“ถ้าจะบอกว่า สุรเชษฐ์ หักพาล สร้างภาพ ท่านลองมาเดินตามสุรเชษฐ์ หักพาลดู”

ตั้งเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวมีผู้คนติดตามเรือนแสน

เบื้องหลังเพจ “สุรเชษฐ์ หักพาล” https://www.facebook.com/SurachateHakparn/ ที่สร้างขึ้นมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 กลับได้ความนิยมมากมาย

ไม่ใช่โลกออนไลน์ของหน่วยงานราชการ แต่เป็นโลกของชีวิตนายพลตำรวจหนุ่มคนดังเจ้าของเก้าอี้ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ว่าด้วยเรื่องไลฟ์สไตล์ประจำวันสอดแทรกเนื้อหาสาระและผลงานของเขา

ใช้เวลาปีเดียว มียอดแฟนคลับกดถูกใจไปแล้ว 2.9 แสนราย ยอดผู้คนติดตามถึง 3.1 แสนคน

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นล้วนมีทีมงานตำรวจหนุ่มสาวไฟแรงหัวคิดใหม่ใช้ “โซเชียลมีเดีย” เข้ามาเป็นสื่อเผยแพร่ความเป็นตัวตนแท้จริงของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รวมถึงนำเอา “เนื้องาน” ไปเป็นอีกช่องทางในการติดต่อประสานงานช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากปัญหาอาชญากรรม

อีกหน้างานสำคัญของรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศ “โบแดง”คลายทุกข์ชาวบ้านไว้จำนวนไม่น้อย

 

ตำรวจทำงานหนักและมีความสามารถ แต่ขาดงานประชาสัมพันธ์ที่ดี 

“มัน คือ ไลฟ์สไตล์ของท่าน มันไม่ใช่เพจราชการ ถ้าเราอยากได้เพจราชการ เราก็ต้องไปดูเพจราชการโดยตรงเลย”  รองแคท-พ.ต.ท.พงษ์พิเชษฐ์ นิลจันทร์ รองผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ผู้อยู่เบื้องหลังทีมแอดมินเพจของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเปิดฉากอธิบายที่มาที่ไปของโลกออนไลน์ส่วนตัวนายพลหนุ่ม

เขาเป็นลูกตำรวจชั้นประทวนเข้าใจสังคมผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เป็นอย่างดีเจริญรอยตามผู้บังเกิดเหล้าเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 52 เพราะโดนปลูกฝังมาตลอดว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่ดี มีเกียรติ ได้ช่วยเหลือประชาชน ช่วยเหลือคนอื่นได้ ช่วงแรกมาเป็นตำรวจใหม่ ๆ ดีใจที่มีคนให้เกียรติ พอเวลาผ่านไปสักพัก รู้สึกว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่น่าสงสาร ไม่ใช่น่าสงสารเพราะทำงานหนักอย่างเดียว ที่น่าสงสาร คือ ประชาชนไม่เข้าใจตำรวจจริงๆ

“ตำรวจพยายามสื่ออยากให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ตำรวจทุกหน่วยทำงานหนักเหมือนกันหมด  แต่สิ่งที่ตำรวจขาดไป คือ การประชาสัมพันธ์ที่ดี ถ้าตำรวจมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ประชาชนจะเข้าใจ จะได้รับการยอมรับจากประชาชน ภาพลักษณ์ของตำรวจจะดีขึ้นมาก ทว่าตำรวจนำเสนอไม่เป็น ส่วนตัวผมจะคุยกับลูกน้องกับเพื่อนร่วมงานเสมอว่า องค์กรตำรวจมันใหญ่มาก ถ้านับตัวข้าราชการตำรวจ น่าจะเยอะกว่าอาชีพอื่น เป็นรองแค่ทหาร แต่ถามว่า เพียงพอกับปริมาณงานไหม ผมว่า ไม่พอกับสภาพอาชญากรรม สภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทุกวัน”

 

ชอบบอกในสิ่งที่ชาวบ้านไม่อยากรู้ กลับไม่บอกในสิ่งที่พวกเขาอยากฟัง

พ.ต.ท.พงษ์พิเชษฐ์แสดงความเห็นว่า องค์กรตำรวจมักรับคน 2 ประเภทที่จบรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ ไม่สนใจสาขาอื่นที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น นิเทศศาสตร์ หากทำงานแทบตาย ไม่มีใครไปบอก แต่ไปบอกสิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการรับรู้ อยากพูดในสิ่งที่อยากพูด แต่ไม่เคยพูดในสิ่งที่ประชาชนอยากฟัง ถึงมองว่าจำเป็นที่เราอาจต้องเอาคนจบในสาขาอื่นมาเป็นตำรวจบ้าง แต่ต้องให้ได้แสดงออกในสิ่งที่ตัวเองถนัด ไม่ใช่ไปรับมาเป็นตำรวจแบบที่หน่วยต้องการหมด

“ถึงผมจะจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จริงๆ ผมก็ชอบนิเทศศาสตร์มานานแล้ว เพียงแต่ขาดประสบการณ์ ครั้งหนึ่งสมัยอยู่ภูธรผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ผมชอบทำเรื่องพรีเซนเทชั่น พอผมมีโอกาสทำ ทุกคนก็ตื่นเต้น เพราะตำรวจไม่เคยมีแบบนี้ เป็นรูปแบบใหม่ ดูดี เข้าใจง่าย ผู้บังคับบัญชาเลยใช้งานเรื่อบมาด้วยความที่ชอบอยู่แล้ว อาศัยเวลาว่างจากงานเข้าไปหาความรู้ในหนังสือหรือจากเว็บไซต์ ยูทูบ เพราะรุ่นผมมันเป็นเจเนอเรชั่นที่คอมพิวเตอร์ยังไม่เข้ามาแพร่หลายถึงในครัวเรือน”

รองผู้กำกับหัวสมัยใหม่เล่าว่า สมัยก่อนนั่งเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ คอมพิวเตอร์ยังเป็นจอเขียวอยู่เลย ได้ไปนั่งเขียนโปรแกรม แต่ไม่ได้มีความสามารถอะไรนัก อาศัยความที่เราชอบแล้วอยู่กับมันได้ ก่อนศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมมาเรื่อยๆ ที่ทำเป็นทุกอย่าง ไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่เกิดจากการเรียนรู้ส่วนตัว แบบครูพักลักจำ

จำเป็นต้องฉีกรูปแบบนำเสนอ ไม่ใช่เจอบทพระเอกเล่นคนเดียว

นายตำรวจท่องเที่ยวยอมรับว่า บางครั้งผู้บังคับบัญชาบางคนไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูดเลยไม่ทำอะไรเป็นกิจจะลักษณะ ต้องอาศัยทำเพจขายของให้แฟนเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อพยายามศึกษาหารูปแบบใหม่ฉีกตลาดเดิมเหมือนองค์กรตำรวจที่ติดกรอบของเรื่องระเบียบ ไม่สามารถสื่อสารอะไรได้มาก ยกตัวอย่างเช่น ตำรวจไปจับกุมคดียาเสพติด รูปแบบคดีค่อนข้างน่าสนใจ ถ้าเป็นตำรวจนำเสนอเอง รูปแบบจะไม่หนีการอำนวยการของท่านนี้ โน่นนี่นั่น พร้อมด้วย ชื่อผู้จับกุมยาวไปครึ่งหน้า มีเนื้อหาความสำคัญนิดเดียว

“โอเคในรูปบบรายงานของทางราชการสามารถทำได้ถูกต้อง แต่รูปแบบที่ประชาชนจะอ่านยิ่งเฉพาะสมัยโลกโซเชียลด้วย เขาจะรูดทิ้งผ่านตาหมอ ผมถึงต้องเอาภาพถ่ายมาตั้ง ทำข่าวให้น่าสนใจ มารีไรต์ใหม่ ให้น่าสนใจมากขึ้น ให้มันกระชับ ประชาชนไม่อยากรู้หรอกว่า ใครไปจับ พวกเขาแค่อยากรู้ว่า เบื้องหลัง คือ อะไร จับได้อย่างไรแค่นี้พอ” พ.ต.ท.พงษ์พิเชษฐ์ว่า

“สิ่งที่ตำรวจอยากสื่อ ผมเข้าใจว่า ตำรวจทุกคนเวลาไปจับกุมอยากมีชื่อตัวเอง อยากมีผลงานให้ประชาชนยอมรับ และให้ผู้บังคับบัญชายอมรับว่า เราทำงาน แต่จริงๆ เราแอบใส่นิดๆ แล้วคนจะอ่าน ไม่ใช่ไปใส่แบบว่า คุณจะเป็นพระเอกงานนี้ ไม่ได้ พระเอกอยู่ที่สตอรี่ แต่ละข่าวผมก็จะเอามาจัดส่วนเนื้อหาว่า มันควรจะทำให้แต่ละคอนเทนต์เป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ เราอาจจะใส่สัดส่วน 70 ต่อ 30 หรือ 20 ต่อ 80 ผมว่ามันได้ผลกว่า”

