“ทุกครั้งที่โดด มันคือประสบการณ์ใหม่”

รากฏคลิปภาพนาทีระทึกว่อนโลกโซเชียล

...หญิง​ จิราภรณ์​ เพทไสย​ ตัวแทนนักกีฬากระโดดร่มของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดิ่งพสุธาเหินเวหาลงมาคว้าแชมป์ประเภทบุคคล “แม่นยำหญิง” ในการแข่งขันชิงแชมป์กระโดดร่มกองทัพไทยครั้งที่ 52  และชิงแชมป์ประเทศไทยประจำปี 2562 ที่สนามกองพลรบพิเศษที่ 1 ค่ายเอราวัณ ตำบลเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี

  เฉือนเอาชนะ ร.ต.หญิง ราวรรณ์ ขจรศักดิ์เลิศ ตัวแทนจากทีมกองทัพบกไปเพียง 2 เซนติเมตร

นอกจากสร้างชื่อเสียงให้เหล่าตำรวจ ยังพิสูจน์ศักยภาพของ “ทีมนักกีฬาโดดร่มสาว” ของหน่วยพลร่ม กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

มีความสามารถลอยลมประคับประคองร่มอยู่บนฟากฟ้า ท้าทายความสูงไม่แพ้ตำรวจพลร่มชาย

 

เป็นทายาทครู วัยเด็กชอบบทบู๊ ก่อนจะกลายมาสวมบทครูเหมือนพ่อ

สำหรับ ร.ต.อ.หญิง จิราภรณ์ เพทไสย นายตำรวจสาวนักกระโดดร่มมืออาชีพ ก้าวเป็นถึงอาจารย์คอยสอนเด็กรุ่นใหม่เพื่อมาเป็นตัวแทนนักกีฬาของหน่วย หลายคนยอมรับนับถือและเรียกเธอว่า “ครูอ้อ” ผ่านประสบการณ์เหินเวหามาอย่างโชกโชน ปัจจุบันตำแหน่งรองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ช่วยราชการกองกำกับการ 4 หรือกองร้อยฝึกส่งกำลังทางอากาศ รู้จักกันในนาม “ร้อยร่ม” ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

เหมาะกับความสามารถของเธอ เพราะมีส่วนในการทำหน้าที่อบรมเกี่ยวกับการฝึกนักโดดร่ม การควบคุมการโดดร่ม การส่งกำลังทางอากาศ รวมถึงสนับสนุนในการปฏิบัติการสงครามพิเศษ การยุทธส่งทางอากาศ การยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศในกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ ภาวะฉุกเฉิน หรือภาวะสงคราม

ย้อนประวัติของเธอ เป็นชาวจังหวัดนครปฐม พ่อเป็นครู ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน จบมัธยมปลายโรงเรียนราชินีบูรณะ ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม คณะครุศาสตร์ เอกประถม ด้วยความที่พ่อเป็นครู ไม่มีไอดอลเป็นทหาร หรือตำรวจอยู่ใกล้ครอบครัว แม้ตัวเองจะมีนิสัยชอบบู๊มาตั้งแต่เด็ก และอยากเป็นทหาร ตำรวจ อยากต่อยมวย เล่นฟุตบอล แต่ไม่สามารถทำได้เหมือนผู้ชาย

ทีมถ่ายทำหนังใหญ่ “ปล้นลอยฟ้า” จุดประกายให้อยากขึ้นไปตะกายเวหา

ถึงกระนั้นเธอชอบพิสูจน์ตัวเองให้สังคมเห็นว่า เก่งพอกับผู้ชาย เมื่อเป็นนักกรีฑาของโรงเรียนแล้วยังเป็นนักฟุตบอลจนเกือบได้คัดเลือกตัวไปติดทีมชาติ สุดท้ายชะตาชีวิตพลิกผันในวันเปิดกีฬาโรงเรียน มีการกระโดดร่มเปิดงานเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “ปล้นลอยฟ้า” ของฉลอง ภักดีวิจิตร ที่มีนักแสดงนำอย่าง สรพงศ์ ชาตรี โจ เสมอใจ กรุง ศรีวิไล นพพล โกมารชุน ร่วมแสดงกับดาราต่างชาติ อาทิ บี. ดั๊กลาส ดอลล์  รอน โย   เกรก เจมส์  ได้ “กำนันนั้ม”วีระศักดิ์ จุลนิพิฐวงษ์ คนดังในจังหวัดนครปฐม เป็นอำนวยการสร้าง

