เมื่อด่านจับคนเมาฟื้นคืนชีพ

 

หายหน้าหายตาไปจากท้องถนนหลวงยามค่ำคืนนานเกือบครึ่งปี

หลังจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่ง เซตซีโร่ ด่านตรวจให้กลับไปทบทวนวิธีการทำงานกันใหม่ เพื่อความโปร่งใส่ เพราะมีการร้องเรียนเรื่องเรียกรับผลประโยชน์กันหนาหู

ทำลายภาพลักษณ์ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ส่วนใหญ่

พาให้ หน่วยหัวปิงปอง หน้าเหี่ยว ซีดเซียวกันเกือบยกฝูง

ปรากฏว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล “นำร่อง” ก่อนหน่วยอื่นส่งการบ้านถึงแผนบังคับใช้กฎหมายเข้ม

ชูมอตโต มีมาตรฐานสากล ใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนโชว์ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำคณะ นายพล-นายพัน เห็นฉากการปฏิบัติหน้าที่อย่างขึงขังเอาจริงเอาจัง

ต่อหน้าสื่อมวลชน

พาเหรดกันแน่นท้องถนนเมืองหลวงตั้งแต่ 4 ทุ่ม

เวลาคาบเกี่ยวสถานบริการ ร้านอาหารกำลัง “เรียกแขก”

ได้ข้ออ้างชั้นดีของ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ที่จำเป็นต้องมี เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการสร้างความปลอดภัยทางถนน  ลดจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ หรือการใช้ทาง

เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เป็นเหตุผลให้ต้องกำหนดมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก  

กำหนดมาตรฐานของการตั้ง “จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์”   

เน้นย้ำกฎเหล็ก 7 ข้อ

1) ต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ระดับผู้บังคับการขั้นไป

2) การตั้งจุดตรวจต้องมีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน

3) จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องมีป้ายแสดงให้ประชาชนมองเห็นได้

4) จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ พิจารณาจากข้อมูลผู้กระทำความผิด/สถิติการเกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับความปลอดภัยของประชาชนและตำรวจ และความสะดวก มีที่จอด – ไฟฟ้าเพียงพอ

5) จุดตรวจมีแผงกั้นที่มาตรฐาน แสงไฟส่องสว่างชัดเจน มีแผงป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าด่านตรวจ

6) สื่อสาร อธิบายข้อกฎหมาย ให้ผู้กระทำความผิดเข้าใจ โดยใช้กิริยาวาจาที่สุภาพ

7) การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกันการทุจริต ได้แก่
นำกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวที่สามารถดูการตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้แบบปัจจุบัน (RealTime) และกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว ชนิดติดตัวหรือหมวกนิรภัยของตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจ และบันทึกข้อมูลผู้ขับขี่และผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์ลงในระบบTPCC (Traffic Police Checkpoint Control) หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินกฎหมาย ให้พิมพ์เอกสารผลการตรวจให้ผู้ขับขี่เป็นหลักฐาน

ประเดิม ฟื้นคืนชีพ เมื่อคืนวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

ทว่าตำรวจไม่เคยแฉสถิติตัวเลขก่อนหน้าที่ไม่มี “จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์” มีอุบัติเหตุเกิดจากการ “เมาแล้วขับ” กี่ราย บาดเจ็บล้มตายไปกี่คน

ตำรวจไม่เคยแจงผลไร้ “จุดตรวจสกัดอาชญากรรม” ที่น่าจะให้ความสำคัญมากกว่า มีตัวเลขคดีลัก-วิ่ง-ชิง-ปล้น ยามค่ำคืนมากหรือน้อยแค่ไหน

แต่ใส่ใจกระหายจะตั้งจุดดรวจจับคนเมา

เพียงหวังเอา ยอดส่วนแบ่งค่าปรับ อย่างนั้นหรือ

 

 

RELATED ARTICLES