 

ฝีมือเข้าตาเพื่อนร่วมรุ่น ชวนมาช่วยกระตุ้นเพจผู้เป็นนาย

การทำงานอยู่เบื้องหลังในหน่วยภูธรของเขาไม่ค่อยได้รับการยอมรับมากนัก กระทั่งเพื่อนร่วมรุ่นเห็นฝีไม้ลายมือจึงทาบทามเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมแอดมินเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เกี่ยวกับเรื่องนี้ รองผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวบอกว่า เพื่อนมีหน้าที่การงานมากขึ้น อยากให้มาช่วยต่อยอดแทน เพราะเห็นว่าน่าจะทำได้ ทั้งที่ไม่เคยสัมผัส พล.ต.ท.สุรเชษฐ์มาก่อน ตอนแรกให้ลองทำโปรไฟล์ลองเทสต์ความคิดเราเสนอ กระทั่งตกลงร่วมกันทำ

พ.ต.ท.พงษ์พิเชษฐ์รับว่า เพจที่ทำไม่เกี่ยวกับราชการ ไม่ได้หนักใจมาก เพราะหลุดออกมาจากกรอบระเบียบ เป็นสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว อยากบอกประชาชน “ก็มีเสียงสะท้อนเข้ามาเหมือนกัน หาว่าเป็นการสร้างภาพ  แต่ผมไม่กลัว ถ้าใครบอกว่า สุรเชษฐ์ หักพาล สร้างภาพ วันหนึ่งผมรับข่าวจากท่านเป็นสิบข่าว ผมเอาลงได้แค่ไม่กี่ข่าว ลงทุกอย่างไม่ได้ ต้องเลือก วันนี้ท่านก็ไปที่นั่นจับที่นั่น คืนนี้ไปอีกที่ ผมถึงต้องมาเลือกข่าวว่า อันนี้ควรจะลงก่อน อันนี้ควรเอาลงทีหลัง มีเรื่องด่วนเข้ามาต้องเอาเรื่องนี้ก่อน เรื่องนี้ชะลอไว้ แล้วถ้าเอาลงไปคนไม่ดูแล้ว รอพรุ่งนี้เดี๋ยวข่าวใหม่มา มันเยอะมาก เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่า สุรเชษฐ์ หักพาล สร้างภาพ ท่านลองมาเดินตามสุรเชษฐ์ หักพาล ดู”

เจ้าตัวบรรยายการทำงานบนโลกออนไลน์ในสไตล์นายพลตำรวจโทอนาคตไกลว่า แต่ละวันจะมีทีมงานถ่ายภาพและติดตาม ส่วนเราจะเป็นแอดมินหลักเลือกว่า แต่ละชั่วโมงจะเลือกอะไร กระนั้นก็ตาม ท่านผู้บัญฯชาการจะเป็นคนเลือกภาพส่งมา มีนายตำรวจติดตามกำชับอีกครั้งว่า เอาข่าวนี้ลงก่อน หรือบอกแนวทางมาเบื้องต้น ที่เหลือเป็นหน้าที่เราที่จะให้คอนเทนต์ให้น่าสนใจมากขึ้น ข่าวไหนไม่ละเอียดอ่อนจะลงได้ทันที ถ้าละเอียดอ่อนต้องถามท่านอีกที

 

เกาะไลฟ์สไตล์ของสุรเชษฐ์ หักพาล สอดแทรกเนื้องานช่วยเหลือประชาชน

หลายกระทู้ยอดฮิตเป็นประเด็นที่แฟนคลับถูกใจและแชร์เป็นจำนวนมาก อาทิ ความรู้สึกถึง ด.ต.ไสว หักพาล บิดาบังเกิดเกล้าที่นอนป่วยในวันพ่อ หรือจดหมายถึง “พี่แป๊ะ” จาก “น้องโจ๊ก” ระบายความในใจไปยัง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึงคำคม วลีเด็ด วรรคทองที่โดนใจมากมาย แอดมินเพจสุรเชษฐ์ หักพาล ย้ำว่า หลายหัวข้อเราต้องระวัง มีการสอบถามย้อนกลับไปถึงเจ้าตัว หรือภรรยาท่านก่อนจะลงโพสต์  แต่ส่วนหนึ่งท่านเป็นคนแจ้งมาเอง โดยเฉพาะคำคมเด็ด ๆ หลายประโยค ไม่ใช่เรายกหุไปขอเอามาลง แค่ปรับให้น่าสนใจ เนื้อหาทั้งหมดจะเป็นคำของท่านเอง 95 เปอร์เซ็นต์ คือตัวตนแท้จริงของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล

การทำงานตรงนี้ พ.ต.ท.พงษ์พิเชษฐ์บอกว่า เหนื่อยแต่ได้ประสบการณ์ ไม่เหมือนกับเหนื่อยในสิ่งที่เราไม่ได้รักจะทำให้เราล้ม และไม่มีแรง เราเอาเวลานอกราชการมาทำ ไม่ถือเป็นการเบียดเบียนเวลางานราชการ เพราะเป็นงานส่วนตัว เหมือนมีคนติงว่า ทำไมเพจสุรเชษฐ์ หักพาล เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาลง ไม่เกี่ยวกับงานตำรวจ ถึงอยากจะบอกว่า ตรงนี้เป็นเพจส่วนตัวของท่าน คือ ไลฟ์สไตล์ของท่าน ที่มีคนติดตามเพราะมีไลฟ์สไตล์ด้วย  พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ไปกินก๋วยเตี๋ยวตรงนี้อร่อยก็ลงภาพ ไปงานโน่นงานนี่ก็มีภาพ เป็นเหมือนชีวิตส่วนตัว

“ข้อดีของเพจนี้ คือ เราได้เอาเรื่องร้องเรียนมาช่วยเหลือประชาชนด้วย เพราะท่านเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเอาเรื่องต่างๆ เข้ามาในระบบ ประชาชนก็ได้รับความช่วยเหลือ ต่อวันมีเยอะมาก คือ เป็นช่องทางรับข่าวสาร ท่านย้ำเสมอว่า เราต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน บางทีโทรมาตอนดึก โทรมาบอกและแนะนำการทำงาน เวลามีเคสเร่งด่วนเกี่ยวกับคดี”

 

เป็นแค่แอดมินคุมฉากเบื้องหลัง พลังทั้งหมดอยู่ที่เจ้าของเพจตัวจริง

พวกเขาตั้งฐานบัญชาการเพจอยู่ห้องทำงานเล็ก ๆ ของตำรวจท่องเที่ยวสนามบินดอนเมือง สลับกันทำหน้าที่แต่ละวันไม่ต่ำกว่าเที่ยงคืนท่ามกลางกำลังที่มีไม่มาก แต่พยายามบริหารให้ช่วยได้มากที่สุดจนประสบความสำเร็จมีแฟนเพจติดตามนับแสน ทั้งหมดเกิดจากตัวของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ไม่ใช่ฝีมือทีมออนไลน์ที่ทำหน้าที่แอดมินดูแลเพจอยู่เบื้องหลัง

“ที่ได้สัมผัสผู้บัญชาการจากภาพที่ผมเคยได้ยินมา ต่างกันมาก คิดว่า ท่านไปเอาพลังมาจากไหน เพราะว่า ท่านเป็นคนที่ทำงานเยอะ บินทั้งสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ไปอุดรธานี ไปเชียงใหม่ กลับมากรุงเทพฯ ลงไปสงขลา บางวันไปมาเลเซีย วันต่อไปจะไปเวียดนาม ตอนเช้ามีงาน แต่คืนนี้มีแถลงข่าว 5 ทุ่ม ไปจับเด็กแว้น ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อว่า มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ขนาดนี้ แล้วที่สำคัญ ผมได้ไปสัมภาษณ์แอร์โฮสเตสคนหนึ่งเป็นของกองบินตำรวจ น้องเขาพูดเอง ท่านขึ้นเครื่องก็มีเอางานมาทำ รู้สึกถึงพลังของท่านที่ล้นเหลือ ท่านลงจากรถจะไปขึ้นเครื่อง ผมเดินตามท่านไม่ทัน เพราะท่านเป็นนักกีฬาด้วย” พ.ต.ท.พงษ์พิเชษฐ์ระบายมุมมองถึงผู้เป็นนาย

ประสบการณ์ทำงานบนโลกออนไลน์บนเพจสุรเชษฐ์ หักพาล เขายอมรับว่า ไม่อยากจะใช้คำว่าต้นแบบ แต่เราอยากให้มีวิธีการนำเสนอของเพจราชการ โดยเฉพาะของตำรวจสื่อให้สังคมเห็นว่า  คุณทำงานหนักมาก “อย่าไปยัดเยียดให้ชาวบ้านฟังในสิ่งที่คุณอยากจะพูด แต่ไม่ให้ในสิ่งที่เขาอยากจะฟังเลย ผมถามว่า คุณต้องใส่แบบมีสัดส่วน 70 ต่อ 30 ไม่เช่นนั้นไม่มีใครดูคุณหรอก ผมเคยพูดกับผู้บังคับบัญชาว่า ทำไปเถิด ทำแบบนี้มันไม่น่าสนใจ วันหนึ่งคนจะตามแบบที่เขาอยากตามเอง” นายตำรวจหนุ่มทิ้งท้าย