“เราแหงนขึ้นไปมอง แล้วคิดว่า สักวันหนึ่งเราจะเป็นแบบนั้น  คิดแค่นั้น แต่ไม่รู้แนวทางว่า มันคืออะไร แบบไหน” ผู้กองหญิงแห่งค่ายนเรศวรไม่เคยลืมบรรยากาศวันเก่า เจ้าตัวเล่าว่า ไม่นานมีญาติมาบอกว่า ตำรวจพลร่มเปิดรับสมัครพลตำรวจหญิง ตอนนั้นเข้าไปเรียนปริญญาตรีราชภัฏนครปฐมได้ไม่ถึงเทอม ตัดสินใจเอาวุฒิมัธยมปีที่ 3 ไปลองสมัครดู แต่ไม่รู้ว่า คืออะไรด้วยซ้ำ แค่มีการโดดร่ม เหมือนเป็นความฝันที่อยากจะทำอยู่พอดี

สอบติดถูกส่งไปเรียนร่วมกับนักเรียนพลตำรวจรุ่น 38 อยู่ที่จังหวัดลำปาง เธอยอมรับว่า ชีวิตไม่เคยห่างบ้าน ไม่เคยลำบาก ต้องไปฝึกร่วมกับผู้ชาย เป็นกองร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรกของหน่วยในรอบ 10 กว่าปี ต้องรับการฝึกเหมือนนักเรียนพลตำรวจทั่วไป ยังไม่เข้าหลักสูตรพลร่ม ฝึกตั้งแต่พื้นฐานเรื่องระเบียบวินัย เรียนกฎหมาย และฝึกงานไปตั้งด่านตรวจเหมือนผู้ชายทุกอย่าง

ผ่านการทดสอบนายสิบตำรวจ เข้ามาประกวดฝีมือค่ายนเรศวร

“ ไม่เคยคิดว่า ตัวเองคิดผิด  ถามว่า วันแรกๆ ที่ไปฝึกอบรม รู้สึกยังไง มีแอบๆ ร้องไห้ ด้วยความที่ว่า ฝึกหนักด้วย และไกลบ้าน คิดถึงบ้าน มีโอกาสปล่อยกลับบ้าน แค่ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ สำเร็จหลักสูตร 1 ปี ถึงเข้ามาเป็นตำรวจพลร่ม เดิมทีต้องปรับพื้นฐาน 3 เดือน แต่รุ่นนี้โดนเพิ่ม 3 เดือน เหมือนเป็นตำรวจพลร่มหญิงรุ่นแรกในรอบหลายปี”

นายตำรวจหญิงสังกัดพลร่มเล่าต่อว่า สมัยนั้นยังเป็นแค่กองกำกับการส่งกำลังทางอากาศ ครูฝึกทุกคนจะจริงจัง มีความรู้ความสามารถทั้งนั้น เป็นต้นแบบให้กับลูกศิษย์ลูกหาได้ อย่างครูกระโดดร่มหญิงก็มี ครูศรนารี ศรพรมมาส เคยเป็นตัวแทนทีมชาติไปแข่งที่เกาหลีใต้ เกษียณตำแหน่งรองผู้กำกับมาสอนแบบเป็นกันเอง รวมถึงรุ่นพี่พลร่มหญิงที่จะมีเป็นครูฝึกให้

ในบรรดานักเรียนพลร่มหญิงรุ่นเดียวกับครูอ้อมีจำนวน 39 คน แบ่งกระจายอยู่กองการฝึกและหน่วยพลร่มนเรศวร 261 ก็ วัตถุประสงค์ของผู้บังคับบัญชายุคนั้นที่ต้องการรับตำรวจหญิงรุ่นนี้  คือ อยากคัดเลือกเอามาเป็นนักกีฬากระโดดร่มในนามทีมตำรวจไปแข่งกีฬากองทัพไทย

 

เอาเข้าใจจริงดันกลัวความสูง กว่าจะจูงสติเรียกกลับความฝัน

“เขาจะคัดตัวว่า คนไหนมีแววเป็นนักกีฬาได้ อีกส่วนคือ ไปอยู่กองร้อยนเรศวร 261 ที่ต้องวัดไอคิว เพราะต้องฝึกหนักเกี่ยวกับเรื่องยุทธวิธี ตำรวจหญิงส่วนใหญ่อยากโดดร่ม เพราะมองเรื่องไอคิว หรือความสามารถเรื่องการยิงปืนอาจจะยังไม่ดีพอ ตอนฝึกใหม่ ๆ  ยอมรับว่าลึก ๆ เป็นคนขี้กลัว กลายเป็นย่าหอของทีม คือขึ้นไปฝึกโดดร่มกลม แรก ๆ โดดได้ มีอยู่วันหนึ่งไปโดดตามเพื่อนที่กลัว ไม่ยอมโดด คือจะโทษเพื่อนก็ไม่ได้ เราเริ่มมีความรู้สึกว่า ตัวเองกลัวไปด้วย ไม่กล้าโดด” ร้อยตำรวจเอกหญิงนักกีฬาโดดร่มเล่าความหลัง

“ครูจะบอกว่า ถ้าเราโดดหอไม่ได้ เราก็โดดร่มไม่ได้ ถึงต้องพยายามข่มจิตใจตรงนั้น ใช้เวลานานพอสมควร ขนาดโดดลงไปแล้ว นิ้วยังเกาะหออยู่ แล้วนึกได้ว่า จะเกาะทำไม ก็ปล่อย จุดนี้เหมือนเป็นปมตรงที่ว่าเราอยากเป็นนักโดดร่ม กลับกลัวความสูง ถึงเวลาโดดร่มกลมครั้งแรกไม่รู้สึกอะไร พ้นออกจากเครื่องก็หลักหูหลับตาออกมา ทั้งที่มันเป็นความฝันของเรา”

“ ตอนเป็นย่าหอ นั่งมองหอแล้วนั่งร้องไห้ เป็นพวกไม่ยอมโดด ก่อนตั้งสติถามตัวเองว่า ทำไมเราถึงกลัว เราถึงไม่กล้า ทำไมเพื่อนผู้หญิงอีก 10 กว่าคนทำได้ เราทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำได้ เหมือนเป็นแรงผลัดดันตัวเองขึ้นมา เป็นแค่แรก ๆ ตอนหลังก็ค่อยๆ ปรับได้ อยากจะบอกว่า การโดดร่มต้องมีสติให้มาก  พอเริ่มโดดได้ก็โดดเหมือนบ้าบิ่นเลย ไม่สนใจใคร สั่งโดด ก็โดด เพราะเราชินกับมันแล้ว มีความรู้สึกว่า ก่อนหน้านี้เราไม่กล้า ตอนนี้เราต้องกล้า เริ่มจากกลัวกลายเป็นบ้า” ผู้กองอ้อว่า

ก้าวขึ้นชั้นไปดิ่งพสุธา ได้เป็นนักกีฬาตัวแทนหน่วย

ใช้เวลาฝึกกระโดดร่มต่อเนื่องไปถึงหลักสูตรโดดสกาย หรือดิ่งพสุธา เธอและเพื่อนพลร่มหญิงร่วมรุ่นได้ปีกร่มกลมแล้วจึงพากันไปคัดตัวเป็นทีมนักกีฬา ร.ต.อ.หญิง จิราภรณ์เล่าว่า โดนแบ่งเป็นบัว 4 เหล่า กลายเป็นบัวเหล่าที่ 3 เกือบไม่พ้นน้ำ อีกนิดเดียวไม่ผ่าน เพราะกลัว พอครูสั่งโดด แทนที่จะสปริงค์ตัวกลายเป็นว่า เราปล่อยตัวหลุดจากเครื่อง ดีที่มีสายดึงให้ร่มกลาง พอร่มกลางเหมือนเราจะเริ่มมีสติกลับมา รับว่า สติแตกอยู่นาน แต่เราต้องเอาชนะตัวเองให้ได้

หลายคนผ่านขึ้นร่มเหลี่ยมเป็นตัวแทนไปแข่งแล้ว สำหรับเธอยังไม่ได้โอกาส กระทั่งครูเจริญชัย ปะนาโส กล้าจะให้เปลี่ยนร่มและเปลี่ยนเครื่องลองโดดจากเฮลิคอปเตอร์ เจ้าตัวว่า ถ้าไม่ได้โดดก็ไม่ได้แล้ว ครูมาจากสอนให้ แรก ๆ จะรู้สึกวูบลงไปข้างล่าง พอกระโดดไปเรื่อย ๆ แล้ว การโดดจากเฮลิคอปเตอร์จะง่ายกว่า ใหม่ ๆ จะกลัว ทุกวันนี้ก็เหมือนกับเราได้ประสบการณ์จากเพื่อนด้วย พอเพื่อนล็อกเบรกติด อาการร่มเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เราจะดูเป็นตัวเองแล้ว พอเราเจอปุ๊บ เราจะแก้ปัญหาได้ โดยการที่เราเคยฟังจากครู สอนคนอื่นมา เคยติดเหมือนกัน แต่ปีนดึงเอามาจนได้  ด้วยความที่ตัวเองกลัว ก็เอาชนะ ไม่ว่าจะมีเครื่องอะไรมาขึ้นโดดตลอด

ประสบการณ์ดิ่งพสุธาท้าเวหาของเธอเริ่มต้นการฝึกมาตั้งแต่ปี 2531 แต่เป็นนักกีฬาไปแข่งขันจริงเมื่อปี 2534 เป็นทีมอุปถัมภ์ พอปีถัดมาได้ขึ้นเป็นทีมหลัก ออกต่างประเทศครั้งแรกประสบความสำเร็จได้แชมป์บุคคลและประเภททีมไปแข่งที่ไต้หวัน ชนิดผู้บังคับบัญชาไม่ได้คาดคิด เพราะก่อนหน้านั้นทีมตำรวจหญิงไม่ค่อยมีถ้วยเท่าไร เนื่องจากสร้างทีมหาน้องใหม่มาทดแทนกันไม่ทัน

 

กวาดรางวัลมากมายหลายรายการ เกี่ยวประสบการณ์ไปถ่ายทอดลูกศิษย์

จากที่เคยรู้สึกว่าตัวเองอ่อนที่สุดในทีม เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น เป็นตัวแทนทีมตำรวจตระเวนแข่งรายการสำคัญของทัวร์นาเมนต์นานาชาติและกีฬากองทัพไทยกวาดรางวัลมาไม่น้อย สะสมชั่วโมงบินก้าวขึ้นเป็นครูคอยถ่ายทอดวิชาให้รุ่นน้องที่ทยอยกันพาเหรดเข้ามาสวมบทตำรวจหญิงพลร่มอีกหลายรุ่น ควบคู่กับนำทีมนักกีฬาไปแข่งอย่างต่อเนื่องทุกปี

“เราเรียนรู้จากครูแล้วนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นถ่ายทอดต่อถึงลูกศิษย์ การแข่งขันกระโดดร่มบางทีไม่ถึงกับหมู เพราะว่า การโดดร่มไม่ใช่ฝีมืออย่างเดียว ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสของแต่ละคนด้วย อาทิ กระแสลมก็มีผล  เหมือนที่ได้แชมป์ครั้งล่าสุดกลายเป็นคลิปในโลกโซเชียล เป็นประเภทแม่นยำบุคคลหญิงที่ตำรวจได้ครั้งแรก ตอนจั๊มพ์ที่ 9 ยังแพ้กองทัพบกอยู่ มาถึงจั๊มพ์ที่ 10 ที่เฉือนชนะหวุดหวิด 2 เซนติเมตร”

