันอย่างไร ต้องทำให้ดีที่สุด ตรงนี้เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายกำหนดนโยบาย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทุกกระทรวง ทุกหน่วยต้องช่วยกัน อย่างผม ตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง ผมคิดทันทีเลยว่าต้องไปทำงานอะไรในพื้นที่บ้าง ศึกษาพื้นที่วางแผนการทำงานในอนาคต ไม่ใช่มานั่งจมปลัก จมอยู่กับความคิดว่าถูกย้ายเพราะผิดอะไร ไม่เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง และส่วนรวม”

เขาเข้าไปสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ศึกษาปัญหา ศึกษาพื้นที่ ศึกษาคน พัฒนาอบรมเรื่องการฝึก ให้การดูแลสวัสดิการเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญจะไม่เคยทอดทิ้งลูกน้อง ก่อนเลื่อนเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอน คืนกรุงเป็นผู้บังคับการตำรวจอารักขาและควบคุมฝูงชน เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถึงได้รับความไว้วางใจนั่งตำแหน่งแม่ทัพตำรวจป่า

 

 

RELATED ARTICLES