“ผมโชคดีที่เป็นหมอ ได้ช่วยเหลือคนโดยพื้นฐานอยู่แล้ว”

 

ผู้ทรงคุณวุฒิระดับกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข อดีตผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข แพทย์สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจเก่า เคยให้สัมภาษณ์ถึงเส้นทางชีวิตกับนิตยสาร COP’S เมื่อหลายปีก่อน

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หมอหนุ่มไฟแรงเต็มไปด้วยอุดมการณ์ หลายคนคงไม่รู้ว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นร้อยตำรวจเอกตำแหน่งนายแพทย์โท เทียบเท่าสารวัตรอยู่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนทิ้งเครื่องแบบสีกากี มารับราชการกระทรวงสาธารณสุข

ได้รับรางวัล”บุคคลดีเด่นแห่งปี” ประจำปี 2545 และปี 2547 จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รางวัล “คนดีศรีกรม” ในวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน 2548 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับประเทศของคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ จากผลงานเรื่อง “ระบบการตรวจวิเคราะห์โรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการ” อีกทั้งมีผลงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย

เกิดในครอบครัวยากจน เข้ามัธยมโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ไปต่อมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ เจ้าตัวบอกเหตุผลว่า เพราะตอนเด็กไปหาหมอ รู้สึกว่า การเข้าถึงโอกาสทางสังคมไม่เท่าเทียมกัน คิดว่า ถ้ามีโอกาสจะดูแลระบบบริการ ดูแลคนไข้ ดูแลสังคมให้ดี ช่วยเหลือคนได้

เดินก้าวตามความฝัน สอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นนักศึกษาตัวอย่างด้านบำเพ็ญประโยชน์ ประจำปีการศึกษา 2535 รับรางวัลนักศึกษาแพทย์ดีเด่น ก่อนได้ทุนสถาบันนิติเวชวิทยา กรมตำรวจ หักเหชีวิตเป็นหมอนิติเวชตำรวจทำหน้าที่ผ่าศพ “สมัยนั้น ไม่มีใครไปอยู่นิติเวช เพราะมันอยู่กับศพ ทำงานกับศพ ผมตอนนั้น ถ้าถามว่า คิดยังไง คือ ตอบตรงๆ เลย เพราะมันไม่ต้องยุ่งกับชีวิตคนเป็นมากนัก ไม่ต้องรับผิดชอบกับชีวิตคน”

“ผมมองว่า เวลาอยู่โรงพยาบาลเราต้องดูแลคนให้มีชีวิต แต่ไม่ได้ขึ้นกับตัวเราคนเดียว มีปัจจัยอื่นประกอบด้วย  อาจเป็นช่วงที่ตอนนั้นเราเด็กมาก รักษาคนไข้แล้วเราเจอคนไข้เสียชีวิตๆ เราสะเทือนใจ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่พร้อม ถึงตัดสินใจว่า มาเป็นหมอสาขานิติเวช” นายแพทย์รุ่งเรืองเล่าถึงจุดเริ่มต้นสวมเสื้อกาวน์

เจ้าตัวย้ำว่า ไปทำหน้าที่ตรงนิติเวช คนไข้เข้ามาทุกรายเสียชีวิตหมดแล้ว สบายใจกว่า ติดยศ ร.ต.ต.เป็นแพทย์ใช้ทุน หมอเลี้ยง หุยประเสริฐ เป็นผู้บังคับการ มีอาจารย์หมอจากเมืองนอกช่วยสอน ช่วยแนะนำ อยู่แล้วอบอุ่น พี่ ๆ ดูแลน้องได้ดี แทบทุกคดีฆาตกรรมจะออกไปดูที่เกิดเหตุหมด ไม่ได้เก่ง แต่ใช้ประสบการณ์ พยายามค้นคว้า คิดว่าเราทำหน้าที่ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อุตส่าห์ไปเรียนหมอมาตั้งหลายปี จริงๆ ความรู้ทางการแพทย์ มันเอามาทำงานได้ ไปเก็บตัวอย่างหลักฐาน มีส่วนคลี่คลายคดีสำคัญหลายคดี เป็นการทำงานแบบปิดทองหลังพระ มีส่วนในการช่วยพนักงานสอบสวน

อดีตหมอสถาบันนิติเวชวิทยา กรมตำรวจที่ยังไม่ปรับโครงสร้างขึ้นตรงโรงพยาบาลตำรวจในเวลาต่อมา ภูมิใจมากกับการมีส่วนคลายปมจับฆาตกรข่มขืนฆ่าเด็กอนุบาลในท้องที่ สถานีตำรวจนครบาลบางพลัด สมัยนั้นยังไม่มีการนำเอาดีเอ็นเอมาประกอบการสืบสวนสอบสวน แต่เขาพิจารณาพยานหลักฐานจากบาดแผล พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ และที่ติดอยู่กับศพ นำมาประมวลเหตุการณ์  วิเคราะห์เรื่องของหลัก เวลา สถานที่ บุคคล ใช้ความรู้ที่เรียนทางการแพทย์มาใช้

“จริงๆ ผมไม่ถึงกับเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไร เป็นแค่แพทย์ทั่วไป มาใช้ทุน อาศัยความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าเราทำอะไรแล้ว เราตั้งใจทำจริง ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ จะทำได้ดี ผมยึดหลักเสมอว่า  ให้คิดว่า เขาเป็นญาติเรา เป็นพ่อ แม่ เป็นภรรยา เป็นลูกเรา เป็นญาติเรา สมมติคนที่เสียชีวิต ถ้าเป็นญาติพี่น้องเรา ก็จะต้องทำเต็มที่ ต้องให้ความยุติธรรมกับเขา”

กระนั้นก็ตาม นายแพทย์ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไปบอกว่า  แต่ก็มีข้อไม่ดี เพราะทำให้เราอินเกินไป อินแล้วเราจะเสียใจ ถ้าไม่ได้ดั่งใจ เหมือนตอนเรียนหมอ อินตรงที่ว่า ถ้าช่วยเขาไม่ได้ เวลาเรารักษาคนไข้แล้วยึดหลักว่า เป็นคุณพ่อ คุณแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติเรา เราจะดูแลเขายังไง แล้วพอถึงจุดหนึ่ง เราช่วยเขาไม่ได้ เขาเสียชีวิต เราจะมีความรู้สึกเสียใจ เพราะตอนนั้นด้วยวุฒิภาวะเราที่ยังเด็กมากๆ เราก็จะรู้สึกไม่ดี

นายแพทย์รุ่งเรืองว่า พอวันหนึ่งที่เราโตขึ้นมา เป็นอาจารย์คนแล้ว จะสอนว่า เราต้องแยกความรู้สึกนึกคิดนี้ออกไปให้ได้ ต้องแยกว่าเป็นหน้าที่ เป็นงาน  ต้องแยกอารมณ์ความรู้สึกกับเหตุผล ถ้ามีโอกาสได้สอน ได้แนะนำใครก็จะต้องแยก 2 สิ่งนี้ออกจากกัน  คือ การที่เรามีหลักเมตตาธรรม กับการทำงานอย่างทุ่มเท เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราใส่ความรู้สึกเข้าไปมาก อันนี้ไม่ดีกับตัวเอง ถึงอย่างไร จะเตือนตัวเองเสมอ ไม่เคยบอกใครเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช แต่ทำงานด้วยความใส่ใจมากกว่า

สมัยนั้น อดีตนายตำรวจสถาบันนิติเวช ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศจากการปฏิบัติราชการตำรวจคลี่คลายคดีฆาตกรต่อเนื่องหั่นศพ เมื่อปี 2538 จากหน่วยซีไอดี กรมตำรวจ ประเทศสิงคโปร์ และรางวัลโล่เกียรติยศจากสถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย เมื่อต้องไปเป็นพยานศาลถึงประเทศสิงคโปร์ คดีที่เกิดขึ้นตำรวจหลายประเทศเก็บหลักฐานไม่ได้ แต่เขาสามารถรวบรวมพยานหลักฐานในเมืองไทยนำไปสู่กับมัดตัวฆาตกรเป็นผลสำเร็จ

อยู่สถาบันนิติเวชถึงปี 2540 เลื่อนเป็นนายแพทย์โท เทียบเท่าสารวัตร จ่อติดยศ พ.ต.ต. หมอหนุ่มตัดสินใจลาออก เหตุผลเพราะครอบครัวขอให้มารับราชการทางอื่นดีกว่า ไปสมัครกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเข้าศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (ระบาดวิทยา) “มันเป็นงานสืบสวนสอบสวนเหมือนกัน แต่ใช้ในการควบคุมโรค เป็นโรคสำคัญๆ เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคเมอร์ส” หมอรุ่งเรืองว่า

ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป เจ้าตัวบอกว่า ไม่ได้มองเรื่องตำแหน่ง หน้าที่ มองเรื่องเนื้องานเป็นหลัก มองเรื่องความภูมิใจว่า เราทำประโยชน์ให้ประเทศ หรือประชาชนมากกว่า อย่างงานด้านนี้ เราก็ทำงาน ทุกเนื้องาน เหมือนกัน งานตำรวจ หรืองานหมอ คืองานปกป้องประเทศ ปกป้องประชาชน อาจจะมองว่าหมอรักษาคน แต่ถ้าคนไม่สบาย คนไม่มีกิน หรือคนที่ถูกทำร้าย  ก็คือ ภัยคุกคามด้านความสุข  ถ้าเราเข้าใจคำว่า สุขภาพ คนเจ็บป่วยไม่สบาย คือ ปัญหาเรื่องสุขภาพ คนทุกข์ใจ ก็มีหมอทางจิตเวชรักษาความทุกข์ทางจิตใจ

เขาบอกคนทุกคนว่า เรื่องของสุขภาพ ไม่ใช่แค่ ไม่สบาย เป็นหวัด เป็นไข้ ปวดท้อง ปวดหัว เรื่องของสุขภาพมากกว่านั้น คือ ความสงบสุข ยิ่งมาทำงานตรงนี้ ยิ่งต้องเข้าใจในมิตินี้ อย่างตอนที่โรคเมอร์สระบาด ต้องดูเรื่องการควบคุมโรค หามาตรการการ เป็นเรื่องของการปกป้องคนในประเทศ เพื่อความสงบสุข สันติสุข ที่มีผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ

“ตอนไข้หวัดนกระบาดยุคหนึ่ง ผมก็ไปผ่าศพ กลับมาใช้วิชาชีพเดิม ตัดสินใจผ่ารายแรกของประเทศไทย และน่าจะเป็นรายแรกของโลกของด้วยซ้ำที่ติดจากคนสู่คน ถ้าไม่ทำรายนั้น คงแย่ เป็นสิ่งที่ภูมิใจที่สุด ใครจะรู้ไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ผลจากรายนี้ ทำให้เราเปลี่ยนนโยบายประเทศไทย ตั้งแต่นั้นมา ประเทศไทย ไม่มีไข้หวัดนกระบาดเลย เพราะตอนนั้นมองว่า มันกลายพันธุ์จากคนสู่คนแล้ว ถ้าเราไม่ควบคุมอย่างจริงจัง อะไรจะเกิดขึ้น”

อีกความภูมิใจในชีวิต นายแพทย์คนดังบอกว่า มีโอกาสทำโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 22 ล้านเข็ม ป้องกันโรคคอตีบ ใช้งบประมาณเข็มละ 7 บาท 22 ล้านคนใช้เงิน 120 ล้านบาทถือว่า คุ้มมาก ถือเป็นอีกหลายเรื่องที่คิดในเชิงปกป้องประเทศ และประชาชน ทำให้เราภูมิใจ “ถามว่า ทุกวันนี้ยังรู้สึกเป็นตำรวจอยู่หรือไม่ ความจริงก็ทำหน้าที่เหมือนกัน ยศอะไรไม่สำคัญหรอก เป็นนายพล แต่ถ้าคนเขาด่าทุกวัน ก็ไม่มีค่าอะไร สุดท้ายอยู่ที่ตัวเรา ดีหรือชั่ว ไม่ได้มีความหมายอะไร ผมมองอนาคต เราต้องมีความสุข สิ่งสำคัญ คำว่า ความสุขหมายถึงว่า เรามีเมตตา มีความดี ไม่อย่างนั้นเราให้ใครไม่ได้ เราต้องอยู่อย่างมีความสุข และให้ความสุขกับคนรอบข้าง เราเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นผู้อำนวยการ เราต้องให้ความสุขกับครอบครัว กับลูก กับเมียเราได้ ต้องมีจุดยืนตรงนี้ก่อน”

“ผมโชคดีที่เป็นหมอ ได้ช่วยเหลือคนโดยพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญ คือ ความเป็นผู้นำ หรือรีดเดอร์ชิป ความเป็นผู้นำที่ดี ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยว่า เราตำแหน่งอะไร ผู้นำ คือ เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง กล้านำในสิ่งที่ถูกต้อง เขาอาจจะไม่รู้เรื่องก็ได้ว่า เรื่องนี้เราเป็นคนทำ หรือมีส่วนสำคัญในการทำ แต่เราก็จะภูมิใจว่า เรื่องนี้เราเป็นผู้นำ ผู้ทำเรื่องนี้ บางครั้งเราอาจจะเจ็บปวด อาจถูกตำหนิ ถูกว่า ถูกด่า ถ้าจะให้มองย้อนไปถึงตอนที่รับราชการตำรวจ หลายเรื่องมันก็เจ็บปวด อาจถูกตำหนิ ถูกว่า ถูกด่าอะไรก็ตาม แต่หลายเรื่องมันก็ทำให้เราเรียนรู้ ถ้าย้อนไปได้อาจจะไม่ทำแบบนั้น แต่ว่าเราก็จะรู้ว่าเจตนาที่ดีเป็นยังไง เราไม่ได้ทำอะไรผิด” นายแพทย์กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าจริงจังทิ้งท้าย

 

RELATED ARTICLES