“ชาวบ้านขอหวังพึ่งเพจนี้เป็นหลัก”

มวดบี-ร.ต.ท.หญิง ปวีณา ฟุ้งตระกูล รองสารวัตรกองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว นิติศาสตรบัณฑิตสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัครเข้ามาเป็นตำรวจสังกัดท่องเที่ยวดูแลเรื่องกฎหมาย ตามอุดมการณ์ที่อยากทำงานเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม หลังจากก่อนหน้าเคยเป็นนิติกรของกรมบังคับคดี

“บีอยากใช้วิชากฎหมายที่เรียนมาทำงานด้านนี้โดยตรง” เธอบอกและยอมรับว่า ภาพของตำรวจเวลานั้นสำหรับตัวเองค่อนข้างเป็นแง่ลบ เราจะมีทัศนคติไม่ดีกับตำรวจ หลังจากได้เสพข่าว และหลายๆ อย่างที่รับฟังมาเหมือนมีอคติตั้งแต่ต้น แต่พอเข้ามาทำงานจริงๆ ถึงได้รู้ว่า การทำงานของตำรวจที่เราเห็นภายนอก จริงๆ แล้ว ตำรวจเป็นอาชีพได้รับความกดดันจากการทำงาน มีความเหนื่อยต้องเจอกับทั้งปัญหาด้านข้อกฎหมาย ปัญหาด้านอารมณ์ และปัญหาด้านทัศนคติที่ไม่ดีของประชาชนที่เข้ามาหาตั้งแต่แรก

ผู้หมวดสาวนักกฎหมายมองว่า เริ่มต้นติดดาวบนบ่าก็เริ่มแทบจะติดลบแล้ว แต่เมื่อได้เข้ามาทำงานจะเห็นถึงความยากลำบากและการทำงานที่หนักของตำรวจ ทำให้เราค่อนข้างจะมั่นใจ และพูดได้เลยว่า ตำรวจเป็นหนึ่งในอาชีพที่งานหนักมากกว่าเงินเดือน ส่วนจะแก้ภาพลักษณ์ของตำรวจได้อย่างไร คิดในแง่ส่วนตัว คือเราต้องเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เบียดเบียนประชาชน เริ่มจากตัวเองในการเป็นตำรวจที่ดีก่อนจะเปลี่ยนคนรอบข้าง หรือทำให้ตำรวจจากที่มีลักษณะที่ออกจะแข็งๆ หรืออาจจะดูไม่นุ่มนวล

“เราสามารถนำเสนอความแข็งกระด้างของตำรวจให้อ่อนโยนลงและเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นจากโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะวัยรุ่น หรือแม้แต่คนทำงาน ผู้ใหญ่เองก็เล่นโซเชียลค่อนข้างเยอะ การใช้โซเชียลก็เป็นหนทางหนึ่งในการปรับปรุงภาพลักษณ์ หรือนำเสนอการทำงานของตำรวจได้อีกช่องทางหนึ่ง แม้ก่อนหน้าที่จะทำเพจสุรเชษฐ์ หักพาล ไม่เคยทำเพจที่ไหนมาก่อนเลย เพราะไม่ค่อยมีความรู้ด้านเทคโนโลยี แต่ที่ได้เข้ามาเพราะท่านสุรเชษฐ์มาว่า บีมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย เนื่องจากจบนิติศาสตร์บัณฑิต”

หน้าที่แอดมินของเธอส่วนใหญ่จะรับหน้าที่ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ตอบข้อความที่มีการส่งเข้ามาจากประชาชนมาผ่านเพจสุรเชษฐ์ หักพาล บางครั้งต้องรับปรึกษาให้คำแนะนำเรื่องทั่วๆ ไป  นอกจากในแง่ของกฎหมาย เธอว่า เพจสุรเชษฐ์ หักพาล แต่ละวันมีแฟนเพจติดต่อทางข้อความประมาณ 300-400 ข้อความ บางวันตอบไม่ทัน มีแทบทุกเรื่อง ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องปัญหาครอบครัว เรื่องของการเลิกจ้าง หลายๆ หน้างานอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับตำรวจโดยตรง แต่จะพยายามหาข้อมูลว่า หน่วยงานไหน เป็นผู้รับผิดชอบ แนะนำให้เขาไปร้องเรียนโดยตรง

“บางเรื่องตำรวจเราไม่มีอำนาจดำเนินการจริงๆ เราก็ได้ทำเต็มที่ ไม่ได้ปฏิเสธ และให้คำแนะนำช่องทางในการติดต่อ บางครั้งร้องเรียนคดีที่ศาลตัดสินไปแล้ว ตำรวจไม่อาจก้าวล่วงได้  บางทีแจ้งว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือไม่มีเงินจ้างทนาย เราจะแนะนำว่า ในส่วนนี้มีกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือได้” ร.ต.ท.หญิง ปวีณาอธิบาย

เธอยืนยันว่า ทุกครั้งที่ตอบเพจในฐานะแอดมิน แต่ทุกข้อความต้องผ่าน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เจ้าของเพจตัวจริงเป็นผู้สกรีน บางครั้งทราบว่า กรณีใดเป็นเรื่องใหญ่ ท่านจะดำเนินการเอง บางทีเรากังวลเหมือนกันที่ต้องสวมบทเป็น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ในการตอบคำถามแฟนเพจ ทำในนามของท่าน เพราะฉะนั้นในการตอบแต่ละครั้ง เราต้องคำนึงถึงท่านเป็นหลัก ต้องตอบให้ดี ตอบสิ่งที่ทำเพื่อประชาชนเป็นหลัก ตามที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ย้ำตลอด “บ่อยครั้งเราเจอทางอินบ็อกซ์เข้ามาแล้วค่อนข้างจะมีอารมณ์โมโหอยู่แล้วในขั้นต้น เราจำเป็นต้องใจเย็นจะโมโหไม่ได้ เพราะเขาร้อนมา อาจจะมีการโวยวาย หรืออาจจะมีการใช้คำไม่สุภาพได้ ต้องค่อยๆ ลดโทนลง”

“ทุกคนถาม แอดมินเราใส่ใจ ไม่ใช่ว่า ร้องเข้ามาแล้วไม่ต้องทำ ถ้าทำไม่ได้ ท่านผู้บัญชาการให้นโยบายไว้ว่าต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ได้ ตรงนี้เราถึงภูมิใจกับงานที่ทำ แรก ๆ เขาอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ พอได้คุยได้แนะนำ แก้ปัญหา หรือหาช่องทาง และส่งเรื่องให้ทางทีมงาน มีการดำเนินการ เขาจะมาอินบ็อกซ์บอกเรา ขอบคุณทีมงาน ขอบคุณท่านสุรเชษฐ์  พอเราได้อ่านข้อความพวกนี้ ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น

หมวดบีบอกด้วยว่า จะใช้เวลาในการทำงานกับเพจตรงนี้นอกเหนือจากเวลาราชการ บางครั้งตอบช้าเพราะอาจต้องใช้เวลา ทั้งที่เข้าใจผู้ร้องเรียนว่า ต้องการให้เราตอบกลับภายใน 1-2 ชั่วโมง แต่ก็มีข้อจำกัดว่า เราไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลานั้น อาจด้วยอำนาจหน้าที่ของเรา เรามีหน้าที่รับผิดชอบในหลายด้าน จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการด้วย

“อย่างไรก็ตาม บีเชื่อว่า สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นเพจตำรวจต้นๆ ที่มีคนติดตาม อาจเพราะเป็นตำรวจที่ชาวบ้านให้ความสนใจมากที่สุดคนหนึ่ง เหมือนเวลาที่ประชาชนอินบ็อกซ์เข้ามาบอกเลยว่า ชาวบ้านขอหวังพึ่งเพจนี้เป็นหลัก เพราะว่า เขาไม่มีที่พึ่งที่อื่น มันคือ ตัวตนของท่านสุรเชษฐ์ที่บีเองได้สัมผัส ดูภายนอกอาจจะดูเคร่งขรึม เมื่อได้สัมผัสใกล้ๆ จะรู้ว่า เป็นคนอ่อนโยน และให้ความสำคัญกับประชาชนที่ร้องเรียนเรื่องต่างๆ จริง” ร.ต.ท.หญิง ปวีณาว่า

“อยากเป็นตัวเชื่อมที่จะสื่ออะไรดีๆ ออกไป”

จ่ากล้วย-จ.ส.ต.หญิง กันยารัตน์ บุราณเดช ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ดีกรีนิตศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง เลือกเข้ามาเป็นตำรวจเพราะอยากช่วยเหลือคน เพราะจบกฎหมายมาน่าจะมาทำหน้าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แม้ตำรวจต้องเข้ม และเคร่งครัดระเบียบวินัย อาจดูเครียด ทำงานหนักไม่เหมาะสำหรับเธอ

จ่าสิบตำรวจสาวกลับรู้สึกว่า ตำรวจมีหลายงาน หลายหน้าที่ที่เราทำได้ ตอนแรกเริ่มต้นฝ่ายอำนวยการทำงานเกี่ยวกับเอกสาร ไม่ได้ยากเย็นอย่างที่เราคิด ต่างกับตอนที่ยังไม่ได้เข้าด้วยซ้ำ สะสมประสบการณ์ทำให้เราโตขึ้น  มีความรับผิดชอบมาขึ้น รับหน้าที่สายตรวจเดินเท้าดูแลความเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติภายในสนามบินนานาชาติดอนเมือง

กระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสที่ดีได้ทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังเพจสุรเชษฐ์ หักพาล เจ้าตัวว่า อาจเพราะท่านเห็นความสามารถของเรา ถึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้ได้ทำหน้าที่พิธีกรบ้าง หรืออ่านออกเสียงตามสคริปต์อยู่บ้างตามพื้นฐานที่เรามีอยู่ เกี่ยวกับการพูด การอ่าน “หน้าที่หลักๆ ของเพจส่วนใหญ่เป็นตามที่ได้รับมอบหมายว่า วันนี้เราจะทำเรื่องอะไร เราจะเป็นตัวชูเกี่ยวกับเพจว่า มีภารกิจอะไร ออกไปทำประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ ในการให้ความรู้ ความเข้าใจ เป็นตัวเชื่อมว่า หน้าที่ของตำรวจมีอะไรบ้าง แล้วก็ดูแล ตอบปัญหาอินบ็อกซ์เข้ามาทางเพจ ตอบในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่เราดูแลได้”

เสียงสะท้อนที่กลับมาที่เพจ จ.ส.ต.หญิง กันยารัตน์ยืนยันว่า ดีมาก เพราะปัจจุบันโซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ใช้สื่อสาร บางคนมืดแปดด้าน มีปัญหาจริงๆ จึงถามมา เพราะไม่รู้จะพึ่งใคร ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่พวกเขาจะเข้ามาสอบถาม เราจะช่วยตามที่เราช่วยได้ “แม้เป็นเพจส่วนตัวของท่านสุรเชษฐ์ หักพาล แต่ชาวบ้านให้ความหวัง ส่วนหนึ่ง คือ อาจเราะเป็นช่องทางร้องเรียนและได้รับการช่วยเหลือได้จริง” เขาคิดว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่จะร้องเรียน และจะได้รับความช่วยเหลือ”

“เหมือนชาวบ้านมีความเชื่อมั่นท่านระดับหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ต้องการความช่วยเหลือแล้วแก้ปัญหาได้ เข้าถึงได้เร็ว สื่อสารกลับได้ ไม่ใช่สื่อสารทางเดียว เพจถึงมีคนนิยมเข้ามาติดตามถามปัญหาหาคำปรึกษาในทุกเรื่องว่า ต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง ถ้าอะไรที่เกี่ยวกับตำรวจโดยตรงแล้วเกิดประโยชน์ เราจะตอบทันที”

เธอยังเล่าว่า  รู้จักกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์มาตั้งแต่เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว เห็นการทำงานมาตลอด เมื่อได้รับการทาบทามมาช่วยงานเพจก็ยินดี เพราะท่านมองว่า เราเป็นคนทำงาน เห็นในความสามารถของเรา ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความสุขให้กับประชาชน เป็นสื่อที่ออกไป “อยากฝากเพจนี้ เพราะทุกวันนี้โลกโซเชียล เป็นอะไรที่เข้าถึงง่าย แต่ในฐานะที่เป็นคนได้เข้ามาทำงานตรงนี้ อยากเป็นตัวเชื่อมที่จะสื่ออะไรดีๆ ออกไป  แต่ใครที่เข้ามาแล้วคุยเรื่องการเมือง บอกเลยว่า เราไม่อยากเป็นเครื่องมือของใคร ไม่ต้องการคุยเรื่องอื่น หรือเรื่องในแง่ลบ อยากให้มีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามา ถ้าเรื่องไม่ดีก็ขอให้เป็นเรื่องเดือดร้อนที่ชาวบ้านร้องเรียนผ่านมาคุยกับเราให้เราช่วยดีกว่า”

