“อะไรที่ผมเคยเจ็บช้ำน้ำใจมา ผมจะไม่ทำ”

 

บางครั้งนำหลักโหราศาสตร์มาเป็นยุทธศาสตร์ส่องชีวิต

แม้เส้นทางรับราชการอาจไม่ราบรื่น เนื่องจากเผชิญคลื่นมรสุมรุมเร้า ท้ายที่สุด พล...ชยุต มารยาทตร์ สามารถผ่านอุปสรรคกลับเข้าฝั่ง

กระทั่งได้รับความไว้วางใจให้นั่งตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี อาณาจักรที่มีมากมายหลายปัญหา เพราะสภาพความเจริญแทบไม่แตกต่างเมืองหลวง

เจ้าตัวถึงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ที่สะสมมาเกือบตลอดชีวิตในเครื่องแบบสีกากีไปเป็นนโยบายขับเคลื่อนกำลังพลให้สมกับเป็น ตำรวจอาชีพ

ยึดกฎหมาย ภายใต้มอตโต้ เป็นหลักประกันความยุติธรรมและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีมาตรฐานสากล 

 

จาก ยอดชาย กลายเป็น ชยุธแต่ยังไม่หยุดรบต้องจบที่ ชยุต

ย้อนประวัติเบื้องแรก เดิมชื่อ “ยอดชาย” เกิดจังหวัดนครปฐม เป็นลูกชายนาวาอากาศโท แม่ค้าขาย ไม่คิดตามรอยสวมบททัพฟ้า เพราะว่าพี่ชายเป็นแล้ว ประกอบกับแม่อยากให้เป็นตำรวจ หลังจากจบมัธยมโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 21 เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 37 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “ชยุธ” เมื่อตอนเป็นสารวัตร เพราะชอบศึกษาตำราโหราศาสตร์ สมัยบวชอยู่วัดห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม ประกอบกับได้ความรู้จากพ่อที่มีอีกบทบาทเป็นหมอดู

ปรากฏว่าการเปลี่ยนชื่อครั้งแรกเป็น “ชยุธ” มีความหมายแปลว่า รบแล้วชนะ ทำให้ต้องรบราฆ่าฟันกับคนอื่นจนมีเรื่องมาตลอด เจ้าตัวว่า  เดี๋ยวโดนร้องเรียนบ้าง โดนเรื่องบ้าง แรง ๆ ทั้งนั้น มีให้ปวดหัวอยู่เรื่อย พอจะได้ตำแหน่งก็ถูกเตะตัดขา กลับมาสังเกตว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ศึกษาตำราใหม่พบว่า ถ้าเป็นแบบนี้ท่าจะไปไม่รอด เปิดตำราเปลี่ยนเป็นชยุต แปลว่า เจริญรุ่งเรือง ถึงเบาลงกว่าเก่า

สำหรับชีวิตรับราชการของเขาระหกระเหินมาหลายช่วง  เริ่มบรรจุตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง  เพราะอยู่ในกลุ่มเรียนเก่ง ประกอบกับบ้านอยู่นครปฐม เมื่อก่อนข้ามฝั่งจากนครปฐมที่สะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านสนามหลวง เห็นวัดพระแก้ว เขามองว่า น่าจะดี เหมือนอยู่กลางเมือง อีกอย่างกลับบ้านง่าย เป็นโรคคิดถึงบ้านบ่อย ชอบกลับไปหาพ่อแม่ ที่สำคัญ มีแฟลตตำรวจให้อยู่ เราคนต่างจังหวัด ไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ ต้องเลือกโรงพักที่มีแฟลตให้อยู่ก่อนอันดับแรก เรามาแบบเสื่อผืนหมอนใบ กินเงินเดือน 2,765 บาท

 

ชอบงานสืบสวนไม่ใช่สอบสวน ได้กระบวนการทำงานจากสืบเหนือ

ทำงานสอบสวนอยู่ 3 ปี พ.ต.ท.วินัย กาญจนาภา สารวัตรใหญ่เห็นแวว แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสายสืบบอกว่าหน้าตาไม่ค่อยเหมือนเป็นตำรวจ เริ่มมีอาชีพนักสืบมาตั้งแต่บัดนั้น พล.ต.ต.ชยุตเล่าว่า มีคดียิงผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์มรณภาพ ลงไปคลี่คลายพร้อมกับทีมสืบสวนเหนือ เสียดายจับไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ แต่คดีลักลอบตัดเศียรพระไปขาย ทำแข่งกับสืบสวนเหนือ พิชิตคดีปิดแฟ้มได้สำเร็จ สร้างตำนานคำว่า เด็ดยอด ตั้งแต่ตอนนั้้น เพราะแข่งกันทำงาน หน่วยไหนได้หลักฐานจะเก็บซ่อนไว้ก่อน

อดีตหัวหน้าสายสืบโรงพักพระราชวังบอกว่า เป็นแก๊งจ่างจังหวัด รู้จักคนทำงานในวัด รู้ว่า เศียรพระนี่มีราคา เพราะเก่าจริง ถึงบุกมาตัด ตอนหลังเราจับได้หมด เอาของมาคืนได้ด้วย นอกจากนี้ มีอีกคดี ลักทองคำที่หุ้มพระเสลี่ยงในพระบรมมหาราชวัง สมัยนั้นดังมาก ได้ไปร่วมทำคดีด้วย  “ถ้าถามจริงๆ แล้ว เนื้อแท้ผมไม่ได้ชอบงานสอบสวน  ผมชอบทำงานสืบสวนมาตั้งแต่แรกเลย ตั้งแต่ ร.ต.ต. แต่ว่าชีวิตมันมาพลิกตอนที่ย้ายไปเป็นสารวัตรสอบสวนที่โรงพักดอนเมือง”

เขาทำงานจนเข้าตากองสืบสวนเหนือดึงตัวไปเข้าทีม พ.ต.ท.วีระศักดิ์ บูรพากาญจน์ สารวัตรแผนก5 กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ ที่มี พ.ต.อ.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น นั่งคุมหน่วย พ.ต.ท.วิวัฒน์ วรรธนะวิบูลย์ เป็นรองผู้กำกับ ได้เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานสืบสวนจากคดีสำคัญมากมาย ด้วยความที่ พ.ต.อ.กฤษฎาครองใจลูกน้องได้ หลายคดีถึงออก อาทิ ปล้นร้านทอง ลักเหรียญกษาปณ์ เปิดมุมมองนักสืบที่กว้างขึ้นแทนที่จะเป็นกบในกะลา แถมได้วิธีการบริหารลูกน้อง การสั่งงาน และการบริหารหน่วยมาใช้ในปัจจุบัน

 

สัมผัสบทเรียนราคาแพง โดนยุแยงใส่ไฟให้ย้ายเปลี่ยนหน้าที่

เมื่อมีประสบการณ์งานสืบสวนมากกว่าตอนที่เป็นหัวหน้าสายสืบ พล.ต.ต.ชยุตเล่าต่อว่า ผู้บังคับบัญชาวางใจให้ขึ้นเป็นสารวัตรสืบสวนในถิ่นเดิมโรงพักพระราชวัง แต่ความโชคดีเหมือนอะไรที่เป็นทุกขลาภ ให้บทเรียนราคาแพงว่า อย่าไปเตะหมามีเจ้าของ ยอมรับว่า เราเกิดจากตรงนั้นอยากกลับไปเป็นสารวัตรที่นั่น กลับส่งผลกระทบเพียงเพราะไปจับบ่อนของผู้ยิ่งใหญ่ท่าเตียน  ตอนไปจับไม่ถึงขนาดเอาให้ตาย แค่ไล่ให้เลิก เนื่องจากเราอยู่ระหว่างอบรมสารวัตร กลับมีลักลอบเปิดเล่น

“ผมไปอบรมแค่เดือนเดียว แต่ว่ามาเปิดบ่อนถั่วในพื้นที่ มันไม่ได้  ชื่อผมก็ยังเป็นสารวัตรสืบสวน ไม้นั้นแหละที่โดนย้าย ทีแรกจะข้ามห้วยไปภูธร เหตุเพราะมีคนเอาเรื่องที่ผมไปไล่บ่อนเลิกไปฟ้องเจ้านายว่า ผมไปขอขึ้นค่าตั๋ว  ไอ้คนนี้ตอนหลังมายกมือไหว้ มาขอโทษขอโพยว่า ไม่ได้เจตนาอย่างนั้น มีคนมายุ ผมถามว่าใครยุ บอกว่าตำรวจที่มายุ เพราะเคยได้อยู่ ยุบอกให้ร้องเลยว่า ผมจะมาขอขึ้นค่าตั๋ว ไปอบรมแล้วยังอุตส่าห์มาไล่เลิกอีก ผมก็ว่าอย่างนี้มันไม่เป็นธรรมนี่หว่า”

ยังถือเป็นความโชคดีอยู่บ้าง เมื่อ พล.ต.ท.ประยูร โกมารกุล ณ นคร ขณะนั้นเป็นกรมวังผู้ใหญ่ เห็นว่าทำงานดี และมีความตั้งใจที่จะไม่ให้เกิดมีอบายมุขใหญ่ๆ โตๆ ติดกับเขตพระราชฐาน ขออย่าไปย้ายเลย ถึงกระนั้น เขาก็ยังโดนโยกเป็นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตไปอยู่หน้างานสอบสวน

 

ออกนอกหน่วยซวยผิดน้ำ กว่าจะย่ำกลับคืนสังเวียนเดิม

หลังจากนั้นขยับอีกระลอกเข้ากรุเป็นสารวัตรงาน 5 กองกำกับการอำนวยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ แล้วโยกเป็นสารวัตรงาน 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า ยุคสมัย พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ ต้องการคนมีฝีมือไปช่วยงานปราบปรามยาเสพติด แต่ก็เหมือนปลาผิดน้ำ สไตล์การทำงานไม่เหมือนกองบัญชาการตำรวจนครบาล

“ผมมีความรู้สึกว่า ไม่ใช่ตัวเรา สงสัยอยู่ที่นี่คงไม่รุ่ง ขึ้นก็คงไม่ได้ขึ้น โดนมองว่า ทำตัวแปลกแยก ไม่เหมือนคนอื่น อาจเพราะเราไม่ใช่ลูกหม้อ และวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน” พล.ต.ต.ชยุตว่า ประจวบเหมาะ พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ พ.ต.อ.สมคิด บุญถนอม นายตำรวจรุ่นพี่สนิทสนมกันทาบทามชวนกลับนครบาลไปอยู่กองสืบ ทำไมทำมาคำสั่งออกเป็นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท

“ผมเองทิ้งงานสอบสวนไปตั้งนาน กลับไปเป็นพนักงานสอบสวน ก็ใบ้กิน ตอนอยู่ดอนเมืองก็ไม่ค่อยได้ทำ เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับเรื่องการปลอมพาสปอร์ต คดีที่มันไม่หลากหลาย แต่พญาไทคดีเยอะ กำลังพนักงานสอบสวนมีน้อย รองสารวัตรสอบสวนส่วนใหญ่เพิ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ งานเลยหนัก และช้ำไปกว่านั้น มีการปรับโครงสร้างงานสอบสวนเปลี่ยนสารวัตรสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวน สบ 2 รองสารวัตรในทีมสามารถประเมินเลื่อนขึ้นเป็น สบ 2 เหมือนผม เมื่อหัวหน้างานสอบสวนไม่มี เหมือนเราถูกลดชั้นศักดิ์ศรีมันลดลง”

 

เปิดหัวคดีหมอชำแหละเมีย เป็นแรงเขี่ยเลื่อนตำแหน่งใหม่ 

เป็นสารวัตรนาน 7 ปี เจ้าตัวรับว่า ถอดใจแล้ว ตอนนั้นท้อแล้ว ดูไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ สงสัยชีวิตคงต้องอยู่ในวังวนนี้ไปอีกนาน กระทั่งเกิดคดีหมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ฆ่าหั่นศพหมอผัสพร บุญเกษมสันติพอดี ร้อยเวรมาตามไปนั่งฟังว่า เมียเขาหาย เป็นหมอทั้งคู่ ผัวก็หมอ เมียก็พอ ฟังแล้วมีข้อพิรุธหลายอย่าง ก่อนกลายเป็นเบื้องหลังความสำเร็จที่ไม่เคยมีใครรู้ จุดเริ่มจริงๆ มาจากเรา

พล.ต.ต.ชยุตเบิกเรื่องราวว่า เท่าที่ฟังหมอให้การ มีบางอย่างไม่ตรงข้อเท็จจริง อ้างว่า อยู่กับเมีย พอไล่ถามแล้วถึงรับว่า แยกกันอยู่ คุยกันไปมาเรื่องที่บอกเมียฝากข้อความไว้ในโฟนลิ้งค์ให้ไปรับลูก เพราะขอไปวิปัสสนาต่างจังหวัด 7 วัน “ผมแกล้งขอแท็บโค้ดโฟนลิงค์ของหมอ แล้วออกโทรศัพท์ถึงศูนย์เพื่อเช็กข้อความ ปรากฏว่า ไม่มี แสดงว่า หมอโกหก มันเริ่มตรงนี้ ผมเลยโทรไปคุยกับสฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้กำกับสืบสวนนครบาล 1 แม้หมอจะยืนกรานว่า ไม่ได้โกหก”

เปิดเกมแกะรอยควานหาพยานหลักฐานหาความเชื่อมโยงนายแพทย์วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ฆ่าชำแหละเมียตัวเองได้เดือนเศษจึงปิดคดีได้สำเร็จเป็นข่าวดังทั่วประเทศ นายตำรวจผู้อยู่หลังฉากสำคัญยอมรับเป็นความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทำให้ได้ดิบได้ดีจากผู้บังคับบัญชาเมตตาเรียกไปใช้งานให้เป็นมือกฎหมายติดเครื่องหมายการค้าประจำตัว ขยับเลื่อนนั่งเก้าอี้รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดินแดง

 

ทุกขลาภมาเยือนอีกรอบ หลุดกรอบไปไกลถึงอีสานเหนือ

การย้ายไปอยู่โรงพักดินแดงเหมือนทำวิกฤติให้เป็นโอกาส พล.ต.ต.ชยุตเล่าว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับชาวบ้านดีกว่าพญาไท หรือห้วยขวาง ทุกคนมีน้ำใจรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ได้มิตรแท้หลากหลาย แถมท่านเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เรียกไปอยู่ชุดเฉพาะกิจปราบปรามอบายมุขออกกวาดจับจนหลายโรงพักโดนตั้งกรรมการสอบสวน ถูกผู้ใหญ่บางคนตำหนิว่า ไม่รู้สึกผิดบ้างหรือ เป็นตำรวจนครบาลไปจับคนนั้นคนนี้จนถูกตั้งกรรม ถึงขั้นบอกให้ลาออกเถอะ

“ปรึกษากับนายตำรวจรุ่นพี่จะเอาอย่างไรดี สรุปขอลาออกจากชุดเฉพาะกิจเพื่อความสบายใจ แต่ความซวยมาเยือน พอลาออก ท่านเสรีพิศุทธ์ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มองว่า ผมไม่ใช่พวก คนที่อยู่ในทีมเฉพาะกิจได้ดีหมด ผมถูกย้ายเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนโรงพักปากคาด จังหวัดหนองคาย  แต่มีนายบางคนเห็นค่าเรียกมาใช้งานสอบสวนช่วยทำคดีฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ คิดว่าน่าจะได้มีโอกาสเจริญเติบโตบ้าง”

ผลปรากฏว่าติดล็อกขึ้นผู้กำกับไม่ได้ แรงดันไม่ถึง ขยับแค่ลงเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสามเสน รอคิวอีกปีได้ขึ้นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลสามเสน เอาตอนตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก “ชยุธ” เป็น “ชยุต” เพราะชีวิตสะดุดตลอด แล้วเปลี่ยนนามสกุลจาก “มารยาท”  เป็น “มารยาทตร์” สร้างวงศ์ตระกูลของตัวเองขึ้นมาใหม่ แต่ยังไม่ดีขึ้นทันทีทันใด เนื่องจากทำไม่ถูกวิธี ไม่ได้ถวายสังฆทาน เขามารู้ทีหลัง จากอาจารย์ที่ทำเรื่องเปลี่ยนชื่อว่า เมื่อได้เปลี่ยนชื่อแล้ว คนเก่าตายไปแล้ว แต่ยังไม่ไปเกิด ต้องทำบุญเอาวิญญาณคนเก่าไปเกิด ไม่อย่างนั้นจะมาเตะตัดขาอยู่เรื่อย

 

ขึ้นนั่งผู้กำกับโรงพักสามเสน โอนเอนถูกผู้เป็นนายสอยเข้ากรุ

มรสุมระลอกใหม่มาเยือนอีก ผู้เป็นนายบางคนชวนทะเลาะหาว่า เขาไม่ดูแล ไม่ฟังเหตุผลข้อเท็จจริงว่า ทุ่งสามเสนเปลี่ยนไปแล้ว รายได้จากธุรกิจสีเทาไม่มี พอเข้าประชุมก็โดนต่อว่า มีคดีอาญาค้างเติ่ง ผู้กำกับทำอะไรอยู่ ทำไมไม่เร่งรัด ขู่จะตั้งกรรมการเอาผิด กระทั่งถึงปลายปีลูกน้องทำฤทธิ์จากผลพวงพิษเศรษฐกิจแบบหมาแทะกระดูก ออกนอกแถวบินตรวจฉี่รีดเงินยาเสพติด

“ผมสั่งห้ามแล้วบอกว่า ถ้ามีพฤติการณ์อย่างนี้อีกเมื่อไหร่จะสั่งตั้งกรรมการ ทีนี้เครื่องรวนเลย มันร้องเรียนทุกเม็ด หาว่าตึงเกินไปก็ไม่ดี  ร้องแบบไม่มีบท ผมต้องบอกว่า ถ้าผู้กำกับทำอะไรไม่ถูกต้องให้มาบอก แทนที่จะดีขึ้น นายตำรวจบางคนรวมหัวกันเบี้ยว และยังไม่ยอมเลิกพฤติกรรมตรวจฉี่ตีเงิน มีพยานหลักฐานชัดเจนที่ผู้เสียหายเอาทนายมาแจ้งความ”

ผู้กำกับโรงพักสามเสนเก่าเล่าด้วยความอ่อนใจว่า พอตั้งแท่นจะเอาผิด กลับโดนว่า ไม่รักลูกน้อง ทั้งที่เตือนแล้วให้รับผิดชอบตัวเอง เราไม่ได้กลั่นแกล้ง สุดท้ายโดนเสนอย้ายกันหมด รวมถึงตัวเราด้วย แม้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ย้ายไปเป็นผู้กำกับการคดีแพ่ง สำนักงานกฎหมายและคดี อยู่กับท่านสัณฐาน ชยนนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่แต่งตั้งเราขึ้นผู้กำกับสามเสน

 

มีนายตำรวจใหญ่อาสาช่วยไว้ แค่ขอให้อย่าไปจองเวรจองกรรมใคร

เผชิญวิบากกรรมครั้งนั้น เจ้าตัวได้เปิดอกกับ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ที่ถูกย้ายแบบไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน แนะนำให้ไปพบ “อาจารย์ป๋อม” พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช รับรู้ประวัติข้อเท็จจริงเห็นเบื้องหลังการถ่ายทำจนคนอื่นเติบโตก้าวหน้า “ท่านอชิรวิทย์รับปากจะช่วยให้ความเป็นธรรม ขอไว้แค่ถ้าช่วยสำเร็จแล้ว อย่าไปฟ้องใคร อโหสิกรรมให้เขา อย่าไปจองเวรจองกรรม ถือว่า มันเป็นเวรกรรมของเราในอดีตชาติ ไปทำอะไรกับเขาไว้ แล้วเมื่อไปแล้วต้องตั้งใจทำงาน เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง”

ต่อมามีคำสั่งให้เขาลงเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางเขนยึดการทำงานตามที่ได้สัญญากับอชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช คือ ทำงานเพื่อประชาชน นายพลคนดังบอกว่า ที่ผ่านมาหากใครได้ติดตามตั้งแต่เป็นผู้กำกับโรงพักสามเสนจะรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ ทำให้ประชาชนทั้งนั้น ตัวอย่าง  โครงการข้าวก้นบาตร บิณฑบาตอาหารกลางวัน การตรวจเยี่ยมชุมชน 100 กว่าชุมชน  นำเงินเป็นกองทุนช่วยค่าน้ำค่าไฟชาวบ้าน ลบภาพที่เห็นตำรวจมีแต่ไถ แต่วันนี้ตำรวจเอาเงินมาให้

“ผมเอาโครงการข้าวก้นบาตรเอามาทำต่อที่บางเขน  อยากจะทำบุญ เอาส่วนเกินของพระไม่รู้จะฉันอะไร มันเยอะแยะเต็มโต๊ะ ไปแบ่งเด็กที่ว่าไม่มีอะไรจะกิน ไอ้ไม่รู้จะกินอะไร กับไม่มีอะไรจะกิน มันต่างกันฟ้ากับเหว ผมไปเจอเด็ก ตั้งแต่สามเสนแล้ว มันไม่มีอะไรจะกินจริง ๆ  บางคนมันไปขายตัวแลกเงินซื้อข้าวกิน มีคนมาเล่าให้ฟัง ตอนแรกไม่เชื่อจนตามไปเจอที่โรงเรียนเลยถามว่า หนูทำไมไปทำอย่างนั้น เด็กบอกว่าไม่มีตังค์ซื้อข้าวมื้อกลางวัน ต้องอดข้าวมื้อกลางวัน ไปนั่งกินน้ำอยู่บนห้อง ไม่มีตังค์กินข้าวก็ต้องกินน้ำ รอเพื่อนกินกันจนเสร็จเพื่อนั่งเรียนพร้อมกัน”

 

สานต่อโครงการข้าวก้นบาตร ประกาศเชื่อมบ้าน วัดโรงเรียน

พล.ต.ต.ชยุตว่า ไม่ได้มีเด็กคนเดียว มีเกือบ 30 คนทำแบบนี้ ถึงทำโครงการเอาข้าวก้นบาตร หรือข้าวที่พระบิณฑบาตไปแจกตามโรงเรียนให้เด็กที่ไม่มีเงินกินข้าวมื้อกลางวัน อย่างน้อยนอกจากทำบุญแล้วยังมองว่า ทำให้เด็กใกล้ชิดวัด ใกล้พุทธศาสนา  เราจะบอกเลยว่า ข้าวที่ได้มาเป็นอาหารของพระที่รับบิณฑบาตตอนเช้า แบ่งมา ไม่ใช่กินเหลือแล้วเอามา ใครจะเอากลับบ้านได้ มีข้อแม้ว่า เอากลับไปแล้วต้องบอกพ่อแม่ด้วยว่า ของที่ตำรวจเอามาให้เป็นของที่พระบิณฑบาตได้มา

“เหมือนกินบุญ กินแล้วห้ามทำชั่ว ถ้าบ้านขายยาเสพติดให้เลิก ถ้าพ่อแม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมายขออย่าให้ทำ สอนเด็กไปในตัว เพราะก่อนจะแจกต้องพูดก่อนขอครูพูด 5 นาที เพื่อจะบอกว่า ข้าวจากบาตรพระกินแล้วห้ามไปทำชั่ว ที่สำคัญเมื่อก่อนมันมีโครงการ บ้าน วัด โรงเรียน เราเป็นตำรวจไปเสียบตรงกลางเชื่อมความสัมพันธ์กันพอดีแบบไม่ได้มีการลงทุน ลงแรงอย่างเดียวกับลงน้ำมันรถขนของ”

โครงการดังกล่าวทำให้เขาได้รับรางวัลโครงการดีเด่นจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย นำมาสานต่อที่โรงพักบางเขน ขณะเดียวกันยังพาตำรวจบางเขนเป็นตัวแทนกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 คว้าอันดับ 1 การประกวดการฝึกของตำรวจแต่ละโรงพักนครบาล

 

ลบภาพความล้มเหลวในอดีต ดีดไต่บันไดไปทำงานเคียงข้างนาย

อยู่บางเขน 2 ปี บริหารจัดการโรงพักราบรื่นเป็นต้นแบบให้หลายโรงพักเรียนรู้ โดยเฉพาะสำนวนคดีที่เคยค้างปีละเป็นหมื่นสะสางจนเหลือ 400 กว่าสำนวน ตำรวจบางเขนที่ว่าเกเรกลายเป็นอยู่ในโอวาทหมด “มันเกิดจากสิ่งที่ผมเคยล้มเหลวมา ผมรู้ว่า โดนร้องเรียนที่สามเสนเพราะอะไร คือ ไปเข้มงวดกับตำรวจมาก บวกความที่ว่าแทะเนื้อติดกระดูกกันเป็นตัวอย่างของบทเรียนราคาแพงที่ทำให้เกิดปัญหาภายในโรงพักครั้งนั้น”

หลังจากนั้นเขาได้ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เรียกไปดูงานสอบสวนดูแลคดีความมั่นคง ด้วยความที่เป็นเครื่องหมายการค้าติดตัว ส่งให้เป็นมือทำงานข้างกาย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุลในเวลาต่อมา ก่อนโยกเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6  และรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ไม่วายเจอเรื่องร้อนทำต้องย้ายไปเป็นรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ตัวเขาปฏิเสธจะบอกเหตุผล

เที่ยวนี้นายตำรวจมือสอบสวนได้ไปช่วยราชการสำนักงาน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เต็มตัวเพื่อดูสำนวนการสอบสวนคดีความมั่นคงที่ผู้เป็นนายรับผิดชอบ แต่บางวันไปสอนงานสอบสวนให้กับบรรรดาหัวหน้างานสอบสวนตามโรงพักของนครบาล เนื่องจากมีหลายคนเคยเป็นแต่ลูกน้องรับคำสั่ง ไม่เคยเป็นหัวหน้า แนวคิดอะไรไม่มี เป็นแต่ผู้ตาม รู้ไม่จริง ไม่มีประสบการณ์ จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดหัวหน้างานสอบสวนรุ่นใหม่

 

ติดยศ นายพลพิสูจน์หลักฐาน ก่อนรับงานคุมทัพปทุมธานี

ไต่ลำดับอาวุโสจนครบเกณฑ์เลื่อนเป็นนายพล ปรากฏว่า มีการชักบันไดหนีเปลี่ยนกฎเหล็กในการแต่งตั้งใหม่ เขาก้าวสะดุดอีกรอบกว่าจะได้เป็นผู้บังคับการประจำสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ไม่ได้เกี่ยวกับความรู้ความสามารถที่มีอยู่ และไม่มีนายเวร ไม่มีสำนักงาน ไม่มีลูกน้อง ต้องไปช่วยงาน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุลต่อจนเหลือระยะเวลาอีก 2 ปีจะเกษียณอายุราชการ ผู้บังคับบัญชาได้เมตตาให้มานั่งเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี

“มาตรงนี้อยากทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชน อะไรที่ผมเคยเจ็บช้ำน้ำใจมา ผมจะไม่ทำ เช่น การย้ายคนโดยที่ไม่ได้กระทำความผิด การเอารัดเอาเปรียบผู้ใต้บังคับบัญชา มาอยู่ที่นี่ได้อาคารใหม่มาพัฒนาปรับปรุง จัดเบี้ยเลี้ยงตำรวจให้มีเงินค่าอาหารกลางวัน  ทุกคนกินอาหารกลางวันด้วยเงินของผู้การ ทำสิ่งที่พึ่งมีพึ่งได้ของตำรวจ ไม่มีลด มีแต่เพิ่ม อีกทั้งสานโครงการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ไปแจกข้าวกล่องชาวบ้าน ทำไปเรียบร้อย ทำมากกว่าที่ได้รับมา เพราะต้องการไปแจกผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากพ่อแม่ผมเคยเป็นผู้ป่วยติดเตียงมาก่อน ผมจะอินเรื่องพวกนี้ พอไปแจกเราก็จะคิดถึงพ่อ ถึงแม่เหมือนกับทำให้พ่อกับแม่ในขณะที่เราเป็นลูก เรางานเยอะไม่มีโอกาสที่จะไปดูแล”

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีบอกอีกว่า นโยบายที่มอบไป ผู้ใต้บบังคับบัญชาทุกคนรู้ชัดว่า ผู้การพูดคำไหนคำนั้น ไม่ได้ คือ ไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างถึงเวลาจะเป็นไปตามสเต็ปเอง อย่าไปแสวงหา ใครอยากอยู่ต่อ ขออย่างเดียวว่า ในขณะที่ยังอยู่ในหน้าที่ ทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้าสั่งอะไรไปแล้ว ให้ทำเดี๋ยวนี้ ไม่มีเดี๋ยวก่อน ห้ามผลัด ถ้าสั่งแล้วไม่ทำ ยิ่งโดนหนัก ทุกคนจะรู้หน้าที่ทันที ส่วนประชาชนในพื้นที่ ถามว่าได้รับการตอบรับดีหรือไม่ กล้าพูดเลยว่า ร้อยละ 90  เพราะเราไม่เคยไปทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน  มีแต่เอาไปให้

 

อาศัยประสบการณ์ที่เจนจัด วางมาตรการปฏิบัติที่ชัดเจน

“ชาวปทุมชอบการยืดหยุ่น ไม่ให้อย่างนี้ ขอแบบนี้ได้ไหม เจอคนละครึ่งทาง ยกตัวอย่างตอนประกาศเคอร์ฟิว ความที่ในพื้นที่ปทุมธานีเต็มไปด้วยตลาด ตำรวจปทุมธานีจับเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่ทุกอย่างสงบ ไม่มีต่อต้าน ไม่มีร้องเรียน เพราะเราทำความตกลงกันก่อนแล้ว คือ ตลาดทั้งหลายขอให้รู้ว่า รถที่จะวิ่งส่งของ ถ้าเข้าไปแล้วมาก่อน 4 ทุ่ม ต้องอยู่ให้ถึงตี 4 ส่งของก็รอจัดของข้างในได้เลย ตี 4 ค่อยออกมา ถ้าออกมาก่อนโดนจับ ทุกตลาดถือปฏิบัติเหมือนกันหมด ตอนแรกมีคนลองของ ออกมากันก็จับๆ ไปจนมันบอกต่อกันว่าอย่าออกไปเลย ผู้การชอบอยู่ที่ด่าน”

พล.ต.ต.ชยุตมีมาตรการชัดเจนว่า เมื่อคุยแล้วไม่เชื่อฟังก็ต้องจับ ถึงจะมีหนังสือรับรองส่งของตลาดก็ไม่ได้  เพราะรถเปล่าที่ส่งของแล้วต้องรอเวลา ถ้าปล่อยให้ออกก็จะวิ่งกันทั้งคืน ไม่ต้องหลับนอนกัน ไม่มีเหตุผลความจำเป็นต้องตีรถเปล่าขับออกไปช่วงเคอร์ฟิว  เช่นเดียวกับ โรงงานอุตสาหกรรมอย่างนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต้องไปปรับเวลาการทำงานให้เลิกเร็วขึ้น ถ้ายังไม่อยากกลับบ้านต้องนอนที่โรงงาน แต่ออกมาในช่วงเคอร์ฟิวเป็นหมู่คณะ มีรถตู้ รถบัสมาส่งไม่ว่ากันถ้าขี่มอเตอร์ไซค์ออกมาคนเดียวโดนจับ ทุกคนต้องเข้าใจระบบ

นายพลภูธรบริหารงานจนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเอ่ยปากชมและถามว่าไปเอาแนวคิดที่ไหนมา เจ้าตัวตอบไปตามความจริงว่า ด้วยความเป็นลูกแม่ค้า รู้ว่าเวลาคุยกับแม่ค้า ต้องคุยอย่างไร อะไรที่ให้เขาได้ก็ต้องยอม เพราะแม่ค้าชอบต่อรองอยู่แล้ว อันไหนไม่ได้ ไม่เป็นไร  “อีกอย่างคือ ความที่เป็นลูกทหาร ถ้าไม่เชื่อฟังผมจับดำเนินคดี ใครมาขอก็ไม่ให้ ผมมองว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะมีคนมาขออยู่เรื่อย ให้รายหนึ่ง รายอื่นก็จะมาขออีก จะโกรธผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะผมทำตามนโยบายรัฐบาล ผมต้องการให้บ้านเมืองไม่แพร่ระบาดเชื้อโรค จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด”

 

สร้างโมเดลด่านตรวจเคอร์ฟิว ผู้ใหญ่ต้องเข้าคิวไปพิสูจน์กับตา

เขาสามารถจัดการให้ด่านตรวจตำรวจจังหวัดปทุมธานีมีผลการจับกุมผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวมากสุด ขณะเดียวกันยังเป็นด่านที่มีมนุษยธรรมมากที่สุด ใช้หลักความเป็นคนสอนลูกในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่ตะบี้ตะบันบังคับใช้กฎหมายโดยขาดหลักมนุษยธรรม หากไม่ผิดก็ไม่จับ ส่งให้ด่านนิคมอุตสาหกรรมนวนครกลายเป็นด่านที่ดีที่สุดของประเทศ  พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายเทวัญ ลิปตพัลลภรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ต้องมาพิสูจน์ด่านนี้หมด

ด่านดังกล่าวครบเครื่องทุกรูปแบบ มีตลาด โรงงานอุตสาหกรรม และโรงพยาบาล ในด่านตั้งตู้ฉีดฆ่าเชื้อ มีตู้วัดอุณหภูมิ กันเจ้าหน้าที่ตรวจไม่ต้องสัมผัสผู้ให้ตรวจ หากเจออุณหภูมิเกินจะพาไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ประจำอยู่ตรงนั้นอีกทอด มีอาสาสมัครร่วมตรวจเข้ม มีโต๊ะที่เป็นวอร์รูม ถ้ามีปัญหาแล้วให้ตัดสินใจร่วมกันระหว่างตำรวจ ทหาร ปกครอง สาธารณสุข ถือเป็นด่านตรวจที่ครบวงจรได้รับคำชมจากทั่วประเทศตามแนวคิดของผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี

ยุทธศาสตร์คุมจังหวัดปทุมธานีของเขาทั้งหมดล้วนเกิดจากประสบการณ์ทำงานมาหลากหลายรูปแบบที่ทำให้ พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ สร้างต้นแบบตำรวจให้เป็นที่รักของชาวบ้านปทุมธานีได้ไม่น้อย

RELATED ARTICLES