“ถ้าผมไม่ได้เรียนกฎหมาย ก็แน่นอน เสร็จเลย”

ดีตผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาสกลุ่มวาดะห์ที่เคยตกเป็นผู้ต้องหาก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นัจมุดดีน อูมา วันนี้ใช้เวลาว่างเว้นจากการเมือง หันมาปลูกสวนมะนาวบนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ในอำเภอระแงะ หลังผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน เขาเกิดอำเภอสุไหงปาดี นราธิวาส ลูกชายโต๊ะอิหม่าม เดิมทีผู้พ่ออยากส่งให้ไปเรียนต่อดินแดนอาหรับในประเทศอียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย เพราะต้องการให้ผูกโยงกับศาสนาอิสลาม

ทันทีที่จบมัธยมปลายโรงเรียนสามัญในจังหวัดยะลา เหลือวิชาศาสนาอีก 1 ที่โรงเรียนปอเนาะ พ่อเลยรอให้จบก่อนถึงส่งไปตะวันออกกลาง เขาจึงอาศัยเวลาช่วงเช้าไปลงเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง เจออาจารย์เสนีย์ มะดากะกุล ที่ถูกกล่าวหาอยู่เบื้องหลังชุมนุมประท้วงใหญ่ปัตตานีเลยลาออกมาลงเล่นการเมือง ได้รับคำแนะนำว่า ถ้าจะเป็นนักการเมืองต้องเรียนรัฐศาสตร์

“ใจตอนนั้นยังไม่อยากเป็นนักการเมือง แต่พ่อเคยบอกว่า ไม่มีสมบัติอะไรมาก อยากจะให้ความรู้ และให้ช่วยเหลือชาวบ้าน ครั้งนั้นอาจารย์เสรีแนะอีกว่า ถ้าอยากช่วยชาวบ้านก็ต้องเรียนนิติศาสตร์ ผมเลยไปเดินหาคณะนิติศาสตร์ ไปสมัครเอง ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรสักอย่าง ไม่รู้เรื่อง”อดีตนักการเมืองคนดังเท้าความหลัง

เขากลับมาบ้านเปิดเทปฟังบรรยายตอนกลางคืน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ไปที่ มอ.ปัตตานี ด้วยความที่อยากมีความรู้ด้านกฎหมาย ลงครั้งแรก 6 เล่ม ไม่ได้เข้าห้องเรียนเลยก็ได้หมด กระทั่งเทอมสอง จบปอเนาะพอดี มองว่า ถ้าเรียนอีก 3 ปี จบมหาวิทยาลัยรามคำแหงแน่นอน กลายเป็นจุดพลิกผันไม่ได้ไปอาหรับไปเรียนมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง

ปี 2523 นัจมุดดินเข้ากรุงตั้งกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรั้วพ่อขุน เจ้าตัวให้เหตุผลว่า เป็นสิ่งท้าทาย นอกจากใจรักอยากเรียนแล้ว อยากมีพรรคพวก ฝังใจคำสอนของพ่อว่า แม้เราเป็นคนจนก็ต้องช่วยชาวบ้าน อยู่ได้ 2 ปีเกิดระเบิดในอินดอร์สเตเดียมหัวหมาก ตำรวจจับชาวบ้านและนักศึกษา 17 คน ก็โดนตรวจค้นไปด้วย นักศึกษาหลายคนหนีออกมาเลเซีย ถูกกล่าวหาอยู่เบื้องหลังระเบิดฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี

“ตอนนั้นผมเป็นประธานกลุ่ม โดนเขาใส่ร้ายหมายหัวไว้ก่อนเลย แต่ด้วยความที่ผมคิดว่า เส้นทางที่ผมเดินไม่ผิดก็เลยทำต่อไป เข้าอยู่ชมรมมุสลิม อยู่ทีมบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นอิสลามคนแรกที่ได้เข้าร่วมทำกิจกรรม กระทั่งนั่งตำแหน่งรองนายกองค์การนักศึกษา จนเรียบจบเมื่อปี 2527 อยู่รามคำแหงไม่ได้สบายนะ ชีวิตผมอยู่บนเส้นด้ายตลอดเวลา”

