“เราจะได้ภาพดี หรือไม่ดี มันเป็นสัญชาตญาณมากกว่า”

 

ายาทนักรบป่าเติบโตมาจากค่ายตำรวจตระเวนชายแดน

ฟลุ๊คชาติกล้า สำเนียงแจ่ม  หนุ่มไฟแรงที่มีความมุ่งมั่นกับการเป็นช่างภาพข่าว  พื้นเพเป็นคนกาญจนบุรี   เติบโตมาในครอบครัวที่ ...รณรงค์ สำเนียงแจ่ม ผู้พ่อรับราชการตำรวจภูธรภาค 7 ก่อนโยกไปเป็นครูฝึกตำรวจตระเวนชายแดน เพราะมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องของระเบิดถึงต้องย้ายครอบครัวไปอยู่จังหวัดสระแก้ว

เจ้าตัวเล่าว่า พ่อตั้งชื่อชาติกล้า แต่ชื่อเล่น ชายแดน เพราะพ่อย้ายไปช่วยราชการที่สระแก้ว ทำให้เราโตอยู่ในค่าย ตชด. หัดเดินในค่าย เล่มอยู่ในเบิมที่พักแบบกันลูกระเบิด ได้ยินเสียงปืนใหญ่ เสียงระเบิดมาตั้งแต่เด็ก ฝันอยากเป็นตำรวจพลร่ม ส่วนหนึ่งมาจากแรงบันดาลใจที่เวลาตามพ่อไปสอนอยู่ค่ายนเรศวร เพชรบุรี เห็นตำรวจพลร่มเท่มาก แต่งตัวไม่เหมือนตำรวจทั่วไป เป็นความประทับใจของเด็กผู้ชายอย่างเรา

กระทั่งขึ้นชั้นประถม 1 ชาติกล้าเล่าต่อว่า พ่อย้ายกลับเป็นชุดเฉพาะกิจตำรวจภูธรภาค 7  เน้นลงพื้นที่ปราบปรามพวกยาเสพติด มือปืน ผู้มีอิทธิพล  ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทั้งครอบครัว  เมื่อพ่อถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างออกไปปฏิบัติหน้าที่จับกุมคดีค้ายาเสพติด  ตอนนั้นเราอายุย่าง 14  ปี หลังงานศพ แม่ตัดสินใจพาเรากับพี่สาวไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่จังหวัดนนทบุรี ประกอบอาชีพค้าขายทั่วไป   ถือว่าหนักและลำบากมากในตอนนั้น เพราะแม่ต้องมาเป็นเสาหลักที่ดูแลลูก 2 คนตามลำพัง

เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี   มีทั้งคำสบประมาทต่าง ๆตามมา จนตั้งปณิธานกับตัวเองว่า จะเป็นคนที่อยู่ในสังคมได้ โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยกับคนอื่น  ต้องปรับตัวทั้งการใช้ชีวิตที่โรงเรียน และการอยู่ในสังคมใหม่  หลังเรียนจบจะต่อชั้น ม.ปลาย ด้วยความเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่น อยากโตเป็นผู้ใหญ่ อยากทำงานหาเงินได้เร็วๆ  สุดท้ายตัดสินใจไปเรียนสายอาชีพ

ผมมองว่ามันจะมีการฝึกงาน  ได้เงินเดือน และจบไปยังมีโอกาสได้งานทำสูงกว่า  แต่ช่วงนั้นผมเริ่มเป็นเด็กไม่น่ารักแล้ว ทั้งเกเร  ทะเลาะวิวาท  เข้าร้านเหล้าทุกวัน เอาจริงๆตอนนั้นผมก็ไม่รู้นะว่า ผมทำทำไม มันคงเป็นเรื่องของฮอร์โมนวัยรุ่น  อยากโตเป็นผู้ใหญ่ อยากได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อน สุดท้ายเขาต้องย้ายที่เรียนทำแม่ร้องไห้ วันหนึ่งมีหมายเรียกไปเกณฑ์ทหารจับใบดำใบแดง เลือกสมัครเป็นทหารดีกว่า

ชาติกล้าว่า โชคดีมากที่ได้ใกล้ความฝัน ไปอยู่ในหน่วยที่ใช้ร่ม กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยาที่ 1 เป็นทหารที่ใส่หมวกแดง ตรงกับสิ่งที่เราเคยฝันว่า อยากจะเป็น มันได้กลิ่นอาย ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นแม่ทัพภาคที่ 1  ตั้งใจจะเอาดีทางด้านนี้แล้วจะสมัครต่อ สอบนายสิบให้ได้ แต่ด้วยอะไรก็ตาม หลายๆอย่าง สุดท้ายก็ไม่ได้

หลังออกมาจากทหาร ไม่ได้กลับไปเรียนต่อ ตัดสินใจไปสมัครเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพ  มีหน้าที่สับเปลี่ยน ทั้งอยู่กับรถ ไปที่เกิดเหตุ ทำแผล ปฐมพยาบาล ก่อนนำส่งโรงพยาบาล กับอยู่ประจำห้องวิทยุ รอรับแจ้งเหตุแล้วแจ้งให้ลูกข่ายทราบ เป็นจุดเริ่มต้นการถ่ายภาพของเขา “ เวลาไปถึงที่เกิดเหตุ เราต้องถ่ายภาพเพื่อให้เจ้าหน้าที่ ถ่ายเก็บเป็นพอร์ตของหน่วยงาน จริง ๆเขามีคนถ่ายอยู่แล้ว แต่ผมรู้สึกว่าคนที่ถ่าย ถ่ายออกมาไม่ดี ก็เลยบอกว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวถ่ายเอง ผมก็ไม่ได้ถ่ายดีกว่านะ ยังไม่ได้คิดว่าต้องเป็นช่างภาพ แค่อยากถ่าย  ทำด้วยความอยากทำ เก็บตังค์ซื้อกล้องคอมแพคเล็ก ๆตัวหนึ่ง ราคาหมื่นกว่าบาท”

ทำอยู่ระยะหนึ่ง ลาออกจากงาน ช่วงที่ตกงานเป็นช่วงหนึ่งที่เขารู้สึกเริ่มมีสติกับตัวเองมากขึ้น  เพราะรู้สึกเคว้ง  ตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเอายังไงต่อ  ยังไม่ได้กลับไปเรียนต่อ  อาชีพที่ฝันไว้  รับราชการก็สอบไม่ได้  จังหวะเป็นช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองปี 2550  เข้าไปขายของในม็อบ  คิดว่า ยังเหลือการเป็นช่างภาพ  เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข และอยากทำ ตัดสินใจเอาเงินเก็บที่มี และขอสร้อยแม่มาเส้นนึง ไปขายซื้อกล้องตัวที่ 2 มีราคามากขึ้น  คิดว่าทำให้สุด  วัดกันไปเลย

ผมก็ไม่รู้ว่า ถ้าจะเป็นช่างภาพ ผมต้องไปทำยังไง  แต่เวลาไปขายของ ผมก็จะไปถ่ายภาพต่างๆของแกนนำ แล้วก็เอามาปริ้นท์ วางขาย 5 บาท 10 บาท มันก็มีคนซื้อนะ จริงๆมันไม่ใช่การพิสูจน์ตัวเอง แต่มันเป็นทางเลือกสุดท้ายในชีวิตว่าจะไปต่อได้ไหม  ถ้ามันไปต่อไม่ได้ เราก็จะยอมรับสภาพว่านี่คือสุดแล้วในสิ่งที่เราอยากทำ

ต่อมาชาติกล้าหันไปเรียนด้านถ่ายภาพเพิ่มเติมที่วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร เริ่มรู้จักคนที่มีความสนใจการถ่ายภาพเหมือนกันมากขึ้น  เริ่มรับถ่ายภาพรับปริญญา เป็นรายได้   วันหนึ่ง .สุมาลี บุญยะฤทธิ์  ที่สอนอยู่ เรียกว่า อาจารย์แม่ เพราะเปรียบเสมือนแม่ครูที่ให้กำเนิดในวิชาชีพช่างภาพ  มีพระคุณ ทั้งให้วิชาและคอยสอนในการใช้ชีวิต ถามว่า “มีใครอยากเป็นช่างภาพข่าวบ้าง?”  ก่อนช่วยฝากงานให้ที่หนังสือพิมพ์ The people today  เป็นหนังสือพิมพ์แนวการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นจริงจังของการเป็นช่างภาพข่าว ในปี 2556

ผมเชื่อว่า หากจะทำอะไร ทำให้เต็มที่ แล้วมันจะพาเราไปจุดนั้นได้ เจ้าตัวว่า หลังจากก่อนไปตระเวนสมัครงานช่างภาพหลายสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ทั่วกรุง ทว่าได้รับการปฏิเสธ  เดินเตะฝุ่น เสียค่าถ่ายเอกสารสมัครงานเยอะมากจนได้เริ่มก้าวแรกที่ The people today  ไปถ่ายภาพแถลงข่าวของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ  ส่งภาพไป 100  กว่ารูป ตั้งแต่แหล่งข่าวเปิดประตูเข้ามาจนเดินทางกลับ เพราะไม่รู้ว่าต้องคัดภาพส่ง  ก่อนเริ่มปรับตัว ค่อยๆเรียนรู้งานไป

ทำอยู่ได้ประมาณปีกว่า บริษัทเจ๊ง เขายังคงไปถ่ายภาพม็อบ ถ่ายอะไรทุกวัน  เพราะคิดว่าอย่างน้อยการออกไปถ่ายภาพในสนามจริงจะทำให้คนอื่นเห็นว่ามีศักยภาพ พร้อมทำงานตลอดเวลา  ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นช่างภาพมีสังกัดแล้วก็ตาม จนมีรุ่นพี่ชวนไปทำที่ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นช่วงที่ม็อบ กปปส. ปิดกรุงเทพฯ Shutdown Bangkok  เป็นการทำงานที่เจอเหตุการณ์เฉียดตายหลายครั้ง

  ช่างภาพหนุ่มมากความสามารถไม่คิดว่าจะต้องมาใส่เสื้อเกราะกันกระสุน หรืออะไรต่าง ๆ ช่วงนั้น ยอมรับว่ารู้สึกกลัว เพราะต่างกับตอนที่เราเป็นประชาชนแล้วไปถ่ายภาพ ครั้งนี้คือ เป็นงานของเรา เราไม่สามารถวิ่งหนีได้ ต้องพยายามสังเกต กลัวไว้ก่อน แต่อย่าตกใจ เพราะถ้าตกใจเราจะไม่มีสติ แต่การกลัวมันจะทำให้เราป้องกันตัวเองตลอดเวลา

เขาให้ความสำคัญกับการเอาตัวรอดเป็นอันดับแรก ส่วนอันดับ 2  ต้องถ่ายภาพให้ได้เหตุการณ์ด้วย และตัวเองปลอดภัยด้วย ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นต้องออกทางไหน ออกไปแล้วต้องไปทางไหนต่อ จะดูหน้างานว่าแผนผังพื้นที่เป็นยังไง ต้องประเมินว่า วันนี้รุนแรงไหม  การถ่ายภาพ ไปบอกกันไม่ได้ว่าเราจะอยู่ตรงนี้ เราจะได้ภาพดี หรือไม่ดี มันเป็นสัญชาตญาณมากกว่า คนที่กล้าไปมากไปก็ไม่ดีนะ ต้องประเมินเยอะๆ อะไรที่มันจะเกิดขึ้นใน 5 – 10 นาทีข้างหน้า  ผมจะถ่ายงานแบบดูจังหวะ ไม่จำเป็นต้องเกาะไปกับขบวน หรืออยู่กับแกนนำตลอดเวลา  ถ่ายเสร็จถอยออกมา  ต้องมีจังหวะในการทิ้งช่วง  บทเรียนมันมาจากเหตุการณ์ระเบิดที่บรรทัดทอง เราไม่สามารถประเมินได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

แม้จะมีประสบการณ์การถ่ายภาพการชุมนุมทางการเมือง แต่ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่เขาเกือบจะลาออก หลังขี่รถมอเตอร์ไซค์ ตามขบวน คปท. บนทางด่วน ไปวัดบัวขวัญ มีการยิงกันบนทางด่วน มีคนเจ็บ ส่วนเขาเจอลูกปืนยิงเฉี่ยวหัว เขาระบายความรู้สึกว่า ไม่เอาแล้ว เราไม่จำเป็นต้องเสี่ยงอะไรขนาดนี้ พอลงมาข้างล่างได้  โทรหาหัวหน้าบอกจะลาออก  หัวหน้าบอกว่า ตั้งสติก่อน ตอนนี้อยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ที่ผ่านมาแสดงว่า มีสติพอที่จะทำงานได้ คนเราจะอยู่ที่ไหนจะตายก็คือตาย สิ่งสำคัญคือตอนนี้ปลอดภัยแล้ว ต้องมีสติ

 คุณเป็นช่างภาพอาชีพ คุณไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ ที่เอากล้องมาถ่ายรูป เพราะฉะนั้นช่างภาพอาชีพ ก็ควรทำตัวให้เป็นมืออาชีพ มันทำให้ผมฉุกคิด เราไม่ใช่มืออาชีพหรือวะ เราโทรไปเพื่องอแง  ไม่เอาแล้ว แล้วเราโดนตอบกลับมาแบบนี้ว่า เราไม่ใช่มืออาชีพ  มันก็ทำให้ผมคิดว่า ต่อไปนี้จะทำตัวเองให้เป็นมืออาชีพมากกว่าเดิม ชาติกล้ารำพันความหลัง

เก็บประสบการณ์จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ  1 ปี  ได้รับการชักชวนไปทำที่ PPTV เป็น photojournalist กำลังฟอร์มทีมบุกเบิกยุคแรกที่มี New media  งานภาพข่าวแบบ PPTV เน้นการนำเสนอภาพแบบสำนักข่าวต่างประเทศ คือ ภาพเล่าเรื่อง  เป็นสไตล์ที่ชัดเจน  ลูกชายอดีตตำรวจผู้กล้าบอกว่า เราอยากได้ภาพสะท้อนสังคมเมือง ถ้าเป็นประเด็นข่าวก็ต้องคมกว่าคนอื่น แตกต่างจากคนอื่น  เช่น ภาพไฟไหม้ ทุกคนก็จะถ่ายคนดับไฟ แต่ PPTV มองว่า เหนื่อยไหมกับการดับไฟ เหนื่อยแล้วทำยังไง เอาน้ำเทใส่หน้า หรือนั่งกินข้าว ภาพเหล่านี้คนอื่นอาจไม่เคยเห็นว่ามันมีมุมนี้อยู่ด้วยนะ เคยได้ยินข่าวว่าไฟไหม้ คนยกตู้เย็นออกจากบ้านคนเดียวได้ มีใครเคยเห็นไหม  การช่วยเหลือแมวหมาหมู  ภาพที่น่ารัก จรรโลงสังคม ทำให้ยิ้มได้ น่าเอ็นดู  ภาพที่มีมุมให้ฉุกคิด  คือสไตล์ของ PPTV

ปัจจุบันเขาเป็นช่างภาพข่าว The Standard  เป็นการทำงานที่ท้าทายและโตขึ้นในอีกก้าวหนึ่ง เพราะจะต้องมีหน้าที่คิด วางแผน  ไปถ่ายภาพ  มาดูภาพรวม และทุกคนต้องพร้อมที่จะสามารถไปอยู่ในตำแหน่งอื่นได้ตลอดเวลา งานหลายชิ้นที่เขาบอกว่า ประทับใจ เพราะการถ่ายภาพข่าว ไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งต้องแลกกับการรอคอยยาวนาน เพียงเพื่อให้ได้ภาพเพียงภาพเดียว ขณะที่บางครั้งเป็นเรื่องของจังหวะเวลา ยืนถูกที่ ถูกเวลา  ที่ทำให้ได้ภาพมาด้วยความบังเอิญ

ถามว่า งานที่ภาคภูมิใจที่สุดสำหรับเขา กลับไม่ใช่งานแนวอาชญากรรม หรือชุมนุมการเมืองอย่างที่ถนัด  กลับเป็นการได้ไปถ่ายภาพกีฬา จากการได้รับเลือกเป็น Media FIFA ไปถ่ายฟุตบอลโลกที่รัสเซีย ถือเป็นเกียรติประวัติที่สุดในการเป็นช่างภาพ ให้มีโอกาสเข้าไปนั่งติดขอบสนาม ไปอยู่เดือนครึ่งต้องปรับตัวทั้งภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม แม้จะทำให้พลาดโอกาสการถ่ายภาพเหตุการณ์ถ้ำหลวง แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี และเขาก็พยายามทำเต็มที่ ทั้งทำการบ้านอย่างหนัก ศึกษาข้อมูลของนักกีฬาทุกประเทศที่ลงแข่ง ใครเบอร์อะไร อยู่ประเทศไหน ภาพที่ควรจะมีคืออะไร

ช่างภาพจะมีคำพูดหนึ่งที่ผมว่ามันเป็นจริง คือ รางวัลแห่งการรอคอย ภาพบางภาพ เราต้องไปรอนานถึง 2 วัน เพื่อที่จะได้เพียง 1 ภาพ ไม่รู้หรอกว่าคนอื่นจะมองสวยหรือเปล่า หรือน่าประทับใจหรือเปล่า แต่สำหรับคนที่ถ่ายภาพนี้ รู้สึกว่าภาพนี้เป็นภาพที่น่าจดจำมาก เมื่อไหร่คุณกลับมามองภาพนี้คุณจะรู้สึกว่ามันจะวัดพลัง เหนื่อยขนาดไหน กว่าจะได้ภาพนี้มา ผ่านอะไรมาบ้าง สิ่งสำคัญสำหรับผมตอนนี้  คือการฝึกหาทักษะ เพิ่มสกิลตัวเองให้มากขึ้น เช่น การถ่ายภาพใต้น้ำ การใช้โดรนถ่ายภาพ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ด้วยธุรกิจสื่อตอนนี้ มันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา

  ช่างภาพหนุ่มมองว่า เราไม่รู้วันข้างหน้าเราจะอยู่ตรงไหน เป็นช่างภาพไม่ใช่แค่ถ่ายภาพนิ่งได้ แต่ควรต้องทำให้ได้ทุกอย่าง ถ่ายวีดีโอ  ตัดต่อเบื้องต้น มันต้องเพิ่มสกิลให้กับตัวเราเอง ต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ เมื่อก่อนภาพนิ่งจะแอนตี้มาก เป็นศักดิ์ศรีว่าจะให้ภาพนิ่งไปถ่ายวีดีโอไม่ได้หรอก ถามว่าทุกวันนี้ ถ้าคุณทำได้แค่อย่างเดียวถ่ายภาพนิ่งได้ ถ่ายวีดีโอไม่ได้ ไม่ได้แล้ว ต้องทำได้มากกว่านั้น

ผมให้นิยามของช่างภาพต่างกับตากล้อง ตากล้องคือ คนที่มีกล้องและเอามาถ่ายภาพ แต่ช่างภาพ มันคือ ทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวกับภาพ เกี่ยวกับสื่อ เกี่ยวกับ Media คุณต้องทำได้ ถ้าคุณจะเรียกตัวเองว่าเป็น ช่างภาพ ชาติกล้าทิ้งท้าย

 

 

RELATED ARTICLES