เจ้าตัวย้ำว่า ขอสงวนสิทธิในของแอดมิน เราจะทำหน้าที่ตามหน้าที่ของเราเท่านั้น อะไรที่เป็นอำนาจศาล หรืออยู่นอกเหนืออำนาจ หรือจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เราไม่สามารถก้าวล่วงได้อยู่แล้ว บ่อยครั้งถึงต้องบอกไปตามตรง ต้องตอบไปแบบนั้นในหน้าเพจอย่างเป็นทางการ

  “อยากฝากให้ช่วยติดตามด้วย”

มู่เมย์-ส.ต.ท.หญิง เบญจมาศ  มากบุญงาม ผู้บังคับหมู่ ฝ่ายอำนวยการสำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ เป็นตำรวจรุ่นใหม่มากความสามารถ จบคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยรังสิต ก้ามมาเป็นตำรวจครั้งแรกไม่รู้สึกอะไร พอได้เรียนรู้สัมผัสอาชีพตำรวจแท้จริงทำให้มีประสบการณ์และได้คอนเน็กชั่นที่กว้างขวาง

หมู่เมย์มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมออนไลน์ตามสไตล์ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามคำชักชวนของเพื่อนที่ทำอยู่ก่อนหน้าด้วย เพราะปกติเป็นคนชอบเล่นโซเชียลอยู่แล้ว เพื่อนจึงเห็นฝีมือและแนวคิดตามประสาคนรุ่นใหม่ เธอจึงมีหน้าที่หลักในการดูแลเพจ นอกจากเฟซบุ๊กแล้ว ยังมีอินตราแกรม ทวิตเตอร์ หาคอนเทนต์ที่น่าสนใจมานำเสนอ

สำคัญสุด คือ เธอยังมีหน้าที่สื่อสารกับชาวต่างชาติที่มีการใช้ภาษาอังกฤษเข้ามาสอบถาม หรือขอความช่วยเหลือทางทวิตเตอร์ “นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับความเดือดร้อนมีเยอะอยู่เหมือน หลายคนไม่รู้จะพึ่งพาใครก็มาแท็กทวิตเตอร์สอบถามข้อมูลและขอคำปรึกษา นอกเหนือจากชาวบ้านทั่วไปที่มีคนเข้ามาร้องเรียนเยอะมาก วันหนึ่งถึง 500 กว่าเรื่อง”

 ส.ต.ท.หญิง เบญจมาศบอกว่า ในฐานะที่เป็นตำรวจอยากให้สังคมเข้าใจตำรวจว่า เราตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ สุดกำลังความสามารถ เข้าใจว่ามีหลายเรื่องที่คนร้องเรียนเดือดมาจากพฤติกรรมตำรวจบางคน แต่อยากให้รอเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน เราถึงจะดำเนินการต่อไปได้ แม้บางคนไม่ได้ตอบได้ทุกคน แต่จะพยายามไล่ตอบถึงความคืบหน้าในเรื่องที่ร้องเรียน

นอกจากสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของเพจแล้ว เธอได้มีโอกาสจัดรายการสอนภาษาอังกฤษเป็นศัพท์ง่าย ๆ ที่ใช้กันในสนามบิน รวมถึงติวกวดวิชาผู้ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มองค์ความรู้อีกช่องทางหนึ่ง “ทั้งหมดนายเป็นคนคิด แต่เมย์เป็นคนทำ แรกๆ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ได้ผลตอบรับดี ได้สื่อสารกับแฟนเพจในฐานะที่ดูแลตรงนี้ อยากฝากให้ช่วยติดตามด้วย จริง ๆ อยากให้ความรู้เกี่ยวกับด้านภาษาหลาย ๆ ภาษา แต่กำลังของเราไม่เพียงพอ แอดมินทั้งหมดเป็นตำรวจมีหน้าที่การงานประจำอยู่แล้ว แค่ตอบคำถามในอินบ็อกซ์แต่ละวันแทบจะไม่ทัน”

เจ้าตัวบอกว่า พวกเรากว่าจะนอนกันต้องมีเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสอง ถ้าเกิดมีปัญหาหรือเคสที่หนัก ต้องมาแสตนด์บายรอ เพราะถ้านายยังไม่นอน เราก็นอนไม่หลับ แอดมินทำงานทุกวัน เพจต้องเคลื่อนไหวตลอด เพราะมีคนร้องเรียนเข้ามาเสมอ เนื่องจากเห็นเป็นช่องทางที่อยากเข้ามาคุยมาปรึกษาด้วยความที่ไว้ใจ พวกเราจึงจำเป็นต้องสลับกันดู และจะพัฒนาเพจให้ดีขึ้นกว่านี้เพื่อเป็นสื่อกลางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตามนโยบายของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES