“ชีวิตไม่ได้คิดเลยว่าจะได้กลับลงมาใต้อีก”

 

นายตำรวจหนุ่มมากฝีไม้ลายมือ “ทายาท 30 นักสืบดาวรุ่ง” ของหลักสูตรสืบสวนสอบสวนคดีอาญาขั้นพิเศษของนครบาลเมื่อ 20กว่าปีก่อน

บ่มเพาะประสบการณ์ผ่านงานหลากหลายตลอดเส้นทางชีวิตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

วันนี้ พล...ทินกร รังมาตย์ ผงาดติดยศ นายพล ตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา รับภารกิจสำคัญในสมรภูมิร้อนปลายด้ามขวาน

วาดหวังนำเอาวิชาที่สะสมมาช่วยสร้างสันติสุขบนแผ่นดินชายแดนเมืองใต้

ยึดแนวทางตามพระราชดำริในหลวง ร.9

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

 

ลูกชายตำรวจโกสุมพิสัย ใฝ่ฝันอยากเรียนวิศวกรรมศาสตร์

ประวัติชีวิตของ พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ลูกอีสานแท้ พ่อเป็นตำรวจชั้นประทวนตำแหน่งฝ่ายสืบสวนในอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ทำงานชุมชมสัมพันธ์ ทำให้เขาโตมาบนโรงพัก คอยเป็นเด็กรับส่งข้าวให้ผู้ต้องหาในห้องขัง เนื่องจากผู้เป็นแม่รับทำกับข้าวหาเงินจากเบี้ยเลี้ยงค่าอาหารผู้ต้องหาส่งลูกเรียน เขาถึงงมีโอกาสเห็นชีวิตตำรวจมาตั้งแต่เด็ก

เข้าเรียนชั้นประถมโรงเรียนศรีโกสุมวิทยามิตรภาพที่ 209 แล้วดั้นด้นไปต่อมัธยมโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน โรงเรียนชื่อดังประจำจังหวัดขอนแก่นที่เด็กอีสานเหนือหลายคนอยากวิ่งไปเรียนที่นั่น หลังจากสอบโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ติด เขากลับเป็นเด็กบ้านนอกจากมหาสารคามสอบติดขอนแก่นวิทยายนมีคะแนนเป็นอันดับ 1 ทำกิจกรรมทุกอย่าง และได้รับเลือกให้เป็นรองประธานนักเรียนตอนวัยมัธยมปลาย

กระทั่งจบมัธยมปีที่ 5 เพื่อนคนหนึ่งชวนไปสอบเตรียมทหาร ทั้งที่ชีวิตไม่ได้อยากเป็นตำรวจ พล.ต.ต.ทินกรย้อนรำลึกความหลังว่า เตรียมตัวอยากสอบเป็นวิศวกรมากกว่า แม้ชีวิตจะขลุกอยู่กับพ่อบนโรงพัก คลุกคลีสัมผัสตำรวจมาตลอด ถามว่า ซึมซับไหม ซึมซับ แต่เหมือนว่า เรายังมีทางเลือกในเวลานั้น เดิมทีอยากเป็นหมอ พอเรียนไปไม่ชอบวิชาชีวะวิทยา ก็เปลี่ยนมาเรียนห้องวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เพื่อไปสอบวิศวกรรมศาสตร์ตามที่มุ่งหมายไว้

 

หักเหเพราะเพื่อนชวนเข้ากรุง มุ่งสอบจนติดเป็นนักเรียนเตรียมทหาร

ระหว่างเตรียมตัวไปสอบเอ็นทรานซ์เหมือนจุดหักเหของชีวิต พอเพื่อนชวนก็ตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกที่ได้เหยียบพระนครกับเพื่อนอีกคน ไปนอนอยู่วัดยานนาวา ที่หลวงลุงของเพื่อนเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส มีญาติมารอรับไปสอบที่สนามมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่เคยไปด้วยซ้ำ พล.ต.ต.ทินกรบอกว่า พอสอบติดชั่งใจแล้วว่า ถ้าเรียนเตรียมทหารเป็นนายร้อยตำรวจ พ่อไม่ต้องลำบาก เนื่องจากมีเงินเดือน ก่อนตัดสินใจเรียนเตรียมทหารเป็นรุ่น 30 เหล่านายร้อยตำรวจรุ่น 46

“ออกจากบ้านไปกรุงเทพฯ ครั้งนั้นยาวเลย ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย พ่อรู้ข่าวว่า สอบติด ดีใจมาก แกรอฟังข่าวอยู่ร้านน้ำชาจะมีพวกสภากาแฟล้อมวงตามประสาคนบ้านนอก นั่งลุ้นว่าจะได้หรือไม่ ทิ้งเบอร์โทรศัพท์ที่ร้านกาแฟเอาไว้ พอโทรศัพท์ไปแจ้งข่าว พอดีใจมาก เดินกลับบ้านอยย่างมีความสุข ก่อนหน้ามีคำหนึ่งที่พ่อพูดเหมือนปรามาสผมไว้ว่า ลูกสอบคิดจะมีปัญญาส่งลูกเรียนได้ไหม กลายเป็นพลังให้ผมมุมานะทำสำเร็จ”

ลูกชายสายสืบภูธรโรงพักอีสานเหนือบอกอีกว่า ความจริงไม่ต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายอะไรเยอะ มีแต่ครั้งแรกเท่านั้น ทำให้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้อย่างสบาย ระหว่างนั้นตอนปี 3 ลงฝึกงานโรงพักจักรวรรดิ พอปี 4   ฝึกงานสอบสวนโรงพักบางซื่อ จบออกมาคะแนนดีขอเลือกลงเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ที่เราเคยฝึกงาน

 

อบรมหลักสูตรพิเศษของนครบาล เป็นตำนานทายาท 30 นักสืบดาวรุ่ง

ทำงานสอบสวนได้ 2 ปี พ.ต.ท.บุญญฤทธิ์ โล่ห์สุวรรณ สารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ทาบทามชวนไปฝึกงานสายสืบสวน เจ้าตัวรับว่า ลังเล เนื่องจาก พ.ต.ท.สินมนูญ์ พุทธิกุล สารวัตรหัวหน้างานสอบสวนฝีมือฉมังของโรงพักยังเรียกใช้อยู่ตลอด สุดท้ายไปทำงานสืบสวนพักหนึ่งแล้วกลับมาทำงานสอบสวนเหมือนเดิม ก่อนมีรุ่นพี่ชวนข้ามฝั่งธนบุรี ช่วยราชการกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลธนบุรีที่มี พ.ต.อ.โกสินทร์ หินเธาว์ เป็นผู้กำกับสมัยนั้น

เขาเล่าว่า ประจวบเหมาะกับมีหลักสูตรสืบสวนสอบสวนคดีอาญาขั้นพิเศษของกองบัญชาการตำรวจนครบาลตามแนวคิดของ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้คัดเลือกรองสารวัตรที่ผ่านงานสอบสวนแค่ 30 คนไปอบรมสืบสวนภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างจริงจัง เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ผ่านการคัดสรรเข้าไปร่วมฝึกอบรมด้วย

“ผมว่า ครั้งนั้นเป็นหัวใจของการสืบสวนจริง ๆ ที่บ่มเพาะตัวผมในความเป็นมืออาชีพ ผมชอบวิธีคิดของพี่อู๊ด-ปรีชา ธิมมามนตรี รวมถึง พี่ปั๊ด-สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน เลือกรองสารวัตรที่ผ่านงานสอบสวนมาก่อนอย่างน้อย 2 ปี ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีวิชาเรื่องการสอบสวนที่จะเก็บพยานหลักฐานอะไรต่างๆ เข้าสำนวนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเข้าไปทำการสืบสวนที่ไม่เก็บขยะเข้าสำนวน มีวิธีคิดว่าจะเอาอะไรบ้าง”

เลือกชายคารังสืบสวนเหนือ เหลือเชื่อเกือบเอาชีวิตไปทิ้ง

เรียนรู้และซึมซับวิชาสืบสวนจากนายตำรวจรุ่นพี่ระดับอาจารย์นานเกือบ 6   เดือน ได้เวลาลงสู่สนามจริง พล.ต.ต.ทินกรเลือกเป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือยุคสุดท้ายก่อนเปลี่ยนผ่านเป็นกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 1 เคียงข้าง” โสภณ สารพัฒน์” เพื่อนร่วมรุ่น สัมผัสการทำงานของ พ.ต.อ.วิวัฒน์ วรรธนะวิบูลย์ ต่อด้วย พ.ต.อ.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง คุมบังเหียนหน่วย มีส่วนคลี่คลายคดีสำคัญอุกฉกรรจ์และทลายแก๊งยาบ้านับแสนเม็ดที่มากสุดในประเทศขณะนั้น

เจ้าตัวหวิดเอาชีวิตไปทิ้งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ขณะออกเดินสายติดตามแก๊งค้ายานรกแถวชุมชนบ้านครัว มีการล่อซื้อกันภายในเพิงพัก เขาถีบประตูเข้าไปเจอคนร้ายหยิบมีดพร้าเงื้อจะฟัน โชคดีได้ จ.ส.ต.พันศักดิ์ ภูกาบพลอย ตำรวจชั้นประทวนที่ช่ำชองมากกว่าพุ่งเข้าชาร์จจับผู้ต้องหาได้ทัน “ผมคิดว่า เป็นครูเลยนะ ชีวิตจะพลาด ประมาทไม่ได้เลย ความที่เป็นรองสารวัตร ยศร้อยตำรวจโท ไม่มีประสบการณ์ โอกาสผิดพลาดมีไม่น้อย ต้องจำเอาไว้เป็นบทเรียน”

บ่มเพาะวิชาสืบสวนระดับตำนานพักใหญ่ พล.ต.ต.วรพงษ์ ฉิวปรีชา ผู้บังคับการอำนวยการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง ชวนไปเป็นนายเวรจำต้องหลุดเวย์จากเส้นทางนักสืบไปติดสายขาว หวังเอาประสบการณ์งานด้านใหม่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว ทำไปทำมานาน 7 ปี ขึ้นตำแหน่งสารวัตรที่หน่วยส่งกำลังบำรุง กลับมาทำงานสืบสวนอีกทีตอนผู้เป็นนายนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

 

ลงทำภารกิจร้อนสมรภูมิชายแดนใต้ ขยับสร้างรากฐานให้หน่วยงานใหม่

นายตำรวจหนุ่มขยับลงกองปราบปรามเป็นจังหวะเหตุการณ์ความรุนแรงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุลุกลามอีกครั้งจากการปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง ตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เขาได้โอกาสตามนายไปทำงานอยู่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานแห่งชาติส่วนหน้า รวมทีมเฉพาะกิจนักสืบเมืองหลวงจากหลายหน่วยเข้าไปคลี่คลายคดี

พล.ต.ต.ทินกรเล่าว่า ไปเซตทีมทำงานสืบสวนคดีสำคัญเอาวิชาสืบสวนของนครบาลมาใช้แกะรอยเป็นชุดแม่แบบให้ตำรวจภูธรตามไล่หมายจับทำเป็นโมเดลที่เคยสร้าง 30 นักสืบนครบาลเมื่อครั้งก่อนไปก่อร่างสร้างทีมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งเห็นโครงข่ายขบวนการก่อความไม่สงบ ถือเป็นผลสำเร็จที่นายตำรวจใหญ่รุ่นพี่วางไว้

หลังจากนั้น เขาขึ้นรองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม คุมพื้นที่ภาค 7 แล้วขยับเป็นรองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เลื่อนเป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เปิดขึ้นใหม่ เพื่อไปวางระบบด้วยความที่เป็นนักสร้าง นักคิด ดูงานด้านของบประมาณ นำเอาความรู้เมื่อครั้งอยู่สำนักงานส่งกำลังบำรุงวางฐานหลักให้ต้นสังกัด

 

ผุดโครงการ สตูลโมเดลต้นแบบตำรวจผู้รับใช้ชุมชน

ทำงานเข้าตา พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางสมัยนั้นดึงกลับไปเป็นผู้กำกับการ 6 กองปราบปราม เดินหน้าโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนประสบความสำเร็จในชุมชนบ้านหัวทาง เขตเทศบาลเมืองสตูล ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองดีเด่นด้านลด หรือปลอดอาชญากรรม ด้วยความร่วมมือระหว่างตำรวจกองบังคับการปราบปรามและชาวชุมชน คณะกรรมการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต โดย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มอบรางวัลเป็นประกาศเกียรติคุณทองคำแท้เมื่อปี 2556

สตูลโมเดลเป็นการผสมผสานความร่วมมือระหว่างชาวชุมชนกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามที่มี พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ เป็นหัวหอกในฐานะผู้กำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม ร่วมกับ ด.ต.สุทธินันทน์ อนันธบาล ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 6   กองบังคับการปราบปราม และการีม เก็บกาเม็น คอเต็บมัสยิดเราดอตุ้ลญันนะห์ ทุบกำแพงขวางกั้นทางความคิดอคติกับผู้รักษากฎหมาย หันมาสร้างความเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐ ดูแลความปลอดภัยของสมาชิกในชุมชนเอง ไม่ต้องรอเพียงความช่วยเหลือจากเข้าหน้าที่ อีกทั้งมีจิตสาธารณะให้ความร่วมมือในการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้รับสิ่งตอบแทน

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น พล.ต.ต.ทินกรวาดความหวังจะนำมาใช้กับพื้นที่จังหวัดยะลาในการแก้ปัญหาชุมชน หลังรับตำแหน่งได้ปรึกษาหารือกับฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง ระดมทุกภาคส่วนมาช่วยกันทำ เดินไปด้วยกัน ตามแนวคิดหลักของเรื่อง คือ การแก้ปัญหาที่รากหญ้า ไม่ได้บอกว่า ต้องเป็นทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง แต่ต้องเป็นทุกส่วนที่แตกระบาดจากข้างใน ให้ชาวชุมชนมองเห็นปัญหา ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนว่า สาเหตุปัญหาคือ อะไร ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ภาครัฐจะเป็นพี่เลี้ยงให้พวกเขาไปต่อยอด ขาดเหลืออะไรเราจะเติมให้

 

โต้ลมมรสุมตกทะเล เทฝีมือรวบตัวโจรสลัดปล้นฆ่า

กระนั้นก็ตาม ก่อนหน้าเจ้าตัวเผชิญคลื่นกระแสลมพัดกระเด็นไปหลายหน่วยตามวีถีทางเดินชีวิตของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ทว่าไม่เคยว่างเว้นจากการทำงาน ขยับจากผู้กำกับการ 6   กองบังคับการปราบปราม ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจน้ำคุมพื้นที่ริมฝั่งโขงตอนบนและอ่าวไทยตอนล่าง เข้าไปช่วยแก้ปัญหาการลำเลียงยาเสพติด เรื่องลักลอบขนน้ำมันเถื่อน และสร้างผลงานคลี่คลายคดีโจรสลัดปล้นฆ่าชิงเรือน้ำมันมูลค่ากว่า 120 ล้านบาท

“เป็นคดีคลาสสิกมาก เกิดจากวิชาสืบสวนสอบสวนที่ผมเรียนและได้จากประสบการณ์ทำงาน จากการวิเคราะห์ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนจับกุมแล้วปิดคดี ความสุดยอดของคดีนี้ เพราะเป็นคดีที่ไม่มีศพ แต่เราหาพลานหลักฐานแวดล้อมนำสืบในชั้นศาล พิสูจน์ให้เห็นว่า มีการฆ่ากันตายเกิดขึ้นจริงจนศาลพิพากษาลงโทษ สิ่งที่ได้ คือ ความนิ่ง ความอึด ประกอบกับที่ผมเป็นพนักงานสอบสวนเก่า เราเก็บหลักฐานเนียน แล้วความต่อเนื่องเชื่อมโยงของคดี มีทีมสืบ ทีมสอบที่ชัดเจน ไม่ได้เดินไปคนเดียว เดินคู่กัน  พาลูกน้องขึ้นลงใต้เป็นว่าเล่น”

“ผมยึดเรื่องเดียว เวลาทำงาน การสืบ การจับ อะไรทั้งหลาย สิ่งที่เราทำ สุดท้ายมันไม่ใช่ว่า จับแล้วแถลงข่าว จับแล้วต้องให้ศาลลงโทษ แล้วศาลไม่ยก เพราะฉะนั้นทุกคดีที่ผมทำ ต้องศาลลง พยานหลักฐานต้องแน่นพอ ต้องเป็นนักสืบที่เก็บพยานหลักฐานแล้วสู้คดีในชั้นศาลด้วย อันนี้เป็นหลักคิดที่ผมทำทุกคดี รวมทั้งคดียาเสพติด” อดีตรองผู้บังคับการตำรวจน้ำอธิบาย

 

นั่งรองผู้การปราบปรามยาเสพติด ผ่าน 5 ปีโยกไล่บี้งานตรวจคนเข้าเมือง

เป็นเหตุผลเดียวกันที่เขานำเอาวิชาสืบสวนสอบสวนไปใช้ทำคดียาเสพติด สมัยย้ายเป็นรองผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 ลบภาพวิธีการแบบดั้งเดิมของหน่วย เจ้าตัวมองว่า การจับส่งดำเนินคดี แก้ปัญหาไม่ได้ สิ่งที่จะทำได้คือ ยึดทรัพย์ แต่การจะไปยึดทรัพย์ได้ต้องมีคดีหลัก  มีการรวบรวมพยานหลักฐานไปด้วย ด้วยความที่เราเป็นร้อยเวรมาก่อน มีประสบการณ์ทำคดี ทำงานสืบสวนต่ออีก ทำให้เราเก็บหลักฐานแน่น แถมขึ้นเบิกความบ่อย เอาคำพิพากษาคดีต่าง ๆ มาเป็นบทเรียน กระทั่งเปิดยุทธการยึดทรัพย์ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

“ เมื่อโลกมันเปลี่ยน มีนโยบายห้ามใช้สายลับคอนโทรลยาเสพติดเข้ามา บางคนทำงานกันไม่เป็น เกิดช็อตไประยะหนึ่ง ด้วยความที่ผมแกะรอยมาหลายปีจึงพยายามปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานปราบปรามยาเสพติดใหม่ กระทั่งงานออกมาเยอะแยะตั้งแต่สมัย พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข เป็นผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด อาทิ จับกุมนายไซซะนะ แก้วพิมพา นายทุนค้ายานรกฝั่งลาว และยุทธการเด็ดดอกไม้พิษ เป็นต้น”

อยู่หน่วยตำรวจปราบปรามยานรก 5 ปี พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เรียกตัวไปเสริมทัพในตำแหน่งรองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 ขับเคลื่อนงานป้องกันปราบปราม ป้อนความรู้และหลักคิดในการทำงานสืบสวนสอบสวนใหม่ให้ลูกน้องในหน่วยตรวจคนเข้าเมืองตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายได้อย่างลงตัว ก่อนเลื่อนเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา

 

คืนสนามปลายด้ามขวาน สานงานรักษาความสงบในพื้นที่

“ชีวิตไม่ได้คิดเลยว่าจะได้กลับลงมาใต้อีก” พล.ต.ต.ทินกรระบายความรู้สึก เขายืนยันว่า พร้อมทำงานทุกที่ ประเทศไทยเราไปได้หมด แต่เมื่อผู้บังคับบัญชามอบหมายให้มาที่นี่ก็ไม่มีปัญหา ผู้การปัตตานี ผู้การนราธิวาส รวมถึงผู้การสืบสวนจังหวัดชายแดนใต้ก็เคยทำงานด้วยกันสมัยอยู่กองบังคับการปราบปราม ขณะที่ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ก็เป็นรุ่นพี่นำทีมลงมาปฏิบัติราชการเมื่อครั้งปี 2547 มั่นใจว่า ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน  ภาษาเดียวกัน

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลาแสดงความเห็นว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าก่อน โดยเฉพาะเรื่องแนวความคิดของคนในพื้นที่ที่เบื่อกับความรุนแรงเริ่มหันกลับมาทางภาครัฐมากขึ้น ปัจจุบันส่วนใหญ่มีอาชีพ มีรายได้ ต้องมองเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องปากท้องของตัวเอง

อีกส่วน พล.ต.ต.ทินกรบอกว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีด้วยความที่ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ขลุกอยู่ในภาคสนาม ทำให้เห็นตัวละคร เห็นโครงสร้าง เห็นเครือข่าย สิ่งเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมพื้นที่ได้ มีมาตรการกดดัน ปิดล้อม ตรวจค้น ก่อกวน มีคดีเกิดแล้วจับได้ มีปะทะ ยิงกัน ส่วนงานมวลชนก็เดินไป เรื่องประเทศเพื่อนบ้านก็เดินเดินคู่กันไป ในภาพรวมสถิติความรุนแรงถึงระบุชัดว่า ลดลง  เป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงาน เราแค่สร้างมวลชนให้แข็งแรงขึ้น สิ่งที่ภาครัฐต้องเติมลงไป คือ การแก้ปัญหาที่รากหญ้าที่ชุมชนให้ได้ ที่ชุมชนให้ได้

 

ลั่นต้องไม่สร้างเงื่อนไข ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเป็นสุข

“พอทำตรงนี้ได้ ผมมองว่า เฟืองที่จะเดินไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีทิศทาง แล้วความขัดแย้งจะลดลง เพราะปัญหาเงื่อนไขหายไปเยอะ เช่นเดียวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่หายไป อาชีพที่ชาวบ้านได้ทำจะเป็นรายได้ หากมีเหตุการณ์ความรุนแรง ก็ขาดรายได้ ดังนั้นไม่ต้องคิดเรื่องไม่ดี อนาคตต้องคิดแก้ปัญหาเรื่องเด็กติดเกม เด็กติดยาเสพติด เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นปัญหาสังคมอีก”

นายพลวัยหนุ่มเชื่อว่า อนาคตไม่เกิน 10 ปีจะเห็นอะไรดีขึ้นมากใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะได้รับการพัฒนามาถูกทาง ถามว่า หนักใจหรือไม่มาทำงานตรงนี้ ไม่ได้หนักใจ ที่ผ่านมา 2   เดือนพยายามประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกกิจกรรมระหว่างตำรวจ ทหาร ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้พิพากษา ทำให้เป็นองคาพยพ ไม่สร้างเงื่อนไข ทุกฝ่ายมองเรื่องเดียวกันหมด ทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้ ภาครัฐเป็นส่วนเติมเต็ม เอากำลังไปช่วย

พล.ต.ต.ทินกรบอกว่า ในส่วนของตำรวจพยายามเน้นโครงการครูแดร์ไปให้ความรู้ความคิดเรื่องพิษภัยของยาเสพติด แต่ต้องอย่าสร้างเงื่อนไขบนโรงพัก ตำรวจจราจรเห็นอยู่แล้วไม่ใส่หมวกกันน็อก ถ้าเน้นจับก็จะเป็นเรื่องใหญ่ อะไรอะลุ้มอล่วยกันได้ หลับตาไป เพียงแค่เตือนชาวบ้านว่า หากรถชน หรือเกิดอุบัติเหตุช่วยไม่ได้จริง ๆ อย่าไปรีดไถ ไปสร้างเงื่อนไข ไม่ได้

 

จัดการ พ...ตำรวจนอกแถว ออกแนวเรียกรับผลประโยชน์คดียา

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลาวางนโยบายไว้แล้วว่า ทุกโรงพักต้องมีประชาสัมพันธ์ที่พูดภาษายาวีได้ เพราะเคยเอาไปเป็นประเด็นปลุกระดมหาว่า พวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง มาโรงพักไม่มีใครสนใจ นั่งรอทั้งวัน ไม่มีใครถามสักคำว่า มาทำอะไร เหตุผลหนึ่งเพราะฟังภาษาไทยไม่ออก พูดภาษาไทยไม่ได้ โดนลักทรัพย์จะแจ้งความตำรวจกลับไม่สนใจ สุดท้ายเอามาปลุกระดมกับเยาวชนไปต่อยอดเป็นเรื่องเป็นราว

“ผมถึงบอกว่า ตำรวจอย่าไปสร้างเงื่อนไข อย่าไปตีเรื่องเงิน เรื่องยาเสพติด ไปแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ถ้าคุณไม่ทำเรื่องนี้ คุณไม่เอาของกลางหมุนเวียนให้สายกลับไปขาย จะไม่มีข้อครหาจากชาวบ้านว่า ตำรวจค้ายา เพราะฉะนั้น ถ้าทำอย่างนั้น คุณไม่ต้องเป็นตำรวจ คุณต้องออก ปัญหานี้จะไม่เกิด เงื่อนไขก็จบ ตอนนี้ผมกำลังรบกับตำรวจ รบกับลูกน้องตัวเอง ดำเนินคดีไปหลายรายแล้ว หากพบกระทำความผิดจริง ทำให้เห็นเลยว่า เราประกาศแล้ว เราทำจริง”

พล.ต.ต.ทินกรยกตัวอย่างจากเรื่องจริงด้วยว่า พนักงานสอบสวนบางคนแสบกว่านั้น แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ยศ พ.ต.ท.ติดการพนันออนไลน์ ทำหน้าที่สารวัตรเวรกินได้ทั้งสองมุม ทั้งผู้ต้องหา และผู้เสียหาย รับเงินทั้งคู่ เก่งถึงขนาดเปลี่ยนแปลงของกลาง เราจับดำเนินคดีทันที สั่งตั้งกรรมการสอบสวน ไม่อุ้ม อุ้มไว้จะเป็นภาระของหน่วย เป็นภาระองค์กร ถ้าไม่รักองค์กร ไม่รักพ่อแม่ ไม่รักตัวเอง ออกไปหาอาชีพอื่นใหม่ หากจะออกไปเป็นโจรก็แล้วแต่ เจอกันแล้วต้องยิงกัน ถ้าอยู่อย่างนี้เท่ากับฆ่าทั้งองค์กร ใครจะไปเชื่อถือ

 

ประกาศเชือดเป็นตัวอย่าง หวังสร้างโมเดลใหม่ที่ยะลา

“ ถ้าตำรวจใครทำผิด ผมฟาด ฟันไม่เลี้ยง ใครไปยุ่งเกี่ยวจะเชือดให้ดู เพื่อให้เห็นว่า ทำแล้วโดนนะ เคลียร์บ้านตัวเองก่อน ตำรวจติดยาเสพติดที่ยังนั่นอยู่ เอาไปบำบัดก่อน ถ้าบำบัดแล้วยังเสพอีก ต้องดำเนินคดี เอาออก ผู้บังคับบัญชาไม่ลงไปดูจะโดนด้วย หลังจากนี้ไป ผมจะจับแล้วยึดทรัพย์เพื่อป้องปรามไปในตัว  สกัดกั้นยาเสพติด เมื่อไม่มี คนเสพจะลดลง ผมถึงคิดแก้ตรงนี้ ทำไปทีละเปราะ”

“ผมกะว่าจะทำแบบนี้แล้วมันน่าจะดีขึ้น สร้างยะลาโมเดลให้ประสบความสำเร็จเหมือนสตูลโมเดล ผมจะลองทำในจังหวัดของผม ที่ผมเป็นผู้การ แล้วถ้ามันทำแล้วดี จะเป็นโมเดลหนึ่งที่แก้ปัญหาหลายๆ อย่าง ให้ใครจะหยิบไปใช้ต่อได้ อย่างน้อยเคลียร์บ้าน ปัดกวาดบ้านตัวเองให้ได้ก่อน ก่อนจะไปจับชาวบ้านเขา เก็บกวาดบ้านให้มันไม่เน่า ถ้าบ้านตัวเองเน่าจะไปจัดระเบียบชาวบ้านได้อย่างไร ในเมื่อบ้านตัวเองยังจัดระเบียบไม่ได้” พล.ต.ต.ทินกรสีหน้าจริงจัง

เช่นเดียวกับเรื่องการสืบสวน เจ้าตัวว่า เกิดเหตุแล้วต้องจับได้ เกิดแล้วต้องรู้ว่า ใครทำ ออกหมายให้ได้ แล้วตามจับให้ได้ ต้องมีพยานหลักฐานพอที่ศาลจะลงโทษ คดียาเสพติดต้องยึดทรัพย์ได้ ต้องขยายผลไปสู่ พระราชบัญญัติการฟอกเงิน เพราะเราทำมาทุกงาน  ถ้าเราทำตรงนี้จะแก้ปัญหาสำเร็จด้วย นี่คือ สิ่งที่อยากทำ แล้วจะทำให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ยะลา ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ดึงทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหา มองว่าบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องสุดท้าย

พล.ต.ต.ทินกรย้ำแนวคิดทิ้งท้ายว่า ฝ่ายกดดันก็ว่าไป ฝ่ายรบก็รบกันต่อ แต่บทที่เราจะเล่นมากขึ้น คือ การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องสุดท้าย เลือกพูดคุยให้มากที่สุด เอาแนวร่วมมาช่วยเราให้ได้มากที่สุด เดือนที่ผ่านมามีกระแสตอบรับจากชาวบ้านดีมากในความรู้สึก ปัญหาลักเล็กขโมยน้อยหายไป ชาวบ้านแฮปปี้หันมาร่วมมือกันอย่างดี  กำลังสร้างให้ตำรวจทุกคนมองแบบเดียวกัน ให้เห็นว่า การจับเป็นเรื่องสุดท้าย การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เราจะใช้กับชาวบ้าน เราจะเลือกพูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนคติ และการแก้ปัญหาของพวกเขาก่อน

“ เราจะยังไม่พูดถึงเรื่องความไม่สงบ  คุยเรื่องพื้นฐานปัญหาของพวกเขา ดึงทุกภาคส่วนมาช่วย ใช้หลักคิดเดียวกัน เราแก้เรื่องนี้ พวกเขาแก้เรื่องนั้น แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาทั้งหมดออกมาจากคนในชุมชน เรื่องเดียวคือ ยาเสพติด ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องไปแก้ที่รากหญ้าให้ได้ พ่อแม่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ลูกติดยา ต้องไม่ส่งเสริมลูก พ่อแม่หลายคนส่งเสริมลูกในทางที่ผิด กลัวลูกไปเสพยาข้างนอกจะมีปัญหาเลยให้มาเสพในบ้าน”

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลายืนยันปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคนในครอบครัวลุกลามสู้ภายนอก วันนี้ พ่อค้ายาเสพติดไม่มีใครกล้าแตะ ครูก็ไม่กล้าเสี่ยง โต๊ะอิหม่าม ผู้นำศาสนาก็ไม่กล้า เพราะกลัว สุดท้ายเครือข่ายค้ายาเสพติดเติบโตขึ้น ตำรวจ ทหารเข้าไปไม่ถึง ไม่ถูกจุด จับผู้เสพมาก็กลับเข้าสู่สภาพแวดล้อมเดิม ไม่ได้แก้ต้นเหตุของปัญหา ยาเสพติดยังอยู่ คนเสพก็ยังอยู่

 

 

 

 

RELATED ARTICLES