แม้จะเรียนจบ นัจมุดดีนยังคงดูแลรุ่นน้องในมหาวิทยาลัย ร่วมก่อตั้งพรรคสานแสงทอง เป็นจังหวะแกนนำบีอาร์เอ็นถูกจับ 2 คนเข้ามาขอความช่วยเหลือ เขาเลยพาไปหาทองใบ ทองเปาด์ ช่วยปรึกษาด้านคดี ก่อนไปฝึกงานทนายกับสมชาย นีละไพจิตร นาน 2 ปี อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสเล่าว่า ตอนนั้นคิดจะเป็นทนายความ เพราะไปสอบบรรจุข้าราชการ ผ่านข้อเขียน แต่ตกสัมภาษณ์ตลอด ทำให้คิดว่าไม่เป็นข้าราชการแล้ว เนื่องจากมีการกีดกัน มีความเหลื่อมล้ำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีส่วนได้ไปช่วยงานเด่น โต๊ะมีนา และวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ชวนไปเป็นทนายความอยู่ยะลา

หลังจากนั้นสนามการเมืองเปิดทาง นัจมุดดินได้รับการชักจูงจากอาจารย์เสนีย์ มะดากะกุล ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส “ผมประหลาดใจมาก จะลงเล่นการเมืองได้อย่างไร เงินก็ไม่มี ใครก็ไม่รู้จัก แต่คิดว่า ไม่เป็นไร ลองดู คิดว่า ไม่ได้อยู่แล้ว พอคะแนนออกมา อำเภอระแงะผมได้คะแนนน้อยมาก สมัยนั้นระแงะมีประชากรมากสุดเป็นอันดับ 2 ของนราธิวาส ทำให้ผมคิดว่า ผมต้องมาอยู่ที่นี่ ไม่อย่างนั้นสู้เขาไม่ได้”

ไม่นาน หนุ่มจากสุไหงปาดีได้มาเป็นเขยอำเภอระแงะ กลับมาสู้ในสังเวียนเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ทว่าเป็นเวทีเล็กระดับสมาชิกสภาจังหวัดผ่านการโหวตสำเร็จ อยู่ได้ 2 ปี อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ชวนลงสมัครผู้แทนในนามพรรคความหวังใหม่ ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกเมื่อปี 2535 ปูเส้นทางสู่บทบาทนักการเมืองเต็มตัว

นัจมุดดีนบอกว่า ลงสมัครผู้แทน 8 ครั้ง ได้มา 4 ครั้ง ตก 4 ครั้ง เป็นโมฆะอีกครั้ง แต่ไม่เจ็บปวดใจเท่าถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาล เมื่อคราวเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้หนักขึ้นในปี 2547 ทั้งที่ตัวเองสังกัดพรรครัฐบาลอยู่ด้วยซ้ำ “มันอาจเป็นด้วยความที่ผมตรงไปตรงมา ไม่ยอมก้มหัวให้ความไม่ชอบ เขาก็เลยเพ่งเล็ง จนผมตกเป็นผู้ต้องหาพัวพันเหตุการณ์ปล้นปืน ผมไปเชียงใหม่ ลูกชายจะไปสมัครเรียนที่นั่น ทหารตำรวจมาล้อมบ้าน มีเด็กในบ้านแค่ 2 คน”

“ผมโดนออกหมายจับ แต่ผมก็สู้คดี  ถ้าผมไม่ได้เรียนกฎหมาย ก็แน่นอน เสร็จเลย เพราะช่วงนั้นมีตัวแทนองค์กรที่ประชุมโลกมุสลิมมาขอพบมาคุยกันที่มาเลเซียบอกว่า ตามข่าวดูแล้ว น่ากลัวมาก ควรจะถอยไปก่อน ผมก็คิดมากเหมือนกัน คิดอยู่ว่า ถ้าอยู่ ไม่ตาย ก็ติดคุก ทีนี้บังเอิญว่า ตอนนั้นตำรวจแถลงข่าวว่า เครือข่ายกลุ่มก่อความไม่สงบที่เป็นแนวร่วมสนับสนุนการปล้นปืนมี 200 คน จะเสนอศาลขออนุมัติหมายจับทั้งหมด ผมมา คิดต่อว่า ถ้าผมคิดหนี คนอื่นก็คงจะโดนหมด ผมปฏิเสธ ยืนยันว่า สิ่งที่ตำรวจพูดเป็นข้อมูลไม่จริง พิสูจน์ได้ สุดท้ายผมก็ประกาศว่า ผมขอสู้คดีต่อไป ใช้เวลา 2 ปี ศาลพิพากษายกฟ้อง” อดีตผู้ต้องหาอยู่เบื้องหลังคดีปล้นปืนลำดับเรื่องราว

วันที่จะเข้ามอบตัวที่กองปราบปราม นัจมุดดีนระบายความชอกช้ำว่า ก่อนนัดวันเดียวตำรวจเป็นร้อยมาดักจับใส่กุญแจมือ ขนาดเราเป็นผู้แทนราษฎร เขาไม่สน พอข่าวแพร่ไปทั่วประเทศ มีคนหนีไปเยอะ เพราะเขาไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม เรากำลังจะไปมอบตัวเป็นนักการเมืองยังทำขนาดนี้ คนอื่นแค่ชาวบ้านจะเหลือหรือ หนีไปจนป่านหนีบางคนยังไม่กลับเลย

คดีจบทว่าทุกอย่างยังไม่จบ อดีตผู้แทนกลุ่มวาดะห์ว่า อธิษฐานไว้ ถ้าคดีจบ พิพากษาเสร็จจะไปประกอบพิธีฮัจญ์ แสวงบุญที่ซาอุดีอาระเบีย เชื่อหรือไม่ว่า วันจะไปกลับโดนล็อกที่สนามบิน มีคำสั่งห้ามเดินทางไปต่างประเทศ ต้องย้อยมาเคลียร์เรื่องที่ศาลอาญา หลังจากคดีพิสูจน์แล้วไม่มีอะไรค้างคา ก็ยังมีเรื่องตามมาไม่หยุด บ้านอำเภอระแงะถูกเอ็ม 70 ยิงใส่ 2 ครั้ง ตำรวจจับใครไม่ได้ “ผมอยากถามว่า ความเป็นธรรมมันอยู่ที่ไหน นี่คือประเทศไทย ผมต้องรับสภาพว่า ความเป็นธรรมมันไม่มีหรอก เป็นแค่เขียนไว้ในกระดาษเฉยๆ”

บ้านโดนถล่ม 2 รอบ เจ้าตัวถึงกับหัวเสีย เพราะโดนกล่าวหาว่า สร้างสถานการณ์เอง  “วันเกิดเหตุผมอยู่กรุงเทพฯ ลูกนอนในห้อง 2 คนกับเมียผม ระเบิดตกที่เท้าพอดี โชคเข้าข้าง เพราะมันติดหลังคากระเบื้อง  อีกลูกถูกต้นไม้กระเด็นออกไป ถ้าไม่โดนคงลงกลางตัวคน แล้วผมจะสร้างสถานการณ์จัดฉากได้อย่างไร อีกรอบโดนตอนกลับจากประชุมที่อินโดนิเซีย คราวนี้เฉียดหลังบ้าน คือ ผมโดนป่วนตลอด คนทำคิดอะไร ผมก็เดาใจไม่ถูก ถ้าถามว่า ฝีมือใคร สันนิษฐานไม่ยาก สังเกตว่า ตรงบ้านผมมีด่านทหารอยู่ลอบเส้นทาง คนร้ายจะมาจากไหน คาดเดากันเอาเอง”

อดีตนักการเมืองผู้ช่ำชองในพื้นที่มีความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่กินเวลานาน 12 ปีแล้วว่า จะสงบหรือไม่ เรามองตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่คิด  เขาก็บอกว่าจะพูดคุย จะเจรจา จะสร้างสันติสุข ก็ถูกต้อง ไม่ผิด แต่จะสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร ตราบใดที่ยังไม่เชื่อซึ่งกันและกัน ถึงยืดเยื้ออยู่อย่างนี้ มีข้อเสนอที่ดีหลายฝ่าย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ทำ ฝ่ายความมั่นคงก็พยายามมองว่า นักการเมืองอยู่เบื้องหลังอาจเป็นบุคคลที่เป็นตัวปัญหา

นัจมุดดีนยืนยันข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางคนคิดแบบนั้นจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ถูกมองแง่ที่ไม่ค่อยดีนัก เขาคงลืมไปว่า นักการเมืองในทุกระดับ จู่ๆ จะมาเป็น ไม่ได้ ต้องมีมวลชน ต้องมีข้อผูกพันกับชาวบ้าน ทีนี้คำว่า ชาวบ้าน ก็มีทั้งคนดี และคนไม่ดี สมมติมีชาวบ้านถูกจับคดียาเสพติดมา เราจะไล่เขาออกจากบ้าน ก็ทำไม่ได้ เพราะเขามากับญาติเขา ญาติเขาเป็นคนดี รู้ว่ากระทำผิด เราก็ต้องช่วยรับฟัง กลายเป็นเราถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังขบวนการยาเสพติดก็เป็นแบบนี้ไปซะ

หลายปัญหาในพื้นที่ นัจมุดดีนย้ำว่า พยายามช่วยแก้ความไม่เข้าใจ  ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ยกตัวอย่างการตั้งด่านเยอะๆ ชาวบ้านจะมองว่า ทหารอยู่บนถนนเยอะเป็นเป้า ถ้าอยู่ในค่ายก็ไม่มีปัญหา ควรอยู่ในค่ายแล้วมาเน้นงานมวลชน ซึ่งงานมวลชนไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบถือปืน อย่างนี้ของจริง แต่ถ้าอยู่ที่ด่าน ตรวจบัตร ตรวจอาวุธ ไม่มีใจให้กัน นั่น คือ ปัญหา แต่เจ้าหน้าที่มองเราอีกแบบ มองว่าเรา สนับสนุนผู้เห็นต่าง ทั้งที่เราคิดว่า สิ่งที่เราทำ เป็นการขจัดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การก่อเหตุความรุนแรง เช่น เด็กนักเรียนหญิงประถมใส่ฮิญาบ ถ้าไม่ให้เขา พ่อแม่ก็จะมีอคติกับครู กับโรงเรียน สอนเด็กให้เต้นรำในโรงเรียน พวกเขาก็รับไม่ได้ เพราะขัดหลักศาสนา ส่วนใหญ่ครูนอกพื้นที่ไม่รู้

เจ้าตัวบอกด้วยว่า สิ่งที่สนุกสนานในชีวิต คือ ถ้าเราไม่ดีจริง ก็อยู่ไม่ได้ในสังคมนี้ แต่จะกลับมาเล่นการเมืองอีกหรือไม่ ต้องขอดูกติกา ถ้าไม่น่าเล่น ก็ไม่เอา เหนื่อยฟรี เพราะถ้าลงแล้วช่วยชาวบ้านไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ เปลืองตัวด้วย อยู่เฉย ๆ ดีกว่า ถ้าเลือกลงเล่นแล้ว ต้องสามารถแก้ปัญหาได้ เหมือนสมัยก่อนที่ประกาศไว้กับชาวบ้านว่า ถ้ากลุ่มเรา 4-5 คน มีคนเป็นรัฐมนตรี เราก็จะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ เราก็ทำจริง ตั้งแต่ สร้างมหาวิทยาลัย สร้างสนามบิน ตั้งธนาคารอิสลาม

“จริง ๆ ถ้าไม่มีพวกผมในวันนั้น เหตุการณ์มันไปไกลแล้ว” นัจมุดดีนให้แง่คิด

RELATED ARTICLES