ตัวเธอมองว่า เกิดจากความผิดพลาดของคู่แข่งในจังหวะตั้งร่มค่อนข้างไกล เป็นโชคดีของเธอตั้งร่มต่ำ เพราะเข้ามาในสนามมีลมยก ถ้าตั้งเข้าพอดีบางทีลมจะผลักออกจากเป้าหมาย แต่ด้วยความที่ตั้งร่มมาเหมือนขาด พอเจอลมยกเข้าเป็นจังหวะได้พอดี “นี่แหละที่บอกว่า เป็นนักกีฬาโดดร่มต้องอาศัยดวง ประสบการณ์ แต่ไม่ใช่ฝีมืออย่างเดียว ประสบการณ์แค่ช่วยแก้ปัญหา และใช้เยอะมาก นักโดดใหม่ ๆ บางคนขึ้นไปโดด 3-4 ครั้ง คะแนนดีๆ  ทุกคนจะมุ่งหวังแล้ว แต่นักโดดเก่าๆ จะรู้ว่า มันไม่มีอะไรแน่นอน กว่าจะถึงจั๊มพ์สุดท้าย เพราะมีปัญหาให้เราต้องแก้ไขตลอด แม้กระทั่งโดดทุกวัน ไม่มีจั๊มพ์ไหนที่เหมือนกันเลย ทุกครั้งที่โดด มันคือประสบการณ์ใหม่”

กว่า 30 ปีแห่งความภูมิใจ  รอคลื่นลูกใหม่โผล่มาทดแทน

ร้อยตำรวจเอกหญิงนักกีฬาโดดร่มของทัพสีกากีผ่านการจั๊มพ์ไม่ต่ำกว่า 5,000 ครั้ง และน่าจะมากที่สุดในบรรดาตำรวจหญิง ความที่เคยมีปมว่า กลัวมาก่อน ขณะเดียวกัน เธอยืนยันว่า ยังไม่คิดจะเลิกกระโดดร่ม แม้จะอายุมากขึ้น เพราะมีรุ่นพี่ทหารอากาศเป็นไอดอลอยู่ โดดจนอายุ 60 ยังไหวอยู่ ถึงกระนั้นต้องคำนึงสุขภาพร่างกายด้วยว่า เราขนาดไหน แต่ตอนนี้ที่ยังโดด เพราะด้วยความที่ตัวเองชอบ มีความสุขกับการโดดร่ม กับอีกอย่าง คือ อยากสอนน้องๆ ที่จะขึ้นมาทดแทน ให้พวกเขาเรียนทางลัดด้วยการเอาประสบการณ์เราไป มันจะเร็วกว่าการที่ให้ไปเรียนรู้กันเอง เหมือนห้องเรียนอยู่ข้างบนฟ้า มีตำราอยู่กลางอากาศ

ครูสาวค่ายนเรศวรบอกว่า น้อง ๆ บางคนมักถามว่า ถ้าเจออย่างนี้ ๆ ต้องทำอย่างไร เราก็ต้องคอยบอก เจอกระแสลมแต่ละครั้งต้องอ่านเกม  บางทีตั้งร่มมาปุ๊บคิดว่า ต้องได้ ไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างที่ต้องมีการเผื่อ นักโดดร่มที่เป็นแล้ว ประสบการณ์เยอะๆ ต้องคิด ต้องเผื่อ ทว่าพอมีการเผื่อ บางครั้งอาจมีข้อผิดพลาดตามมาด้วย

ประสบการณ์ตลอด 30 ปี เธอรู้สึกภูมิใจที่เป็นลูกหม้อของหน่วย และรอคลื่นลูกใหม่ขึ้นมาทดแทน “ถามว่า ยากหรือไม่ ไม่ยาก แต่มันก็ไม่ง่าย การจะเป็นนักกีฬาโดดร่ม มันยังต้องมีระเบียบ มีวินัย ถ้าไม่มีวินัย ไร้ระเบียบก็เก่งยาก” ครูอ้อทิ้งท้าย

……..

“อยากจะบอกว่า เวลาอยู่บนฟ้ามันสวยงามมาก  

มู่แคท- ส.ต..หญิง แคทลียา ดวงสว่าง ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 4 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ชาวจังหวัดเชียงใหม่ จบมัธยมโรงเรียนวชิราลัย ไปสอบคณะบริหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทั้งที่มีความฝันอยากเป็นผู้พิพากษา

เรียนได้ปีเดียวเลือกมาสอบเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพราะครอบครัวอยากให้มีการงานที่มั่นคง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตำรวจตระเวนชายแดนมีภารกิจอะไรนอกเหนือจากการอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน

ทำไปทำมาซึมซับและชอบในบทบู๊ตามแบบฉบับตำรวจ และมีโอกาสไปเรียนหลักสูตรร่มกลม ก่อนต่อเนื่องขึ้นไปหลักสูตรสกาย “ครั้งแรกก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะมันสูง ค่อนข้างไปทางกลัว พอโดดไปเรื่อย ๆ รู้สึกสนุก อยากจะบอกว่า เวลาอยู่บนฟ้ามันสวยงามมาก  มองลงมาแล้วเห็นทั่ว ยิ่งโดดแบบสกายในความสูง 4,000 เมตรขึ้นไป อยู่บนฟ้านานกว่า ยิ่งเห็นอะไรเยอะกว่า”

เธอเข้าแข่งขันครั้งแรกในกีฬากองทัพไทยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าภาพ ในประเภททีมอุปถัมภ์ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ แต่ยังไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จ ทว่าในวาดหวังอนาคต อยากพัฒนาฝีมือตัวเองจากการฝึกทบทวนตลอดเวลา

“ทุกวันนี้สนุก แต่การโดดทุกครั้งก็จะมีความกลัว ความตื่นเต้นอยู่ตลอด” เจ้าตัวว่า

…………………..

ทุกครั้งที่ขึ้นโดดจะเตือนตัวเองว่า ต้องมีสติ

                มู่ใบเฟริน-ส.ต.อ.หญิง อภิชญา นาเจริญ ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 4 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สาวจากแดนที่ราบสูงจังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาโรงเรียนบุญลือวิทยานุสรณ์ ไปต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดนครราชสีมา เพราะอยากเป็นนิติกร อัยการ แต่บิดาต้องการให้รับราชการตำรวจ ทั้งที่เคยมาลองสอบโรงเรียนเรียนนายร้อยตำรวจแล้วไม่ได้

จังหวะกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเปิดรับสมัครนายสิบตำรวจหญิง เธอตัดสินใจมาสอบติดแล้วคิดว่าจะเลือกมาลงตำแหน่งแล้วบ้าน แต่ไม่รู้ว่า ตำรวจชายแดน คืออะไร กินนอนฝึกหนักอยู่ค่ายนเรศวรพร้อมนายสิบตำรวจหญิงรุ่นเดียวกัน 138 คน ทำไปทำมาอยู่ยาวนานกว่า 7 ปี ไม่ได้ย้ายกลับถิ่นกำเนิดตามที่วางเป้าไว้

ร่วมโดดร่มกลมตามหลักสูตรบังคับของค่ายพลร่มชิมลางทดสอบสภาพจิตใจ เธอยอมรับว่า ครั้งแรกกลัว ไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ครูสอนเลย แต่ต้องโดดให้ได้ ไม่อย่างนั้นไม่ผ่านหลักสูตร กระทั่งลงกองกำกับการ 4 เป็นกองร้อยโดดร่มอยู่แล้วจึงชวนเพื่อนไปโดดเพิ่มหลักสูตรสกาย ปรากฏว่า นักกีฬาขาดให้ลองไปคัดตัวกันดูถึงได้เป็นนักกีฬาโดดร่มของตำรวจ

“ครั้งแรกโดดสกาย รู้สึกเครียดมาก ครูฝึกจะสอนวิธีการเอาตัวรอด วิธีโดด วิธีการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องของร่ม  ต้องจำแล้วเอาไปใช้ ถึงเวลาต้องมีสติให้มากที่สุด ทุกครั้งที่ขึ้นโดดจะเตือนตัวเองว่า ต้องมีสติ เพราะมันจะมีจุดที่ว่า เหมือนว่าถ้าร่มมีปัญหา เราต้องคัต แล้วเปิดร่ม เหมือนเราต้องท่องไว้ทุกครั้ง ก็เคยมีปัญหาครั้งหนึ่ง ร่มไม่กางเลย ก็ต้องคัตร่มใหญ่ทิ้ง แล้วเปิดร่มช่วย ตอนนั้นก็ตกใจ กลัว แต่ว่า ก็มีสติ” เจ้าตัวสารภาพ

“ตอนนี้กลายเป็นเรื่องสนุกไปแล้ว  เมื่อมีโอกาสก็อยากจะทำให้ดีที่สุด” ทีมร้อยร่มสาวว่า

……………..

มีความสุข คือ การที่เราได้โดดทุกวัน มันไม่เหมือนเดิมทุกวัน

มู่ตังเม-ส.ต.อ.บุญญาณี สุภิษะ ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 5 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เกิดจังหวัดสุรินทร์ ไปโตศรีสะเกษหลังเสียพ่อบังเกิดเกล้า จบมัธยมโรงเรียนปรางค์กู่  ฝันอยากเป็นนักดนตรี เพราะชอบเล่นกีต้าร์ แต่ว่าไปเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดนครราชสีมา มองว่า ไม่อยากไปเบื่อกับทฤษฎีของหลักสูตรดนตรี

สุดท้ายลาออกเอาหน่วยกิตไปเทียบต่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง คิดไปคิดมาไม่น่าจบในระยะเวลา 4 ปี เปลี่ยนวิถีมาสอบนักเรียนนายสิบตำรวจของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน อย่างน้อยก็มีงานที่มั่นคง  คะเนไว้ด้วยว่า เป็นตำรวจแล้วอาจย้ายกลับมาอยู่ตะเข็บชายแดนที่สุรินทร์เหมือนสมัยพ่อเป็นครูอยู่ที่นั่น เอาเข้าจริงไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

“เข้ามาสัมผัสอยู่ค่ายนเรศวรแล้วซึมซับ รู้สึกชอบ เหมือนกับเลือกไปคัดตัวเป็นนักกีฬาโดดร่ม แค่สงสัยว่า ทำไมรุ่นพี่ ๆ กระโดดกันแล้วมีความสุขเลยอยากลองดู โดดจริงร่มดันปัญหา กางไม่สมบูรณ์ แต่ผ่านไปได้เพราะเพื่อนคอยให้กำลังใจ  เราขึ้นไปอยู่บนฟ้า ไม่มีใครช่วยได้ จำเป็นต้องมั่นใจในอุปกรณ์  แรก ๆ พอโดดจริงๆ ก็ไม่ได้มีความสุข มันคงยังไม่ถึงจุดที่ทำให้เรามีความสุขได้ เราเลยต้องโดดต่อไปเรื่อย ๆ จนเจอความสุข   มีความสุข คือ การที่เราได้โดดทุกวัน มันไม่เหมือนเดิมทุกวัน บางวันลมแรง บางวันเมฆหนา บางวันลมเปลี่ยนอีกทั้งได้เห็นท้องฟ้า ท้องทะเล”

เดิมทีเธอเป็นตัวถ่วงที่สุดในทีม แต่ประสบการณ์ทำให้เข้ากับทีมได้ดีเป็นน้องใหม่ล่าสุดของบรรดากีฬาโดดร่ม 4 เหล่าทัพที่ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นจนกว่าจะประสบความสำเร็จคว้าเหรียญรางวัลชนะเลิศให้แก่หน่วย

 

………………………….

อยู่บนฟ้ารู้สึกว่า เราอยู่คนเดียว

มู่เนส-ส.ต.อ.หญิง นิภาพรรณ พงษ์เมธี ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 4 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  สาวพิจิตรลูกสาวตำรวจนักรบป่าที่จังหวัดสุโขทัย จบมัธยมโรงเรียนอุดมดารณี ไปต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ก่อนเปลี่ยนมาสอบนายสิบตำรวจ เพราะอยากเจริญรอยตามผู้พ่อเข้าสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน

แรก ๆ กลับบ้านร้องไห้ แม่บอกถ้าไม่ไหวก็ลาออกได้ ไม่บังคับ เห็นลูกสาวฝึกจนตัวดำ ผมสั้น แต่เธอใจยังสู้ เห็นเพื่อนฝึกได้ เราก็ต้องฝึกได้จนผ่านหลักสูตรพลร่ม สร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเองในทันทีที่ประดับปีกร่มเหมือนพ่อเคยได้รับ

จับพลัดจับผลูเพื่อนกันชวนมาโดดหลักสูตรสกาย เพราะอยากเรียนทุกหลักสูตรของหน่วยที่สังกัด ไม่ได้คิดจะเป็นนักกีฬา มองว่า ไกลกินฝัน ไม่คิดเหมือนกันว่าจะได้รับโอกาสรับใช้ต้นสังกัดเป็นตัวแทนไปลอยลมดิ่งพสุธาในการแข่งขันกีฬากระโดดร่ม

“ตอนโดดแล้วเหมือนสมองโล่ง อยู่บนฟ้ารู้สึกว่า เราอยู่คนเดียว แต่ดี คือเราได้ตัดสินใจ เราได้มีสติตลอดเวลา เพราะทุกอย่าง คือ ชีวิตหมดเลย ถ้าเราทำอะไรพลาด มันไม่มีใครมาช่วยเราได้ จากตื่นเต้นก็กลายเป็นสนุก หวังว่าอนาคตจะโดดไปเรื่อย ๆ คิดว่า ต้องมีสักปีที่จะต้องได้รางวัล ทว่า อันดับแรกต้องเน้นปลอดภัยไว้ก่อน”

เธอระบายความรู้สึกด้วยว่า  ถ้าเรามีความหวัง มีความตั้งใจ ต้องทำให้เต็มที่ แล้วจะรู้ว่า ความสำเร็จที่เราตั้งใจไว้ มันสวยงามแค่ไหน นักกีฬาโดดร่มน้อยคนที่จะรู้ น้อยคนที่จะได้สัมผัสว่า บนท้องฟ้ามันเป็นอย่างไร อากาศมันอาจจะดีกว่าข้างล่าง และสดชื่นมากน้อยเพียงใด

…………………..

พยุงตัวกลางอากาศได้แล้ว รู้สึกชอบและมีความสุข”

มู่มะเฟื่อง-ส.ต.ท.หญิง กมลลักษณ์ บุญพ่วง ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ชาวอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เกิดในครอบครัวที่พ่อรับราชการตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่โรงพักท่ายาง จบมัธยมโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อยากทำงานโรงแรม เดินทางไปต่างประเทศ

ทำไปทำมาใจเป็นห่วงพ่อแม่ ยอมทิ้งดีกรีปริญญามาสอบเป็นนายสิบตำรวจหญิงอยู่ค่ายนเรศวร ปรับพื้นฐานตามหลักสูตรพลร่ม ติดปีกร่ม แต่ไม่เคยฝันจะเป็นนักกีฬา แค่อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากสมัยเด็ก มีกิจกรรมวันเด็กเห็นตำรวจพลร่มมาแสดงโชว์กระโดดร่มตลอด

“มันฝังใจตั้งแต่ตอนนั้น มีความรู้สึกอยากโดดแบบพี่เขาบ้าง ปกติก็เป็นคนไม่กลัวความสูง แค่ครั้งแรกยอมรับรู้สึกตื่นเต้นหมด กังวล คิดเราจะทำยังไง แต่เราต้องคิดตามขั้นตอนว่า สิ่งแรกต้องทำอะไรบ้าง ตามที่ฝึกฝนมา แล้วพยายามมีสติ ไม่วอกแวก มันอยู่ที่สูง ไม่เหมือนอยู่บนพื้น ที่ไปโดดสกาย เพราะเห็นรุ่นพี่โดด แล้วอยากโดดบ้าง คิดว่า สักวันต้องโดดให้ได้ พอโดดแล้วมีความสนุก เหมือนเวลาลอยตัวบนท้องฟ้า พยุงตัวกลางอากาศได้แล้ว รู้สึกชอบและมีความสุข เกิดความสนุก นั่นคือ เทคนิคที่ทำให้มีความสุขตรงนี้เอง”

เธอรักหน่วยพลร่ม และสนุกกับการกระโดดร่มลอยลมอยู่บนกลางเวหา  แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จได้รับเหรียญรางวัล เธอก็ยังมีครูอ้อ-ร.ต.อ.หญิง จิราภรณ์ เพทไสย นายตำรวจหญิงนักกีฬารุ่นพี่เป็นไอดอล

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES