“การทำงานที่ไม่ได้รับผลตอบรับเป็นเงิน มันเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง”

รับหน้าที่แบ่งเบาภาระหลักของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ท่ามกลางเชื้อหวัดมรณะอุบัติใหม่ที่กระจายไปทั่วโลกตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา

หมอบุ๋ม-พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล สาวสวยดีกรีนางสาวไทยกลายเป็นขวัญใจหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ในโลกโซเชียลภายในพริบตา ทันทีที่มาโผล่จอในฐานะผู้ช่วยโฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวประจำวัน

เธอเป็นชาวกรุงเทพมหานคร ใฝ่ฝันอยากเป็นหมอกับครู ด้วยความที่วัยเด็กเรียนเก่งถึงมีความมุ่งมั่นเดินตามความฝัน หลังจบมัธยมต้นโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ชอบวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และมีโอกาสไปฝึกงานอยู่โรงพยาบาลศิริราช ปูทางก่อนสอบเข้าเป็นนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อจบแพทย์ได้ไปใช้ทุนอยู่โรงพยาบาลลำปาง หลังจากนั้นย้ายมาอยู่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ศึกษาต่อด้านแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับด้านผิวหนัง เนื่องจากสนใจเรื่องความงามมาตลอด ก่อนหันไปเปิดคลินิกเวชกรรมทำธุรกิจของตัวเองชื่อ Panprapa Clinic แบบอย่างที่ตัวเองวาดหวังไว้ ระหว่างนั้นอยากหาอะไรทำเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดธุรกิจ พอดีเกิดวิกฤติสถานการณ์หวัดโควิดระบาดจึงมีแนวคิดอยากช่วยทำอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์เพื่อประเทศชาติ

ปรากฏว่า มีรุ่นพี่ที่รู้จักแนะนำให้มาช่วยทำงานลักษณะจิตอาสาของกระทรวงสาธารณสุข พาเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นควรให้เข้าไปในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีเพื่อศึกษาดูงานตามความสามารถของตัวเธอเอง

หมอบุ๋มเล่าว่า เราไม่ได้อยู่ในระบบของกระทรวง ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ เพราะเป็นเอกชน ท่านรัฐมนตรีถึงแนะนำให้มาเป็นที่ปรึกษาจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเนื้องานในกระทรวงสาธารณสุขได้บ้าง สามารถทำงานได้ทันที เปิดทางให้ศึกษาและทำงานในกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด จนวันหนึ่งเข้าไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบเสื้อกาวน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ พบท่านนายกรัฐมนตรีทักว่า เราเป็นใคร ท่านรัฐมนตรีอนุทินแนะนำว่า เป็นที่ปรึกษา เป็นอดีตนางสาวไทย ท่านนายกรัฐมนตรีเลยให้ช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์อีกทาง

“ตอนแรกที่เจอรัฐมนตรีอนุทิน ท่านไม่รู้หรอกนะว่า เราเคยเป็นนางสาวไทยจนพี่ที่รู้จักแนะนำ เช่นเดียวกับท่านนายกรัฐมนตรีก็ไม่รู้เหมือนกัน” เจ้าตัวหัวเราะกับภาพเก่าที่ไม่มีใครจดจำ “พอรู้ก็อยากให้มาเป็นผู้ช่วยโฆษก ศปค.  ท่านนายกฯสั่งเองทันที เพื่อมาช่วยลดความเหนื่อยของอาจารย์หมอทวีศิลป์ เพราะอาจารย์ไม่ได้พักมา 2-3 เดือนแล้ว ทำงานทุกวัน ไม่ใช่แค่ตอนแถลงข่าว จะมีประชุมอีกเยอะมาก”

ภารกิจที่เธอได้รับมอบหมายให้มาช่วยลดจำนวนวันในการแถลงข่าวของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ด้วยการทำหน้าที่ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เพื่อให้หมอหนุ่มขวัญใจสาวน้อยสาวใหญ่ได้พัก “อีกอย่างหนึ่ง คือ ลดความเครียด เพราะว่าแนวทางการพูดจะไม่เหมือนกันกับหมอทวีศิลป์ ผู้ใหญ่มองว่า ถ้าเป็นเราจะทำให้บรรยากาศมันเครียดน้อยลง แต่ตัวเราเองแหละ เครียด ตื่นเต้นด้วย มันเป็นอะไรที่ไม่มีสคริปต์ ต้องพูด และตอบคำถามตลอด เป็นการนำเสนอที่เป็นการอธิบาย คำศัพท์แต่ละคำ ถ้าให้อ่านตาม มันง่าย แต่ให้พูดและอธิบายมันยาก”

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ยอมรับว่า มีการซ้อมแค่ก่อนหน้าวันเดียว รู้ว่าต้องมาอ่านแทนหมอทวีศิลป์ในวันเสาร์ตอนวันศุกร์ รู้สึกช็อกมาก อ่านวันแรกตื่นเต้น ก่อนหน้าไม่เคยรู้กระแสของ ศบค. รู้แค่อาจาย์ทวีศิลป์มีคนชอบและติดตามมาก เราต้องตามข่าว อ่านข้อมูล พอมาให้แถลงดูเหมือนว่า มีหน้าที่มาพูด พูดให้ดีแค่นั้นพอ ปรากฏมีคนสนใจเยอะ ตอนแรกไม่ได้ดูว่ามีฟีดแบ็ก หรือกระแสติดตามอย่างไร แต่พอบ่ายสาม ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม มีคนแท็กรูปมาให้เต็มหมด

เจ้าตัวว่า เป็นกระแสที่ดี แต่อาจมีทั้งที่ชอบและไม่ชอบ เราไม่เคยฝึกพูดมาก่อน พอพูดเร็วก็มีคนแสดงความคิดเห็นกลับมาเรื่องพูดเร็ว จำเป็นต้องปรับโทนให้ช้าลง อาจเป็นเพราะครั้งแรกตื่นเต้น มีข้อมูลที่อยู่ในหัว เวลาพูดจะพูดออกมาเร็ว พอรู้ว่า เวลาแถลงข่าวจะมีคนที่รุ่นคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายฟังอยู่ ถึงต้องหัดพูดให้ช้าลง ไม่งั้นพวกเขาฟังไม่ทัน เพราะเราพูดแบบไม่หายใจเลย ปัจจุบันปรับตัวได้แล้ว ค่อนข้างโอเค ความรู้สึกตอนนี้ ถามว่า ต่างจากตอนแรกเยอะไหม คิดว่าเหมือนซึมซับข้อมูลไว้แล้ว ถ้าจะให้พูดก็พูดได้เลย ไม่ต้องท่องแล้ว  เหมือนมาจากความเข้าใจในเนื้อหาทั้งหมดจริง ๆ ว่า สถานการณ์ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้มันเป็นอย่างไร แต่ถ้าถามว่า จะจบเมื่อใด สถานการณ์โควิดในเวลานี้คงยังไม่จบ

แพทย์หญิงดีกรีนางสาวไทยมองว่า เป็นเรื่องโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ใหม่ที่เราต้องเรียนรู้จากประเทศอื่น ยกตัวอย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ซิลประเทศได้ดีมาก วางมาตรการป้องกันโควิดเข้ม ยังกลับมาติดซ้ำได้ เหมือนสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีพูดมาตลอด เรามองเห็นตรงกัน คือ ตัวเลขศูนย์ไม่ใช่เป้าหมาย การที่เรามีตัวเลขศูนย์ อาจทำให้รู้สึกสบายใจก็จริง แต่เป้าหมาย คือ ถ้าตรวจเจอแล้วรักษาหาย สามารถคุมให้ไม่แพร่กระจายในวงกว้าง คือ เป้าหมายที่แท้จริงต่างหาก

เธอแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น หมายถึงไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เชื่อว่า จากความพร้อมของทุกโรงพยาบาลเรื่องยารักษา เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ สามารถรับคนไข้ได้ในปริมาณมากได้ เพียงแค่ขาดวัคซีนป้องกันอย่างเดียว ซึ่งวัคซีนของไทยก็พัฒนาไปเยอะแล้ว แต่ต้องใช้ระยะเวลา

ส่วนอนาคตของตัวเอง ถ้าสถานการณ์เชื้อไวรัสหวัดมรณะคลี่คลาย หมอบุ๋มบอกว่า คงกลับไปทำงานคลินิกเหมือนเดิม ความสุขของเรา คือ การได้ตรวจคนไข้ เราเปิดคลินิกเพื่อรักษาคนไข้ เพราะเราอยากจะตรวจคนไข้ทุกวัน ยังเป็นความสุขของเรา ถึงกระนั้นในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรี เราได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างในภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขไปประกอบความรู้เพิ่มเติม หากได้อยู่ไปเรื่อย ๆ คงจะรู้ได้ว่า เราควรจะอยู่ตรงไหนที่เราเหมาะ แม้ไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งจะมาอยู่ตรงนี้  “ก่อนหน้าคิดกับสามีตอนทำธุรกิจส่วนตัวที่เราได้ตรวจคนไข้ว่า เราน่าจะได้ทำอะไรที่มันตอบแทนเพื่อสังคมบ้าง พอมาทำงานตรงนี้รู้สึกได้ว่า การทำงานที่ไม่ได้รับผลตอบรับเป็นเงิน มันเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง เราไม่ได้ต้องกังวลอะไร ไม่ได้รับเงินเดือน เราทำเพราะเราอยากทำจริง ๆ”

ย้อนถามกลับไปในวันแรกที่เปิดตัวออกหน้าจอทีวีในฐานะผู้ช่วยโฆษก ศบค. กับวันที่ขึ้นเวทีประกวดขาอ่อนชิงมงกุฎนางสาวไทยอันไหนตื่นเต้นกว่ากัน คุณหมอสาวสวยคนดังตอบไม่ลังเลว่า การประกวดนางสาวไทยตื่นเต้นกว่าเยอะ ตอนนั้นอายุแค่ 20 ถือว่ายังเด็ก ประสบการณ์หน้ากล้องกับคนไม่ค่อยมี การที่ไปประกวดเพราะเป็นอีกความฝันที่อยากเป็นนางงาม ตอนอายุ 18ปี ประเดิมเวทีมิสทีนไทยแลนด์ ประจำปี 2006 คว้าตำแหน่งรองอันดับ 2 พอเรียนอยู่ชั้นปี 3 ถึงประกวดนางสาวไทย ได้ตำแหน่งเมื่อปี 2551

นิสิตเก่าแพทยศาสตร์จากรั้วจามจุรีเล่าความหลังว่า ผ่านเข้ารอบ 18 คน ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก กระทั่งวันท้าย ๆ มีการเริ่มทำโพล ติดทุกโผ เริ่มมั่นใจ รอบสื่อมวลชนยังได้รางวัลนางงามผิวสวย ผ่านเข้าสู่รอบ 3 คนสุดท้าย ถึงอย่างไรก็เป็น 1 ใน 3 แน่นอน สุดท้าย คือ ความรู้สึกภูมิใจในชีวิต เพราะเป็นหนึ่งในความฝันนอกจากการเป็นหมอ  คือ การได้เป็นนางสาวไทย

“ได้ตำแหน่งมา เหมือนมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น แต่ไม่ดร็อปเรียนตามความตั้งใจเดิมแต่แรก มีนักข่าวที่ตามกองประกวดเคยถามว่า ถ้าได้ตำแหน่งจะเลือกระหว่างเรียนหมอต่อกับทำงานด้านนางสาวไทย เราตอบว่า อยากได้ทั้งสองอย่าง แต่ถ้าให้เป็นนางสาวไทยแล้วเลิกเรียนก็ไม่เอา ไม่เป็น คิดว่า บริหารเวลาทำหน้าที่ได้ทั้งสองอย่าง”

เมื่อจบภารกิจนางงาม เธอหันกลับไปเรียนต่อจนจบแพทย์อย่างที่มุ่งมั่น และรับงานพิธีกร เป็นผู้ประกาศข่าวราชสำนักของสำนักข่าวไทย ไม่มีความคิดไต่บันไดขึ้นไปสู่โลกวงการมายาแบบนางงามหลายคน “เราอยากเป็นแค่นางสาวไทย ไม่ได้อยากเป็นดารา รู้สึกว่า ไม่เหมาะกับตัวเอง มีคนพูดว่า เวลาคุยกับคนไข้แล้ว ดูเป็นตัวเองที่สุด เราอาจจะเหมาะตรงกับตรงนั้นมากกว่า”

 

RELATED ARTICLES